จงให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่าสิ่งที่ถูกใจ
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2553
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
8 พฤษภาคม 2553
 
All Blogs
 
เงื่อนไขการปฎิวัติ (ตอนที่ 12)

โดย พ.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ

ตอนที่ 12

บทที่ ๕ – การปฏิวัติที่รอคอย

ข้อเขียนเรื่องนี้ของผมผ่านสายตาท่านผู้อ่านไปแล้วอย่างไม่มีอะไรมาตอแยถึงสี่ตอน

ก่อนอื่น ผมต้องขอออกตัวเสียก่อนว่า ข้อเขียนของผมที่เกี่ยวพันกับเรื่องนี้นั้น เป็นข้อเขียนที่เขียนออกมาจากความทรงจำ ไม่ได้บันทึกความทรงจำอะไรไว้ ฉะนั้น หากมีอะไรที่ผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องเหตุการณ์ก็ดี หรือเรื่องวันเวลาก็ดี หรืออะไรอื่นก็ดี ขอให้ท่านผู้รู้ได้โปรดให้คำตักเตือนแก้ไขตามสมควรแก่กรณีด้วย เพื่อเป็นวิทยาทานแกผมผู้เขียนและท่านผู้อ่านที่ได้กรุณาติดตามเรื่องนี้ ให้ได้รับความรู้ที่ถูกต้อง เพราะข้อเขียนนี้จะเรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์ก็ยังได้ อนุชนรุ่นหลังจะได้รับรู้ไว้เป็นบทเรียน

แต่ว่า ไม่ใช่บทเรียนเพื่อคิดปฏิวัติให้แนบเนียนกว่าคณะที่ทำการไม่สำเร็จนะครับ !

อย่างไรก็ตาม ข้อเขียนของผมทั้งที่แล้ว ๆ มา และที่กำลังเขียนอยู่ และจะเขียนต่อไป ผมก็ตั้งใจที่จะเขียนให้ตรงกับความเป็นจริงที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องที่ผมได้รับรู้และอยู่ในเหตุการณ์ด้วยตนเอง ตั้งแต่หลังจากปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ เป็นต้นมา เพราะว่าปีนั้นเป็นปีที่ผมสำเร็จการศึกษาออกมาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกสด ๆ ติดดาวร้อยตำรวจตรีบนบ่า และได้รับพระราชทานยศสัญญาบัตร เป็นร้อยตำรวจตรี แล้วก็โดนพลักออกมาจากสถาบันนั้นให้มารับใช้ชาติบ้านเมืองเสียที หลังจากที่ได้กิน ได้นอน ได้เรียน โดยไม่เสียเงินมาครบสามปีเต็ม ๆ

ที่นี่เป็นสถาบันแห่งหนึ่งที่เรียนจบออกมาแล้วไม่ต้องเตะฝุ่นหางานอย่างสถาบันอื่น ๆ อีกหลาย ๆ แห่ง เขามีงานรอไว้ให้คุณสู้กับมันเรียบร้อยแล้ว จะชอบหรือไม่ชอบก็ต้องยอมรับ ก็งานที่เอาอกรับกระสุนทั้งในและนอกประเทศแหละครับ เพื่อปกป้องทุกสถาบันอันประกอบกันเป็นประเทศไทย

ประเทศซึ่งทั้งคุณและผมต้องช่วยกันปกปักรักษาไว้ด้วยชีวิตและเลือดเนื้อ นอกเสียจากคุณจะไม่ใช่บุคคลที่เรียกกันเต็มปากว่า “ คนไทย ”

ตอนที่แล้ว ผมเขียนมาถึงตอนที่รัฐบาลของคณะเสรีไทยโดนปฏิวัติโดยคณะทหารคณะหนึ่งลงไปง่าย ๆ ด้วยกำลังเพียงกองพันเดียว และรถถังไม่กี่คัน และมีท่านผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น ออกมาดูการปฏิวัติรัฐประหารครั้งนั้นอย่างไม่ใยดีที่จะแก้ไขหรือต่อต้านยับยั้ง

