จงให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่าสิ่งที่ถูกใจ
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2553
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
10 พฤษภาคม 2553
 
All Blogs
 

เงื่อนไขการปฎิวัติ (ตอนที่ 23 - สุดท้าย)

โดย พ.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ

ตอนที่ 23 (สุดท้าย)

ผมเคยได้เขียนมาแล้วหลายตอนว่า การปฏิวัติที่จะสำเร็จลงได้นั้น ต้องใช้กำลังทหารบก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารราบ และตัวผู้บัญชาการทหารบกต้องเอาด้วย หาไม่แล้ว การปฏิวัตินั้นจะสำเร็จลงได้ยาก

คณะรัฐประหาร ๘ พ.ย. ๙๐ ที่ทำการสำเร็จอย่างง่ายดายนั้น ก็เพราะผู้บัญชาการทหารบกท่านวางเฉย ถึงแม้ท่านจะไม่เล่นด้วย ท่านก็ไม่ได้ขัดขวาง เพียงแต่สั่งถอดลูกเลื่อนปืนเล็กยาวของทหารที่จะไปจับท่านปรีดีออกหมดทุกกระบอกเท่านั้น การปฏิวัติด้วยปืนที่ไม่มีลูกเลื่อนก็ยังสำเร็จ

กบฏแมนฮัตตันคราวนั้นมีแต่กำลังทหารเรือฝ่ายเดียว ถึงแม้จะมีกำลังฝ่ายทหารบกร่วมอยู่ก็เป็นกำลังนาวิกโยธินเพียงสองกองพัน และหน่วยนาวิกโยธินนั้นถือเป็นกำลังหลักไม่ได้ เป็นไปได้แต่เพียงกำลังเสริมที่จะช่วยทางภาคพื้นดินได้บ้างเท่านั้น กำลังเป็นปึกแผ่นนั้นต้องกำลังทหารบกแท้ ๆ จึงสามารถที่จะยึดพื้นที่ได้อย่างมั่นคง

เสร็จจากเรื่องแมนฮัตตันแล้ว กำลังฝ่ายทหารเรือก็ถูกลิดรอนลงมาก หน่วยนาวิกโยธินถูกยุบไปให้ออกจากพื้นที่ภายใน ต้องไปอยู่ที่สัตหีบไกลออกไปทางฝั่งทะเลตะวันออกโน่น และมีบางหน่วยที่ตั้งขึ้นทางฝั่งทะเลทางใต้ เพื่อเป็นกำลังสนับสนุนทหารบกป้องกันชายแดนด้านนั้น

หน่วยนาวิกโยธินที่สัตหีบ ได้ผู้บังคับบัญชาคนใหม่ ชื่อว่า พลเรือจัตวา ประสงค์ พิบูลสงคราม ซึ่งโยกย้ายไปจากกำลังทหารเรือในกรุง ผู้บังคับบัญชาหน่วยนาวิกโยธินคนใหม่นี้ ดูชื่อแล้ว ไม่ต้องบอกก็ได้ว่าเป็นใคร ฝ่ายไหน

เหตุการณ์หลังจากนั้น ฝ่ายรัฐบาลก็คุมสถานการณ์ไว้ได้ในกำมือ และสามารถที่จะรักษาสถานการณ์ทางด้านการเมืองได้อย่างมั่นคง มีกำลังเป็นปึกแผ่นที่จะรักษาอำนาจไว้ได้

เมื่อเหตุการณ์สงบลงด้วยดี ก็ต้องมีการขอบำเหน็จความชอบกันทั่ว ๆ ไป หลายฝ่ายได้เสี่ยงชีวิตทำการปราบปรามการปฏิวัติที่เรียกว่า กบฏ ครั้งนั้น ผมไม่ได้เขียนรายงานขอความชอบอะไรกับเขา เพราะเขียนไม่ออก จนถึงกับท่านผู้ช่วย อ ตร. ขณะนั้น คือ พลตำรวจตรี พิชัย กุลละวนิชย์ ต้องเรียกตัวผมไปที่ทำงาน ถามว่า ทำไมถึงยังไม่เห็นรายงานการปฏิบัติงานของผม ใคร ๆ เขาเขียนส่งกันมาหมดแล้ว

ผมเรียนขอดูรายงานของการปฏิบัติการด้านกองสัญญาณ ท่านก็ให้ผมดู มีรายงานเป็นปึกของผู้ที่เขียนส่งมา ผมอ่านดูแล้วก็เขียนไม่ลง เพราะตรงที่ผมปฏิบัติงานอยู่นั้น มีรายงานของท่านนายตำรวจใหญ่ ๆ หลายท่านเขียนไว้ว่า ได้ไปร่วมทำงานอยู่ด้านนั้น และได้นำรถเกราะเข้าโจมตีกองสัญญาณร่วมกับผมด้วยหลายท่าน จนยึดกองสัญญาณได้

