สวัสดีค่ะ ภาระหน้าที่ทำให้ต้องเดินทางไกลมาถึงบัวโนสไอเรส แต่ยังคิดถึงเพื่อนบล็อกทุกคนนะค่ะ
ความรู้เกี่ยวกับโรคไตวาย

เมื่อพูดถึง โรคไต คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า คือ โรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งหมายถึง การสูญเสียการทำงานของไตไปอย่างถาวร และถ้าเข้าสู่ ระยะสุดท้าย ก็ต้องได้รับการฟอกเลือด หรือเปลี่ยนไต เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ไปได้ จริงๆ แล้ว โรคไต มีอยู่หลายชนิด แต่ก่อนที่เราจะรู้จักโรคไตนั้น ควรทำความรู้จักกับไตก่อน


ไต เป็นอวัยวะรูปร่างคล้ายเม็ดถั่วเหลือง มี 2 ข้างอยู่บริเวณ
บั้นเอว หน้าที่สำคัญของไต คือ


1. ขับถ่ายของเสียที่เกิดจากการแตกตัวของโปรตีนในอาหารออกจาก
ร่างกาย
2. รักษาสมดุลของน้ำ เกลือแร่ กรอและด่างของร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
3. ควบคุมความดันโลหิต
4. สร้างฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงในไขกระดูก


ไต เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบทางเดินปัสสาวะ ส่วนที่ต่อจากท่อไต (URETER) ซึ่งจะนำปัสสาวะเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ เข้าสู่ท่อปัสสาวะ (URETHRA) ในเพศชายจะมีต่อมลูกหมาก อยู่โดยรอบท่อปัสสาวะ


โรคไตและระบบปัสสาวะ แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ คือ


1. โรคที่เกิดจากการอักเสบ ในส่วนของไตที่มีหน้าที่กรอง (โกสเมอรูรัส - GLOMERULUS) หรือเกิดจากภูมิคุ้มกัน ของร่างกาย ไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ได้แก่ กลุ่มอาการเนฟโฟติค (NEPHROTIC) และไตอักเสบ (NEPHRITIS)

2. โรคที่เกิดจากความผิดปกติของไต ที่เป็นท่อเล็กๆ (TUBULE) และเซลล์ที่ผยุงไตให้เป็นรูปร่าง (INTERSTIJIUM) ซึ่งเราเรียกรวมๆ ว่า โรคของ TUBULO INTERSTITIUM โรคที่พบบ่อย คือ การตายของเนื้อเยื่อที่ท่อไต (ACUTETUBULAR NECROSIS) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของ ไตวายเฉียบพลัน

3. โรคติดเชื้อ เช่น โรคติดเชื้อจากบคทีเรีย ของทางเดินปัสสาวะ

4. โรคที่เกิดจากการอุดตันทางเดินปัสสาวะ เช่น ต่อมลูกหมากโต, นิ่ว
เป็นต้น

5. โรคไตที่มีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ เช่น โรคถุงน้ำที่ไต

6. เนื้องอกในไต

7. โรคทางด้านร่างกาย ที่มีแนวโน้มจะทำให้ การทำงานของไตเสื่อมลง เช่น เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง





ภาวะไตวายคือ ภาวะที่มีการสูญเสียการทำงานของไต
แบ่งออกเป็น 2 ชนิด

1. ไตวายเฉียบพลัน โดยช่วงเวลาที่เกิดขึ้นจะเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันทำให้เกิดการคั่งของ ของเสียทำให้เกลือแร่ กรด ด่าง และ การควบคุม ปริมาณน้ำในร่างกายผิดปกติ ถ้าไม่ได้รับการรัดษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยเหล่านี้ส่วนใหญ่ จะมีปริมาณปัสสาวะต่อวันน้อยกว่า 400 ซีซี

สาเหตุของไตวายเฉียบพลัน มีหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจาก
ความผิดปกติของการไหลเวียนโลหิตในร่างกาย เช่น ผู้ป่วยที่ช๊อก
จากการติดเชื้อ, เสียเลือดจำนวนมากหรือขาดน้ำอย่างรุนแรงจาก
ท้องเสีย การใช้คำว่า"เฉียบพลัน" นอกจากบ่งถึง ช่วงเวลาระยะสั้น
ที่เกิดขึ้นแล้ว ยังบ่งถึงความเป็นไปได้ ที่ไตจะกลับสู่ภาวะปกติได้


