จงให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่าสิ่งที่ถูกใจ
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
15 มีนาคม 2553
 
All Blogs
 
ชัยชนะและความพ่ายแพ้ของ "บุรุษเหล็กแห่งเอเชีย" (ตอนที่ 41)

โดย พ.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ

ตอนที่ 41

วันตำรวจ

การค้นประวัติของกรมตำรวจก็เริ่มขึ้นในสมัยท่านอธิบดีเผ่า ฯ

ท่านให้นักประวัติศาสตร์ของกรม ฯ ทำการค้นคว้าประวัติของกรมตำรวจว่า เริ่มก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยไหน ค้นคว้ากันจนได้ความว่า กิจการตำรวจนั้นเริ่มก่อตั้งเป็นเรื่องเป็นราวมาในสมัยรัชกาลที่ 5 จากหน่วยตระเวนชายแดน มาเป็นรากฐานของกิจการตำรวจ จนเจริญเติบโตเป็นขนาดกรม คือ วันที่ 13 เดือนตุลาคม ปีพุทธศักราช 2454

วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี จึงถือเป็น “ วันตำรวจ ”

ท่านอธิบดีมีคำสั่งว่า ให้ถือว่า วันที่ 13 ตุลาคม ทุกปี เป็นวันตำรวจ และให้กรมตำรวจจัดพิธีเฉลิมฉลองเป็นประจำ มีการสวนสนามแสดงกำลัง และความพร้อมเพรียงของตำรวจ ให้ประชาชนได้รับรู้ว่า ภาษีอากรที่เขาเสียให้รัฐนั้น ได้ถูกนำมาใช้การรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองอย่างไร ให้ประชาชนได้อยู่อย่างสงบ โจรผู้ร้ายลดลง เพราะความเอาใจใส่ของตำรวจที่มีกองกำลังอันมั่นคง อย่างที่เห็น ๆ กันอยู่นี้

มีหลาย ๆ คนเข้าใจว่า ท่านอธิบดีสร้างกำลังขึ้นมาเพื่อเป็นข้อต่อรองกับฝ่ายทหาร หรือกับรัฐบาล ความเข้าใจอันนี้เป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้ สำหรับผู้ที่มองเหตุการณ์ไปอีกแง่หนึ่ง แต่ถ้ามองกันให้ถูกต้องแล้ว จะเห็นว่า โจรผู้ร้ายสมัยนั้น ลดน้อยลงจนเห็นได้ชัด คดีอาญาลดลงอย่างมาก ตำรวจทุกคนต่างก็ตั้งหน้าทำงานกันอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ในเมื่อตัวท่านอธิบดีเองก็เข็มงวดในเรื่องการทำงานนี้ตลอดเวลา ไม่มีเวลาพักผ่อนเท่าที่ควร

การสร้างสรรค์กำลังขึ้นมานี้ กลับเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดเหตุอันไม่น่าจะเกิดขึ้นจนได้

แผน “ แบ่งแยก แล้วปกครอง ”

คนที่มองความแข็งแกร่งของกำลังตำรวจไปอีกมุมหนึ่งก็ไม่ใช่ใครอื่น ท่านผู้นั้นคือ ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นที่เคารพนับถืออย่างมอบกายถวายชีวิตของท่านพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ นั่นเอง

ท่านจอมพล ป. ท่านเห็นนักเรียนทหารจากฝรั่งเศส ท่านสำเร็จมาจากโรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ในฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า “ ฟองแตนโบล ” (Fontainebleaux) เป็นโรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ที่นโปเลียนตั้งขึ้นในสมัยที่เป็นมหาราชของฝรั่งเศส นโปเลียนเป็นนายทหารปืนใหญ่ที่เก่งกาจ ปกครองยุโรปได้ทั้งหมด ในสมัยที่เรืองอำนาจ เป็นนักรบที่สามารถกวาดเอายุโรปมาอยู่ใต้อุ้งมือได้ แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ภัยตัวเอง เมื่อหันกลับจะไปพิชิตรัสเชีย นโปเลียนไปพ่ายแพ้ที่หน้าประตูชานเมืองกรุงมอสโควอย่างราบคาบ และสิ้นอำนาจไป

นโปเลียนมีนโยบายในการปกครองที่ถือออยู่ในใจ คือ
“ Divide and rule ”
“ แบ่งแยก แล้วปกครอง ”

