ประโยชน์ของมะละกอ ... บล็อกที่ 71

ประโยชน์ของมะละกอ
เขียนโดย เดชา ศิริภัทร บทความเรื่อง "มะละกอผักผลยอดนิยม สารพัดประโยชน์" จากนิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 179 เดือนมีนาคม 1994
เราอาจจัดมะละกอ อยู่ในจำพวกผัก ที่เรียกว่า “ผักผล” (Fruit Vegetables) เพราะใช้ผลมาประกอบอาหาร(คาว) เป็นหลัก แม้จะใช้ส่วนอื่นๆ (เช่น ใบ ยอด) เป็นผักได้ด้วย แต่ใช้น้อยกว่าผลมาก
ผักจำพวก “ผักผล” นี้มีหลายชนิด เช่น มะเขือ แตงกวา ฟักทอง เป็นต้น .. ในบรรดาผักที่มีอยู่มากมายหลายชนิดนั้น มะละกอ นับได้ว่าเป็น ผักผลที่ได้รับความนิยมสูง และมีประโยชน์ในด้านต่างๆ กว้างขวางกว่าผักผลชนิดอื่นๆ
มะละกอ เป็นชื่อที่เรียกในบริเวณภาคกลางของไทย ส่วนในภาคอื่นๆ จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น .. ภาคเหนือ เรียก “มะก้วยเทศ” .. ภาคอีสานเรียก “หมักหุง” .. และภาคใต้เรียก "ลอกอ" ทาง จ.ยะลา เรียก “แตงต้น” เป็นต้น .. สำหรับในภาษาอังกฤษ เรียกมะละกอ ว่า papaya หรือ melontree ซึ่งแปลว่า แตงต้น เหมือนชื่อทาง จ.ยะลา ภาคใต้


มะละกอ มีลักษณะโดยทั่วไป คือ เป็นพืชยืนต้น เนื้อต้นอ่อน ลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ 3-4 เมตร ใบเดี่ยว มีขนาดใหญ่ ขอบใบหยักเว้าลึก ก้านใบกลมยาว กลวง ยาวประมาณ 1 เมตร ใบ ดอก และผล รวมอยู่เฉพาะส่วนบนยอดสุดของลำต้น ดอกมีสีขาวครีม แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ ดอกตัวผู้ ดอกตัวเมีย และดอกกระเทย
ผล มีหลายขนาดและหลายรูปทรง ตั้งแต่กลม รี และยาว ขนาดของผล มีตั้งแต่ขนาดไม่ถึง 100 กรัม ถึงขนาดหลายกิโลกรัมต่อผล
เปลือกผลดิบ มีสีเขียว และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองถึงแสด เมื่อสุก เนื้อในผล เมื่อดิบมีสีขาว เมื่อสุกมีสีเหลืองถึงสีแสดแดง
เมล็ด เมื่อยังอ่อนมีสีขาว และเปลี่ยนเป็นสีดำ เมื่อแก่เต็มที่
ทุกส่วนของลำต้น มีน้ำยางสีขาว (Latex) โดยเฉพาะ ผลดิบ มียางมากเป็นพิเศษ ต้นมะละกอ ทนความแห้งแล้งได้ดีพอสมควร แต่ทนน้ำท่วม และความชื้นแฉะไม่ได้



มะละกอในฐานะผักพื้นบ้าน
มะละกอ ถูกนำมาใช้บริโภคเป็นผักได้ หลายส่วนด้วยกัน เช่น ผล(ดิบ) ยอด ใบ และลำต้น ส่วนที่ใช้มากที่สุด คือ ผลดิบ ซึ่งอาจใช้บริโภคดิบก็ได้ เช่น นำมาปรุงตำส้มที่ชาวไทยรู้จักกันดี หรือนำมาทำให้สุกเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็น ต้ม (หรือต้มกะทิ) เป็นผักจิ้ม แกงส้ม ต้มกับเนื้อ ฯลฯ .. นอกจากนี้ยังนำเนื้อมะละกอดิบ มาดองกับน้ำส้มเป็นผักดอง หรือนำเนื้อมะละกอดิบ มาดองเกลือ ตากแห้ง เป็นตังฉ่าย ใช้ปรุงอาหารได้
ยอดอ่อนและใบมะละกอ นำมาใช้ปรุงอาหารเป็นผักได้เช่นเดียวกัน แต่ในเมืองไทยยังไม่นิยม อาจจะเป็นเพราะรังเกียจ ความขม หรือยางในใบและยอดมะละกอ แต่ในบางประเทศนิยมกันมาก เช่น บนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย
ข้อดีประการหนึ่งของการนำใบ และยอดมะละกอ มาบริโภคเป็นผัก ก็คือ มีคุณค่าทางอาหารสูง ทั้งโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ชนิดต่างๆ จึงอยากขอฝากให้ชาวไทยที่มีฝีมือในการปรุงอาหาร ช่วยนำใบและยอดมะละกอ มาทดลองประกอบอาหารให้มีรสชาติที่คนไทยยอมรับ เป็นอาหารไทยชนิดหนึ่งได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยในอนาคตมาก
ในส่วนลำต้น มะละกอ เมื่อปอกเปลือกด้านนอกออกแล้ว จะได้เนื้อภายในที่มีสีขาวครีม และค่อนข้างอ่อนนุ่ม คล้ายเนื้อผักกาดหัว(ไชเท้า) จึงสามารถนำมาปรุงอาหารได้เช่นเดียวกับ ผักกาดหัว โดยเฉพาะนำมาดองเค็ม ตากแห้ง เหมือนหัวผักกาดเค็ม (ไชโป๊) .. มะละกอ นับเป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงชนิดหนึ่ง เช่น เนื้อในผล ซึ่งแม้คุณค่าจะด้อยกว่า ใบและยอดมะละกอ แต่ก็นับว่าสูง โดยเฉพาะวิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี แร่ธาตุเหล็ก และแคลเซียม เป็นต้น


