จงให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่าสิ่งที่ถูกใจ
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2553
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
7 พฤษภาคม 2553
 
All Blogs
 
เงื่อนไขการปฎิวัติ (ตอนที่ 10)

โดย พ.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ

ตอนที่ 10

พันเอกหลวงพิบูลสงครามได้เลื่อนยศเป็นพลตรีในเวลาต่อมาไม่นาน และมีนิวาสถานอยู่ในซอยชิดลม นั่งอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่กี่เดือน ก็เกิดการประทุษร้ายอย่างแทบเอาชีวิตไม่รอดในบ้านนั้นเอง

เช้าวันหนึ่ง ขณะที่กำลังแต่งตัวจะไปทำงาน คนใช้ในบ้านคนหนึ่ง ชื่อนายลี บุญตา ก็เข้ามาเอาปืนไล่ยิงเอาดื้อ ๆ ขณะที่ขาข้างหนึ่งอยู่ในขากางเกง ท่านนายก ฯ ต้องวิ่งเขยกหนีทั้ง ๆ ยังงั้น พลางร้องตะโกนเรียกคนในบ้านช่วย ฝีมือการยิงของนายลีจะใช้ไม่ได้ เพราะเป็นมือปืนจำเป็น ไล่ยิงไม่ถูกเลยถูกคนในบ้านจับตัวไว้ได้ ทั้งนี้โดยฝีมือของนายทหารคนสนิทที่เอามารับใช้ใกล้ชิดคนหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า

ร้อยตรีเผ่า ศรียานนท์

นายลีถูกส่งตัวขึ้นศาลพิเศษ และถูกตัดสินประหารชีวิต
ท่านนายก ฯ รอดชีวิตมาได้จะเรียกว่า อย่างปาฏิหาริย์ก็ได้ ถ้าฝีมือคนยิงดีหน่อย ขนาดไล่ยิงอย่างนั้นก็คงจะไม่พ้นไปแล้ว

อีกครั้งต่อมา ท่านนายก ฯ ไปทำพิธีในงานรัฐพิธีที่สนามหลวงวันหนึ่งโดยมีกำลังคุ้มกันหนาแน่น แต่ก็ยังไม่วายถูกลอบประทุษร้ายเข้าให้อีก เมื่อเสร็จพิธีแล้ว กำลังจะเดินมาขึ้นรถที่มาจอดรออยู่กลางสนามหลวง กำลังจะก้าวขึ้นรถที่มีคนเปิดประตูให้นั้น ก็มีชายคนหนึ่งก้าวพรวดพราดเข้ามา ใช้อาวุธจ่อยิงเอาใกล้ ๆ ทางด้านหลังศีรษะ ท่ามกลางขบวนคุ้มกันหนาแน่นนั้น

ท่านนายก ฯ โดนกระสุนปืนเข้าอย่างจังที่บริเวณท้ายทอย ไม่ยักเข้าสมอง เพียงแต่เฉียด ๆ ไปที่ท้ายทอยด้านหลัง ล้มฟุบลงกับที่ คนที่ลอบยิงไม่สามารถที่จะหลบหนีไปได้ โดนจับในทันทีพร้อมทั้งอาวุธในมือ

ท่านนายก ฯ ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในทันทีนั้น กระสุนโดนที่ไม่สำคัญ เพียงแต่เฉียดลำคอทางท้ายทอย แต่กระนั้นก็ต้องได้รับการรักษาพยาบาลอยู่หลายอาทิตย์ ตั

วคนยิงชื่อ นายพุ่ม นามสกุลอะไร ผมจำไม่ได้ เป็นมือปืนที่ได้รับการว่าจ้างมาจากต่างจังหวัด ที่ยิงพลาดไปอาจเป็นเพราะยิงไม่ถนัด พอดีกับจังหวะที่ก้าวเข้าประตูกำลังก้มศีรษะ จึงทำให้กระสุนพลาดเป้าหมาย

นายพุ่ม มือปืน ถูกส่งตัวขึ้นศาลพิเศษอีกคน ถูกตัดสินประหารไปเรียบร้อย

ทางตำรวจสันติบาลสมัยนั้น ออกสืบสวนหาตัวบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารทั้งสองครั้งนี้ ในเวลาไม่นานก็ได้ตัวผู้บงการที่มีรายงานว่าไม่ผิดตัว

บุคคลผู้นั้นชื่อ ร้อยโท ณเณร ตาละลักษณ์

ร้อยโท ณเณร ถูกนำตัวขึ้นศาลพิเศษตามวิธีการ และถูกศาลตัดสินประหารเช่นกัน

ขณะนำตัวจำเลยเข้าหลักประหารนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ที่ทำการประหารจะเอาผ้ามาผูกตาตามพิธีการ จำเลยบอกว่าไม่ต้องปิดตา ขอให้ประหารทั้ง ๆ นัยน์ตาเปิด และเมื่อเพชฌฆาตลั่นกระสุนเข้าใส่ร่าง ยังตะโกนออกมาอีกว่า “ ไม่ถูกโว้ย ยิงให้แม่น ๆ หน่อย ” ก่อนที่จะพับคาหลักประหาร

