จงให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่าสิ่งที่ถูกใจ
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
18 พฤศจิกายน 2553
 
All Blogs
 
เรื่องว่าด้วยคำพังเพย - ตลกสังคม ตอนที่ 32

โดย พ.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ


คำว่า คำพังเพย นี้ จะมีที่มาจากไหนก็ไม่ทราบ แต่เป็นคำที่พูดกันมาแต่กาลนานแล้ว เพื่อเป็นคติสอนใจคน โดยเฉพาะคนไทย และคำพังเพยมักจะเป็นประโยคสั้น ๆ ที่คล้องจองสัมผัสในตัว

ภาษาไทยนั้น มีคำพังเพยนับไม่ถ้วน อาจจะเป็นเพราะผู้หลักผู้ใหญ่สมัยเก่า ๆ ของไทย ชอบสอนลูกสอนหลานเป็นคำกลอน ให้จดจำได้ง่าย

ท่านผู้อ่านที่มีอายุหน่อย ก็คงจะพอได้ยินคำพังเพยต่าง ๆ มากมายบ้างแล้ว และอาจใช้สอนลูกหลานของท่านเองไปบ้างแล้วก็ได้ คำพังเพยบางคำกลายเป็นสุภาษิตไปเลยก็มี สุภาษิตก็คือคำสอนนั่นเอง ฉะนั้น คำพังเพยก็อาจเป็นคำสั่งสอนไปได้บางกรณี เช่น

“ ยังไม่เห็นกระรอก อย่าเพิ่งโก่งหน้าไม้ ”

ย่อมหมายความว่า ยังไม่รู้เรื่องราวอะไรดี ก็อย่าเพิ่งด่วนวางโครงการ หรือยังไม่ได้ข้อมูลถูกต้อง ก็อย่าด่วนตกลงใจทำอะไรลงไป เพราะอาจจะง้างค้างก็ได้

“ ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น ” ยังงี้

คนสมัยเก่าท่านว่า อะไรที่มันละเอียดหยุมหยิม ผู้หลักผู้ใหญ่มักจะไม่เอาใจใส่ รำคาญ ปล่อยผ่าน ๆ ไป ให้ลอดหูลอดตาไปได้ เพราะมันยุ่งนัก

ส่วนไอ้ที่ ห่างลอดตาเล็น นั้น ก็เพราะเล็นตัวมันนิดเดียว แทบจะมองไม่เห็นตัว ฉะนั้น อะไรที่มีช่องว่างห่าง ๆ เล็นมักจะเดินลอด เพราะมองไม่เห็นยังงี้ เป็นต้น แสดงว่า ความเอาใจใส่ของผู้ใหญ่กับผู้น้อยนี้ ไม่หมือนกัน ทำให้เกิดความผิดพลาด ไม่ได้เหมือนกันในทุกกรณี

ผมว่าของผมยังงี้ ผิด-ถูก ก็ไม่แน่ใจ

“ เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง ”

ความอันนี้ค่อยแปลออกง่ายหน่อย เห็นผู้หลักผู้ใหญ่เขาทำอะไรได้ง่าย ๆ ก็อย่านึกว่า ตัวเองทำได้เหมือนเขา เศรษฐีเข้าภัตตาคารหรู ๆ ได้ เรามีเงินเพียงนิดเดียว เบ่งไปเข้าอย่างเขาบ้าง ก็หมดตัวเร็ว เรียกว่า ช้างขี้ก้อนโต จะเบ่งขี้ของตัวให้ก้อนโตเท่าช้าง มันก็มอดม้วยเท่านั้น

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องของช้าง ที่ไปเกี่ยวกับเรื่องของผู้หญิงเข้าจนได้

“ ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ ”

ความคิดนี้คงจะหมายที่จะสอนไอ้หนุ่มที่คิดจะมีคู่ จะหาผู้หญิงมาเป็นคู่ครองที่ดี ๆ ได้ยังไง

