Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
10 กรกฏาคม 2555
 
All Blogs
 
ฉลาดด้วยหัวใจ

โดย: ดัชนี

ยุคนี้ใครๆ ก็อยากเลี้ยงลูกให้ฉลาดด้วยกันทั้งนั้น แต่ความฉลาดมาจากไหนล่ะ แน่ใจหรือว่าความฉลาดเริ่มจากสมองดี ?

รักลูกเก็บเอาเนื้อหาส่วนหนึ่งจากงานอบรมคนรักลูก กิจกรรมที่นิตยสารรักลูกจัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งมี รศ.พญ.นิตยา คชภักดี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก มาบรรยายให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่อง Head Start- Heart Start เลี้ยงลูกให้ฉลาดรอบด้านมาฝากคุณพ่อคุณแม่ หวังว่าข้อมูลใหม่ๆ เช่นนี้จะช่วยให้คุณรู้วิธีเลี้ยงลูกยุคใหม่ให้มีคุณภาพตั้งแต่แรกเริ่ม

คำว่า Head Start คุณพ่อคุณแม่อาจจะคิดว่า หมายถึงการเริ่มพัฒนาที่สมองลูก แต่จริงๆแล้ว คำนี้มีมาอย่างนี้ค่ะ

คือในช่วงประมาณปี .ศ.1960-70 ราว 30 ปีก่อน ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศผู้นำและเจริญก้าวหน้าอย่างมากก็ยังมีเด็กที่ด้อยโอกาสอยู่มาก โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในเมือง ซึ่งมีทั้งเด็กในครอบครัวยากจนและเด็กมาจากครอบครัวชั้นกลางแต่พ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลลูก เด็กเหล่านี้เมื่อเข้าโรงเรียนก็จะเรียนได้ไม่ดี ประกอบกับในช่วงเวลานั้น กำลังมีความสนใจเรื่องสมองและการพัฒนาสมองกันอย่างกว้างขวาง อย่างที่ญี่ปุ่นก็เคยมีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า"รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว"

จึงเกิดการศึกษาวิจัยในมหาวิทยาลัยหลายๆแห่ง ทำโครงการการทดลองวิจัยการพัฒนาทางด้านสติปัญญาของเด็ก เช่นให้อาหารที่มีคุณค่าแก่เด็ก ให้พ่อแม่สอนลูก และให้เด็กเล็กๆ เข้าเรียนในชั้นอนุบาลที่มีการกระตุ้นการเรียนรู้ตั้งแต่ 3-5 ขวบ

คำว่า Head Start ในตอนนั้นจึงหมายถึงการส่งเสริมให้เด็กที่ขาดโอกาสมีโอกาสในการเริ่มต้นเรียนรู้ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจัดเป็นโครงการให้รัฐต่างๆ ดำเนินการ แล้วก็มีการติดตามผลว่าเด็กที่ผ่านโครงการนี้เป็นอย่างไร ผลการเรียนรู้เป็นอย่างไร ไอคิวเป็นอย่างไร

แรกๆ พบว่าเด็กที่อยู่ในโครงการ ไอคิวจะเพิ่มขึ้น แต่พอออกจากโครงการก็กลับไปเหมือนเดิม จนประมาณปี ค.ศ.1980 หลายๆรัฐล้มเลิกโครงการนี้ไป เพราะไม่เห็นว่าได้ผลในระยะยาว


แต่ผลที่ติดตามในระยะยาวมาจนถึงปัจจุบันนี้ จนเด็กอายุ 20 กว่าปีมีความสำคัญมาก ผลการวิจัยมีทั้งกลุ่มที่ไม่ได้ผลมากนัก สติปัญญาดีเด็กอาจจะดีในช่วงที่อยู่ในโครงการ แต่ในระยะยาวไม่ดี แต่ก็มีบางกลุ่มได้ผลดีมาก ไอคิวดี เรียนรู้ได้ดี แถมยังจิตใจดี มีความมานะบากบั่น

