มาทำ stock น้ำนม กันเถอะ
สำหรับคุณแม่ที่ต้องกลับไปทำงานประจำ แต่ยังต้องการ เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยากค่ะ แต่ต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้าเล็กน้อยค่ะ นั่นคือการทำ stock น้ำนมเก็บไว้ให้ลูกในระหว่างวันที่คุณแม่ต้องไปทำงาน การทำ stock น้ำนม ขอแนะนำให้เริ่มเก็บน้ำนมตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังคลอดเลยนะคะ เพราะนอกจากจะช่วยให้เราไม่ต้องกังวลในช่วงใกล้ๆ จะกลับไปทำงานแล้วยังเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมด้วยค่ะ หลังจากสัปดาห์แรก เมื่อทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง (เล็กน้อย) ขอให้คุณแม่เริ่มปั๊มนมเก็บไว้ได้เลยนะคะ โดยเลือกช่วงเวลาที่รู้สึกคัดเต้านมมากที่สุด (โดยปกติจะเป็นช่วงเช้าตอนตื่นนอนใหม่ๆ เพราะร่างกายจะได้พักผ่อนเต็มที่ เต้านมจะผลิตน้ำนมได้เต็มที่) ให้ลูกดูดก่อนข้างหนึ่ง ถ้าลูกอิ่มดีแล้วก็ปั๊มจากอีกข้างหนึ่งเก็บไว้ค่ะวันแรกๆ อาจจะได้ติดก้นขวด ไม่ต้องกังวลนะคะ ปั๊มให้ได้อย่างน้อย 15 นาที ถึงไม่มีอะไรออกมา หรือแค่หยดเดียวติดปลายช้อน ก็ไม่เป็นไรค่ะ ถ้าน้อยมากๆก็ยังไม่ต้องแช่แข็ง เอาช้อนเล็กๆ แตะปลายช้อนทีละนิด แล้วก็ป้อนลูกค่ะ (น้อยแค่ไหน ก็มีภูมิคุ้มกันค่ะ ยิ่งวันแรกๆ น้ำนมยิ่งมีคุณค่ามากค่ะ) ถ้าลูกดูดข้างเดียวแล้วไม่อิ่มก็ให้ดูดทั้งสองข้าง หลังจากนั้นก็ปั๊มต่อประมาณ 3-5นาทีต่อข้าง เพื่อกระตุ้นเต้านม ในระหว่างวันก็เช่นกันค่ะ ถ้ามื้อไหนคุณแม่ไม่ขี้เกียจ เมื่อลูกดูดเสร็จแล้ว ก็ใช้ปั๊มกระตุ้นต่อสัก 3-5 นาที ทำเรื่อยๆ ทุกวันร่างกายก็จะรับรู้ว่าต้องผลิตน้ำนมเพิ่ม น้ำนมที่ปั๊มก็จะได้ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 1 oz. –2 oz. -3 oz. ....ดู “วิธีเก็บรักษานมแม่”
//www.momyweb.com/forums/index.php/topic,273.0/นมแม่%20.html# 9 - วิธีเก็บรักษานมแม่ และ ถุงเก็บน้ำนมแม่ พอครบเดือน ก็จะเริ่มมี stock ไว้พอสมควรแล้วค่ะ แต่ไม่ควรหยุดปั๊มนะคะโดยเฉพาะเด็กที่นอนนานๆ ถ้าลูกไม่ดูดนมทุก 2-3 ชม. ก็ต้องปั๊มออกมาเก็บไว้เรื่อยๆ นะคะ สำหรับเด็กที่ดูดนมถี่มากๆ บางครั้งไม่ถึงช.ม. ก็มี ก็ไม่เป็นไรค่ะ ให้เค้าดูดตามต้องการ คุณแม่ก็พยายามดื่มน้ำมากๆ ทานอาหารให้ครบ และพักผ่อนให้เต็มที่ ร่างกายเราก็จะผลิตน้ำนมได้ตามความต้องการของลูกในที่สุดค่ะ เมื่อลูกครบเดือน ก็หัดให้ลูกดื่มนมจากช้อน จากแก้ว หรือจากขวด เลือกเอาตามสะดวกค่ะ ไม่จำเป็นต้องกังวลมากว่า วิธีไหนดีที่สุด เลือกเอาที่คิดว่าเหมาะและง่ายกับคนป้อนค่ะ ถ้าเลือกป้อนด้วยช้อนหรือแก้ว