โบราณท่านว่าไว้ว่า ให้ดูที่แม่ เหมือนกับการที่จะซื้อช้าง ให้ดูที่หาง

ผมก็ไม่ทราบอีกแหละว่า หางช้างนี่สำคัญอย่างไร ในการที่จะดูว่า เป็นช้างที่ดีหรือไม่ หรือใช้งานได้ดียังไง มันเกี่ยวกับหางของช้างยังไงก็ไม่ทราบ คงจะไม่หมายถึง ให้ดูเวลาหางช้างมันกระดกเป็นเส้นตรง ถ้าดูตอนนั้นก็คงจะเห็นอย่างอื่นของช้าง

ตอน ดูนางให้ดูแม่ นี่ก็อีก โบราณคงจะเห็นว่า แม่เป็นผู้ที่ใกล้ชิดที่สุดของลูก ฉะนั้น ถ้าแม่ไม่ดี ลูกคงจะไม่ดี ถ้าแม่เรียบร้อย เป็นแม่เหย้าแม่เรือนที่ดี ลูกสาวก็คงจะได้รับการอบรมให้ดีตามไปด้วย แต่มาสมัยนี้ ชักจะไม่จริงเสียแล้ว ลูกสาวโสเภณีเป็นคุณหญิงคุณนายไปก็มี คำพังเพยประโยคนี้ จึงมีผู้ต่อความออกไปอีกว่า

“ ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ ถ้าจะดูให้แน่ ก็ต้องดูถึงยาย ” เอากันให้ถึงสองเจเนเรชั่นไปเลย มันถึงจะพอเชื่อถือได้

“ วัวลืมตีน ”

วาทะนี้สำคัญ ความสั้น ๆ แต่มีความหมายลึกซื้ง วัวนั้น มันจะยืน จะเดิน จะวิ่ง ก็อยู่ที่ตีนของมัน

คำว่า วัวลืมตีน ก็หมายถึง คนที่ลืมกำพืดของตัวเอง เหมือนวัวที่ลืมว่า มันเดินได้ วิ่งได้ ยืนได้ เพราะมันมีตีนเป็นที่รองรับที่มั่นคง เหมือนคนที่ได้ดิบได้ดี เพราะมีผู้ช่วยเหลือนำพาไปสู่ความเจริญ เมื่อพบกับความสำเร็จ ก็ลืมผู้ที่เคยให้ความช่วยเหลือในขั้นแรกนั้น ถือเสียว่า ตัวของตัวเอง เป็นผู้ที่ทำความสำเร็จให้แก่ตัวเอง หาได้นึกไม่ว่า ถ้าเขาไม่จับเอาตัวมาวางไว้ให้ถูกที่ ตัวเองก็จะไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่เป็นอยู่นี้

เช่นเดียวกับลูกศิษย์ที่ลืมคุณครูบาอาจารย์ ลูกลืมคุณบิดา-มารดา ถือเสียว่า ไม่มีความสำคัญ เพราะได้ไต่เต้ามาด้วยตัวเอง หานึกไม่ว่า ถ้าหากไม่ได้บิดามารดาเลี้ยงมาจนโต ซึ่งท่านลำบากเพียงไหน กว่าจะเลี้ยงตนมาได้ถึงขนาดนี้ และหากครูบาอาจารย์ไม่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้ จะมีวิชาพาตัวมาพบความสำเร็จได้หรือ

เช่นเดียวกับวัวที่ลืมว่า ตีนของมัน ทำให้มันวิ่งหาเลี้ยงตัวอยู่ได้ ทุกเมื่อเชื่อวัน

“ วัวลืมตีน ” ก็คือ คนอกตัญญู ไม่รู้คุณคน จะยืนหยัดอยู่ได้อย่างไร วันหนึ่งก็จะต้องล้มไปเอง

เอ๊ะ ! ขึ้นต้นเบา ๆ พอลงท้าย ทำไมมันถึงกลายเป็นหนักไปได้ ก็ไม่รู้

ขอโทษ ไม่ได้ตั้งใจจะแขวะใคร




Create Date : 18 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 21 พฤศจิกายน 2553 4:39:03 น. 1 comments
Counter : 991 Pageviews.

 


โดย: ก้นกะลา วันที่: 21 พฤศจิกายน 2553 เวลา:20:09:05 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ธารน้อย
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ธารน้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.