Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2555
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
14 พฤษภาคม 2555
 
All Blogs
 
6Q ความฉลาดที่อยากให้ลูกมี

เขียนโดย มนต์ชยา

family pictureครั้งหนึ่งสังคมเราเคยเชื่อมั่นกับ IQ มากเสียจนหยิบมาเป็นมาตรวัดความสามารถของเด็กๆ และเน้นย้ำให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียนวิชาการ จนแทบจะลืมพัฒนาการด้านอื่นๆ ของเด็กควบคู่ไปด้วย กระทั่งความเชื่อเรื่อง IQ ถูกสั่นคลอน ด้วยแนวคิด EQ… เพราะมีการศึกษาชี้ชัดว่า IQ อย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้คนคนหนึ่ง ประสบความสำเร็จและมีความสุขในชีวิตได้ แต่ต้องอาศัยทักษะและความสามารถด้านอื่นๆ อีกมากมาย นอกเหนือจากการเป็นคนจดจำเก่ง บวกเลขคล่อง สอบได้คะแนนสูงๆ เท่านั้น มาวันนี้ได้มีการเผยแพร่ความรู้เรื่องความฉลาดในแง่มุมต่างๆ ตามออกมาอีกมากมายทั้ง MQ AQ CQ PQ และอีกหลายต่อหลาย Q ให้พ่อแม่ได้ศึกษาทำความเข้าใจ ซึ่งก็มีนิยามตรงกันบ้าง ต่างกันบ้าง จนบางครั้งทำเอาพ่อแม่หลายคนออกอาการงงๆ ทั้งไม่รู้จะจับจุดเริ่มต้นที่ตรงไหน ไม่รู้ว่าอันไหนดี อันไหนจำเป็นกับลูก หรือลูกเรามี Q นั้นๆ กับเขาหรือยัง จะสร้าง Q เหล่านั้นให้เกิดกับลูกได้ยังไง ฯลฯ

น.พ.กมล แสงทองศรีกมล กุมารแพทย์และจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นกล่าวว่า ความรู้เรื่องความฉลาดด้านต่างๆ ที่มีออกมานั้นว่ากันจริงๆ แล้วก็คือแนวคิดในเรื่องการเลี้ยงดูลูก แม้จะถูกใช้ไปในเชิงธุรกิจบ้าง แต่ถ้าเรารู้จักหยิบจับเอาส่วนดีมาใช้ในการเลี้ยงลูก ประโยชน์ก็จะเกิดกับลูกที่คุณรัก ซึ่งถ้าพยายามทำความเข้าใจกับรายละเอียดของแนวคิดเรื่องความฉลาดเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่จะพบว่าการที่เราจะเลี้ยงลูกให้เติบโตขึ้นมาอย่างคนที่ฉลาดครบรอบด้านนั้น สามารถทำได้โดยผ่านกิจกรรมที่ดูเหมือนเล็กๆ น้อยๆ

ในชีวิตประจำวันค่ะ 6Q ที่ควรรู้

IQ : Intelligence Quotient ความฉลาดทางสติปัญญา เป็นความสามารถในการคิด วิเคราะห์ การคำนวณ การใช้เหตุผล การเชื่อมโยง ปัจจัยที่มีผลต่อ IQ ส่วนหนึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้คือพันธุกรรม ส่วนที่สามารถควบคุมได้ คือภาวะโภชนาการ สภาพแวดล้อมที่ดีและเหมาะสม จะเห็นว่าเราควบคุม IQ ได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ต่างจาก Q อื่นๆ ซึ่งควบคุมได้ง่ายกว่า เพราะเกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูโดยตรง ปัจจุบันนักวิจัยยืนยันว่า IQ มีส่วนเกี่ยวข้องกับความสำเร็จในชีวิต เช่น การทำงาน การเรียนแค่ 20% เท่านั้น

