จงให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่าสิ่งที่ถูกใจ
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2553
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
5 พฤษภาคม 2553
 
All Blogs
 
เงื่อนไขการปฎิวัติ (ตอนที่ 4)

โดย พ.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ

ตอนที่ 4

ผมมาเจอการปฏิวัติเข้าอีกเมื่ออยู่สวนกุหลาบ คราวนั้นพระองค์เจ้าบวรเดช คุมกำลังเข้ายึดเมืองต่าง ๆ ทางหัวเมืองภาคเหนือและอีสานบางส่วน ตีตะลุยเข้ามาถึงชานเมืองแค่บางเขนนี่เอง บางเขนสมัยนั้นนับว่ายังเป็นชานเมือง บ้านเรือนยังไม่มีหนาแน่นอย่างเดี๋ยวนี้ กำลังของพระองค์เจ้าบวรเดช ยึดมั่นอยู่ที่นั่น แล้วยื่นคำขาดให้รัฐบาลยอมแพ้ มิฉะนั้นจะยกพลเข้าเมือง

ขณะนั้น พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ ไม่ยอมแพ้ สั่งต่อสู้ ยกกำลังออกไปโจมตีกำลังของฝ่ายปฏิวัติ มีนักบินจากดอนเมืองแอบเอาเครื่องบินหนีมา ๆ อยู่กับฝ่ายรัฐบาลหลายเครื่อง มาจอดอยู่ที่สนามหลวง สมัยนั้นถนนราชดำเนินขนาดนี้ก็ยังเอาเครื่องบินลงได้เป็นรันเวย์ได้สบาย แล้วก็เอาไปจอดไว้ที่สนามหลวง พวกผมถูกเกณฑ์ไปเป็นยามเฝ้าเครื่องบินเหล่านี้ที่ท้องสนามหลวง ในเครื่องแบบลูกเสือ ผมก็โดนกับเขาด้วย ไปกินนอนอยู่ที่นั่น เฝ้าเครื่องบินให้รัฐบาล

ผลของการต่อสู้ครั้งนั้น ฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชสู้ไม่ได้ ถูกกำลังฝ่ายรัฐบาลตีโต้แตกกลับไป ตัวแม่ทัพนายกองต่างก็หนีกันไปหมด เมื่อตกเป็นฝ่ายแพ้ก็ได้ชื่อว่าเป็นกบฏ

เงื่อนไขในการปฏิวัติทุกครั้งจะต้องมี และมีแตกต่างกันไปแต่ละคณะ เมื่อคณะราษฎร์ ฯ เปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จครั้งนั้น ก็เพราะมีเงื่อนไขต้องการให้อำนาจการปกครองมาอยู่ในมือของประชาชนบ้าง ไม่ใช่มีแต่เจ้านายเชื้อพระวงศ์เท่านั้นที่เป็นเสนาบดีได้ฝ่ายเดียว เมื่อได้อำนาจมาอยู่ในมือแล้ว พวกเจ้านายต้องหนีไปต่างประเทศ

อำนาจที่ว่านั้นก็ไม่ใช่ว่าจะตกอยู่ในมือประชาชน ก็ต้องอยู่ในมือพวกพ้องด้วยกัน คนที่ถูกเชิญมาเชิดให้เป็นนายก ฯ คนแรก คือพระยามโนปกรณ์นิติธาดานั้น เป็นแต่เพียงหุ่นเชิดชั่วคราว พอขัดใจเข้าคณะราษฎร์ ฯ ก็เชิญให้ออกไปเสียดี ๆ ท่านเจ้าคุณมโน ฯ ก็ต้องลงมาจากเก้าอี้นายก ฯ ตามคำเชิญ พระยาพหล ฯ ขึ้นครองตำแหน่งแทน เพราะท่านเป็นหัวหน้าคณะราษฎร์ ฯ ตัวจริงที่เสี่ยงชีวิตเอาคอไปพาดเขียงทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถ้าแพ้ก็ต้องถูกเรียกว่ากบฏอย่างแน่นอน ฉะนั้น เรื่องอะไรที่จะให้คนอื่นมามีอำนาจ ดีไม่ดี อำนาจที่มอบให้นั้นอาจจะกลับมาเชือดคอตนเองและพรรคพวกเข้าให้ก็ได้

