การอบสมุนไพร ... บล็อกที่ 76

การอบสมุนไพร
จากเอกสารเผยแพร่ ของ ศูนย์สาธารณสุขสาธิตคลินิกแพทย์แผนไทย วิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขกาญจนาภิเษก จ.นนทบุรี
การอบสมุนไพร คือ การอบตัวด้วยไอน้ำร้อนที่ได้จากการต้มสมุนไพรชนิดเดียว หรือหลายๆ ชนิด เพื่อบำบัดรักษาหรือส่งเสริมสุขภาพตามหลักการแพทย์แผนไทย
สมุนไพรที่ใช้ในการอบ อาจเพิ่ม อาจลดชนิดได้ มีทั้ง สมุนไพรที่มีกลิ่นหอม มีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์เป็นน้ำหอมระเหย ซึ่งช่วยรักษาโรค เช่น โรคหวัดคัดจมูก โรคผิวหนัง อาการปวดเมื่อย สมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว มีฤทธ์เป็นกรดอ่อนๆ ซึ่งช่วยชำระล้างสิ่งสกปรกและเพิ่มความต้านทานโรคให้กับผิวหนัง สมุนไพรที่ใช้รักษาเฉพาะโรค เช่น รักษาโรคผิวหนังผื่นคัน บำรุงสายตา และที่ไม่ใช่สมุนไพร แต่เป็นสารประกอบที่ระเหิดได้เมื่อถูกความร้อนและมีกลิ่นหอม เช่น การบูร พิมเสน
ตัวอย่างสมุนไพรที่ใช้ในการอบ
1. ไพล แก้อาการปวดเมื่อย ครั่นเนื้อครั่นตัว
2. ขมิ้นชัน แก้โรคผิวหนัง สมานแผล
3. กระชาย แก้ปากเปื่อย ปากแตกเป็นแผล
4. ตะไคร้ ดับกลิ่นคาว บำรุงธาตุไฟ
5. ใบมะขาม แก้อาการคันตามร่างกาย
6. ใบเปล้าใหญ่ บำรุงผิวพรรณ
7. ใบหรือผิวมะกรูด แก้ลมวิงเวียน ช่วยส่งเสริมระบบทางเดินหายใจ
8. ใบส้มป่อย แก้หวัด แก้ปวดเมื่อย
9. พิมเสนหรือการบูร บำรุงหัวใจ รักษาโรคผิวหนัง เป็นต้น
ทั้งนี้ สมุนไพรนำมาล้างให้สะอาด สับหยาบๆ แล้วนำไปต้มขณะที่สมุนไพรยังสด แล้วนำไอน้ำมาอบร่างกาย


ขั้นตอนและคำแนะนำในการอบตัว
1. ก่อนเข้าอบตัว ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ และควรอาบน้ำหรือใช้น้ำพรมตามร่างกายก่อน
2. ถอดเครื่องประดับที่เป็นโลหะ ทอง เครื่องเงิน ออกเสียก่อน เพราะเป็นตัวนำความร้อน
3. แต่งกายตามสะดวก หรือสวมผ้าน้อยชิ้น เช่น ผู้หญิงนุ่งกระโจมอก ผู้ชายนุ่งผ้าเช็ดตัว
4. ไม่ทาครีมบำรุงผิวใดๆ ก่อนเข้าอบตัว เพราะเนื้อครีมจะเคลือบผิวหนังไว้และปิดรูขุมขน แต่สามารถใช้ครีมหมักผม ครีมบำรุงเส้นผม ก่อนเข้าห้องอบตัวได้
5. ในการอบ ใช้เวลารวม 30 นาที โดยอบ 2 ครั้ง ครั้งละ 15 นาที และออกมานั่งพัก 3-5 นาทีหลังการอบครั้งแรก ควรดื่มน้ำทดแทน แต่ไม่ควรเป็นน้ำเย็นจัด ในรายที่ไม่เคยอบ ควรอบครั้งละ 10 นาที 3 ครั้ง หรือขึ้นกับความเหมาะสมของแต่ละบุคคล
6. หลังการอบ ไม่ควรอาบน้ำทันที ควรนั่งพัก 3-5 นาที หรือจนเหงื่อแห้ง แล้วจึงอาบน้ำชำระเหงื่อไคล
7. การอบสมุนไพร ควรอบอย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือวันเว้นวัน หรือขึ้นกับความเหมาะสมของแต่ละบุคคล


ข้อห้ามสำหรับการอบสมุนไพร
1. ขณะมีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส หรือหลังฟื้นไข้ใหม่ๆ
2. ผู้ที่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง เช่น วัณโรค
3. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคลมชัก โรคหอบหืดขั้นรุนแรง
4. ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง มีอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ
5. สตรีขณะมีประจำเดือนร่วมกับมีอาการไข้
6. ผู้ที่อดนอน อดอาหาร หรือมีอาการอ่อนเพลียมาก
7. ผู้ที่ปวดศีรษะชนิดเวียนศีรษะ คลื่นไส้
8. หลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ


ประโยชน์ของการอบสมุนไพร
1. ช่วยปรับการไหลเวียนของโลหิตให้ไหลเวียนดีขึ้น
2. ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น บรรเทาอาการปวดเมื่อย
3. ช่วยชำระล้างหรือขับของเสียออกทางผิวหนัง และขับสารพิษที่ตกค้างในร่างกาย
4. บำรงผิวพรรณ บรรเทาอาการคัน และรักษาผดผื่นคัน
5. ช่วยขับน้ำคาวปลา ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น
6. ช่วยให้ทางเดินหายใจโล่ง และระบบการหายใจดีขึ้น
7. ช่วยให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า สบายตัว
8. ช่วยให้ร่างกายเผาผลาญเร็วขึ้น ละลายไขมันได้บางส่วน และช่วยให้น้ำหนักลดลงชั่วคราว
9. ช่วยบรรเทาอาการหรือรักษาโรคบางอย่าง เช่น ปวดเมื่อย ปวดตามข้อ เคล็ดขัดยอก และโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืดที่มีอาการไม่รุนแรง.




สวัสดีค่ะ
จาก พรไม้หอม
หากท่านใดประสงค์จะโหวตให้บล็อกนี้ ขอความกรุณาโหวตในสาขาสุขภาพ ขอบคุณค่ะ
Create Date : 24 กุมภาพันธ์ 2556 |
Last Update : 24 กุมภาพันธ์ 2556 16:47:13 น. |
|
44 comments
|
Counter : 11089 Pageviews. |
 |
|
|
ฉัตรขออนุญาตแชร์ไปหน้าเพจนะคะ
^_______^