EQ : Emotional Quotient ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นความสามารถในการรับรู้ เข้าใจอารมณ์ตนเองและผู้อื่น สามารถควบคุมอารมณ์และยับยั้งชั่งใจตนเองและแสดงออกอย่างเหมาะสม รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักรอคอย รู้จักกฎเกณฑ์ระเบียบวินัย มีจิตใจร่าเริงแจ่มใส มองโลกในแง่ดี สามารถปรับตัวเข้ากับสังคม สถานการณ์รอบข้างได้ดี มีความคิดสร้างสรรค์ กระตือรือร้น มีแรงจูงใจ อยากประสบความสำเร็จ เห็นคุณค่าและเชื่อมั่นในตนเอง รายงานการศึกษาหลายชิ้นสรุปตรงกันว่า คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตและอาชีพการงาน ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วไปล้วนแต่มี EQ ดีทั้งสิ้น และสิ่งที่น่าดีใจก็คือ EQ สามารถปรับเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้คนจึงหันมาให้ความสำคัญกับ EQ กันมาก ว่ากันจริงๆ แล้ว EQ ค่อนข้างกว้างมาก น่าจะเป็นหัวข้อใหญ่ที่ครอบคลุม Q ต่างๆ ได้ทั้งหมดและพ่อแม่น่าจะได้ประโยชน์มากที่สุด แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะลงรายละเอียดในประเด็นต่างๆ มากน้อยแค่ไหน เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่พอพูดถึง EQ ก็มักจะมุ่งไปที่การเป็นเด็กอารมณ์ดีซะมาก จนอาจมองข้ามรายละเอียดบางข้อที่มีประโยชน์กับเด็ก เช่น การปลูกฝังกฎเกณฑ์ระเบียบวินัย เด็กจะสามารถควบคุมตัวเองได้ต่อเมื่อพ่อแม่ฝึกระเบียบวินัยให้ รู้จักควบคุมลูก พูดง่ายๆ คือไม่ตามใจในเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งพบความสัมพันธ์ว่า เด็กที่พ่อแม่สอนเรื่องระเบียบวินัยดีๆ มักจะเป็นเด็กซึ่งมี EQ ดีตามมา

CQ : Creativity Quotient ความฉลาดในการริเริ่มสร้างสรรค์ มีความคิด จินตนาการหรือแนวคิดใหม่ๆ ในรูปแบบต่างๆ เช่น การเล่น งานศิลปะ การประดิษฐ์สิ่งของ CQ จะสัมพันธ์กับเรื่องการเล่น ถ้าเด็กได้เล่นอย่างอิสระตามความชอบและเหมาะกับวัย เด็กก็จะมีความคิดสร้างสรรค์ การปลูกฝังเรื่องนี้จึงอยู่ที่พ่อแม่มีเวลาเล่นและทำกิจกรรมที่ส่งเสริมจินตนาการกับลูก เช่น การเล่นศิลปะ การหยิบจับของใกล้ตัวมาเป็นของเล่น การเล่านิทาน เป็นต้น MQ : Moral Quotient ความฉลาดทางศีลธรรม จริยธรรม คือมีความประพฤติดี รู้จักผิดชอบ มีความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ มีจริยธรรม เป็นแนวคิดที่มุ่งตอบคำถามว่าการที่เรามีคนที่ IQ ดี EQ สูง แต่ถ้ามีระดับคุณธรรมจริยธรรมต่ำก็อาจใช้ความฉลาดไปในทางที่ไม่ถูกต้องก็เป็นได้ MQ จึงเน้นเรื่องการปลูกฝังความดีงามให้กับเด็ก ซึ่งตรงกับหลักศาสนาหลายศาสนาที่สอนให้คนเป็นคนดี เด็กที่มี

MQ ดีมักเป็นเด็กเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นและเมื่อโตขึ้นจะเป็นคนที่เข้ากับคนอื่นได้ง่าย การที่เด็กจะมี MQ เกิดขึ้นได้นั้นต้องเริ่มต้นจากการที่เด็กรู้จักถูกผิด สิ่งไหนควรทำไม่ควรทำ ซึ่งจะใช้วิธีการบอกด้วยคำพูดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องแสดงให้เด็กเห็นอย่างสม่ำเสมอควบคู่ไปกับการสอนด้วยจึงจะได้ผล

PQ : Play Quotient ความฉลาดที่เกิดจากการเล่น เกิดจากความเชื่อที่ว่าการเล่นพัฒนาความสามารถของเด็กได้หลายด้าน ทั้งพัฒนาการด้านร่างกาย ความเฉลียวฉลาด ความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์และสังคม PQ จึงเน้น ให้พ่อแม่เล่นกับลูก ถึงกับมีคำพูดที่ว่าพ่อแม่เป็นอุปกรณ์การเล่นที่ดีที่สุดของลูก การที่พ่อแม่ให้ลูกขี่คอ เล่นจ๊ะเอ๋ เล่นซ่อนหา เล่านิทาน สามารถสร้างเสริมพัฒนาลูกได้ดีกว่าของเล่นพัฒนาการแพงๆ เพราะนอกจากพัฒนาการด้านร่างกายและสติปัญญาที่เกิดขึ้นแล้ว ลูกยังได้รับความรู้สึกอบอุ่น มีความสุขไปพร้อมกับคำสอน หลักคิดต่างๆ ที่สอดแทรกระหว่างที่เล่นด้วย