ท่านผู้บัญชาการทหารบกท่านนั้นยังเป็นเพื่อนร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัยปี ๒๔๗๕ และเป็นผู้ร่วมขบวนการเสรีไทยกับท่านผู้มีอำนาจในการปกครองสมัยนั้นเสียด้วย และเป็นท่านผู้บัญชาการทหารบกที่ท่านนายกหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นมือขวาของท่านปรีดี ให้ความไว้วางใจถึงกับประกาศท้าว่า นั่งรอ นอนรอ การปฏิวัติอยู่ ใครจะทำก็เชิญ แสดงว่ามีความมั่นใจในตัวเพื่อนรักที่คุมกำลังฝ่ายทหารบกไว้คนเดียวอย่างมาก

แต่เงื่อนไขที่รัฐบาลสร้างเอาไว้ในขณะนั้นมันเป็นเงื่อนไขที่เลวร้ายจริง ๆ ที่ประชาชนทั่วไปยอมรับไม่ได้ ก็อย่างที่ผมได้เขียนไว้แล้วว่า เมื่อเกิดอำนาจขึ้นด้วยการได้ช่วยเหลือประเทศชาติไว้ในยามคับขันในสงครามที่ประเทศไทยต้องจำใจเข้าไปร่วมด้วยครั้งนั้น ให้หลุดพ้นจากวิกฤติกาล หลุดพ้นจากการยึดครองของฝ่ายชนะสงครามมาได้ ประชาชนก็ยอมรับในขั้นต้น แต่พอได้อำนาจในการปกครองเต็มที่ ต่างก็ช่วยกันโกงกินและก่อความหายนะให้กับวงการทั่ว ๆ ไป โดยมุ่งหวังแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างเดียว ก็เท่ากับเป็นการสร้างเงื่อนไขขึ้นมาโดยความลุ่มหลงตัวเอง ไม่ได้คิดถึงความอดอยากของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นสมัยที่มือใครยาวสาวได้สาวเอาจริง ๆ

ผมเองก็ตกอยู่ในเหตุการณ์นั้นเต็มตัว เพราะต้องรับใช้คณะเสรีไทยกับเขาด้วย ในฐานะที่เคยร่วมงานเสรีไทยมาด้วยกัน ในชั้นบุคคลสำคัญของคณะคนหนึ่ง ได้รับความไว้วางใจให้คุมตำแหน่งสำคัญกับเขาด้วยผมเป็นสารวัตรด้วยยศเพียงร้อยตำรวจโท เป็นการตอบแทนหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่สมัยนั้น คนที่ได้เป็นสารวัตรในยศร้อยตำรวจโทมีผมคนเดียว

สถานีตำรวจแรกที่ผมได้ไปนั่งในตำแหน่งสารวัตร ด้วยยศร้อยตำรวจโทนั้น ก็คือสถานีตำรวจนครบาภาษีเจริญ ซึ่งขณะนั้นเป็นสถานีตำรวจนครบาลชั้นนอก ยังไม่มีอำนาจจากการสอบสวน ยังไม่มีถนนหนทางไปมาถึงที่อย่างทุกวันนี้ จะไปรับหน้าที่ก็ต้องนั่งรถไปบางแค แล้วนั่งเรือข้ามฟากไปขึ้นที่สถานีอีกที

ผมไปนั่งตบยุงอยู่ที่นั่นได้สามเดือนก็ได้ย้ายกลับมาฝั่งพระนคร ทีนี้มาเป็นสารวัตรที่ต้องทำงานยิ่งใหญ่เลยทีเดียว คือมาเป็นสารวัตรแผนก ๑ กองกำกับการ ๑ ตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งสมัยนั้นเป็นแค่กองบังคับการ

ที่ได้มาอยู่ที่นี่ก็เพราะนายตำรวจรุ่นพี่ของผมคนหนึ่งชื่อว่า ร้อยตำรวจเอก เชื้อ สุวรรณศร จะต้องไปเป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีมหาดไทย เขาเลือกเอาผมไปเป็นสารวัตรที่นี่แทนเขา ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งใหญ่ งานมันก็ต้องใหญ่ มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีประทุษร้ายถึงตายทั่วประเทศ เรียกว่ามีอำนาจที่จะไปปราบปรามได้ทั่วประเทศ ในคดีที่มีการฆ่ากันตาย ไม่ว่าที่ไหน

