Group Blog
 
<<
กันยายน 2554
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
24 กันยายน 2554
 
All Blogs
 
วัยนี้ก็ ดุ กัน (บ้าง) ได้แล้ว!

วัยนี้ก็ "ดุ" กัน (บ้าง) ได้แล้ว! (momypedia)
โดย: วาศิล

หาก ปล่อยลูกทำอะไรได้ตามใจทุกอย่าง คุณอาจคิดว่าลูกวัยนี้เล็กเกินไปที่จะเอาแต่ใจตัวเอง แต่สิ่งนี้ก่อตัวได้เร็วเกินกว่าที่คุณคิด นี่คือแนวทางสำหรับพ่อแม่ว่าจะเริ่มจำกัดหรือห้ามพฤติกรรมบางอย่างของลูกได้ อย่างไรและเมื่อไหร่)

"ดุ" กันได้บ้างเมื่อใกล้ขวบ

แม้ว่าเจ้าตัวเล็ก โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกจะเล็กเกินไปที่จะรู้เรื่องการเอาแต่ใจตัวเอง แต่เมื่อวัยใกล้ๆ ขวบ การปล่อยให้ลูกทำทุกอย่างตามอำเภอใจ อาจไม่ก่อผลดีเท่าไรนัก วัยนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถกำหนดข้อจำกัดง่าย ๆ ให้ลูกได้ อาจดุหรือห้ามลูกได้บ้างเมื่อแกไม่ทำตาม จิตแพทย์เด็กบอกว่าการทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการวางพื้นฐานเรื่องระเบียบวินัย (ที่ว่ากันว่าเด็กไทยเรายังขาดกันอยู่) ซึ่งจะทำให้เราฝึกวินัยลูกได้ง่ายเมื่อเขาโตขึ้น

แต่อย่าเร็วเกินไป

ขณะที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่มั่นใจที่จะจำกัดขอบเขตพฤติกรรมให้ลูกวัยนี้ พ่อแม่บางคนกลับไปจำกัดเร็วเกินไป ด้วยความความคาดหวังกับลูกเกินความจริง พ่อแม่บางคนมองว่าการกระทำของลูกนั้นล้วนเป็นสิ่งที่เรียกร้องความสนใจ จึงทำให้เกิดการตั้งกฎเกณฑ์ของระเบียบวินัยที่ไม่มีผลใด ๆ ขึ้นมา เช่น พ่อเห็นว่าการที่ลูกวัย 3 เดือนร้องไห้นั้นก็เพื่อจะทำให้พ่อโกรธ เขาก็จะเอาลูกลงเปล ทิ้งไว้ในห้องแล้วปล่อยให้ลูกร้องจนหลับไปเอง (โดยที่คิดว่าจะสร้างนิสัยการไม่เอาแต่ใจตัวเองให้ลูก) แต่คุณทราบมั้ยคะว่าลูกยังเล็กเกินไปที่จะทำอย่างที่คุณคิด แทนที่จะฉุนเฉียวคุณควรพยายามเข้าใจแก เช่น แกอาจหิว ไม่สบายเนื้อตัว ฯลฯ หรือถ้าลูกอายุแค่ 5 เดือน พ่นผักที่คุณป้อนใส่คุณ แทนที่จะคิดว่าลูกพยายามทำให้คุณโกรธ ลองเอาใจลูกมาใส่ใจคุณดู แกอาจยังกลืนผักเหล่านี้ไม่เป็น หรืออยากทานอาหารอย่างอื่นมากกว่า ยิ่งคุณรู้พัฒนาการของเด็กมากเท่าไหร่ คุณจะเข้าใจความคิดของพวกเขาและยอมรับความรู้สึกของเขามากขึ้น

