สวัสดีค่ะ ภาระหน้าที่ทำให้ต้องเดินทางไกลมาถึงบัวโนสไอเรส แต่ยังคิดถึงเพื่อนบล็อกทุกคนนะค่ะ
มารู้จักและช่วยเด็กสมาธิสั้นกันเถอะ ตอนที่ 1

โรคสมาธิสั้นคืออะไร?

โรคสมาธิสั้นคือ กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก (ก่อนอายุ 7 ขวบ) ที่เกิดจากความผิดปกติของสมองซึ่งมีผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์ การเรียน และการเข้าสังคมกับผู้อื่นของเด็ก กลุ่มอาการนี้ประกอบด้วย

- อาการขาดสมาธิ (attention deficit)
- อาการหุนหันพลันแล่น วู่วาม (impulsivity)
- อาการซน อยู่ไม่นิ่ง (hyperactivity)

เด็กบางคนอาจจะมีอาการซน และอาการหุนหันพลันแล่น วู่วาม เป็นอาการเด่น ซึ่งมักพบได้บ่อยในเด็กผู้ชายมากกว่า แต่เด็กที่ เป็นโรคสมาธิสั้นบางคนก็อาจจะไม่ซน แต่มีอาการขาดสมาธิเป็นปัญหาหลัก ซึ่งมักพบได้ทั้งในเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย

ทำไมในปัจจุบันถึงพบเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นกันเยอะ?

จริงๆแล้วได้มีการค้นพบโรคนี้มานานกว่าร้อยปีแล้ว แต่เมื่อก่อนยังไม่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในกลุ่มครูและผู้ปกครอง เกณฑ์ที่ใช้ในการวินิจฉัยก็ไม่แน่นอน ในปัจจุบันครูและผู้ปกครองมีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ดีขึ้น ประกอบกับแพทย์เริ่มมีการกำหนดเกณฑ์ที่ใช้ในการวินิจฉัยแน่นอนและชัดเจนมากขึ้น ทำให้เด็กที่มีอาการเข้าข่ายโรคสมาธิสั้นถูกค้นพบและได้รับการวินิจฉัยมากขึ้น เลยทำให้ดูเหมือนเป็นการแพร่ระบาดหรือเป็นแฟชั่นของสังคม สภาพสิ่งแวดล้อม สังคม ครอบครัว การเลี้ยงดู และความคาดหวังจากพ่อแม่ยุคใหม่ ที่แปลี่ยนแปลงไปจากสภาพในอดีตก็มีอิทธิพลต่อจำนวนเด็กที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น

มีเด็กกี่เปอร์เซ็นต์ที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น?

โรคสมาธิสั้นนี้พบได้บ่อยในทุกประเทศทั่วโลก ในประเทศไทยพบว่า ประมาณ 5% ของเด็กในวัยเรียนป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น หมายความว่า ห้องเรียนห้องหนึ่งถ้ามีนักเรียนอยู่ประมาณ 50 คน จะมีเด็กที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นอยู่ในห้องเรียนประมาณ 2-3 คน

จะสังเกตได้อย่างไรว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่? อาการที่บ่งชี้ว่าเด็กอาจมีโรคสมาธิสั้น ได้แก่: -