ผมอ่านดูแล้วก็งง เพราะผมไม่เคยเห็นท่าน ๆ เหล่านั้นในขณะที่ผมนำรถเกราะเข้าไปพังเสียตั้งสามคันนั่นเลย ก็ไม่ทราบว่าท่านเหล่านั้นแอบเข้าไปบุกกองสัญญาณกับผมเมื่อไร แล้วเหตุการณ์ที่ท่านบรรยายไว้ในรายงานนั้นก็ไม่ยักเหมือนกับที่ผมได้ประสบมา

อาจเป็นกองสัญญาณคนละกองก็เป็นได้

ผมส่งคืนรายงานหลายฉบับนั้นให้ท่านผู้ช่วย อ ตร. แล้วก็โค้งลาออกมา

“ อ้าว..เฮ้ย ” เสียงของท่านผู้ช่วย อตร. ดังไล่หลังผมมา “ ไอ้หมา ทำไมจะไปเสียล่ะ ”

ท่านผู้ช่วย อ ตร. ท่านนี้ชอบเรียกเด็ก ๆ ที่ท่านรักว่า “ ไอ้หมา ”

ผมหันไปยิ้มรับสมญาของผม แล้วว่า

“ แล้วผมจะส่งมาทีหลังครับ ”

ผมไม่ได้ส่งรายงานมาตามที่ผมบอก ผมจะเขียนได้ยังไง ถ้าผมเขียนขึ้นมา รายงานของท่านเหล่านั้นก็ต้องเป็นรายงานเท็จ เพราะมันจะต้องไม่ตรงกันกับของผม ผมก็ไม่ทราบว่าท่านเหล่านั้นกล้าได้กล้าเสียถึงขนาดนั้นได้อย่างไร ถึงกับกล้าเขียนรายงานเท็จเพื่อขอความดีความชอบเอาง่าย ๆ อย่างนั้น

แล้วก็ท่านนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ผมเห็นเดินถอดเครื่องแบบเกร่อยู่แถวประตูน้ำ ตอนที่ผมนำรถเกราะผ่านไปทางนั้น ท่านก็เขียนรายงานว่า ท่านอยู่ที่รถเกราะกับผมด้วย และได้นำรถเกราะเข้าไปตีกองสัญญาณโดยบุกเข้าไปกับรถเกราะด้านถนนวิทยุด้วย

ยังงี้ผมจะเขียนรายงานของผมออกไปได้อย่างไร ?

แต่ในที่สุด ผมก็พลอยได้ความดีความชอบกับเขาด้วย ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เขียนรายงานส่งขึ้นไป ผมได้เงินเดือนขึ้นสามขั้นในปีนั้น ได้ติดยศ พันตำรวจตรี มีมงกุฎครอบดาวเดียวแทนสามดาวอุ่น ๆ ก่อนที่จะได้ติดดาว ผมถูกนายเรียกเข้าไปด่าว่า ทำไมไม่เห็นรายงานการปฏิบัติการของผม ผมก็เรียนท่านไปตรง ๆ ว่า ผมเขียนไม่ออก

เจ้านายถามว่า ทำไม

“ ผมขี้เกียจครับ ” ผมตอบไปเสียยังงั้น

“ มึงละก็ เป็นเสียยังงี้ ” ท่านรำพึงออกมาดัง ๆ

การกวาดล้าง ได้ตัวนาวาตรี มนัส จารุภา และ นาวาโท อานนท์ ปุณฑริกาภา ผู้บังคับการเรือศรีอยุธยา หลังจากเหตุการณ์นั้นมาอีกหลายเดือน สองคนนี่แอบเข้ามาเงียบ ๆ เมื่อเห็นว่าเรื่องน่าจะเงียบได้แล้ว แต่ทางฝ่ายสืบสวนจมูกไว ได้ข่าวทั้งคู่แอบหลบมากบดานที่ไหน ก็ต้องส่งคนไปจับ ผมเป็นคนที่ถูกสั่งให้ไปจับคุณมนัส ได้ตัวอย่างละม่อมที่บ้านของแกนั่นเอง

ระหว่างทางคุมตัวมาวังปารุส ฯ แกยังถามผมว่า
“ จะเอาผมไปยิงทิ้งที่ไหน ”

