มกราคม 2568
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
5 มกราคม 2568

: กะว่าก๋าแนะนำหนังสือ - อะไรที่ทำให้คุณไม่ใช่พุทธ :


: อะไรที่ทำให้คุณไม่ใช่พุทธ :
เขียน : ซองซาร์ จัมยัง เคียนเซ
แปล : รวิวาร โฉมเฉลา









หนังสือเล่มนี้อ่านสนุก และมีเนื้อหาที่ร่วมสมัย
ท่านซองซาร์ จัมยัง เคียนเซ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้
เกิดที่ภูฐาน ดำรงตำแหน่งทั้งเจ้าอาวาสและดูแลวิทยาลัยสงฆ์ซึ่งมีผู้เรียนนับพัน

ท่านเลือกนำพุทธประวัติมาตีความใหม่ เปรียบเทียบกับเรื่องราวที่ทันสมัยในโลกยุคปัจจุบัน
มีการใช้ภาษาแบบจิกกัดประชดประชันในหลายเรื่อง ซึ่งไม่ค่อยเห็นในหนังสือแนวธรรมะทั่วไป
แต่นั่นกลับเป็นเสน่ห์ซึ่งทำให้อ่านหนังสือเล่มนี้ได้อย่างสนุกและมีรสชาติกว่าหนังสือธรรมะที่มีอยู่

ท่านซองซาร์ จัมยัง เคียนเซ เน้นย้ำถึงความสำคัญของ “สัจธรรม 4 ประการ”


ทุกสิ่งล้วนไม่เที่ยง
อารมณ์ความรู้สึกล้วนคือทุกข์
สรรพสิ่งไม่ได้ดำรงอยู่อย่างแท้จริง
การรู้แจ้งอยู่เหนือความคิด



และนี่เป็นหลักการเดียวกันกับ “กฏไตรลักษณ์” (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ในนิกายเถรวาท

ผมชอบการตั้งคำถามของท่านที่ว่า

หากลูกชายของเราอยู่ ๆ ก็ทิ้งงานที่ดี
หลังจากตระหนักถึงความตายและความแก่ชรา
ไม่สนใจความสำคัญของเงินเดือนและความก้าวหน้า
หากลูกเดินมาบอกว่าเขาจะขายหุ้นและบริจาคเงินทั้งหมด
ให้เด็กกำพร้าเพื่อออกเร่ร่อนแสวงหาความจริงแห่งชีวิต
แล้วเราจะทำอย่างไรกับการตัดสินใจของลูก ?
เราจะตอบและบอกลูกยังไง เพื่อรั้งไม่ให้ลูกไป ?
ใช่ --- เราจะทำใจและยอมรับการตัดสินใจของลูกได้หรือไม่ ?

ผมคิดว่านี่คือ คำถามเดียวกันกับขณะที่พระพุทธเจ้าตัดสินใจออกบวช
โดยทิ้งทุกอย่างซึ่งตนมีไว้เบื้องหลัง เพื่อออกแสวงหาคำตอบที่ตนสงสัย

การเข้าหาศาสนาในยุคปัจจุบันจึงเต็มไปด้วย “คำถามและความสงสัย”
และหลายคำตอบซึ่งได้รับกลับมา ก็ไม่ได้เปลี่ยน “ความสงสัย” ที่มี
ให้กลายมาเป็น “ความศรัทธา” ได้เลย

แม้เราจะรู้ดีว่า ความจริงของโลก ตั้งอยู่บนพื้นฐานของปัญญา
ยามชีวิตมีปัญหา เราต้องลงไปจัดการกับรากเหง้าของปัญหานั้นด้วยปัญญา
ปัญหาจึงจะถูกแก้ไขให้ลุล่วงไปได้
ศาสนาทำให้เรามีคำตอบในทุกคำถามอย่างนั้นหรือ ?