1. อาการขาดสมาธิ (attention deficit): เด็กจะมีลักษณะวอกแวกง่าย ขาดความตั้งใจในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่ต้องใช้ความคิด เด็กมักจะแสดงอาการเหม่อลอยบ่อยๆ ฝันกลางวัน ทำงานไม่เสร็จ ผลงานมักจะไม่เรียบร้อย ตกๆหล่นๆ ดูเหมือนสะเพร่า ขาดความรอบคอบ เด็กมักจะมีลักษณะขี้ลืม ทำของใช้ส่วนตัวหายเป็นประจำ มีลักษณะเหมือนไม่ฟังเวลาพูดด้วย เวลาสั่งให้เด็กทำงานอะไรเด็กมักจะลืมทำ หรือทำครึ่งๆ กลางๆ อาการขาดสมาธินี้มักจะมีต่อเนื่อง ติดตัวจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่
2. อาการซน (hyperactivity): เด็กจะมีลักษณะซน อยู่ไม่สุข ยุกยิกตลอดเวลา นั่งนิ่งๆ ไม่ค่อยได้ ต้องลุกเดิน หรือขยับตัวไปมา ชอบปีนป่าย เล่นเสียงดัง เล่นผาดโผน หรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย มักประสบอุบัติเหตุบ่อยๆ จากความซน และความไม่ระมัดระวัง พูดมาก พูดไม่หยุด ชอบแกล้งหรือแหย่เด็กอื่น
3. อาการหุนหันพลันแล่น (impulsivity): เด็กจะมีลักษณะวู่วาม ใจร้อน อารมณ์หุนหันพลันแล่น ทำอะไรไปโดยไม่คิดก่อนล่วงหน้าว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นตามมา ขาดความระมัดระวัง เช่น วิ่งข้ามถนนโดยไม่มองรถดีๆ ซุ่มซ่าม ทำข้าวของแตกหักเสียหาย เวลาต้องการอะไรก็จะต้องให้ได้ทันที รอคอยอะไรไม่ได้ เวลาอยู่ในห้องเรียนมักจะพูดโพล่งออกมาโดยไม่ขออนุญาตครูก่อน มักตอบคำถามโดยที่ฟังคำถามยังไม่ทันจบ ชอบพูดแทรกเวลาที่คนอื่นกำลังคุยกันอยู่ หรือกระโดดเข้าร่วมวงเล่นกับเด็กคนอื่นโดยไม่ขอก่อน

แพทย์ใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยโรคสมาธิสั้น?

เกณฑ์ในการวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นที่แพทย์ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันคือ เกณฑ์ที่กำหนดขึ้นและประกาศใช้โดยสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (DSM-IV) โดยแบ่งกลุ่มอาการออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่

ก. อาการขาดสมาธิ (attention deficit): โดยเด็กจะมีอาการต่อไปนี้

1. ไม่สามารถทำงานที่ครูหรือพ่อแม่สั่งจนสำเร็จ
2. ไม่มีสมาธิในขณะทำงานหรือเล่น
3. ดูเหมือนไม่ค่อยฟังเวลาพูดด้วย
4. ไม่สามารถตั้งใจฟัง และเก็บรายละเอียดได้ ทำให้ทำงานผิดพลาดบ่อยๆ
5. ไม่ค่อยเป็นระเบียบ
6. มีปัญหาหรือพยายามหลีกเลี่ยงงานที่ต้องใช้ความคิดหรือสมาธิ
7. วอกแวกง่าย
8. ทำของใช้ส่วนตัว หรือของใช้ที่จำเป็นสำหรับงานหรือการเรียน หายอยู่บ่อยๆ
9. ขี้ลืมบ่อยๆ

ข. อาการซน อยู่ไม่นิ่ง (hyperactivity) และอาการหุนหันพลันแล่น วู่วาม (impulsivity) โดยเด็กจะมีอาการต่อไปนี้

1. ยุกยิก อยู่ไม่สุข
2. นั่งไม่ติดที่ ลุกเดินบ่อยๆ ขณะอยู่ที่บ้านหรือในห้องเรียน
3. ชอบวิ่ง หรือปีนป่ายสิ่งต่างๆ
4. พูดมาก พูดไม่หยุด
5. เล่นเสียงดัง
6. ตื่นตัวตลอดเวลา หรือดูตื่นเต้นง่าย
7. ชอบโพล่งคำตอบเวลาครูหรือพ่อแม่ถามโดยที่ยังฟังคำถามไม่จบ
8. รอคอยไม่เป็น
9. ชอบขัดจังหวะหรือสอดแทรกเวลาผู้อื่นกำลังพูดอยู่

หากเด็กคนใดมีลักษณะอาการใน ข้อ ก หรือ ข้อ ข รวมกันมากกว่า 6 อาการขึ้นไป เด็กคนนั้นมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นโรคสมาธิสั้น

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นได้อย่างไร?

