happy memories
Group Blog
 
<<
กันยายน 2552
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
15 กันยายน 2552
 
All Blogs
 
ชีวประวัติครูศิลป์ พีระศรี




ภาพจาก picuki.com


ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี มีนามเดิมว่า คอร์ราโดเฟโรชี ( Professor Corrado Feroci ) เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๕ ในเขตซานโจวันนี (San Giovanni) เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี บิดาชื่อ นาย Artudo Feroci และมารดาชื่อนาง Santina Feroci มีอาชีพค้าขาย เมื่ออายุ ๒๓ ปี สามารถสอบผ่านเป็นศาสตราจารย์ จากราชวิทยาลัยศิลปแห่งนครฟลอเรนซ์ (The Royal Academy of Art of Florence)





คอราโด เฟโรชี สุภาพบุรุษจากฟลอเรนซ์


ปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ได้เข้าศึกษาในระดับชั้นประถม หลักสูตร ๕ ปี หลังจากจบหลักสูตร จึงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนระดับมัธยมอีก ๕ ปี หลังจากนั้นจึงเข้าศึกษาทางด้านศิลปะในโรงเรียนราชวิทยาลัยศิลปะ แห่งนครฟลอเรนซ์ จบหลักสูตรวิชาช่าง ๗ ปีในขณะที่มีอายุ ๒๓ ปีและได้รับประกาศนียบัตรช่างปั้นช่างเขียน ซึ่งต่อมาได้สอบคัดเลือกรับปริญญาบัตรเป็นศาสตราจารย์มีความรอบรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์วิจารณ์ ศิลป์และปรัชญาโดยเฉพาะมีความสามารถทางด้านศิลปะ แขนงประติมากรรมและจิตรกรรม




นักศึกษาจิตรกรรม รุ่น ๑ รับอนุปริญญาบัตร จากพระยาอนุมานราชธน ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัย ถ่ายภาพร่วมกับคณาจารย์หน้าตึกศิลปากร


ในสมัยรัชกาลที่ ๖ มีพระประสงค์จะหาช่างปั้นมาช่วยปฏิบัติราชการ เพื่อฝึกฝนให้คนไทยสามารถปั้นรูปได้อย่างแบบตะวันตก และสามารถมีความรู้ถึงเทคนิคต่างๆในงานมาปฏิบัติราชการกับรัฐบาลไทย ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ท่านได้ชนะการประกวดการออกแบบเหรียญเงินตราสยามที่จัดขึ้นในยุโรป ทางรัฐบาลอิตาลีจึงเสนอนายคอร์ราโด เฟโรจี มาพร้อมทั้งคุณวุฒิและผลงาน ซึ่งรัฐบาลไทยก็ยินดีรับเข้าเป็นข้าราชการ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงเดินทางสู่แผ่นดินสยามเพื่อเข้ามารับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากรกระทรวงวัง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว




ครูศิลป์ในห้องทำงานชั้นใน
ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์


เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๖ เมื่ออายุย่างเข้า ๓๒ ปี ได้รับเงินเดือน ๆ ละ ๘oo บาทค่าเช่าบ้าน ๘o บาท และต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๙ ศาสตราจารย์ศิลป์พีระศรีได้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ ช่างปั้นหล่อแผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา ได้รับเงินเดือนๆละ ๙oo บาทต่อมาได้ย้ายมาเป็นช่างปั้น สังกัดอยู่ในกองประณีตศิลปกรรมกรม ศิลปากรกระทรวงธรรมการ




ครูกำลังปั้นแบบร่างพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ภายในห้องทำงานชั้นใน


