สวัสดีค่ะ ภาระหน้าที่ทำให้ต้องเดินทางไกลมาถึงบัวโนสไอเรส แต่ยังคิดถึงเพื่อนบล็อกทุกคนนะค่ะ

โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด

โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึดไม่ใช่โรคแปลกหรือโรคที่พบยาก แถมยังเกิดขึ้นกับคนวัยหนุ่มสาวที่เป็นความหวังของครอบครัวและสังคม ที่สำคัญหากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรกหรือได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง อาจจะทำให้ร่างกายเกิดความพิการด้วย ดังนั้นอย่าปล่อยให้โรคนี้คุกคามคุณ

โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึดคือ...
     โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด (ankylosing spondylitis : AS) เป็นกลุ่มโรคข้ออักเสบที่มีการอักเสบของกระดูกสันหลัง (spondyloarthropathy) ร่วมกับมีการอักเสบของข้อต่อของแขน ขา เอ็น และระบบอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ตาอักเสบ ลำไส้อักเสบ เป็นต้น โดยลักษณะข้ออักเสบจะเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ ทำให้เจ็บปวดและทรมาน เมื่อเป็นนานๆ จะเกิดการเชื่อมติดกันของกระดูกสันหลังตลอดแนวหลัง ทำให้ก้มหลังหรือแอ่นหลังไม่ได้ ก้มคอหรือแหงนคอไม่ได้ หันคอลำบาก หลังงอ หลังค่อม เสียบุคลิกภาพ ไม่สามารถทำงานหรือทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนคนปกติ ส่งผลกระทบทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และทำให้คุณภาพชีวิตลดลง

สาเหตุ
     สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึดยังมีเป็นที่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม โดยพบอุบัติการณ์สูงขึ้นในผู้ป่วยที่ตรวจพบยีน HLA-B27 ซึ่งได้รับถ่ายทอดจากปู่ ย่า ตา ยาย และพ่อแม่ของตนเอง นอกจากนี้ยังพบว่าเกิดจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ (autoimmune disease) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อ โดยแม้จะหายติดเชื้อแล้ว แต่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง คือทำให้ระบบภูมิคุ้มกันมองว่าเนื้อเยื่อบริเวณข้อหรือเยื่อหุ้มกระดูกสันหลังของตนเองเป็นสิ่งแปลกปลอมจึงมีปฏิกิริยาต่อต้าน ทำให้เกิดการอักเสบและทำลายเนื้อเยื่อบริเวณข้อและเยื่อหุ้มกระดูกสันหลังจนเกิดความพิการขึ้น

อุบัติการณ์และกลุ่มเสี่ยง
     โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึดพบได้มากถึง 1-2 คนต่อประชากร 100 คน และเริ่มเป็นในคนอายุ 15-30 ปี ซึ่งเป็นวัยที่กำลังเรียน กำลังทำงาน การเป็นโรคนี้จึงส่งผลกระทบต่อครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจ พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 2-3 เท่า และผู้ชายจะมีอาการที่รุนแรงมากกว่า แต่ยังไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวกับปัจจัยทางพันธุกรรมหรือฮอร์โมนเพศ นอกจากนี้ยังพบว่าสมาชิกในครอบครัวของผู้เป็นโรคนี้จะมีโอกาสเป็นโรคมากกว่าประชากรทั่วไป

