สวัสดีค่ะ ภาระหน้าที่ทำให้ต้องเดินทางไกลมาถึงบัวโนสไอเรส แต่ยังคิดถึงเพื่อนบล็อกทุกคนนะค่ะ
รวบรวมคำถาม ถามบ่อย เรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช1เอ็น)

รวบรวมคำถาม ถามบ่อย เรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
ชนิดเอ (เอช1เอ็น)





1. ไข้หวัดใหญ่ที่กำลังระบาดตามข่าวอยู่ในขณะนี้คือโรคอะไร ?


โรคที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ เป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
ในคน แพร่ติดต่อระหว่างคนสู่คน ไม่พบว่ามีการติดต่อมาจากสุกร
เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 (A/H1N1) ซึ่ง
เป็นเชื้อตัวใหม่ที่ไม่เคยพบทั้งในสุกรและในคน เป็นเชื้อที่เกิด
จากการผสมข้ามสายพันธุ์ ซึ่งมีสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่คน
ไข้หวัดใหญ่สุกร และไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีกด้วย เริ่มพบการระบาดที่
ประเทศเม็กซิโก และแพร่ไปกับผู้เดินทางไปในอีกหลายประเทศ
ระยะแรก กระทรวงสาธารณสุขใช้ชื่อโรคนี้ว่า “โรคไข้หวัดใหญ่ที่
ระบาดในเม็กซิโก” และเมื่อองค์การอนามัยโลกได้ประกาศชื่อเป็น
ทางการเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ไข้หวัด
ใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1” และใช้ชื่อย่อว่า “ไข้หวัด
ใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009”


2. เหตุใดจึงไม่ใช้คำว่าไข้หวัดสุกร (Swine flu) เหมือนชื่อที่ใช้
เรียกในระยะแรกของการระบาด ?


เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ใหม่ ในการรายงานโรคนี้ช่วงแรกในภาษา
อังกฤษใช้คำว่า “Swine Flu” หรือไข้หวัดใหญ่สุกร โดยปกติแล้ว
ไข้หวัดใหญ่สุกรเป็นโรคทางเดินหายใจที่เกิดขึ้นในสุกร มีสาเหตุ
มาจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่หลายชนิด เช่น H1N1, H1N2, H3N1
และ H3N2 แต่ละชนิดมีหลากหลายสายพันธุ์ ตามปกติการเกิดโรค
ในสุกร บางครั้งอาจมีผู้ติดเชื้อจากสุกรและป่วยซึ่งเกิดไม่บ่อยนัก
การติดเชื้อเกิดโดยคนหายใจเอาละอองฝอยเมื่อสุกรไอ หรือจาม
เข้าไป หรือการสัมผัสกับสุกร หรือสิ่งแวดล้อมที่สุกรอาศัยอยู่
อย่างไรก็ตามเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโกนี้ ผลการตรวจ
วิเคราะห์ในระดับพันธุกรรมพบว่า เป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่พบในคน
และยังไม่เคยพบในสุกรมาก่อน และการระบาดดังกล่าว ไม่มี
รายงานโรคนี้ระบาดในสุกรทั้งในเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา และ
ผลการสอบสวนโรค ไม่พบผู้ใดติดโรคจากสุกร หากแต่เป็นการ
แพร่กระจายโรคจากคนสู่คนเท่านั้น


ต่อมาวันที่ 29 เมษายน 2552 องค์การอนามัยโลกได้เปลี่ยนการ
เรียกชื่อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จากที่เคยเรียกว่า ไข้หวัดสุกร
หรือ สไวน์ ฟลู (Swine Flu) เป็น “ไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1” (Influenza A H1N1) ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขไทยจึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อ “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1” และชื่อย่อว่า
“ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” เพื่อให้สอดคล้องกันและสื่อ
ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจตรงกัน ไม่สับสนกับไข้หวัดใหญ่
ชนิดเอ เอช1เอ็น1 ที่เกิดตามฤดูกาล ซึ่งเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่
คนละตัวกัน


3. คนติดโรคนี้ได้อย่างไร ?


คนส่วนใหญ่ติดโรคไข้หวัดใหญ่จากการถูกละอองฝอยไอจาม
น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยโดยตรง บางรายอาจได้รับเชื้อทางอ้อม
ผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น ผ้าเช็ดหน้า
ลูกบิดประตู โทรศัพท์ แก้วน้ำ เป็นต้น ไม่มีรายงานการติดต่อจาก
การรับประทานเนื้อหมู


ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อไวรัส 1 – 3 วัน
น้อยรายที่นานถึง 7 วัน และอาจเริ่มแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อน
ป่วย ช่วง 3 วันแรกจะแพร่เชื้อได้มากที่สุด และระยะแพร่เชื้อมัก
ไม่เกิน 7 วัน แต่ในเด็กเล็ก อาจแพร่เชื้อได้นานถึง 10 วัน


4. คนสามารถแพร่เชื้อนี้ให้แก่สัตว์อื่นได้หรือไม่ ?


องค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ ได้เผยแพร่อย่างเป็นทางการ
เมื่อวันที่ 7 พ.ค.52 ว่า มีรายงานสุกรติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
ชนิด เอ เอช 1 เอ็น 1 นี้จากคน และพบการระบาดของโรคนี้ใน
สุกรแล้วในประเทศแคนาดา


5. การรับประทานเนื้อหมูหรือผลิตภัณฑ์จากหมู จะติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้หรือไม่ ?


ประชาชนสามารถบริโภคเนื้อหมูหรือผลิตภัณฑ์จากหมูที่ปรุงสุกนั้นปลอดภัย เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จะถูกทำลาย
(inactivate) ได้ด้วยความร้อนจากการปรุงอาหารที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยจากเชื้อโรค
ต่างๆ ไม่ควรนำหมูที่ป่วยหรือตายมาประกอบอาหาร


6. อาการของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มีอะไรบ้าง ?


อาการใกล้เคียงกับอาการโรคไข้หวัดใหญ่ที่พบตามปกติ เช่น ไข้สูง
ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน
และท้องเสียด้วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 95 อาการไม่รุนแรง สามารถ
หายป่วยได้ โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล แต่ผู้มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง
เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด โรคหัวใจและหลอดเลือด
เบาหวาน ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ที่ภูมิต้านทานต่ำ ภาวะอ้วน และหญิงมีครรภ์


7. โรคนี้รักษาได้หรือไม่ อย่างไร ?


เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 95 อาการไม่รุนแรง สามารถหาย
ป่วยได้เองหรือการรับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้
พาราเซตามอล (ห้ามใช้ยาแอสไพริน) โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
ดังนั้น ผู้ที่อาการไม่มาก เช่น ไข้ต่ำๆ รับประทานอาหารได้ อาจ
ไปพบแพทย์ที่คลินิก หรือขอรับยาและคำแนะนำจากเภสัชกรใกล้บ้าน
และดูแลรักษาที่บ้านได้ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก หอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อพิจารณาการให้ยาต้านไวรัสหรือรับไว้รักษาตัวที่โรงพยาบาล


8. จะป้องกันตนเองจากโรคนี้ได้อย่างไร ?