ท่านได้วางหลักสูตรอบรมกว้างๆ และทำการสอนให้แก่ผู้ที่สนใจในวิชาประติมากรรมทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฎิบัติผู้ไดรับการอบรมรุ่นแรก ๆ ส่วนมากสำเร็จการศึกษามาจากโรงเรียนเพาะช่าง ได้แก่ สาย ประติมาปกร สุข อยู่มั่น ชิ้น ชื่อประสิทธ์ สวัสดิ์ ชื่นมะนา และแช่ม แดงชมพ ผู้ที่มาอบรม ฝึกงานกับศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมทั้งสิ้น เพราะทางราชการมีนโยบายส่งเสริมช่างปั้น ช่างหล่อ ให้มีคุณภาพและมีมาตรฐาน ซึ่งต่อมาบุคคลเหล่านี้ได้มาเป็นผู้ช่วยช่างและบางคนก็เข้ารับราชการช่วยแบ่งเบาภาระ งานและช่วยทำให้กิจการปั้นหล่อของกรมศิลปากรเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อทางราชการเห็นความสำคัญของการศึกษาศิลปะตามแนวในปัจจุบัน จึงได้ขอให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้วางหลักสูตรการศึกษาให้มีมาตรฐานเดียวกันกับโรงเรียนศิลปะในยุโรป




ภาพถ่ายครู พ.ศ. ๒๕๙๒ ถ่ายโดย วิจิตร วังส์ไพจิตร (ว. เต๊กหมิ่น)
เจ้าของห้องภาพวิจิตรจำลอง สี่พระยา


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้เริ่มวางหลักสูตรวิชาจิตรกรรมและประติมากรรมขึ้น ในระยะเริ่มแรกชื่อ "โรงเรียนประณีตศิลปกรรม" ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง" และในปีพ.ศ.๒๔๘๕ กรมศิลปากรได้แยกจากกระทรวงศึกษาธิการ ไปขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในขณะนั้นโดย ฯพณฯจอมพลป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ตระหนักถึงความสำคัญของศิลปะว่า เป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งสาขาหนึ่งของชาติ จึงได้มีคำสั่งให้อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นคือ พระยาอนุมานราชธน ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรและตราพระราชบัญญัติ ยกฐานะโรงเรียนศิลปากรขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยศิลปากร มีคณะจิตรกรรมประติมากรรม เป็นคณะวิชาเดียวของมหาวิทยาลัย เปิดสอนเพียง ๒ สาขาวิชาคือ สาขาจิตรกรรมและสาขา ประติมากรรม โดยมีศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรีเป็นผู้อำนวยการสอนและดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรก




ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๘๕ ประเทศอิตาลียอมพ่ายแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ชาวอิตาเลียนในประเทศไทยตกเป็นเชลยของประเทศเยอรมนีกับญี่ปุ่น แต่รัฐบาลไทยขอควบคุมตัวท่านศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรชีไว้เอง และหลวงวิจิตรวาทการได้ทำเรื่องขอโอนสัญชาติจากอิตาเลียนมาเป็นสัญชาติไทย โดยเปลี่ยนชื่อของท่านให้มาเป็น "นายศิลป์ พีระศรี" เพื่อคุ้มครองท่านไว้ไม่ต้องไปถูกเกณฑ์เป็นเชลยศึกให้สร้างทางรถไฟสายมรณะและสะพานข้ามแม่น้ำแคว เมืองกาญจนบุรี




จอมพลป. พิบูลสงครามมาชมงานแสดงศิลปกรรมที่มหาวิทยาลัยศิลปากร


นปีพ.ศ.๒๔๙๑ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้นำศิลปะไทยไปแสดง ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปีนี้ท่านได้เดินทางกลับไปประเทศอิตาลี และเดินทางกลับมาประเทศไทยอีกครั้งในต้นปีพ.ศ.๒๔๙๒ โดยกลับมาใช้ชีวิตเป็นครูสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาทางด้านศิลปะ ที่คณะจิตรกรรม และประติมากรรม