อาการที่ปรากฏ
     สิ่งที่ต้องระวังคือบางครั้งการพบแพทย์ทั่วไปอาจตรวจไม่พบโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึดในระยะแรกๆ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยสูญเสียโอกาสที่จะได้รับการรักษาที่เหมาะสมและอาจจะทำให้เกิดความพิการได้ ดังนั้นหากท่านมีอาการคล้ายๆ อาการดังต่อไปนี้ และยังไม่ได้รับการวินิจฉัย ก็ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อและรูมาติสซั่ม (rheumatologist) เพื่อรับการวินิจฉัยที่แม่นยำ และได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงที
อาการเกี่ยวกับกระดูกสันหลังและข้อต่อกระดูกเชิงกราน จะมีการดำเนินโรคช้าและต่อเนื่องนานนับ 10 ปี บางช่วงโรคจะสงบ บางช่วงก็กำเริบขึ้น โดยระดับความรุนแรงและการดำเนินโรคของผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกัน บางรายมีอาการปวดไม่มาก บางรายปวดทรมาน ซึ่งอาการเด่นๆ ก็ได้แก่ ข้อกระดูกสันหลังอักเสบ (spondylitis) ข้อต่อกระดูกเชิงกรานอักเสบ (sacroiliitis) นอกจากนั้นยังเกิดที่กระดูกสันหลังส่วนอกและส่วนคอได้ด้วย ร่วมกับมีอาการปวดข้อ ข้ออักเสบ และเอ็นอักเสบในบริเวณข้อสะโพก ข้อไหล่ ข้อเข่า ข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า เอ็นร้อยหวาย เอ็นฝ่าเท้า โดยข้อต่อที่อักเสบจะมีอาการทีละข้าง เป็นๆ หายๆ จะมีอาการปวดมากในตอนเช้าหลังตื่นนอน โดยจะรู้สึกปวดตึงหลัง หลังแข็ง ขยับตัวยาก แต่พอขยับตัวไปมาสักพักอาการปวดจะลดลง หรือบางรายอาจจะใช้เวลาเป็นชั่วโมงกว่าจะดีขึ้น ส่วนรายที่มีการอักเสบของเอ็นร้อยหวาย หรือเอ็นฝ่าเท้าจะปวดมากในก้าวแรกๆ ที่ลุกจากที่นอน เมื่อเดินสักพักจึงจะปวดลดลง สำหรับผู้ที่มีนิ้วมือหรือนิ้วเท้าบวมอักเสบ นิ้วที่บวมโตจะมีลักษณะคล้ายไส้กรอก (sausage finger) ส่วนบางรายอาจมีการเชื่อมกันของกระดูกซี่โครงส่งผลให้มีการหายใจลำบาก

      สำหรับในระยะยาว โรคนี้อาจทำลายข้อและเกิดการสร้างกระดูกบริเวณจุดเกาะของเอ็นและกระดูกแกนกลางสันหลัง ทำให้กระดูกติดยึด จำกัดการเคลื่อนไหวของข้อ และหลังจะยึดติดแข็งไปหมด ไม่สามารถก้มหรือหงายหลังได้เต็มที่ เกิดเป็นความพิการที่ไม่สามารถรักษาให้กลับเป็นสภาพเดิมได้

      อาการนอกระบบข้อ เนื่องจากโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึดเป็นโรคหนึ่งที่เกิดจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ จึงทำให้มีอาการกระทบต่อระบบอื่นนอกระบบข้อได้ เช่น อาการทางตา ลำไส้ ปอด หัวใจ เช่น ตาแดง ปวดตา เยื่อบุตาอักเสบ การติดเชื้อในทางเดินอาหาร ปอดอักเสบ หัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจผิดปกติ หรือลิ้นหัวใจรั่ว โดยอาการทางตามักเป็นข้างเดียวมากกว่า และมักเกิดตามหลังอาการทางข้อ ซึ่งผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เพราะอาจทำให้ตาบอดได้

การวินิจฉัย

     แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้โดยการซักประวัติการเจ็บป่วย ประวัติครอบครัว และการตรวจร่างกาย และการตรวจที่ใช้ยืนยันการเป็นโรค ซึ่งประกอบด้วย

      1) ตรวจดูว่ากระดูกสันหลังมีการเคลื่อนไหวเป็นปกติหรือไม่ โดยดูว่าเมื่อให้ก้มหลังเอามือแตะปลายเท้าแล้วเป็นอย่างไร การเอียงตัวไปด้านข้างหรือการแอ่นตัวเป็นอย่างไร หรือประเมินกระดูกสันหลังช่วงคอโดยการให้ยืนหันหลังชิดกำแพง แล้ววัดระยะห่างจากท้ายทอยถึงกำแพง

      2) ตรวจดูการขยายของรอบอก ซึ่งจะพบว่าการวัดรอบอกในขณะหายใจเข้าเต็มที่ลดลง

      3) มีอาการปวดหลังต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 3 เดือน

      4) ตรวจด้วยภาพถ่ายเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือภาพถ่ายคลื่นแม่เหล็ก ซึ่งจะพบการอักเสบของข้อต่อเชิงกราน 1 ข้างหรือทั้ง 2 ข้าง รวมถึงอาจพบว่าความโค้งของกระดูกสันหลังส่วนเอวหายไป หรือกระดูกเชื่อมติดกันตลอดแนวสันหลัง

      5) ตรวจเลือดดูลักษณะทางพันธุกรรมว่ามียีน HLA-B27 หรือไม่ ทั้งนี้ในทางระบาดวิทยาพบว่า ผู้ป่วยโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึดตรวจพบยีน HLA-B27 ได้ผลบวกถึงร้อยละ 90 แต่ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจพบในผู้ป่วยทุกคน