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นได้โดยอาศัยประวัติที่ละเอียด การตรวจร่างกาย การตรวจระบบประสาท และการสังเกตพฤติกรรมของเด็กเป็นหลัก ในปัจจุบันยังไม่มีการตรวจเลือด หรือเอ็กซเรย์สมอง ที่สามารถนำมาใช้ในการวินิจฉัยโรคสมาธิสั้น ในบางกรณี แพทย์จำเป็นต้องอาศัยการตรวจอื่นๆ เช่น การตรวจสายตา (vision test) การตรวจการได้ยิน (hearing test) การตรวจคลื่นสมอง (EEG) การตรวจเชาวน์ปัญญา (IQ test) และความสามารถทางการเรียน เพื่อช่วยวินิจฉัยแยกโรคลมชัก ความบกพร่องทางสายตา การได้ยิน หรือภาวะการเรียนบกพร่อง (learning disorder) ออกจากโรคสมาธิสั้น นอกจากนี้ โรคออทิสติก โรคจิตเภท ภาวะพัฒนาการล่าช้า และโรคทางจิตเวชอื่นๆ ในเด็ก เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า สามารถทำให้เด็กแสดงอาการหรือมีพฤติกรรมคล้ายกับเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น

อะไรเป็นสาเหตุของโรคสมาธิสั้น?

การวิจัยในปัจจุบันพบว่า เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมีความบกพร่อง หรือมีปริมาณสารเคมีที่สำคัญบางตัว (dopamine, noradrenaline) ในสมองน้อยกว่าเด็กปกติ โดยมีกรรมพันธุ์เป็นปัจจัยที่สำคัญ ประมาณ 30 - 40 % ของเด็กสมาธิสั้นจะมีสมาชิกในครอบครัวคนใดคนหนึ่งเป็นโรคสมาธิสั้นด้วยหรือมีปัญหาอย่างเดียวกัน ปัจจัยจากการเลี้ยงดูหรือสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงปัจจัยเสริมที่ทำให้อาการหรือความผิดปกติดีขึ้นหรือแย่ลงแต่ไม่ใช่สาเหตุหลัก มารดาที่ขาดสารอาหาร ดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือถูกสารพิษบางชนิด (เช่น ตะกั่ว) ในระหว่างตั้งครรภ์ จะมีโอกาสมีลูกเป็นโรคสมาธิสั้นสูงขึ้น การวิจัยในปัจจุบันไม่พบว่าการบริโภคน้ำตาลหรือชอกโกแลตมากเกินไปทำให้เด็กซนมากขึ้น การดูทีวีหรือเล่นวิดีโอเกมมากเกินไปก็ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้น

เด็กสามารถนั่งดูทีวี หรือเล่นวิดีโอเกมได้นานเป็นชั่วโมง ทำไมหมอถึงยังบอกว่า เด็กเป็นโรคสมาธิสั้น?

เพราะในขณะที่เด็กดูทีวี หรือเล่นวิดีโอเกม เด็กจะถูกกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภาพบนจอทีวีหรือวิดีโอเกมที่เปลี่ยนทุก 2 - 3 วินาที จึงสามารถดึงดูดความสนใจของเด็กได้ สมาธิของเด็กมีขึ้นได้จากสิ่งเร้าภายนอก ซึ่งตรงกันข้ามกับสมาธิที่เด็กต้องสร้างขึ้นมาเอง ระหว่างการอ่านหนังสือหรือทำงานต่างๆ เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะขาดสมาธิอันนี้ ดังนั้นถึงแม้ว่าเด็กจะสามารถดูทีวีหรือเล่นวิดีโอเกมได้นานๆ เด็กก็มีสิทธิที่จะเป็นโรคสมาธิสั้นได้

วิธีการรักษาโรคสมาธิสั้นมีอะไรบ้าง?

การรักษาเด็กสมาธิสั้นที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด คือ การผสมผสานการรักษาหลายๆด้าน ดังต่อไปนี้เข้าด้วยกัน:
ก. การรักษาด้วยยา
ข. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการช่วยเหลือทางด้านจิตใจสำหรับเด็กและครอบครัว
ค. การช่วยเหลือทางด้านการเรียน

ยาอะไรที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น และยาจะช่วยเด็กอย่างไร?