บรรยากาศการสอนในชั้นเรียน


ครูศิลป์กำลังสอนนักศึกษาด้วยความสุข


ในปีพ.ศ.๒๔๙๖ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีได้รับหน้าที่อันมีเกียรติคือเป็นประธานกรรมการสมาคมศิลปะแห่งชาติ ซึ่งขึ้นอยู่กับสมาคมศิลปะนานาชาติ (International Association of Art) ในปีนี้ท่านได้เดินทางกลับไปประเทศอิตาลีและเดินทางกลับมาประเทศไทยอีกครั้ง ในต้นปีพ.ศ.๒๔๙๒ โดยกลับมาใช้ชีวิตเป็นครูสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาทางด้านศิลปะที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม




ครูศิลป์ปั้นม้าทรงอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน
สำหรับขยายแบบภายในห้องทำงานชั้นนอก





รูปปั้นต้นร่างพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๑




พระพุทธรูปปางลีลา พุทธมณฑล
ครูศิลป์ปั้นเพื่อขยายแบบภายในห้องทำงานชั้นนอก





ในปีพ.ศ.๒๔๙๖ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีได้รับหน้าที่อันมีเกียรติคือเป็นประธานกรรมการสมาคมศิลปะแห่งชาติ ซึ่งขึ้นอยู่กับสมาคมศิลปะนานาชาต (International Association of Art) ในปีพ.ศ.๒๔๙๗ ได้เป็นผู้แทนศิลปินไทย ไปร่วมประชุมศิลปินระหว่างชาติครั้งแรกที่กรุงเวนิช ประเทศอิตาลี และในปี พ.ศ.๒๕o๓ การประชุมใหญ่ครั้งที่ ๓ ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ท่านได้นำเอกสารผลงานศิลปะและบทความศิลปะชื่อศิลปะร่วมสมัยใน ประเทศไทย (Contemporary Art in Thailand) ไปเผยแพร่ในการประชุมด้วย ทำให้นานาชาติรู้จักประเทศไทยดีขึ้น และนับเป็นคนแรกที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนศิลปะระหว่างศิลปินต่างประเทศขึ้น

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้ออกแบบปั้นและควบคุมการหล่อพระราชนุสาวรีย์ และอนุสาวรีย์สำคัญของประเทศไทย โดยการปั้นต้นแบบสำหรับพระปฐมบรมราชานุสรณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ - ๒๔๗๗ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี พ.ศ. ๒๔๘๔ พระราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวนลุมพินี และการออกแบบพระพุทธรูปปางลีลา ประธานพุทธมณฑล




ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีจะใช้อาคารที่ทำงานของท่านในตึกสูงทรงโบราณที่เป็นประวัติศาสตร์ในอดีต ในปัจจุบันนี้ คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์อาคารหลังนี้เมื่อท่านสิ้นอายุขัยลงแล้ว ได้ถูกทอดทิ้งให้รกร้างว่างเปล่ามาจนถึง พ.ศ. ๒๕๒๗
จาก รอยจารึกในคุณงามความดี ความเสียสละ มีคุณธรรม และความรู้ ความสามารถที่ท่านได้เมตตามาตลอดชีวิตของท่านในประเทศไทย ดุจบิดาแห่งศิลปสมัยใหม่ของประเทศไทย (The Father of Modern Arts in Thailand) จึงกำเนิดโครงการพิพิธภัณฑ์ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ขึ้น ณ อาคารประวัติศาสตร์ที่ท่านใช้ชีวิตการทำงานศิลป และสอนศิษย์พร้อมกันไป ดำเนินการโดยคณะกรรมการชุดต่าง ๆ หาทุนทรัพย์ในการซ่อมแซม และปรับปรุงอาคารจัดเป็นพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์ให้กับท่าน




