น้ำมันปลา(Fish Oil) … บล็อกที่ 56

น้ำมันปลา(Fish Oil)
นำมาจากบทความเรื่อง ‘ประโยชน์ของน้ำมันปลา(Fish Oil)’ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
น้ำมันปลา เป็นน้ำมันที่สกัดจากส่วนของเนื้อ หนัง หัว และหางของปลาทะเลน้ำลึก ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ ในน้ำมันปลามีกรดไขมันหลายชนิด แต่ที่สำคัญและมีการนำมาใช้ทางการแพทย์ คือ กรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 3 และกรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 6
ในปี ค.ศ. 1976 ได้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าชาวเอสกิโม ซึ่งอาหารหลักในชีวิตประจำวันคือ ปลา มีอุบัติการณ์เกิดเส้นเลือดอุดตันต่ำมาก รวมทั้งพบว่ามีระดับไขมันในเลือดต่ำ การเกาะกันของเกล็ดเลือดน้อยกว่าชาวเดนมาร์ก ซึ่งอาหารหลักคือ เนื้อสัตว์และ ผลิตภัณฑ์นม
ในปี ค.ศ. 1980 ผลการวิจัยในประเทศญี่ปุ่นพบว่า ชาวบ้านในหมู่บ้านประมงซึ่งรับประทานปลาเป็น อาหารหลัก ก็มีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจต่ำกว่าทั่วไป การเกาะกันของเกล็ดเลือดและความหนืดของเลือดต่ำกว่าชาวญี่ปุ่นในหมู่บ้านที่เลี้ยงสัตว์ อาหารประจำวันของผู้ที่อาศัยในหมู่บ้านประมงเป็นอาหารทะเลมากกว่าในหมู่บ้านที่เลี้ยงสัตว์กว่า 2 เท่า และยังพบว่าในอาหารทะเลมีกรดไขมันชนิด EPA ในปริมาณสูง
คณะผู้วิจัยได้สกัดกรดไอโคซาเพนตาอีโนอิก ออกจากน้ำมันปลาซาร์ดีน บรรจุในแคปซูลให้อาสาสมัครรับประทานวันละ 1.4 กรัม พบว่าความหนืดของเลือดของอาสาสมัครลดลงอย่างเห็นได้ชัด หลังจากรับประทานติดต่อกัน 4 สัปดาห์ เกิดข้อสรุปว่า อาหารทะเลช่วยลดความหนืดของเลือด ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการป้องกันหรือรักษาภาวะเส้นเลือดอุดตัน
นับตั้งแต่ปีค.ศ. 1983 เป็นต้นมา น้ำมันปลาก็เริ่มเป็นที่สนใจกันทั่วไป แต่ในเวลานั้นผลการศึกษาวิจัยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถสรุปประสิทธิภาพของน้ำมันปลาในการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้อย่างแน่นอน เพราะการศึกษาไม่ได้ทำในวงกว้าง จนสิบกว่าปีผ่านไปพร้อมกับรายงานการศึกษาที่ตีพิมพ์ออกมาเรื่อยๆ ว่า น้ำมันปลามีประสิทธิภาพในการป้องกันหลอดเลือดอุดตัน โรคหลอดเลือดหัวใจ และยังมีรายงานว่าช่วยป้องกันโรคมะเร็ง และข้ออักเสบได้อีกด้วย



