จงให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่าสิ่งที่ถูกใจ
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2553
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
6 พฤษภาคม 2553
 
All Blogs
 
เงื่อนไขการปฎิวัติ (ตอนที่ 7)

โดย พ.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ

ตอนที่ 7

บทที่ ๓ - รอยเท้าที่ถูกเดินตาม

นวนิยาย (เอ๊ย) ไม่ใช่ สารคดี (เอ๊ะ – ใช่หรือเปล่า) เรื่อง เงื่อนไขการปฏิวัติสองดอนแรกของผมที่ได้ตีพิมพ์ไปแล้วเรียบร้อย ไม่ได้ส่งปฏิกิริยาสะท้อนกลับจากทิศทางใดมาด้วยระยะเวลาอันสมควรแล้ว ทำให้ผมมานั่งเขียนเงื่อนไขอย่างว่านี้ต่อเป็นตอนที่สามได้ด้วยใจคอที่ไม่ตื่นเต้น

นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ข้อเขียนของผมไม่ได้รุนแรงอะไร เป็นไปอย่างอ่อนนวลละมุนละไม หรือมิฉะนั้นก็เพราะว่า ท่านผู้มีอำนาจที่จะชี้ต้นตายปลายเป็นได้นั้น ท่านมีใจเป็นธรรม ใช้ธรรมเป็นอำนาจ มิได้ใช้อำนาจเป็นธรรม ยอมรับฟัง (ความจริงอ่าน) ด้วยความหนักแน่น เอาก้อนหินก้อนใหญ่มาถ่วงหัวใจไว้อย่างมั่นคง ไม่เงื้อกำปั้นฟาดโครมลงมา ซึ่งถ้าหากท่านฟาดลงมาจริง ๆ กำปั้นนั้นก็คงจะมาลงต่อคอต่อของผม

เอ๊ะ ! หรือท่านไม่ได้อ่านแฮะ

ตอนสามตอนนี้ ผมว่าจะเขียนเป็นตอนสุดท้าย สุดท้ายของเงื่อนไขการปฏิวัติ ก็เห็นจะเริ่มเรื่องเงื่อนไขการปฏิวัติตอนที่สามได้เสียทีละทีนี้

ผมได้ให้ข้อคิดไว้ในตอนที่สองแล้วว่า การปฏิวัติที่จะทำได้สำเร็จนั้นต้อง

1. ผู้จะทำการปฏิวัติต้องเป็นทหารราบ
2. ผู้จะทำการปฏิวัตินั้นจะต้องเป็นบุคคลในคณะที่ปกครอง
แผ่นดิน
3. ผู้ที่จะทำการปฏิวัตินั้นจะต้องเป็นผู้คุมอำนาจของกอง
ทัพบก โดยเฉพาะทหารราบอย่างแน่นแฟ้นในกำมือ

ทั้งสามข้อนี้เป็นหลักใหญ่ ๆ แต่ว่าหลักการอะไรก็ตามย่อมมีข้อยกเว้น หลักการนี้ก็ต้องมีข้อยกเว้นเช่นกัน ข้อยกเว้นนั้นจะมีก็ต่อเมื่อสถานการณ์ของประเทศตกอยู่ในภาวะที่วุ่นวายทางด้านเศรษฐกิจและการปกครองจนหาที่ติไม่ได้ เรียกว่าเลวสมบูรณ์แบบ สภาวะเช่นนี้หาได้ยากในเมืองไทย ไม่ค่อยจะมีให้เห็น เพราะสภาพโดยแท้จริงของเมืองไทยเรานั้น ความยุ่งยากประเภทนี้ไม่ปรากฏให้เห็นบ่อยนัก หรือเรียกว่าแทบจะไม่มีให้เห็นเลย มันจึงเป็นสภาวะที่ชักจูงใจให้คนส่วนใหญ่ของประเทศเกิดความเบื่อหน่าย และพร้อมที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะมาในรูปใด ขอให้ได้ไปอยู่ในสภาวะที่ไม่เหมือนกับที่ได้รับอยู่นั้น

เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่สองจบไปใหม่ ๆ สภาวะของบ้านเมืองตอนนั้นยุ่งเหยิงจนแทบจะเอาตัวไม่รอด ประเทศไทยเกือบจะถูกยึดครองโดยมหาอำนาจที่ชนะสงคราม เคราะห์ดีที่เรามีพระมหากษัตริย์ที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวของประชาชนและมีพระสยามเทวาธิราชคุ้มครอง เราจึงรอดจากการถูกยึดครองออกมาได้อย่างปาฏิหาริย์

บุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้น หรือได้ผจญกับเหตุการณ์ในครั้งนั้นย่อมรู้ดีว่า สถานการณ์ของประเทศเราตอนนั้นร่อแร่เพียงใด ในยามสงครามเราต้องถูกบังคับจำยอมเป็นมหามิตรกับฝ่ายอักษะ คือเยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น และยอมให้กองทัพญี่ปุ่นใช้เมืองไทยเป็นทางผ่านลงไปตีอังกฤษทั้งทางตะวันตกและทางใต้ รวมทั้งผ่านมาจากทางทิศตะวันออกเมื่อญี่ปุ่นยึดครองญวนได้แล้ว เพื่อส่งกำลังเข้ามาในกรุงแล้วเดินทางต่อไปยังทางใต้และตะวันตก

ถ้าผู้นำของประเทศเราในขณะนั้นไม่รู้จักใช้นโยบายยืดหยุ่น กรุงเทพ ฯ ก็คงเป็นผุยผงไปแล้ว และประเทศไทยทั้งประเทศก็คงต้องตกอยู่ในฐานะถูกยึดครองโดยกองทัพลูกพระอาทิตย์แน่นอน

ผู้นำในขณะนั้นจึงต้องจำยอมรับสภาพความเป็นมหามิตร และร่วมรุกร่วมรบกับญี่ปุ่น พอญี่ปุ่นแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข เราก็ตกเป็นผู้แพ้ไปด้วย กองทัพอังกฤษซึ่งเป็นกองทัพที่รับผิดชอบในแถบนี้ ก็จะเข้ามายึดครองเราเช่นผู้แพ้

เคราะห์ดีที่เรามีพระมหากษัตริยาธิราชที่มีพระปรีชาญาณล้ำเลิศ และมีพระสยามเทวาธิราชคุ้มครองเราอยู่

การสงครามครั้งนั้นมีประเทศเราประเทศเดียวที่เป็นฝ่ายอักษะ ได้รับการยอมรับจากสัมพันธมิตรให้คงสภาพเดิมอยู่ได้ รบกันแทบแย่ โดนทิ้งระเบิดจนกรุงเทพ ฯ เป็นเมืองร้าง ด่าพ่อล่อแม่เขาจนลั่นโลก ด่าไปจนถึงกษัตริย์ของเขาเสียไม่มีดี

จบลงท้าย กลับเจ๊าไปได้ ไม่แพ้ไม่ชนะ

อย่างนี้ไม่เรียกว่าปาฏิหารย์จะให้เรียกว่าอะไร ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์การสงคราม

หลังจากนั้น ความยุ่งยากก็เข้ามาเยี่ยมกราย เป็นเรื่องปกติของประเทศชาติทุกแห่งที่จะต้องประสบหลังจาก สงคราม ข้าวยากหมากแพงอย่างที่เขาว่ากัน ผู้คนขาดอาชีพ ไม่มีทางทำมาหากิน