เมื่อมีไตวายฉับพลันถ้ามีการรักษาที่ถูกต้องไตอาจจะกลับสู่ภาวะปกติในเวลาประมาณ 3 วันในไตวายฉับพลันมีภาวะหนึ่งเรียกว่า Pre renal หมายถึงไตวายจากการที่เลือดไปเลี้ยง ไตลดลง เช่นมีภาวะตกเลือด หรือช็อคและทำให้ความสามารถในการขับของเสีย ลดลงอย่างมาก ผู้ป่วยประเภทนี้จะมีปัสสาวะน้อย แต่เนื่องจากยังไม่มีการทำลายท่อไต


ถ้ารักษาด้วยการให้สารน้ำให้พอและแก้ภาวะเลือดไปเลี้ยงไตลดลงนี้ได้ ไตจะกลับปกติ ในเวลาเพียง 24-72 ชั่วโมงเท่านั้น และจะมีปัสสาวะออกตามปกติ แต่ถ้ารักษาไม่ทันจะมีการทำลายของท่อไตด้วย แม้จะให้สารน้ำก็ไม่ทัน ไม่สามารถเพิ่มปัสสาวะได้ และก็ไม่อาจทำให้ไตปกติได้ในช่วงสั้นแต่ถ้ารักษาได้ดี และไตไม่เสียหายรุนแรง ก็อาจหายปกติได้ในเวลาประมาณ 1สัปดาห์ ถึง 3 เดือน ถ้าเกิน 3 เดือนไปแล้วยังไม่ปกติถือว่ามีภาวะ ไตวายเรื้อรังเกิดขึ้น


สาเหตุของไตวาย


มีภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงที่ไต เช่นผู้ป่วยมีอุบัติเหตุ เสียเลือด ช็อค หรือมีภาวะหัวใจวาย ร่างกายจะมีกลไกลดเลือดไปเลี้ยงที่ไต ทำให้ไตวายได้
ได้ยาหรือสารพิษต่อไต ยาที่พบบ่อยได้แก่ ยาปฏิชิวนะ ยาแก้ข้ออักเสบ โดยทั่วไปการทานยา เป็นเวลานานอาจมีผลต่อไตได้เพราะยาเกือบทั้งหมดจะมีถูกทำลาย ความเป็นพิษที่ตับและขับสารพิษออกทางไต ภาวะความดันโลหิตสูงและเบาหวานที่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม


ภาวะไตอักเสบ อาจจากการติดเชื้อ


ไตอักเสบประเภทมีภูมิต้านทานต่อกลอมเมอรูลัส หรือท่อไตซึ่งอาจเกิดเองหรือเกิดตามหลัง การติดเชื้อในที่อื่นของร่างกายก็ได้ มีการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่ว ในไต ในท่อไต ในกระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต หรือมะเร็งปากมดลูก


การรักษาภาวะไตวายเฉียบพลัน เมื่อเกิดไตวายเฉียบพลันขึ้นแล้วมีขั้นตอนการรักษาดังนี้

1. การรักษาสาเหตุของไตวายเฉียบพลัน
2. การใช้ยาแก้ไขไตวายเฉียบพลัน
3. การรักษาแบบประคับประคองและรักษาโรคแทรกซ้อน
4. การให้สารอาหารในผู้ป่วยไตวายเฉียบพลัน
5. การล้างไต ( dialysis )ในผู้ป่วยไตวายเฉียบพลัน


1. การรักษาสาเหตุของไตวายฉับพลัน

ที่สำคัญคือหาสาเหตุให้พบ และหยุดสาเหตุนั้นเท่าที่ทำได้ เช่นแก้ไขภาวะช็อค หรือหยุดให้ยาที่ทำให้ไตวาย หรือให้ยาแก้ไขการอักเสบ และอาจลองให้สารน้ำรักษาภาวะ Prerenal


