“ตี” ดี-ไม่ดี อย่างไร
แม้ว่าการ “ตี” จะใช้กันมาหลายชั่วอายุคน แต่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากกลับไม่เห็นด้วยเลยกับการฝึกวินัยเด็กด้วยวิธีนี้ เพราะการตีอาจยับยั้งเด็กไม่ให้ทำผิดซ้ำเรื่องเดิม แต่ก็ทำได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ และการตีอาจหยุดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ได้แต่ใช้เปลี่ยนนิสัยไม่ได้ รวมทั้งใช้สอนถูกผิดไม่ได้ นอกเสียจากเด็กจะเข้าใจว่าเขาถูกตีหรือไม่ถูกตีเพราะอะไร จากการศึกษาวิจัยพบว่าประโยชน์ระยะสั้นของการตี สร้างความเสี่ยงหลายอย่างในระยะยาวให้เด็ก ได้แก่ - การตีจะเพิ่มความรุนแรง ความก้าวร้าวและพฤติกรรมต่อต้านสังคมให้มีมากยิ่งขึ้น - เด็กจะเข้าใจว่าการใช้กำลังเป็นวิธีตัดสินความขัดแย้งที่ดีที่สุด - เด็กจะไม่ยอมเรียนรู้วิธีจัดการความโกรธและอารมณ์หงุดหงิดด้วยวิธีอื่นๆ ที่รุนแรงน้อยกว่า (เพราะเขาเรียนรู้จากตัวอย่างวิธีรุนแรงที่พ่อแม่ทำให้ดูแล้ว) - การตีเป็นการแสดงการใช้อำนาจในทางที่ผิดของคนตัวโตที่มีกำลังมากกว่าต่อคนตัวเล็กๆ ที่กำลังน้อยกว่า - การตียังอาจเป็นเหตุของการบาดเจ็บที่รุนแรงในเด็กแม้จะไม่ได้เจตนา โดยเฉพาะตีเพราะโกรธหรือโมโห - แม้จะตีหลังจากอารมณ์โกรธลดลงแล้ว ร่างกายลูกอาจไม่เป็นอะไร แต่จะยิ่งทำให้เด็กสงสัยกว่าการถูกตีทันที หลังจากที่ทำผิด ซึ่งก็สร้างความรุนแรงทางใจได้ไม่น้อยแถมยังใช้ขัดเกลานิสัยเด็กไม่ได้อีกด้วย … จริงๆ ผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คนก็บอกว่า ไม่มีตอบชัดเจนหรอกว่าตีตอนเกิดเหตุเลยกับตีหลังจากเหตุจบไปแล้วอะไรจะแย่กว่ากัน ไม่ตีแล้วจะฝึกวินัยลูกน้อยอย่างไรดี สมาคมกุมารแพทย์ของสหรัฐอเมริกาแนะนำให้พ่อแม่สอนหรือตักเตือนลูกด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การตี เช่น • ไทม์เอ้าต์ (time-outs) การแยกให้อยู่ในที่สงบและปลอดภัย เพื่อสงบอารมณ์หรือทบทวนสิ่งที่ทำไป (ควรใช้กรณีที่เด็กโตพอจะเข้าใจความหมายของไทม์เอ้าต์) หรือวิธีอื่นที่เป็นไปในทางบวก • หากการตีนั้นเพราะความโมโห เมื่อพ่อแม่อารมณ์ปกติแล้วควรอธิบายถึงสาเหตุการตี ลูกทำอย่างไรถึงถูกตี และตัวคุณรู้สึกโกรธมากอย่างไร รวมถึงขอโทษลูกด้วย (ใช้ได้ในกรณีที่เด็กโตพอที่จะเข้าใจเช่นกัน) • ผู้เชี่ยวชาญและพ่อแม่จำนวนไม่น้อยเห็นว่าบางกรณี เสียงตีดังเพี้ยะที่ฝ่ามือหรือที่ก้นอาจจำเป็นใน สถานการณ์ที่อันตราย เพราะเป็นการส่งสัญญาณเตือนภัยไปยังเด็กที่เล็กเกินกว่าจะเข้าใจคำพูดได้ เช่น เมื่อเด็กวัยเตาะแตะเดินออกจากบ้านไปที่ถนนหรือเข้าใกล้เตาแก๊ส อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กๆ สามารถเข้าใจสิ่งต่างๆรอบตัวได้แล้ว การตีหรือวิธีใช้กำลังอื่นๆ ก็ไม่ควรใช้อีกต่อไป • นอกจากนี้พ่อแม่แล้วบุคคลอื่นก็ไม่ควรใช้วิธี “ตี” กับเด็กเช่นกัน แม้การตีของพ่อแม่เกิดจากความรักความหวังดี แต่เด็กจะไม่รับรู้ความรู้สึกเช่นนั้นจากบุคคลอื่นแน่นอน เราควรกำชับกับทุกคนที่ใกล้ชิดดูแลลูกหรือเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นพี่เลี้ยงหรือครูว่าไม่ให้ตีหรือใช้กำลังกับพวกเขาค่ะ ขอขอบคุณข้อมูลดีดีจาก นิตยสาร Real Parenting
เขียนโดย : earlgreylady เขียนเมื่อ : 09:15 น. 03 May 2012
Create Date : 06 พฤษภาคม 2555 |
|
0 comments |
Last Update : 6 พฤษภาคม 2555 20:53:16 น. |
Counter : 1478 Pageviews. |
|
 |
|