ผมอยู่ที่นี่ได้เพียงปีกว่าก็ผ่าไปปีนเกลียวกับนายโดยตรงเข้าให้ที่นั่น อย่าให้ผมออกชื่อเลยว่านายคนนั้นเป็นใคร เอาเป็นว่า เขาเป็นพันตำรวจเอก แต่ผมแค่ร้อยตำรวจเอกหมาด ๆ เพราะผมมาจากภาษีเจริญด้วยยศร้อยตำรวจโท มาได้สามดาวเอาที่นี่ พอได้สาวดาวไม่กี่เดือนก็มีเรื่องกับนาย ต้องย้ายข้ามไปอยู่ตึกสันติบาลซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน อันเป็นที่ตั้งของกรมตำรวจขณะนี้ ตำแหน่งก็ไม่มี เป็นแค่ประจำกองกำกับการ ๒ ของที่นั่น มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนเรื่องการเมืองอย่างเดียว

แล้วผมก็โดนยัดจมูกด้วยกลิ่นปฏิวัติโดยญาติผู้ใหญ่ของผมอย่างที่เล่ามาแล้ว แล้วก็โดนชวนให่ร่วมงานด้วย ไม่ต้องไปดมกลิ่นสอบสวนที่ไหน

การรัฐประหารครั้งนั้นในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ เป็นการปฏิวัติที่ง่ายดาย เพราะเงื่อนไขที่รัฐบาลสร้างเอาไว้ฆ่าตัวเองจริง ๆ

คณะผู้ก่อการรัฐประหารประกอบด้วยนายทหารนอกราชการหลายคนจะมีที่คุมกำลังก็ไม่กี่หน่วย มิหนำซ้ำยังมีหน่วยของ ร. พัน ๓ พากันไปจับท่านปรีดี ด้วยอาวุธปืนที่ไม่มีลูกเลื่อนทั้งคันรถ ก็ยังสำเร็จ ประชาชนส่วนใหญ่ทั่วประเทศยอมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น

ผมนอนฟังผลการรัฐประหารครั้งนั้นอยู่ที่บ้าน เมื่อพรรคพวกที่ว่ากันว่าจะต่อต้านต่างก็หายตัวกันไปหมด ไปที่ที่รวมพลก็ไม่พบใคร ผมก็กลับไปนอนบ้าน ตื่นเช้าไปทำงาน ที่ทำงานที่กอง ๒ ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก นอกจากมีนายตำรวจรุ่นพี่ของผมคนหนึ่งหายไป หอบข้าวของอาวุธหลบไปไหนก็ไม่รู้เพียงคนเดียว นายตำรวจผู้นั้นเป็นสารวัตรแผนก ๑ ของกอง ๒ ไม่รู้ว่าหนีไปไหน และหนีทำไม

ผมทำงานของผมไปตามปกติ ผู้กำกับของผมชื่อ พันตำรวจตรี ประจวบ กีรติบุตร ยังนั่งสั่งงานอยู่เหมือนเดิม ไม่หนีไปไหน

ผู้กำกับคนนี้ผมรักของผมมาก ที่รักก็เพราะเป็นผู้กำกับ ฯ คนเดียวที่แบมือรับผมเอาไว้ตอนที่ผมโดนท่านผู้บังคับการสอบสวนกลางที่ผมไปขัดทางเดินของท่านเอาไว้ครั้งนั้น ท่านขอย้ายผมจากตำแหน่งสารวัตรผู้มีอำนาจสอบสวนสืบสวนทั่วประเทศ ให้ไปเป็นสารวัตรสถานีตำรวจคันนายาว สถานีตำรวจนครบาลชั้นนอกที่ไม่ต้องยุ่งกับการสอบสวนอีกสถานีหนึ่ง

