การอบรมเลี้ยงดูเด็กเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการทำให้เด็กมีสุขภาพกายและใจที่ดี เต็มที่ตามศักยภาพสูงสุดของเด็กแต่ละคน การจะเป็นเช่นนี้ได้ พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูต้องเลี้ยงดูและอบรมเด็กได้อย่างเหมาะสม โดยอาศัยประสบการณ์ของตนเอง และแสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากการค้นคว้าหรือจากผู้รู้ กุมารแพทย์ก็เป็นผู้หนึ่งที่จะมีบทบาทอย่างมากในการส่งเสริมสุขภาพจิตด้วยการให้คำแนะนำและปรึกษา สิ่งจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตและการมีชีวิตของมนุษย์นั้น แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สำหรับร่างกาย เช่น อากาศ อุณหภูมิที่เหมาะสม และปัจจัย 4 อีกส่วนคือทางจิตใจ ที่จะทำให้มนุษย์อยู่อย่างปกติสุขและมีคุณภาพ ประกอบการงานให้เป็นประโยชน์กับตนเอง ครอบครัว และสังคม หากเด็กได้รับแต่สิ่งจำเป็นทั้งทางร่างกายและจิตใจครบบริบูรณ์ เด็กจะมีร่างกายที่เติบโตตามเกณฑ์มาตรฐาน มีความสุขกับการดำเนินชีวิต เรียนหนังสือและรับผิดชอบได้ตามวัย ความต้องการด้านจิตใจของเด็กนั้น แม้จะแตกต่างไปตามวัย แต่สิ่งที่จำเป็นและเป็นที่ต้องการสำหรับเด็กทุกคน คือ 1.ความรักความอบอุ่น เด็กอยากให้พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูรักตน รู้สึกมีค่าเป็นที่ต้องการหรือเป็นที่ยอมรับ ไม่อยากรู้สึกว่าเป็นส่วนเกินที่พ่อแม่จำใจต้องเลี้ยงดู ไม่อยากรู้สึกมีปมด้อยหรือน้อยเนื้อต่ำใจต่างๆ นานา เด็กต้องการความรักที่เหมาะสม ไม่ใช่รักมากอย่างไม่มีขอบเขตจนกลายเป็นข้อบกพร่องทางบุคลิกภาพไป 2.การกระตุ้นอย่างเหมาะสม ขึ้นกับวัยของเด็ก เช่น ทารกแรกเกิดต้องการการอุ้มสัมผัส การยิ้มพูดคุยด้วยเพื่อให้ได้ยินเสียง พอโตขึ้นก็ต้องการเพิ่มขึ้น เช่น การเล่นของเล่นเหมาะสมกับวัยที่เคลื่อนไหวได้ มีสีสดและมีเสียง การกระตุ้นนี้ส่งผลทางจิตใจทำให้เด็กได้รับความรักความสนใจ และที่สำคัญคือได้กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น ความสนใจต่อสิ่งแวดล้อม ความสนุกอยากทดลอง ทำให้รู้สึกมั่นใจกล้าแสดงออกตามไปด้วย 3.ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย เด็กจะได้มาจากสิ่งแวดล้อมรอบข้างและพ่อแม่ เด็กต้องการความรู้สึกว่าผู้ใหญ่ปกป้องตนได้ ไม่ปล่อยให้เกิดอันตรายกับตน ไม่ให้รับความกระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง เช่น ภาพเหตุการณ์ที่น่ากลัวสยดสยอง ภาพเกี่ยวกับเพศที่ไม่เหมาะสมกับวัย และควรเตรียมตัวเตรียมใจให้เด็กสำหรับเหตุการณ์สำคัญๆ เช่น การมีน้องใหม่ การผ่าตัด เป็นต้น 4.คำแนะนำและการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ เช่น บทบาทที่เหมาะสมตามเพศของเด็กหญิงหรือเด็กชาย การปฏิบัติตัวในสังคม ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ และกิจกรรมที่เด็กต้องการจะทำ อาจช่วยด้านการเงิน อุปกรณ์หรือความคิด 5.