สวัสดีค่ะ ภาระหน้าที่ทำให้ต้องเดินทางไกลมาถึงบัวโนสไอเรส แต่ยังคิดถึงเพื่อนบล็อกทุกคนนะค่ะ
อยากเช็คสุขภาพ.....ทำอย่างไรดี

บทความนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับเพื่อนๆ ทั้งหลายนะค่ะ


- คุณหมอคะ เพื่อนหนูเขาเป็นเนื้องอกมดลูกเพิ่งไปตัดมดลูกมา หนูก็เห็นเขาแข็งแรงดีทำไมถึงเป็นเล่าคะ หนูมีสิทธิเป็นอย่างเขาไหมคะ ถ้าหนูจะเช็คสุขภาพจะรู้ว่าเป็นโรคนี้หรือโรคอื่นไหมคะ

- หนูแต่งงานแล้วเตรียมตัวจะมีน้องคะ อยากทราบว่าควรเช็คสุขภาพก่อนไหมคะ แล้วแฟนหนูต้องตรวจด้วยไหมคะ
- จะต้องเช็คสุขภาพอย่างไรคะ จึงจะมั่นใจว่าไม่เป็นโรคอะไรแน่นอน

ในฐานะที่เป็นหมอรักษาคนไข้มายาวนานพอควร ผมเจอกับคำถามประเภทนี้เป็นประจำและเชื่อว่าก็จะยังคงถูกถามอยู่ต่อไปตราบใดที่ยังคงรักษาคนไข้อยู่ คุณหมอชวนคุยฉบับนี้จึงอยากจะให้ข้อคิดเห็นและข้อแนะนำเกี่ยวกับการตรวจเช็คสุขภาพ เพื่อให้ท่านผู้อ่านนำไปเป็นข้อคิดในการพิจารณาตรวจเช็คร่างกายนะครับ


ทำไมถึงอยากตรวจเช็คสุขภาพ ?

สมัยก่อนคนเราจะไปหาหมอกันซักทีก็ต้องมีเหตุให้ต้องไปหา เช่นเจ็บไข้ได้ป่วยในลักษณะต่างๆ ไอ้ประเภทที่สุขสบายดีแต่เหงาอยากจะไปหาให้หมอตรวจมีไม่มากหรอกครับ บางคนขืนไปบอกคุณหมอว่าสบายดีแต่อยากให้หมอตรวจเช็คสุขภาพให้หน่อย อาจจะถูกหมอมองด้วยสายตาแปลกๆ ในทำนองสงสัยว่าไอ้คนนี้คงประสาทแหงๆ เลย เพราะลำพังแค่คนไข้ที่ไม่สบายหมอก็ตรวจไม่หวาดไม่ไหวอยู่แล้ว

ในปัจจุบันความคิดคนเราเปลี่ยนไปมากทั้งในหมู่ประชาชนและในกลุ่มของหมอเอง พบว่าส่วนมาก เห็นด้วยกับการตรวจเช็คสุขภาพโดยที่ไม่ได้มีโรคภัยไข้เจ็บ และการมาหาหมอเพื่อเช็คสุขภาพก็เป็นเรื่องปกติไปแล้ว
อย่างไรก็ตามเท่าที่สังเกตดู ผมคิดว่าการที่แต่ละคนอยากจะตรวจเช็คสุขภาพไม่ได้มาจากเหตุผลเดียวกันหรอกครับ แต่ละคนต่างก็มีเหตุผลของตัวเอง ซึ่งผมพอจะแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มครับ