กลุ่มแรกที่ไม่ได้ผลปรากฏว่าเป็นกลุ่มเด็กที่ไม่มีการช่วยเหลือไม่มีการสอนให้พ่อแม่รู้จักการเลี้ยงดูลูกให้ถูกวิธี เด็กกลุ่มนี้มักจะไม่ประสบความสำเร็จ มักไม่เรียนต่อใน ระดับสูง มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ติดยาเสพย์ติด แต่งงานเร็ว มีลูกนอกสมรส ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต

แต่กลุ่มที่พ่อแม่มีส่วนร่วม และมุ่งเน้นให้พ่อแม่เข้าใจลูก รู้จักฝึกให้ลูกตัดสินใจด้วยตัวเอง ฝึกให้ลูกควบคุมจากภายในของตัวเอง เด็กกลุ่มนี้จะรู้จักอดทน อดกลั้น เข้ากับ เพื่อนได้ดี ให้ผลดีในระยะยาว และสามารถต่อสู้อุปสรรคในชีวิต

ดังนั้นใน 7-8 ปีที่ผ่านมา จึงมีนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเห็นว่า ถ้ามุ่งเน้นเรื่องสมอง สติปัญญาความสามารถอย่างเดียวไม่พอ ต้องมาเน้นทางด้านจิตใจ บุคลิกภาพ และอารมณ์ด้วย ดังนั้นเวลานี้ในสหรัฐอเมริกาที่เป็นต้นฉบับของการทำโครงการ Head Start จึงหันมาให้ความสนใจเรื่อง Heart Start ด้วย คือการพัฒนาให้เด็กมีหัวใจเป็นมนุษย์ มีจิตใจที่ใฝ่เรียนรู้ และต้องพัฒนาเด็กกันตั้งแต่แรกเกิด ไม่ใช่เริ่มเมื่อวัย 3-5 ปี

ในศตวรรษนี้ กระแสใหม่ของการพัฒนาเด็ก จึงไม่ใช่เลี้ยงลูกให้โตแต่ตัว แต่คิดไม่เป็น หรือฉลาดอย่างเดียวแต่นิสัยและพฤติกรรมไม่ดี จุดมุ่งหมายในการเลี้ยงลูกในศตวรรษนี้ ก็คือ ลูกจะต้องมีร่างกายเจริญเติบโตดี มีจิตใจเป็นมนุษย์ มีความรู้สึกนึกคิดที่ดี มีทักษะทางอารมณ์ที่เราเรียกกันว่า มีอีคิวดี มีทักษะในการสื่อสาร คือ คิดเป็นทำเป็น แล้วก็ต้องแสดงออกเป็น ไม่เช่นนั้นคนอื่นจะไม่เข้าใจเรา ต้องมีมนุษยสัมพันธ์เข้ากับคนอื่นได้ และสำคัญมากที่สุดคือต้องมีคุณธรรม จริยธรรม หรือบางคนบอกว่าต้องมีพัฒนาการทางจิตวิญญาณ รู้คุณค่าของชีวิต

และสิ่งเหล่านี้เราจะต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เล็ก ที่จริงเริ่มได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ที่ลูกอยู่ในครรภ์แม่เลยทีเดียว เพราะตอนนั้นลูกดิ้นแล้วสามารถสื่อสารกับพ่อแม่ได้ อย่างเช่นตอนคุณแม่ฟังเพลงเพราะๆ สบายใจ คุณพ่อช่วยนวดหลังให้ จะรู้สึกว่าลูกเคลื่อนตัวอย่างสบายๆ หรือถ้าใครปิดประตูดังปัง ลูกอยู่ในท้องจะสะดุ้งด้วย ช่วงนี้ทั้งคุณพ่อคุณแม่ สามารถสื่อสาร สร้างความรู้สึกที่ดีให้ลูกได้แล้ว

ความสามารถในการเรียนรู้ของลูกจะมากขึ้นเป็นลำดับ เมื่อลูกครบกำหนดที่จะคลอด ลูกหนัก 3 กิโลกรัม สมองของลูกจะหนัก 3 ขีดกว่าๆ คือหนัก 1 ใน 3 ของสมองผู้ใหญ่ เซลล์สมองต่างๆ งอกงาม และงอกเส้นใยออกมาเชื่อมต่อกัน เซลล์สมองเหล่านี้เองที่ทำให้ลูกมีความสามารถ เป็นคนเก่ง คนดีได้ทั้งนั้น

