นมแม่ กับบันไดสู่ความสำเร็จ 19 ขั้น
 นมแม่กับบันไดสู่ความสำเร็จ 19 ขั้น (รักลูก)
คุณแม่ยุคใหม่ตั้งใจให้ลูกกินนมแม่ต่อ แม้ต้องกลับไปทำงาน แต่หลายคนก็ต้องถอดใจไปซะก่อน เพราะไม่สามารถจัดสมดุลเรื่องนี้ได้ เรามีบันได 19 ขั้นต่อไปนเป็นผู้ช่วยที่ดีให้คุณแม่เวิร์คกิ้งมัมค่อย ๆ ก้าวไปสู่เป้าหมายได้อย่างสำเร็จ คือให้ลูกกินมแม่ได้นานที่สุดค่ะ
ลาคลอด : ฮันนีมูนเดย์
1. ช่วงสร้างฐานให้มั่น ให้ลูกดูดนมแม่เร็วที่สุดหลังคลอด และพยายามกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมให้มากๆ การดูดนมของลูกจะช่วยกระตุ้น ให้แม่มีน้ำนมมากเพียงพอ และอย่าลืมเรียนรู้เรื่องการให้นมลูกให้มากที่สุดในช่วงนี้ โดยเฉพาะคาถา 3 ดูด คือดูดเร็วหลังคลอด ดูดบ่อย ดูดถูกวิธีจะช่วยให้คุณแม่แก้ไขปัญหาต่างๆ ได้เร็วขึ้น
2. ช่วงแห่งความมุ่งมั่นตั้งใจ เชื่อเถอะว่าถ้าลองคุณตั้งใจและมุ่งมั่นว่า สามารถให้นมแม่ได้ แม้จะมีนานาอุปสรรคก็ขวางกั้นไม่ได้ มุ่งมั่นต่อไปนะคะ แต่หากยังไม่แน่ใจว่าเมื่อกลับไปทำงานแล้วยังจะให้นมแม่ต่อไปดีหรือไม่ ก็ทดลองทำสัก 30 วัน เพื่อจะได้ปรับตัว และเมื่อผ่านพ้นช่วงนี้ไป คุณจะรู้ว่ารางวัลที่ได้ให้กับเจ้าตัวน้อยนั้นคุ้มค่าแค่ไหน
3. ช่วงของการสร้างความผูกพัน ถึงจะลาคลอดได้เพียงแค่เวลาสั้น ๆ แต่สามารถใช้เวลาคุณภาพนี้แหละสร้างความผูกพันอันล้ำค่าได้ ให้นึกว่า 3 เดือนต่อจากนี้คือฮันนีมูนแสนหวานของคุณ เพราะฉะนั้นตักตวงความสุขให้เต็มที ลดสิ่งที่จะมารบกวนคุณกับลูกให้น้อยที่สุด
กลับไปทำงาน...ไม่ยุ่งอย่างที่คิด
4. หากองหนุนเรื่องนมแม่ ซึ่งควรหาไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจจะตั้งแต่ช่วงที่ท้องอยู่ ถ้าพี่เลี้ยงหรือคนช่วยเลี้ยงไม่มีความรู้เรื่องนมแม่เลย งานหนักก็ยังตกอยู่ที่แม่อยู่ดี ดังนั้นต้องสร้างความเข้าใจและให้ความรู้เรื่องนมแม่ก่อน ค่อย ๆ สอนอย่างใจเย็น ถ้าเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรได้ก็ควรจะทำ เขียนฉลากสอนให้รู้วิธีละลายและอุ่นนมแม่ โดยพยายามทำให้เป็นขั้นตอน และทำให้เป็นเรื่องง่าย ๆ
5. ศึกษาวิธีปั๊มนมและลองใช้จนชิน ลองปั๊มนมและแช่เก็บไว้ก่อนก็น่าจะดีค่ะ เวลาที่ดีที่สุดในการปั๊มน้ำนมก็คือ ช่วงเช้า ซึ่งเป็นเวลาช่วงที่แม่ ๆ ส่วนใหญ่มีน้ำนมมาก และแม้ว่าจะปั๊มออกไปบ้างก็มั่นใจเถอะว่า ยังมีน้ำนมเหลือเพียงพอให้ลูกดูดในมื้อแรกของวันแน่นอน