- กลุ่มแรกคือพวกที่มีสุขภาพดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอะไรหรอกครับ แต่เนื่องจากรู้มากและกลัวตายมากยิ่งรู้มากยิ่งกลัวตายมาก ทำให้อยากตรวจเช็คสุขภาพ พูดถึงความรู้ที่มี อาจจะมาได้จากหลายแหล่ง เช่นจากนิตยสารทางการแพทย์และสุขภาพ ข่าวสารทางวิทยุ โทรทัศน์ หรือจากโฆษณาทางด้านสุขภาพจากสื่อต่างๆ คนกลุ่มนี้บางทีมาหาหมอแทนที่จะให้หมอตัดสินใจว่าจะตรวจเช็คอะไรให้บ้าง ก็สั่งหมอเสร็จเลยว่าต้องการตรวจโน้นตรวจนี่เยอะแยะไปหมดเพราะเข้าใจเอาตามความรู้ที่มีว่ามันน่าจะมีประโยชน์

- กลุ่มที่สอง พวกนี้ก็มีสุขภาพดีและไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอะไรเช่นกัน คนในกลุ่มนี้ปกติก็ไม่ได้สนใจที่ตรวจเช็คสุขภาพอะไรหรอกครับ แต่เผอิญคนที่ใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นญาติสนิทหรือมิตรสหายเพิ่งตายจากเพราะเป็นโรคร้าย เช่น เป็นมะเร็ง หรือเพื่อนบางคนเมื่อวานยังคุยกันอยู่ดีๆ วันนี้ไปโรงพยาบาลหมอกลับบอกว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกไปซะแล้ว เจอข่าวประเภทนี้เข้าไปหลายคนเลยโรคปอดรับประทาน กล่าวคือปอดแหกกลัวตายต้องรีบแจ้นมาให้หมอเช็คสุขภาพให้ บางคนกลัวน้อยหน่อยหมออยากจะเช็คอะไรก็แล้วแต่คุณหมอจะกรุณาเถอะค่ะ แต่รายที่กลัวมากหน่อยก็อาจจะขอร้องแกมบังคับให้คุณหมอตรวจเช็คสารพัดไปหมด คำขอที่ผมมักได้รับก็เช่น “คุณหมอช่วยตรวจให้ละเอียดหมดทุกอย่างเลยนะคะ” ผมเป็นหมอมานานแล้วก็ยังไม่ค่อยแน่ใจเลยว่าที่จะให้ตรวจละเอียดทุกอย่างจะเอากันแค่ไหนดี ต้องตรวจละเอียดขนาดดูเส้นผมทีละเส้นเลยหรือเปล่าก็ไม่รู้

- กลุ่มที่สาม พวกนี้พบมากที่สุด คือจะต้องมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นจึงไปหาหมอ เช่น รู้สึกผอมลง ปวดศีรษะบ่อยๆ เป็นต้น บางคนถึงมีอาการผิดปกติแต่ยังไม่ยอมมาหาหมอก็มีเหมือนกัน เช่นบางคนปวดท้องมาตั้งนานแล้วแต่ก็ไม่ยอมมาหาหมอ พอถามว่าทำไมถึงทนอยู่ได้ตั้งนานก็ตอบว่ากลัวหมอบอกว่าเป็นโรคร้ายแรงแล้วจะรับไม่ได้ แต่ที่ทนปวดอยู่นั้นรับได้ บางคนก็รีรอไม่มาหาหมอเพราะอายก็มี ผมเจอคนไข้จำนวนไม่น้อยที่มีเลือดออกทางช่องคลอดมานานหลายเดือนจนซีดแหงแก๋ถึงจะมาหาหมอ พอถามว่าทำไมถึงใจเย็นจัง พบว่าส่วนมากอยากมาตรวจเร็วๆกันทั้งนั้นเพราะก็รู้อยู่ว่าเรื่องเลือดตกยางออกน่ากลัวน้อยเสียเมื่อไหร่ แต่ที่กลัวมาก กว่าก็คือถ้ามาตรวจมีหวังถูกหมอจับตรวจภายในแหงเลย มันอายนะคะคุณหมอ แต่เมื่อทนมานานพอควรสงสัยเลือดไม่หยุดแน่แล้ว ความกลัวตายก็จะถูกปลุกขึ้นมาในความคิดจนมากกว่าความอาย และลงท้ายด้วยการมาหาหมอในที่สุด


เช็คสุขภาพ....ตรวจอะไรบ้าง ?