การรักษา
     เป้าหมายในการรักษาคือเพื่อลดความเจ็บปวดและป้องกันความพิการ โดยยาที่รักษาโรคนี้จะมี 3 กลุ่มคือ กลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (nonsteroidal anti-inflammatory drugs : NSAIDs) ได้แก่ naproxen และ indomethacin สำหรับใช้เพื่อลดการเจ็บปวด และลดอักเสบ แต่อาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ หรือความดันโลหิตสูง ยากลุ่มที่สองคือ ยาที่จะปรับเปลี่ยนภูมิคุ้มกันหรือปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค (Disease-Modifying Anti-Rheumatic Drugs : DMARDs) ได้แก่ sulfasalazine และ methotrexate โดย sulfasalazine มีผลข้างเคียงคือปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน หรืออาจกดการสร้างไขกระดูก ส่วน methotrexate อาจกดการสร้างไขกระดูก เป็นพิษต่อตับ หรือเป็นแผลในกระเพาะอาหาร สำหรับกลุ่มที่สามคือ ยากลุ่มสารชีวภาพ (biologic agent) เป็นยากลุ่มใหม่ที่อาจช่วยให้โรคสงบได้ ซึ่งจะใช้เมื่อผู้ป่วยตอบสนองต่อยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคไม่ดี ได้แก่ กลุ่มยาต้านสาร TNF (anti-tumour necrosis factor : anti-TNF) ยาตัวนี้จะลดปริมาณ TNF ซึ่งเป็นโปรตีนในร่างกายที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบที่สร้างขึ้นจากภาวะภูมิต้านทานของผู้เป็นโรค ยากลุ่มนี้เป็นยาฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนังที่มีประสิทธิภาพสูงมาก ออกฤทธิ์เร็ว แต่มีราคาแพงมาก ได้แก่ Enbrel, Remicade, Umira และ Simponi อาการข้างเคียงคือ อาจเกิดอาการผื่นแดง บวม หรือคัน ซึ่งจะหายไปใน 3-5 วัน หากไม่หายหรือเป็นมากขึ้นควรปรึกษาแพทย์
นอกจากการรักษาทางยาแล้ว ในผู้ป่วยที่มีความพิการ แพทย์อาจพิจารณาถึงความจำเป็นในการรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดใส่ข้อสะโพกเทียม ข้อเข่าเทียม หรือผ่าตัดกระดูกสันหลังเพื่อแก้ไขอาการหลังโก่ง

กายภาพบำบัดและการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย
     การดูแลทางกายภาพบำบัด เป็นการรักษาที่มีความสำคัญมากและควรทำควบคู่ไปกับการรักษาของแพทย์ โดยนักกายภาพบำบัดจะดูแลตามระยะของโรค เช่น ขณะที่ข้อต่ออักเสบจะต้องพัก เพราะหากเคลื่อนไหวจะมีอาการมากขึ้น หรืออาจใช้การประคบร้อนเพื่อลดอาการตึง ใช้การประคบเย็นเมื่อมีบวมเฉพาะที่ และจะเน้นสอนการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องร่วมกับการออกกำลังกาย เพื่อทำให้ร่างกายมีท่าทางที่ดีขึ้น กล้ามเนื้อและข้อต่อมีความแข็งแรงและยืดหยุ่นดีขึ้น มีการใช้ข้ออย่างถูกวิธี ลดความเจ็บปวด สามารถทำกิจวัตรประจำวัน และมีคุณภาพชีวิตดีเหมือนคนปกติ

      การปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ผู้ที่เป็นโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึดต้องเข้าใจว่า ภาวะโรคจะทำให้ข้อสันหลัง ข้อสะโพก และข้อเชิงกรานติดแข็ง ทำให้ร่างกายอยู่ในท่าหลังงอ ศีรษะยื่นไปข้างหน้า ข้อสะโพกงอ และหายใจสั้นลงเนื่องจากข้อต่อบริเวณทรวงอกติดแข็ง ทำให้ทรวงอกขยายยากขึ้น ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงและฝืนท่าทางเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน เพื่อลดความพิการที่จะเกิดขึ้น รวมถึงควรปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น แนะนำให้ใช้โต๊ะเขียนแบบ (drafting table) แทนการใช้โต๊ะทำงานทั่วไป เพื่อหลีกเลี่ยงการก้มศีรษะและลำตัวมากเกินไป ขณะทำงานควรพักและเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ เพื่อให้ข้อต่อได้เคลื่อนไหว ควรพยายามให้หลังตรงอยู่เสมอ เช่น ควรนั่งพิงพนักหลังตรง ควรยืนหรือเดินให้หลังตรง ควรนอนบนที่นอนที่แน่นไม่ยวบยาบ เพื่อป้องกันไม่ให้หลังงอมากขึ้น ไม่ควรนอนบนหมอนที่สูงเกินไป เพราะหมอนสูงส่งผลให้คอก้มมากเกินไป ไม่ควรมีหมอนหนุนใต้เข่า เพราะจะทำให้กล้ามเนื้องอสะโพกสั้นมากขึ้นและข้อสะโพกงอแข็งมากขึ้น ไม่ควรนั่งเก้าอี้เตี้ย ไม่ควรนั่งเก้าอี้นุ่มเกินไป รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงที่จะนอนอยู่แต่บนเตียงหรือนั่งนานๆ
จะเห็นว่าผู้ที่เป็นโรคนี้ต้องมีความอดทนและมีวินัยมาก เพราะการปฏิบัติตัวดังกล่าวต้องฝืนกับโรคของตนเอง แต่หากไม่มีวินัย ร่างกายและท่าทางจะถูกปรับไปอยู่ในท่าที่ติดแข็งมากขึ้น เนื่องจากในแต่ละวันร่างกายจะถูกใช้ไปกับการนั่งหรือนอนไม่น้อยกว่า 16-20 ชั่วโมงต่อวัน

      ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะช่วยเพิ่มสมรรถภาพการทำงานของร่างกายและลดความพิการของข้อและกระดูกสันหลัง แต่ควรบริหารร่างกายแบบไม่หนักเกินไป และควรทำสม่ำเสมอ โดยเน้นการบริหารร่างกายให้เกิดความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (ถึงแม้ว่าขณะบริหารร่างกายจะมีอาการปวดบ้างก็ต้องอดทน) เพื่อทำให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้ดี ลดปัญหาข้อติด เพื่อให้สามารถควบคุมท่าทางร่างกายได้ถูกต้องและเหมาะสมขึ้น ได้แก่ การเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของเอ็นร้อยหวาย กล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อก้น กล้ามเนื้อหลัง นอกจากนี้ยังต้องฝึกการหายใจเข้าลึกร่วมกับการเคลื่อนไหวแขน เพื่อให้ทรวงอกและปอดมีการขยายตัว (เพราะภาวะโรคทำให้ข้อต่อบริเวณทรวงอกติดแข็งด้วย) การบริหารร่างกายที่ดีที่สุดอีกอย่างคือการว่ายน้ำ หรือการบริหารร่างกายในน้ำ (Hydrotherapy/Pool therapy) เพราะน้ำจะช่วยยกพยุงข้อต่อที่เจ็บปวด หรือเพิ่มแรงต้านซึ่งจะทำให้ส่วนที่บริหารแข็งแรงขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของโรค
     บางรายอาจมีกระดูกสันหลังหักเมื่อได้รับการกระแทกจากอุบัติเหตุ เพราะแม้กระดูกสันหลังจะติดแข็ง แต่ก็จะเปราะขึ้นด้วย ซึ่งหากกระดูกสันหลังหักอาจเกิดอันตรายต่อไขสันหลังจนเป็นอัมพาต นอกจากนี้อาจพบภาวะแทรกซ้อนที่อวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ปอดอักเสบเป็นพังผืด แต่ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญที่สุดคงเป็นปัญหาทางด้านจิตใจ เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลต่อการทำงานและการทำกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยที่ยังอยู่ในวัยทำงาน

     คงต้องขอย้ำอีกครั้งว่า ผู้ที่มีอาการแสดงของโรคไม่ชัดเจนหรือยังไม่ได้รับการวินิจฉัย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อและรูมาติสซั่ม เพราะหากได้รับการรักษาช้าไป นอกจากจะเจ็บปวดทรมานเป็นเวลานานแล้วยังอาจเกิดความพิการขึ้น เพราะข้อต่อถูกทำลายถาวร นอกจากนี้ยังควรได้รับการดูแลทางกายภาพบำบัด ออกกำลังกาย และปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องด้วย

   
   

ข้อมูลจาก

//www.healthtoday.net/thailand/disease/diisease_138.html




 

Create Date : 17 มกราคม 2556
1 comments
Last Update : 17 มกราคม 2556 20:21:50 น.
Counter : 4902 Pageviews.

 

https://hellokhunmor.com/สุขภาพชีวิตที่ดี/โภชนาการ/โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด-อาหาร/.

บทความเกี่ยวกับเรื่องของ โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด กับ อาหารเหล่านี้ที่สามารถบรรเทาอาการได้ค่ะ ลองมาอ่านเพิ่มเติมกันได้นะคะ

 

โดย: สมาชิกหมายเลข 4984277 17 เมษายน 2562 14:46:05 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


kobnon
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 92 คน [?]




.
สาระน่ารู้ประจำวัน
1.โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด
2. บุหรี่ ทำนมยาน หูตึง
3. Upside down pineapple cake


music
Group Blog
 
<<
มกราคม 2556
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
17 มกราคม 2556
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kobnon's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.