“ทุกสิ่งทุกอย่าง” ตั้งอยู่บนกฎแห่งการเปลี่ยนแปลงของความไม่เที่ยง
เหตุ + ปัจจัย = ความเปลี่ยนแปลง
ไม้ + ตะปู รวมกันกลายเป็นโต๊ะ เก้าอี้ ตู้ ชั้นวางของ
น้ำ + ใบชา กลายเป็นน้ำชา
ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นมาลอย ๆ โดยไม่มีการเชื่อมโยง
สุขและทุกข์ที่เราพยายามจัดการ ก็เกิดจากเหตุและปัจจัยรายล้อมมากมาย

ทุกสิ่งอยู่ภายใต้ “เงื่อนไขของเวลา” และ “ความเปลี่ยนแปลง”
ทุกสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตลอดเวลา

“ทุกข์” เกิดจากอารมณ์ ความรู้สึกของเรา
ซึ่งหยั่งลงไปบนความหลงผิด ความเข้าใจผิด
เราเรียกมันว่า “อวิชชา” หรือ “ความไร้ปัญญา”


รากเหง้าของอวิชชา
คือ การหลงยึดในอัตตาว่านี่คือกายของฉัน นี่คือทุกสิ่งที่เป็นของฉัน
ว่าทุกสิ่งคือความจริงซึ่งคงทนไม่เปลี่ยนแปลง



การยึดติดในตัวตน คือ “อัตตา”
อัตตา คือ “มายา”
มายา คือ สิ่งสมมุติ เป็นภาพลวงตา
เป็นการคิดไปเองแต่คิดอย่างผิดพลาด และไม่ตรงตามความเป็นจริง
ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะเราไม่รู้
ไม่รู้ว่าอะไรจริงหรือไม่จริง
ซึ่งสิ่งนี้เรารู้ได้โดยไม่จำเป็นต้องระบุว่าเรานับถือศาสนาใด นับถือสิ่งใด
เพราะ “ความจริง” นี้มีอยู่แล้วก่อนการเกิดศาสนาใดใดด้วยซ้ำ

คำว่า “รู้แจ้ง” นั่นอาจเทียบเคียงได้กับคำว่า “อิสรภาพ”
“อิสรภาพ” มาจาก “ทัศนคติอันถูกต้อง”
ซึ่งนั่นเป็นรากฐานของการปฏิบัติธรรมในทุกศาสนา


“อะไรที่ให้คุณไม่ใช่พุทธ ?” อาจไม่ใช่คำถามที่ทำให้ผมสงสัย
เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ผมกลับรู้สึกว่าทุกศาสนาต่างมีความงามในหลักคำสอนของตน
แม้แต่ผู้ที่ไม่นับถือศาสนาใดก็หาใช่ความผิดบาป
เขาอาจค้นพบคำตอบซึ่งคลายความสงสัยในชีวิต
และทำให้คิดพึ่งพาตนเองมากกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดใด
เขาอาจรู้แล้วว่า “ปัญญา” ที่มีในตน สามารถทำให้ตนพ้นทุกข์
และเปลี่ยนแปลงวิธีคิดในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและสงบงามได้
แม้ไม่ต้องสวดภาวนาหรือนั่งสมาธิเป็นชั่วโมง ๆ
เขาอาจรู้แล้วว่า มนุษย์นั้นไม่จำเป็นต้องไหว้วอนร้องขอสิ่งต่าง ๆ จากเทพหรือรูปปั้นบูชา
ขอเพียงลงมือทำ สร้างทำสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้อง ถูกทาง ก็สามารถประสบความสำเร็จในชีวิต
โดยไม่ต้องพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ แต่อย่างใด

เปรียบดังการดื่มชา
ชา คือ สัจธรรม
ขณะที่ถ้วยชา ที่ตักชา ใบชา ฯลฯ คือ แนวทางการปฏิบัติ กฎ ศีล ข้อบังคับ
พิธีกรรม วัฒนธรรม ธรรมเนียม ประเพณี ฯลฯ
ตลอดระยะเวลาหลายศตวรรษ ถ้วยชาและอุปกรณ์มากมาย ถูกสร้างขึ้น
แต่เราไม่ควรหลงลืมความจริงว่าสิ่งที่เราต้องการ คือ “การดื่มชา”
จุดประสงค์ของอุปกรณ์เหล่านั้น คือ การรองรับสัจจะที่อยู่ในถ้วย
ผู้คนมากมายบนโลกนี้จึงสาละวนอยู่กับวิธีการดื่มชา แทนที่จะมุ่งไปที่ผลลัพธ์
ผู้คนมากมายเดินไปเดินมาพร้อมกับถือถ้วยชาที่ว่างเปล่า
และไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “ชา” หรือ “สัจจะ” ที่ตัวเองต้องการนั้นอยู่ที่ใด