ในการตรวจเช็คสุขภาพของคนเรา เอาเฉพาะทางการแพทย์ไม่รวมทางไสยศาสตร์ก็มีวิธีการตรวจมากมายนับร้อยนับพันวิธีอยู่แล้วยากที่จาระไนได้หมด อย่างไรก็ตามผมขอสรุปวิธีตรวจเช็คสุขภาพออกเป็น 3 ประเภทง่ายๆดังนี้นะครับ

- ตรวจร่างกาย คนที่เรียนเป็นแพทย์ทุกคนจะได้รับการสั่งสอนโดยครูบาอาจารย์ตั้งแต่เริ่มเป็นหมอเด็กๆ แล้วว่า ก่อนจะนำคนไข้ไปตรวจด้วยเครื่องไม้เครื่องมืออะไรที่วุ่นวายต้องเริ่มต้นด้วยการตรวจร่างกายของคนไข้ก่อน การตรวจที่สำคัญประกอบด้วยการตรวจหลักๆเพียงไม่กี่อย่าง ได้แก่ การตรวจโดย “ ดู คลำ เคาะ ฟัง”

คุณหมอที่ตรวจคนไข้มาเป็นเวลานาน บางครั้งแค่ดูรูปร่างลักษณะคนไข้ก็พอจะบอกโรคหรือความผิดปกติได้แล้วก็มี เช่น บางคนที่ดูตัวผอมบาง ซีด หน้าผากโหนก จมูกแบน แค่นี้ก็พอจะบอกได้แล้วว่าเป็นโรคเลือดธาลัสซีเมีย ผู้หญิงบางคนที่ตัวอ้วนๆ ผิวมัน สิวมาก ขนเยอะ พวกนี้มักมีปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติ บางรายพอแต่งงานก็มีลูกยากเพราะไข่ไม่ตก คนไข้บางคนดูเฉยๆบอกไม่ได้ แต่คลำที่คอพบว่าต่อมไทรอยด์โตก็มี บางคนไม่มีอาการอะไร พอตรวจภายในพบว่าเป็นเนื้องอกมดลูกก้อนเบ้อเริ่มเลยก็มี บางคนมาตรวจเพราะแน่นท้อง พอหมอจับให้นอนลง และเคาะที่ท้องพบว่ามีน้ำเต็มท้องก็มี บางคนพอใช้หูฟังฟังที่ปอดพบมีเสียงผิดปกติที่เกิดจากโรคปอดสารพัดชนิดก็มี

การตรวจร่างกายที่ละเอียดลออบางครั้งไม่ต้องตรวจอะไรต่อก็พอบอกได้แล้วว่าคนไข้เป็นโรคอะไร หรือถ้าจำเป็นจะต้องตรวจด้วยเครื่องไม้เครื่องมืออะไรต่อ คุณหมอก็อาจจะเลือกใช้วิธีตรวจบางอย่างเพียงไม่กี่วิธีก็สามารถสรุปได้แล้วว่าคนไข้เป็นโรคอะไร

- ตรวจเลือด การทำงานของระบบต่างๆในร่างกายคนเราไม่ว่าจะเป็น ตับ ไต หัวใจหรืออวัยวะอื่น ๆ จะมีการสร้างสารเคมีชนิดต่างๆ ออกมากันอย่างมากมาย สารเคมีเหล่านี้ส่วนมากจะล่องลอยปะปนกันอยู่ในกระแสเลือดของคนเรานั่นเองแหละครับ เมื่อเราอยากทราบว่าอวัยวะใดของคนเราทำงานผิดปกติไปหรือเปล่าแทนที่จะต้องไปตรวจอวัยวะนั้นๆโดยตรง ก็สามารถตรวจโดยดูปริมาณสารเคมีที่สร้างมาจากอวัยวะนั้นๆแทนได้ เพราะการเจาะเลือดมาตรวจทำง่ายกว่าการตรวจอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต โดยตรง

