โรคกระดูกพรุน ...บล็อกที่ 262
โ ร ค ก ร ะ ดู ก พ รุ น บทความสุขภาพจากเว็บ หาหมอ.คอม โดย....ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์ วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์

โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) และโรคกระดูกบาง (Osteopenia) คือ โรคเกิดจากมีมวลกระดูกลดต่ำลงจนเป็นปัจจัยเสี่ยงหรือเป็นสาเหตุของกระดูกหักได้สูง เป็นโรคพบได้บ่อยมากโรคหนึ่ง เป็นโรคของผู้ใหญ่โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ผู้หญิงพบเกิดได้บ่อยกว่าผู้ชาย ปัจจุบันจัดเป็นอีกโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขรวมทั้งในประเทศไทยด้วย

โรคกระดูกพรุนหมายความว่าอย่างไร?
โรคกระดูกพรุน หมายถึง โรคที่มวลกระดูกของร่างกายลดต่ำกว่าค่ามวลกระดูกมาตรฐาน ซึ่งเรียกว่า ค่าทีสกอร์ (ค่า T- score ในคนปกติคือ ไม่ต่ำกว่า 1) ตั้งแต่ -2.5 ของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (ค่าเอสดี หรือ SD, Standard deviation) ขึ้นไป หรือทางแพทย์ใช้เขียนเป็นตัวเลขตั้งแต่ -2.5 เอสดีขึ้นไป
โรคกระดูกบางหมายความว่าอย่างไร?
โรคกระดูกบางหมายถึง โรคที่มวลกระดูกของร่างกายลดต่ำกว่าค่ามาตรฐาน แต่ยังไม่ต่ำถึงค่าที่เป็นโรคกระดูกพรุน ดังนั้นค่ามวลกระดูกของโรคกระดูกบางจึงอยู่ในช่วง -1 ถึงน้อยกว่า -2.5 เอสดี
ซึ่งโรคกระดูกบางเมื่อปล่อยไว้โดยไม่รักษา จะมีการเสียมวลกระดูกเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นโรคกระดุกพรุน แต่ในบางคนเป็นโรคกระดูกพรุนได้โดยไม่ผ่านการเป็นโรคกระดูกบางก่อน
ดังนั้น เรื่องต่างๆของโรคกระดูกบางเช่น สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง อาการ และอื่นๆ จึงเช่นเดียว กับโรคกระดูกพรุน ซึ่งในที่นี้ต่อไปจะใช้คำว่าโรคกระดูกพรุนซึ่งหมายรวมถึงกระดูกบางด้วย

โรคกระดูกพรุนเกิดได้อย่างไร?
กลไกการเกิดกระดูกพรุนที่แน่นอนยังไม่ทราบ แต่ในเบื้องต้นพบว่าเกิดจากการเสียสมดุลระหว่างเซลล์สร้างกระดูก (Osteoblast) และเซลล์ดูดซึมทำลายกระดูก (Osteoclast) ซึ่งการมีกระดูกที่แข็งแรงต้องมีสมดุลระหว่างเซลล์ทั้งสองชนิดนี้เสมอ การเสียสมดุลเกิดได้จากหลายสาเหตุคือ ..........
อายุ: อายุที่มากขึ้น เซลล์ต่างๆจึงเสื่อมลงรวมทั้งเซลล์สร้างกระดูก การสร้างกระดูกจึงลดลง แต่เซลล์ทำลายกระดูกยังทำงานได้ตามปกติหรืออาจทำงานมากขึ้น
ภาวะขาดฮอร์โมนเพศ: ซึ่งเป็นฮอร์โมนช่วยการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก ดังนั้น โรคกระดูกพรุนจึงพบได้บ่อยในผู้หญิงและโดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนถาวร
ภาวะขาดอาหารสำหรับการสร้างกระดูก: อาหารสำคัญของการสร้างกระดูกคือ โปรตีน แคลเซียม และวิตามิน ดี ซึ่งผู้สูงอายุมักขาดอาหารทั้งสามชนิดนี้ การขาดอาหารจะลดการสร้างมวลกระดูกและกระตุ้นให้เซลล์ทำลายกระดูกทำงานสูงขึ้น
ขาดการออกำลังกาย: การเคลื่อนไหวออกกำลังกายจะกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างกระดูกและลดการทำงานของเซลล์ทำลายกระดูก ตรงกันข้าม เมื่อขาดการออกกำลังกาย เซลล์ทำลายกระดูกจะทำงานเพิ่มขึ้น
พันธุกรรม: เพราะพบโรคได้สูงขึ้นในคนมีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้
โรคต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการสร้างฮอร์โมนผิดปกติ: เช่น โรคต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน(ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ) หรือโรคเนื้องอกของต่อมใต้สมอง