การเรียนรู้ของลูกจึงเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนี้ พอเกิดมาหนูก็มีความสามารถ มองเห็น ได้ยินเสียง รู้สึกสัมผัสต่างๆ เลียนแบบก็ได้ด้วย สิ่งที่ตาลูกได้เห็น หูได้ยิน มือได้สัมผัสจับ ต้อง ประสาทสัมผัสทั้งหมดถูกส่งเข้าไปในสมอง กลายเป็นกระแสประสาท เป็นพลังงานไฟฟ้าเล็กๆ และสารเคมีหลั่งออกมา ยิ่งหลั่งเซลล์ประสาทยิ่งแตกกิ่งก้านสาขา เซลล์ไหน ไม่ได้รับการกระตุ้นก็จะสลายตัวไป

มีการศึกษาวิจัยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า เด็กที่ไม่ได้รับการอุ้มชูด้วยความรัก ไม่มีคนคุยด้วย ไม่มีคนโอบอุ้มดูแลเอาใจใส่ สมองส่วนหน้าจะไม่โต ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ควบ คุมอารมณ์ บุคลิกภาพ การตัดสินใจ ความฉลาด สติปัญญา เช่นเด็กที่ถูกกระทำทารุณ ถูกทอดทิ้ง

พ่อแม่บางคนอาจจะคิดว่าตัวเองไม่เห็นได้ทอดทิ้งลูก แต่จริงๆ แล้วลูกอาจเป็นกำพร้าเทียมก็ได้ เช่น จ้างคนมาเลี้ยงลูกแล้วพ่อแม่ ก็ไม่เอาใจใส่ ซึ่งก็ทำให้ลูกไม่มี คุณภาพได้เช่นกัน

มีการศึกษาในหนูทดลอง หนูที่เกิดมาใหม่ๆ ตายังไม่ลืม ปกติหนูจะใช้หนวดคลำหาทาง สัญญาณประสาทจะเข้าไปถึงสมองตัวรับประสาทนั้นๆ นักวิจัยลองตัดหนวดหนูเป็นตาหมากฮอส แล้วดูสมอง สมองจะงอกเป็นตาหมากฮอส หนวดตรงไหนถูกตัดสัญญาณประสาทตรงนั้นก็ไม่โต

การเจริญพัฒนาของสมองแต่ละส่วนมันมีช่วงจำกัด ต้องกระตุ้นภายในเวลาที่จำกัดช่วงหนึ่ง อย่างเช่นตาแมว ต้องกระตุ้นภายใน 53 วัน ถ้าปิดตาแมวตั้งแต่แรกเกิดไป 53 วัน ตาแมวจะบอดไปเลย หรืออย่างเช่นคนเราในช่วง 6 ปีแรก ถ้าไม่ค่อยได้ดูอะไรที่มีระยะลึกตื้นในลักษณะสามมิติ ก็จะไม่รู้จักเรื่องมิติ อย่างนี้เรียกว่า ช่วงหน้าต่างของโอกาส

ในช่วงหน้าต่างของโอกาสนี้ ขณะที่สมองกำลังเจริญเติบโต ต้องการการกระตุ้นและสิ่งเร้าประสาทสัมผัส ตาต้องได้ดู หูต้องได้ฟัง ถ้าคุณอยากให้ลูกรู้จักคุณ คุณก็ต้องให้ลูกเห็นหน้า

มีแม่คนหนึ่งพาลูกมาหาหมอ บอกว่าลูกไม่พูด แต่เขาก็กระตุ้นนะ ถามว่ากระตุ้นอย่างไร แม่คนนี้บอกว่า นับ 1-10 ให้ลูกฟังทุกวัน แบบนี้ลูกถึงไม่พูด ไม่มองหน้าแม่ ไม่สบตา พ่อแม่ทำสิ่งที่ดีแต่ผิดจังหวะ ถ้าไปทำตอนที่ลูกมองหน้าสบตาแม่แล้ว พูดกันรู้เรื่องแล้ว 2-3 ขวบขึ้นไป ลูกจะได้ประโยชน์มาก