6. หัดเป็นคนยืดหยุ่นเข้าไว้ คุณรู้ไหมว่า วิธีที่เคยใช้ได้ผลมาแล้วเมื่อสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ ก่อนอาจจะใช้ไม่ได้อีกต่อไปในวันนี้ เพราะฉะนั้นเราต้องไล่ตามพัฒนาการของลูกแต่ละช่วงวัยให้ทัน
7. ศึกษาหาช่องทาง ว่าหลังกลับไปทำงานแล้ว มีหนทางไหนบ้างที่จะสามารถให้นมลูกได้อยู่ เช่น พาลูกไปทำงานด้วยได้ไหม ใช้ประโยชน์จาก mobile office คือทำงานที่บ้านส่งงานทางอินเตอร์เน็ต จะหาที่เลี้ยงลูกในหรือใกล้ที่ทำงานดี อันนี้ก็เลือกได้ตามสะดวกค่ะ
8. ฝึกลูกให้กินนมนอกเต้า ด้วยวิธีป้อนทางช้อน หรือให้ดื่มจากแก้วเล็ก แต่อย่าให้เริ่มเร็วเกินไป พยายามอย่าให้นมขวดกับลูกโดยเด็ดขาด ยิ่งเฉพาะช่วงสำคัญ 3 สัปดาห์แรก เพราะเป็นช่วงที่เจ้าตัวน้อยกำลังฝึกดูดนมแม่ ถ้าให้นมขวดเร็วเกินไป เด็กบางคนก็จะสับสนระหว่างหัวนมจุกกับนมแม่ได้ค่ะ
9. ปรึกษาหัวหน้างาน อย่าคิดว่านี่เป็นเรื่องไม่สำคัญนะคะ เพราะคุณแม่จะต้องวางแผนล่วงหน้าว่าจะปั๊มนมในที่ทำงานตอนไหน จะเก็บน้ำนมได้ที่ไหน สถานที่ทำงานเอื้ออำนวยต่อการปั๊มนมหรือไม่ ซึ่งคนที่จะบอกว่าความต้องการของคุณแม่จะสำเร็จได้หรือไม่นั้นก็คือ คุณเจ้านายนี่แหละ
10. ปรับตัวกับตารางชีวิตใหม่ ถ้าเป็นไปได้ให้เลือกกลับไปทำงานวันแรกในวันพุธ หรือวันพฤหัสบดี เพื่อที่จะได้ไม่เหนื่อยมากนักเมื่อถึงปลายสัปดาห์ และจะได้มีวันหยุดพักอีก 2 วันก่อนที่จะเริ่มงานอีกครั้งทำทุกอย่างให้ง่ายเข้าไว้
11. การออกจากบ้านแบบไร้กังวล ไม่ต้องห่วงว่าจะให้นมลูกอย่างไร และไปทำงานทันเวลาสบาย ๆ ด้วย เทคนิคต่อไปนี้ช่วยคุณได้ค่ะ
ตื่นเช้าขึ้นนิด เพื่อจะได้ให้นมลูกก่อนลุกจากเตียง ทีนี้ก็อาบน้ำแต่งตัวได้คล่องขึ้นแล้ว
เตรียมตัวตั้งแต่ก่อนเข้านอน จัดของ แช่ ขวดนม ล้างอุปกรณ์ปั๊มนม และเลือกชุดใส่ไปทำงาน
อย่านอนดึก
เลือกทรงผมที่ดูแลง่าย ๆ เวลาหน้ากระจกจะได้น้อยลง
ให้ลูกดูดนมก่อนออกจากบ้าน นมจะได้เกลี้ยงเต้า และคุณจะได้สบายกายสบายใจเมื่อไปถึงที่ทำงาน
12. คิดบวก ทำให้การไปทำงานและกลับถึงบ้านเป็นเรื่องที่มีความสุข ให้นมลูกก่อนจะไปทำงาน และทันทีที่กลับถึงบ้าน เพราะลูกจะได้รับนมแม่จากเต้ามากขึ้น แล้วยังสามารถลดปริมาณน้ำนมที่จะปั๊มในแต่ละวันลงด้วย เมื่อถึงบ้าน ก็ต้องพยายามสานสัมพันธ์กับลูก เปลี่ยนเสื้อผ้าให้อยู่ในชุดสบาย ๆ เปิดเพลงเบา ๆ คลอ ๆ ขณะที่คุณแม่กำลังนั่งในมุมโปรด กอดลูกให้เขาดูดนมจากอก เป็นการสร้างความผูกพันทดแทนเวลาที่ไม่ได้อยู่ด้วยกันได้อย่างวิเศษ