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนมีอะไรบ้าง?
สูงอายุโดยเฉพาะตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
ผู้หญิงเพราะมีการหมดประจำเดือน (หมดฮอร์โมนเพศ)
ขาดอาหารดังกล่าวแล้ว
ขาดการออกกำลังกาย
สูบบุหรี่ เพราะสารพิษในควันบุหรี่ลดการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก และยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดตีบ กระดูกจึงขาดอาหารจากการขาดเลือดได้อีกด้วย
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสาเหตุให้ขาดอาหาร
มีโรคเรื้อรังต่างๆที่ส่งผลถึงสุขภาพ ซึ่งรวมถึงสุขภาพของกระดูกด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
มีพันธุกรรมที่คนในครอบครัวเป็นโรคนี้
โรคกระดูกพรุนมีอาการอย่างไร?
โดยทั่วไป โรคกระดูกพรุนไม่ก่ออาการยกเว้นเป็นปัจจัยเสี่ยงให้กระดูกหักได้ง่าย
ซึ่งถ้าเกิดในวัยหมดประจำเดือน มักเกิดกระดูกหักง่ายที่ปลายกระดูกแขน/กระดูกข้อมือ และเกิดการยุบ ตัวของกระดูกสันหลังและ/หรือกระดูกสันหลังเสื่อม เกิดการปวดหลังเรื้อรัง
ส่วนกระดูกพรุนจากสูงอายุ มักเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อกระดูกสะโพกหัก
แพทย์วินิจฉัยโรคกระดูกพรุนได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคกระดูกพรุนได้จากประวัติ และ อาการ ประวัติเจ็บป่วยต่างๆ ประวัติการออกกำลังกาย อายุ การตรวจร่างกาย และการตรวจมวลกระดูก/การตรวจความหนาแน่นกระดูกด้วยเครื่อง ตรวจมวลกระดูกซึ่งเป็นเครื่องเอกซเรย์พลังงานต่ำกว่าเอกซเรย์ในการตรวจโรคทั่วไป

ผลข้างเคียงจากโรคกระดูกพรุนมีอะไรบ้าง?
ผลข้างเคียงสำคัญของโรคกระดูกพรุนคือ กระดูกหักง่ายและอาการปวดหลังเรื้อรัง
โรคกระดูกพรุนรุนแรงไหม?
โรคกระดูกพรุนเป็นโรคเรื้อรังที่ถึงแม้ไม่ทำให้เสียชีวิต (ตาย) แต่เป็นเหตุให้คุณภาพชีวิตลดลงอย่างมากจากผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อกระดูกสะโพกหัก
รักษาโรคกระดูกพรุนได้อย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคกระดูกพรุนคือ เพิ่มการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก และหยุดหรือลดการทำงานของเซลล์ทำลายกระดูก เช่น การกินวิตามินเกลือแร่ เสริมอาหารต่างๆ เช่น แคล เซียม วิตามินดี, การใช้ยาต้านการทำงานของเซลล์ทำลายกระดูกเช่น ยาในกลุ่ม Bisphospho nate, การให้ยาฮอร์โมนต่างๆเช่น Estradiol Levonorgestrel ทั้งเพื่อเพิ่มการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก และลดการทำงานของเซลล์ทำลายกระดูก, และการออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพ
อนึ่ง การใช้ยาต่างๆควรต้องเป็นการแนะนำจากแพทย์ เพราะในผู้ป่วยแต่ละคนจะมีการใช้ ชนิดยา ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่แตกต่างกัน นอกจากนั้นยาต่างๆเหล่านี้ยังมีผล ข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้

ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคกระดูกพรุนคือ การกินวิตามินเกลือแร่เสริมอาหาร และ/หรือยาต่างๆตามแพทย์แนะนำ การกินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ครบถ้วนทุกวันในปริมาณพอเหมาะที่ไม่ทำให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน การออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ และหลีก เลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ป้องกันโรคกระดูกพรุนได้อย่างไร?
การป้องกันโรคกระดูกพรุนคือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน การพบแพทย์เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยกลางคนเพื่อ การตรวจสุขภาพซึ่งอาจมีการตรวจมวลกระดูกด้วย โดยเฉพาะเมื่อเป็นสตรีในวัยหมดประจำเดือน แต่ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ และการเสริมอาหารด้วยวิตามินเกลือแร่ตามแพทย์แนะนำ
ขอขอบคุณ
ภาพจาก...อินเตอร์เน็ต บทความสุขภาพจากเว็บ หาหมอ.คอม //haamor.com/th/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%99/ โดย....ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์ วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์สวัสดีค่ะ
จาก พรไม้หอม
หากท่านใดประสงค์จะโหวตให้บล็อกนี้ ขอความกรุณาโหวตในสาขาสุขภาพ ขอบคุณค่ะ
Create Date : 25 เมษายน 2559 |
Last Update : 25 เมษายน 2559 19:39:55 น. |
|
23 comments
|
Counter : 3355 Pageviews. |
 |
|
|
พรไม้หอม Health Blog ดู Blog