ชื่อพิพิธภัณฑ์มีป้ายลายเซ็นของครู



ภายในพิพิธภัณฑ์


วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๒๗ เป็นวาระวันคล้ายวันเกิดของท่านครบรอบ ๙๒ ปี ได้มีพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ศิลป์ พีระศรีอนุสรณ์ขึ้น โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น (ฯพณฯ ชวน หลีกภัย) เป็นประธานในการเปิดงานครั้งนี้ เพื่อการเผยแพร่งานศิลปร่วมสมัย ศิลปสมัยใหม่ของบรรดาศิษย์อาวุโสที่เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมให้ประชาชนทั่วไป ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้เข้าชมศึกษาหาความรู้เรื่อยมา วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓o กระทรวงศึกษาธิการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาให้ชื่อว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ตั้งอยู่ภายในบริเวณกรมศิลปากร




ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจและโรคเนื้องอกในลำไส้ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อคืนวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕o๕ รวมสิริอายุได้ ๖๙ ปี ๗ เดือน ๒๙ วัน ท่านได้อุทิศตนให้กับราชการไทยเป็นเวลาทั้งสิ้น ๓๘ ปี ๔ เดือน นับเป็นการสูญเสียบิดาแห่งสถาบันและวงการศิลปร่วมสมัยของไทยไปอย่างสิ้นเชิง คงทิ้งไว้แต่ความทรงจำต่อความดี ความจริงใจ และความรักอันลึกซึ้งของท่านที่ไม่ยอมกลับไปฝังร่างกายของท่านที่บ้านเกิดเมืองนอน แต่ได้มาอุทิศร่างกายและจิตใจไว้ให้กับคนไทยและประเทศไทย





ผลงานที่สำคัญซึ่งปรากฏเห็นในปัจจุบันมีดังนี้


๑. พระบรมราชานุสาวรีย์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีขนาด ๓ เท่าคนจริง ประดิษฐานที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ท่านเป็นช่างปั้น และเดินทางไปควบคุมการหล่อที่ประเทศอิตาลี สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒

๒. อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗

๓. รูปปั้นหล่อประกอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕

๔. พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สวนลุมพินี สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔

๕. พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓

๖. พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดสุพรรณบุรี สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗

๗. รูปปั้นประดับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน

๘. พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล ๒๕ พุทธศตวรรษ ที่จังหวัดนครปฐม พ.ศ. ๒๔๙๘ ฯลฯ

นอกจากนั้นยังมีโครงการที่ทำยังไม่แล้วเสร็จอีกคือ พระบรมรูปพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดลพบุรี เป็นต้น




ต้นแบบปูนสำหรับขยายของพระพุทธรูปปางลีลา




พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว




อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี




พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช




พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช




พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๖




พระพักตร์ รัชกาลที่ ๘




สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์







กำเนิดมหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันศิลปะอุดมศึกษาแห่งแรก




การเริ่มเปิดสอนศิลปะของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ให้แก่ข้าราชการและคนไทยที่รักทางช่างศิลปในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ภายใต้ชื่อ "โรงเรียนประณีตศิลปกรรม" เพื่อฝึกอบรมวิชาจิตรกรรมและประติมากรรม การก่อสร้างโรงเรียนดังกล่าวเป็นผลให้ประเทศไทยมีช่างศิลปที่สามารถทำงานได้ตามความต้องการของทางราชการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘o เป็นต้นมา และโรงเรียนประณีตศิลปกรรม ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง" ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ โดยกรมศิลปากรได้แยกจากกระทรวงศึกษาธิการ ไปขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ยังคงดำรงตำแหน่งอาจารย์ช่างปั้น และเป็นผู้บริหารโรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง รัฐบาลไทยในขณะนั้นมี ฯพณฯ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาถึงความสำคัญของโรงเรียนแห่งนี้ และมาเยี่ยมชมดูกิจการของสถาบันด้วยตัวเอง ผลงานของคณะอาจารย์และศิษย์โรงเรียนสามารถ พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถอยู่บ่อยครั้ง จากการจัดการแสดงครั้งแรกในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๘o และการนำงานศิลปะทั้งประเภทจิตรกรรม ประติมากรรม และส่วนตกแต่งอื่น ๆ เข้าไปประกอบกับสถาปัตยกรรม และสิ่งสำคัญที่เห็นได้ชัดเจนในเวลานั้นก์คือ การสร้างอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ




ครูศิลป์สละเวลาให้ถ่ายภาพ เพื่อนำลงในหนังสือไหว้ครู - รับน้องใหม่


โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ โดยการสนับสนุนของ ฯพณฯ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ซึ่งนำเรื่องขึ้นเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและมีคำสั่งให้อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นคือ พระยาอนุมานราชธน ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรและตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรขึ้นในวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันทื่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ มีคณะจิตรกรรมและประติมากรรมเป็นคณะวิชาเดียวของมหาวิทยาลัย เปิดสอนเพียง ๒ สาขา คือ สาขาจิตรกรรม และสาขาประติมากรรม และมีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้อำนวยการและดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรก ปริญญาตรีหลักสูตร ๕ ปี ผู้ที่สอบผ่าน ๓ ปีจะได้รับอนุปริญญา ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการใช้ชื่อเรียก "มหาวิทยาลัย" ไว้ในบทความชื่อ "มหาวิทยาลัยศิลปากร" ว่า

"สำหรับศูนย์กลางศิลปะนั้นไม่ควรเรียกว่ามหาวิทยาลัย ควรจะเรียกว่า ศิลปะศึกษาสถาน (Academy) วิทยาลัย (College) หรือ สถาบันศิลปะ (Institute of Art) แต่ผู้ที่เข้าใจระบบการศึกษาของไทยเรา ย่อมจะรู้ว่านักศึกษาชั้นมหาวิทยาลัยเท่านั้นจึงจะได้รับการยกย่องโดยทั่วไปในยุโรป ในอเมริกา ในประเทศอื่น ๆ นักศึกษาของสถาบันการศึกษาศิลปะที่กล่าวมาแล้ว มีสิทธิ์และได้รับการยกย่องนับถือเช่นเดียวกันกับนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ดังนั้นในต่างประเทศจึงไม่นิยมเรียกศูนย์กลางการศึกษาฝึกฝนศิลปะว่า มหาวิทยาลัย"




และเกี่ยวกับหลักสูตรในการเรียนการสอนของศาสตราจารย์ศิลป์นั้น ท่านได้กล่าวไว้ในบทความชื่อ "มหาวิทยาลัยศิลปากร" ว่า

"เรื่องที่ถกเถียงกันมากเกี่ยวกับการศึกษาศิลปะในประเทศนั้น ได้แก่ระบบและวิธีการสอนมีบางท่าน ผู้ประสงค์จะรักษาศิลปะแบบประเพณีไว้แนะนำว่า นักศึกษาควรลอกแบบของเก่า แต่เรามีความคิดว่า การลอกแบบของเก่านั้น ผู้ลอกกลายเป็นผู้เลียนแบบ และไม่อาจทำงานถึงชั้นฝีมือชั้นสูงของอาจารย์ได้ ถึงจะมีได้ก็เป็นจำนวนน้อยมาก วัฒนธรรมของเราในขณะนี้เห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้มีผลสะท้อนอยู่ในงานศิลปะสมัยใหม่ จึงเป็นธรรมดาที่ศิลปินปัจจุบันจะผลิตงานศิลปะขึ้นมาตามแนวของชีวิตความเป็นอยู่ที่ตนกระทำ ตัวอย่างเช่น เดี๋ยวนี้เราแต่งกายไม่เหมือนแต่ก่อน เรามีเครื่องจักรและวิธีการติดต่อขนส่งใหม่ ๆ เรามีบ้านที่ตกแต่งอย่างงดงาม ฯลฯ ทุกวันนี้เราติดต่อกับโลกภายนอกอยู่ทุกขณะ สิ่งเหล่านี้ย่อมมีผลสะท้อนอยู่ในการแสดงออกซึ่งลักษณะของศิลปะสมัยใหม่ด้วย ผู้อ่านบันทึกนี้มิควรตกใจ เราสำนึกเป็นอย่างดีถึงความสำคัญของศิลปะโบราณที่มีอยู่ต่อการทำงานศิลปะตามความรู้สึกปัจจุบัน และด้วยเหตุนี้เองในระหว่างระยะเวลา ๓ ปี นักศึกษาต้องศึกษาค้นคว้างานศิลปะโบราณเป็นเวลาสัปดาห์ละ ๓ ชั่วโมง ถ้านักศึกษาเป็นผู้มีอุปนิสัยของศิลปินอย่างแท้จริง เขาก็ค่อย ๆ ดึงดูดเอาวิญญาณของศิลปินในอดีตเข้ามาไว้ จากนั้นก็ถ่ายทอดออกมาเป็นความรู้สึกใหม่ของตน"




