สมเด็จพระสังฆราช...บันทึกไว้ในรอยศิลป์

ผลงานของหงษ์จร เสน่ห์งามเจริญ
ช่วงนี้ยังอยู่ในบรรยากาศไว้ทุกข์ถวายสมเด็จพระสังฆราชอยู่ หาเรื่องราวที่เกี่ยวกับพระองค์ท่านมาอัพอีกสักบล็อก คุณคุณชาธิป สุวรรณทอง เขียนคอลัมน์ "สมเด็จพระสังฆราช บันทึกไว้ในรอยศิลป์" ในนสพ.กรุงเทพธุรกิจ ลงบทสัมภาษณ์ศิลปินวาดภาพเหมือน (portrait) มือวางอันดับต้น ๆ ของเมืองไทยพร้อมผลงานพระรูปวาดอันงดงาม เสียดายที่สแกนภาพแล้วไม่ชัดเท่าที่ควร ลองหาในเวบแล้วเจอแต่ผลงานของคุณสุวิทย์ ใจป้อมคนเดียว แถมด้วยพระรูปวาดค้นจากอีกสองสามเวบ อารัมภบทแค่สั้น ๆ ให้เพื่อน ๆ ชมฝีมือวาดภาพของศิลปินแต่ละท่านกันเลยค่ะ
สงฺขารานํ ขยํ กตฺวา สนฺตคามึ นมามิหํ เกล้ากระหม่อมขอถวายอภิสัมมานสักการะ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ด้วยเศียรเกล้า ขอนอบน้อมนมัสการพระองค์ผู้ทรงดับสิ้นสังขาร บรรลุถึงธรรมอันสงบระงับ
บล็อกเกอร์ไฮกุ

      
บล็อกคุณปอนอาทิตย์นี้
พิพิธภัณฑ์บ้านจอมพล
บล็อกเสพงานศิลป์ล่าสุด
เสพงานศิลป์ ๖๖

สมเด็จพระสังฆราช...บันทึกไว้ในรอยศิลป์ โดย ชาธิป สุวรรณทอง
ธรรมะที่ทรงเผยแผ่ พระจริยวัตรที่เรียบง่ายทว่างดงามและเป็นแบบอย่าง ทำให้สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงเป็นบุคคลที่เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตแก่ชาวพุทธทั่วโลก
เช่นเดียวกับหลากหลายศิลปิน คนทำงานศิลปะที่มีศรัทธาในองค์สมเด็จพระสังฆราช และเลือกบันทึกเรื่องราวของพระองค์ท่านในรูปแบบผลงานศิลปะตามแนวทางการทำงานของศิลปินแต่ละคน
หงษ์จร เสน่ห์งามเจริญ จิตรกรที่เดินบนเส้นทางของการเขียนภาพเหมือนบุคคล (Portrait) มายาวนานเล่าว่า ย้อนกลับไปเมื่อประมาณยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ในช่วงเวลาที่เขาเริ่มต้นเปิดแกลลอรีเป็นครั้งแรก มีลูกค้ารายหนึ่งเป็นชายจีนจากเยาวราชมาสั่งทำกรอบรูปเพื่อนำไปถวายสมเด็จพระสังฆราช หงษ์จรจึงได้ขอติดตามไปเข้าเฝ้าฯ ด้วย และกลายเป็นจุดสำคัญที่กำหนดเส้นทางชีวิตจิตรกรของเขานับแต่นั้นเป็นต้นมา
"มีลูกค้ามาจ้างทำกรอบรูป เขาบอกว่าอยากจะเอารูปไปถวายสมเด็จพระสังฆราช พอผมทำให้เสร็จแล้วก็เลยบอกว่าผมขอติดตามไปด้วยได้ไหม ผมเขียนรูปสมเด็จฯ ไว้ อยากถวายท่าน เขาก็ยินดีให้ผมไปด้วย ผมก็เลยมีโอกาสได้เข้าเฝ้า ตอนนั้นก็รู้สึกว่าเราเองมีโอกาส มีบุญที่ได้เข้าเฝ้าพระองค์ท่าน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนะ สำหรับคนเขียนรูปที่ตอนนั้นก็ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรมาก การเข้าเฝ้าครั้งนั้นไม่ได้มีพิธีรีตรองอะไร เข้าไปกราบท่านแล้วถวายรูปให้ท่าน ก็รู้สึกว่าปีติที่มีโอกาสได้มาถวายรูปท่านที่เขียนด้วยฝีมือเราเอง"
"จากจุดนั้นเหมือนกับทำให้เราได้เริ่มไปหาผู้หลักผู้ใหญ่ที่อยู่ในทางธรรมหลาย ๆ ท่าน ได้รู้จักท่าน อังคาร กลัยาณพงศ์ ได้รู้จัก อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เหมือนกับเป็นการนำเรามาบนทางเดินที่ดี ได้พบแรงบันดาลใจ แล้วก็ปวารณาตัวว่าผมจะทำงานศิลปะด้วยการวาดภาพเหมือนของคนดี ๆ ที่ทำประโยชน์ให้กับสังคม คนที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนอื่น ๆ ได้ ก็เลยทำมาจนถึงทุกวันนี้"