ทหารที่ถูกปลดปล่อยจากกองทัพไม่มีอาชีพ ต้องปล้นสดมภ์ โจรผู้ร้ายเต็มบ้านเต็มเมือง รัฐบาลสมัยนั้นก็จนใจที่จะแก้ไข เพราะจู่ ๆ ก็ถูกจับมาปกครองประเทศ จะไม่รับก็ไม่มีใครยอมรับ ความปั่นป่วนเกิดขึ้นทั่ว ๆ ไป ประชาชนก็ขาดที่พึ่งพิง แถมบุคคลในคณะรัฐบาลบางคนยังฉวยโอกาสหาผลประโยชน์จากความยุ่งยากในครั้งนั้นเข้าอีก เกิดการคอร์รัปชั่นแสวงหาผลประโยชน์กัดกินประเทศชาติกันอย่างขนาดใหญ่ ตักตวงเอาผลประโยชน์ที่รัฐจัดส่งให้ประชาชนไปเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวและพรรคพวก

ประชาชนยังคงต้องเผชิญกับความยากจนอยู่ทั่ว ๆ ไป ครั้งนั้นประชาชนส่วนใหญ่จึงหันไปหาใครก็ได้ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเขา

คณะรัฐประหารจึงก่อตัวขึ้น ความจริงในขณะนั้นก็ได้มีกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มที่คบคิดกันที่จะทำการปฏิวัติ แต่กลุ่มที่ไวกว่าเท่านั้นที่จะฉวยโอกาสไว้ได้อย่างง่าย ๆ

กลุ่มคณะรัฐประหารนำโดยพลโท (ยศตอนนั้น) ผิน ชุณหวัณ ฉวยโอกาสทองอันนี้ไว้ได้ก่อนคณะอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่เป็นนายทหารนอกราชการ ทำการยึดอำนาจครั้งนั้นไว้ได้สำเร็จ ด้วยกำลังเพียงไม่กี่กองทัพ แถมที่อยู่กองพันหนึ่งที่ยกกันไปจับตัวหัวหน้ารัฐบาลตอนนั้นด้วยการแบกปืนเล็กยาวที่ไม่มีลูกเลื่อนปืนแม้แต่กระบอกเดียวทั้งกองพัน ก็ยังทำการได้สำเร็จ

ผมได้เขียนรายละเอียดของเรื่องนี้ไว้แล้วในหนังสือของผมตอนต้น ๆ
นั่นเป็นข้อยกเว้นที่ไม่ปรากฏบ่อยนัก ด้วยเหตุการณ์และสภาพทางการเมืองและอะไรต่ออะไรของบ้านเมืองอำนวยให้ประชาชนยอมรับได้ทุก ๆ กรณี เพื่อที่จะดิ้นไปหาสภาพการณ์ใหม่ ๆ ที่อาจจะดีกว่า ด้วยความเหลวแหลกอย่างไม่มีที่ติอย่างว่าของรัฐบาลขณะนั้น

ผมอยากจะเตือนใครก็ได้ไว้สักหน่อยว่า อย่าปล่อยให้สภาวะอย่างนั้นเกิดขึ้นอีกในบ้าน อย่าถือว่ามีอำนาจล้นฟ้า บันดาลอะไรก็ได้ หรือคุมเหตุการณ์ได้แน่นอน เกิดเรื่องเมื่อใดก็ใช้กำลังเข้าปราบปรามได้เด็ดขาด

อย่าตกอยู่ในความประมาท เพราะเมื่อใดประชาชนทนไม่ได้ ก็จะต้องผจญกับพลังอันมหาศาลที่กองทัพจะต้านทานไม่ได้ เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว

ผู้ยิ่งใหญ่ที่คิดว่ากุมอำนาจไว้เด็ดขาดต้องมีอันเป็นไป ต้องระเห็จออกนอกประเทศ ไปตายนอกประเทศก็มี และก็เคยมีเหตุการณ์เช่นว่านี้ซึ่งได้ทำให้มีวีรบุรุษเกิดขึ้นมาแล้วที่อยู่ทางฝ่ายประชาชน

