จงให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่าสิ่งที่ถูกใจ
Group Blog
 
<<
กันยายน 2553
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
8 กันยายน 2553
 
All Blogs
 
เหล็กละลาย (ตอนที่ 26)

โดย พ.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ

ตอนที่ 26

“ พวกผมเป็นนักการเมืองพลัดถิ่น เขามีข้อห้ามไม่ให้เล่นการเมืองในประเทศของเขา ฉะนั้น เขาจึงต้องคอยติดตามดูพฤติการณ์ จนกว่าเขาจะแน่ใจว่า เราไม่มีอะไรจริง ๆ ถ้ามีใครไปมาหาสู่ เขาก็ต้องให้รู้ว่า เป็นใคร มาจากไหน แล้วเขาก็ต้องตรวจสอบไปยังเจ้าหน้าที่ไทย ว่าคนที่มาหานั้นเป็นใคร ถ้าปรากฏว่า เป็นนักการเมือง เขาก็ต้องรายงานรัฐบาลไทย เขากลัวว่าจะมาชวนพวกผมเล่นการเมืองในบ้านเขา ”

ทั้งไอ้อ้วนและท่าน หันมามองหน้าผมเกือบจะพร้อม ๆ กัน ท่านไม่ได้มองเปล่า ยังแถมดีดหน้าแข้งผมด้วยปลายรองเท้าเสียอีกด้วย

“ ยังงี้ ผมก็แย่ ” อดีตผู้แทนคราง

“ ก็เห็นจะแย่ ” ผมพูดเสียงเรื่อย ๆ

“ รอง ล้อผมเล่น ” เขาหันมาพูดยิ้ม ๆ ปลอบใจตัวเอง

“ คุณดูเอาก็แล้วกัน เขาตามเราให้รู้ ๆ ยังงี้แหละ เดี๋ยวถึงร้านอาหารเขาก็จะเฝ้าเรา ไม่ไปไหน ” เขาหันออกไปมองผ่านกระจกหลังอีกแวบหนึ่ง ก็หันกลับ “ ผมไม่ต้องหันไปดู ก็เชื่อแน่ว่า ไอ้มอเตอร์ไซค์คันนั้นยังตามเรามา ”

เมื่อรถถึงร้านอาหารและจอดหน้าร้าน เราก็พากันลงจากรถ อดีตผู้แทนหันไปมองข้างหน้า แล้วก้มหน้างุด รีบเดินเข้าไปในร้านอาหาร

ระหว่างรับประทานอาหาร เขากลายเป็นคนไม่พูดไป และรู้สึกจะกินอะไรไม่ใคร่ลง ทั้ง ๆ ที่อาหารที่สั่งมาล้วนแต่อร่อย ๆ ทั้งนั้น เราเลยไม่ค่อยได้คุยอะไรกัน นอกจากเรื่องดินฟ้าอากาศเป็นครั้งคราว ผมถามเขาถึงแผนการที่จะต่อสู้ในการเลือกตั้งคราวหน้า เขาไม่ตอบ ได้แต่ยิ้ม อาหารมื้อนั้น เขาคงจะชืดไม่เป็นสัปรด แต่ผมอร่อย

เราออกจากร้านอาหารเร็วกว่าทุกคราว ท่านบ่นว่าไม่ค่อยสบาย รู้สึกแน่น กินไม่ค่อยจะได้เหมือนกัน

ไอ้มอเตอร์ไซค์คันนั้นยังคงทำหน้าที่ของมันอย่างเคย อดีตผู้แทนชักจะนั่งอย่างกระวนกระวาย เขาหันไปมองข้างหลังเป็นพัก ๆ แต่ไม่พูดอะไร

พอรถถึงโรงแรม เขาก็ก้าวลงจากรถเป็นคนแรก หันไปมองดูมอเตอร์ไซค์คันนั้นอีกแวบหนึ่ง ก่อนที่จะเดินก้มหน้าอย่างรีบ ๆ ขึ้นโรงแรม

