จงให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่าสิ่งที่ถูกใจ
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
14 มีนาคม 2553
 
All Blogs
 
ชัยชนะและความพ่ายแพ้ของ "บุรุษเหล็กแห่งเอเชีย" (ตอนที่ 40)

โดย พ.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ

ตอนที่ 40

สมญา “ บุรุษเหล็กแห่งเอเชีย ”

ขณะที่เกิดเรื่องนี้นั้น ท่านบุรุษเหล็ก ฯ ยังมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วย อ.ตร. ในยศ พลตำรวจตรี

คำว่า “ บุรุษเหล็กแห่งเอเชีย ” นี่มีที่มาอย่างไร

คำนี้มีที่มาหลังจากที่ท่านได้ขึ้นครองตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจเต็มตัวแล้ว หลังจากเหคุการณ์กบฏแมนฮัตตัน เมื่อ 29 มิถุนายน 2494

คำเรียกนี้มาจากคณะบุคคลในภาคพื้นเอเชีย อันประกอบด้วยบุคคลสำคัญ ๆ ในหลายประเทศในภูมิภาคนี้ รวมทั้งบุคคลสำคัญ ๆ ในประเทศภาคอื่น ๆ ด้วย ที่ท่านอธิบดีเผ่า ศรียานนท์ ได้ไปพบปะมาในสมัยที่อยู่ในตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ และเป็นทั้งอธิบดีกรมประมวลราชการแผ่นดินด้วย เป็นคำเรียกที่บุคคลสำคัญ ๆ ในหลายประเทศนั้น ตั้งขึ้นให้เป็นสมญานามของท่านผู้นี้

คำ ๆ นี้จะมาตั้งกันเล่น ๆ ไม่ได้ ต้องเป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไป ทั้งในประเทศ และนอกประเทศ แน่ละ ผู้ที่มีความเห็นขัดแย้งกับท่านก็ต้องไม่ยอมรับ เพราะความเป็นบุรุษเหล็ก ฯ ของท่านนั้นไปขัดกับชีวิตของเขา บุคคลกลุ่มนี้เป็นบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกทำลายลงด้วยผลงานของท่าน ซึ่งเป็นคนกลุ่มที่มีผลประโยชน์เป็นที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของประเทศชาติ

สมญานามแห่ง “ บุรุษเหล็กแห่งเอเชีย ” นี้มาจากนอกประเทศเป็นเบื้องต้น ผมไม่กล้าที่จะยืนยันว่ามาจากที่ใด เพราะที่ผมได้ยินได้รับรู้อย่างไม่รู้ตัว จู่ ๆ ก็มีการเรียกท่านด้วยสมญานามนี้ขึ้นมาเมื่อผลงานของท่านในรูปการต่อต้านคอมมิวนิสต์กระจายไปทั่วโลก ต่างประเทศก็ขนานนามท่านว่า “ Ironman of Asia ” แล้ว จึงมามีการแปลเป็นภาษาไทยว่า “ บุรุษเหล็กแห่งเอเชีย ”

จึงต้องมีที่มาจากผลงานที่ต่างประเทศรับรู้และยกย่องยอมรับทั่ว ๆ ไป มิฉะนั้น คำ ๆ นี้ก็คงจะไม่เกิดขึ้น

ผมมารับรู้เมื่อได้อ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ ที่เขาเขียนข่าวถึงตัวท่านและใช้สมญานามว่า “ Ironman of Asia ” นั่น ที่มาของคำ ๆ นี้จึงหาที่ที่มาแน่นอนไม่ได้ แต่ทุกคนส่วนใหญ่ก็ยอมรับ เมื่อเอ่ยถึงคำนี้ก็รู้ทันทีว่าหมายถึงใคร