วีรบุรุษแห่งสะพานมัฆวาฬนั่นไง ยังจำกันได้ไหมเล่า วีรบุรุษท่านนั้นอย่าได้ลืมตัวเสียก็แล้วกัน เมื่อได้มานั่งในเก้าอี้ที่กุมอำนาจเต็มมือ การกล่อมพลังประชาชนนั้นไม่ใช่ของง่าย ๆ มันง่ายเป็นบางจังหวะ และมันจะยากเป็นบางจังหวะ ข้อสำคัญ ท่านต้องรู้จักจังหวะ

ท่านจะได้เคยสังเกตกันบ้างไหมว่า การปฏิวัติแต่ละครั้งนั้นที่สำเร็จมักจะเป็นบุคคลที่มาจากสถาบันเดียวกัน เคยกินข้าวโต๊ะเดียวกัน นั่งเรียนในห้องเดียวกัน มีผู้บังคับบัญชาในโรงเรียนคนเดียวกันและเป็นพ่อลูกเดียวกัน คือเสด็จพ่อในรัชกาลที่ห้า ซึ่งพวกนักเรียนนายร้อยจะต้องไปเข้าแถวล้อมรอบพระบรมรูปที่ศาลาวงกลมทุก ๆ สิ้นปีการเรียน เพื่อขอพรต่อพระองค์ท่านก่อนการสอบไล่ใหม่ทุกปี แล้วทุกคนก็สอบไล่ได้สมปณิธานทุกปี มีเหมือนกันที่มีคนสอบตก แต่น้อยมาก ที่ตกเพราะคะแนนความประพฤติก็มี ก็ต้องนับว่าซวยไป

เพื่อนร่วมรุ่นผมคนหนึ่ง มันเป็นเอกในทางขี้เกียจดูหนังสือ วันสอบไล่ปลายปีสุดท้ายจะออกรับกระบี่กันอยู่แล้ว มันยังขี้เกียจดูหนังสือ

ข้อสอบวิชากฎหมายลักษณะอาญานั้นมันหนักแค่ไหนทุกคนที่เคยเรียนมาก็ย่อมรู้ ไอ้เสือนี่มันรู้ตัวว่าแย่มากในวิชานี้ ถึงวันทำพิธีขอพรเสด็จพ่อ มันก็ไปล้อมวงด้วย แล้วถือโอกาสเอาหนังสือกฎหมายอาญานี้ไปด้วย เอาไปวางไว้ที่หน้าแท่นตรงหน้าพระรูป แล้วมันก็อธิษฐานให้เสด็จพ่อช่วยมัน บอกข้อสอบให้มันด้วย

พอมันขึ้นนอนแล้ว ผมก็แอบย่องลงมาจากโรงนอน จะมาล้อมันเล่น ผมแอบเปิดหนังสือนั้นออกหน้าหนึ่งลึก ๆ แล้วเอาก้อนหินทับไว้ แล้วก็ย่องขึ้นนอน

เช้ามืดมันก็ลงมาดูที่แท่น เห็นหน้าหนังสือเปิดอยู่ มันก็ดีใจคิดว่าเสด็จพ่อมาเปิดให้มัน มันก็ดูหนังสือวิชานั้นแต่หน้านั้นทั้งหน้า หน้าอื่นไม่เอาใจใส่

ผลของการออกข้อสอบวิชากฎหมายลักษณะอาญาปีนั้น ออกมาแต่หน้านั้นทั้งหน้าเลยครับ มีปัญหาอยู่ข้อเดียวแต่ต้องตอบกันยาวเหยียด และคำตอบอยู่ในหน้านั้นทั้งหมด ไอ้นั่นมันดีใจใหญ่ มันเอาดอกไม้ไปกราบไหว้เสด็จพ่อในคืนนั้นทันที