2. ให้ยาแก้ไขไตวายเฉียบพลัน

ได้มีความพยายามที่จะนำยาชนิดต่างๆ มาใช้รักษาไตวายเฉียบพลัน
เพื่อให้การทำงานของไตดีขึ้น หรืออย่างน้อยช่วยเพิ่มปริมาณของ
ปัสสาวะ ยาที่นำมาทดลองใช้ในสภาวะไตวายเฉียบพลันมีหลาย
ประเภท แต่ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในกลุ่มของสารกระตุ้นหลอดเลือด (Vasoactive agent) และยาขับปัสสาวะเป็นส่วนใหญ่ ถึงแม้จะมียา
หรือสารเป็นจำนวนมากที่เป็น ที่ยอมรับว่าให้ผลดีกับ ภาวะไตวาย
เฉียบพลันในสัตว์ทดลองแต่ก็ได้ผลเมื่อใช้ ในการป้องกันเป็น
ส่วนใหญ่ มีเพียงยาบางอย่างเท่านั้นที่ให้ผลในการรักษา เมื่อเกิด
ไตวายเฉียบพลันขึ้นแล้ว แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าถึงแม้ยาต่างๆ จะ
ได้ผลดีในสัตว์ทดลอง แต่เมื่อนำมาใช้ในผู้ป่วยแล้ว ผลการรักษา
ยังไม่ได้ ผลดีเท่าที่ควร ดังนั้นการใช้ยารักษาสภาวะไตวาย
เฉียบพลันจึงยังไม่มีการรักษาวิธีใดที่ได้ผลแน่นอน


3. การรักษาแบบประคับประคองและรักษาโรคแทรกซ้อน

หากไตไม่ฟื้นตัวหลังให้การรักษาตามสาเหตุ และแก้ไขภาวะ
prerenalรวมทั้งหากลองใช้ยาตามข้อ 2 แล้ว การรักษาต่อไปก็
คือการรักษาแบบประคับประคองเพื่อป้องกันและรักษาโรคแทรกซ้อน
ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่รอไตฟื้นตัวเพื่อลดความจำเป็นในการทำ dialysis ลง ได้แก่

3.1. การควบคุมปริมาณน้ำเข้าออกร่างกายให้สมดุลย์ ปริมาณน้ำที่ผู้ป่วยควรได้รับในแต่ละวัน ควรเท่ากับจำนวนปัสสาวะรวมกับ
(Insensible loss - water of metabolism = 500-600 มล.ต่อวัน) และ extrarenal loss หากสามารถชั่งน้ำหนักตัวผู้ป่วยได้ ควรให้น้ำหนักตัวผู้ป่วยลดลงประมาณ 0.2-0.3 กิโลกรัมต่อวัน ถ้าน้ำหนักเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นแสดงว่ามีปริมาณน้ำในร่างกายเพิ่มขึ้น

3.2 หลีกเลี่ยงยาที่มีพิษต่อไต

3.3 การใช้ยาต่างๆ ต้องคำนึงถึงขนาดที่ต้องปรับใช้ให้เหมาะสมกับการทำงานของไต ที่ลดลง

3.4 ควรให้ แก้ภาวะความเป็นกรดในเลือด ด้วยการให้ สารด่าง ในกรณีที่เลือดเป็นกรดมาก

3.5 แพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยจะต้องระมัดระวังในป้องกันและรักษาภาวะ
เกลือแร่แปรปรวน เช่นมีโปตัสเซียมสูงในเลือดที่เกิดขึ้นได้บ่อย
โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัสสาวะออกน้อย ควรติดตามระดับโปตัสเซียม
ในซีรั่มเป็นระยะ ในผู้ป่วยที่มีแนวโน้มที่จะมีโปตัสเซียมในซีรั่มสูงควร
งดผลไม้และอาหารที่มีสารนี้สูงระมัดระวังการให้สารน้ำที่มีโปตัสเซียม
ผสมอยู่ หากผู้ป่วยมีระดับโปตัสเซียมในซีรั่มสูงมากหรือมีสภาวะ
แทรกซ้อนทางหัวใจ จำเป็นต้องให้การรักษาอย่างรวดเร็ว เพราะอาจ
เป็นสาเหตุตาย ของผู้ป่วยได้