แต่ละช่วงอายุของเด็กจะมีพัฒนาการไม่เหมือนกัน และสมองของคนเรามี 2 ซีก ซึ่งแต่ละซีกทำงานต่างกันมาก คนที่ถนัดขวาสมองซีกซ้ายจะดูแลการทำงานของมือขวา ไขว้กับสมองซีกซ้าย ซึ่งดูแลเรื่องการเรียนรู้ภาษา เรียนรู้เลข ตรรกะวิทยา เหตุและผล ความนึกคิดเป็นเหตุผล ส่วนสมองซีกขวาควบคุมมือซ้าย สมองส่วนนี้จะดูแลเกี่ยวกับเรื่อง ศิลปะ ดนตรี ความรู้สึกนึกคิด ความซาบซึ้งในวรรณคดี ในความรัก ความซื่อสัตย์ คุณธรรม มิติสัมพันธ์ เช่นรู้เรื่องมิติ ตื้น ลึก หนา บาง แต่กิจกรรมหลายๆ อย่างก็ต้องใช้มือทั้งสองทำงานร่วมกัน

เพราะฉะนั้น Head Start ที่มุ่งเน้นแต่สมองซีกซ้ายอย่างเดียวจึงไม่พอ สมองของคนเราในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกก็สำคัญด้วย นอกจากส่วนของก้านสมองที่เจริญเติบโตตั้งแต่ลูกอยู่ในท้องแม่ มีหน้าที่ควบคุมการเต้นของหัวใจ การหายใจ อุณหภูมิของร่างกาย แล้วก็ยังมีสมองตรงกลางที่ควบคุมเกี่ยวกับสัญชาตญาณ ความหิว ความอิ่ม ความโกรธ ความรัก ความก้าวร้าว สมองส่วนนี้จะเจริญเติบโตเมื่อเกิดมาแล้วจนถึงอายุ 4-5 ขวบ บางทีเราจะเห็นเด็กขวบ 2 ขวบเจ้าอารมณ์ ..เวลาอยากได้อะไรก็จะเอาให้ได้เดี๋ยวนี้

สมองตรงนี้ทำงานมาก ถ้าควบคุมไม่ค่อยได้ เวลาเราโกรธ น้อยใจ เศร้า จะทำให้เรียนรู้ได้ดียาก เพราะฉะนั้น Head Start ที่ถูกต้องหรือการเริ่มต้นที่ถูกต้องสำหรับ เด็กเล็กๆ ไม่ใช่ด้วยการสอนเรื่องวิชาความรู้ เช่น สอน ก-ฮ A-Z นับเลข พูด 2-3 ภาษา โดยที่ไม่รู้ความหมาย ไม่มีความรู้สึก ไม่มีความสัมพันธ์ผูกพันกับพ่อแม่หรือมนุษย์ด้วย กัน ให้ความสนใจแต่สมองที่เกี่ยวกับสติปัญญา ซึ่งเป็นส่วนที่เจริญเติบโตต่อมาภายหลัง และเติบโตไปเรื่อยๆจนถึงอายุ 13 ปี

ตรงเปลือกสมองเป็นส่วนที่ทำให้เรามีสติปัญญา รู้จักคิดวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา แต่สมองทั้งหมดเชื่อมโยงกัน และสมองส่วนกลางที่ควบคุมอารมณ์บางครั้งเกิดลัดวงจร เช่น มีคุณหมอคนหนึ่งมีคนมาจอดรถขวางหน้าบ้าน เขาเอารถออกไม่ได้ โมโห ทำร้ายเจ้าของรถคันนั้น เลยต้องถูกให้ออกจากราชการ คุณหมอคนนี้รู้ทั้งรู้ว่าทำอย่างนี้แล้วจะมีผลอย่างไร แต่สมองส่วนอารมณ์มันควบคุมไม่ได้ นี่แหละที่ดร.โกลด์แมนพูดถึงเรื่องอีคิว ทำไมบางคนฉลาด แต่ไม่เฉลียว ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ ซึ่งเด็กเดี๋ยวนี้เป็นกันมาก