ช่วงแรกที่ไม่ถนัดอาจจะหกเลอะเทอะไปบ้าง แต่ถ้าฝึกคล่องแล้วก็ไม่มีปัญหา สำหรับบ้านที่มีผู้ใหญ่หัวโบราณสักนิด ถ้าไม่อยากขัดแย้งกันก็ใช้ขวดก็ได้ค่ะ (ไม่ต้องกังวลมากค่ะเพราะวิธีการไม่ใช่สาระสำคัญ ขอให้เป็นนมแม่ก็พอค่ะ ไม่จำเป็นต้องเอาเรื่องนี้มาทะเลาะกัน คุณแม่จะเครียดเปล่าๆ ลำพังต้องรับมือกับประเด็นที่ว่าทำไมไม่เลี้ยงนมผสมก็เครียดพอแล้วค่ะ) ดู “วิธีหัดให้ลูกดูดนมจากขวด”
//www.momyweb.com/forums/index.php/topic,274.0/นมแม่%20.html# 10 - วิธีให้ลูกยอมดูดนมแม่จากขวด
เมื่อคุณแม่เริ่มไปทำงาน ก็ให้ลูกกินนมที่เราปั๊มเก็บไว้ ระหว่างที่อยู่ที่ทำงานก็ปั๊มนมทุก 3 ชม. พยายามกำหนดเวลาให้ตรงกันทุกวัน เช่น ตอนเช้าให้ลูกดูดก่อนไปทำงาน พอถึงที่ทำงานก็ปั๊มตอน 9.00-12.00-15.00 น. แช่ตู้เย็น หรือเตรียมกระติกใส่แล้วนำกลับมาให้ลูกกินในวันรุ่งขึ้น วันเสาร์-อาทิตย์ ก็ให้ลูกดูดนมแม่ทุกมื้อ เพื่อรักษาปริมาณน้ำนม เพราะไม่มีเครื่องปั๊มนมยี่ห้อไหนดีเท่าลูกดูดเองค่ะ สต็อคเท่าไหร่ถึงจะพอ ถ้าต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วนๆ โดยไม่ต้องใช้นมผสมนั้น ในช่วงที่ลาสามเดือนนั้น ต่อให้เร่งทำสต็อคได้เป็นพันออนซ์ก็จะไม่พอสำหรับลูก ถ้าคุณแม่ไปทำงานแล้วปั๊มได้แค่วันละครั้งหรือสองครั้ง ในทางกลับกัน ถึงแม้จะมีสต็อคแค่สิบยี่สิบออนซ์ก่อนไปทำงาน แต่คุณแม่สามารถหาเวลาปั๊ม หรือบีบนมให้ลูกได้ เท่ากับ จำนวนออนซ์และมื้อที่ลูกกินตอนที่แม่ไปทำงาน (ลูกกินที่บ้าน 3 มื้อ รวม 12 oz. แม่ก็ปั๊ม 3 มื้อ กลับมาส่งลูก 12 oz. ถ้าลูกกิน 4 มื้อ รวม 16 oz. แม่ก็ปั๊ม 4 มื้อ รวม 16 oz มาให้ลูก) ถ้าทำได้แบบนี้จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้นานแค่ไหนก็ได้ค่ะ ปัญหาหลักที่หลายคนทำผิดพลาดเมื่อกลับไปทำงานก็คือ ไม่ได้ปั๊มเท่ากับจำนวนมื้อที่ลูกกิน วันแรกที่กลับไปทำงานใหม่ๆ แม้ว่า บางคนจะปั๊มแค่ครั้งเดียวตอนเที่ยง ก็อาจจะได้น้ำนมมากเป็นสิบออนซ์ เพราะนมสะสมมากจากที่เคยให้ลูกดูดตอนอยู่บ้าน3-4 ครั้ง แต่พอไม่กี่วัน ก็จะปั๊มนมได้น้อยลงจนตกใจ และถ้ายังคงปั๊มวันละครั้งไปเรื่อยๆ ไม่นาน ก็จะลดลงเรื่อยๆ จนไม่พอในที่สุด เพราะร่างกายจะตอบสนองกับ ความต้องการที่ลดลงนี้โดยอัตโนมัติ บีบไม่เป็น หรือใช้เครื่องปั๊มนมที่ไม่ดีพอ ทำให้ไม่สามารถปั๊มนมออกมาได้ เท่ากับ ที่ลูกเคยดูดในแต่ละมื้อ เมื่อเราเริ่มให้ลูกกินนมแม่ที่ปั๊ม ก็จะรู้เอง ว่าปริมาณน้ำนมที่ลูกต้องการแต่ละมื้อนั้นเท่าไหร่ (แตกต่างกันไปในเด็ก แต่ละคน คุณแม่ต้องสังเกตุเอาเองค่ะ) ถ้าลูกกิน 3 ครั้ง รวม 12 oz. แล้วเราก็ปั๊มได้ 3 ครั้ง รวมแล้ว 12 oz หรือมากกว่า ก็ถือว่าเครื่องปั๊มนม