ท่านสามารถป้องกันตนเองจากโรคนี้ได้ง่าย โดยหลีกเลี่ยงการคลุกคลี
กับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด หากต้องดูแลผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัย
และให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัยด้วย หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังการไอ จาม ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้อื่น และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงโดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำสะอาด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงบุหรี่
และสุรา



สถานการณ์การระบาดและความรุนแรงของโรค


9. สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช1เอ็น1)
ขณะนี้เป็นอย่างไร


ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นมา ประเทศเม็กซิโกเริ่ม
พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่และผู้ป่วยปอดบวมสูงขึ้นผิดปกติ จากนั้น จึง
เริ่มมีการส่งตัวอย่างจากผู้ป่วยตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งข้อมูล
ณ วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2552 (ตามเวลาประเทศไทย) พบผู้ป่วย
ยืนยันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช1เอ็น1) จำนวน 29,669 ราย ใน 74 ประเทศ และพบผู้เสียชีวิตแล้ว 145 ราย คิดเ
ป็นอัตราป่วยตาย ประมาณร้อยละ 0.49 ขณะนี้ยังคงมีการระบาดอย่าง
ต่อเนื่องและขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ รายชื่อประเทศที่พบผู้ป่วย และ
รายงานสถานการณ์โรครายวัน ท่านสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข //www.moph.go.th


10. พบเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้มีในประเทศไทยหรือไม่ ?


จากการเฝ้าระวังโรค ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2552-ปัจจุบัน (15
มิถุนายน 2552) ไทยพบผู้ป่วยที่ตรวจยืนยันว่าติดเชื้อไข้หวัดใหญ่
สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช1เอ็น1) จำนวน 201 ราย ซึ่งจำแนกเป็น
ผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศจำนวน 30 ราย และผู้ที่ติดเชื้อภายใน
ประเทศ 171 ราย โดยขณะนี้ มีการระบาดของโรคในกรุงเทพมหานคร ชลบุรี ปทุมธานี ซึ่งมีการระบาดในโรงเรียนและสถานบันเทิงใน
แหล่งท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ผู้ป่วยทั้งหมดมีอาการ
ไม่รุนแรง ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ได้รับการ
ติดตามเฝ้าสังเกตอาการจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างใกล้ชิด บางราย
มีอาการป่วยแต่ไม่มีอาการรุนแรงและได้รับการดูแลรักษาแล้ว


11. แนวโน้มการระบาดของโรคเป็นอย่างไร


องค์การอนามัยโลกชี้ว่า โอกาสที่จะควบคุมการระบาดของไข้หวัดใหญ่
สายพันธุ์ใหม่ให้จำกัดอยู่ในประเทศที่เป็นต้นเหตุได้ผ่านเลยไปแล้ว
และการระบาดมีแนวโน้มกระจายกว้างขวางต่อไป จนเป็นการระบาดใหญ่ (Pandemic)ไปทั่วโลก เมื่อเวลาผ่านไปเชื้อจะมีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้การระบาดมีความรุนแรงน้อยลงหรือมากขึ้น ยังไม่อาจคาดการณ์ได้ แต่จากประสบการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา มักมีการระบาดระลอกหลังตามมาอีก และมีความรุนแรงของโรคมากกว่าระลอกแรก


12. กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์แนวโน้มการระบาดในประเทศไทย
อย่างไร


เมื่อพิจารณาสถานการณ์การระบาดทั้งในและนอกประเทศ ลักษณะธรรมชาติของโรค ร่วมกับสภาวะแวดล้อมและศักยภาพในประเทศ
จึงควรจัดแบ่งสถานการณ์การระบาดในประเทศเป็น 3 ระยะต่อ
เนื่องกัน ดังนี้


สถานการณ์ A มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากต่างประเทศและเดินทางเข้ามาในประเทศ


สถานการณ์ B มีการแพร่ระบาดในประเทศในวงจำกัด


สถานการณ์ C มีการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางภายในประเทศ


ในระยะที่ผ่านมา ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน ถึง ต้นเดือนมิถุนายน 2552 ประเทศไทยได้ทำการคัดกรองผู้เดินทางระหว่างประเทศ (สถานการณ์ A ) และยืนหยัดสกัดการแพร่เชื้อในประเทศได้นานกว่า 6 สัปดาห์ ซึ่งนับว่านานกว่าประเทศอื่นๆอีกจำนวนมาก แต่ข้อมูลล่าสุดชี้ให้เห็นว่า ในขณะนี้ประเทศไทยเริ่มมีการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ภายในประเทศแล้ว (สถานการณ์ B ) และ การระบาดภายในประเทศอาจจะขยายวงกว้างต่อไป (สถานการณ์ C ) เช่นเดียวกับการระบาดในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม หากความร่วมมือด้านการป้องกัน และควบคุมโรคจากทุกฝ่าย รวมทั้งประชาชน มีความเข้มแข็ง ไทยก็จะสามารถผ่านวิกฤตการณ์ไปได้ และมีความสูญเสีย หรือผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมน้อยที่สุด


13. หากเกิดการระบาดในวงกว้าง จะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง


การระบาดของโรคในอดีตที่ผ่านมา จะมีผลกระทบทางด้านสุขภาพของประชาชน อาจมีผู้ป่วยในประเทศ 10-40%ของประชากรไทย (ประมาณ 6.5 – 26 ล้านคน) และอาจมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากได้ นอกจากนี้ จะมีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม อีกมาก เช่น ทางด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจ ชีวิตประจำวันของประชาชน


14. กระทรวงสาธารณสุขมีการปกปิดหรือบิดเบือนข้อมูลเรื่องการระบาดของโรคหรือไม่ อย่างไร ?


กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและมีส่วนร่วมในการป้องกันควบคุมโรคมิให้แพร่กระจายออกไป ในการให้ข้อมูลใดอย่างเป็นทางการนั้น อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควรในการตรวจสอบความถูกต้อง หรือบางครั้งจำเป็นต้องหารือกับผู้เชี่ยวชาญ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจอย่างรอบคอบ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ข้อมูลบางส่วน ที่การเปิดเผยต่อสาธารณชน ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด และอาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดี เช่น รายละเอียดส่วนตัวของผู้ป่วยในส่วนที่ไม่จำเป็นในการป้องกันควบคุมโรค อาจมิได้มีการเปิดเผย เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยประกอบกับต้องคำนึงถึงสิทธิผู้ป่วยร่วมด้วย


15. เหตุใดตัวเลขจำนวนผู้ป่วยของไทยที่รายงานโดยองค์การอนามัยโลก
จึงน้อยกว่าจำนวนผู้ป่วยที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศ ?