การเจาะเลือดมาตรวจบางครั้ง ก็บอกได้เลยว่าคนไข้เป็นโรคอะไร แต่บางครั้งเจาะมาแล้วก็ยังบอกไม่ได้แน่ชัดว่าเป็นโรคอะไรเพียงแต่อาจจะบอกแนวโน้มว่าน่าจะเป็นโรคอะไร และคนไข้ต้องรับการตรวจด้วยวิธีที่ยุ่งยากมากขึ้นต่อไป เป็นไงครับแค่อ่านก็เหนื่อยแล้วใช่ไหมครับ

เกี่ยวกับการตรวจเลือดผมมีเรื่องที่อยากให้คุณผู้อ่านเข้าใจซักเล็กน้อยว่าไม่อยากให้จริงจังกับผลที่ได้มามากนักนะครับ เพราะค่าตัวเลขของสารเคมีในเลือดที่เจาะออกมาได้มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา บางคนเจาะเลือดหาค่าสารเคมีตัวเดียวกันแต่คนละเวลากันค่ายังต่างกันได้เลย นอกจากนี้การแปลผลการตรวจเลือดบางครั้งก็ไม่ง่ายเลย ต้องอาศัยการประมวลข้อมูลหลายอย่างทั้งผลการตรวจร่างกายและการดูผลเลือดหลายๆ ตัวรวมกันจึงจะบอกได้ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ คุณผู้อ่านบางคนที่ชอบตรวจเลือดเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์บางครั้งเจอผลผิดปกติก็อาจตกใจเกินกว่าเหตุก็ได้ ผมอยากเรียนว่าการดูผลเลือดแบบทื่อๆเป็นตัวๆไป บางครั้งอาจทำให้เข้าใจผิดได้ครับ

- ตรวจด้วยเครื่องมือหรือวิธีการพิเศษ มีมากมายหลายวิธี เช่น การฉายเอ็กซ์เรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การฉีดสีเข้าไปในหลอดเลือด การส่องกล้องเข้าไปดูในช่องท้อง ในลำไส้ ฯลฯ เป็นต้น

การตรวจด้วยวิธีเหล่านี้มักเป็นการตรวจเพื่อดูที่ตัวอวัยวะต่างๆโดยตรง เพื่อจะดูว่ามีก้อน มีแผล หรือสิ่งผิดปกติอื่นหรือไม่ ฟังดูก็แล้วน่าจะตรวจอวัยวะต่างๆด้วยวิธีนี้ไปซะเลยไม่ดีกว่ามัวไปตรวจเลือดอยู่หรือเปล่า

ขอเรียนว่าการตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษต่างๆ ไม่ใช่ทำกันง่ายๆหรอกครับ ส่วนมากต้องใช้หมอที่เรียนมาโดยเฉพาะสำหรับการตรวจแต่ละอย่าง การตรวจหลายวิธีต้องมีการเจาะท้องเป็นรูเพื่อเอาเครื่องมือส่องเข้าไป คนไข้จึงต้องเจ็บตัว บางวิธีการต้องดมยาสลบถึงจะตรวจได้ นอกจากประเด็นนี้แล้ว เรื่องของค่าใช้จ่ายในการตรวจก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดด้วยเพราะการตรวจบางอย่างค่าใช้จ่ายสูงมาก โรคที่คุณเป็นอาจไม่ทำให้คุณตายแต่ค่าตรวจโรคบางวิธีอาจทำให้คุณตายได้นะครับเพราะแพงมาก


จะเลือกตรวจด้วยวิธีไหนดี ?

