ตามเอ๋ย ตามใจ แค่ไหนถึงจะดี
โดย: พัดโบก ถ้าลูกน้อยของคุณเพิ่งลืมตาดูโลกได้เพียง 6 เดือน(แรก) ก็ยังไม่มีความจำเป็นที่จะปรับนิสัยของเขาตั้งแต่ตอนนี้หรอกนะคะ เพราะวัยนี้เขาจะร้องเมื่อต้องการการตอบสนองตามธรรมชาติ เช่น ร้องเมื่อเริ่มหิว ร้องเมื่อขับถ่าย เป็นต้นเท่านั้น แต่ถ้าเป็นวัยครึ่งปีหลังนี่แหละค่ะตัวดีนักเพราะเขามีพัฒนาการขึ้นมาก เริ่มร้องไห้โยเยอ้อนนู่นอ้อนนี่แล้ว จนบางทีทำให้เราเริ่มสับสนว่าที่ร้องเนี่ยต้องการอะไรกันแน่ เช่นตอนนี้เขาชอบร้องอ้อนให้อุ้ม ถ้าเราไม่รู้ก็ให้นม ให้ของเล่น ลูกคงยากที่จะหยุดร้อง เพราะเจ้าตัวดีรู้แน่ว่าแม่ต้องอุ้มขึ้นมาปลอบ อาการของเด็กที่ทำให้เรากลัวที่สุดเห็นจะเป็นการร้องดั้นคือการร้องไห้อย่างรุนแรงเสียงดังกลั้นหายใจจนหน้าซีดปากเขียวคล้ำ จนบางครั้งตัวเด็กจะแอ่นไปข้างหลังคล้ายอาการชัก และที่สำคัญเด็กจะเป็นบ่อยขึ้นหลังจากที่เขาพบว่าทำอย่างนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่ตกใจ ซึ่งนักจิตวิทยาเชื่อว่าสาเหตุที่เด็กร้องดั้นขึ้นมาเพราะใน 3 เดือนแรกหลังเด็กเกิด เขาถูกปล่อยให้ร้องไห้อยู่ตามลำพังโดยไม่มีใครตอบสนองจนเด็กเกิดการเรียนรู้การร้องดั้น จึงทำให้คุณพ่อคุณแม่ตกใจเพราะความน่ากลัวของอาการ จึงตามใจเด็กจนเกินขอบเขต ซึ่งหากเด็กถูกขัดใจก็จะเกิดอาการร้องดั้นอย่างรุนแรงและทวีคูณขึ้นเมื่อเด็กโตขึ้น พออายุประมาณสักสองปีเด็กก็จะเปลี่ยนจากอาการร้องดั้นเป็นอาการนอนชักดิ้นลงกับพื้นฟาดแขนฟาดขาอย่างกับปิศาจตัวน้อยๆเลยล่ะค่ะ
หากเราปล่อยปัญหาให้เด็กเอาแต่ใจตัวเองอย่างนี้ต่อไปล่ะก็คงไม่แคล้วต้องมาปวดหัวภายหลัง เพราะเด็กเมื่อเริ่มมีอายุมากขึ้นก็จะสอนได้ยากขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่น เมื่อตอนเด็กเราตามใจให้เขานอนอยู่กับเราแต่เมื่อเขาเริ่มโตขึ้น ก็ยังไม่ยอมที่จะแยกห้องนอนอีก ซึ่งในอนาคตเขาจะเป็นคนที่ไม่กล้าตัดสินใจ ขาดความเชื่อมั่นในตนเองส่วนเด็กที่ถูกพ่อแม่ตามใจมากๆ ก็จะเป็นเด็กเจ้าอารมณ์ มีความอดทนน้อย เข้ากับคนอื่นได้อยากเพราะคนอื่นอาจไม่ตามใจเขาเหมือนพ่อแม่ เด็กจะมีความกังวลสูงกว่าเด็กทั่วไป ฟังๆดูแล้วได้ค่อยดีเท่าไรเลยนะคะ เรามาลองมองรอบๆตัวกันสิคะว่ามีสาเหตุอะไรอีกหรือเปล่า ที่ทำให้ลูกเราเป็นเด็กเอาแต่ใจ แรกเริ่มของการเลี้ยงดู สำคัญนักเชียว อย่างแรกคุณต้องเริ่มสังเกตก่อนว่าเวลาลูกร้องเพราะหิวนมมีลักษณะอย่างไร ปวดท้องอึเป็นอย่างไร และต้องคอยสังเกตให้ดี แบบว่าต้องทันเกมลูกกันหน่อย แต่ไม่ใช่กังวลเกินกว่าเหตุนะคะ กลัวว่าลูกจะเอาแต่ใจตัวเองเลยไม่ยอมอุ้มไม่ยอมสนใจกันเลย ลูกน้อยยังเป็นวัยที่ต้องการความรักความอบอุ่นอยู่มาก ต้องการให้มีคนมาอุ้มมากอดมาใส่ใจให้ความอบอุ่นอยู่ค่ะเพราะถ้าคุณให้ความอบอุ่นน้อยเกินไปจะไม่เกิดการกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้และมีพัฒนาการได้อย่างสมบูรณ์ ประเด็นนี้มีตัวอย่างค่ะ เพราะมีการทำวิจัยและสำรวจในกลุ่มเด็กกำพร้าที่ขาดความรักและการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดเท่าที่ควรจะเป็น พบว่าเด็กกลุ่มนี้จะมีน้ำหนักน้อยและการเจริญเติบโตของสมองก็ช้ากว่าเด็กปกติด้วย ในวัย 0-1 ปีโดยทั่วไปแล้ว เด็กต้องมีสิ่งกระตุ้นเพื่อให้ได้เรียนรู้ เช่นการที่พ่อแม่มีเวลาดูแล ใส่ใจอย่างใกล้ชิดนั้นเป็นการสร้างโอกาสและช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของลูกได้ดี เพราะเมื่อใดก็ตามที่คุณใส่ใจเขาน้อยเกินไปเมื่อนั้นย่อมหมายถึงจะทำให้โอกาสที่จะเรียนรู้ถูกขัดขวาง ลูกจะค่อยๆหยุดการกระทำนั้นเสีย แต่จะหันมาเปลี่ยนพฤติกรรมแทน เช่น เก็บเนื้อเก็บตัว เก็บกด อารมณ์เสียง่าย ไม่สนใจต่อสิ่งแวดล้อม ชอบอยู่คนเดียวและมักมีปัญหาทางจิต แล้วจะทำอย่างไรกันดีละ เพราะดูเหมือนว่าใส่ใจลูกมากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ดี ต่อไปนี้คือคำตอบที่ช่วยแก้ปัญหาแบบสมดุลค่ะ - เมื่อเด็กร้องไห้ในระดับปกติยังไม่ต้องรีบเข้าไปดูทันที ต้องพิจารณาก่อนว่าเด็กเป็นอะไร บางครั้งอาจให้เด็กร้องสักแป๊บก่อนแล้วจึงเข้าไปดู - สังเกตพฤติกรรมเด็กว่าเด็กต้องการอะไร เรื่องกิน นอน ขับถ่าย หรือไม่สบาย - ตอบสนองในสิ่งที่เด็กต้องการอย่างเต็มที่ ไม่ใช่เอาทุกอย่างมาให้เด็กพร้อมกัน - ฝึกวินัยให้ลูกทำกิจกวัตรประจำวันอย่างเป็นเวลา เช่น กิน นอน ขับถ่าย - ให้ความรักความเอาใจใส่อย่างเพียงพอ - หาเครื่องปลอบใจให้เด็ก เช่น ตุ๊กตาหมอนหรือผ้าห่มนิ่มๆ(ไม่ควรเป็นขนเพราะเด็กอาจแพ้เกิดอาการหอบหืดได้) เพื่อให้เด็กรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย และเมื่อเด็กโตขึ้นก็จะเลิกติดของแบบนี้ไปเอง - เดินทางสายกลาง อย่าให้ความเอาใจใส่ลูกน้อยเกินไปหรือมากเกินไป แต่ฝากไว้สักนิดว่าข้อมูลนี้อย่าใช้กับเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือนนะคะเพราะสิ่งที่เรียกร้องยังเป็นความต้องการพื้นฐานอยู่ แต่อย่างไรก็ตามทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณาจากความต้องการของลูกและปรับวิธีการให้สอดคล้องด้วยตนเองจะดีกว่า เพราะเด็กแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันทั้งบุคลิกภาพและลักษณะนิสัย รวมทั้งการเลี้ยงดูด้วย เป็นยังไงคะ กว่าจะเลี้ยงลูกให้เติบใหญ่สักคนนึงเล่นเอาคุณแม่ปวดเศียรเวียนเกล้าไปตามๆกันเลย แต่การที่เราเฝ้ามองดูเขาเติบโตก็เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ทำให้เราอดยิ้มไม่ได้มิใช่หรือ ที่สำคัญการให้ความอบอุ่นอย่างเพียงพอ ไม่ทอดทิ้งเขาเมื่อเขาต้องการเรานั้นก็เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เขาต้องการจากเราเหมือนกันค่ะ จาก: |  |
Create Date : 10 กรกฎาคม 2555 |
Last Update : 10 กรกฎาคม 2555 20:56:53 น. |
|
0 comments
|
Counter : 824 Pageviews. |
 |
|