ในการรายงานตัวเลขผู้ป่วยอย่างเป็นทางการให้องค์การอนามัยโลกทราบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 100 รายแรก เพื่อให้ทราบองค์ความรู้ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ จะต้องกรอกแบบฟอร์มรายงานเป็นรายบุคคล และมีข้อมูลในรายละเอียด รวมทั้งข้อมูลบางอย่างต้องรอเวลาหรือทราบผลก่อนจึงจะกรอกได้ เช่น ผลการรักษาผู้ป่วย จะต้องรอเวลาให้ผู้ป่วยหายหรือได้ยาครบก่อน จึงจะรายงานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะหลังที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นกลุ่มก้อนอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ตัวเลขที่องค์การอนามัยโลกรายงานน้อยกว่าจำนวนผู้ป่วยที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศในทันทีทันใด





ระดับเตือนภัยการระบาดของโรค


16. ระดับเตือนภัยการระบาดของโรคคืออะไร


องค์การอนามัยโลกได้มีการกำหนดระดับเตือนภัยการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ เมื่อปี 2005 เพื่อแสดงถึงขั้นตอนของการระบาดของโรคเริ่มตั้งแต่การพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในสัตว์ จนเริ่มแพร่เชื้อมาสู่คน และมีการกระจายออกไป จนกระทั่งระบาดไปทั่วโลก ซึ่งในขณะนั้น เป็นที่คาดกันว่า เชื้อไวรัสที่จะเป็นต้นเหตุของการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ จะมาจากเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 แต่เมื่อในปัจจุบัน เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1 เป็นต้นเหตุ และมีการระบาดเกิดขึ้น องค์การอนามัยโลกจึงได้ปรับปรุงคำจำกัดความของแต่ละระดับการระบาดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้นในปี 2009 เพื่อให้ง่ายต่อการกำหนดทิศทางการดำเนินงานป้องกัน ควบคุมโรค รวมทั้งมาตรการต่างๆ และมีความเข้าใจตรงกันทั่วโลก


17. ระดับเตือนภัยการระบาดของโรคมีกี่ระดับ มีหมายความว่าอย่างไรบ้าง ?


องค์การอนามัยโลกได้กำหนด ระดับเตือนภัยการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (ฉบับปรับปรุง ปี 2009) จำนวน 6 ระดับ ดังนี้


ระดับ 1 :พบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในสัตว์


ระดับ 2 : เกิดการติดเชื้อเกิดขึ้นในคน


ระดับ 3 : พบผู้ป่วยเป็นกลุ่มเล็ก การติดต่อระหว่างคนสู่คนอยู่ในวงจำกัด


ระดับ 4 : เกิดการระบาดในระดับชุมชน


ระดับ 5 : มีการแพร่เชื้อจากคนสู่คนในอย่างน้อย 2 ประเทศในภูมิภาคเดียวกันขององค์การอนามัยโลก


ระดับ 6 : มีการระบาดมากกว่า 1 ภูมิภาคขององค์การอนามัยโลก


18. สถานการณ์ขณะนี้ เราอยู่ในระดับเตือนภัยการระบาดที่เท่าไร ?


วันที่ 12 มิถุนายน 2552 (ตามเวลาในประเทศไทย) พญ.มากาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศยกระดับเตือนภัยการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ จากระดับ 5 เป็นระดับ 6 ซึ่งหมายถึง การระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A (H1N1) เริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลกแล้วโดยมีการติดต่อจากคนสู่คน ณ ขณะนี้ มีผู้ป่วยยืนยันโรคนี้ มากกว่า 30,000 ราย ใน 74 ประเทศทั่วโลก


19. การอยู่ในระดับการระบาดที่ 6 จะต้องทำอย่างไร


องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประเทศต่างๆ เตรียมรับมือกับการที่จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตอันใกล้นี้ ส่วนประเทศที่มีการระบาดของโรคอย่างกว้างขวางไปแล้ว ควรเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดของโรคระลอกที่สอง โดยควรเน้นหนักในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยอย่าง
เหมาะสม สำหรับการชันสูตรทางห้องปฏิบัติการและการสอบสวนโรค
สำหรับพื้นที่ที่มีการระบาดในวงกว้างแล้ว ควรลดความสำคัญลง เพราะประโยชน์ที่ได้อาจไม่คุ้มค่ากับทรัพยากรที่ต้องทุ่มเทลงไป


ขณะนี้องค์การอนามัยโลกกำลังประสานกับผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคนี้ อย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่า จะพยายามให้มีปริมาณวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ให้มากที่สุด ภายในเวลาไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ส่วนในระหว่างที่รอการผลิตวัคซีนนั้น ขอให้ใช้มาตรการด้านสาธารณสุขและชุมชนหรือมาตรการที่ไม่ใช้ยา/เวชภัณฑ์ (Non-pharmaceutical Intervention) เช่น การส่งเสริมสุขอนามัยส่วนบุคคล การจำกัดการชุมนุม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อร่วมด้วย ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ยังคงแนะนำว่า ไม่ควรจำกัดการเดินทางหรือปิดพรมแดน





ยาต้านไวรัส


20. มียาชนิดใดบ้างที่สามารถรักษาโรคนี้ได้ ?


ยาต้านไวรัสซึ่งใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่นี้ได้ผล คือ ยาโอเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) เป็นยาชนิดกิน และยา zanamivir เป็นยาชนิดพ่น แต่ผลการตรวจเชื้อไวรัสนี้พบว่าเชื้อนี้ดื้อต่อยาต้านไวรัส amantadine และ rimantadine ยาต้านไวรัส oseltamivir จะให้ผลรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้ดีที่สุด ถ้าผู้ป่วยได้รับยาเร็วภายใน 2 วันนับตั้งแต่เริ่มมีไข้


21. ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ในไทย ขณะนี้มีพอเพียงหรือไม่ ?


เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 95 อาการไม่รุนแรง สามารถหายป่วยได้เองหรือการรับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้พาราเซตามอล (ห้ามใช้ยาแอสไพริน) โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาลหรือได้ยาต้านไวรัส ประเทศไทยจึงมีความมั่นใจได้ว่า ได้สำรองยานี้ไว้พอเพียงสำหรับสถานการณ์ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้สำรองยาพร้อมใช้ทั่วประเทศจำนวน 420,000 ชุด (สำหรับผู้ป่วย420,000 ราย) โดยองค์การเภสัชกรรมได้สำรองวัตถุดิบสำหรับผลิตเพิ่มอีก 1 แสนชุด (สำหรับผู้ป่วย 100,000 ราย)


22. หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานภาคเอกชน จำเป็นต้องสำรองยาต้านไวรัสหรือไม่ อย่างไร ?


ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ใช้ในขณะนี้คือ โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) โดยใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาและป้องกันโรค ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสนับสนุนให้เอกชนมีส่วนร่วมในการสำรองยาต้านไวรัส เพื่อเตรียมพร้อมรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ และเพื่อขยายปริมาณสำรองยาต้านไวรัสของประเทศ


อย่างไรก็ตาม ยาดังกล่าวถือเป็นยาควบคุมพิเศษ เนื่องจากต้องติดตามการดื้อยาและอาการอันไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ ให้ใช้เฉพาะในสถานพยาบาลที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน และแพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายยา สถานประกอบการสามารถสำรองหรือบริจาคยาผ่านโรงพยาบาลเอกชนที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความเห็นชอบ โดยผู้นำเข้าติดต่อส่งหลักฐานการนำเข้าให้กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และโรงพยาบาลเป็นผู้ดูแลควบคุมการใช้ยาอย่างเข้มงวดตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้งรายงานการใช้ยาต่อกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อป้องกันการใช้ไม่ถูกต้องและป้องกันการดื้อยาจากการใช้อย่างกว้างขวางโดยไม่จำเป็น ในระยะการระบาดใหญ่ หากยาไม่เพียงพอ รัฐอาจขอความร่วมมือในการสำรองยาไว้เพื่อรักษาในโรงพยาบาลเป็นอันดับแรก


หมายเหตุ : องค์กรใดต้องการสำรองยาต้านไวรัส สามารถติดต่อได้ที่โรงพยาบาลเอกชนคู่สัญญาขององค์กรนั้นๆ ทั้งนี้โรงพยาบาลเอกชนสามารถขอรายละเอียดการดำเนินงานได้ที่ กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 0 2590 7000


23. ก่อนเดินทางไปในพื้นที่ระบาดหรืออยู่ในพื้นที่การระบาดของโรค จะต้องรับประทานยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ เพื่อการป้องกันหรือไม่ ?


ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์เป็นยาควบคุมพิเศษ ใช้เพื่อการรักษาโรคตามคำสั่งของแพทย์ โดยต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ชัดเจน สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปพื้นที่ระบาดหรือประชาชนทั่วไปที่อยู่ในพื้นที่การระบาด กระทรวงสาธารณสุข ไม่แนะนำให้รับประทานยาเพื่อป้องกัน หรือนำติดตัวไปรับประทานเอง เนื่องจากยาดังกล่าวอาจมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ปวดศรีษะ บางรายอาจพบอาการทางจิตประสาทเป็นภาพหลอนได้ กรณีเป็นหญิงตั้งครรภ์ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ หากมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ปวดเมื่อยตามร่างกาย ให้สวมหน้ากากอนามัย และรีบไปพบแพทย์ในพื้นที่ทันที เพื่อพิจารณาการให้ยาต้านไวรัส ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ต่อไป


24. นักท่องเที่ยวจะสามารถนำยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์เข้ามารับประทานเองในประเทศไทยได้หรือไม่ ?


ประเทศไทยอนุญาตให้นักท่องเที่ยวนำยาโอเซลทามิเวียร์ติดตัวมาจากต่างประเทศเพื่อใช้เป็นการเฉพาะตัวได้ไม่เกินคนละ 10 แคปซูล โดยไม่ต้องนำใบสั่งยาของแพทย์มาแสดงที่ด่านควบคุมยาที่สนามบิน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยาชนิดนี้ มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่เฉพาะเจาะจงและอาจมีผลข้างเคียงจากยาได้ ดังนั้น จึงขอแนะนำให้การรับประทานยา ควรอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์


25. กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการสนับสนุนยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ให้กับสถานพยาบาล อย่างไร ?


• ภาวะปกติ โรงพยาบาลภาครัฐ จะได้รับการสนับสนุนจาก กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค และองค์การเภสัชกรรม ตามโควต้าที่กำหนดไว้ ใช้ระบบ VMI (Vendor Managed Inventory) ในการสนับสนุนส่งยาตรงถึงโรงพยาบาลเมื่อปริมาณยาลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด โดยมีเงื่อนไขการใช้ยาตามแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ ฉบับปรับปรุง ปี พ.ศ. 2551 ส่วนโรงพยาบาลเอกชน ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยพิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสมเป็นกรณีๆ ไป


• ภาวะการระบาด การสำรองยาต้านไวรัสในประเทศ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นผู้ทำการสำรองยาในส่วนกลาง และจะทำการแจกจ่ายยาให้โรงพยาบาลของภาครัฐ รวมทั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ส่วนโรงพยาบาลเอกชน ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ พิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสม เป็นกรณีๆ ไป ซึ่งหากเกิดภาวะขาดแคลน องค์การอนามัยโลกและสำนักงานเลขาธิการอาเซียน จะมีการพิจารณาจัดสรรยา วัคซีน รวมทั้งอุปกรณ์ที่จำเป็นจากคลังสำรองระดับโลกและภูมิภาคให้กับประเทศต่างๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสม



วัคซีนป้องกันโรค


26. มีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้หรือไม่ ?


ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ แต่องค์การอนามัยโลกได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัทผู้ผลิต เร่งการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ดังกล่าว ซึ่งต้องใช้เวลาหลายเดือนในการผลิต ส่วนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่ผลิตใช้อยู่ในปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานว่า จะสามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ได้


27. ไทยจะมีโอกาสใช้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้หรือไม่ ?


กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้องค์การเภสัชกรรมสั่งจองวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ไว้ 2 ล้านชุด ซึ่งคาดว่าจะมีการผลิตได้ในอีก 4 เดือนนี้ และจะส่งถึงไทยประมาณเดือนมีนาคม 2553


28. ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลหรือไม่ ?


ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่า วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลจะป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรังควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล





หน้ากากอนามัย


29. หน้ากากอนามัยใช้ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดได้หรือไม่ ?


เนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ สามารถแพร่ติดต่อกันได้ง่ายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง จากการถูกละอองฝอยไอจาม น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยโดยตรง หรือบางรายอาจได้รับเชื้อผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู ราวบันได วิธีที่จะช่วยป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ววิธีหนึ่ง คือการสวมหน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการป่วยเป็นไข้ หรือ ไอ จาม เพราะหากผู้ป่วยไม่สวมหน้ากากอนามัย ขณะที่ไอหรือจาม จะสามารถแพร่เชื้อออกไปได้ไกล 1-5 เมตร ทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดมีโอกาสรับเชื้อและป่วยเป็นโรคได้ จากผลการวิจัยขององค์การอนามัยโลก พบว่าการใส่หน้ากากอนามัยสามารถลดการแพร่กระจายเชื้อที่ติดมากับละอองฝอย ได้ถึงร้อยละ 80 ดังนั้น หน้ากากอนามัย จึงเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้เป็นอย่างดี


นอกจากการใช้หน้ากากอนามัยเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อโรคแล้ว ประชาชนยังต้องปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามสุขอนามัยด้วย เช่น รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ ฯลฯ จึงจะเป็นการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ


หน้ากากอนามัยทั่วไปใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการไอหรือจาม เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อได้ ส่วนบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานกับผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่รุนแรง ควรใช้หน้ากากอนามัยชนิดพิเศษ ตามข้อแนะนำทางการแพทย์


30. เมื่อใดต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ?


