ภาวะข้อไหล่ติด ... บล็อกที่ 38

ภาวะข้อไหล่ติด
เรียบเรียงโดย อ.ดร.ประเสริฐ สกุลศรีประเสริฐ คลินิกกายภาพบำบัด, ม.มหิดล, นำมาจากเว็บ mahidol.ac.th
ข้อไหล่ เป็นข้อต่อหนึ่งในร่างกายที่สามารถเคลื่อนไหวในทิศทางต่างๆ ได้มากมาย และมีการใช้งานบ่อยในชีวิตประจำวัน เช่น การยกแขนขึ้นเหนือศีรษะเพื่อการทำงานในมุมสูง หรือแม้กระทั่งการถือหรือยกสิ่งของ ก็ต้องการความแข็งแรงของข้อไหล่เพื่อการรับน้ำหนักสิ่งของนั้นๆ ดังนั้นจึงเป็นความยากลำบากมาก หากข้อไหล่ของเราเกิดภาวะติดขัดหรือติดแข็งขึ้นมา (Frozen shoulder) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำงานต่างๆ ในชีวิตประจำวันมาก
ภาวะข้อไหล่ติด มักจะเป็นปัญหาต่อการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ในช่วงใดช่วงหนึ่งของการเคลื่อนไหว หรืออาจจะมีผลเป็นช่วงกว้างในการเคลื่อนไหวนั้น เช่น ไม่สามารถยกแขนเหนือศีรษะได้สุด ไม่สามารถเอามือไขว้หลังได้ เป็นต้น ทั้งนี้การจำกัดการเคลื่อนไหวนี้อาจร่วมกับอาการปวดขณะทำการเคลื่อนไหว หรือแม้อยู่นิ่งๆ

ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดภาวะข้อไหล่ติด
• พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
• มักจะเกิดกับคนในวัย 40-50 ปี
• ผู้ป่วยเบาหวาน จะมีอัตราการป่วยด้วยโรคนี้ประมาณ 20-30%
• ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะเหล่านี้ได้แก่ ไม่มีการเคลื่อนไหวของข้อ ได้รับอุบัติเหตุที่ไหล่ ใช้งานไหล่มากเกินไป เป็นต้น

สาเหตุของการเกิดข้อไหล่ติด
สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อและมีการหนาตัวของเยื่อหุ้มข้อ ทำให้ข้อไหล่เกิดการเคลื่อนไหวน้อยลง ทั้งนี้มักจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่ข้อไหล่ได้รับบาดเจ็บ หรือเกิดภายหลังจากการใช้งานข้อไหล่เป็นระยะเวลานาน หรือมากเกินไป โดยที่การทำงานโดยยกแขนขึ้นเหนือศีรษะเป็นเวลานานๆ เช่น การทาสีที่บริเวณเพดาน เป็นต้น จะเป็นสาเหตุส่งเสริมให้เกิดการล้าของกล้ามเนื้อข้อไหล่ และจะเป็นปัจจัยต่อการเกิดภาวะข้อไหล่ติดแข็งตามมาได้
การดำเนินของโรค
1. ในระยะแรก จะมีอาการปวดข้อไหล่ โดยเฉพาะปวดขณะมีการเคลื่อนไหว อาการจะปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวของข้อ ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 2-9 เดือน
2. ระยะที่สอง อาการปวดจะน้อยลง แต่จะมีการเคลื่อนไหวน้อยลง ระยะนี้ใช้เวลา 4-12 เดือน
3. ระยะที่สาม จะเริ่มฟื้นตัว การขยับของข้อดีขึ้น ระยะนี้ใช้เวลา 12-42 เดือน ทั้งนี้การรักษาทางกายภาพบำบัด จะมีส่วนช่วยผู้ป่วยที่มีภาวะไหล่ติดแข็งได้มาก ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงใดของการดำเนินของโรค หากแต่ผลการรักษาจะดียิ่งขึ้น ถ้าผู้ป่วยมารับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม และมารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

การดูแลตนเองเบื้องต้น
1. ลดการใช้ แขน ไหล่ ข้างนั้น โดยพยายามไม่ให้มีการกระตุ้นให้เกิดอาการปวดจากการใช้งาน และหลีกเลี่ยงการใช้งานแขนและไหล่ที่ไม่เหมาะสม ที่เป็นสาเหตุให้มีอาการปวดมากขึ้น
2. ทำกายภาพบำบัดอย่างง่ายด้วยตนเอง เช่น การประคบเย็นด้วยถุงน้ำแข็งผสมน้ำ ในอัตราส่วนอย่างละครึ่งหนึ่ง เป็นระยะเวลาประมาณ 15-20 นาที เมื่อมีอาการปวดและบวม เมื่อมีอาการปวดบวมมาก อาจจะทำการประคบทุกวันในสัปดาห์แรก
3. บริหารไหล่เพื่อเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหว โดยทำช้าๆ และขณะทำต้องไม่รู้สึกปวดบริเวณที่ไหล่ แต่อาจรู้สึกตึงๆ ได้ โดยท่าบริหารใดก็ตามที่ทำให้ปวดไหล่มากขึ้นทั้งขณะหรือภายหลังการบริหาร ควรงดท่าบริหารนั้น
4. รักษาโรคอื่น ๆ ที่เป็นต้นเหตุหรือเป็นเหตุเสริมอาการปวดไหล่ ไหล่ติด เช่น โรคกล้ามเนื้อหดเกร็งอักเสบ (MPS) โรคกระดูกสันหลังคอเสื่อม หรือเบาหวาน เป็นต้น
5. เมื่อมีอาการปวดมาก อาจทานยาลดปวดร่วมด้วย ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการใช้ยาอย่างถูกต้อง

ท่าป้องกันข้อไหล่ติด คลิปความยาว 1.56 นาที
ท่าดัดแก้ไขไหล่ติด คลิปความยาว 1.51 นาที
คลินิกกายภาพบำบัดภาวะข้อไหล่ติดแข็ง ม.มหิดล
เปิดบริการในวันและเวลาราชการ วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น.
เปิดนอกเวลาราชการ วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 16.00 – 20.00 น. วันเสาร์ เวลา 08.00 – 16.00 น.
โทรศัพท์ : 02-433-7098, 02-433-7099.




หากท่านใดประสงค์จะโหวตให้บล็อกนี้ ขอความกรุณาโหวตในสาขาสุขภาพ ขอบคุณค่ะ
จาก พรไม้หอม
Create Date : 07 สิงหาคม 2555 |
Last Update : 8 สิงหาคม 2555 17:43:29 น. |
|
29 comments
|
Counter : 5604 Pageviews. |
 |
|
|
เดี๋ยวคงต้องศึกษาข้อมูลในบล้อกพี่แล้วล่ะครับ