อะไรนะ...หูตึง !! ... บล็อกที่ 113

อะไรนะ...หูตึง !!
ตะโกนกันเข้าไปอีก ตะโกนอีก ตะโกนอีก แต่ก็ยังคุยกันไม่รู้เรื่อง ใช่ว่าต้นเสียงจะกระซิบกระซาบ หรือสภาพแวดล้อมจะอึกทึกครึกโครม แต่เป็นเพราะปลายทาง "หูตึง"
สำหรับวันนี้ ขอชวนชาวบล็อกมาทำความรู้จักกับโรคหูตึง ซึ่งเมื่อคนเราแก่ตัวการได้ยินอาจลดน้อยลง แต่ถ้าอายุยังน้อยแล้ว ทำไมยังไม่ค่อยจะได้ยินอีก เอาเป็นว่าเรื่องนี้ต้องขยาย
หูตึง
เมื่อเสียงจากภายนอกผ่านรูหูเข้ามา คลื่นเสียงจะทำให้แก้วหูสั่น จังหวะการสั่นของแก้วหูจะถูกส่งผ่านจากหูชั้นกลางเข้าสู่หูชั้นใน ภายในบริเวณหูชั้นในจะมีเซลล์ขน (Hair cell) ราว 30,000 เซลล์ ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานเสียงเป็นสัญญาณไฟฟ้า แล้วส่งต่อไปยังสมอง เพื่อแปลความหมายของสัญญาณที่ได้รับ
การสูญเสียการได้ยินเนื่องจากประสาทหูเสื่อมนั้น สัญญาณต่าง ๆ จะไม่สามารถเดินทางไปสู่สมองได้ เพราะแม้ว่าคลื่นเสียงสามารถเดินทางไปถึงหูชั้นในได้ แต่เซลล์ขนในหูตายไปแล้ว ดังนั้น เราจึงไม่ได้ยินอะไร ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในสาเหตุของอาการหูตึง
หูตึง หมายถึง ความสามารถในการรับฟังเสียงลดลง จะตึงมากตึงน้อยขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยคนปกติจะมีระดับการได้ยินที่ 25 เดซิเบล หรือน้อยกว่า ขณะที่คนหูตึงระดับการได้ยินจะมีค่าสูงกว่านั้น
สำหรับสาเหตุก็เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ส่วนใหญ่จะเนื่องมาจากปัญหาที่หูชั้นนอกหรือหูชั้นกลาง เช่น เกิดจากเป็นโรคหูน้ำหนวก หูชั้นกลางอักเสบ ขี้หูอุดตัน กระดูกภายในหู คือ กระดูกค้อน ทั่ง โกลน มีหินปูนมาเกาะหรือแยกหลุดออกจากกัน ที่ยูสเตเชี่ยน ซึ่งเป็นท่อที่ทำหน้าที่ปรับความดันในหูชั้นกลางเกิดการอุดตัน และแก้วหูทะลุ เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถให้ยาหรือผ่าตัดรักษาได้
อาการ
อาการหูตึงอาจเกิดขึ้นได้จากปัญหาที่หูชั้นใน คือที่ประสาทหู เช่น การติดเชื้อ โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ซึ่งอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เวียนศีรษะบ้านหมุน มึนงง หรือมีเสียงดังในหู อาการหูตึงในลักษณะนี้ บางชนิดสามารถรักษาได้โดยการกินยา บางชนิดรักษาได้โดยการผ่าตัด
อาการหูตึง อาจเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อย ส่วนใหญ่เกิดจากการทำงานในที่ที่มีเสียงดังอยู่ตลอดเวลา หรือสัมผัสกับเสียงที่ดังเกินมาตรฐานความปลอดภัย 85 เดซิเบลอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผู้สูงอายุก็มักจะมีอาการหูตึงแบบค่อยเป็นค่อยไปเช่นกัน โดยเกิดจากประสาทหูเสื่อม หูตึงจากสาเหตุลักษณะนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถใช้อุปกรณ์ช่วยฟังได้โดยทั่วไป
หูตึงในวัยเด็ก
สำหรับปัญหาการได้ยินในเด็กจะมีระดับความรุนแรงกว่าในผู้ใหญ่ สาเหตุของหูตึงในเด็กส่วนมากเกิดจากมารดาติดเชื้อหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ ทารกแรกคลอดมีน้ำหนักน้อยกว่า 1,500 กรัม ทารกมีอาการตัวเหลืองต้องเข้าตู้อบ ขาดออกซิเจนชั่วคราวขณะคลอด หรือเกิดจากกรรมพันธุ์ มีญาติพี่น้องหูตึงหรือหูหนวก
เด็กที่หูตึงมาแต่กำเนิด ส่วนมากจะสูญเสียการได้ยินในระดับรุนแรง คือต้องใช้เสียงดังมากหรือตะโกนจึงจะได้ยิน แต่ถึงจะได้ยินก็จะได้ยินไม่ชัด เนื่องจากเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่แยกเสียงบกพร่อง เด็กที่หูตึงจะพูดไม่ชัด เพราะจะพูดตามเสียงที่ได้ยิน และจะพูดได้น้อยหรือมีพัฒนาการทางภาษาช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน เด็กต้องเรียนรู้การอ่านริมฝีปากประกอบกับเสียงที่ได้ยิน หรืออาจต้องใช้ท่าทางประกอบเพื่อความเข้าใจ