“ ผมขึ้นไปพักผ่อนก่อนล่ะครับ ” เขาพูดกับท่านที่หน้าเคาน์เตอร์ ตอนมาเอากุญแจห้อง “ ไม่ค่อยสบาย คงจะผิดอาหาร ”

“ เดี๋ยวเราจะไปเที่ยวดูอะไรกัน ไม่ไปกับผมหรือ ” ผมชวนเขา

“ ไปกับพวกนี้เขาซี ให้เขาพาเที่ยว ” ท่านเห็นด้วย

“ ไม่ล่ะครับ ” เขารีบตอบ “ ผมอยากจะพักผ่อนสักหน่อยคืนนี้ ”

ผมก็ชอบที่เขาปฏิเสธ เพราะผมมีนัดอยู่แล้ว และไม่อยากให้เขาไปเกะกะ ผมชักจะขอบใจตำรวจสวิสส์บนมอเตอร์ไซค์คันนั้น

อดีตผู้แทนกับท่านขึ้นห้องไปแล้ว ผมกับไอ้อ้วนก็เร่ไปที่ห้องบาร์ของโรงแรม เพราะมันเพิ่งจะสามทุ่มกว่า ๆ ผมสั่งให้อาดอลฟ์เอารถเก็บ แล้วให้เขาไปพบเราที่ห้องบาร์

ผมนั่งอยู่กับไอ้อ้วนในห้องบาร์สักครู่ อาดอล์ฟก็เข้ามาบอกว่า เขาเอารถเก็บแล้ว แต่อยู่ในที่ที่เอาออกอีกได้ง่าย และเขาบอกว่าตำรวจคนนั้นกลับไปแล้ว

“ ตำรวจคนไหน ” ผมแกล้งถาม

“ คนที่ขี่มอเตอร์ไซค์ตามเราหลายหนแล้วนั่นยังไงล่ะ เมอร์สิเออร์ ” เขาตอบ

“ ลื้อรู้ได้ยังไงวะ ว่าเป็นตำรวจ ”

“ เมอร์สิเออร์ก็รู้ เมื่อวันก่อน ผมก็เห็นเขา ตำรวจสวิสส์เขาเป็นยังงี้เอง เขาทำอะไรให้คนรู้ เมอร์สิเออร์ก็เป็นตำรวจใหญ่ ทำไมจะไม่รู้ เขาเห็นผมเอารถเก็บ เขาก็กลับเหมือนวันก่อน เมอร์สิเออร์ให้ผมมาพบในบาร์อีก ก็คงจะออกไปไหนอีก ตอนที่ล่อให้เขาหลับไปแล้ว ”

ผมมองเขาแล้วหัวเราะ

“ ฉลาดมาก เดี๋ยวไปเที่ยวด้วยกันยังงั้น ลื้อยังไม่ง่วงไม่ใช่หรือ ”

“ ยัง เมอร์สิเออร์จะไปไหนก็ได้ ” เขาตอบ หัวเราะชอบใจ

“ เราจะออกจากที่นี่เกือบสี่ทุ่ม ” ผมว่า “ ตอนนี้สั่งอะไรมาดื่มฆ่าเวลาไปก่อน ”

ผมและไอ้อ้วนสั่งบรั่นดี อาดอลฟ์ของผมสั่งแปร์โนด์ เหล้าฝรั่งเศสที่มีรสชาติเหมือนแอ็บแซ่ง เขาว่ามันช่วยย่อยอาหารดี

เรานั่งกันอยู่ครู่ใหญ่ ๆ เกือบจะได้เวลานัดอยู่แล้ว พนักงานรับใช้ที่ประจำเคาน์เตอร์ ที่หน้าโรงแรม เดินอย่างเร่งรีบเข้ามาหาเรา พูดว่า

“ เยเนราล ไม่สบายอยู่ในห้อง ให้ตามหาตัวเมอร์สิเออร์ทั้งสองคน ”