ทั้งสองคนถูกส่งขึ้นศาล รวมทั้งนายทหารเรือและผู้ร่วมการอีกหลายคน ตัวผู้บัญชาการทหารเรือ ก็ถูกควบคุมตัวด้วย ร่วมกับนายและพลหลายคน ศาลตัดสินคดีนี้อย่างรวดเร็ว ถูกลงโทษทั้งหมด เข้าไปสงบสติอารมณ์ในบางขวางกันเป็นแถว ๆ

นั่นเป็นเหตุการณ์ปฏิวัติครั้งล่าสุด ก่อนที่จะถึงการปฏิวัติ ๒๕๐๐ ซึ่งเป็นการปฏิวัติที่ผมเองโดนเข้าอย่างเต็มตัว จนต้องออกไประเหเร่ร่อนในต่างประเทศถึง ๑๒ ปีเต็ม ๆ

สวัสดีครับ




 

Create Date : 10 พฤษภาคม 2553
6 comments
Last Update : 12 พฤษภาคม 2553 20:44:11 น.
Counter : 964 Pageviews.

 

เพื่อน ๆ BlogGang ที่รัก
ขออภัยที่ up blog ช้าไปหน่อย เป็นตอนมุดท้ายของเรื่อง "เงื่อนไขการปฏิวัติ" นี้แล้วค่ะ

เมื่อคืนนี้ (11 พ.ค.) ตอนประมาณ 22.00 น. ไปเกิดอุบัติเหตูทางรถยนต์ บนถนนวิภาวดีรังสิต (ตรงข้าม Miracle Grand ) รถพังไปแล้ว แต่เดชะบุญ คนในรถ 5 คนรวมคนขับ ไม่มีใครเป็นอะไรเลย
หายช๊อกแล้ว ก็รีบมา up blog ให้นี่แหละค่ะ กลัวเพื่อน ๆ จะไม่ได้อ่านตอนจบของเรื่องนี้
แล้วพบกันใหม่นะคะ
ยังยิ้มสู้ ๆ อยู่ค่ะ

 

โดย: ธารน้อย 12 พฤษภาคม 2553 20:54:05 น.  

 

..นับว่าโชคดีแล้วล่ะ ที่ไม่มีใครเป็นอะไรเลย..ขอเป็นกำลังใจให้นะจ๊ะ....

 

โดย: ก้นกะลา 13 พฤษภาคม 2553 1:25:28 น.  

 

โชดดีครับที่ไม่เป็นอะไรคราวหน้าอยากอ่านเรื่องที่ไปใช้ชีวิตในต่างเเดนเเล้วกลับมาอยู่ในเมืองไทย ท่านยังได้รับบำนาญอยู่หรือเปล่าเมื่อมีการอภัยโทษเเล้วผมถือว่าท่านเป็นบุคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองไทยจริงๆๆ

 

โดย: ศรชัย IP: 112.142.112.76 13 พฤษภาคม 2553 7:47:17 น.  

 

