รักษ์รถ ที่คุณรัก Care for your car
มวลน้ำก้อนใหญ่จะมาถึงกรุงเทพฯ หรือไม่มา หรือมาแล้วไปแล้ว หรือยังอยู่ เราคงจะทราบกันแล้วขณะที่ทุกๆ ท่านอ่านไอเกิลเล่มนี้อยู่ ท่านที่ต้องขับรถหนีน้ำ อ่านตรงนี้เลยครับ จะได้เตรียมตัวถูก ถ้าคุณโชคดีจัดการพารถคุณไปเก็บเนื้อเก็บตัวในที่ปลอดภัยได้ก่อนมวลน้ำซัดละก็ ยินดีด้วยครับ ถ้าต้องลุยน้ำ ต้องลุยอย่างมั่นใจครับเตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือให้พร้อม เพื่อแก้ไขรถยนต์ในกรณีรถเกิดดับ - สายพ่วงแบตเตอรี่ สัก 1 ชุด
- ไฟฉาย
- เครื่องมือประจำรถ
- ร่มกันฝน และเสื้อกันฝน
- สเปรย์ไล่ความชื้น
- สายพ่วงลากจูงรถ
อย่าคิดว่าถ้าคุณใช้เครื่องมือเหล่านี้ไม่เป็น ก็ไม่จำเป็นต้องมีติดรถไว้นะครับ เพราะมันจะมีประโยชน์กับคนที่มาช่วยเหลือคุณครับ
แต่ถ้าหากระดับน้ำที่ท่วมมากจนถึงไฟหน้า แล้วล่ะก็ ผมว่าไม่ควรไปต่อสู่กับมันแล้วนะครับเพราะเป็นระดับน้ำที่อันตรายที่สุด เครื่องพังได้ทันที ระดับน้ำที่ยังไม่ทำเกิดความเสียหาย คือ ระดับน้ำท่วมผิวถนน และระดับที่ผิวน้ำสูงถึงท้องรถเป็นครั้งคราวเท่านั้น ซึ่งถ้าต้องลุยน้ำระดับนั้น สิ่งที่คุณควรปฏิบัติคือ 1. ปิดแอร์ด่วน เพราะว่า เวลาแอร์พัดลมทำงานใบพัดจะพัดให้น้ำกระจายไปทั่วห้องเครื่อง และแอร์จะทำให้เครื่องทำงานมากขึ้น ร้อนขึ้น เครื่องระบายความร้อนทำงานมากขึ้น และถ้ามีขยะลอยมาตามนํ้าถูกพัดเข้ามาในเครื่องด้วย อาจทําให้กระทบกับใบพัดระบบระบายความร้อน ซึ่งถ้าหักแล้วก็จะมีปัญหาเครื่องร้อนและอื่นๆ ตามมาทันที 2. ควรใช้เกียร์ต่ำ และขับให้ช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ให้มีความสม่ำเสมอ คือ พยายามอย่าหยุดอย่าเร่งทั้งสิ้น เพราะยิ่งเร่งยิ่งทำให้เครื่องร้อน สำหรับเกียร์ธรรมดา ก็เลี้ยงไว้ประมาณเกียร์ 2 สำหรับออโต้ ใช้เกียร์ L นะครับ 3. เวลาที่รถกำลังจะสวนกับรถอีกคัน ควรลดความเร็วลง เพราะจะเกิดเป็นคลื่นชนคลื่น จนอาจทำให้น้ำกระเด็นเข้าไปทำอันตรายต่อเครื่องยนต์ภายในได้ 4. เมื่อพ้นน้ำแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ย้ำเบรกเพื่อไล่น้ำ สำหรับเกียร์ธรรมดา ต้องย้ำคลัชด้วย และไม่ควรดับเครื่องทันที เพราะอาจมีน้ำค้างอยู่ในหม้อพักของท่อไอเสียถึงแม้จะถึงบ้านแล้วก็ตามให้ติดเครื่องทิ้งไว้สักพัก และถ้าเห็นว่ามีไอออกจากท่อไอเสีย ก็ไม่ต้องตกใจ ติดเครื่องไว้เพื่อให้น้ำในหม้อพักมันระเหยออกไป มิฉะนั้นน้ำที่ค้างอยู่จะทำให้หม้อพักผุกร่อนไปได้ เมื่อคุณพ้นทุกข์พ้นโศกแล้ว รถคุณก็ต้องพ้นทุกข์เหมือนกันนะครับ ถ้ารถคุณต้องไปลุยน้ำเพราะพาคุณไปที่ปลอดภัยแล้ว คุณก็ต้องดูแลเขาล่ะครับ 1.ล้างรถ โดยการฉีดน้ำเข้าไปในบริเวณใต้ท้องรถด้วย ทั้งบริเวณซุ้มล้อ เพื่อล้างพวกเศษหิน ดิน ทราย หญ้า ใบไม้ ขยะต่าง ๆ ที่เกาะติดอยู่ ออกให้หมด โดยเฉพาะ รถที่ติดตั้งตัวกรองไอเสีย หรือ Catalytic Converter (CAT) ซึ่งมีอุณหภูมิค่อนข้างสูง ถ้าสิ่งที่ติดมาแห้งและโดนความร้อนของ CAT เข้า อาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้ 2.