ผมกับไอ้อ้วนรีบลุกขึ้น มีอาดอลฟ์ติดตามขึ้นไปด้วย เรียกบ๋อยให้คิดบิลล์ไว้ แล้วส่งขึ้นไปเก็บบนห้อง แล้วก็รีบไปที่ลิฟท์ ขึ้นชั้นบน

ห้องเจ้านายไม่ได้ปิดกลอน คงจะไม่ได้ลงกลอนตั้งแต่ขึ้นมา เพราะเพิ่งจะเป็นเวลาไม่กี่นาทีที่แยกกัน เราเปิดประตูเข้าไปในห้องเกือบจะพร้อม ๆ กัน

ท่านนอนอยู่บนเตียง หัวยกสูงด้วยหมอนที่เอามาซ้อนกันไว้ และกำลังหายใจถี่ ๆ

“ กูเหนื่อย เจ็บหน้าอก ” ท่านพูดเสียงแผ่ว ๆ

ผมรู้ทันที นั่นมันเป็นอาการของโรคหัวใจกำเริบ หรือที่เรียกกันว่า
ฮาร์ตแอ๊ดแตค

“ เรียกหมอ ” ผมหันไปสั่งอาดอลฟ์ “ ลื้อจำหมายเลขโทรศัพท์ของหมอได้ไหม ”

“ ผมจัดการเอง ” อาดอลฟ์พูด แล้วออกไป

ผมกับไอ้อ้วนช่วยกันค้นหายาหอมในกระเป๋ายาของท่าน ได้ยาหอมออกมาละลายน้ำอุ่นให้กินเข้าไปก่อน เจ้านายยังยิ้มได้ทั้งที่หอบ ๆ อยู่อย่างนั้น แล้วก็หลับตา หายใจหอบต่อไป

ในช่วงระยะนั้น เราช่วยอะไรไม่ได้ ต้องรอหมอ ใจเต้นแรงไปด้วยเหมือนกัน ไอ้โรคพรรค์นี้ มันต้องอยู่ที่กำลังใจของผู้ป่วยด้วย ถ้าใจไม่ดีก็ไปเอาง่าย ๆ ใครก็ช่วยไม่ได้

อาดอลฟ์กลับเข้ามาบอกว่า เดี๋ยวหมอมา เขาเรียกไปแล้ว

เรารอดูอาการกันอยู่เงียบ ๆ ราว ๆ สิบกว่านาที หมอก็มาถึง

หมอที่มา ไม่ใช่หมอที่รักษาประจำ ที่เคยตรวจกันครั้งแรกเมื่อมาถึงใหม่ ๆ เขาเริ่มลงมือตรวจอาการอยู่พักใหญ่ แล้วก็ฉีดยาบำรุงหัวใจให้ เขาถามถึงชื่อหมอที่รักษาประจำ ผมจำชื่อหมอคนนั้นได้ ก็บอกเขาไปว่าชื่อ หมอโอดิเอร์ พอบอกชื่อ หมอก็พยักหน้า จดชื่อหมอที่ผมบอกให้ไว้ในสมุด แล้วก็ปิดกระเป๋าเครื่องมือ ไม่ได้ให้ยาอะไรอีก

หมอนั่งรอดูอาการอยู่อีกสักครู่ ก็บอกว่า ไม่มีอะไรที่น่าวิตกแล้ว และคนไข้จะต้องพักผ่อนให้มากหน่อย อย่าให้มีอะไรมากวนใจหรือใช้ความคิดมาก แล้วเขาก็ลากลับไป

ผมถามอาดอลฟ์เขาว่า ทำไมไม่เรียกหมอโอดิเอร์ ซึ่งเป็นหมอประจำมาดู หรือว่าเขาไม่อยู่