เพราะฉะนั้นอยากเน้นว่าพ่อแม่อย่าเน้นให้ลูกเก่งตั้งแต่เล็ก อย่าไปเน้นเรื่องความเก่งความฉลาดจนไม่พัฒนาให้ลูกรู้จักตัวเอง รู้จักพ่อแม่ รู้จักสื่อสาร เข้าใจตัวเอง เข้าใจคนอื่น รู้อะไรควรไม่ควรเสียก่อน ซึ่งอย่างน้อยก็ควรจะพัฒนาไปพร้อมๆกัน

มีเด็กคนหนึ่งออกทีวี ใครๆ ก็ชมว่าเด็กคนนี้เก่งจัง ท่องปฏิทินได้ทั้งเล่ม เรียกว่าเป็นอัจฉริยะ แต่เราจะให้ลูกท่องไปทำไม มันกินที่ในสมองโดยไม่จำเป็น หรือบางคนก็ ชอบให้ลูกดูโทรทัศน์ นึกว่าทีวีทำให้ลูกพูดเร็ว ตรงกันข้ามโดยเฉพาะเด็กในช่วง 2 ขวบแรก จริงๆไม่ควรให้ดูโทรทัศน์ เพราะมีการเคลื่อนไหวอย่างเร็วๆ เช่น โฆษณา มีเพลง มีเสียงสนุกๆ พ่อแม่บางคนงานยุ่งมาก เลยฝากลูกให้ทีวีเลี้ยงก็แล้วกัน พ่อแม่จะไม่มีความหมาย เพราะหนูจะรู้ก็ต่อเมื่อได้รับสัมผัส ตาได้เห็น หูได้ยิน เข้าไปในสมองน้อยๆ เกิดเป็นความจำขึ้นมา แล้วเก็บเป็นความจำระยะยาว


ในเรื่องของ Heart start หรือการเริ่มต้นให้ลูกพัฒนาความรู้สึกนึกคิดจิตใจ มีปัจจัยอยู่ 3 อย่างด้วยกันที่จะทำให้ลูกพัฒนาได้ดีหรือไม่

1. ตัวของลูกเอง ซึ่งมาจากพันธุกรรม ร่างกายของลูกแข็งแรงดีไหม เขาถูกกระทบกระเทือนหรือผิดปกติหรือเปล่า ถ้าร่างกายของลูกดี ก็มีแรงผลักดันภายในโดย ธรรมชาติที่อยากจะทำอะไรที่เก่งขึ้น ดีขึ้น เช่น เมื่อนั่งได้แล้วก็อยากจะคลาน ยืน เดิน ทำให้ลูกอยากก้าวไปข้างหน้า ตรงนี้สำคัญมาก เพราะเด็กแต่ละคนจะมีลักษณะแตกต่างกัน ตั้งแต่เกิด บางครั้งเด็กวัยเดียวกันก็ไม่สามารถเอามาเปรียบเทียบกันได้

2.ความรู้สึกจากภายในของลูก ที่รู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถ เช่นถ้าลูกหยิบของเข้าปากลูกก็จะได้ชิม ถ้าลูกลุกขึ้นยืนก็จะเห็นโลกเปลี่ยนไป ลูกจะรู้สึกว่าตัวเองเก่ง มีความสามารถ ทำได้ อยากทำอีก ไม่ต้องมีใครชม ลูกรู้ได้ด้วยตัวเอง ตระหนักในตัวเอง ความรู้สึกเช่นนี้เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับพัฒนาการทางด้านจิตใจ ภูมิคุ้มกันต่อยาเสพย์ติด ต่อความก้าวร้าว การกระทำผิดต่างๆ ความรู้สึกซึมเศร้าถึงฆ่าตัวตาย ลูกโตขึ้นจะมีจิตใจที่เข้มแข็ง สามารถฝ่าฟันอุปสรรค แก้ปัญหา ภูมิใจในตัวเอง