ยาที่ได้ผลดีที่สุดสำหรับโรคสมาธิสั้น คือ ยาในกลุ่ม Psychostimulants ซึ่งได้แก่ methylphenidate (Ritalin®), long-acting methylphenidate (Concerta®), dextroamphetamine (Dexedrine®), Adderall และ pemoline (Cylert®) ยาเหล่านี้เป็นยาที่ปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อยและมีประสิทธิภาพในการรักษาสูง ยาจะช่วยให้เด็กมีสมาธิดีขึ้น ซนน้อยลง ดูสงบลง มีความสามารถในการควบคุมตัวเองดีขึ้น และอาจช่วยให้ผลการเรียนดีขึ้น ผลที่ตามมาเมื่อเด็กได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี คือ เด็กจะมีความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) เพิ่มขึ้น และมีความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือคนรอบข้างดีขึ้น

ยาเข้าไปทำอะไรกับสมองของเด็ก?

พ่อแม่ และครูหลายท่านมีความเข้าใจผิดคิดว่า ยาที่แพทย์ใช้ในการรักษาเด็กสมาธิสั้นออกฤทธิ์โดยการไป “บีบ” หรือ “กด” สมองเพื่อให้เด็กนิ่งขึ้น หรือซนน้อยลง ดังนั้นความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้นกับพ่อแม่เมื่อแพทย์บอกว่าเด็กควรจะได้รับการรักษาด้วยยาคือ วิตกกังวล ลังเลไม่แน่ใจ ไม่อยากให้เด็กรับประทานยา แต่แท้จริงแล้วยาจะออกฤทธิ์โดยการไป “กระตุ้น” เซลล์สมองให้หลั่งสารเคมีธรรมชาติ (ตัวที่เด็กมีน้อยกว่าเด็กปกติ) ออกมามากขึ้นในระดับที่เด็กปกติควรจะมี สารเคมีตัวนี้เป็นตัวที่ช่วยให้เด็กสามารถควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น มีสมาธิยาวนานขึ้น เรียนหนังสือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผลข้างเคียงของยามีอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียงของยาในกลุ่มนี้ที่พบบ่อย ได้แก่ อาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ปวดท้อง และอารมณ์ขึ้นลง หงุดหงิดง่าย ใจน้อย เจ้าน้ำตา อาการข้างเคียงเหล่านี้มักจะไม่รุนแรงและหายไปเองได้เมื่อเด็กรับประทานยาติดต่อกันไปสักระยะหนึ่ง

หากเด็กมีอาการเบื่ออาหารมากหลังจากรับประทานยาจะทำอย่างไร?

เด็กบางรายอาจจะมีอาการเบื่ออาหารระหว่างที่ยากำลังออกฤทธิ์ ดังนั้นจึงควรให้เด็กรับประทานอาหารให้เรียบร้อยก่อนให้รับประทานยา โดยปกติแล้วความอยากอาหารจะกลับเป็นปกติ (หรือมากกว่าปกติในบางราย) เมื่อยาหมดฤทธิ์ จึงไม่แปลกที่เด็กบางคนบ่นว่าหิว หรืออาจจะร้องขอรับประทานอาหารเมื่อใกล้เวลาจะเข้านอน พ่อแม่ควรอนุญาตให้เด็กรับประทานอาหารได้ทุกเวลาที่เขาต้องการแม้จะเป็นตอนค่ำ เพื่อชดเชยกับมื้อเช้าหรือมื้อเที่ยงที่เด็กอาจจะรับประทานอาหารไม่ได้มาก มีเด็กเพียงไม่กี่รายที่อาการเบื่ออาหารมีมากจนแพทย์ต้องลดขนาดยาให้น้อยลง หรือให้อาหารเสริม ในบางรายแพทย์อาจให้ยากระตุ้นให้อยากอาหารร่วมด้วย

มีคนบอกว่าเด็กกินยาแล้วจะ “ซึม” จริงหรือไม่?