อันนี้ย่อมเป็นสัจธรรมข้อสำคัญของคณะที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือทำปฏิวัติรัฐประหาร ที่จะต้องยึดถืออย่างเหนียวแน่น เป็นสัจธรรมที่จะต้องยึดถือไว้ เพราะเมื่อได้ฆ่าระบบของผู้อื่นลงไปได้แล้ว เหตูใดจึงจะยื่นดาบให้ไปอยู่ในมือของคนอื่น ตัวต้องถือดาบนั้นไว้ในมือเอง สัจธรรมข้อนี้ได้ปรากฏให้เห็นมาแล้วในประวัติศาสตร์ทุกยุคทุกสมัย

สัจธรรมอีกข้อหนึ่งก็คือ การปกครองบ้านเมืองที่ได้มาจากการใช้กำลัง จะต้องมีกำลังอยู่ในมือเพื่อที่จะรักษาอำนาจที่ได้มานั้นไว้ให้ยืนยง ฉะนั้นคณะปกครองประเทศที่มีที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหารนั้น จำจะต้องมีฐานแห่งอำนาจไว้ในมือ ฐานที่ว่านี้ก็คือกำลังทหาร และต้องมีอำนาจในการใช้กำลังนั้นเด็ดขาด และกำลังทหารนี้ก็ย่อมต้องหมายถึงกำลังทหารบก กำลังทหารบกที่สำคัญที่สุดก็คือกำลังทหารราบ คือทหารเดินดินนี่แหละครับ เพราะกำลังทหารเหล่านี้ใช้ในการยึดพื้นที่ได้มั่นคง ในทางยุทธวิธีเขาสอนไว้ว่า “ ทหารราบคือเหล่าหลักในการรบ “

ทหารเหล่าอื่น ๆ นั้นยึดพื้นที่ไม่ได้ ไม่มีสมรรถนะในการยึดพื้นที่ ทหารเรือนั้นก็ได้แต่อยู่ในเรือในน้ำ ที่เดี๋ยวนี้ได้เกิดมีหน่วยกำลังนาวิกโยธินขึ้นมานั้น ก็ด้วยการสำนึกในหลักอันนี้

ทหารอากาศตั้งหน่วยอากาศโยธินขึ้นมาก็ด้วยสำนึกในหลักยุทธวิธีข้อนี้เช่นกัน

ถ้ามิฉะนั้นแล้วทหารเรือก็จะต้องอยู่แต่บนเรือในน้ำ และทหารอากาศก็จะต้องบินอยู่แต่ในท้องฟ้า ถูกยึดสนามบินได้เมื่อไรก็ไม่มีทางที่จะลงมาได้ แล้วเรื่องที่จะบินอยู่ในอากาศนาน ๆ นั้นเดี๋ยวก็หล่นลงมาเอง ฉะนั้น หน่วยนาวิกโยธินก็ดี หน่วยอากาศโยธินก็ดี นั่นก็คือหน่วยทหารราบของแต่ละกองทัพนั่นเอง เอาไว้เพื่อที่จะจัดที่ทางบนพื้นดินให้พวกได้ใช้ ให้ทหารเรือขึ้นบกได้ และทหารอากาศมีทางลงดินได้เท่านั้นเอง แต่จะมีกำลังเป็นปึกแผ่นอย่างทหารบกเขานั้นไม่ได้ มันมากไป

ฉะนั้นผู้ที่จะทำการปฏิวัติก็จะต้องมีกำลังทหารราบไว้ในกำมือเป็นปึกแผ่น ใครต่อใครต่างกลัวกันนัก ถึงเรื่องที่รถถังจะเคลื่อนออกมา