จากที่กล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าวิธีการตรวจเช็คสุขภาพมีมากมายสารพัดวิธี ผมคิดว่าการจะใช้วิธีใดในการตรวจควรจะต้องมีการพิจารณาและคัดเลือกอย่างพิถีพิถันพอสมควร เนื่องจากเราคงไม่สามารถนำเลือดมาตรวจหาสารเคมีเป็นร้อยเป็นพันชนิดได้ รวมทั้งคงไม่สามารถนำการตรวจพิเศษวิธีต่างๆมาใช้ได้ทั้งหมด หรือถึงได้ก็ไม่น่าจะคุ้มค่าและอาจทำให้แปลผลผิดก็ได้อีกด้วย

ผมคิดว่าตัวผมเองและคุณหมอท่านอื่นๆก็คงจะคิดคล้ายกันและครับว่า ถ้าจะนำวิธีการตรวจใดมาใช้สำหรับผู้ป่วยแต่ละคน วิธีการตรวจนั้นต้องเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายที่สุด ให้ผลแม่นยำที่สุด ค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ทราบผลเร็วที่สุด และเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยน้อยที่สุดด้วยมีคนไข้จำนวนไม่น้อยที่เชื่อเอาเองว่าต้องตรวจด้วยเครื่องมือบางอย่างเท่านั้นจึงจะเชื่อถือได้ บางคนแค่ปวดศีรษะเพียงเล็กน้อยก็ขอให้หมอตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมองเลยก็มี ทั้งที่บางครั้งแค่ซักประวัติโดยยังไม่ต้องตรวจร่างกายด้วยซ้ำก็บอกโรคได้แล้วก็มี บางคนปวดท้องน้อยเรื้อรังเพราะทำงานหนักและวันนึงๆ ต้องนั่งเป็นเวลานาน แค่ตรวจภายในคุณหมอก็บอกได้แล้วว่าอาการปวดมาจากกล้ามเนื้อหน้าท้องถูกกดจากการนั่งนาน แค่พักผ่อนให้พอก็น่าจะหายหรือดีขึ้น แต่คนไข้บางคนปักใจว่าต้องใช้อัลตราซาวนด์ตรวจถึงจะบอกได้ บางคนมาถึงก็สั่งให้หมอตรวจเลยก็มี ความเชื่อเหล่านี้ส่วนมากฟังมาจาก “เขาบอก” และอิทธิพลของการโฆษณา


โทษของการตรวจเช็คสุขภาพ

การตรวจเช็คสุขภาพมีประโยชน์ทำให้เราประเมินสุขภาพของเราได้ แต่โทษจากการตรวจเช็คสุขภาพก็มีนะครับ อย่างแรกเลยก็คือ เสียสตางค์ บางคนตรวจเช็คสุขภาพทีนึงหมดเงินหลายหมื่นเลยก็มีเพียงเพื่อจะบอกว่าปกติ ทั้งๆที่ตรวจแค่ร่างกายและเจาะเลือดตรวจเล็กน้อยก็บอกได้แล้ว นอกจากเสียเงินแล้ว คนที่พอตรวจแล้วผลปกติก็อาจตกอยู่ในความประมาทเพราะคิดว่าสุขภาพยังดีอยู่ ผมอยากเรียนว่าผลการตรวจที่ปกติวันนี้รับประกันอนาคตไม่ได้หรอกครับ อีกเดือนหนึ่งอาจเป็นโรคร้ายก็ได้ เพราะจนกระทั่งปัจจุบันผมยังไม่เห็นวิธีการตรวจใดรับประกันอนาคตได้เลย ที่บอกได้ก็แค่วันที่ตรวจ และอาจจะตรวจผิดก็ได้


สรุป

การตรวจเช็คสุขภาพเป็นเรื่องดี แต่การจะเลือกตรวจอย่างไร มากน้อยแค่ไหน ควรขึ้นอยู่กับแต่ละคนที่แตกต่างกัน การตรวจเช็คสุขภาพหลายวิธีสิ้นเปลืองและอาจไม่ได้ประโยชน์คุ้มค่า การจะเลือกตรวจเช็คสุขภาพอย่างไรจึงควรจะได้ปรึกษาหารือกับคุณหมอที่ดูแลให้เข้าใจดีเสียก่อนนะครับ