13. การปั๊มนมไม่ใช่เรื่องยากสักนิด แล้วอะไรล่ะที่เป็นเรื่องง่าย มองหาที่ปั๊มนมให้เหมาะกับตัวเอง ถ้าอันเดิมใช้ไม่ได้ ลงทุนซื้อใหม่น่าจะดีกว่าค่ะ คุณแม่ยุคนี้ มีทางเลือกมากมายที่จะหาชุดทำงานให้เหมาะกับการให้นมลูกค่ะ เสื้อหลวม ๆ ที่มีลวดลาย จะช่วยพรางน้ำนมที่ไหลเลอะเทอะได้ และชุดที่มี 2 ชิ้นจะสะดวกในการปั๊มและให้นมลูกกว่าชุดเดรสหรือเเส็กนะคะ
14. ขอแรงจากเพื่อนร่วมงาน และขอบคุณที่ช่วยทำงานแทนขณะที่คุณแวะไปปั๊มนม และเพื่อเป็นการตอบแทน เราก็ควรหาโอกาสตอบแทนเพื่อนยามที่เขาต้องการความช่วยเหลือค่ะ เพื่อรักษาปริมาณน้ำนม
15. ในวันทำงาน หาโอกาสให้นมลูกได้มากที่สุด คุณแม่สามารถให้นมลูกได้อย่างน้อย 4 ครั้งต่อ 1 วันทำงาน คือ เช้าก่อนไปทำงานหนึ่งครั้ง ตกเย็นสองครั้ง และก่อนเข้านอนอีกหนึ่งครั้ง
16. ดูดจากเต้าในวันหยุด ถ้าอยากให้ปริมาณน้ำนมคงที่ ก็ให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ เพื่อชดเชยช่วงเวลาที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน วิธีนี้จะช่วยรักษาปริมาณน้ำนมไว้ได้ดีทีเดียวค่ะ
17. นมแม่ VS นมผง ถ้าคุณเลือกที่จะให้นมแม่ควบคู่ไปกับนมผง คิดสักนิดว่าจะจัดระบบการให้นมสองชนิดนี้อย่างไร ไม่เช่นนั้น อาจจะเจอปัญหาลูกหย่านมเร็วกว่าที่คิด และปริมาณน้ำนมของคุณก็จะลดลงด้วย
ไม่เครียดนะ...คุณแม่!
18. ดูแลใส่ใจตัวเอง การให้นมลูกจะช่วยคุณได้ในเรื่องนี้ เมื่อกลับถึงบ้าน ให้ตรงเข้าไปนอนให้นมลูก ถ้าคุณกับลูกงีบหลับด้วยกันในช่วงเวลาสั้น ๆ ครอบครัวของคุณก็จะได้พักไปด้วย หาอาหารว่างง่าย ๆ ที่มีประโยชน์กิน จะได้ไม่หิวจนต้องรีบกินอาหารเย็น คุณควรทำชีวิตที่บ้านให้เรียบง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะได้ให้ความสนใจกับเจ้าตัวน้อยและคนอื่น ๆ ในบ้าน
19. ช่วยกันเลี้ยงลูกและทำงานบ้าน ถ้าคุณแม่เป็นทั้งคนให้นมลูกและทำงานนอกบ้าน คุณพ่อคือบุคคลสำคัญที่จะช่วยดูแลลูก และทำงานบ้าน เพราะนมแม่ไม่ใช่แค่เรื่องของแม่แค่คนเดียวนะคะ
ไม่ยุ่งยากเลยใช่ไหมคะ การให้นมแม่กับลูกได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้นั้น เป็นของขวัญชิ้นเยี่ยมสำหรับลูกน้อยเลยล่ะค่ะ เป็นการสร้างสัมพันธ์แม่ลูก
Create Date : 24 มิถุนายน 2555 |
Last Update : 24 มิถุนายน 2555 0:06:17 น. |
|
0 comments
|
Counter : 1119 Pageviews. |
 |
|