ผลงานของศุภวัตร ทองละมุน
ศุภวัตร ทองละมุน เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่ได้รับแรงบันดาลใจจากคำสอนของสมเด็จพระสังฆราช และบันทึกภาพของพระองค์ท่านในรูปแบบผลงานภาพเขียนที่ผสมผสานความงามของศิลปะและแง่มุมธรรมะเข้าไว้ด้วยกัน
"ผมเคยอ่านหนังสือที่พระองค์ท่านนิพนธ์ไว้ เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ เกี่ยวกับทำสมาธิที่ผมได้รับแจกมาจากการไปปฏิบัติธรรมที่วัดป่า อ่านแล้วก็กลองทำดู ปรากฏว่าสมาธิเกิดได้ไวดี สำหรับมุมมองและความประทับใจในการเขียนภาพสมเด็จพระสังฆราชรูปนี้ ในทางพุทธศาสนาได้กล่าวถึงทางสายกลางคือ มัชฌิมาปฏิปทา เป็นความสมดุลย์ ไม่ปฏิบัติการงานทุกอย่างแบบเคร่งเครียดเกินไปหรือเพิกเฉยละเลยจนเกินไป เพื่อไม่ให้จิตใจของเรานี้ไปรับเอาสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในแต่ละวันหรือในแต่ละอารมณ์มากเกินความจำเป็น"
"ภาพที่เลือกมาเป็นแบบในการวาดนั้น เลือกภาพที่ท่านหันที่เห็นเพียงด้านขวาเพียงด้านเดียว เหมือนกับผู้ที่ได้ปฏิบัติธรรรมได้พบกับความสุขในการปฏิบัติแล้ว ก็ย่อมที่เลือกเดินทางสู่การละเพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่หันกลับมาหรือเอียงมาสู่โลกียวิสัยอีก ละทิ้งเหย้าเรือนแต่ก็ยังมีชีวิตอยู่บนโลกอันสมมติเท่านั้น ด้วยเหตุที่ได้แยกอารมณ์ธรรมกับอารมณ์โลกย์ออกจากกันโดยเด็ดขาดแล้วนั่นเอง"