อาดอลฟ์บอกว่า เรียกไม่ได้หรอก ผิดเวลาอย่างนี้ หมอเขาต้องพักผ่อน

ผมจึงได้ความรู้ต่อมาว่า ระบบการแพทย์ของสวิสส์เขาวางไว้ไม่เหมือนกับที่ได้พบมา

หมอทั้งหลายในประเทศนี้ ไม่ต้องเหนื่อยเหมือนหมอที่อื่น ไม่ต้องถูกเรียกในยามวิกาลให้ต้องเที่ยวไปตามบ้านคนไข้ เพราะทางรัฐบาลเขาวางระเบียบไว้ว่า ในคืนหนึ่ง ๆ จะต้องมีหมอที่มีหน้าที่เป็นเวรที่จะต้องถูกปลุกได้ตลอดเวลาไว้คืนละสามคน หมายถึงในเมืองหนึ่ง ๆ อย่างที่เจนีวานี้ ก็มีหมอเวรอยู่ของตนเอง คืนละสามคน

คนหนึ่งเป็นหมอที่เกี่ยวกับโรคอวัยวะภายใน เช่น หัวใจ หรือ ตับไตไส้พุง

คนหนึ่งเป็นหมอรักษาโรคทั่ว ๆ ไป

อีกคนหนึ่ง เป็นหมอฟัน

หมอทั้งสามนี้ ทางเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมทางอาการแพทย์เขาจะจัดเวรไว้ให้ หมอทุกคนในนครเจนีวา หรือนครไหนก็ตาม แต่ละแห่ง มีหน้าที่มาเข้าเวรอย่างนี้ด้วยกันทุกคน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป รายชื่อหมอเวรนี้จะมีอยู่ที่ศูนย์กลางหน่วยควบคุมทางการแพทย์ และหน่วยนี้มีเบอร์โทรศัพท์โดยเฉพาะ เขาจะประกาศหมายเลขโทรศัพท์นี้ไว้ในหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ทุกวันว่า เมื่อต้องการเรียกหมอในยามวิกาล จะเรียกไปได้ที่หมายเลขโทรศัพท์อะไร

เมื่อมีผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ที่ต้องการหมอก็จะเรียกไปที่หมายเลขโทรศัพท์นี้ เจ้าหน้าที่ที่ประจำศูนย์ก็จะถามว่า ผู้ที่เรียกหมออยู่ที่ไหน เมื่อผู้เรียกบอกตำบลที่อยู่ของผู้ป่วยให้ ทางเจ้าหน้าที่ก็จะดูว่า หมอเวรคนไหนที่มีที่อยู่ใกล้กับตำบลที่เรียกมากที่สุด เขาก็จะบอกหมายเลขโทรศัพท์ของหมอคนนั้นให้ ผู้เรียกก็จะเรียกไปที่หมายเลขนั้น หมอที่เป็นเวรคนนั้นก็จะไปยังที่เรียกในทันที

หมอเวรนี้จะเป็นแต่เพียงผู้ช่วยเหลือเยียวยาขั้นต้นเท่านั้น เขาจะไม่ให้ยาอะไรที่เกินกว่าจำเป็นเฉพาะราย และเขาจะถามว่า คนไข้เป็นคนไข้ของหมออะไร พอรุ่งขึ้น เขาก็จะรายงานการช่วยเหลือที่เขาได้ทำไปนั้น ให้หมอประจำตัวคนไข้รับช่วงต่อไป แต่ถ้าบังเอิญหมอเวรในคืนนั้น เป็นหมอประจำตัวของคนไข้รายนั้น ก็ไม่ต้องยุ่งยาก
รายงานอะไรกันอีก หมอเวรในคืนนั้นก็รักษากันได้เต็มที่

ระบบนี้เป็นระบบที่ช่วยให้หมอได้มีการพักผ่อนเต็มที่ ไม่ต้องถูกรบกวนโดยคนไข้ในเวลาหลับนอน ถึงเวลาพักผ่อนก็ได้พักผ่อน สุขภาพของหมอก็ได้รับการระวังรักษาจากรัฐด้วย



Create Date : 08 กันยายน 2553
Last Update : 8 กันยายน 2553 4:12:23 น. 0 comments
Counter : 692 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ธารน้อย
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ธารน้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.