4. การให้สารอาหารในผู้ป่วยไตวายเฉียบพลัน

ภาวะทุโภชนาการเป็นสิ่งที่พบบ่อยในผู้ป่วยไตวายเฉียบพลัน
สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะทุโภชนาการ อาจเกิดจากโรคที่พบร่วมกับไตวายเฉียบพลัน หรือจากการที่ผู้ป่วยรับประทานอาหาร ได้ไม่เพียงพอ
การเกิดภาวะทุโภชนาการนี้เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งซึ่งมีผลต่อการมีชีวิตรอดและการเกิดโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยไตวายเฉียบพลัน อาทิเช่นทำให้ภูมิต้านทาน ต่อเชื้อโรคลดลง อย่างไรก็ตามการให้การรักษาทางโภชนาการโดยใช้สารอาหาร ชนิดต่างๆในผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันยังเป็นที่ถกเถียงว่าจะช่วยลดอัตราตาย และอัตราการเกิดโรค แทรกซ้อนได้จริงหรือไม่เนื่องจากผลการศึกษาในผู้ป่วยยังไม่ได้ข้อสรุป ที่แน่นอนดังกล่าวแล้ว

ดังนั้นการให้สารอาหารในผู้ป่วยไตวายเฉียบพลัน จึงยังไม่มีเกณฑ์
มาตรฐานที่ใช้กันทั่วไป การรักษาโดยวิธีนี้จึงขึ้นกับแต่ละสถาบัน
และแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน หลักการในการให้สารอาหารในทางปฏิบัติพอสรุปได้ดังนี้


4.1. พลังงาน ผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันควรได้รับพลังงานประมาณ
30-45 kcal/kg ต่อวัน ในผู้ป่วยที่ทางเดินอาหารเป็นปกติควรให้สารอาหารทางปากหรือทางท่อยาง กระเพาะอาหาร เพราะสะดวก ประหยัดและผลข้างเคียงน้อย การให้สารอาหารทางหลอดเลือดควรใช้เฉพาะ เมื่อไม่สามารถให้สารอาหารโดยทาง เดินอาหารได้ในรายที่ต้องให้สารอาหาร ทางหลอดเลือด ในผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันนั้นมักจำเป็นต้องใช้กลูโคสความเข้มข้นสูง 50% ร่วมกับกรดอะมิโนและไขมันบางครั้งจำเป็นต้องให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำใหญ่


4.2. กรดอะมิโนและโปรตีน ให้พิจารณาตามลักษณะของผู้ป่วย
แต่ละราย ผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันที่ยังไม่มีลักษณะทุโภชนาการ
ชัดเจนไม่มีลักษณะที่มี การเผาผลาญอาหารและพลังงานสูง
( hypercatabolic state )คือมีระดับ urea เพิ่มขึ้นไม่เกิน
วันละ 20 มก./ดล. และ creatinine เพิ่มขึ้นไม่เกินวันละ 2 มก/ดล.
ถ้าผู้ป่วยยังไม่ได้ทำการฟอกเลือดและมีภาวะไตวายเฉียบพลันใน
ช่วงแรกไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ ควรให้สารอาหารที่มีโปรตีนต่ำ
คือ 0.6-0.8 กรัม/กก./วัน และให้เป็นโปรตีนชนิดมีคุณค่าทาง
โภชนาการสูง (high biological value protein) คือโปรตีนจาก
เนื้อนมไข่ปลาแต่เนื่องจากนมมีฟอสเฟตสูงด้วยเนื่องจากฟอสเฟต
จะคั่งได้ง่ายในผู้ที่ไตวาย จึงไม่แนะนำให้ทานนมแต่ถ้าผู้ป่วยไตวาย
เฉียบพลัน มีภาวะทุโภชนาชัดเจน และมีลักษณะที่มีการเผาผลาญ
พลังงานสูง หรือกำลังรับการรักษาโดยการล้างไตรวมทั้งในผู้ป่วยไตวายเฉียบพลัน ที่มีระยะการดำเนินโรคมานานกว่า 1-2 สัปดาห์ ควรได้
รับโปรตีนมากขึ้น คือประมาณ 1-1.2 กรัม/กก./วัน และให้เป็นโปรตีน
ชนิดมีคุณค่าทางโภชนาการสูงเช่นกัน


