: กะว่าก๋าแนะนำหนังสือ - วิถีเซน เว่ยหล่าง :
: วิถีเซน เว่ยหล่าง :เขียนและเรียบเรียง : นิโรธ จิตวิสุทธิ์

ผู้ที่สนใจศึกษาเซน ย่อมเคยผ่านหูผ่านตา กับเรื่องราวของ ‘ท่านเว่ยหล่าง’ สังฆปรินายกองค์ที่ 6 แห่งประเทศจีนอย่างแน่นอน ด้วยประวัติอันมีสีสันของท่าน ทำให้เรื่องราวมีความเข้มข้น น่าติดตาม
‘ท่านเว่ยหล่าง’ มีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งเป็นช่วงที่เซนกำลังลงหลักปักฐานในแผ่นดินจีน แม้ท่านจะมีชาติกำเนิดที่ยากจนข้นแค้นจนไม่ได้เรียนหนังสือ แต่การมิรู้หนังสือหาใช่สิ่งกีดกั้นในการบรรลุธรรมไม่
ด้วยการฟังพระสูตร “วัชรเฉทิกปรัชญาปารมิตาสูตร” โดยบังเอิญเพียงครั้งเดียว ก็ทำให้ท่านกระจ่างแจ้งในธรรม แต่ต้องใช้เวลายาวนานหลายปี ก่อนได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์และเผยแพร่ธรรมในกาลต่อมา
พระสูตรของท่าน เกิดขึ้นจากการจดบันทึกและเรียบเรียงโดยลูกศิษย์ใกล้ชิด คำสอน คำเทศนาธรรม ชีวประวัติ ถูกถ่ายทอดและจดบันทึกเก็บไว้ จนกลายเป็นแนวทางให้ผู้คนจำนวนมากใช้เป็นคู่มือในการศึกษาเซน
คุณนิโรธ จิตวิสุทธิ์เรียบเรียง ‘วิถีเซน เว่ยหล่าง’ จากหนังสือหลายเล่ม อาทิ สูตรของเว่ยหล่าง แปลโดย ท่านพุทธทาสภิกขุ พระสูตรธรรมของเว่ยหล่าง แปลโดย คุณอมร ทองสุก ภาพบรรยายชีวประวัติและธรรมของพระสังฆปรินายกองค์ที่ 6 เว่ยหล่าง เรียบเรียงโดย เย็นอิมภิกขุ
คำสอนของท่านเว่ยหล่างยังคงร่วมสมัยและนำมาใช้ปฏิบัติได้จริง แม้คำเทศนาธรรมของท่านจะผ่านกาลเวลามานานนับพันปีแล้วก็ตาม อาทิเช่น คำสอนที่ว่า....“ทุกการปฏิบัติธรรมก็ล้วนแต่มุ่งสู่การหลุดพ้นจากจิตที่คิดปรุงแต่ง อีกทั้งในการปฏิบัติธรรม ไม่ว่ามรรควิธีหรือแบบใดก็ตาม ก็เพื่อที่จะประจักษ์แจ้งต่อ ‘จิตเดิมแท้’ หรือเห็น ‘พุทธภาวะ’ ที่มีอยู่แล้วในตัวเราเอง”“สำหรับผู้ที่เห็นแจ้งต่อ ‘จิตเดิมแท้’ แม้ว่าเพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น ผู้นั้นก็สามารถที่จะเห็นแจ้ง ‘จิตเดิมแท้’ ได้โดยตลอดกาลทั้งปวง ต่อจากนั้นทุก ๆ สิ่งที่จิตรับรู้ ก็จะเป็นอิสระจากการถูกกักขัง ซึ่งก็คือ สภาวะที่จิตไม่ผูกพันหรือไม่กักขังสิ่งใดไว้อีกต่อไป”เพราะเมื่อจิตบังเกิดปัญญารู้แจ้ง ต่อความคิดปรุงแต่งของตน ความไม่รู้ ความหลงผิด ก็จะหายไปจากจิต เหมือนห้องซึ่งมืดมิดมายาวนาน เมื่อเปิดประตู หน้าต่าง จนมีแสงลอดผ่านเข้ามา ความมืดมิดนั้นก็หายไปในทันที เช่นเดียวกับการขจัดความหลงผิดหรือความคิดปรุงแต่งออกไปจากจิต ‘พุทธภาวะ’ หรือ ‘ความสว่างไสวแห่งธรรม’ ก็ทำให้ความมืดบอดในจิตหายไปนั่นเอง
วิธีธรรมและวิถีทางแห่งเซน นั้นเรียบง่าย ลึกซึ้ง ไร้พิธีรีตอง เหมือนดังโศลกธรรมที่ท่านเว่ยหลางเคยเขียนไว้บนกำแพงวัด“ไม่มีต้นโพธิ์ อีกทั้งไม่มีกระจกเงาใสสะอาด เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่าแล้ว ฝุ่นละอองจะลงจับกับอะไร”ใช่ --- เมื่อไร้ซึ่งตัวตนและการยึดมั่นถือมั่นในตัวตน กิเลส อวิชชา จะจับกับอะไรได้ เมื่อว่างจากตัวตน การปล่อยวางที่แท้จริงก็เกิดขึ้น เกิดขึ้น และดับไป พร้อม ๆ กับ ‘ความว่าง’ นั้นนั่นเอง








Create Date : 04 มกราคม 2568 |
Last Update : 4 มกราคม 2568 6:14:01 น. |
|
11 comments
|
Counter : 651 Pageviews. |
|
 |
|
|
ปีใหม่นี้ยังไม่เจอเม้นท์คุณธัญเลยจ้า