ความสม่ำเสมอและการมีขอบเขต มีความสำคัญที่จะทำให้เด็กเรียนรู้ว่าอะไรถูกหรือผิด ทำได้หรือไม่ได้ ไม่สับสนทั้งความคิดและการปฏิบัติ กฎเกณฑ์ที่ใช้ควรมีเหตุผลและมีการปฏิบัติเสมอต้นเสมอปลาย เช่น ไม่ให้ใส่รองเท้าเข้าในบ้าน เพราะทำให้บ้านสกปรกก็ควรเป็นเช่นนี้ตลอดไป แต่ผู้ใหญ่บางคนก็ไม่แน่ใจว่าอะไรควรห้ามหรือไม่ควรห้ามเด็ก กลัวจะตามใจหรือเข้มงวดเกินไป ให้ถือหลักง่ายๆ ว่ามี 3 อย่างที่เด็กไม่ควรทำแน่นอน คือ การทำร้ายตัวเอง (รวมทั้งการเล่นที่เป็นอันตราย เช่น ของมีคม) การทำร้ายผู้อื่น และการทำลายสิ่งของ 6.ให้โอกาสใช้พลังงานในทางสร้างสรรค์ วัยเด็กเป็นวัยที่มีพลังงานในตัวมาก ต้องได้รับโอกาสให้ใช้พลังงานไปในทางสร้างสรรค์ โดยการเล่น ออกกำลังกายในเกมกีฬาต่างๆ และกิจกรรมที่เหมาะสม หากผู้ใหญ่ไม่เห็นความสำคัญในสิ่งเหล่านี้ อาจทำให้เด็กกลายเป็นคนเก็บกด ไม่กล้าแสดงออก เซื่องซึมหรือเฉื่อยชาและไม่มีความคิดสร้างสรรค์
ในการอบรมเลี้ยงดูบางคราวเด็กคนหนึ่งแม้จะเป็นเด็กดีเพียงใดก็อาจมีปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้นได้ เช่น การไม่เชื่อฟังเมื่อห้ามปราม การไม่ยอมทำอย่างที่ผู้ใหญ่ต้องการ และการมีพฤติกรรมก้าวร้าว พ่อแม่จำนวนมากที่จัดการกับพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้ ซึ่งพ่อแม่จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจถึงการอบรมเลี้ยงดูเด็กที่ถูกต้อง รวมถึงมีวิธีการแก้ไขให้เด็กเรียนรู้พฤติกรรมที่เหมาะสมและควบคุมตนเองได้โดยไม่ต้องอาศัยผู้ใหญ่คอยควบคุมตลอดเวลา เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม พ่อแม่ควรใช้เหตุผล การใช้ท่าทีและคำพูดที่จริงจัง การใช้สิ่งทดแทน การให้แสดงความคิดเห็นและความรู้สึก การให้รางวัลเมื่อเด็กปรับหรือหยุดพฤติกรรมได้ และการเลิกความสนใจ นอกจากนี้การทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเด็กจะเอาอย่างการกระทำของผู้ใหญ่มากกว่าการสั่งสอนด้วยวาจา แต่เมื่อการตอบสนองที่กล่าวมานั้นใช้ไม่ได้ผล การลงโทษก็อาจเป็นวิธีสุดท้ายในการหยุดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ มีตั้งแต่การดุว่า การแยกเด็กออกไปอยู่ตามลำพัง การปรับให้เด็กรับผิดชอบกับของเสียหายที่เด็กทำไป และการตี ซึ่งผู้ใช้ต้องไม่ใช้ด้วยอารมณ์ และพร้อมหยุดการลงโทษเมื่อคิดว่าเด็กควบคุมตนเองได้ การเลี้ยงดูและอบรมเด็กให้ได้มาซึ่งการดีพร้อมทั้งกายและใจนั้น แท้จริงไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป เพียงแต่พ่อแม่และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กจำเป็นต้องเรียนรู้และให้ความสำคัญในการนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาทางกายและใจ อันจะนำมาสู่ผลดีกับเด็กในการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ [ที่มา: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข] //www.sudrak.com/index.php?option=com_content&task=view&id=229&Itemid=8
|