AQ : Adversity Quotient ความฉลาดในการแก้ไขปัญหา คือมีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวในการเผชิญปัญหาได้ดี และพยายามหาหนทางแก้ไขปัญหา เอาชนะอุปสรรคความยากลำบากด้วยตัวเอง ไม่ย่อท้อง่ายๆ จริงๆ แล้วความฉลาดในด้านนี้เริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่เป็นเด็ก เพราะเด็กจะเรียนรู้วิธีการมองและจัดการปัญหาจากผู้ใหญ่รอบข้าง ว่าปัญหานั้นเป็นปัญหาที่ต้องยอมจำนน เป็นโอกาสหรือเป็นเรื่องน่าท้าทาย แต่ก็อยู่ที่พ่อแม่ด้วยว่าจะเปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกเผชิญกับการแก้ปัญหาด้วยตัวเองหรือไม่

6Q สร้าง Q รอบด้านด้วยสองมือพ่อแม่

จากรายละเอียดของความฉลาดด้านต่างๆ ที่เสนอไปข้างต้นนี้คงพอจะเห็นนะคะว่า เราสามารถพัฒนา Q ต่างๆ ให้กับลูกได้โดยผ่านการอบรมเลี้ยงดู สำหรับลูกวัยเล็กๆ มีอยู่ 2 เรื่องหลักที่คุณหมออยากสนับสนุนให้คุณพ่อคุณแม่เริ่มฝึกให้กับลูก นั่นคือการฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเองและการให้ลูกได้เรียนรู้กฎเกณฑ์ ระเบียบวินัย เพราะเพียงคุณพ่อคุณแม่เริ่มต้น 2 สิ่งนี้กับลูกสำเร็จ Q ต่างๆ ที่พ่อแม่ทุกคนปรารถนาอยากจะให้ลูกมี ก็จะเกิดขึ้นได้ไม่ยากค่ะ

การฝึกการช่วยเหลือตัวเองในกิจวัตรประจำวัน เช่น กลัดกระดุม ผูกเชือกรองเท้า กินข้าวเอง ใส่เสื้อผ้าเอง ให้เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยของลูก โดยพ่อแม่ทำเป็นตัวอย่าง ให้คำแนะนำช่วยเหลือเมื่อจำเป็นพร้อมกับชมเชยเมื่อลูกทำสำเร็จ ที่สำคัญต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เด็กที่ผ่านการฝึกอย่างสม่ำเสมอจะมีทักษะในกิจวัตรนั้นๆ และจะทำอย่างเป็นอัตโนมัติจนเกิดเป็นระเบียบวินัยขึ้นในตัวเอง และติดตัวเขาไปจนโต ซึ่งสิ่งเหล่านี้นอกจากจะช่วยพัฒนาการทำงานประสานของกล้ามเนื้อมือและตาแล้ว ยังได้ฝึกทักษะการแก้ไขปัญหาขากงานเล็กๆ ในชีวิตประจำวันของเขาเอง

ระหว่างการฝึกเด็กจะได้เรียนรู้การใช้ความพยายาม ได้ทดลองวิธีใหม่ๆ เรียนรู้ที่จะควบคุมตนเอง เพราะบางเวลาก็คงไม่อยากทำ แต่ถูกสอนมาแล้วว่าการช่วยเหลือตัวเอง เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องทำเมื่อต้องออกไปเผชิญกับสถานการณ์ข้างนอก เช่น เมื่อต้องเข้าโรงเรียนก็สามารถปรับตัวได้ง่าย พร้อมกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากกว่าเด็กที่ไม่เคยถูกฝึกมาเลย ซึ่งจะทำให้เป็นที่ชื่นชมในสายตาผู้ใหญ่ เกิดเป็นความภาคภูมิใจและความเชื่อมั่นในตนเอง เป็นแรงส่งให้พร้อมเรียนรู้สิ่งท้าทายและซับซ้อนขึ้นไปอีก เรียกได้ว่าเป็นวงจรพัฒนาการที่มีแต่เรื่องดีๆ เกิดกับตัวเด็กค่ะ ถ้าเพียงแต่คุณมีเวลาดูแลใกล้ชิดกับลูก... คุณจะได้พูดคุยกับลูกบ่อยๆ เพื่อพัฒนาภาษาลูก ให้ลูกได้ฝึกแสดงความรู้สึก และเพื่อที่คุณจะได้สอดแทรกคำสอน หลักคิดต่างๆ คุณจะได้ให้แบบอย่างที่ดีแก่ลูก ทั้งแบบอย่างในการแสดงอารมณ์ คำพูด การจัดการปัญหา การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ วิธีปฏิบัติสัมพันธ์กับผู้อื่น และอีกมากมาย คุณจะได้เป็นคนที่บอกลูกว่าสิ่งที่ทำหรือสิ่งที่เขาเห็นนั้นเป็นสิ่งถูกหรือผิด ควรทำหรือไม่ คุณจะได้กอด สัมผัส ได้รับรู้รับฟังสิ่งที่ลูกคิด ต้องการ เพื่อให้เขาเกิดความรู้สึกมั่นคงอบอุ่นทางใจ อันจะนำไปสู่การเห็นคุณค่าในตัวเองและมีความเชื่อมั่น คุณจะได้มีโอกาสชื่นชมเมื่อลูกทำสิ่งดีๆ จนเกิดเป็นความมั่นใจ ภาคภูมิใจในตัวเองของลูก คุณจะได้มีโอกาสเล่น ร้องเพลง เล่านิทานกับลูก ได้ชักชวนให้ลูกได้เล่นได้ลองทำอะไรใหม่ๆ และได้ให้กำลังใจ ช่วยเหลือเวลาที่เห็นลูกยอมแพ้หรือพยายามเรียนรู้ แม้เวลาจะเป็นสิ่งหายากเหลือเกินสำหรับพ่อแม่ยุคนี้ แต่ขอให้คุณพยายามจัดเวลาให้ได้มากและใช้มันอย่างคุ้มค่าที่สุด