หน่วยต่าง ๆ ของกรมตำรวจได้เกิดขึ้นมาในสมัยที่กรมตำรวจมีอธิบดีชื่อ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ หน่วยที่เกิดขึ้นตอนที่ท่านยังเป็นผู้ช่วย อ.ตร. อยู่นั้น ยังไม่มีมากนัก เพราะตำแหน่งผู้ช่วย อ.ตร. ยังไม่ให้อำนาจในการตั้งหน่วย เมื่อได้ตำแหน่งรองอธิบดี ฯ ฝ่ายปราบปราม ในยศ พลตำรวจโท แล้วจึงได้มีการขยายงานของกรมตำรวจออกไปอีกเล็กน้อย เมื่อได้ขึ้นเป็นอธิบดีเต็มตัวแล้วนั่นแหละ จึงได้ขยายงานออกไปได้เต็มที่ เพราะมีอำนาจหน้าที่เต็มตัวแล้ว จะเห็นได้ว่า ท่านไม่ได้ก้าวก่ายอำนาจเกินตัว เกินตำแหน่งอย่างใด ทั้ง ๆ ที่ถ้าจะทำก็ทำได้ แต่ก็ไม่ทำให้ตัวอธิบดีที่แท้จริงขณะนั้นต้องสะเทือนใจในการวางอำนาจเกินขอบเขต

หลังจากปี 2494 เมื่อเข้าว่าการอธิบดีแล้ว จึงมีหน่วยราชการในกรมตำรวจเกิดขึ้นหลายหน่วย เป็นหน่วยสำคัญ ๆ ส่วนมาก และมีนายตำรวจถูกส่งออกไปศึกษาวิชาการตำรวจยังต่างประเทศในวิชาแขนงต่าง ๆ อันจะต้องนำมาใช้ในการพัฒนาการกรมตำรวจ

หน่วยกองวิชาการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อค้นคว้าในเรื่องวิทยาการที่ควรจะนำมาเผยแพร่ในงานของกรม ฯ หน่วยพิสูจน์หลักฐานได้รับการปรับปรุงในเรื่องวิชาการและเครื่องใช้ในการพิสูจน์หลักฐานในคดีต่าง ๆ มีเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น และเจ้าหน้าที่เหล่านั้นถูกส่งไปศึกษาวิชาการนี้มาจากต่างประเทศที่มีชื่อเสียงในทางวิชาการแขนงนี้ เช่น

การพิสูจน์ลายมือ
การพิสูจน์เอกสารต่าง ๆ อันเป็นที่ยอมรับนับถือในทางศาลเมื่อคดีไปถึงศาล
หน่วยตำรวจดับเพลิงก็ตั้งขึ้นมาในสมัยนั้น มีเครื่องไม้เครื่องมือในการผจญเพลิงไว้ใช้ทันสมัย
และยังมีอีกหลาย ๆ หน่วยที่เป็นองค์ประกอบในการทำงานของกรมตำรวจทั่ว ๆ ไป ทั้งนครบาลและภูธร

กำเนิด “ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ”

หน่วยที่รับว่ามีความสำคัญมากต่อกรมตำรวจ คือ หน่วยที่ผลิตนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร ไว้ใช้ในราชการตำรวจที่มีอยู่กว้างขวาง หน่วยนั้นก็คือ “ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ”

แรกเริ่มเดิมทีนั้น กรมตำรวจมีโรงเรียนนายร้อยตำรวจตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐม ที่ตำบลห้วยจระเข้ นายตำรวจที่สำเร็จออกมาจากสถาบันนั้นเรียกว่า มาจากห้วยจระเข้ ต่อมาโรงเรียนนี้ถูกยุบไปด้วยเหตุใดไม่ทราบแน่ชัด เพราะเป็นการยุบเลิกไปนานแล้ว อาจจะเป็นเพราะเรื่องไม่มีงบประมาณเพียงพอก็อาจเป็นได้ นายตำรวจสมัยต่อจากนั้นส่วนมากจึงมาจากผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บางส่วนมาจากนักศึกษาที่สำเร็จออกมาจากมหาวิทยาลัยอื่น แล้วมาสมัครเข้ากรมตำรวจ ก็ต้องมีการคัดเลือกกัน ระยะนั้นกรมตำรวจขาดแคลนนายตำรวจที่มาจากสถาบันของโรงเรียนนายตำรวจ