ครั้งนั้น ท่านอธิบดีกรมตำรวจคือ ท่านพลเรือตรี หลวงสังวรณ์ยุทธกิจ ท่านเข้ามารักษาการในตำแหน่งอธิบดีชั่วคราว ท่านเรียกผมไปพบ บอกให้ผมทราบว่า ผู้บังคับการของผมขอให้ย้ายผมไปให้ไกลหูไกลตา ไปอยู่ที่คันนายาวนั่นแหละดี สมกับความสามารถของผมที่คอยขัดลำดีนัก

ท่านผู้รักษาการอธิบดีกรมตำรวจท่านถามผมว่า ผมไปมีเรื่องอะไรกับเขา ผมมันดีไม่ใช่คนชอบฟ้องนาย ผมก็ว่าผมไม่มีอะไรกับท่านผู้ว่าการ ฯ แต่ท่านผู้ว่าการ ฯ จะมีอะไรกับผม ผมไม่ทราบ ท่านอธิบดีจะย้ายผมไปไหนผมก็ต้องรับคำสั่ง ผมอยู่ได้ผมก็อยู่ อยู่ไม่ได้ผมก็ลาออก ผมเรียนท่านอธิบดีแค่นี้ก็ไม่ได้พูดอะไรอีก ท่านตบไหล่ผม ไม่พูดอะไรเหมือนกัน

แล้วผมก็โดยย้ายข้ามฟากมาอยู่กับท่านผู้กำกับการ ฯ ประจวบ กีรติบุตร ที่กอง ๒ นี้ ผมมารู้ทีหลังว่า ท่านอธิบดีเที่ยวจะเอาผมไปลงที่ไหน ๆ ก็ไม่มีใครเขารับผม เขาว่าผมเป็นคนที่ปกครองยาก ผมก็ไม่รู้ตัวเองว่าปกครองยากแค่ไหน ลงท้ายท่านพูดกับผู้กำกับ ฯ ประจวบว่า จะเอาตัวผมไว้ไหม ท่านผู้กำกับ ฯ ประจวบ ตอบทันทีว่า

“ เอาซิครับ ”

เป็นผู้กำกับ ฯ คนเดียวที่ยอมรับผมไว้โดยไม่ต้องคิด ผมจะไม่รักท่านได้ยังไง วันเกิดรัฐประหาร ท่านก็นั่งทำงานเฉย ไม่ตื่นเต้นอะไร แล้วท่านก็อยู่ของท่านสบายดี ไม่มีใครไปตอแย

ผมอยู่ที่สันติบาลกอง ๒ นี่ไม่ค่อยจะมีงานทำเท่าไหร่ เพราะเป็นเพียงประจำกอง ไม่มีตำแหน่ง ผมก็ได้แต่นั่ง ๆ นอน ๆ เล่นของผมสบาย ๆ

ฝ่ายรัฐประหารก็ไม่ได้มาชวนอะไรผมอีก หัวหน้ารัฐประหารตอนนั้นชื่อ พลโท ผิน ชุณหวัน ประกาศชื่อออกมาทางวิทยุ ไม่มีใครรู้จัก แต่ทุกคนก็ยอมรับ ตอนนั้นใครก็ได้ ขอให้มาขับไล่รัฐบาลขณะนั้นออก ๆ ไปเสียที รำคาญกันทั้งนั้น

ท่านพลเอก หลวงอดุลย์ ฯ ยังคงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกอยู่อย่างเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมาก คณะรัฐประหารน่าที่จะปลดออกจากตำแหน่ง แต่ก็ไม่ทำ อาจจะเป็นเพราะมีความเกรงใจก็ได้ นอกจากนั้น ท่านยังปล่อยให้ผู้พัน ละม้าย ไปจับท่านปรีดี ฯ ทั้ง ๆ ที่สกัดไว้แล้ว เพียงแต่ปลดลูกเลื่อนปืนทั้งคันรถออกเท่านั้น แล้วปล่อยให้ไปได้ ก็อาจเชื่อว่าไม่มีการยิงกันแน่