4.3. สารอาหารอื่นๆ ผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันควรได้รับ วิตามิน และเกลือแร่ต่างๆ ยังไม่มีข้อมูลแน่นอนในความจำเป็นของการทดแทนวิตามินในไตวายเฉียบพลัน ส่วนใหญ่จึงใช้สูตรการให้เช่นเดียวกับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง อีเลคโตรไลท์ จะต้องปรับปริมาณการทดแทนตามผลทางห้องปฏิบัติการ เพราะปริมาณที่ต้องการ และการขับของอิเลคโตรไลท์ในผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกัน ดังนั้นจำเป็นต้อง ติดตามผล การตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยใกล้ชิดเพื่อปรับเปลี่ยนปริมาณของอิเลคโตรไลท์ ที่ให้กับผู้ป่วย


5. การล้างไต ( Dialysis ) ในผู้ป่วยไตวายเฉียบพลัน

ปัจจุบันการทำ dialysis ถือเป็นการรักษาแบบมาตรฐานสำหรับผู้ป่วย
ไตวายเฉียบพลันที่รักษา โดยวิธีประคับประคองแล้วไม่ได้ผล
วิธีการรักษานี้ถือเป็นการรักษาที่ช่วยไม่ให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ดังนั้นผู้ป่วย
ซึ่งมีข้อบ่งชี้การทำ dialysis ควรได้รับการรักษาโดยวิธีดังกล่าวทุกราย
ยกเว้นในผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันที่พบร่วมกับโรคมะเร็งหรือโรคเรื้อรังระยะสุดท้าย และผู้ป่วยซึ่งมีข้อห้ามในการฟอกเลือด


ข้อบ่งชี้ของการทำ dialysis ในผู้ป่วยไตวายเฉียบพลัน ได้แก่

-ภาวะโปตัสเซียมในเลือดสูงมาก ซึ่งให้การรักษาด้วยยาไม่ได้ผล

-ภาวะน้ำและโซเดียม เกิน ซึ่งไม่ได้ผลกับยาขับปัสสาวะขนาดสูง
โดยเฉพาะ เมื่อร่วมกับภาวะหัวใจล้มเหลวและน้ำท่วมปอด

-ภาวะยูรีเมีย ได้แก่ อาการทางสมอง อาการทางระบบอาหารเช่นคลื่นไส้ อาเจียน สะอึก และเยื่อบุหัวใจอักเสบ

-ภาวะเลือดเป็นกรดอย่างรุนแรง ซึ่งไม่ได้ผลกับการรักษาโดยไบคาร์บอเนต โดยเฉพาะ ถ้าพบร่วมกับสภาวะน้ำเกินในร่างกาย

ระดับของ urea และ creatinine ในเลือด ซึ่งยังเป็นที่ไม่แน่นอนว่าขนาดไหน จึงสมควรจะเริ่มทำ dialysis ให้แก่ผู้ป่วย หลักการที่แนะนำก็คือ
ในผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะ hypercatabolic (non-catabolic)
ควรทำ dialysis เมื่อระดับ BUN มากกว่า 100 mg/dl หรือ
creatinine มากกว่า 10 mg/dl แต่ถ้าผู้ป่วยอยู่ในภาวะ hypercatabolic
ควรทำ dialysis เมื่อ BUN มากกว่า 70 mg/dl หรือ creatinine
มากกว่า 7 mg/dl






2. ไตวายเรื้อรัง คือการสูญเสียการทำงานของไต ที่เป็นไปอย่างช้าๆ และถาวร ช่วงเวลาอาจตั้งแต่ 1-2 ปี จนถึง 10 ปีขึ้นไป จนในที่สุดเข้าสู่ภาวะสุดท้ายของไตวาย (END STAGE OF RENAL FAILURE) ซึ่งหมายถึง ภาวะที่ต้องการการรักษา แบบทดแทน (เช่น ฟอกเลือด, เปลี่ยนไต) เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้