ประโยชน์ด้านอื่นๆ ของมะละกอ
ในต่างประเทศ ประชาชนส่วนใหญ่รู้จักมะละกอในฐานะผลไม้ เพราะมะละกอสุก เป็นผลไม้ที่ดีมากชนิดหนึ่ง เป็นที่นิยมกินกันทั่วโลก ไม่เฉพาะในเขตร้อนที่ปลูกมะละกอได้เท่านั้น แต่ยังนำเข้าไปในประเทศเขตอบอุ่นที่ปลูกมะละกอไม่ได้อีกด้วย
มะละกอสุก สามารถกินสด บรรจุกระป๋อง นำไปทำแยม และทำน้ำผลไม้ได้ดี มีรสอร่อย สีสวยน่ากิน คุณค่าทางโภชนาการสูง มีคุณค่าทางสมุนไพร มีผลให้กินตลอดปี ผลิตได้ง่าย ราคาไม่แพง ฯลฯ
มะละกอ มีความสำคัญมากในอุตสาหกรรมผลิต เอนไซม์ปาเปอีน (papain) ซึ่งเป็นเอนไซม์ช่วยย่อยอาหารหมัก ทำให้เนื้อเปื่อยนุ่ม ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น
เอนไซม์ปาเปอีน ได้จากยางมะละกอ ซึ่งกรีดแผลบนผลมะละกอดิบ แล้วปล่อยให้แห้ง นำยางมะละกอแห้ง มาสกัดเอนไซม์ปาเปอีน และเอนไซม์อื่นๆ บางชนิด .. ยางมะละกอนี้ แม่บ้านชาวไทยรู้จักนำมาใช้ประโยชน์นานแล้ว เช่น ใช้หมักเนื้อให้อ่อนนุ่ม ใส่ในต้มแกงให้เนื้อเปื่อยยุ่ย เป็นต้น


มะละกอ มีคุณค่าด้านสมุนไพรมากมายแทบทุกส่วน
ยาง .. แก้ปวดฟัน ถ่ายพยาธิไส้เดือน กัดหูด ใช้ลบรอยฝ้าบนใบหน้า
ราก .. ต้มกินขับปัสสาวะ
เมล็ดแก่ .. ถ่ายพยาธิ แก้กระหายน้ำ
ใบ .. บำรุงหัวใจ
ผลดิบ .. เป็นยาระบายอ่อนๆ ขับปัสสาวะ
ผลสุก .. บำรุงธาตุ แก้ธาตุไม่ปกติ แก้กระเพาะอาหารอักเสบ ช่วยย่อยอาหาร เป็นยาระบายอ่อนๆ

ชามะละกอ
นำผลมะละกอดิบที่ไม่อ่อนเกินไป มาปอกเปลือก หั่นเนื้อมะละกอดิบ ใส่หม้อน้ำ ต้มให้เดือด นำดอกเก๊กฮวย นำใบชา (ชาจีน หรือชาใบหม่อน) ใส่ลงไป แล้วตักเนื้อมะละกอ ดอกเก๊กฮวย และใบชาออก น้ำชาที่ได้ คือ ชามะละกอ ใช้ดื่มแทนชาทั่วไป
ชามะละกอ จะช่วยล้างลำไส้โดยไม่ต้องสวนทวารช่วย ช่วยล้างคราบไขมันที่ผนังลำไส้ อันเนื่องมาจากการกินอาหารผัด เพราะผนังลำไส้ของคนเรามีคราบไขมันเกาะตัวอยู่ ซึ่งขัดขวางการดูดซึมสารอาหาร และวิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย หากระบบดูดซึมไม่ดี เมื่อกินอาหารก็ได้แค่อิ่ม ควรจะล้างคราบไขมันที่ผนังลำไส้บ้าง สารของมะละกอจะเกิดการผสมผสานกับสารของใบชา ช่วยย่อยไขมันและล้างไขมันออกจากผนังลำไส้ การทำชามะละกอ เพื่อล้างลำไส้ให้ได้ประโยชน์ ไม่ควรเติมน้ำตาลในชา
สบู่มะละกอ-น้ำผึ้ง

สวัสดีค่ะ
จาก พรไม้หอม
หากท่านใดประสงค์จะโหวตให้บล็อกนี้ ขอความกรุณาโหวตในสาขาสุขภาพ ขอบคุณค่ะ
Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2556 |
Last Update : 2 กุมภาพันธ์ 2556 10:42:05 น. |
|
54 comments
|
Counter : 7323 Pageviews. |
 |
|
|
และประโยชน์ของมะละกอ
ได้ความรู้ดีมากเลยค่ะ
เห็นมะละกอดกๆแล้วชอบใจจัง
ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันนะคะ
ไล้ค์ค่ะ