ผมถึงว่าไว้ว่า ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกนี่เป็นตำแหน่งสำคัญที่ทิ้งไม่ได้ แต่ที่คณะรัฐประหารทิ้งเอาไว้ก่อนก็เพราะยังไม่อยากหักพร้าด้วยเข่า ฝ่ายตัวเองก็มีกำลังไม่เท่าไหร่ พวกที่หันมาเข้าด้วยนั่นก็เพราะเห็นว่าทำได้สำเร็จแล้ว ปล่อยให้ท่านผู้บัญชาการตาดุอยู่ ๆ ไปก่อน รักษาน้ำใจเอาไว้

นายกรัฐมนตรีที่คณะรัฐประหารไปเชิญมารับตำแหน่ง เพราะยังไม่อยากทำอะไรให้มากไปนัก ยังไง ๆ ก็ต้องเกรงใจท่านผู้บัญชาการทหารบกไว้บ้างนั้นก็คือ คุณพจน์ สารสิน

ผมเองก็ชักจะไม่ค่อยจะแน่ใจจะเป็นคุณพจน์ สารสิน ใช่หรือไม่ที่คณะรัฐประหารเชิญขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อควบคุมสถานการณ์ได้เรียบร้อยแล้ว แต่เข้าใจว่าคงจะใช่ ผมว่าจะถามตัวท่านเพื่อหาความแน่ใจตอนที่พบกันที่สโมสรกอล์ฟ แต่บังเอิญระยะนี้ท่านไม่ค่อยจะได้ไปเสียด้วย ก็เลยยังไม่ได้ถามให้แน่ใจ ผมเข้าใจว่าผมคงเขียนไม่ผิด เพราะคุณพจน์ สารสิน นี้เป็นเพื่อนค่อนข้างสนิทกันกับท่านจอมพล ป. และคณะผู้ทำการรัฐประหารครั้งนั้นก็เป็นลูกศิษย์ท่านจอมพล ป. ส่วนมาก

เมื่อเหตุการณ์เข้าสู่ความสงบเรียบร้อยแล้ว คณะรัฐประหารก็จัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรทั่วประเทศตามระบอบประชาธิปไตย คณะรัฐประหารเองก็ส่งคนของตัวเข้าชิงชัยในการเลือกตั้งครั้งนั้นเหมือนกัน โดยเฉพาะในกรุงเทพ ฯ และธนบุรี ซึ่งขณะนั้นยังแยกก้นเป็นสองจังหวัดอยู่

ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า ในสนามเลือกตั้งในกรุงนั้น คณะรัฐประหารได้ส่งบุคคลสำคัญ ๆ เข้าสมัครครบถ้วน ๖ คน ผมจำชื่อทั้งหมดไม่ได้ จำได้ ๒ - ๓ คน มีร้อยเอกฉัตร ศรียานนท์ น้องชายของผู้อยู่ในคณะรัฐประหารคนหนึ่ง คือ พันเอก เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งก็เป็นนายทหารนอกราชการอีกเหมือนกัน เป็นเจ้ากรมเชื้อเพลิงอยู่ และเป็นผู้อำนวยการทรัพย์สินส่วนพระองค์อีกด้วย

ผู้สมัครผู้แทนของคณะรัฐประหารทั้ง ๖ ต่างก็ออกหาเสียงเหมือนคณะอื่น ๆ ตั้งชื่อคณะของตนว่า คณะหกแรงแข็งขัน ติดป้ายโปสเตอร์หาเสียงทั่วเมืองกรุง แล้วก็เลยถูกมีมือดีมาแก้ข้อความในโปสเตอร์ให้ใหม่เป็น “ หกแร้งแข็งขน ”

ในกรุงเทพ ฯ มีผู้สมัครที่เรียกว่ามีชื่อเสียงในวงการเมืองอยู่ ๒ คนคือ คุณควง อภัยวงศ์ และ คุณวิลาศ โอสถานนท์