ท่านอธิบดีเผ่า ฯ ได้ริเริ่มตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจขึ้นใหม่ โดยระยะแรกใช้โรงเรียนพลตำรวจที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับที่เป็นโรงพยาบาลตำรวจเดี๋ยวนี้ ผมเคยไปเป็นผู้บังคับหมวดอยู่ในโรงเรียนนี้มาก่อน เมื่อออกมารับราชการใหม่ ๆ ได้เพียงปีกว่า ๆ เพราะดันไปมีเรื่องกับสารวัตรของผมเอง ก็เลยถูกย้ายเข้าไปเป็นผู้บังคับหมวดอยู่ที่นั่น ไปทำหน้าที่ฝึกสอนนักเรียนพลตำรวจอยู่ได้เพียงสามเดือนก็ถูกส่งไปอยู่ภูธร คือจังหวัดชลบุรี

ท่านอธิบดีหลวงอดุล ฯ ท่านว่า ผมมีนิสัยเป็นนักเลง เลยให้ไปอยู่กับนักเลงที่เมืองชล ฯ จะได้ไปสู้กับนักเลงที่นั่น สมัยนั้นเมืองชล ฯ เป็นเมืองนักเลงจริง ๆ เขายิงกัน ฟันกันเป็นว่าเล่น กลางตลาดก็ยังไล่ยิง ไล่ฆ่ากันต่อหน้าต่อตาผู้คน ชาวเมืองชล ฯ เขาถือว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ตื่นเต้นอะไร

ผมอยู่เมืองชล ฯ กำลังเพลิน ๆ ได้เพื่อนนักเลงมาร่วมวงไมตรีหลายคน ทั้ง ๆ ที่ผมมีหน้าที่ปราบปรามพวกเขา ผมกลับเอาพวกเขามาเป็นเพื่อนร่วมวงเหล้าวงข้าวได้ เมืองชล ฯ สงบลงไปมากในระยะนั้น เพราะมีผู้กำกับการเป็นนักเลง ท่านผู้นั้นคือ พันตำรวจตรี หลวงอรินทรสรศักดิ์

สมัยนั้น ผู้กำกับการมียศแค่พันตำรวจตรีเท่านั้น วิธีการปราบนักเลงของคุณหลวงนรินทร ฯ นั้น ขึ้นชื่อมากในเมืองชล ฯ

สมัยนั้น ผมได้อาศัยบารมีของท่าน และตามรอยท่านจนได้เพื่อนเป็นนักเลงที่นั่นหลายคน เมืองชล ฯ สงบลง เป็นเมืองปลอดนักเลง เพราะนักเลงกลายเป็นเพื่อนตำรวจเสียแล้ว ทุกคนทำมาหากินด้วยความสุจริต ไม่มีเหตุร้ายอะไรมารบกวน ถ้าเกิดมีนักเลงพลัดถิ่นขึ้นมาทำเกะกะในเมืองชล ฯ ไม่กี่วันก็พบศพคนนั้นอยู่ข้างถนน ผมก็ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร

สมัยที่หลวงอดุล ฯ มีนโยบายดัดสันดานนักเลงในกรุง ท่านส่งนักเลงร้ายในกรุงไปจำกัดเขตให้ไปอยู่ที่เมืองชล ฯ หลายคน บุคคลที่ท่านอธิบดีหลวงอดุล ฯ ส่งไปนั้น เป็นนักเลงสำคัญ ๆ ของกรุงเทพ ฯ พอไปถึงเมืองชล ฯ ก็ต้องไปหาผม ส่วนมากจะรู้จักผมมาก่อนสมัยอยู่กรุงเทพ ฯ เมื่อเขารู้ว่าผมอยู่ที่นั่น เขาก็มาหา เพราะไม่แน่ใจว่านักเลงเมืองชล ฯ จะต้อนรับเขาอย่างไร

นักเลงเมืองชล ฯ เตรียมการต้อนรับนักเลงเมืองกรุงอยู่เหมือนกัน เพราะเขารู้ว่าอธิบดีกรมตำรวจมีนโยบายส่งนักเลงกรุงมาให้นักเลงเมืองชล ฯ รู้จัก เขาก็เตรียมทำความรู้จักด้วย แต่เมื่อนักเลงเหล่านั้นที่ถูกส่งไปจากเมืองกรุง เกิดเป็นคนที่รู้จักกับผมอย่างดี นักเลงเมืองชล ฯ ก็เลยต้อนรับนักเลงเมืองกรุงไปอีกรูปแบบ เพราะเป็นเพื่อนของเพื่อนของเขา นักเลงเมืองกรุงกับนักเลงเมืองชล ฯ ก็เข้ากันได้ ร่วมกันทำมาหากิน บางคนปักหลักอยู่ที่เมืองชล ฯ จนบัดนี้ก็มี