ลูกโตตอบสนองน้อยลงได้

ช่วง 6 เดือนแรก พ่อแม่เกิดคำถามกันมากว่า พ่อแม่ที่เข้าไปอุ้มลูกทุกครั้งที่แกร้องจะทำให้ลูกเสียนิสัยหรือเปล่า คำตอบก็คือสำหรับลูกวัย 3 เดือนเป็นเรื่องที่ถูกต้องค่ะที่พ่อแม่จะตอบสนองแกเช่นนั้น แต่เมื่อลูกโตขึ้นสัก 7-8 เดือน และคุณแยกเสียงร้องไห้ของลูกที่แตกต่างจากร้องเพราะหิวหรือเจ็บปวดได้ คุณอาจปล่อยให้แกร้องไห้ไปสัก 2-3 นาทีได้ หากกำลังทำงานที่สำคัญอยู่

ลูกน้อยของเราจะค่อย ๆ เรียนรู้ว่าบางครั้งแม่ก็ไม่อาจตอบสนองสิ่งที่หนูต้องการอย่างทันทีทันใด พ่อแม่จึงควรให้โอกาสลูกได้เรียนรู้ที่จะปลอบและอยู่กับตัวเองบ้างในบาง ครั้ง ซึ่งแกก็ทำได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นดูดนิ้ว จ้องมองโมบายล์ มองเงาบนผนัง หรือทำเสียงอืออาไป นอกจากลูกจะได้รับผลดีจากการเรียนรู้ที่จะรอคอยพ่อแม่แล้ว การรอคอย(เสียบ้าง)ยังทำให้แกตระหนักว่าการมีคนมาคอยดูแลเอาใจใส่นั้นทำให้ แกมีความสุข ความรักความผูกพันระหว่าง (พ่อ) แม่ลูกก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ


"ไม่นะ" กับลูกได้แล้ว

เมื่อลูกอายุ 7 เดือนครึ่งขึ้นไป แกพร้อมที่จะได้ยินคำว่า "ไม่" "อย่านะ" หรือ คำห้ามอื่น ๆ จากผู้ใหญ่ได้แล้วเมื่อแกทำสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร จิตแพทย์เด็กเชื่อว่า เด็กอายุต่ำกว่า 7 เดือนนั้นมีขีดความจำจำกัดและจำไม่ได้ว่าพฤติกรรมไหนที่พ่อแม่ห้าม พ่อแม่จึงต้องคอยดูและดึงตัวแกออกมาจากสิ่งที่เป็นอันตรายเสียเองแต่เมื่อ อายุ 7 เดือนครึ่งขึ้นไป เด็กๆ ส่วนใหญ่สามารถเชื่อมโยงสิ่งที่แกเคยทำกับคำห้ามของพ่อแม่ได้ แกจะเริ่มจำน้ำเสียงของคำดุนั้นได้และโยงเข้ากับท่าทางเอาจริงเอาจังของพ่อ แม่ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะแกไม่ชอบให้พ่อแม่ทำเสียงและท่าทางที่ดูแล้วไม่สบายใจ ไม่มีความสุข

จะดุได้อย่างไร

มีหลักสำหรับพ่อแม่ที่ต้องห้ามหรือดุลูกในช่วงแรก (ซึ่งอาจจะไม่สะดวกใจที่จะทำ) ว่าให้พูดในเชิงบอก ไม่ใช่ตวาด เพราะเราคงไม่ต้องการให้โลกอันสดใสของลูกถูกจู่โจมด้วยคำดุ ลูกจะขวัญเสียได้ค่ะ ให้พูด "ไม่นะ" "อย่านะ" ด้วยน้ำเสียงเด็ดเดี่ยวมั่นคงเมื่อลูกทำสิ่งที่จะเป็นอันตราย เช่น แกะที่ครอบปลั๊กไฟ เขวี้ยงแก้วน้ำ ฯลฯ ถ้าแกยังไม่ฟัง หรือหันกลับมาดูว่าพ่อแม่หมายความจริงอย่างที่พูดหรือเปล่า ก็ห้ามซ้ำ เด็ก ๆ วัยนี้จะเรียนรู้จากการทำซ้ำเมื่อลูกไปตีเด็กอื่น คุณก็ต้องห้ามเช่นกัน ไม่ใช่ไปดึงตัวแกออกมาโดยไม่พูดอะไร เพราะหากคุณทำแบบนี้เท่ากับว่าคุณช้าไปแล้วที่จะสอนให้ลูกเรียนรู้ว่า พฤติกรรมก้าวร้าวแบบนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของคนอื่นแต่ในกรณีที่ลูกทำสิ่งที่ อาจทำให้คุณรำคาญแต่ไม่เป็นอันตราย ให้กัดลิ้นตัวเองไว้ก่อนจะพูดคำดุคำห้ามออกมา เช่น ลูกเอาของเล่นออกมาจากกระบะ แม้ว่าคุณจะเบื่อกับการต้องคอยเก็บของเล่นเข้าที่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ลูกก็สนุกที่ได้เล่นแบบนี้ ซึ่งแทนที่จะดุหรือห้ามคุณแม่น่าจะใช้เทคนิคล่อหลอกให้ลูกมาช่วยเก็บด้วยจะ ดีกว่าค่ะ

