การดูแลผู้สูงอายุด้านอาหาร ...บล็อกที่ 197
การดูแลผู้สูงอายุด้านอาหาร
บทความสุขภาพจากเว็บ....หาหมอ.คอม
โดย.....ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์ วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์

ผู้สูงอายุมีความต้องการอาหาร 5 หมู่ กล่าวคือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ /แร่ธาตุ เช่นเดียวกับในคนทุกอายุ แต่เนื่องจากผู้สูงอายุจะเคลื่อนไหวได้น้อยกว่า ออกกำลังกายได้น้อยกว่า มีโรคเรื้อรังต่างๆที่ต้องจำกัดทั้งประเภทและปริมาณอาหารสูงกว่า และร่างกายต้องการอาหารเพื่อการเจริญเติบโตน้อยกว่าวัยอื่นๆ ผู้สูงอายุจึงอ้วนได้ง่ายกว่า ดังนั้นผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องจำกัดอาหารหลักที่ให้พลังงานมากกว่าคนอายุอื่น นั่นคือการจำกัดอาหารคาร์โบไฮเดรต และอาหารไขมัน แต่บริโภคโปรตีนในปริมาณเท่ากับในผู้ใหญ่ทั่วไป และควรต้องเพิ่มปริมาณผักผลไม้ให้มากขึ้น
ผู้สูงอายุมักมีปัญหาด้านการย่อยอาหาร เพราะมีการเสื่อมถอยของเซลล์ทุกๆเซลล์ มีปัญหาของฟันและเหงือก ส่งผลต่อการเคี้ยวอาหาร น้ำลายลดลง ส่งผลทั้งต่อการเคี้ยวและการย่อย ประสิทธิภาพของน้ำย่อย ปริมาณน้ำย่อย และการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ถดถอย เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย และท้องผูกได้ง่าย ดังนั้นผู้สูงอายุจึงควรต้องบริโภคอาหารอ่อน ย่อยง่าย อาหารรสไม่จัด หลีกเลี่ยงผลไม้ดิบ หรือผักสดชนิดย่อยยาก และหลีกเลี่ยงอาหารประเภททอดน้ำมัน
โปรตีน ควรต้องเป็นชนิดย่อยง่ายเช่นกัน เช่น จากปลา และไข่ ถ้าจะบริโภคเนื้อแดงควรต้องปรุงให้เปื่อยยุ่ย เป็นต้น ในส่วนของไข่ แพทย์ทุกคนเห็นตรงกันว่า กินไข่ขาวได้สูงถึงวันละ 3 ฟอง ถ้ากินโปรตีนชนิดอื่นไม่ได้ แต่ในเรื่องของไข่แดงยังคงถกเถียงกันอยู่ เพราะการศึกษาต่างๆยังสรุปไม่ได้ชัดเจน เพราะหลายการศึกษาให้ผลว่า ถ้าไม่มีโรคประจำตัวหรือไขมันในเลือดสูง สามารถกินไข่ที่รวมทั้งไข่แดงและไข่ขาวได้ถึงวันละ 2 - 3 ฟอง แต่แพทย์ทั่วไปยังคงแนะนำให้กินไข่แดงได้ ไม่เกินสัปดาห์ละ 2 - 3 ฟอง
คาร์โบไฮเดรต ควรเป็นแป้งจากธัญพืชเต็มเมล็ดหรือขัดสีน้อย เพื่อเพิ่มวิตามิน เกลือแร่ และใยอาหาร เลือกที่มีน้ำตาลน้อยที่สุด จำกัดอาหารมีน้ำตาลให้เหลือน้อยที่สุด
จำกัดไขมันทุกประเภทให้เหลือน้อยที่สุด เพราะเป็นอาหารที่มีประโยชน์น้อยที่สุดสำหรับผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ให้โทษมากกว่า โดยเฉพาะโรคของหลอดเลือดต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง
เพิ่มผักผลไม้ให้มากๆอย่างน้อยวันละ 5 มื้อ เพื่อได้วิตามิน เกลือแร่และใยอาหาร ช่วยลดการท้องผูก และไม่ทำให้อ้วน เนื่องจากเป็นอาหารกลุ่มไม่มีพลังงาน หรือให้พลังงานน้อย ยกเว้นผลไม้ที่มีรสหวานทุกชนิด ควรจำกัดเช่นเดียวกับการจำกัดอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต
ดื่มน้ำให้ได้มากๆ จะช่วยให้ร่างกายสดชื่น ลดอาการท้องผูก ลดโอกาสเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ลดอาการปากคอแห้ง และช่วยละลายเสมหะ ดื่มอย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่มเช่น โรคหัวใจล้มเหลว
วิตามิน เกลือแร่เสริมอาหารทุกชนิด เมื่อจะรับประทานควรปรึกษาแพทย์ก่อนซื้อบริโภคเองเสมอ เพราะตับและไตผู้สูงอายุจะทำงานได้น้อยลง โอกาสเกิดโทษจากผลข้างเคียงของวิตามินเกลือแร่เสริมอาหารจึงสูงขึ้นจากการเพิ่มปริมาณสะสมในร่างกาย
ควรต้องเลิกบุหรี่เพราะมีสารพิษต่างๆมากมาย ก่อให้เกิดโรคของหลอดเลือด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคของระบบทางเดินหายใจ โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ โรคกรดไหลย้อน และเป็นสารก่อมะเร็งสำคัญเช่น โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งในอวัยวะส่วนศีรษะและลำคอ และโรค มะเร็งเต้านม
ควรต้องจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์เพราะจะมีผลต่อตับเพิ่มขึ้น จากการที่ตับทำงานได้น้อย ลงตามอายุ และยังเป็นสาเหตุของโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ และโรคกรดไหลย้อน
ควรต้องจำกัดเครื่องดื่มมีคาเฟอีนให้เหลือน้อยที่สุดเช่น ชา กาแฟ โคล่า ยาชูกำลังต่างๆ เพราะมักทำให้นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ใจสั่น และเพิ่มการขับน้ำออกทางปัสสาวะ จึงอาจส่งผลให้เกิดอาการวิงเวียนและ/หรือภาวะความดันโลหิตต่ำโดยเฉพาะเมื่อลุกขึ้นยืนได้
อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุควรได้อาหารหลากหลายชนิด ไม่ควรกินซ้ำๆชนิดเดียวกันต่อเนื่อง เพราะจะเกิดการสะสมสารไม่พึงประสงค์หรือภาวะขาดอาหารได้ง่าย
ดังนั้นการดูแลผู้สูงอายุในด้านอาหารคือ ต้องให้ผู้สูงอายุได้อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ครบ ถ้วน ในปริมาณที่เหมาะสมกับการใช้พลังงานของผู้สูงอายุ เพื่อไม่ให้เกิดโรคน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ไม่ให้เกิดการขาดอาหาร และเพื่อได้สารอาหาร น้ำดื่ม และใยอาหารอย่างพอเพียง
ขอขอบคุณ
ภาพจาก...อินเตอร์เน็ต
บทความสุขภาพจากเว็บ....หาหมอ.คอม โดย.....ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์ วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์
สวัสดีค่ะ
จาก พรไม้หอม
หากท่านใดประสงค์จะโหวตให้บล็อกนี้ ขอความกรุณาโหวตในสาขาสุขภาพ ขอบคุณค่ะ
Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2558 |
Last Update : 1 มีนาคม 2559 21:55:35 น. |
|
58 comments
|
Counter : 6777 Pageviews. |
 |
|