<<
พฤษภาคม 2555
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
26 พฤษภาคม 2555
 
 
ใจไม่มีอายุ ต้องป้องกันใจไม่ให้เจ็บ

หัวใจของคนเราเป็นเรื่องแปลก ต่อให้หมอตรวจว่า perfect  เต็มร้อย หลอดเลือดแข็งแรง คลอเรสเตอรอลไม่มี เบาหวานไม่เกิด ความดันปกติ ดีเลิศทุกอย่างก็ตาม แต่ถ้าปราศจากซึ่ง “กำลังใจ” หรือ “พลังของใจ” ทุกอย่างก็ไม่มีความหมาย

ไอเกิล ได้รับเกียรติสูงสุดจาก อาจารย์สมสิริ สกลสัตยาทร ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการ บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน)  มาร่วมแบ่งปัน “พลัง” ให้หัวใจของเรากันค่ะ  อาจารย์สมสิริกลับมาตามคําเรียกร้องของผู้อ่านหลายท่านที่ชื่นชอบมุมมองในแง่ของหมอ และในแง่ของการนําพุทธศาสนามาอธิบายให้เห็นภาพใกล้ตัวที่หลายคนมองข้ามไปแล้ว

ทีมงานเรียนอาจารย์ว่า เดือนเมษายนนี้เป็นเรื่องของสุขภาพหัวใจ  อาจารย์ตอบทันทีเลยว่า “ไม่ว่าสุขภาพจะเป็นอย่างไร และอายุของเราจะเพิ่มมากแค่ไหน  แต่  ‘ใจ ไม่เคยแก่’ และต้องคอยรักษาใจไว้ไม่ให้กำพร้า คือ ไม่มีที่พึ่ง”

‘ใจ’ ที่อาจารย์ว่านี้ คือ ความรู้สึกซึ่งเรามีมาตั้งแต่เกิด เป็นของตัวเราเองโดยแท้ อาจารย์บอกว่า ‘ความแก่‘  เกิดขึ้นกับร่างกาย  แต่ความรู้สึกไม่มีวัย และเติบโตตามสิ่งที่เรารับรู้ได้  แต่ความรู้สึกนี้สามารถเปลี่ยนได้ตลอดเวลา    ความรู้สึกนี้ไม่มีวันแก่ มีแต่ความรับผิดชอบและข้อมูลที่เพิ่มขึ้น

อาจารย์อธิบายเพิ่มเติมว่า “ลองดูญาติผู้ใหญ่ของเราสิ ร่างกายอาจจะเป็นไปตามอายุ แต่ถ้าได้เจอลูกๆ หลานๆ เด็กๆ มาป้วนเปี้ยนๆ เดี๋ยวก็สดชื่น”  อาจารย์เลยพูดขำๆ ว่า “ผู้ชายบางคน เลยอยากมีเพื่อนเด็กๆ ไว้คุยเล่น จะได้สดชื่น กระฉับกระเฉง กระชุ่มกระชวย นี่เป็นปกติ เป็นเรื่องจริงของปุถุชนธรรมดาทั่วไป ใครๆ ก็อยากเป็นเด็กจะได้สดใส สนุกสนาน” อาจารย์ไม่ต้องอธิบายมากเลยล่ะค่ะ ภาพชัดจริงๆ

แม้คนเราไม่เหมือนกัน อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน  แต่ทุกคนอยากมีความสุข ความสบาย แต่ไม่มีอะไรเป็นไปตามที่อยากได้หรือตามหวัง  เลยไม่สมหวังและเสียใจ

อาจารย์เสริมต่อไปอีกว่า ‘ใจ’ มีความลึกซึ้งมาก ดังนั้นเราควรมารู้จักใจเรากันสักหน่อยนะคะ มี 4 ส่วนเหมือนกันแต่เป็นเรื่องราวของความรู้สึกและรับรู้

ส่วนที่ 1 ส่วนนี้ ‘เรารู้ และคนอื่นก็รู้’ เหมือนกันว่าเราเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร

ส่วนที่ 2 ‘เรารู้ แต่คนอื่นไม่รู้’ คือ เรารู้ใจตัวเราเองว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร  แต่คนอื่นไม่รู้ เรียกได้ว่าเป็น inner voice เลยทีเดียว

ส่วนที่ 3 ‘เราไม่รู้ แต่คนอื่นรู้’  เช่น คนบางคนมีนิสัยชอบโอ้อวด ตัวเองไม่รู้ คิดว่าดี แต่คนอื่นรู้หมดว่าไม่ดี

ส่วนสุดท้าย ‘เราไม่รู้ คนอื่นไม่รู้’ คือเป็นส่วนที่ยากที่สุด  ส่วนอื่นๆ เรารับรู้ได้ คนอื่นรับรู้ได้ แต่ความรู้สึกนี้ไม่มีใครรู้เลย เป็นส่วนที่ยากที่สุด  แต่พระพุทธเจ้ารู้ คือต้องฝึก จึงจะรู้ได้ด้วยตนเอง

มาถึงส่วนนี้ เราเริ่มงง อาจารย์เลยรีบเฉลยว่า “ถ้าไม่มีใครรับรู้ได้เลย แล้วมันจะได้ประโยชน์อะไร แต่พระพุทธเจ้ามาบอกเราส่วนนี้ล่ะค่ะ ว่าส่วนนี้   ’ไม่ใช่ตัวเรา’  และควบคุมไม่ได้  แต่เราไม่เคยยอมรับ  นั่นคือความยึดมั่นถือมั่น ไม่ปล่อยวาง ว่าตัวเรานี้คือตัวป่วย ตัวเจ็บ และ ตัวตาย ถ้าตัวนี้เป็นของเราจริงๆ เราต้องบังคับมันได้ แต่เราบังคับไม่ได้ “

เราเห็นภาพทันทีเลยว่า ทำไมใจบางคนถึงแก่ ทั้งๆ มองดูไม่น่าจะถึงขนาดนี้  พอเสียใจ ใจก็เริ่มเสีย เริ่มเสื่อม และเริ่มแก่ ‘ใจที่แก่’ คือใจที่ไม่ยอมรับ ยังยึดติด ยึดมั่นนั่นเอง  คิดตามแล้วยากจริงๆ เลย จะให้แก้ไขได้อย่างไร

“เป็นศาสตร์ที่ยาก และลึกซึ้ง  นักจิตวิทยาบอกว่าเป็นเรื่องของการ imprint บางอย่างที่เราไม่รู้ตัว เช่น มีคนไข้ตาดำขาวขุ่น มองไม่เห็น จะมารักษาแก้ไข พอหมอบอกว่าต้องเปลี่ยนกระจกตา คือ ต้องไปเอามาจากคนที่เสียชีวิตที่บริจาคไว้มาเปลี่ยน  ก็จะกลัว ไม่กล้าทำ ปล่อยให้ตามัวไปซะอย่างนั้น เพราะยึดมั่น ถือมั่นจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม” อาจารย์เสริมว่าสงสัยดูหนังมากไปเลยกลัว  แต่คำอธิบายนี้ทำให้เราเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่า ความรู้สึกส่วนนี้เราควบคุมไม่ได้จริงๆ  นี่ขนาดว่าตาจะบอดเอา ยังยึดอยู่กับอะไรก็ไม่รู้ ความกลัวละมัง จึงทำให้ไม่ยอมแก้ไข

