ปวดหลังจังเลย…


ปวดหลังจังเลย… ใครบ้างที่ไม่เคยปวดหลัง? หากถามคำถามนี้ขึ้นมาคงมีคนไม่มากนักที่ตอบว่า “ไม่เคย”
เพราะว่าร้อยละ 80 ของคนทั่วไปต่างผ่านการปวดหลังกันมาแล้วทั้งนั้น ก็อย่างที่ทราบๆ กัน กระดูกสันหลังนั้นถือว่าเป็นส่วนสำคัญมากส่วนหนึ่งของร่างกาย เพราะเป็นแกนกลางของการเคลื่อนไหว เมื่อมีอาการปวดขึ้นมาย่อมทำให้กังวลใจยิ่งนัก
ทำไมเราถึงปวดหลัง? แล้วมันอันตรายแค่ไหน? จะระวังและป้องกันอย่างไร? นั่นทำให้ต้องไปนั่งคุยกับทีมแพทย์โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ มี ศาสตราจารย์นายแพทย์เจริญ โชติกวณิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ นายแพทย์อนุกูล ธารางกูรวงศ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ (ออร์โธปิดิกส์) และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์วิศาล คันธารัตนกุล แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู พร้อมด้วยแพทย์หญิงณิฎชธร มติพัฒน์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
ที่น่าสนใจกว่านั้น ณ ปัจจุบัน โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ได้รับมาตรฐาน CCPC (Clinical Care Program Certification) ด้านโรคปวดหลังจาก JCI (Joint Commission International) ซึ่งเป็นสถาบันที่ให้การรับรององค์กรที่ให้บริการสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา
หากถามว่าอาการปวดหลังเกิดกับใคร? คำตอบคืออาการปวดหลังมักจะเป็นกับวัยทำงานเสียเป็นส่วนใหญ่ นั่นคือคนที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี สาเหตุจากการพลัดตก นั่งผิดท่า นั่งขับรถนานๆ นั่งหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ การยกของหนักโดยไม่ระมัดระวัง การทำงานเกี่ยวกับดึงรั้งผลักดันสิ่งของหนักๆ เหล่านี้ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ ส่วนผู้ที่สูงอายุ ตั้งแต่อายุ 50-60 ปี อาการปวดหลัง มักเกิดจากความเสื่อมของข้อต่อ หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน กระดูกสันหลังคดงอ กระดูกยุบ หรือหักพรุน นอกจากนั้นยังสามารถเกิดจากการติดเชื้อ บาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุ เนื้องอกในกระดูกสันหลัง เนื้องอกของเนื้อเยื่อประสาท เป็นมะเร็งที่อื่น เช่น ปอด ตับ ต่อมไทรอยด์ หรือต่อมลูกหมาก แล้วกระจายมาที่กระดูกสันหลัง และสิ่งที่มักไม่มีใครคาดคิด ก็คือบุหรี่นี่แหละ มันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราปวดหลังได้ เพราะสารพิษของมันจะทำให้เกิดการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังค่อนข้างเร็ว ทำให้กระดูกบางและพรุน และทำให้ข้อต่อของกระดูกสันหลังเสื่อมเร็ว เช่นเดียวกับคนอ้วน มีน้ำหนักเยอะก็เกิดอาการปวดหลังได้ ตามปรกติผู้ที่มาหาหมอด้วยอาการปวดของร่างกายมักจะมีอาการปวดที่ข้อเข่า ไหล่ คอ และหลัง โดยอาการปวดหลังจะเป็นประมาณ 30% ของอาการปวดของคนที่มีมาหาหมอ