ควรใส่หน้ากากอนามัยเมื่อท่านมีอาการป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ มีอาการไอ จาม มีน้ำมูก และต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นในที่สาธารณะ เช่น รถโดยสารประจำทาง ห้องเรียน ห้องทำงาน ศูนย์การค้า โรงพยาบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในห้องปรับอากาศ ทั้งนี้ การอยู่ลำพังผู้เดียว ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย


31. วิธีการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง ทำอย่างไร ?


เริ่มต้นที่ล้างมือให้สะอาดก่อนสวมใส่ สวมหน้ากากอนามัยให้คลุมทั้งจมูกและปาก โดยเอาด้านที่มีลวดไว้เป็นด้านบน หันเอาด้านที่กันน้ำได้ซึ่งมักมีสีเขียว หรือมีลักษณะมันวาวออกข้างนอก (ด้านที่ซับน้ำได้ดีซึ่งมักเป็นสีขาว ไว้ข้างใน เพื่อซึมซับละอองฝอยจากการไอจามได้ดี) แล้วดัดลวดให้แนบกับจมูกและใบหน้าของผู้สวมใส่


32. จะต้องเปลี่ยนหน้ากากอนามัยบ่อยแค่ไหน ?


หน้ากากอนามัยที่ทำจากกระดาษ ควรเปลี่ยนวันละครั้ง และทิ้งหน้ากากที่ใช้แล้วในถังที่มีฝาปิด ส่วนหน้ากากที่ทำด้วยผ้า สามารถซักด้วยน้ำและผงซักฟอก ผึ่งแดด แล้วนำกลับมาใช้ได้อีก แต่หากหน้ากากชำรุดหรือเปรอะเปื้อนควรเปลี่ยนใช้อันใหม่


33. หากต้องการจะทำหน้ากากอนามัยใช้เองได้หรือไม่ มีวิธีทำอย่างไร


ท่านสามารถทำหน้ากากอนามัยใช้เองได้ด้วยวิธีการทำที่ง่าย ด้วยการนำผ้าฝ้าย ผ้ายืด หรือผ้าสาลูเนื้อแน่น มาตัดเย็บเอง ติดตามรายละเอียดขั้นตอนการทำได้ที่เว็บไซต์ของสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค //beid.ddc.moph.go.th





คำแนะนำสำหรับประชาชน


34. หากจำเป็นต้องเดินทางไปยังต่างประเทศที่มีการระบาดของโรค จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ?


1. หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ชุมนุมชนที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น เนื่องจากมีโอกาสรับหรือแพร่กระจายเชื้อได้มาก หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการรับเชื้อ


2. ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือปอดบวม


3. ปฏิบัติตามสุขอนามัยที่ดี รักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ


4. หากท่านมีอาการป่วย เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ปวดตามเมื่อยตามร่างกาย ให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่โรคไปยังผู้อื่น และรีบไปพบแพทย์


5. ปฏิบัติตาม คำแนะนำของรัฐบาลประเทศที่ท่านจะเดินทางไปอย่างเคร่งครัด


35. ประชาชนทั่วไปควรปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง ?





คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป


1. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ


2. ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้อื่น


3. ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด


4. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ดื่มน้ำมากๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ


5. ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานาน โดยไม่จำเป็น


6. ติดตามคำแนะนำอื่นๆ ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด





คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่


1. หากมีอาการป่วยไม่รุนแรง เช่น ไข้ไม่สูง ไม่ซึม และรับประทานอาหารได้ สามารถรักษาตามอาการด้วยตนเองที่บ้านได้ ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล ควรใช้พาราเซตามอลเพื่อลดไข้ (ห้ามใช้ยาแอสไพริน) นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำมากๆ


2. ควรหยุดเรียน หยุดงาน จนกว่าจะหายเป็นปกติ และหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น


3. สวมหน้ากากอนามัยเมื่อจำเป็นต้องอยู่กับผู้อื่น หรือใช้กระดาษทิชชู ผ้าเช็ดหน้า ปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ไอ จาม


4. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ โดยเฉพาะหลังการไอ จาม


5. หากมีอาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก หอบเหนื่อย อาเจียนมาก ซึม ควรรีบไปพบแพทย์


36. หากท่านมีอาการป่วย สามารถรับการรักษาที่ใดบ้าง ?


ผู้ป่วยที่สงสัยว่า อาจติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ สามารถเข้ารับการตรวจรักษา หรือรับคำปรึกษาได้ที่สถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ทุกแห่ง ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีความพร้อมที่จะดูแลรักษาท่านและส่งต่อผู้ป่วยตามระบบหากจำเป็น แต่หากท่านมีอาการป่วยเล็กน้อย อาจขอรับคำแนะนำและรับยาจากเภสัชกร และรักษาตัวที่บ้าน


37. หากชาวต่างชาติในประเทศไทย มีอาการป่วย หรือสงสัยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ จะได้รับการดูแลรักษาอย่างไร ?


ชาวต่างชาติ ที่อยู่ในประเทศไทย รวมทั้งนักท่องเที่ยว ที่เข้ามาในประเทศไทย จะได้รับการดูแลรักษาพยาบาล เช่นเดียวกับประชาชนไทย โดยสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่สถานบริการทางการแพทย์ทุกแห่ง


38. ท่านจะติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ ได้อย่างไรบ้าง ?


- เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข //www.moph.go.th


- เว็บไซต์สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ //beid.ddc.moph.go.th


- เว็บไซต์กรมควบคุมโรค //www.ddc.moph.go.th


- เว็บไซต์กรมการแพทย์ //www.dms.moph.go.th


- เว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ //www.dmsc.moph.go.th


- ศูนย์บริการข้อมูลทางฮ็อตไลน์ ของศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์
0 2590 1994 และ ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์
0 2590 3333 ตลอด 24 ชั่วโมง





คำแนะนำสำหรับสถานศึกษา สถานประกอบการ และสถานที่ทำงาน



39. สถานศึกษา จะมีส่วนช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคได้อย่างไร ?





สถานศึกษา เป็นแหล่งชุมนุมชน ซึ่งสามารถเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นท่านมีส่วนช่วยอย่างมากในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้ ดังนี้


1. แนะนำให้นักเรียนที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ พักรักษาตัวที่บ้านหรือหอพัก หากมีอาการป่วยรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์


2. ตรวจสอบจำนวนนักเรียนที่ขาดเรียนในแต่ละวัน หากพบขาดเรียนผิดปกติ หรือตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปในห้องเรียนเดียวกัน และสงสัยว่าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อสอบสวนและควบคุมโรค


3. แนะนำให้นักเรียนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ เฝ้าสังเกตอาการของตนเองเป็นเวลา 7 วัน ถ้ามีอาการป่วยให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้าน


4. หากสถานศึกษาสามารถให้นักเรียนที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ทุกคนหยุดเรียนได้ ก็จะป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้ดี และไม่จำเป็นต้องปิดสถานศึกษา แต่หากจะพิจารณาปิดสถานศึกษา ควรหารือร่วมกันระหว่างสถานศึกษากับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่


5. ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ สิ่งของ เครื่องใช้ที่มีผู้สัมผัสจำนวนมาก เช่น โต๊ะเรียน ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ราวบันได คอมพิวเตอร์ ฯลฯ โดยการใช้น้ำผงซักฟอกเช็ดทำความสะอาดอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง จัดให้มีอ่างล้างมือ น้ำและสบู่ อย่างเพียงพอ ในบางวันควรเปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และแสงแดดส่องได้ทั่วถึง


40. สถานประกอบการและสถานที่ทำงาน จะมีส่วนช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคได้อย่างไร ?