รถถังไม่ใช่เครื่องมือที่น่ากลัวอะไรเลย ถ้ารู้ถึงสมรรถนะของมัน รถถังนั้นป้องกันตัวเองไม่ได้ มีเกราะกำบังแน่นหนาสามารถที่จะบุกบั่นไปไหน ๆ ได้โดยมีเกราะป้องกันก็จริง แต่ความสามารถนั้นมีจำกัด พลประจำรถอยู่อยู่ได้แต่ในตัวรถ ออกมาเมื่อไรก็โดนกระสุน

ฉะนั้น รถถังจึงต้องมีทหารรบคุ้มกันในขณะทำการรบ และใช้เป็นตัวนำทหารราบเข้ายึดพื้นที่ โดยเป็นเกราะกำบังให้ในขณะเคลื่อนที่ก็เท่านั้น

ลองให้รถถังเล่นดุ่ย ๆ เข้าไปลำพังดูทีหรือ มีปืนใหญ่ยาว ๆ ก็จริง ไอ้นั่นใช้ยิงในระยะไกล ๆ ต่อให้สิบคัน ผมขอใช้ทหารราบเพียงยี่สิบคนเท่านั้น หลบหลีกกระสุนจากปากกระบอกปืนอันยาว ๆ นั่นแหละ เข้าไปถึงตัวรถได้เมื่อไรก็เสร็จผม และการหลบหลีกกระสุนจากปากกระบอกปืนยาว ๆ นั้นก็ไม่ยากอะไร วิ่งซิกแซ็กไปมาก็ยิงผมไม่ถูกแล้ว พอผมถึงตัวรถถังได้ ทีนี้ผมก็หยอดลูกระเบิกมือลงไปในป้อม คนที่อยู่ข้างในจะมีอะไรเหลือ เดี๋ยวนี้เขาจึงเอาปืนกลมาไว้ที่ป้อมเพื่อการต่อสู้ระยะใกล้ แต่มุมอับมันก็ยังมี มายืนอยู่ตรงหน้ารถหรือข้าง ๆ รถก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว นอกจากพลปืนจะมีปืนพกหรือปืนเล็กยาว ผมก็ไม่ทราบว่า เขามีให้หรือเปล่า ถ้ายังไม่มีก็น่าจะหาให้เสีย

การปฏิวัติทุกครั้ง ภาษาทางทหารเขาเรียกว่า จะต้องมีเงื่อนไข คำว่าเงื่อนไขนี้ก็แปลเป็นภาษาพลเรือนเรา ๆ ว่า ‘เหตุผล’ นั่นเอง คือจะต้องมีข้ออ้างว่า ที่ต้องทำการปฏิวัติรัฐประหารในครั้งนั้น ๆ เพราะมีเหตุผลอะไร เช่นอ้างว่า ราษฏรเดือดร้อนอดอยาก เพราะผู้ปกครองประเทศมัวแต่กอบโกยยังงี้ หรืออ้างว่า ประชาชนทำมาหากินไม่ได้โดยเสรี เพราะผู้ปกครองประเทศสมัยนั้น ๆ ต่างเอาพรรคพวกเข้าไปแย่งการทำมาหากินหมด และยังมีอีกหลายเงื่อนไขที่แล้วแต่จะคิดออก แต่ความเป็นจริงแล้วประชาชนไม่ค่อยจะรับรู่จริง ๆ เท่าไร ก็เห็นจะเป็นเพียงพวกประชาชนที่มีรถ ถังมีปืนอยู่ในมือ นั่นเองแหละครับที่เดือดร้อนเอง