เด็กหูตึงมักจะซน หรือเล่นก้าวร้าวรุนแรง เนื่องจากมีปัญหาในการสื่อสาร พ่อแม่จึงควรสังเกตการรับฟังของเด็กตั้งแต่แรกเกิด ถ้าสงสัยว่าลูกมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที แต่ปัจจุบันนี้ก็มีการตรวจการได้ยินในเด็กเล็ก และสามารถใส่เครื่องช่วยฟังได้ตั้งแต่แรกเกิด การกระตุ้นการได้ยินตั้งแต่เล็กนั้น จะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษาที่ใกล้เคียงกับวัย
นอกจากนี้ ควรให้เด็กเข้ารับการฝึกพูด โดยนักแก้ไขการพูด การฝึกอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เด็กสามารถพูดได้ การที่พ่อแม่ฝึกพูดให้เด็กด้วยตัวเอง อาจได้ผลไม่ดีเท่า เนื่องจากการฝึกพูดนั้นมีเทคนิคและขั้นตอนต่าง ๆ โดยเฉพาะ
ส่วนการใส่เครื่องช่วยฟัง ในเด็กโดยผู้ไม่ชำนาญหรือหาซื้อมาใส่เองตามคำโฆษณา เด็กอาจได้เครื่องช่วยฟังที่ไม่เหมาะสม เช่น เครื่องช่วยฟังที่เบาเกินไป เด็กจะไม่ยอมใช้เครื่องเพราะไม่ได้ประโยชน์จากการฟัง หรือเครื่องช่วยฟังที่ดังเกินไป เด็กก็จะไม่ยอมใช้เช่นกัน เนื่องจากฟังแล้วไม่สบายหูหรือปวดหู และที่สำคัญจะยิ่งทำให้สูญเสียการได้ยินมากขึ้นไปอีก
การใช้เครื่องช่วยฟังในผู้ใหญ่ก็เช่นกัน ควรพาผู้ป่วยไปตรวจวัดระดับการได้ยินก่อนว่าหูตึงมากน้อยเพียงใด และจะได้ประโยชน์จากการใช้เครื่องช่วยฟังหรือไม่ แม้ว่าปัจจุบันจะมีเครื่องช่วยฟังหลายแบบ ตั้งแต่ขนาดเล็กที่ซ่อนในช่องหูได้อย่างแนบเนียน แบบมีโปรแกรมแยกหลายช่องการทำงาน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการรับฟังเสียงได้ดีกว่าเครื่องในรุ่นก่อน ๆ มาก อย่างไรก็ตาม ไม่ควรด่วนตัดสินใจซื้อตามคำโฆษณา
หูตึงในวัยชรา
เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ทุกอย่างในร่างกายจะหย่อนยานลง ยกเว้นหูเท่านั้นที่ตึงขึ้น ปัญหาหูตึงในผู้สูงอายุมักจะค่อย ๆ เกิดขึ้น โดยตัวผู้สูงอายุเองมักจะไม่ทราบว่าตัวเองหูตึง แต่คนรอบข้างจะรู้ได้เป็นอย่างดี เพราะในการสนทนาต้องใช้เสียงดังขึ้น เปิดทีวีดังขึ้น ในบางคนอาจจะมีปัญหาเสียงรบกวนในหู ซึ่งก่อให้เกิดความรำคาญจนต้องเข้าพบแพทย์
สาเหตุของปัญหาหูตึงในผู้สูงอายุมีอยู่มากมาย โดยสาเหตุเล็ก ๆ มักเกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทการได้ยิน โดยมักจะเริ่มเสื่อมจากความถี่สูงก่อนแล้วค่อย ๆ เป็นมากขึ้น ปัจจัยที่ส่งเสริมการเกิดหูตึงในผู้สูงอายุ ได้แก่ โรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคไตที่ต้องใช้ยาเรื้อรัง เหล่านี้เป็นปัญหาที่ทำให้ผู้สูงอายุมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาหูตึงได้ทั้งสิ้น
ปัญหาที่ตามมา
1. คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุแย่ลง มีปัญหาในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น ๆ รอบ ๆ ตัว อาจจะเกิดความรำคาญกับบุคคลรอบตัวได้
2. อาจเกิดอันตรายจากการที่ไม่ได้ยินเสียงเตือนต่าง ๆ เช่น ของตกใส่ อุบัติเหตุจราจร
3. อาจจะเกิดปัญหาซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้
การดูแลรักษา
ควรตรวจสมรรถภาพการได้ยินเป็นประจำทุกปี เมื่ออายุเกิน 60 ปี
ควบคุมดูแลโรคประจำตัวต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันปัญหาแทรกซ้อนที่อาจทำให้หูตึงได้ ถ้าพบว่าประสาทหูเสื่อมถึงระดับปานกลาง การใช้เครื่องช่วยฟังก็เป็นวิธีที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก....กระปุกดอทคอม และภาพจากอืนเตอร์เนต
สวัสดีค่ะ
จาก พรไม้หอม
หากท่านใดประสงค์จะโหวตให้บล็อกนี้ขอความกรุณาโหวตในสาขาสุขภาพ ขอบคุณค่ะ
Create Date : 01 ตุลาคม 2556 |
Last Update : 1 ตุลาคม 2556 15:58:26 น. |
|
28 comments
|
Counter : 7569 Pageviews. |
 |
|
ได้ความรู้เยอะเลย
ขอบคุณข้อมูลดีๆค่ะ
1 ไล้ค์ก่อนนะคะ