สถานประกอบการและสถานที่ทำงาน เป็นแหล่งชุมนุมชน ซึ่งสามารถเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นท่านมีส่วนช่วยอย่างมากในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้ ดังนี้


1. แนะนำให้พนักงานที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ พักรักษาตัวที่บ้าน หากมีอาการป่วยรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์


2. ตรวจสอบจำนวนพนักงานที่ขาดงานในแต่ละวัน หากพบขาดงานผิดปกติ หรือตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ในแผนกเดียวกัน และสงสัยว่าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อสอบสวนและควบคุมโรค


3. แนะนำให้พนักงานที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ เฝ้าสังเกตอาการของตนเองเป็นเวลา 7 วัน ถ้ามีอาการป่วยให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้าน


4. ในสถานการณ์ปัจจุบัน ยังไม่แนะนำให้ปิดสถานประกอบการหรือสถานที่ทำงาน เพื่อการป้องกันการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่


5. ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ สิ่งของ เครื่องใช้ ที่มีผู้สัมผัสจำนวนมาก เช่น โต๊ะทำงาน ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ราวบันได คอมพิวเตอร์ ฯลฯ โดยการใช้น้ำผงซักฟอกทั่วไปเช็ดทำความสะอาดอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง จัดให้มีอ่างล้างมือ น้ำและสบู่อย่างเพียงพอ ในบางวันควรเปิดประตู หน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และแสงแดดส่องได้ทั่วถึง


6. ควรจัดทำแผนการประคองกิจการในสถานประกอบการและสถานที่ทำงาน เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง หากเกิดการระบาดใหญ่ (ดูรายละเอียดในเว็บไซต์ของสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค //beid.ddc.moph.go.th)


41. หากต้องการปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ จะติดต่อได้ที่ใด ?


แหล่งข้อมูลการติดต่อ เพื่อปรึกษากับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่


1. กรุงเทพมหานคร ติดต่อได้ที่ กองควบคุมโรค สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 0 2245 8106 , 0 2246 0358 และ 0 2354 1836


2. ต่างจังหวัด ติดต่อได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง


ติดตามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข //www.moph.go.th และหากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 3333 และศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 1994 ตลอด 24 ชั่วโมง


42. หน่วยงานทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนจะต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ ?


หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งภาคเอกชนในประเทศไทยได้มีการเตรียมพร้อมในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่มาได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม แผนการเตรียมความพร้อมที่แท้จริงในเรื่องนี้ จะประกอบไปด้วยแผนเตรียมการเพื่อตอบสนองภายนอกองค์กรรวมกับแผนประคองกิจการภายในองค์กร


แผนเตรียมการเพื่อตอบสนองภายนอกองค์กร เป็นการตอบสนองต่อการระบาดตามบทบาทหน้าที่เพื่อให้การช่วยเหลือผู้อื่น เช่น การป้องกันควบคุมโรคและรักษาพยาบาล การประชาสัมพันธ์ การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ เป็นต้น อนึ่งการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่จะมีผลกระทบสูงและมีช่วงระยะเวลาการระบาดยาวนานประมาณ 3-6 เดือน จึงต้องจัดทำแผนประคองกิจการภายในองค์กร ควบคู่ไปกับแผนเตรียมการเพื่อตอบสนองภายนอกองค์กร เพื่อให้การปฏิบัติงานปกติสามารถดำเนินงานต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง และบุคลากรในองค์กรปลอดภัย ซึ่งควรดำเนินการในทุกระดับตั้งแต่ระดับประเทศ กระทรวง จังหวัด และ พื้นที่


43. การประคองกิจการภายในองค์กรสำหรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ มีแนวทางการจัดทำแผนอย่างไร ?


แนวทางการจัดทำแผนประคองกิจการ ควรมีความครอบคลุมเนื้อหาทั้ง 6 ด้าน คือ


ด้านที่ 1 การรับมือกับผลกระทบของการระบาดใหญ่ ต่อองค์กร


ด้านที่ 2 การรับมือกับผลกระทบของการระบาดใหญ่ ต่อบุคลากรและลูกค้า


ด้านที่ 3 การกำหนดหลักเกณฑ์ที่ต้องดำเนินการในระหว่างเกิดการระบาดใหญ่


ด้านที่ 4 การจัดสรรทรัพยากรเพื่อการป้องกันบุคลากรและลูกค้า ในระหว่างเกิดการระบาดใหญ่


ด้านที่ 5 การติดต่อสื่อสารและการให้ความรู้แก่บุคลากร


ด้านที่ 6 การประสานงานกับหน่วยงานภายนอก และการช่วยเหลือชุมชน


44. หากหน่วยงานต่างๆ ประสงค์จะทำแผนประคองกิจการภายในองค์กร กรณีเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ จะสามารถสืบค้นข้อมูลได้ที่ใด ?


กรมควบคุมโรค ได้จัดทำ คู่มือการเรียนรู้ด้วยตนเอง เรื่องการจัดทำแผนประคองกิจการภายในองค์กร (Business Continuity Plan : BCP) เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ ปี พ.ศ. 2552 และสื่อต่างๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่ อย่างไรก็ตาม ท่านสามารถดาวน์โหลดต้นฉบับคู่มือดังกล่าว ได้จากเว็บไซต์ของสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ //beid.ddc.moph.go.th





คำแนะนำสำหรับเจ้าหน้าที่


45. กระทรวงสาธารณสุขมีคำแนะนำสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต่างๆ หรือไม่ และจะติดตามหรือสืบค้นได้จากที่ใด


กระทรวงสาธารณสุขได้รวบรวมคำแนะนำและแนวทางปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต่างๆ และมีหนังสือแจ้งเวียนผู้เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการเพื่อทราบและถือปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดของโรคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงคำแนะนำและแนวทางต่างๆ อยู่เสมอให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ท่านสามารถติดตามหรือสืบค้นได้จากเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข //www.moph.go.th หรือสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ //beid.ddc.moph.go.th





มาตรการการป้องกันควบคุมโรค


46. กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการดำเนินการป้องกันควบคุมโรคนี้อย่างไรบ้าง ?