นั้นใช้ได้ โดยปกติ ถ้าในช่วงลา 3 เดือน แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วนๆ โดย ไม่ใช้นมผสม เมื่อกลับไปทำงาน ถ้าบีบด้วยมือได้คล่องและชำนาญ หรือ ใช้เครื่องปั๊มนมคุณภาพดี บีบหรือปั๊มเท่าจำนวนครั้งที่ลูกกินที่บ้าน ส่วนใหญ่จะปั๊มได้มากกว่าที่ลูกต้องการนิดหน่อยอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม มีเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ สำหรับคุณแม่ที่โชคร้าย ที่ทำงานไม่สะดวกให้ปั๊มนมได้วันละ 3-4 ครั้ง ขอบอกว่าถ้าวันละครั้งเดียวนี่ยากมาก แต่ถ้าได้อย่างน้อย 2 ครั้ง พอมีลุ้นค่ะ สมมติว่าลูกอยู่บ้านกินนมวันละ 4 มื้อแม่ปั๊มได้แค่ 2 ครั้ง เที่ยงกับบ่ายสาม ก็ขอให้มาปั๊มชดเชยตอนตีห้า กับ ห้าทุ่มเที่ยงคืนเพิ่มค่ะ ในมื้อที่จะปั๊มชดเชยนี้ พยายามให้ลูกกินข้างเดียว แล้วปั๊มเก็บอีกข้าง ทำแบบนี้สักอาทิตย์ ร่างกายก็จะรับรู้ว่ามีความต้องการในเวลานั้นๆมากกว่าเวลากลางวัน มันก็จะปรับการผลิตให้เองค่ะ แบบนี้แม้ว่าจะปั๊มได้แค่วันละสองครั้งที่ทำงาน ก็พอได้ค่ะ จำนวนสต็อคน้ำนมที่น่าจะพอดีๆ ก่อนไปทำงาน โดยส่วนตัวคิดว่าสัก 30-50 ถุง(ถุงละ 2-4 oz) ก็น่าจะกำลังดี เพราะอาจจะมีบางวันเครียดๆ ปั๊มได้น้อยกว่าปกติก็ยังมีเผื่อเหลือเผื่อขาด วันไหนอารมณ์ดี เจ้านายชม ปั๊มได้เกินกว่าที่ลูกกินก็มาชดเชยวันที่ได้น้อยไป สต็อคที่มากเกินไปสร้างความไม่สะดวก คือ ไม่มีที่เก็บ และยังทำให้นมที่ต้องนำมาใช้ต้องย้อนหลังไปเป็นเดือน ซึ่งไม่ตรงกับวัยของลูกอีกต่างหาก ถ้าใครโชคดีไม่ต้องทำงานประจำ ให้ลูกดูดจากได้เต้าทุกมื้อ ทุกวันนี่ถือว่า สุดยอดแล้วค่ะ แบบนี้มีสต็อคไม่ถึง 10 ถุงก็พอ เผื่อเวลาแอบหนีลูกไปชอปปิ้งสัก 3-4 ชม.อย่างเก่งก็แค่มื้อเดียว กลับมาบ้านลูกกินนมไปแล้ว ก็มาปั๊มเก็บไว้แทนที่ใช้ไป เป็นเรื่องธรรมดานะคะ ถ้าบางวันจะปั๊มได้มากบ้าง น้อยบ้าง สลับกันไป ปกติลูกกินวันละ 12 อาจจะมีบางวันได้ 10 บางวันได้ 14 การผลิตน้ำนมก็ขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกายของเราล่ะค่ะ วันไหนอารมณดี กินอิ่ม นอนเยอะ ก็ปั๊มได้เยอะ วันไหนเครียด กินน้อย นอนไม่พอ ก็ปั๊มได้น้อยไปบ้าง ไม่ต้องตกอกตกใจยิ่งเครียด ยิ่งน้อยค่ะ ขอให้ยึดหลักความสม่ำเสมอ ทำให้ได้ทุกวัน ดูแลร่างกายให้ดี เดี๋ยวก็กลับมาเหมือนเดิมค่ะ
ที่มา : breastfeedingthai
ลิงค์ : //guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=6060 เนื้อหา :มาทำ stock น้ำนม กันเถอะ
Create Date : 16 พฤษภาคม 2554 |
Last Update : 16 พฤษภาคม 2554 19:30:24 น. |
|
0 comments
|
Counter : 967 Pageviews. |
 |
|
|
|
|