ไตวายเรื้อรัง หมายถึง ภาวะไตเสื่อมผิดปกตินานติดต่อกันตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป และมักจะดำเนินไปสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในที่สุด ทำให้ร่างกายไม่สามารถขับถ่ายของเสียหรือน้ำที่เกินออกจากร่ายกายได้ ผู้ป่วยจะทุกข์ทรมานจากภาวะมีของเสียคั่งอยู่ในโลหิต และหากไม่ได้รับการรักษา จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างทุกข์ทรมานในเวลาประมาณ 3-4 เดือน สาเหตุสำคัญของไตวายเรื้อรังคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตอักเสบ และนิ่วในไต


การล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง (Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis หรือ CAPD) เป็นวิธีการดูแลรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการยอมรับวิธีหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสามารถทำได้ด้วยตนเอง และในช่วงเวลาที่น้ำยาอยู่ในช่องท้องสามารถทำงานได้ตามปกติ ทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อพบแพทย์บ่อยครั้งเท่ากับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือด ด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis-HD) ต้องเดินทางมารับ บริการฟอกเลือดที่หน่วยบริการที่มีเครื่องไตเทียมและแพทย์โรคไต สัปดาห์ละ 2-3 ครั้งๆ ละ 4-5 ชั่วโมง แต่การล้างไตผ่านทางช่องท้อง ผู้ป่วยสามารถเปลี่ยนน้ำยาเข้าออกจากช่องท้องได้เองที่บ้าน (หลังจากได้รับการฝึกอบรมแล้ว) โดยใช้เวลาปล่อยน้ำยาเข้าออกรอบละ 30 นาที และต้องดำเนินการวันละ 4 รอบ รอบละ 4-6 ชั่วโมง ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์เพียงประมาณเดือนละครั้ง ทำให้ลดค่าใช้จ่ายการเดินทางพึ่งตนเองได้มากกว่าและคุณภาพชีวิตจะดีกว่า นอกจากนี้ต้นทุนการล้างไตผ่านทางช่องท้องจะมีแนวโน้มลดลงได้อีกมาก


สำหรับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตใหม่ (Kidney transplant-KT) ถือว่าเป็นวิธีรักษาผู้ป่วยไตให้มีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงกับคนปกติมากที่สุด เพราะไม่ต้องใช้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือการล้างช่องท้องอีกต่อไป แต่ผู้ป่วยต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันตลอดไปเพื่อป้องกันการต่อต้านอวัยวะ ปัจจุบันระบบการปลูกถ่ายไตในประเทศไทยมีผลงานต่ำ เนื่องจากขาดการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้มีผู้บริจาคไตอย่างเพียงพอ ทั้งที่ศักยภาพในการผ่าตัดปลูกถ่ายไตมีสูงมาก ฉะนั้นแต่ละปีสามารถปลูกถ่ายไตใหม่ได้จำนวนไม่มาก เพียงปีละประมาณ 300 รายเท่านั้น ทั้งที่มีผู้ป่วยรอผ่าตัดหลายพันราย ทำให้ในช่วงเวลาที่ผู้ป่วยรอรับการปลูกถ่ายไตมีความจำเป็นต้องใช้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือการล้างช่องท้องอย่างต่อเนื่อง


ความคุ้มค่าของการดูแลรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายกับคุณภาพชีวิตหากสมมติให้ค่าคุณภาพชีวิตของคนปกติมีค่าเท่ากับ 1.0 จากการศึกษาข้อมูลในต่างประเทศมีรายงานว่า ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการปลูกถ่ายไตใหม่มีคุณภาพชีวิตเท่ากับ 0.77 ผู้ป่วยที่ได้รับการล้างไตช่องท้องอย่างต่อเนื่องมีคุณภาพชีวิตเท่ากับ 0.72 และผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดจะมีคุณภาพชีวิตเท่ากับ 0.68 จะเห็นได้ว่า การล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องให้กับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายส่งผลต่อคุณภาพชีวิตได้ใกล้เคียงกับการได้รับปลูกถ่ายไตใหม่ ซึ่งปัจจุบันค่าน้ำยาล้างช่องท้องมีต้นทุนประมาณถุงละ 100 บาท ในหนึ่งวันผู้ป่วยต้องใช้น้ำยาวันละ 4 ถุง หรือเดือนละ 120 ถุง ทำให้มีค่าใช้จ่ายค่าน้ำยาล้างช่องท้องต่อปีประมาณ 150,000 บาท คาดการณ์ว่าภายใน 3 ปี ถ้ามีการใช้บริการล้างช่องท้องอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก ต้นทุนของน้ำยาต่อถุงจะถูกลงได้กว่าร้อยละ 20 คือ เหลือประมาณไม่เกิน 120,000 บาทต่อปี