มาตรการสำคัญ ได้แก่ การเร่งรัดและเพิ่มระดับความเข้มข้นการเฝ้าระวังโรคกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบรุนแรง การตรวจคัดกรองผู้เดินทางระหว่างประเทศโดยติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิผู้เดินทาง (Infrared Thermo Scanner) ที่สนามบินนานาชาติ การตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ การดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย สำรองเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ และอุปกรณ์อื่นที่จำเป็น รวมถึงการสื่อสารความเสี่ยง การให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ และให้บริการข้อมูลแก่ประชาชนผ่านศูนย์ฮ็อตไลน์ จัดทำข่าวแจก จัดการแถลงข่าว และจัดทำคำแนะนำประชาชนเผยแพร่ทางเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนรวมทั้งนานาชาติ เป็นต้น


โดยในช่วงนี้จะเน้น 3 ด้าน ประการแรกได้แก่ การเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจและไม่ตระหนก แต่สามารถป้องกันตัวเองและผู้ใกล้ชิดได้ ประการที่ 2 ให้โรงพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชน มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยส่วนน้อย ที่อาจมีอาการรุนแรง ประการที่ 3 กระทรวงสาธารณสุขจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกจังหวัดมีการเตรียมความพร้อมการป้องกันควบคุมโรคและการดูแลผู้ป่วยที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยว ให้จัดซ้อมแผนรับมืออย่างต่อเนื่อง


47. ทั่วโลกมีการดำเนินการและตอบสนองต่อการระบาดของโรคอย่างไร ?


การตอบสนองของประเทศต่างๆ ทั่วโลก เป็นไปในลักษณะคล้ายคลึงกัน อาจมีข้อแตกต่างในรายละเอียดและความเข้มข้นของมาตรการตามแต่สถานการณ์การระบาดในประเทศนั้นๆ ซึ่งโดยรวม มีมาตรการดังนี้


-องค์การอนามัยโลกเร่งประสานการผลิตวัคซีนป้องกันโรค ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ H1N1


-ทั่วโลกมีการเตรียมพร้อม/ปฏิบัติตามแผนงานสำหรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่


-หลายประเทศออกประกาศแนะนำหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในประเทศที่เป็นแหล่งโรค และมีมาตรการคัดกรองผู้เดินทางระหว่างประเทศ


-มีการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางเข้าประเทศอย่างใกล้ชิด บางแห่งมีการกักกันผู้เดินทางจากพื้นที่ระบาดไว้ที่โรงแรม


-ประกาศหยุดราชการ/ห้ามการชุมนุม ในพื้นที่ระบาด


-อพยพคนจากพื้นที่ระบาด


-ลดเที่ยวบินไปยังพื้นที่ระบาด


-สำรองยาต้านไวรัส (โอเซลทามิเวียร์) แจกจ่ายยา/อุปกรณ์ป้องกันให้ประชาชน


-จำกัดการนำเข้าสุกร/ผลิตภัณฑ์จากสุกร รวมทั้งบางแห่งทำลายสุกร


48. การที่ไทยเริ่มมีการระบาดภายในประเทศ ถือว่า มาตรการป้องกันควบคุมโรคของไทยไม่สามารถสกัดกั้นเชื้อไม่ให้เข้าประเทศได้ ใช่หรือไม่ ?


ลักษณะการแพร่ระบาดในไทยเป็นไปในลักษณะเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่มีการระบาดอยู่ทั่วโลก กล่าวคือ เริ่มจากการพบผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ ต่อมาเริ่มมีการแพร่ในวงจำกัด และแพร่กระจายเป็นวงกว้าง ซึ่งเป็นไปตามที่ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกคาดการณ์กันไว้ว่า คงจะหลีกเลี่ยงการระบาดใหญ่ได้ยากในยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งมีการเดินทางติดต่อกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว


สำหรับประเทศไทย การตรวจคัดกรองผู้โดยสารขาเข้าช่วยให้ชะลอการแพร่เชื้อเข้ามาในประเทศได้ระยะหนึ่ง แต่ไม่สามารถค้นหาผู้ป่วยที่ติดเชื้อได้ทั้งหมด เนื่องจากระยะฟักตัวของโรคประมาณ 1-3 วันในขณะที่การเดินทางจากพื้นที่ติดโรคจนมาถึงเมืองไทยใช้เวลาน้อยกว่า 6 ชั่วโมง ประกอบกับอาการของโรคไม่รุนแรง ทำให้คนคิดว่าเป็นหวัดธรรมดา หรือไม่อยากเสี่ยงที่จะไปตรวจที่สถานบริการทางการแพทย์เพราะเกรงว่าจะถูกกักตัวและเกิดความเดือดร้อนในเรื่องต่างๆ การดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคในระยะที่ผ่านมา ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2552 ประเทศไทยได้ทำการคัดกรองผู้เดินทางระหว่างประเทศ และยืนหยัดสกัดการแพร่เชื้อในประเทศได้นานกว่า 6 สัปดาห์ ซึ่งนับว่านานกว่าประเทศอื่นๆอีกจำนวนมาก


แต่เมื่อพบการระบาดภายในประเทศและเริ่มมีการขยายวงการระบาดออกไป เราควรตั้งเป้าหมายว่าจะต้องตรวจพบอย่างรวดเร็วและควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงแคบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่หากการระบาดขยายเป็นวงกว้างทั่วประเทศ เป้าหมายก็ควรเป็นการบรรเทาความสูญเสียทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมให้ได้มากที่สุด


49. ไทยจะมีแผนการปรับยุทธศาสตร์และมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่จะเปลี่ยนแปลงไป อย่างไร ?


ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดในประเทศในวงจำกัด เป้าหมายการดำเนินงาน จะ มุ่งควบคุมการระบาดในประเทศให้อยู่ในวงแคบที่สุด โดยสถานการณ์นี้ จะลดความสำคัญของการคัดกรองผู้โดยทางระหว่างประเทศ แต่ให้เน้นหนักเรื่องการค้นหาผู้ป่วยในชุมชน การดูแลรักษาผู้ป่วย การให้สุขศึกษา ประชาสัมพันธ์ เป็นหลัก ทั้งนี้ ควรให้ความสำคัญอย่างมากกับผู้ป่วยที่มีโอกาสแพร่เชื้อให้กับคนหมู่มากได้ เช่น นักเรียน นักท่องเที่ยว ผู้ที่ทำงานในโรงงาน ส่วนกรณีสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดในวงกว้าง ภายในประเทศ การดำเนินงานจะให้ความสำคัญต่อบรรเทาความรุนแรง และลดผลกระทบของการระบาดในประเทศ


50. ประชาชนจะมั่นใจในมาตรการป้องกันควบคุมโรคของไทยได้หรือไม่ เพียงใด ?


ในการดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคนั้น ประเทศไทยได้นำคำแนะนำองค์การอนามัยโลก ซึ่งถือเป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับ มาพิจารณาปรับใช้ตามความเหมาะสมของบริบทในประเทศ เช่นเดียวกับประเทศต่างๆ โดยมีแผนยุทธศาสตร์ป้องกัน แก้ไข และเตรียมความพร้อมรับปัญหาไข้หวัดนกและการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2551-2553) และ แผนปฏิบัติการแม่บทการเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ ปี พ.ศ.2552 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2552 และมีการบริหารจัดการโดยคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ดังนั้น หากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน รวมทั้งประชาชน ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง จึงเชื่อมั่นได้ว่า ประเทศไทย จะสามารถผ่านวิกฤตการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่นี้ไปได้ด้วยดี โดยมีความสูญเสียหรือผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมน้อยที่สุด






ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ข้อมูล ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2552 เวลา 8.00 น.
//www.vibhavadi.com
















Create Date : 21 กรกฎาคม 2552
Last Update : 21 กรกฎาคม 2552 10:12:38 น. 22 comments
Counter : 2099 Pageviews.

 
Photobucket

กลัวเหมือนกันค่ะ แต่ทางนี้ซา ๆ กันไปจนเกือบลืมแล้วค่ะ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะคะ

รักษาสุขภาพนะค๊าคุณกบ


โดย: fleuri วันที่: 21 กรกฎาคม 2552 เวลา:10:45:20 น.  

 
ก็กลัวเหมือนกัน แต่ยังไม่ใส่หน้ากากอนามัยเลย
พยายยามหลีกเลี่ยงผู้คนแออัดมากๆเลยค่ะ กลัวโดนจามใส่น่ะ


โดย: ป้ามด วันที่: 21 กรกฎาคม 2552 เวลา:12:21:05 น.  

 
เว็ปน่ารักจังฮู้..น้องกบ


โดย: รุ่งฤดี วันที่: 21 กรกฎาคม 2552 เวลา:12:38:30 น.  

 
อรุณสวัสดิ์ยามเช้าอีกรอบ ฮิฮิ เมื่อตะกี้ไม่ไปเฉยเลย ขอบคุณมากค่ะกับความรู้ดีดีที่นำมาฝากกัน นอนหลับฝันดีนะค่ะคุณกบ


โดย: Hawaii_Havaii วันที่: 21 กรกฎาคม 2552 เวลา:19:12:09 น.  

 
ตอนนี้ที่จังหวัดอ่างทอง โรงเรียนหลายที่สั่งปิดแล้ว ขอบคุณข้อมุลดีๆนะคะคุณกบ
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...


โดย: เกศสุริยง วันที่: 21 กรกฎาคม 2552 เวลา:23:27:52 น.  

 
สวัสดียามเช้าครับคุณกบ









โดย: กะว่าก๋า วันที่: 22 กรกฎาคม 2552 เวลา:7:34:26 น.  

 
เช้านี้เชียงใหม่เมฆมาก
ผมอดถ่ายภาพสุริยคลาสเลยครับ



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 22 กรกฎาคม 2552 เวลา:8:06:59 น.  

 
ขอบคุณที่แวะเข้าไปเยี่ยมกันนะคะ

ขอบคุณสำหรับคำชมค่ะ

อ้อ..ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ แต่มีปัญหาว่า..ใส่หน้ากากไม่ทนเลย ใส่แล้วรู้สึกหายใจไม่ค่อยออกยังไงไม่รู้แก้ไขยังไงดีคะ


โดย: กระปุกปุยเมฆ วันที่: 22 กรกฎาคม 2552 เวลา:9:04:28 น.  

 




โดย: ป้าตุ้ย (amornsri ) วันที่: 22 กรกฎาคม 2552 เวลา:15:21:04 น.  

 
กรอบโบว์สวยจังค่ะ มีแจกป่าวค๊ะ ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ


โดย: กระปุกสีรุ้ง วันที่: 22 กรกฎาคม 2552 เวลา:19:15:47 น.  

 
ที่กลัวเพราะรู้สึกว่าตัวเองน้ำหนักจะเกินมาตรฐาน ถ้าลองได้ติดแล้ว ท่าทางจะลำบาก เลยพยายามป้องกันไว้ดีกว่าค่ะ

Photobucket


โดย: pinkyrose วันที่: 22 กรกฎาคม 2552 เวลา:21:32:17 น.  

 
Photobucket

มาชวนคุณกบไปกระโดดเต้นด้วยกันค่ะ


โดย: fleuri วันที่: 23 กรกฎาคม 2552 เวลา:4:43:02 น.  

 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...


อรุณสวัสดิ์กับวันพฤหัสบดีค่ะ


โดย: ดอกฝิ่นในสายลมหนาว วันที่: 23 กรกฎาคม 2552 เวลา:7:17:06 น.  

 
สวัสดียามเช้าครับคุณกบ










โดย: กะว่าก๋า วันที่: 23 กรกฎาคม 2552 เวลา:7:48:18 น.  

 
เป็นข้อมูลที่ดีและละเอียดมากๆ เลยครับ ช่วยให้เข้าใจ และดูแลป้องกันตัวเอง และคนรอบข้างได้เป็นอย่างดีเลยครับ


โดย: ถปรร วันที่: 23 กรกฎาคม 2552 เวลา:8:16:48 น.  

 
เชียงให่ครึ้มฟ้าครึ้มฝนมาสองวันแล้วครับคุณกบ
แต่ฝนไม่ตกเลยครับ



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 23 กรกฎาคม 2552 เวลา:8:18:10 น.  

 
อยากมีกล่องคอมเม้นสวยๆน่ารักจังอ่ะ


โดย: รุ่งฤดี วันที่: 23 กรกฎาคม 2552 เวลา:9:35:22 น.  

 

Comment Hi5 Glitter


สวัสดีวันพฤหัสบดี วันที่มีฝนพร่ำใน กทม. จ้า
ได้ความรู้ดีจังเลยนะคะคุณกบ



โดย: หอมกร วันที่: 23 กรกฎาคม 2552 เวลา:10:13:07 น.  

 
สวัสดีค่ะ

ไม่ต้องไปหาหมอเลยนะ แค่แวะมาบล็อคเน้ ก็หายแล้วละค่ะ


โดย: janchay วันที่: 23 กรกฎาคม 2552 เวลา:15:00:45 น.  

 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...
สวัสดียามบ่ายค่ะคุณกบ ขอบคุณที่แวะไปทักทายนะคะ แอบว่างเหมือนกันค่ะเดี๋ยวต้องไปทำงานต่อแล้วมีความสุขมากๆนะคะคุณกบ


โดย: เกศสุริยง วันที่: 23 กรกฎาคม 2552 เวลา:16:15:55 น.  

 
แวะมาเยี่ยมบล๊อกค่ะ รออ่านเกล็ดความรู้ใหม่ๆค่ะ ขอบคุณค่ะที่ไปเยี่ยม


โดย: กระปุกสีรุ้ง วันที่: 23 กรกฎาคม 2552 เวลา:20:24:43 น.  

 
สวัสดีตอนหัวค่ำค่ะ

ทานข้าวให้อร่อยนะคะคุณกบ



โดย: ญามี่ วันที่: 23 กรกฎาคม 2552 เวลา:21:33:21 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

kobnon
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 92 คน [?]




.
สาระน่ารู้ประจำวัน
1.โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด
2. บุหรี่ ทำนมยาน หูตึง
3. Upside down pineapple cake


music
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
21 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kobnon's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.