ที่สำคัญ คุณ (และลูก) ต้องมั่นใจว่าขณะที่คุณห้ามหรือดุลูกนั้นเกิดเพราะความรักห่วงใยและไม่ใช้ อารมณ์ เช่น เมื่อลูกเอื้อมจะไปคว้าแจกัน แล้วหดมือกลับพร้อมกับหันมามองปฏิกิริยาของคุณ (เพราะจำได้ว่าคุณเคยห้ามไว้ และแกจะทดสอบดูว่าคราวนี้คุณจะห้ามอีกหรือเปล่า) คุณก็ควรพูดชมแก เช่น บอกว่า "ดีมากลูก อย่าไปจับเลยเดี๋ยวมันแตก" แล้วก็ยิ้มให้ลูก ลูกอาจไม่เข้าใจคำพูดของคุณทั้งหมดหรอกค่ะ แต่แกรู้ว่าทำให้คุณพอใจได้ ที่สำคัญคุณทราบมั้ยคะว่าเด็กที่ได้รับคำชมหรืออาการชมเชย (เช่น ปรบมือให้) เมื่อทำสิ่งที่ถูกต้อง มีแนวโน้มจะเป็นเด็กที่ชอบทำลายน้อยกว่าเด็กที่ถูกห้ามตลอดเวลาค่ะ

ใจเย็นและยืดหยุ่น

เมื่อลูกทำเรื่องยุ่งยาก เช่น พ่นข้าวใส่หน้าแม่ แทนที่คุณจะตะโกนดุแกว่าเป็นเด็กไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ คุณควรเน้นไปที่การกระทำมากกว่าที่ตัวแก ในกรณีนี้คุณควรบอกว่า "หยุดนะ เราไม่พ่นข้าวใส่หน้ากัน" ซึ่งอาจต้องอาศัยความใจเย็นของพ่อแม่เป็นพิเศษค่ะแต่อย่างไรก็ตาม บางกรณีคุณก็ต้องยืดหยุ่นการห้ามหรือดุบ้าง เช่น ถ้าลูกบังเอิญปัดจานข้าวแตก (อาจจะเพราะไม่เห็นหรือไม่ตั้งใจ) ก็ไม่ต้องไปดุว่าลูก เพราะแค่นี้แกก็อาจตกใจมากพอดูแล้ว ที่ต้องจำใส่ใจไว้อีกอย่างก็คือ คนเราไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ และการยืดหยุ่นให้ลูกนั้นไม่ได้เป็นการตามใจลูกค่ะ มีหลักอย่างนี้ คง "ห้าม" และ "ปล่อย" ลูกได้ถนัดถนี่ขึ้นนะคะ

เมื่อลูกเป็นแบบนี้..ทำไงดี

ลูกตกใจ ร้องไห้ ก็ก่อนหน้านี้พ่อแม่ไม่เคยดุหรือห้ามอะไรหนูเลยนี่ หนูทำอะไรก็ดูน่ารักไปหมด แล้วจู่ ๆ มาห้ามหนูเสียงดังเชียว หนูก็ตกใจสิ เมื่อลูกเป็นเช่นนี้คุณควรเข้าไปกอดปลอบใจ แต่ไม่ต้องรู้สึกผิด และต้องยืนยันข้อห้ามของตนไว้ ไม่ใช่พอเห็นลูกร้องไห้ ครั้งต่อไปก็ไม่ห้ามอีก

