โรคเยื่อจมูกอักเสบฝ่อ
โรคเยื่อจมูกอักเสบฝ่อ เป็นโรคที่เยื่อบุจมูกมีการเปลี่ยนแปลงจากเยื่อบุทางเดินหายใจเป็นเยื่อบุที่ปกคลุมผิวหนัง ทำให้เยื่อที่บุในจมูกเหี่ยวฝ่อ และกระดูกที่เป็นโครงสร้างอาจเล็กลงไปมากด้วย ซึ่งจะทำให้น้ำมูกในจมูกตกค้าง และแห้งเป็นสะเก็ด เกาะติดอยู่บนเยื่อบุจมูก เมื่อสะสมกันมากขึ้น อาจอุดกั้นโพรงจมูก และทำให้เกิดกลิ่นเหม็นได้
โรคเยื่อจมูกอักเสบฝ่อ นี้แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
1. ชนิดที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ เชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน, การติดเชื้อ, ภาวะโภชนาการที่ไม่ดีเนื่องจากขาดสารอาหารบางอย่าง, พันธุกรรม, ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน 2. ชนิดที่มีสาเหตุ หรือเกิดขึ้นตามหลังโรคบางชนิด เช่น วัณโรค, โรคเรื้อน, ซิฟิลิส, ไซนัสอักเสบเรื้อรัง, หลังการทำผ่าตัดจมูกและไซนัส, หลังการฉายแสงรักษามะเร็งของจมูกและไซนัส หรือ อุบัติเหตุ
อุบัติการ
โรคนี้พบบ่อยในผู้หญิง โดยมักเริ่มเป็นเมื่ออายุ 13 - 15 ปี มักพบโรคนี้ได้บ่อยในประเทศกำลังพัฒนา เช่น อียิปต์, อินเดีย, จีน ในประเทศไทยพบได้บ้าง จากการศึกษาโรคนี้ในประเทศไทย พบว่าอัตราส่วนที่พบในผู้หญิงต่อผู้ชาย = 5.6 : 1 อายุต่ำสุดที่พบเริ่มเป็นคือ 5 ปี โดยผู้ป่วยมักมีอาการตั้งแต่ 6 เดือน ถึงมากกว่า 20 ปี
อาการ
ผู้ป่วยมักได้รับการบอกเล่าจากคนใกล้ชิด าจมูกมีกลิ่นเหม็น นอกจากนี้อาจมีอาการคัดจมูก ซึ่งเกิดจากการสะสมของสะเก็ดภายในช่องจมูกจนอุดตัน อาการจมูกไม่ได้กลิ่นอาจพบได้บ้าง นอกจากนั้นผู้ป่วยอาจมาด้วยเลือดออกจากจมูกได้
อาการแสดง
จากการตรวจจมูกจะพบสะเก็ดเป็นแผ่นแห้งสีเหลืองปนน้ำตาล หรือเขียว เกาะอยู่บนเยื่อบุโพรงจมูก เมื่อดึงสะเก็ดออก จะเห็นหนองบางๆ เคลือบอยู่บนเยื่อบุ หลังทำความสะอาด จะเห็นว่าเยื่อบุจมูกมีลักษณะเหี่ยวฝ่อทั่วไป โพรงจมูกค่อนข้างกว้างมาก
การวินิจฉัย
สามารถให้การวินิจฉัยโดย การซักประวัติ และตรวจร่างกาย โดยมีอาการและอาการแสดงดังกล่าวข้างต้น การสืบค้นเพิ่มเติมที่ควรทำได้แก่การตรวจเซลล์ในเยื่อบุจมูก, การเพาะเชื้อแบคทีเรียจากน้ำมูก หรือ สะเก็ด นอกจากนี้อาจส่งหาความไวของเชื้อต่อยาต้านจุลชีพชนิดต่างๆ, การถ่ายภาพรังสีของจมูกและไซนัส เพื่อดูว่ามีไซนัสอักเสบร่วมด้วยหรือไม่ อาจเจาะเลือดดูว่ามีซีดจากการขาดเหล็กหรือไม่ ตรวจดูภาวะโภชนาการ ตรวจ VDRL เมื่อสงสัยการติดเชื้อซิฟิลิส ในรายที่สงสัยวัณโรค หรือโรคเรื้อน อาจทำการตัดชิ้นเนื้อในโพรงจมูก
การรักษา
เริ่มด้วยการอธิบายเรื่องโรค และการดำเนินของโรค ให้ผู้ป่วยทราบ ในรายที่มีสาเหตุ ควรรักษาตามอาการ และรักษาสาเหตุ ส่วนในรายที่เป็นชนิดที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ การรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการเท่านั้น การรักษาตามอาการคือ