คือหมายความว่า เมื่อมีผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามาก ๆ ก็ต้องยุแหย่ให้พวกนี้แตกคอกัน อย่าให้พวกนี้ได้มีความสนิทสนมกันมากนัก มิฉะนั้น เขาอาจจะรวมตัวกันช่วงชิงอำนาจได้ เพราะพวกที่อยู่เบื้องใต้การปกครองนั้น ย่อมต้องมีการไหวตัวในทางดิ้นรนหาอิสระ ถ้าหากปล่อยให้พวกนี้รวมตัวกันได้ก็จะเป็นอันตรายแก่การปกครอง จึงต้องใช้วิธีการยุแหย่ให้แตกแยกกันเข้าไว้ ไม่ให้มีการรวมตัวกันได้ เพื่อที่จะปกครองได้ถนัด เมื่อต่างฝ่ายต่างระแวงกันเอง นั่นคือหลักการของ นโปเลียน

ท่านจอมพล ป. ท่านไปเรียนเอายุทธวิธีของ นโปเลียน นี้มาจากโรงเรียนที่ นโปเลียน ก่อตั้งขึ้นมา ท่านก็เลยเอาวิธีการปกครองนี้มาใช้ แม้แต่กับคนที่จงรักภักดีต่อท่าน อย่างท่านอธิบดีเผ่า ฯ

ในช่วงระยะนั้น ทางด้านทหาร ท่านพลเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กำลังเป็นใหญ่ และ ท่านอธิบดี เผ่า ศรียานนท์ ก็กุมอำนาจตำรวจอยู่เต็มมือ พร้อมทั้งมีกำลังอันเกือบเทียบเท่ากำลังทหารทั้งกองทัพ บุคคลสำคัญทั้งสองท่านนี้ มาจากนักเรียนนายร้อยทหารบก รุ่นใกล้ ๆ กันเสียอีก สนิทสนมกันมากขนาดเช้าถึงเย็นถึง สนทนาพาทีกันสนิทสนมกลมเกลียว

ท่านจอมพล ป. ก็เกิดระแวงว่า วันใดวันหนึ่ง ถ้าสองคนนี้รวมหัวกันคบคิดก่อการอะไรขึ้นมา ก็จะทำลายท่านได้ง่าย ๆ เพราะขุมกำลังของประเทศอยู่ที่ท่านทั้งสองนี้เต็มที่ กำลังทางด้านอื่นนั้นไม่มีความสำคัญ กำลังทางทหารเรือ หรือทหารอากาศนั้น ก็ไม่ใช่กำลังหลักตามยุทธวิธี กำลังหลักก็ต้องเป็นทหารบก แต่บัดนี้เกิดกำลังทางตำรวจแข็งแกร่งเป็นปีกแผ่น เทียบเท่ากำลังทหารขึ้นมา กำลังตำรวจนี้มีรถเกราะ พลร่ม ตำรวจน้ำ ตระเวนชายแดน ประกอบด้วยกำลังพลเป็นแสนทั่วประเทศ

เรื่องนี้ทำให้ท่านจอมพล ป. เกิดความไม่สบายใจ ทำให้ท่านนึกถึงหลักการของ นโปเลียน ซึ่งท่านได้ไปศึกษามา

ท่านจอมพล ป. เริ่มงานของท่านอย่างสุขุมเยี่ยงรัฐบุรุษ ในอันที่จะจับบุรุษเหล็กแห่งเอเชีย กับแม่ทัพกองทัพภาคที่ 1 ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่ตั้งอยู่ในพระนคร และขณะนั้น ท่านแม่ทัพได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการทหารบกคนที่หนึ่งอีกตำแหน่งหนึ่ง คุมกำลังทางทหารทั่วประเทศ ซึ่งขณะนั้นมีท่านจอมพล ผิน ชุณหะวัณ เป็นผู้บัญชาการทหารบกอยู่

วันหนึ่งวันใด ในระยะอันไม่ไกล ท่านพลเอก สฤษดิ์ ฯ ก็ต้องขึ้นเป็นผู้บัญชาการแน่นอน และเมื่อนั้น ถ้าอธิบดีกรมตำรวจ และผู้บัญชาการทหารบก จับมือกันเมื่อไหร่ ตัวท่านจอมพล ป. ก็จะต้องตกอยู่ในความยุ่งยาก

เมื่อต่างคนต่างใหญ่ขึ้นมา เวลาในการที่จะพบปะกันก็น้อยลง ไม่เหมือนเมื่อยังอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สำคัญ การพบปะระหว่างท่านพลเอก สฤษดิ์ ฯ กับท่านนายพลตำรวจเอก เผ่า ฯ ก็หายากขึ้น แต่ทั้งสองก็ยังคงได้พบปะกันอยู่บ่อย ๆ เมื่อมีโอกาส

ท่านจอมพล ป. เริ่มวิธีการของท่านในระยะนั้น




Create Date : 15 มีนาคม 2553
Last Update : 15 มีนาคม 2553 1:06:38 น. 0 comments
Counter : 1160 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ธารน้อย
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ธารน้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.