ร้อยโท ณเณร ตาละลักษณ์ ผู้นี้เป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เรียกตัวเองว่า คณะราษฎร ฯ ในการยึดอำนาจเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

หลังจากเหตุการณ์ประทุษร้ายทางการเมืองสองครั้งนั้น ท่านพลตรี หลวงพิบูลสงคราม ก็ได้เลื่อนยศเป็นจอมพล ไม่ต้องเป็น พลโท พลเอก ให้เสียเวลา กระโดดทีเดียวจอมพลตรีขึ้นเป็นจอมพลเลย เป็นคนสามัญธรรมดาคนแรกที่ได้ยศจอมพล

สมัยนั้น ผู้ที่จะเป็นจอมพลได้ต้องมีบรรดาศักดิ์เป็นถึงเจ้าพระยา หรือ มิฉะนั้นก็ต้องเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ จอมพลหลวงพิบูลสงครามจึงเป็นจอมพลคนแรกที่ไปจากบุคคลสามัญ จึงได้สมญานามว่าเป็น จอมพลคนหัวปี

ท่านจอมพลขึ้นมาเป็นผู้นำของประเทศเต็มตัว รวมเอาอำนาจทั้งหมดไว้ในมือ และเริ่มปฏิวัติวัฒนธรรมไทยเสียใหม่ ให้เป็นที่ระลึกถึงความมีอำนาจของท่าน

ปฏิวัติการต่างกายของคนไทยเสียใหม่ ห้ามนุ่งผ้าโจงกระเบน ผู้ชายต้องนุ่งกางเกงแบบสากล จะนุ่งกางเกงแพรหรือผ้าม่วง โจงกระเบน ไปไหนมาไหนไม่ได้

ผู้หญิงก็ต้องนุ่งผ้าถุง หรือสวมกระโปรง แล้วทุกคนต้องสวมหมวกทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน มีคำปลุกใจประกอบว่า “ มาลานำไทยไปสู่ความเป็นมหาอำนาจ ”

ผู้ชายสวมหมวกก็ยังพอดูได้ แต่ผู้หญิงนี่ซิ ต่างพากันกระมิดกระเมี้ยน ก้มหน้าก้มตา ไม่ยอมสบตากับใครเวลาเดินถนน มีหมวกรูปร่างต่าง ๆ กันครอบอยู่บนหัว นุ่งกระโปรงสวมหมวก จะดูเป็นแหม่มก็ไม่เชิง

ต่อมาท่านก็ให้เลิกกินหมาก สั่งการให้โค่นต้นหมากให้หมดประเทศ เรื่องนี้ทำเอาคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย คุณป้า คุณลุง บ่นกันพึม ทุกวันหมากไม่เคยขาดปาก มาถูกบังคับให้เลิกเคี้ยวเสียแล้ว ท่านอ้างว่า ไม่ถูกวัฒนธรรมสมัยใหม่ ท่านพวกนั้นเกิดผิดสำแดงกันไปตาม ๆ ที่เรียกว่า ยันหมาก เมื่อหมากขาดปาก จะเป็นลมเป็นแล้งตายเอา

ต่อมาอีก ท่านก็ให้เลิกราชทินนาม บรรดาศักดิ์ทั้งหลายให้เลิกใช้ ให้ทุกคนหันมาใช้นามเดิมและนามสกุลเดิม ขุน หลวง พระ พระยา ไม่มีอีกต่อไป แต่ใครจะใช้ราชทินนามเป็นนามสกุลก็ได้เช่น ตัวท่านเองมีชื่อเดิมว่า แปลก ท่านก็มาใช้ชื่อของท่านว่า จอมพล แปลก พิบูลสงคราม หรือ เรียกตัวย่อว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม

เรื่องตลก ๆ ที่คนไทยไม่เคยได้เห็นยังมีอีก

การปฏิวัติทางวัฒนธรรมครั้งนั้น บานปลายไปถึงการใช้คำพูด และ
คำเขียนภาษาไทย ตังอักษรที่ไม่จำเป็นในภาษาไทยโดนตัดออกหมด เช่น ตัวซ้ำ ๆ กันอย่าง ท. ทหาร ธ. ธง ฒ. ผู้เฒ่า ที่ออกเสียงเหมือนกัน ถูกตัดออก เหลือแต่ตัว ท. ทหาร ตัวเดียว ใช้แทนตัว ท. ทั้งหมดในภาษาไทย ดอกไม้ธูปเทียนก็ต้องเขียนว่า ดอกไม้ทูปเทียน ตัวอักษรไทยจึงเหลือเพียงไม่กี่ตัว เด็กนักเรียนในสมัยนั้นยุ่งกันไปหมด

นอกจากการเขียนแล้ว เรื่องการพูดก็ถูกปฏิวัติใหม่ คำสรรพนามแทนตัว ซึ่งแต่เดิมมีหลายคำ อย่าง ผม คุณ กู มึง ข้า เอ็ง ลื้อ อั๊ว ยังงี้ ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนเหลือแต่ ฉัน กับ ท่าน เท่านั้น เพียงสองคำ ห้ามใช้หลาย ๆ คำอย่างเก่า ไม่ว่าใครจะพูดกับใคร ต้องใช้ ฉัน ท่าน ทั้งนั้น

สโลแกนใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น “ เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย ” มีมาให้คนไทยทุกคนท่องจำ มีป้ายเขียนข้อความข้างต้นนั้นปิดอยู่ทั่วประเทศ ก็จะไม่ให้ท่านเพ้อได้ยังไง

เรื่องมีว่า มีท่านผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดกับท่านจอมพล ป. คนหนึ่ง อยู่ดี ๆ วันหนึ่ง ท่านจอมพลเดินลงมาจากบันไดทำเนียบตราไก่ (ตราไก่ เป็นตราประจำตัวท่านจอมพล เพราะท่านเกิดปีระกา เลยใช้ตรานี้ติดไว้ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ทำเนียบที่อยู่เดี๋ยวนี้แหละครับ) ท่านผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดท่านนั้น เกิดเห็นแสงรัศมีฉายออกมารอบ ๆ ศีรษะท่านจอมพล ก็ก้มลงกราบ ท่านจอมพลก็ตกใจ อยู่ ๆ มาก้มกราบกันทำไม ถามไถ่ขึ้นมา ก็ได้รับคำตอบว่า ท่านมีรัศมีส่งแสงรอบศีรษะ เหมือนผู้วิเศษมาเกิด และดูลักษณะละม้ายไปทางพ่อขุนรามคำแหง (ว่าเข้านั่น)

ทีนี้ ท่านก็เลยเกิดความคิดเยี่ยงพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งทรงประดิษฐ์คิดค้นอักษรภาษาไทย ท่านก็ต้องคิดประดิษฐ์ภาษาไทยขึ้นมาใหม่บ้าง ตัดเอาตัวอักษรต่าง ๆ ออกไปจากภาษาไทยตั้งเดิม อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้น

ถ้าท่านผู้อ่านได้บังเอิญมีบทประพันธ์ในสมัยนั้นอยู่ หรือมีหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นอยู่ ก็หาอ่านดูเถอะครับ พิลึกดี ผมเกิดทันได้ใช้ภาษาวิบัติครั้งนั้น สนุกดีครับ เขียนไป อ่านไป งงดี

สโลแกน “ เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย ” ของท่าน ฉมังนัก

คนไทยแทบจะทั้งประเทศก็ตามท่านไปจริง ๆ เพราะเชื่อท่านผู้นำ ทุกคนออกมาเดินถนนต้องมีหมวกอยู่บนหัว เครื่องแต่งกายต้องเป็นกางเกงแบบสากล จะนุ่งกางเกงแพรหรือผ้าโจงกระเบนมาเดิน
ไม่ได้

เกิดสโลแกนขึ้นมาใหม่หลายประโยคเพื่อเป็นการชักจูงใจประชาชน สำนักวัฒนธรรมเกิดขึ้นมาตอนนั้น จนกลายเป็นกระทรวงวัฒนธรรม มีท่านผู้หญิงศรีภรรยาของท่านนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้ากระทรวง

ไอ้ที่มาแปลกสมชื่อของท่านก็คือ ข้าราชการที่จะออกจากบ้านไปทำงาน ต้องจูบเมียเสียทีหนึ่งก่อนที่จะไปทำงานจึงจะถูกต้องตามวัฒนธรรมไทย แล้วก็ไอ้ที่หนักกว่านั้นก็คือ ไอ้ลูกจะพูดกับพ่อก็ต้องพูดว่า

“ พ่อ ฉันจะไปโรงเรียนละนะ ท่านจะไปทำงานหรือยัง”

ตัวพ่อก็จะต้องพูดกับลูกว่า
“ เออ ท่านไปเถอะ เดี๋ยวฉันจะไปเหมือนกัน แม่อยู่ไหน มาให้พ่อจูบหน่อย ”

เป็นสมัยนี้ก็ถูกเตะ ไอ้ลูกนะแหละถูกเตะก่อน

สมัยนั้น พ่อก็คงอยากเตะลูกเหมือนกันตอนที่มันพูดอย่างนั้น แต่เกรงว่ามันจะเอาไปฟ้องท่านนายก ฯ อาจถูกออกจากงาน ก็ต้องกลืนความอยากเตะเอาไว้เงียบ ๆ

สมัยนั้นการคิดปฏิวัติจึงไม่มี เพราะเอาเวลาไปใช้ในการปฏิวัติวัฒนธรรมเสียหมดแล้ว มัวแต่ยุ่งอยู่กับการที่จะพูดกันยังไงกับใครต่อใครที่จะต้องพูดด้วย




Create Date : 07 พฤษภาคม 2553
Last Update : 7 พฤษภาคม 2553 4:43:11 น. 1 comments
Counter : 717 Pageviews.

 


โดย: ก้นกะลา วันที่: 9 พฤษภาคม 2553 เวลา:2:30:55 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ธารน้อย
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ธารน้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.