ป้ายโฆษณาหาเสียงฝ่ายคุณควง ฯ เขียนไว้ว่า เหล็กวิลาศหรือจะสู้ตะปูควง ผลก็ปรากฏออกมาจริง ๆ ว่า เหล็กวิลาศสู้ตะปูควงไม่ได้

คุณควง ฯ ชนะการเลือกตั้งในเขตพระนครจริง ๆ และในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรก ก็ได้เป็นผู้จัดคณะรัฐบาลปกครองตามรัฐธรรมนูญ ฉบับดั่งเดิมที่คณะรัฐประหารนำออกมาใช้

นั่นเป็นความผิดพลาดของคณะรัฐประหารที่เมื่อได้กระทำการเสี่ยงทำการรัฐประหารแล้ว ไม่ควบคุมอำนาจเสียเอง ปล่อยให้มีการเลือกตั้งเสรี บทเรียนในการผิดพลาดครั้งนี้ ทำเอาคณะรัฐประหารต้องนอนคิดอย่างมาก เมื่อสูญเสียอำนาจทางการเมืองไปให้กับคณะที่ไม่ได้เสี่ยงชีวิตด้วยเลย และบุคคลในคณะที่ได้ร่วมทำงานใหญ่กันมา ก็ไม่มีใครได้เข้าร่วมในคณะรัฐบาลของนายควง ฯ

ท่านนายก ฯ ควง อภัยวงศ์ เลือกเอาบุคคลในพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาคุมตำแหน่งในคณะรัฐบาลทั้งหมด ซึ่งก็เป็นเรื่องถูก เพราะคุณควง ฯ นั้น เป็นนักการเมืองมือเก่า รุ่นท่านจอมพล ป. ทหารนั้น เรื่องเล่นการเมืองย่อมไม่ถนัดเท่านัก การเมืองที่แท้จริง

ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกครั้งนั้นยังคงอยู่ในมือของท่านพลเอก หลวงอดุลย์ ฯ อยู่ตามเดิม ไม่มีใครไปตอแยกับท่าน และเป็นผู้บัญชาการทหารบกที่ไม่มีใครเข้าถึงตัวท่านได้ ไม่ยอมรับแขก ไม่ว่าจะเป็นใคร ยิ่งใหญ่มาจากไหน เก็บตัวเงียบอยู่ในบ้านพักของท่านในวังปารุสกวัน

ตัวอธิบดีกรมตำรวจสมัยนั้น จะเป็นพันตำรวจเอก พระรามอินทรา หรือ พันตำรวจเอก พระวิจารณ์พลกิจ ผมก็ไม่แน่ใจเพราะยังไม่ได้เข้ามายุ่งกับคณะรัฐประหาร ไม่ได้เอาใจใส่แม้จะเป็นตัวนายชั้นสูง

การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยนี่เอง ได้นำเอาขบวนการคอมมิวนิสต์เข้ามาอยู่ในรัฐสภาไม่น้อย เพราะในสมัยเสรีไทยนั้นพวกที่ร่วมอยู่ในคณะเสรีไทยมีมากที่มาจากภาคอิสาน เพราะแถบนั้นก็จำต้องมีกำลังอันหนาแน่น เพื่อที่จะกันญี่ปุ่นซึ่งยึดครองอินโดจีนอยู่

เมื่อสงครามสงบ บุคคลคณะนี้ก็ยังคงมีอาวุธร้าย ๆ ที่อเมริกันมาส่งไว้ให้มากมาย หมดภาระทางสงครามแล้ว ก็พากันไปตั้งขบวนการอยู่แถบเขาภูพาน แถวตะวันออกฉียงเหนือ หรือที่เรียกกันว่า อีสาน บุคคลเหล่านี้มีรี้พลเป็นหมื่นที่นับถืออุดมคติสังคมนิยมอย่างแก่




Create Date : 08 พฤษภาคม 2553
Last Update : 8 พฤษภาคม 2553 3:41:03 น. 1 comments
Counter : 675 Pageviews.

 


โดย: ก้นกะลา วันที่: 9 พฤษภาคม 2553 เวลา:2:44:04 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ธารน้อย
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ธารน้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.