สำหรับ ผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายและเป็นผู้ถือบัตรทอง หรือผู้มีสิทธิในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถติดต่อเพื่อเข้ารับบริการทดแทนไตด้วยวิธีการล้างไตทางช่องท้องด้วยน้ำยา (Peritoneal dialysis) ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้นไป แต่เนื่องจากข้อจำกัดของระบบบริการบำบัดทดแทนไตในระยะเริ่มแรก สิทธิการเข้ารับบริการทดแทนไตเป็นไปตามลำดับก่อน-หลัง และเนื่องจากผู้ป่วยไตแต่ละรายอาจมีลักษณะจำเพาะที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถบริการครอบคลุมได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมีคณะกรรมการบำบัดและทดแทนไตระดับเขตพื้นที่เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาให้ความเห็นชอบการให้บริการบำบัดทดแทนไตเป็นรายๆ ไป ผู้สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมทางโทรศัพท์สายด่วน บัตรทอง โทร. 1330


อาการและสัญญาณบอกเหตุ ของผู้ป่วยโรคไต

1. ปัสสาวะเป็นเลือด ซึ่งอาจเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรืออาจมีสีคล้ายน้ำล้างเนื้อ
2. มีโปรตีนหรือไขขาวรั่วออกมาในปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้ปัสสาวะที่ออกมามีฟองมาก และฟองไม่สลายตัวไปง่ายๆ (การมีฟองในปัสสาวะเล็กน้อยถือเป็นเรื่องปกติ)
3. อาการบวมรอบๆ ตาและข้อเท้า
4. อาการปวดหลัง จะปวดบริเวณบั้นเอว บางครั้งก็ร้าวที่ขาหนีบ และลูกอัณฑะ หากความเจ็บปวดเกิดขึ้น เหนือกระดูกหัวเหน่า แสดงว่า มีการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ และถ้าความเจ็บปวดเกิดขึ้น พร้อมกับอาการไข้และหนาวสั่น แสดงว่ามีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะส่วนบน คืแท่อไตและกรวยไต สิ่งที่ต้องคำนึงไว้ คือ อาการปวดหลัง ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับไตเสมอไป เนื่องจจากส่วนหลังของร่างกาย ยังมีกระดูกกล้ามเนื้อ และเส้นประสาท ความเป็นจริงที่พบคือ โรคไตส่วนใหญ่ที่พบ ก็ไม่ได้มีอาการปวดหลัง
5. ปัสสาวะลำบาก สาเตุจากนิ่ว หรือต่อมลูกหมากโต
6. อาการของไตวาย ผู้ป่วยที่ไตวายไม่มากนักจะไม่ปรากฎอาการให้เห็น แต่จะทราบโดยการเจาะเลือด ตรวจดูการทำงานของไต ที่สำคัญ คือ ระดับยูเรียไนโตรเจน (BLOOD UREA NITROGEN - BUN) และระดับเครียตินิน (SERUM CREATININE) เมื่อไตวายเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยมีอาการที่เราเรียกว่า "กลุ่มอาการยูรีเมีย" ซึ่งเกิดจากการที่มีของเสียสะสมในร่างกาย ทำให้เกิดความผิดปกติ ของการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ผิวซีด เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อ่อนเพลีย คันไปทั้งตัว บวมที่ส่วนหน้าและส่วนขา ปัสสาวะบ่อยครั้งในเวลากลางคืน และเกิดหัวใจล้มเหลว