พยายามให้ลูกเกิดตรงนี้ ด้วยการเปิดโอกาสให้ลูกทำอะไรด้วยตัวเอง ได้ใช้ความสามารถของตัวเอง พ่อแม่เป็นสิ่งแวดล้อมที่คอยสนับสนุน แต่พ่อแม่บางคนอาจจะชมลูก มากไป คือชมไปเสียหมด ชมมากเกินความสามารถที่ลูกทำได้ เมื่อออกสู่สังคมภายนอก ลูกจะเสียใจหากไม่ได้รับคำชม และจะปรับตัวกับสังคมภายนอกได้ยาก

ท่านธรรมปิฎกเคยเทศน์ว่า"อย่าเลี้ยงลูกให้เข้าใจผิด" ลูกจะกลายเป็นคนมีทุกข์ง่าย เปราะบาง ไม่อดทน เพราะพ่อแม่ทำให้ทุกอย่าง ขอให้ลูกอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เขาควบคุมได้ดีกว่า ขอให้คุณคิดว่าเขาเป็นมนุษย์อีกคนหนึ่ง ในทางตรงข้ามพ่อแม่บางคนก็ไม่กล้าแสดงความชื่นชมลูก กลัวลูกเหลิง

การที่เราจะเลี้ยงลูกให้มีความมั่นใจ ใฝ่เรียนรู้ มีทักษะเบื้องต้นที่จะทำอะไรต่อไป คุณจำเป็นต้องสังเกตลูก ว่าลูกมีพัฒนาการช่วงนี้ไปถึงไหน แล้วคุณให้เขาลงมือลอง ทำ ให้ตัดสินใจเอง แล้วประเมินผลด้วยตัวเอง หนูทำแล้วชอบมั้ย.. ลูกจะเริ่มเห็นคุณค่าของตัวเอง เห็นคุณค่าในสิ่งที่ตัวเองทำ จัดกิจกรรมที่พ่อแม่ได้ทำร่วมกับลูก โดยให้ความสนใจความคิด ความรู้สึกของลูก แล้วให้ลูกค่อยๆสร้างทักษะทีละขั้น ได้ภาคภูมิใจในความสำเร็จเหล่านั้น เรียนรู้ความผิดพลาดด้วยตัวเอง หาทางแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง แต่ต้องจบด้วยลูกทำได้ และถ้าเราฝึกลูกจากสิ่งที่ง่ายมายาก ลูกก็จะมีจิตใจเข้มแข็งมุ่งมั่น รักตัวเอง รักครอบครัว อยากทำอยากเรียนรู้ อย่างนี้ถึงจะเกิด Head Start ที่ดีค่ะ

ทีนี้คงได้คำตอบแล้วใช่ไหมคะว่า ถ้าเราจะพัฒนาสมองลูก ต้องเริ่มต้นที่หัวใจก่อน พัฒนาความเป็นมนุษย์ ที่มีชีวิตจิตใจและความรู้สึกที่ดีงามทั้งต่อตัวเองและโลกภายนอก เมื่อนั้นสติปัญญาและความฉลาดก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเกิดขึ้นกับลูกหรอกค่ะ


จาก: นิตยสารรักลูก






Create Date : 10 กรกฎาคม 2555
Last Update : 10 กรกฎาคม 2555 21:05:01 น. 0 comments
Counter : 874 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ลูกน้ำกว๊าน
Location :
พะเยา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ยินดีต้อนรับทุกท่าน นะคะ




อยากมีและอยากรู้จัก เพื่อนที่มีที่มาต่างกัน และอยากร่วมแชร์ ประสบการณ์ให้คนอื่น ได้รับรู้บ้าง เพื่อนๆชาว บลอคแกงค์เป็นอะไรที่ ใช่เลย ที่คอยอยู่ด้วยกัน ตลอดเวลา พอเรา เปิดดูครั้งใดก็จะมีคน นั่งเขียนบลอก นั่งอยู่ที่ หน้าจอ คอยเป็นเพื่อน กันเสมอ รัก ทุกคนใน บลอกแกงค์ ค่ะ
: Users Online
Friends' blogs
[Add ลูกน้ำกว๊าน's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.