เช็คน้ำมันเกียร์ ว่ามีน้ำเข้าไปหรือไม่ ถ้ามีน้ำมันจะสีคล้ายสีชาเย็น ควรเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ เพราะระบบเกียร์อาจพังได้ถ้าน้ำซึมเข้าไป 3.เช็คลูกปืนล้อ ถ้าแช่น้ำนานๆ ถ้าลุยน้ำเฉยเดี๋ยวเดียวอาจไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าได้ยินเสียงดังเวลารถแล่นเร็ว อาจถึงเวลาต้องเปลี่ยน
4.ควรตรวจสอบพื้นพรมในรถ โดยเปิดผ้ายาง เปิดพรม แล้วเอามือ กดแรง ๆ ว่ามีน้ำขังอยู่ภายในห้องโดยสารหรือไม่ รื้อแล้วล้างให้สะอาด เพื่อป้องกันเชื้อโรคต่างๆ ที่มากับน้ำ 
คุณๆ ที่ไม่ได้ทันตั้งตัวกับมวลน้ำทั้งหลาย และถูกจู่โจมกระทันหันจนรถที่รักต้องจมน้ำ ผมขอแนะนำดังนี้ครับ 1.อย่าติดเครื่องยนต์รถ ที่เพิ่งเอาขึ้นจากน้ำหรือน้ำลดลงไปจากการท่วมมิดเครื่องยนต์เป็นอันขาด เพราะเครื่องยนต์จะเสียหายจากการน้ำคงค้างในห้องเผาไหม้ ทำให้เสียหายรุนแรง กระแสไฟฟ้าที่วิ่งในรถทั้งหมดจะ ช๊อตและลัดวงจรได้ หรือแม้กระทั่งการเปิด On ห้ามเปิดเด็ดขาด 2.แบตเตอรี่เก่าไม่ควรใช้ เนื่องจากน้ำเข้าผสมกับน้ำกรดภายใน เจือจางและตกตระกอน 3.กรณีต้องการเปลี่ยนแบตเตอรี่ สามารถเปลี่ยนได้หลังจากที่รถแห้ง แต่ควรตรวจเช็คระบบไฟฟ้าทั้งคันก่อนใส่แบตเตอรี่เข้าไปใหม่ (การตรวจสอบในทางเดินสายไฟ คือ ฝุ่น โคลน ตะกอนต่าง ๆ ) 4.ถ้าทราบว่า รถจมน้ำแน่นอน ควรถอดแบตเตอรี่ออกจากรถ เพื่อไม่ให้วงจรไฟฟ้าลัดวงจร 5. รถยนต์ที่จมน้ำจะเสียหายมากที่สุดคือ ภายในตัวรถ ซึ่งเป็นระบบไฟฟ้า ควรซีลประตู-หน้าต่าง-ตามรูต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหรือเข้าได้น้อยที่สุด 6.ชุดภายในรถระบบไฟฟ้า หน้าปัทม์ วิทยุ กล่องฟิวล์ แอร์ กระจก เบาะที่นั่ง ตรวจเช็คทั้งหมด ถ้าน้ำเข้าเสียหายทั้งหมด 7.ล้างระบบเกียร์ กับ ทอร์กคอนเวิร์ตเตอร์ คอยล์จุดระเบิด ระบบการแสดงผล ควรล้างเอาน้ำมันและน้ำออกให้หมด และตรวจสอบตามระบบ 8.เพลาขับ กรณีที่ยางหุ้มเพลาขาด น้ำจะเข้าไปนำเอาจารบีออกไป ต้องอัดจารบีใหม่และเปลี่ยนยางหุ้มเพลา 9. ตรวจเกี่ยวกับระบบส่งกำลังคือ ลูกปืนล้อ ช่วงล่างรถยนต์ ให้ทดสอบการวิ่ง มีเสียงหอน เสียงดังบริเวณล้อทั้ง หน้าและหลังที่มีอยู่ในรถ 10.ล้างและเปลี่ยนน้ำหล่อเย็น ประเภทของเหลวทั้งหมดภายในรถ 11. ระบบเบรก ต้องเช็คระบบทั้งหมด ผ้าเบรก ลูกยาง ลูกสูบ คาริปเปอร์ จานเบรค รถก็เหมือนคนล่ะครับ มีป่วย มีเสื่อม ยังไงก็พากันไปตรวจเช็คให้ดีนะครับ ขอขอบคุณคำแนะนำดีๆ จากพระราม 3 ฮอนด้ากรุ๊ปครับ ติดตามเราได้ที่ Aigle Magazine
Create Date : 02 ธันวาคม 2554 |
Last Update : 2 ธันวาคม 2554 15:14:29 น. |
|
0 comments
|
Counter : 917 Pageviews. |
 |
|