ที่สุดแล้ว จะเป็นพุทธ หรือไม่ใช่พุทธ
อาจไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกแล้ว
การตระหนักรู้ในความจริงแห่งการเปลี่ยนแปลง
การรับมือกับการเปลี่ยนผันในแต่ละช่วงชีวิต
การทำใจยอมรับความจริงให้ได้อย่างที่ควรจะเป็น
อาจเป็น “วิถี” หรือ “ทางเลือก” ที่นำเราไปสู่ “การรู้แจ้ง”
หรือค้นพบ “อิสรภาพที่แท้จริง” ได้ในตนเอง
ไม่ว่าเราจะนับถือหรือไม่นับถืออะไรก็ตาม







































Create Date : 05 มกราคม 2568
Last Update : 5 มกราคม 2568 6:38:34 น. 9 comments
Counter : 590 Pageviews.  
(โหวต blog นี้) 

 
สวัสดี จ้ะ น้องก๋า

"อะไรที่ทำให้คุณไม่ใช่พุทธ" ชื่อหนังสือเล่มนี้ น่าสนใจ เนาะ
ทำให้ผู้อ่านที่นับถือศาสนาพุทธ ทบทวนดูตัวเองว่า มีอะไรไหมที่
จะแสดงว่า เราไม่ใช่ชาวพุทธที่แท้จริง บทสรุปที่เธอสรุปไว้ก่อน
ตัวอย่าง ครูก็เห็นด้วย เพราะพระพุทธองค์ ตรัสไว้ว่า การจะนับถือพระองค์ นั้น ก็คือ การนำคำสอนของพระองค์ไปปฏิบัติ ถือว่า นั่นคือได้นับถือ พระองค์แล้ว ซึ่งเป็นคำสอนที่แตกต่างจากศาสดาของ
ศาสนาอื่น นั่นเอง

"ที่สุดแล้ว จะเป็นพุทธ หรือไม่ใช่พุทธ
อาจไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกแล้ว
การตระหนักรู้ในความจริงแห่งการเปลี่ยนแปลง
การรับมือกับการเปลี่ยนผันในแต่ละช่วงชีวิต
การทำใจยอมรับความจริงให้ได้อย่างที่ควรจะเป็น
อาจเป็น “วิถี” หรือ “ทางเลือก” ที่นำเราไปสู่ “การรู้แจ้ง”
หรือค้นพบ “อิสรภาพที่แท้จริง” ได้ในตนเอง
ไม่ว่าเราจะนับถือหรือไม่นับถืออะไรก็ตาม


โดย: อาจารย์สุวิมล วันที่: 5 มกราคม 2568 เวลา:11:31:22 น.  

 
สวัสดีปีใหม่ครับคุณก๋า

อาจารย์เต๊ะ มาช้าหน่อย เมื่อเช้าเพื่อนบ้านชวนไปทำบุญที่บ้านเค้า
พระท่านสวดชุดใหญ่ อัญเชิญเทวดามาหมด สวดเป็น ชม เลย
ตบท้ายด้วยการพรมน้ำมนต์ พอเห็นหน้า อาจารย์เต๊ะ
ท่านจำได้ว่าใส่บาตรกับท่านทุกวัน เลยราดซะโชกเลยเชียวครับ ฮ่าๆๆ

วันนี้ เจอหนังสือ อะไรที่ทำให้คุณไม่ใช่พุทธ ของคุณก๋า
กลับมานั่งคิดดูแล้ว ก็ยังตอบไม่ได้เลยคร้าบ
เพราะไอ้ที่ในหนังสือกล่าวไว้ อาาจารย์เต๊ะ ทำตรงข้ามซะหลายอย่างเลยเชียว แฮร่

วันนี้ กทมก็ยังเย็นอยู่ พรุ่งนี้เค้าบอกจะเย็นกว่าวันนี้อีกนะครับ ชอบจริงๆ ฮ่าๆๆ




โดย: multiple วันที่: 5 มกราคม 2568 เวลา:12:44:47 น.  