เด็กสมาธิสั้นที่ตอบสนองดีต่อการรักษาด้วยยาอาจจะดูนิ่ง สงบ เงียบ เรียบร้อยผิดจากเดิมไปมาก จึงมักทำให้พ่อแม่ หรือคุณครูที่คุ้นเคยกับอาการซน เสียงดัง และความวุ่นวายของเด็ก บังเกิดความประหลาดใจปนกับความกังวลว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเด็ก หลายคนเหมาเอาว่าเด็ก “ซึม” จากยา แต่ในความเป็นจริงเด็กเพียงแต่มีอาการ “สงบ” เหมือนพฤติกรรมของเด็กปกติทั่วไป เด็กจะมีอาการ “ซึม” เกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้รับยาในขนาดที่สูงเกินไปเท่านั้น

วิธีแยกระหว่างอาการ “ซึม” กับ “สงบ” อาศัยสมาธิและความสามารถในการคิดของเด็ก ระหว่างที่เด็กมีอาการ “ซึม” เด็กจะไม่สามารถใช้สมองหรือคิดอะไรไม่ออก เวลาถามอะไรก็ไม่ตอบหรือตอบไม่ได้ แต่ระหว่างที่เด็ก “สงบ” เด็กจะกระตือรือร้นหากมีการนำงานมาให้เด็กทำหรือคิด เด็กจะตอบได้ไวและถูกต้อง ดังนั้นพ่อแม่จึงควรสังเกตและแยกให้ได้ว่าจริงๆแล้วเด็กรับประทานยาแล้ว “ซึม” หรือ “สงบ” กันแน่ ก่อนที่จะเหมาเอาว่าเด็กรับประทานยาแล้ว “ซึม” (ยังมีต่อตอนที่ 2)




ขอบคุณข้อมูลจาก//www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=393&word



Create Date : 26 เมษายน 2553
Last Update : 26 เมษายน 2553 9:36:14 น. 11 comments
Counter : 1805 Pageviews.

 


โดย: Neilnuch_T วันที่: 26 เมษายน 2553 เวลา:10:48:29 น.  

 


โดย: หาแฟนตัวเป็นเกลียว วันที่: 26 เมษายน 2553 เวลา:11:18:37 น.  

 

คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...


แวะมาทักทายกันจ้าคุณกบ
ถ้าทางพระก็คนมีกรรมมาเกิดมากขึ้นค่ะ



โดย: หอมกร วันที่: 26 เมษายน 2553 เวลา:14:52:08 น.  

 
สวัสดีจ้าคุณกบ ตอนบ่ายค่ะ ทานข้าวยังคะบล็อกน่ารักจังนะคะ


โดย: ooyporn วันที่: 26 เมษายน 2553 เวลา:15:26:31 น.  

 
แวะมาเก็บความรู้ค่ะ


โดย: never the last วันที่: 26 เมษายน 2553 เวลา:19:00:56 น.  

 


โดย: ถุงก๊อปแก๊ป วันที่: 26 เมษายน 2553 เวลา:19:15:40 น.  

 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...


โดย: ดอกหญ้าในHouston วันที่: 26 เมษายน 2553 เวลา:21:15:01 น.  

 
สวัสดีค่ะ
เปิดมาเห็นสาวน้อยชุดชมพูข้างๆน่ารักมากๆชอบๆค่ะขอเซฟไว้นะคะ


โดย: praewa cute วันที่: 26 เมษายน 2553 เวลา:21:44:02 น.  

 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...


สวัสดีเช้าวันอังคารกับความสดชื่นตลอดวันค่ะคุณกบ


โดย: ดอกฝิ่นในสายลมหนาว วันที่: 27 เมษายน 2553 เวลา:7:21:25 น.  

 
สวัสดียามเช้าครับคุณกบ

โรคนี้เด็กเป็นกันเยอะจริงๆนะครับ








โดย: กะว่าก๋า วันที่: 27 เมษายน 2553 เวลา:7:37:28 น.  

 


โดย: น้องเมย์น่ารัก วันที่: 5 ตุลาคม 2557 เวลา:0:52:57 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

kobnon
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 92 คน [?]




.
สาระน่ารู้ประจำวัน
1.โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด
2. บุหรี่ ทำนมยาน หูตึง
3. Upside down pineapple cake


music
Group Blog
 
<<
เมษายน 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
26 เมษายน 2553
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kobnon's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.