ผลงานของสุวิทย์ ใจป้อม จาก เฟซบุคสุวิทย์ ใจป้อม
ศิลปินนั้กวาดภาพบุคคลชั้นนำ สุวิทย์ ใจป้อม เล่าว่า ติดตามเรื่องราวของสมเด็จพระสังฆราชผ่านทางสื่อต่าง ๆ อยู่เสมอ ทำให้รับรู้ถึงพระจริยวัตรและพระกรณียกิจที่ได้ทรงปฏิบัติ นับว่าทรงเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับพระสงฆ์และคนไทยทุกคน
"สมเด็จพระสังฆราชท่านทรงเป็นผู้รู้ในสาขาต่าง ๆ เป็นพระชั้นผู้ใหญ่ที่พูดได้มากกว่า ๕ ภาษา ทั้งยังทรงงานต่าง ๆ มากมาย เรียกว่าทรงเป็นต้นแบบของสังคมไทยได้ คนก็ศรัทธาท่านเยอะ พอผมมาตั้งกลุ่ม ในเฟซบุค ก็จะมีการกำหนดหัวข้อให้วาดบุคคลต่าง ๆ รวมทั้งสมเด็จพระสังฆราชด้วย ก็มีศิลปินส่งรูปที่วาดท่านเข้ามาร่วมเยอะ เพราะศิลปินจะมองว่าพระสังฆราชท่านมีพระเมตตาบารมีสูงมาก"
"เรื่องราวในพระชนม์ชีพ ๑oo ปี เราเรียนรู้จากพระองค์่ท่านได้ในทุกแง่มุม ส่วนการเขียนภาพของพระองค์ท่านนั้น ศิลปินแต่ละคนอาจจะเห็นมุมมองที่ต่างกันไป บางคนก็สื่อถึงอารมณ์ของภาพท่านในแต่ละช่วงวัยออกมาในทางศิลปะภาพเหมือน สำหรับผม เขียนภาพพระองค์ท่านด้วยศรัทธาเป็นหลัก ภาพของสมเด็จพระสังฆราชที่ผมนำเสนอพยายามสื่อถึงคำสอนของพระองค์ท่านที่กล่าวว่าเรื่องที่คนไทยควรจะทำให้ได้ดีที่สุดคือ คิดดี ทำดี มองสิ่งต่าง ๆ ในมุมที่ดี ทุกอย่างก็จะดีตามไป อันนี้เป็นคำพูดของท่านที่มีการนำเสนอผ่านสื่อ และผมก็เห็นว่าคำสอนของท่านเป็นสิ่งที่ดีที่น่าจะนำไปปฏิบัติได้"

ผลงานของดินหิน รักษ์พงษ์อโศก
ขณะที่ ดินหิน รักษ์พงษ์อโศก อีกหนึ่งศิลปินที่ช่ำชองในการทำงานศิลปะภาพเหมือนบุคคลมองเห็นว่า พระจริยวัตรของสมเด็จพระสังฆราชที่รับรู้มาตลอดคือ แม้จะเป็นองค์ประมุขของพระสงฆ์ไทยทั้งประเทศ แต่ก็ยังทรงดำรงความเป็นพระสงฆ์ผู้มักน้อย สันโดษ มักไม่ทรงออกงานพิธีต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น และทรงให้ความสำคัญกับการเผยแพร่พระธรรมมากกว่าการสร้างวัตถุ นับว่าทรงเป็นพระแท้ที่น่าเคารพกราบไหว้
"บางคนอาจจะเห็นว่ารูปถ่ายพระสังฆราชมีทั่วไป แต่ส่วนใหญ่เท่าที่เห็นจะเป็นรูปกิจกรรมต่าง ๆ รูปที่ถ่ายพระองค์ท่านที่มุมดี ๆ ที่จะเอามาเขียนพอตเทรตกลับไม่ค่อยมี หาต้นแบบเขียนยาก พอดีผมมีเพื่อนเป็นช่างปั้นที่ทำงานปั้นรูปพระองค์ท่าน ผมก็เลยโชคดี เพราะเขามีไฟล์ภาพถ่ายพระองค์ท่านทุกมุม เราก็เขียนจากภาพถ่ายชุดนั้น การเขียนภาพบุคคลจากภาพถ่ายอาจจะไม่ได้ความสดเท่าเขียนจากแบบโดยตรง แต่จะดีตรงที่มีเวลาได้เก็บรายละเอียด แต่สุดท้ายแล้ว คนเขียนรูปก็ต้องพยายามเขียนรูปให้ดูเหมือนเขียนสด ดูแล้วมีชีวิตชีวา"
"การเขียนภาพบุคคลถ้าเรารู้จักคนที่เป็นแบบ เราจะเขียนได้ดี ยิ่งรู้จักลึกซึ้ง รู้ไปถึงนิสัยใจคอเราจะถ่ายทอดออกมาได้ดี การเขียนภาพสมเด็จพระสังฆราชเราไม่รู้จักท่าน ไม่เคยเห็นพระองค์จริง แต่ด้วยความที่เราศรัทธาในพระองค์ท่าน เราก็เขียนในแบบที่เราอยากเขียน ไม่ได้สนใจเรื่องความเหมือนหรือไม่เหมือน ไม่มีแรงกดดันตรงนี้"
เป็นบางแง่มุมของศิลปินที่เลือกบันทึกภาพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ในผลงานศิลปะ สื่อสะท้อนถึงศรัทธาในพระจริยวัตรที่ยังคงประทับอยู่ในใจไม่เสื่อมคลาย
พระรูปวาดและข้อมูลจากนสพ.กรุงเทพธุรกิจ จุดประกาย ๔ พ.ย. ๒๕๕๖