Q ต่างๆ ที่คุณปรารถนาให้ลูกมีก็ไม่ใช่เรื่องยาก เป็นกำลังใจและเอาใจช่วยทุกครอบครัวเหมือนเดิมค่ะ ทดสอบ Q จำเป็นแค่ไหน สิ่งที่มาพร้อมกับ Q เหล่านี้และดูเหมือนจะได้รับความสนใจจากพ่อแม่เอามากๆ ก็คือแบบทดสอบเพื่อวัดหรือหาว่าเด็กมี Q เหล่านี้หรือไม่ หรือมีความฉลาดในด้านนั้นๆ อยู่ในระดับใด ในความเห็นของคุณหมอแล้วหลักของ Q ต่างๆ เหล่านี้คือการให้หันมาใส่ใจกับการเลี้ยงลูก ส่วนแบบทดสอบที่วัดว่าลูกเรามีลักษณะสอดคล้องกับ Q นั้นๆ หรือไม่ก็เหมือนกับผลปลายทางที่แสดงออกมา ซึ่งการวัดอาจให้ผลที่แน่นอนหรือไม่ก็ได้ เพราะส่วนหนึ่งพ่อแม่ที่ทำแบบทดสอบอาจทำด้วยความเห็นที่โน้มเอียงไปทางลูก

ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่คุณหมออยากให้พ่อแม่ใส่ใจมากกว่าคือเหตุที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านั้น นั่นคือจะทำอย่างไรจึงจะเกิดผลปลายทางที่ดีๆ เหล่านั้นกับลูก นอกจากนี้ในบรรดาแบบทดสอบที่เกี่ยวกับ Q ทั้งหลายมีแบบทดสอบ IQ เท่านั้นที่มีมาตรฐาน ให้ผลค่อนข้างแน่นอนและใช้กันแพร่หลายทั่วโลก แต่จะใช้วัดเมื่อมีข้อบ่งชี้ว่าเด็กมีความบกพร่องทางสติปัญญา เช่น เด็กที่มีปัญหาการเรียน สมาธิสั้น เด็ก LD เป็นต้น ส่วน Q อื่นๆ ไม่มีแบบทดสอบมาตรฐานแน่นอนและไม่นิยมใช้กัน ในทางคลินิกจะมีก็แต่ EQ ที่มีการพัฒนาออกมาบ้างแล้ว โดยกรมสุขภาพจิต แต่ก็ใช้เป็นเพียงการประเมินโดยสังเขปเพื่อให้เห็นความบกพร่องของความสามารถด้านอารมณ์ที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเท่านั้นค่ะ

[ ที่มา..นิตยสารรักลูก ปีที่ 22 ฉบับที่ 264 มกราคม 2548 ]




Create Date : 14 พฤษภาคม 2555
Last Update : 14 พฤษภาคม 2555 23:13:03 น. 0 comments
Counter : 1037 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ลูกน้ำกว๊าน
Location :
พะเยา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ยินดีต้อนรับทุกท่าน นะคะ




อยากมีและอยากรู้จัก เพื่อนที่มีที่มาต่างกัน และอยากร่วมแชร์ ประสบการณ์ให้คนอื่น ได้รับรู้บ้าง เพื่อนๆชาว บลอคแกงค์เป็นอะไรที่ ใช่เลย ที่คอยอยู่ด้วยกัน ตลอดเวลา พอเรา เปิดดูครั้งใดก็จะมีคน นั่งเขียนบลอก นั่งอยู่ที่ หน้าจอ คอยเป็นเพื่อน กันเสมอ รัก ทุกคนใน บลอกแกงค์ ค่ะ
: Users Online
Friends' blogs
[Add ลูกน้ำกว๊าน's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.