ปลาทะเลที่มีน้ำมันปลามาก คือ แซลมอน ทูน่า ซาบะ ซาร์ดีน เฮอร์ริ่ง แองโชวี่ ไวท์ฟิช บลูฟิช ชอคฟิช เทราท์ แมคเคอเรล ปลาทู ปลาสำลี ปลารัง ปลากระพง เป็นต้น พบว่าปลาที่จับได้ในธรรมชาติจะมีปริมาณกรดไขมันในกลุ่มโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 ในสัดส่วนที่เหมาะสม ส่วนปลาที่เลี้ยงในบ่อจะมีปริมาณของกรดโอเมก้า 6 มากกว่าโอเมก้า 3
ปัจจุบันน้ำมันปลา เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ได้รับความนิยมในการรับประทานอย่างแพร่หลาย ส่วนน้ำมันตับปลา ที่เรารู้จักกันดี สกัดจากตับของปลาทะเล เช่น ปลาคอด แฮลิบัท เฮอร์ริ่ง มีสาระสำคัญคือ วิตามินเอ และดี
ประโยชน์ของน้ำมันปลา
1. น้ำมันปลาช่วยลดระดับของไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด และเพิ่มระดับของเอชดีแอลโคเลสเตอรอล ซึ่งเป็นไขมันที่ดี มีประสิทธิภาพสูงกว่าน้ำมันข้าวโพดและน้ำมันดอกคำฝอยมาก ผู้ชายที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง เมื่อให้กินปลาประมาณ 18 ออนซ์ต่อวัน เป็นเวลา 3 เดือน พบว่าระดับไตรกลีเซอไรด์ลดลง และระดับเอชดีแอลโคเลสเตอรอลเพิ่มขึ้น
2. น้ำมันปลาช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยลดการเกาะตัวกันของเกล็ดเลือด ทำให้เลือดไม่เกาะตัวเป็นลิ่ม เลือดจึงไหลเวียนได้ดีขึ้น ลดความหนืดของผนังหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดมีความยืดหยุ่น
3. น้ำมันปลาช่วยลดความดันโลหิต จากรายงานผลการศึกษาวิจัยพบว่า อาหารที่ประกอบด้วยปลาหางแข็งหรือปลาทู ซึ่งมี EPA ในปริมาณ 2.2 กรัมต่อวัน สามารถลดความดันเลือดซิสโตลิกในคนไข้ที่มีโรคความดันผิดปกติทางกรรมพันธุ์ที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลในเลือดสูง และทำให้เกิดโรคหัวใจในขณะที่อายุยังน้อย
4. น้ำมันปลาช่วยบรรเทาอาการอักเสบ ปวดบวมของโรคปวดข้ออักเสบรูมาตอยด์
5. น้ำมันปลาช่วยลดการอักเสบของโรคสะเก็ดเงินหรือโรคเรื้อนกวาง
6. น้ำมันปลาช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง ทำให้ความจำและความสามารถในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น
คนในวัยทำงานมักประสบความเครียดอยู่เสมอ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะร่างกายขาด DHA ในปริมาณที่เหมาะสม กรดโดโคซาเฮ็กซาอีโนอิก จะผ่านเข้าไปเสริมสร้างการเจริญเติบโตของปลายประสาท ของเซลล์สมอง ทำหน้าที่ถ่ายทอดสัญญาณและผ่านข้อมูลระหว่างเซลล์สมองด้วยกัน ทำให้สมองทำงานดีขึ้น หากรับประทานอาหารที่มีกรดโดโคซาเฮ็กซาอีโนอิกจำนวนมากอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้สัดส่วนของ DHA ในสมองสูงขึ้น ความเครียดจะลดลงและสมองทำงานได้ดียิ่งขึ้น
ผู้สูงอายุจะเกิดภาวะสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ได้ง่ายกว่าคนในวัยอื่นๆ โดยไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุอะไร แต่จากการทดลองโดยการให้กรดโดโคซาเฮ็กซาอีโนอิก แก่ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ใน ประเทศญี่ปุ่น พบว่าความสามารถในการคำนวณ ความสามารถในการตัดสินใจ และประสิทธิภาพระดับสูงของผู้ป่วยดีขึ้น โดยกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับ DHA เป็นเวลา 6 เดือนจะมีอาการที่ดีขึ้นมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับ DHA อย่างเห็นได้ชัด



การรับประทานน้ำมันปลา
รับประทานเป็นอาหารเสริมเพื่อป้องกันโรคหัวใจ วันละ 1,000 มิลลิกรัม (1 แคปซูล) หลังอาหาร
รับประทานเพื่อรักษาโรค วันละ 3 กรัม (3 แคปซูล) หรือมากกว่านั้นตามคำแนะนำของแพทย์.




สวัสดีค่ะ
จาก พรไม้หอม
หากท่านใดประสงค์จะโหวตให้บล็อกนี้ ขอความกรุณาโหวตในสาขาสุขภาพ ขอบคุณค่ะ
Create Date : 26 พฤศจิกายน 2555 |
Last Update : 26 พฤศจิกายน 2555 14:16:18 น. |
|
18 comments
|
Counter : 3782 Pageviews. |
 |
|
|
ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ ที่นำมาฝาก นะครับ
บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้
ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
พรไม้หอม Health Blog ดู Blog