การตรวจเช็คร่างกายประจำปี สำหรับคนสุขภาพดีทั่วไป ที่ควรทำเป็นประจำทุกปี
. ตรวจร่างกายโดยแพทย์
. ตรวจกรุปเลือด (ABO ,Rh) (ตรวจครั้งเดียวเมื่อยังไม่ทราบ)
. ตรวจดูความเข้มข้น ปริมาณ และขนาดของเม็ดเลือดชนิดต่างๆ
. ตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีโรคที่ติดต่อผ่านทางเลือดหรือไม่ เช่น โรคซิฟิลิส โรคเอดส์ โรคตับอักเสบ
. ตรวจเลือดหาระดับสารเคมีต่างๆ เพื่อดูว่าเป็นโรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต โรคเกาส์ หรือไม่
. ตรวจเลือดเพื่อดูระดับไขมันในเลือด
. ตรวจเอกซเรย์ปอด
. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

ถ้าเป็นสตรีที่แต่งงานแล้ว ควรจะตรวจเช่นเดียวกับข้างบน และควรเพิ่มการตรวจดังนี้
. ตรวจมะเร็งปากมดลูก
. ตรวจเอกซเรย์เต้านม (Mammogram)

ถ้าเป็นสตรีวัยทอง ควรจะตรวจเช่นเดียวกับข้างบนและควรเพิ่มการตรวจดังนี้
. ตรวจความหนาแน่นของกระดูก

ถ้าเตรียมตัวจะตั้งครรภ์ ควรจะตรวจเช่นเดียวกับคนที่สุขภาพดีทั่วไป และควรเพิ่มการตรวจดังนี้
. ตรวจเลือดดูความเสี่ยงว่าเป็นโรคเลือดจางธาลัสซีเมียหรือไม่
. ตรวจเลือดดูภูมิคุ้มกันต่อโรคหัดเยอรมัน

วิธีการตรวจทั้งหมดที่ผมเขียนข้างต้นเป็นเพียงแค่ตัวอย่างนะครับ บางคนอาจจะตรวจหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ แล้วแต่การพิจารณาของคุณหมอที่ดูแลครับ สำหรับคนที่มีปัญหาสุขภาพ การจะตรวจเช็คสุขภาพว่าจะตรวจอะไรควรที่จะปรึกษากับคุณหมอที่ดูแลจะดีกว่าครับ เพราะบางคนต้องตรวจบางอย่างเพิ่มเติมจากคนปกติทั่วไป เช่นบางคนต้องตรวจดูปริมาณฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ บางคนต้องส่องกล้องตรวจในช่องท้องเป็นต้น



ขอบคุณข้อมูลจากรศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
//www.si.mahidol.ac.th


Create Date : 20 ตุลาคม 2552
Last Update : 20 ตุลาคม 2552 10:11:46 น. 4 comments
Counter : 1526 Pageviews.

 
ขอบคุณสำหรับความรู้นะคะ


โดย: โยเกิตมะนาว วันที่: 20 ตุลาคม 2552 เวลา:10:21:11 น.  

 
ขอบคุณค่ะ


โดย: ก้าวไปตามใจฝัน วันที่: 20 ตุลาคม 2552 เวลา:14:27:07 น.  

 
เป็นคนกลัวเข็มที่สุดในโลกค่ะ


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 20 ตุลาคม 2552 เวลา:19:49:43 น.  

 
สวัสดียามเช้าครับคุณกบ








โดย: กะว่าก๋า วันที่: 21 ตุลาคม 2552 เวลา:7:54:37 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

kobnon
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 92 คน [?]




.
สาระน่ารู้ประจำวัน
1.โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด
2. บุหรี่ ทำนมยาน หูตึง
3. Upside down pineapple cake


music
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2552
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
20 ตุลาคม 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kobnon's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.