1. ทำความสะอาดภายในจมูกโดยการเอาสะเก็ดออก และดูดหนองและน้ำมูกออกจนสะอาด แล้วล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ วันละ 2 3 ครั้ง 2. หลังทำความสะอาด อาจใช้ยาหยอดจมูก หยอดจมูกเพื่อทำให้สะเก็ดอ่อนตัว และ กลิ่นเหม็นน้อยลง (ที่ใช้ใน รพ.ศิริราช มี 2 ชนิด คือ (1) 5% alcohol + 3% glycerine + isotonic saline และ (2) 50% glucose + 50% glycerine) 3. ยาต้านจุลชีพ อาจต้องให้เป็นครั้งคราว โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีผลการเพาะเชื้อขึ้น จากประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยโรคนี้ในประเทศไทยพบว่า การให้ยาต้านจุลชีพทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น 4. แก้ไขภาวะทุพโภชนาการ เช่น ให้ผู้ป่วยกินอาหารโปรตีนมากขึ้น และให้วิตามิน, เกลือแร่, ธาตุเหล็ก นอกจากนั้น ผู้ป่วยจะถูกนัดมาทำความสะอาดในจมูกเป็นระยะๆเพื่อติดตามดูการตอบสนองต่อการรักษา และเฝ้าระวังไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น
การรักษาโดยการผ่าตัด
ในรายที่ให้การรักษาโดยใช้การรักษาตามอาการแล้วไม่ดีขึ้น อาการคนไข้ยังมากอยู่ อาจพิจารณาการผ่าตัด เนื่องจากการที่มีโพรงจมูกกว้าง ทำให้ปริมาตรของอากาศผ่านเข้าออกจมูกค่อนข้างมากในการหายใจเข้าออกแต่ละครั้ง ทำให้จมูกต้องทำงานหนักในการให้ความชื้น และความร้อนแก่อากาศที่หายใจเข้าไป เยื่อบุจมูกจึงแห้งได้ง่าย จึงมีการผ่าตัดเพื่อทำให้โพรงจมูกแคบลง โดยการใส่วัสดุได้แก่พวกสารสังเคราะห์ หรือใส่เนื้อเยื่อของผู้ป่วยเอง ซึ่งพบว่ามีปฏิกิริยาต่อต้านน้อยกว่าสารสังเคราะห์ แต่ในระยะยาว อาจมีการละลาย และถูกดูดซึมหายไปได้ นอกจากนั้นยังมีการผ่าตัดปิดรูจมูกเพื่อไม่ให้อากาศผ่านเข้าไปได้อีกหรือเข้าไปได้แต่น้อย ซึ่งพบว่า เยื่อบุจมูกกลับคืนสู่สภาพปกติได้หลังจากการผ่าตัดไปแล้ว 2 3 ปี ในรายที่มีไซนัสอักเสบร่วมด้วย การทำผ่าตัดรักษาไซนัสอักเสบและให้ยาต้านจุลชีพหลังผ่าตัดจะทำให้ผู้ป่วยโรคเยื่อจมูกอักเสบฝ่อมีอาการดีขึ้น
ภาวะแทรกซ้อน
1. ไซนัสอักเสบเรื้อรัง พบบ่อย เนื่องจากการทำงานของขนกวัดในโพรงจมูกเสียไป 2. คอและกล่องเสียงอักเสบ ในบางรายความผิดปกติของเยื่อบุจมูก อาจลามมาที่ผนังคอ และกล่องเสียง และแบคทีเรียที่เจริญอยู่ในโพรงจมูก อาจถูกกลืนลงคอ ทำให้เกิดการอักเสบของคอ และกล่องเสียงได้ง่ายขึ้น 3. ผนังกั้นช่องจมูกทะลุ พบว่าผู้ป่วยบางราย อาจมีแผลที่บริเวณผนังกั้นช่องจมูกส่วนหน้า และลุกลามจนทำให้ทะลุได้ 4. สันจมูกยุบ ถ้าพบผู้ป่วยโรคเยื่อจมูกอักเสบฝ่อที่ผนังกั้นช่องจมูกทะลุ หรือ สันจมูกยุบควรหาสาเหตุเพราะอาจเป็นชนิดที่มีสาเหตุ หรือเกิดขึ้นตามหลังโรคบางชนิด เช่น วัณโรค, โรคเรื้อน, ซิฟิลิสได้
ขอบคุณข้อมูลจาก //www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/ e-pl/articledetail.asp?id=475
Create Date : 25 ธันวาคม 2553 |
|
52 comments |
Last Update : 25 ธันวาคม 2553 10:13:38 น. |
Counter : 30983 Pageviews. |
|
 |
|
❤ ❤ Merry X'mas & Happy New Year 2011 ❤ ❤
ขอให้มีความสุข มีสุขภาพที่แข็งแรงมากๆ
คิดหวังสิ่งใดขอให้ความสมปรารถนาทุกประการค่ะ
จาก ดาวจ๋าคนซน