โรงเรียนพลตำรวจที่ท่านอธิบดีเผ่า ฯ ตั้งขึ้น เป็นโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ในระยะแรกนั้น ยังหานักเรียนมาเรียนให้ครบไม่ได้ คนภายนอกที่เข้ามาสมัครเรียนนั้นมีน้อย เพราะอาชีพตำรวจในสมัยนั้นยังไม่เป็นที่พิสมัยนัก ไม่ค่อยมีใครอยากเป็นตำรวจ ทางกรม ฯ จึงเปิดโอกาสให้นักเรียนที่จบมัธยมศึกษาเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนี้ได้เลย โดยไม่ต้องผ่านการสอบคัดเลือก และให้นายตำรวจชั้นสารวัตรในนครบาล คัดเลือกเอาตำรวจในบังคับบัญชาที่สารวัตรนั้นรับรองความประพฤติ ส่งเข้าเรียนได้สองคน แต่ต้องให้สมัครเข้าเป็นพลตำรวจในบังคับบัญชาก่อน สำหรับผู้ที่สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 8 ก็ให้เป็นพลตำรวจก่อนหนึ่งปี ผู้ที่ไม่จบ ม.8 ก็ต้องเป็นพลตำรวจก่อนสองปี ผู้บังคับบัญชาจึงจะคัดส่งตัวมาได้

ผมเป็นสารวัตรอยู่กองตรวจสมัยนั้น ผมก็คัดเอาน้อง ๆ ผมเข้าไปได้สองคนตามโควต้าของผม บางคนไม่จบแปด ผมก็โมเมเอา ให้มาอยู่กับผมเพียงปีเดียว แล้วจับยัดเข้าในโควต้าของผมไปได้สองคน ต่อมาเขาออกมารับราชการเป็นนายพลไปแล้ว

นั่นเป็นสมัยที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจเริ่มก่อตั้งขึ้นมาในระยะแรก ในขณะเดียวกันที่กำลังเรียนกันอยู่ในโรงเรียนพล ฯ นั้น ท่านอธิบดีเผ่า ฯ ได้ให้เริ่มก่อสร้างโรงเรียนนายร้อยตำรวจขึ้นใหม่ที่นครปฐม แดนเก่าของโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นเก่า สถานที่ที่ก่อสร้างโรงเรียนนายร้อยตำรวจขั้นนั้น อยู่ในอำเภอสามพราน โรงเรียนนี้จึงได้ชื่อว่า “ โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน ”

เมื่อโรงเรียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ประมาณปี 2496 – 2497 ผมจำไม่ได้แน่นอน ถ้าพลาดไปก็ขออภัย ก็คงจะประมาณระยะนั้น นักเรียนนายร้อยตำรวจที่โรงเรียนพล ฯ ก็อพยพกันไปอยู่ที่สามพรานนั่น

นักเรียนที่สำเร็จจากสถาบันนี้ เป็นนายพลกันไปแล้วหลายคน



Create Date : 14 มีนาคม 2553
Last Update : 14 มีนาคม 2553 4:09:25 น. 4 comments
Counter : 1278 Pageviews.

 
เข้ามาอ่าน..และฝากรอยยิ้ม...สงสัยว่า จขบ คงกำลังหลับสบาย


โดย: Opey วันที่: 14 มีนาคม 2553 เวลา:4:59:20 น.  

 
คุณ Opey

ตื่นเช้าดีจังเลย..
ขอบคุณที่มาเยือนกันอยู่เรื่อย ๆ ค่ะ



โดย: ธารน้อย วันที่: 15 มีนาคม 2553 เวลา:1:14:26 น.  

 
ลืมไปว่า
คุณ Opey อยู่ต่างประเทศ


โดย: ธารน้อย วันที่: 15 มีนาคม 2553 เวลา:1:35:20 น.  

 
มาส่งคนขยันเข้านอนจ้ะ...

ฝันดีนะคะ...กู๊ดไนท์


โดย: Opey IP: 216.105.230.231 วันที่: 15 มีนาคม 2553 เวลา:1:55:08 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ธารน้อย
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ธารน้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.