เดือดร้อนเพราะ เอ๊ะ … พวกกูชักจะถูกบีบคั้นมากไปเสียแล้ว ถ้าปล่อยให้เขาบีบเอา บีบเอา จนหน้าเขียว เห็นทีจะไปไม่รอด ก็ต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่งที่จะรักษาสถานการณ์ของตัวเองไว้ให้คงอยู่ได้ เรากำลังมีอำนาจ มีอาวุธ มีกำลังอยู่ในมือนี่หว่า ปฏิวัติซีวะ…. ก็เท่านี้แหละครับ

ประชาชนอยู่ไม่รู้เรื่องเฉย ๆ ก็โดนจับเอาชื่อไปอ้าง

ใครก็ไม่ทราบ ความจริงทราบดี แต่ต้องบอกว่าไม่ทราบ ก็พูดเข้าหูอยู่ไม่กี่วันมานี้ว่า

“ ผมออกความคิดและพูดในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ทหารก็คือประชาชน ประชาชนก็ต้องมาเป็นทหาร มันแยกกันไม่ออก ทำไมผมจะพูดบ้างไม่ได้ว่า ผมจะออกเอ๊กเซอร์ไซส์ “

“ ครับ “ - อันนี้ผมพูด ผมทราบดีครับ แต่ประชาชนอย่างผมจะออกเอ็กเซอร์ไซส์มั่ง มันออกไม่ได้ “

ผมจะไม่บอกว่า ทำไมผลจึงออกเอ็กเซอร์ไซส์ไม่ได้

บางคนเคยมีอำนาจในมือมากหลาย อยู่ ๆ ก็มีพวกอื่นมาตั้งข้อบังคับให้อำนาจนั้นค่อย ๆ หดลงไป ความที่มันมีอำนาจเสียจนเคยตัว พอเห็นว่าจะต้องค่อย ๆ เสียอำนาจลงไป เพราะคนพวกนั้นวางแผนการ ก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อที่จะยับยั้งแผนการของพวกนั้น อะไรก็ไม่ดีเท่ายึดอำนาจ หรือที่เรียกกันพื้น ๆ ว่า
“ ปฏิวัติ ”

บางคนก็หลุดปากเผลออกมาว่า จะสนับสนุนคนนั้นคนนี้แต่ผู้เดียว เพื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีตลอดกาล ทำยังกับว่า เมืองไทยนี้ ไม่มีใครดีเท่าหรือดีกว่าบุคคลคนนั้นอีกแล้ว หรือไม่งั้นก็เผลอคิดไปว่า เมืองไทยนี้เป็นของกูหรือพวกกูแต่ผู้เดียว

เฮ้อ .. เขียนแล้วเหนื่อย

พอท่านรู้สึกตัวว่าท่านเพ้อเจ้อมากไปหน่อย ท่านก็ตะเบ็งเสียงออกมาว่า

“ ผมหยุดแล้ว ทำไมคุณไม่หยุด “

ฮี่ธ่อ ก็เล่นเตะตูดผมป้าบใหญ่แล้วบอกว่าผมหยุดเตะแล้ว ทำไมคุณยังง้างตีนอยู่อีก มันจะถูกหรือครับ แล้วถ้าผมจะง้างเท้ามั่ง จะเป็นเงื่อนไขที่จะต้องปฏิวัติไหมครับ ผมขอถามหน่อย แล้วก็ทำไมต้องเอาวจีของพระพุทธเจ้าท่านมาอ้าง จะซวยนะครับ

เรื่องนี้ยังไม่จบง่าย ๆ เพราะผมตั้งใจที่จะเขียนเงื่อนไขการปฏิวัติให้หมดเปลือก และในช่วงชีวิตของผม ผมได้พบกับการปฏิวัติรัฐประหารมาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งมีสิ่งที่น่าเรียนรู้ทั้งนั้น



Create Date : 05 พฤษภาคม 2553
Last Update : 5 พฤษภาคม 2553 4:47:47 น. 1 comments
Counter : 746 Pageviews.

 


โดย: ก้นกะลา วันที่: 6 พฤษภาคม 2553 เวลา:17:47:32 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ธารน้อย
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ธารน้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.