การล้างไต

ที่ใช้อยู่มี 2 วิธี คือ การล้างไตทางหน้าท้อง และการฟอกเลือดโดยใช้เครื่องไตเทียม เนื่องจากการล้างไต เป็นการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก เพราะฉะนั้น กรณีผู้ป่วยยังไม่มีอาการทางยูรีเมีย เช่น ยังรู้สึกสบายดี ไม่เพลีย ไม่คลื่นไส้ สมรรถภาพหัวใจ ยังอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ และไม่มี ภาวะทุโภชนาการ แพทย์จึงดูแลแบบประคับประคองไปก่อน บางครั้งแพทย์ที่ดูแลจะใช้ผลเลือด เป็นเกณฑ์ในการแนะนำ ให้ผู้ป่วยเข้าโปรแกรมล้างไต คือ ค่าซีรัม BUN ควรจะเกิน 100 mg/d หรือค่าซีรัมเครียตินิน ควรเกิน 9 mg/d ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรมีกาอารยูรีเมียร่วมด้วย


ข้อบ่งชี้ที่แน่นอนและชัดเจนของผู้ป่วยที่ควรเริ่มทำการล้างไต

1. ผู้ป่วยที่มีการทำงานของสมองผิดปกติ ซึมลง ไม่ค่อยรู้สึกตัว
2. มีการอักเสบของเยื้อหุ้มปอด และเยื้อหุ้มหัวใจจากยูรีเมีย
3. มีความผิดปกติของเส้นประสาทส่วนปลาย เ่นมีอาการชาตามปลายมือ ปลายเท้า แขนขาอ่อนแรง
4. มีภาวะน้ำเกินหรือหัวใจล้มเหลวบ่อยๆ
5. มีโพแทสเซียมในเลือดสูงบ่อย ๆ และไมาสามารถควบคุมได้ โดยการใช้ยา
6. มีภาวะเป็นกรดในเลือด และไม่สามารถควบคุมโดยการให้ยารักษา






ขอบคุณข้อมูลความรู้จากสำนักงานสาธารณสุข จังหวัดนครปฐม - province.moph.go.th/nakhonpathom
น.ท.นพ.จักรพงศ์ ไพบูลย์ อายุรแพทย์โรคไต
//www.thaiclinic.com


Create Date : 17 กรกฎาคม 2552
Last Update : 18 กรกฎาคม 2552 7:29:09 น. 6 comments
Counter : 7074 Pageviews.

 
ผัดไทยดังไกลไปทั่วโลกเปิดให้เพื่อนๆโหวตได้แล้วนะคะวันนี้ถึงวันที่ ๑๙ก.ค.ค่ะ ขอบคุณมากนะคะ


โดย: ปูขาเก เซมารู วันที่: 17 กรกฎาคม 2552 เวลา:9:50:33 น.  

 
เข้ามาอ่านหาความรู้เท่านั้น
ไม่อยากเป็นคนไข้เสียเองหรอกค่ะ ยิ่งอ่านยิ่งสยอง


โดย: ป้ามด วันที่: 17 กรกฎาคม 2552 เวลา:14:26:18 น.  

 
ผมมีคนรู้จักสองสามคนที่เป็นโรคไต
น่าสงสารมากครับ



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 17 กรกฎาคม 2552 เวลา:14:51:02 น.  

 
คุณกบ สบายดีนะค่ะ 
อยากบอกว่า ขอขอบคุณจากใจค่ะ
ที่แวะมาเยี่ยมทุกวัน อยากให้รู้..ว่าดีใจที่เห็น
ชื่อคุณกบ ที่บล็อกเราค่ะ อย่าโกรธนะคะ
ที่ไม่ค่อยได้เข้ามาเยี่ยม



โดย: pk12th วันที่: 17 กรกฎาคม 2552 เวลา:18:28:50 น.  

 
ขึ้นหัวข้อมาซะน่ากลับจริงๆค่ะ


โดย: praewa cute วันที่: 17 กรกฎาคม 2552 เวลา:20:39:12 น.  

 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...
มาทักทายก่อนเข้านอนค่ะคุณกบ วันนี้ไปประมูลเวลาแสดงของมูลนิธ๕ธันวามาค่ะ เหนื่อยแต่ก็คิดถึงเพื่อนๆ ขอให้มีความสุขมากๆนะคะคุณกบ


โดย: เกศสุริยง วันที่: 18 กรกฎาคม 2552 เวลา:0:09:46 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

kobnon
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 92 คน [?]




.
สาระน่ารู้ประจำวัน
1.โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด
2. บุหรี่ ทำนมยาน หูตึง
3. Upside down pineapple cake


music
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
17 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kobnon's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.