จริงๆ แล้ว ตัวเราเอง imprint อะไรต่อมิอะไรเข้าเยอะมาก ที่ทำให้เกิด โลภ โกรธ หลง อิจฉาริษยา ขึ้นในใจสาระพัด แล้วพอมันเข้าไปแล้ว มันก็จะอยู่ไปจนตายโดยเราไม่รู้ตัวจริงๆ และไม่มีใครรู้ด้วย  “ความรู้สึกนี้ เหมือนมีเราเข้าไปเจ๋อ ไปตัดสินใจด้วยคิดว่าเป็นใจของเรา แต่ความจริงแล้วไม่ใช่  มันเป็นความเห็นที่ผิด และเป็นความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งมีมาตั้งแต่เกิดและพอกพูนขึ้นตลอด  พระพุทธเจ้าบอกว่าแก้ไขตรงนี้ได้คือ  ต้องมีการเรียนรู้และการปฏิบัติ ให้คลายจากความเห็นผิดเป็นเบื้องต้น”

นี่เองเป็นเหตุให้ใจเราถูกทำร้ายตลอด เพราะกิเลสต่างๆ ในใจเอง  เพราะเราทับถมอะไรลงไปในใจก็ไม่รู้  “เราต้องกลับมาดูใจตัวเราเองบ้าง อย่าเบียดเบียน อย่ารังแกใจ  นั่นคือ ให้เมตตากับใจตัวเอง  โดยกลับเข้ามาดูแลความรู้สึกของตัวเองบ่อยๆ  เช่น ถามว่าเห็นดอกไม้สวยอยู่ในแจกันไหม?   ให้กลับเข้ามาดูว่ารู้สึกอย่างไรกับดอกไม้นี้  เราอาจจะไหลไปตามความรู้สึกว่า     เออ…ชอบ  แต่มันไม่ใช่ความรู้สึกที่แท้จริง คือ ใจรู้สึก กับ รู้สึกใจ ไม่เหมือนกัน ต้องฝึก ต้องพิจารณา นั่นคือต้องมี ‘สติ’ จึงจะหยุดคิดได้  ไม่ใช่ไหลลื่นเรื่อยเปื่อยไปเรื่อยๆ และให้อะไรต่อมิอะไรเข้ามาทำร้ายใจเรา”

อาจารย์บอกว่า ถ้าไม่มีสติ เราก็จะคิดไปเรื่อยเปื่อย โอ้ย ไม่ชอบคนโน้น โอ้ย คนนี้ไม่ดี  และอยากได้โน่นได้นี่ วิธีการฝึกการดูแลใจตัวเองง่ายๆ คือ “กลับมาดูใจของเราในแต่ละวัน พิจารณาโดยยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นในใจ กลับมาใช้สติสัมปชัญญะไตร่ตรองว่า สิ่งนี้ควรคิด สิ่งนั้นไม่ควรคิด ไม่งั้นจะวุ่นวายใจไปหมด” และนี่เป็นปัญญา

อาจารย์ฝากบอกแถมท้ายว่า คนเรามักดูแลตัวเราแต่งตัวให้สวยงามได้ทุกวัน แล้วทำไมไม่เคยเข้ามาเหลียวแลใจเลย ปล่อยให้กำพร้า ไม่มีที่พึ่ง  มันอาจจะยากสักหน่อย แต่ถ้าเสื้อผ้า หน้า ผมเราจับต้องดูแลได้ง่าย ส่วนใจจับต้องไม่ได้ ซึ่งเป็นของยากเพราะเห็นไม่ได้ แต่แบกรับความรู้สึกต่างๆ ที่ไม่ใช่เรื่องไว้เต็มๆ  ระวัง ‘ความแก่’ มันออกมาโชว์ที่ร่างกายนะคะ ‘ใจ’ น่ะไม่แก่หรอก แต่ ‘ใจที่เจ็บ’ น่ะ  มันจะออกมาตรงไหนไม่รู้เลย รู้แต่มาทำร้ายเราแน่ๆ  ดังนั้นต้องระวังๆ รักษาใจ ดูแลให้ดีๆ นะคะ




Create Date : 26 พฤษภาคม 2555
Last Update : 26 พฤษภาคม 2555 18:03:56 น. 0 comments
Counter : 632 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 

samitivej
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Follow Samitivejclub on Twitter

[Add samitivej's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com