ลูกทำท่าไม่เข้าใจ ก็ตัวกะเปี๊ยกแค่เนี้ยะจะไปเข้าใจได้อย่างไร แรก ๆ อาจไม่เข้าใจ ต่อไปแกก็จะรู้ไปโดยปริยายว่าการกระทำของพ่อแม่หมายความว่าอย่างไร พ่อแม่จึงไม่ควรคิดนะคะว่าจะอธิบายไปทำมั้ย ลูกไม่เข้าใจหรอก คิดอย่างนี้ระวังจะสายเกินไปเมื่อพบว่าห้ามอะไรลูกก็ไม่ฟังเสียเลยนะคะ
เรื่องนี้..ต้องระวัง

ท่าที อย่าทำท่าเครียดขมึงทึงขณะที่ห้ามหรือดุลูก แค่ทำหน้าจริงจังกว่าปกติก็พอค่ะ เพราะไม่อย่างนั้นทั้งคุณทั้งลูกจะเครียดกันไปหมด

อายุลูก ไม่ควรเริ่มต้นเร็วหรือช้าเกินไป เพราะเร็วเกินไปลูกก็ไม่รู้เรื่อง ช้าเกินไปก็ไม่ทันการณ์ อายุที่เหมาะที่จะจำกัดพฤติกรรมลูกและห้ามหรือดุเมื่อลูกไม่ทำตามก็คือ 7 เดือนครึ่งขึ้นไป

สถานการณ์ ไม่ควรดุพร่ำเพรื่อค่ะ ควรทำเมื่อเห็นว่าลูกทำในสิ่งที่เป็นอันตราย หากเอะอะอะไรก็ดุ ลูกอาจโตเป็นเด็กที่ขาดความมั่นใจในการจะทำสิ่งใด ๆ ก็ได้ค่ะ

ใคร่ครวญสักนิด

การห้ามลูกอยู่บ่อย ๆ และการหยุดยั้งการเคลื่อนไหวร่างกายของลูกนั้น ไม่ได้ทำให้ลูกทำตามคำสั่งของแม่เสมอไป การที่จะให้ลูกเต็มใจอยู่ในระเบียบวินัยนั้น ทางที่ดีที่สุดคือ อย่าฝึกลูกด้วยความเข้มงวด เต็มไปด้วยระเบียบวินัยเคร่งครัด หรือเร่งลูกเกินระดับพัฒนาการตามธรรมชาติของลูก ควรเปิดโอกาสให้ลูกมีอิสรภาพที่จะเติบโตและเรียนรู้ โดยจำกัดไว้เฉพาะเรื่องที่จะเป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น แล้วลูกจะให้ความร่วมมือมากกว่า


Create Date : 24 กันยายน 2554
Last Update : 24 กันยายน 2554 22:07:01 น. 0 comments
Counter : 880 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ลูกน้ำกว๊าน
Location :
พะเยา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ยินดีต้อนรับทุกท่าน นะคะ




อยากมีและอยากรู้จัก เพื่อนที่มีที่มาต่างกัน และอยากร่วมแชร์ ประสบการณ์ให้คนอื่น ได้รับรู้บ้าง เพื่อนๆชาว บลอคแกงค์เป็นอะไรที่ ใช่เลย ที่คอยอยู่ด้วยกัน ตลอดเวลา พอเรา เปิดดูครั้งใดก็จะมีคน นั่งเขียนบลอก นั่งอยู่ที่ หน้าจอ คอยเป็นเพื่อน กันเสมอ รัก ทุกคนใน บลอกแกงค์ ค่ะ
: Users Online
Friends' blogs
[Add ลูกน้ำกว๊าน's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.