หรือเสด็จพ่อบันดาลให้ผมลงไปเปิดให้มันก็ไม่รู้

นั่นเป็นเหตุการณ์ประทับใจตอนหนึ่งของชีวิตในโรงเรียนนายร้อย เหตุการณ์ประทับใจอย่างนี้ก็คงจะมีเกิดขึ้นในระหว่างเพื่อนร่วมรุ่นอื่น ๆ เหมือนกัน แตกต่างกันไปตามแต่เหตุการณ์ เราไม่โกรธกัน ไม่ถือกัน เพราะรู้ว่าเป็นการหยอกล้อระหว่างเพื่อนฝูง

บางรายมีเรื่องกระทบกระทั่งกันนิดหน่อยก็ชวนกันเข้าห้องยิม เอานวมมาสวมเข้าแล้วก็ต่อยกันโดยไม่นับยก จนกว่าฝ่ายหนึ่งจะหมอบลงไป แล้วเขาก็จับมือกัน เลิกแล้วกันไป ไม่ถือโทษโกรธพยาบาทกัน ไม่ชอบใจอีกเมื่อไรก็ชกกันอีกก็ได้ ที่เขาไม่ชกกันด้วยหมัดลุ่น ๆ ด้วยความโมโหหุนหันก็เพราะถ้าขืนทำอย่างนั้น ผู้บังคับบัญชาในโรงเรียนมาเห็นเข้า ก็ต้องเข้าไปนอนเอนหลังในห้อง ๑๘

ห้อง ๑๘ เป็นห้องเดียวที่พวกนักเรียนนายร้อยไม่อยากเข้าไปนอน เพราะมันเป็นห้องขังสำหรับผู้กระทำความผิดร้ายแรง เป็นห้องที่ผู้ถูกลงโทษจะต้องหอบที่นอนหมอนมุงเข้าไปนอนแทนที่นอนบนกองร้อย แล้วแต่จะถูกกำหนดให้นอนกี่วันโดยคำสั่งลงโทษนั้น ๆ แล้วยังถูกตัดแต้มความประพฤติอีกยี่สิบแต้ม

แต้มความประพฤตินี้ถือเป็นสมบัติอันควรแก่การทะนุถนอมเป็นอย่างยิ่ง ต้องพยายามรักษาไว้อย่าให้ถูกตัดโดยไม่จำเป็น เพราะถ้าถูกตัดเกินกำหนดที่วางไว้ก็อาจมีหวังไม่ได้เข้าสอบไล่ เมื่อไม่ได้เข้าสอบไล่ มันก็สอบตก โดนเรียนซ้ำชั้น

กฎของโรงเรียนนายร้อยนั้น เขาเปิดโอกาสให้เรียนชั้นเดียวกันได้เพียงสองปี ถ้าสอบตกทั้งสองปี เขาก็เชิญออกไปเรียนที่อื่น จะมานั่งสอบทุกปีเป็นปู่โรงเรียนอย่างโรงเรียนสามัญนั่นไม่ได้ เขาต้องเปิดที่ว่างให้คนอื่นมาเข้าเรียนบ้าง

ฉะนั้น มักจะเกิดเรื่องเมื่อถึงคราวสอบไล่ประจำปี หรือสอบเก็บคะแนนประจำภาคบ่อย ๆ โดยเพื่อนที่อยากจะช่วยเพื่อน โดยแอบให้เพื่อนลอกคำตอบจากกระดาษคำตอบของตัว ที่ทำเป็นปล่อยให้ห้อยลงมาข้าง ๆ ตัวบนโต๊ะเรียน แล้วให้เพื่อนข้างหลังชะโงกแอบอ่านเอาเอง นายทหารที่คุมสอบเห็นเข้า จับได้ รายงานขึ้นไป โดนถูกปลดออกไปก็มี



Create Date : 06 พฤษภาคม 2553
Last Update : 6 พฤษภาคม 2553 2:38:50 น. 1 comments
Counter : 782 Pageviews.

 


โดย: ก้นกะลา วันที่: 6 พฤษภาคม 2553 เวลา:18:19:23 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ธารน้อย
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ธารน้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.