 
สวัสดีค่ะก๋า

วันนี้บล็อกยังเงียบเหงาอยู่นะคะ



โดย: tanjira วันที่: 5 มกราคม 2568 เวลา:12:46:06 น.  

 
สวัสดีครับ
ผมว่าแก่นของศาสนาแต่ละศาสนาก็มีความคล้ายกันอยู่ พุทธกับเต๋าก็มีความเหมือนกันมากเหมือนกันเพียงแต่วิธีการและการตีความในกระบวนการสู่เป้าหมายอาจจะต่างกันบ้าง

ผมว่ามันไม่ค่อยมีผลกับผมเท่าไหร่ ก็เลือกที่เหมาะกับเราเนอะ


โดย: กะริโตะคุง วันที่: 5 มกราคม 2568 เวลา:15:01:58 น.  

 
อะไรที่ทำให้คุณไม่ใช่พุทธ
น่าจะจุดประกายให้คนศาสนาอื่น
หันมามองสัจะรรมแห่งชีวิตของทุกคน
ไม่ว่าคุณจะเป็นคนศาสนาใดนะคุณก๋า
เช้านี้ออกจากบ้านแต่เช้าไม่ได้เข้าบล็อกจ้า



โดย: หอมกร วันที่: 5 มกราคม 2568 เวลา:16:02:11 น.  

 
ศาสนาพุทธ มีพื้นฐานของธรรมะอยู่เยอะเลยครับ


โดย: ปัญญา Dh วันที่: 5 มกราคม 2568 เวลา:16:19:21 น.  

 
ผมว่าถ้าไม่ยืดมั่น ถือมั่น ปล่อยวางไปได้ ความสุขมันก็ตามมา แต่ทำยากมากเลยครับสำหรับตัวผม อย่างน้อยผมว่าทุกศาสนาก็สอนให้ทำความดีนะ
วันนี้ได้เชียร์บอลยาว ๆ กันไปเลยครับ สองทุ่มไทย - เวียดนาม
ห้าทุ่มครึ่งลิเวอร์พูล - แมนยูฯ


โดย: The Kop Civil วันที่: 5 มกราคม 2568 เวลา:16:41:21 น.  

 
เป็นลักษณะพุทธอีกแขนงนึง ผมว่าสังคมเราไม่ค่อยได้กล่าวถึงในส่วนนี้เท่าไหร่ และยึดเอาพุทธแบบไทยๆ เป็นศูนย์กลางซึ่งมันก็ใช่แบบนั้นเลย


โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 5 มกราคม 2568 เวลา:19:41:14 น.  

 
หนังสือเล่มนี้อ่านสนุก... ทำให้อยากอ่านบ้างครับ
ที่สุดแล้ว เป็นอิสระจากการเกิดแก่เจ็บตาย
เมื่อวานกับวันนี้ อากาศหนาวเย็น ค่าฝุ่นยังเกิน งดวิ่งต่อไป



โดย: สองแผ่นดิน วันที่: 5 มกราคม 2568 เวลา:23:10:11 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

กะว่าก๋า
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 395 คน [?]




มองฉันอีกครั้ง
เธออาจเห็นฉัน
หรืออาจไม่เห็นฉัน

ฉันแค่แวะผ่านทางมา
และอาจไม่หวนกลับมาทางนี้อีกแล้ว

เราเคยรู้จักกัน
และมันจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป

มองดูฉันอีกครั้ง
เธออาจเห็นฉัน
และฉันอาจมองไม่เห็นเธอ.





[Add กะว่าก๋า's blog to your web]