พระธีรโพธิภิกขุ พระผู้ถวายงานวาดภาพสมเด็จพระสังฆราช ได้วาดภาพเหมือนสีน้ำมัน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และเครื่องประกอบพระอิสริยยศ ประดับพระโกศ ที่ ประดิษฐานยังตำหนักเพ็ชร เพื่อนำไปเป็นต้นแบบจัดพิมพ์เป็นภาพขนาด A 4 จำนวน ๑oo,ooo แผ่น แจกให้กับประชาชนที่เดินทางมากราบสักการะพระศพ สำหรับภาพเหมือนสีน้ำมันดังกล่าวมีแนวคิดมาจาก พระประวัติของสมเด็จพระสังฆราชฯ เมื่อครั้งอดีตยังเป็นสามัญชน สีด้านหลังของพระรูปสมเด็จพระสังฆราชฯ มีสีเข้มเกือบจะเป็นสีดำ ส่วนด้านหน้าพระรูปเป็นครีมนวลใส แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงดำรงอยู่ในสมณเพศและดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชฯ ส่วนด้านล่างของพระรูปเป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศที่พระองค์ได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับภาพเป็นของที่ระลึก ได้เห็นหลักธรรมว่า ชีวิตนี้เอาอะไรไปไม่ได้เลยนอกจากความดีงาม
พระรูปวาดและข้อมูลจาก aecnews.co.th


แสตมป์ที่ระลึกชุดที่ ๒ งานฉลองพระชันษา ๑oo ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก วันแรกจำหน่าย ๓ ต.ค. ๒๕๕๖ มีด้วยกัน ๔ ดวง ๆ ละ ๕ บาท เป็นภาพวาดพระรูปสมเด็จพระสังฆราช ผลงาน ธีระพันธุ์ ลอไพบูลย์ หรือ อ.กวง ศิลปินชื่อดังของไทย สะท้อนถึงพระจริยาวัตร ๔ เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ พระรูปเมื่อครั้งเป็นสามเณรเจริญ คชวัตร ,พระรูปขณะเสด็จออกบิณฑบาตเมื่อครั้งเสด็จตรวจการณ์คณะสงฆ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. ๒๕๑๖, พระรูปเมื่อครั้งเสด็จไปประทับ ณ สำนักสงฆ์ดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๖ และพระรูปขณะทรงประทานสิ่งของแก่เด็กนักเรียนชาวม้ง ณ สำนักสงฆ์ในปีเดียวกัน พร้อมซองวันแรกจำหน่าย และตราประทับสัญลักษณ์ตราฉลองพระชันษา ๑oo ปี นอกจากนี้ไปรษณีย์ไทยยังจัดทำแผ่นชีทที่ระลึกแสตมป์ชุดดังกล่าว พร้อมบทโคลงสดุดี ศรีศตวรรษ มหาสังฆราชา ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี ๒๕๓๖ และกวีรางวัลซีไรต์ ปี ๒๕๒๓ เขียนด้วยลายมือจริง ราคา ๓o บาท
พระรูปวาดและข้อมูลจาก manager.co.th

จากเวบ thainews.prd.go.th
บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะค่ะ
บีจีจากคุณลัคกี้ ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ ebaemi และคุณ lozocat
Free TextEditor
| | |
|
ดีใจกับโครงการทำหนังสือด้วยนะครับ
อยากเห็นเช่นกันครับ
เดี๋ยวรอชมนะครับ
ปล.โหวตบล็อกศิลปะให้นะครับสำหรับบล็อกนี้