เรียน คุณศรชัย
จำได้ว่า คุณพ่อได้บำนาญด้วย ประมาณเดือนละ 6,500 บาท และเมื่อท่านเสียชีวิต พวกเราลูก ๆ ก็ได้รับเงินก้อนสุดท้ายเป็นค่าฌาปนกิจศพด้วย ซึ่งเราเก็บไว้สำหรับการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่านทุกปี
เรามีแผนว่าจะพิมพ์หนังสือที่ท่านประพันธ์ไว้ (ซึ่งเริ่มด้วยการลงเป็น Blog แบบนี้ไปก่อน เหมือนโยนหินหาทางนั่นแหละค่ะ ถ้ายังพอมีคนยังสนใจอยู่ ค่อยว่ากันอีกที)
ขณะนี้กำลังติดต่อสำนักพิมพ์ของเพื่อน เพื่อประเมินว่า น่าทำหรือไม่
อยากได้ feedback จาก เพื่อนร่วม BlogGang อยู่เหมือนกันค่ะ
หลังกลับจากสวิส คุณพ่อไปอยู่ที่ลาวอีก 5 ปี พวกเราไปหาคุณพ่อกัน ทุก 2 สัปดาห์ ไปรถไฟลงทีหนองคาย คุณพ่อก็จะมารอรับที่ท่าเดื่อ ฝังลาว เพื่อพาเข้าเวียงจันทร์ ท่านมีเพื่อนแยะมากที่ลาว
ท่านก็ยังเขียนหนังสือต่ออยู่เรื่อย ๆ ส่งให้สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ในกรุงเทพ ฯ เดลิเมย์วันจันทร์ / ฟ้าเมืองไทย / ต่วยตูน ฯลฯ
กลับมาเมืองไทยหลังจากอายุความครบแล้ว ก็ได้ทำงานด้วย กับบริษัทญี่ปุ่นแล้วลาออกมาเขียนหนังสืออย่างเดียว และเป็นเลขาฯ กิติมศักดิ์ของสนามกอล์ฟดุสิตด้วย
ทำธุรกิจเรื่อง shipping ก็ยังถูกหุ้นส่วนโกงอีกจนได้
ท่านอยู่จนอายุไประมาณ 70 ปี และเสียชีวิตเมือปี 2539 ยังได้ผ่านเหตุการณ์ ตุลา 2516 และ ตุลา 2519 และพฤษภาทมิฬ 2535 (ช่วงนั้น คุณแม่เสียชีวิตพอดี)
ท่านมักจะไปสังสรรค์กับกลุ่มนักเขียนที่ ต่วยตูน
และพบปะเพื่อนฝูงกลุ่มวันพุธอยู่ประจำ จนเกิดอาการเบื่อโลกขึ้นมา เมื่อคุณแม่ลาโลกไปก่อน ท่านคงจะเหงา แม้จะอยู่กับลูกสาวคนโตซึ่งดูแลอย่างดี (พี่สาวไม่ได้ทำงานแล้ว ลาออกมาเพื่อดูแลคุณพ่อ) จนวาระสุดท้าย และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลตำรวจอย่างสงบค่ะ
คิดว่า ท่านได้ทำหน้าที่ของท่านอย่างเต็มที่ และจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างยิ่ง
แม้ว่าในชีวิตราชการ ท่านต้องเด็ดขาดเพราะงาน แต่กับครอบครัว ท่านกลับอ่อนโยน สนุกสนาน และให้คำปรึกษาต่อลูก ๆ เป็นอย่างดี สั่งสอนให้คิดเอง สู้ชีวิต ไม่ยอมสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
อันที่จริง พวกเรา ลูก ๆ ได้ท่านคืนมา เมื่อตอนที่เราไปอยู่ที่เจนีวานี่แหละ ก่อนหน้านั้น ท่านทุ่มกับงานตลอดเวลา (แบบที่ท่านเขียนให้อ่าน) จนเราไม่ได้พบท่านนัก แต่เราได้ท่านคืนมาเต็มตัวที่สวิสนั่นแหละค่ะ
ขอบคุณ คุณศรชัย ที่สนใจในประวัติของท่าน ดีใจมากค่ะ จะตามมา upblog ให้อ่านกันต่อไปนะคะ

 

โดย: ธารน้อย 13 พฤษภาคม 2553 15:27:41 น.  

 

ท่านเป็นคนที่ซื่อสัตย์ท่านอธิบดีเผ่าเลือกคนไม่ผิดที่เอามารับใช้ขนาดให้กุญเเจเซพไว้ตั้งดอกนึ่งโดยไม่มีใครรู้ท่านยังไม่เอามาใช้ไม่รู้ว่าจะหาสุภาพบุรุษเเบบนี้ได้ที่ใหนขนาดรับคำสั่งสุดท้ายที่เลิกบุหรี่ท่านก็เลิกเลยผมเคยเลิกสูบบุหรี่รู้ฤทธิของมันว่าการเลิกสูบนี่ยากขนาดใหนใจต้องเเข็งจริงๆๆสุดท้ายก็ผ่านมาด้วยดี ผมอ่านประวัติของท่านเเล้วรูสึกทราบซึ้งจริงๆเพราะผมหาอ่านมานานเเล้วทั้งของพ.ต.อ พันศักดิ์ เเละพ.ต.อ. อรรณพเเต่ทั้งสองท่านหาอ่านไม่ได้จริงๆๆเเต่โชดดีได้มาอ่านท่าน ผมก็จะติดตามตลอดครับเป็นกำลังใจให้ครับที่ได้อ่านเรื่องดีๆๆมีสาระได้รับความรู้ในยุคนั้นอย่างมากมายหาคุณค่าไม่ได้

 

โดย: ศรชัย IP: 114.128.182.172 14 พฤษภาคม 2553 8:08:13 น.  

 

ขอบคุณที่แวะไปชมงาน สถาปนิก'53 ที่บล็อกผมนะครับ


เรื่องราวของคุณพ่อของคุณน่าสนใจมาก ๆ
ไว้ผมตามไปอ่านย้อนหลังบ้างดีกว่า

 

โดย: ทุเรียนกวน ป่วนรัก 15 พฤษภาคม 2553 12:19:36 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ธารน้อย
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ธารน้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.