อาการปวดหลังจะมีสองแบบ คือปวดที่หลัง และปวดร้าวลงขา อาการปวดที่หลังจะปวดตื้อๆ ปวดตึงๆ และอีกอย่างหนึ่ง คือหลังแข็ง ก้มไม่ค่อยลง ส่วนอาการปวดร้าวลงขา จะเกิดจากโพรงหรือช่องกระดูกสันหลังตีบ จะมีอาการปวดชาๆ ถ้าเคลื่อนมากจะกดทับรากประสาทสันหลัง มีผลทำให้ขาชาไม่มีแรง เมื่อหมอตรวจแล้วกล้ามเนื้อไม่อ่อนแรง การวินิจฉัยอาการปวดหลังนั้น จะดูจากประวัติปวดหลัง การตรวจร่างกาย แต่บางครั้งอาจต้องถ่ายภาพรังสี ตรวจด้วยเครื่อง CT.MRI เพื่อการวินิจฉัยที่ละเอียดขึ้น ถ้ามีอาการปวดหลัง ปวดร้าวลงขาร่วมด้วยซึ่งที่นี่ก็มีเครื่องมือที่ทันสมัยและมีความปลอดภัยสูง สำหรับกระบวนการรักษา จะมีทั้งการให้ความรู้คนไข้ ให้ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ และการผ่าตัด
หลังจากนั้นจะมีการฟื้นฟูร่างกาย โดยหมอจะแนะนำให้เคลื่อนไหวร่างกายเท่าที่จะทำได้ ไม่ให้นอนพักนานเกินสองสามวัน เพราะหากนอนพักนานจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมทั้งแนะนำท่านอนท่านั่ง ท่ายกของ การขับรถต้องปรับเก้าอี้นั่งให้ถูกต้อง เมื่อหายปวดก็จะกระตุ้นกล้ามเนื้อให้แข็งแรง เพราะมิฉะนั้นจะกลับมาเป็นอีก โดยจะยืดกล้ามเนื้อหลังและสะโพก เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ยืดกล้ามเนื้อลำตัวเพื่อพยุงกระดูกสันหลังหากรักษาอย่างถูกวิธี รู้แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องจะทำให้กล้ามเนื้อกลับมาใกล้เคียงกับปรกติ แต่หากว่าแพทย์วินิจฉัยแล้วว่ามีข้อบ่งชี้ว่าจำเป็นจะต้องผ่าตัด เช่น มีอาการปวดหลังมากและร้าวลงขา ขาไม่มีแรง ขาชา มีไข้ โดยปรกติจะมีคนไข้ต้องผ่าตัดประมาณ 15%
แล้วเราจะทำอย่างไรที่จะให้กระดูกสันหลังคงสภาพดี ไม่สึกหรอง่าย? คำแนะนำของคุณหมอคือ ให้นั่งหลังตรงมีพนักพิง ไม่นั่งผิดท่านานเกินไป เวลายืนให้ขาหย่อน อย่าเอื้อมแขนยกของสูง ดันดีกว่าดึง ย่อตัวยกอย่าก้มยกของ หิ้วของหนักพอประมาณด้วยแขนทั้งสองข้าง นอนให้ถูกท่า อย่าปล่อยตัวให้อ้วน ไม่ควรสูบบุหรี่ ออกกำลังกายให้เหมาะสมเป็นประจำ และรีบพบแพทย์ทันทีเมื่อเริ่มปวดหลัง ฉะนั้นจึงพึงระวังไว้เรื่องการปวดหลังไม่ใช่เรื่องล้อเล่นควรจะปรึกษาแพทย์มิฉะนั้นมันอาจจะลุกลามรุนแรงถึงขั้นต้องผ่าตัดกันเลยทีเดียว
.........................................................................................
อาการปวดหลังที่ต้องรีบไปพบแพทย์ 1.อาการปวดหลังต่อเนื่องเกิน 4 สัปดาห์ ซึ่งมีสาเหตุจาก - หมอนรองกระดูกสันหลังเลื่อน - ข้อต่อกระดูกสันหลังเลื่อน - หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับรากประสาทสัมผัส - ช่องไขสันหลังตีบแคบ มีอาการปวดหลัง ชาลงขาเวลาเดิน เมื่อหยุดพักอาการดีขึ้น - กระดูกสันหลังเคลื่อน ปวดร้าวลงขา โดยเฉพาะเวลายืนหรือเดิน - กระดูกสันหลังคด 2.อาการปวดหลัง ภายหลังก้มยกของ เกิดจากกระดูกสันหลังพรุนหักยุบ 3.อาการปวดหลัง ปวดร้าวลงขา ชาขา 4.อาการปวดหลังและปวดขา เป็นมากขึ้นเมื่อเหยียดเข่า ยกขาสูง หรือก้มหลัง 5.อาการปวดหลังมากเมื่อหกล้ม ก้นกระแทกพื้น 6.เคยมีประวัติเป็นเนื้องอก มะเร็ง แล้วมีอาการปวดหลัง ประกอบกับมีน้ำหนักตัวลด 7.ปวดหลังและมักมีไข้ตอนกลางคืน น้ำหนักตัวลด 8.มีอาการผิดปกติในระบบขับถ่าย กลั้นปัสสาวะไม่ได้ มีอาการชารอบๆ ทวารหนัก
ด้วยความปรารถนาดีจาก โรงพยาบาลสมิติเวช //www.samitivejhospitals.com/healtharticle_detail/ปวดหลังจังเลย…_471/th
Create Date : 23 กุมภาพันธ์ 2554 |
Last Update : 23 กุมภาพันธ์ 2554 18:09:05 น. |
|
1 comments
|
Counter : 1318 Pageviews. |
 |
|
|