ครูกำลังสอนวิชาแบบอย่างศิลปะ (Style of art)


สิ่งสำคัญที่สุดในการศึกษา อยู่ที่การพิจารณาถึงความต้องการของทางราชการและทางส่วนบุคคล แล้วแต่วิชาต่าง ๆ ที่สอนเท่าที่อาจเป็นได้ เราควรตระหนักว่า เมื่อนักศึกษาสำเร็จแล้วจะมีโอกาสหางานทำได้แค่ไหน ในกรณีเช่นนี้เรามีปัญหาอยู่ ๒ ประเด็น

ประเด็นแรก คือ การผลิตศิลปินที่สามารถขึ้นมาเพื่อทำงานศิลปะแบบประเพณี เป็นหน้าที่สำคัญอันหนึ่งสำหรับงานบูรณะซ่อมสร้างโบราณวัตถุสถาน




ครูศิลป์ในวันถ่ายภาพลงหนังสือไหว้ครู - รับน้องใหม่ มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายในห้องทำงานชั้นนอก ปัจจุบัันเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์


ประเด็นที่สอง คือ ความต้องการในศิลปะปัจจุบัน บัดนี้เรามีสภาพความเป็นอยู่แตกต่างจากโบราณสมัยอย่างแท้จริง อาคารสถานที่ในการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยศิลปากรระยะเริ่มต้นนั้นยังไม่มีความพร้อมมากนัก ต้องอาศัยสถานที่ของโรงเรียนศิลปากรซึ่งเคยใช้อยู่แต่เดิม และใช้ครูอาจารย์จากกรมศิลปากรทำหน้าที่สอนและบริหารการศึกษา และเพราะสาเหตุที่อยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งเป็นเวลาที่บ้านเมืองตกต่ำทุกด้าน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จึงทำให้ได้รับงบประมาณน้อย และสาเหตุจากการที่ประเทศมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเงิน ทำให้เกิดผลกระทบต่อปัญหาดังกล่าว และมีข่าวลือว่าจะยุบมหาวิทยาลัย แต่คณาจารย์คณะจิตรกรรมและประติมากรรม ดำเนินงานที่เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมืองในด้านศิลปะวัฒนธรรมมาโดยตลอด ทำให้มหาวิทยาลัยมีฐานะเป็นที่ยอมรับในที่สุด













ศิลป์ พีระศรี โรงเรียนประณีตศิลปกรรมและมหาวิทยาลัยศิลปากร


กำเนิดโรงเรียนประณีตศิลปกรรมสู่โรงเรียนศิลปากร ภายหลังจากก่อตั้งกรมศิลปากรขึ้นใหม่ เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบงานทางด้านศิลปกรรมโดยตรง และแบ่งประเภทงานศิลปกรรมออกเป็น ๗ สาขา คือ งานช่างปั้น ช่างเขียน ดุริยางคศาสตร์ นาฎศาสตร์ สุนทรพจน์ สถาปัตยกรรม และอักษรศาสตร์ ทำให้กรมศิลปากรมีหน้าที่ดูแลงานต่าง ๆ ขึ้นโดยชัดเจน




หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤต) อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ข้าราชการอยู่ในแผนกจิตรกรรมประติมากรรมและช่างรักกองสถาปัตยกรรมของกรมศิลปากร และคุณพระสาโรช รัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยงค์) สถาปนิกของกรมศิลปากรได้มีดำริร่วมกัน ในการผลิตบุคลากรเพื่อสานต่องานด้านศิลปกรรมของกรมศิลปากร โดยการจัดตั้งโรงเรียนอบรมและสอนวิชาศิลปะให้แก่ข้าราชการและคนไทยอย่างเป็นขั้นตอน ดังนั้นโรงเรียนประณีตศิลปกรรมจึงถูกจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๗




กล่าวได้ว่า ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้เป็นรากเหง้าสำคัญในการเติบโตของศิลปะสมัยใหม่ ดังจะเห็นได้จากการนำผลงานของนักเรียนโรงเรียนศิลปากรออกจัดแสดงแก่สาธารณชน เป็นครั้งแรก ในงานฉลองรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. ๒๔๘o ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชน และได้รับการวิจารณ์อย่างน่าสนใจ แนวทางในการสอนวิชาศิลปะแนวตะวันตกที่เน้นการศึกษาข้อเท็จจริงจากธรรมชาติและการเคี่ยวเข็ญลูกศิษย์ลูกหาอย่างใกล้ชิดของกลุ่มอาจารย์ ทำให้โรงเรียนผลิตนักเรียนที่ก้าวมาสู่การเป็นศิลปิน และนักสร้างสรรค์ที่มีประสบการณ์และมีความสามารถสูง และกลุ่มคนเหล่านี้ได้กลายมาเป็นศิลปิน ข้าราชการในกรมศิลปากร อาจารย์สอนในโรงเรียนศิลปากรแผนกช่างสร้างสรรค์ผลงานและ สืบต่อการสอนศิลปะในสถาบันให้ก้าวหน้าต่อไปยิ่งขึ้น




พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชชนนีเสด็จพระราชดำเนินเปิดงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๑๓ เป็นครั้งแรก เป็นที่ปลาบปลื้มแก่อาจารย์ศิลป์มาก


ความพิเศษอีกประการหนึ่งของโรงเรียนศิลปากรแผนกช่างก็คือ การสืบสานศิลปวัฒนธรรมของช่างที่เคยเป็นข้าราชการกรมศิลปากรให้ดำเนินต่อโดยมีความรู้ต่อเนื่องไม่ขาดตอน ช่างศิลป์ในยุคสมัยนี้สร้างผลงานเชื่อมโยงกับรากฐานของศิลปวัฒนธรรมเดิม ทำให้ศิลปินและช่างศิลป์ในสมัยนี้มีทั้งกลุ่มที่มีความสามารถในแนวสากลตะวันตกและแนวประเพณีไทย และสิ่งหนึ่งที่ลูกศิษย์จากสถาบันแห่งนี้สามารถแสดงออกในการทำงานได้ก็คือ ลักษณะผลงานและความพิเศษของแต่ละคนที่มีอยู่ในงานศิลปกรรมจะมีความแตกต่างกันไป ซึ่งในทางศิลปะนั้นถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งทีเดียว













อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์


หนังสือ "อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์" ตำนานที่เล่าขานถึงเรื่องราวชีวิต ความรัก ความผูกพัน และความใฝ่ฝันในศิลปะ ของลูกศิษย์กับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับปรับปรุงใหม่ (พิมพ์ครั้งที่ ๓) โดยสำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี (ผู้จัดพิมพ์) ร่วมกับ กองทุนอนุรักษ์และพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ และ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มศก. เปิดตัวขึ้นท่ามกลางบรรยากาศสบายๆ ยามเย็น เคล้าคลอด้วยเสียงดนตรีสดสุดคลาสสิก ณ ลานอนุสาวรีย์อาจารย์ศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ซึ่งมากล้นด้วยบรรดาศิษย์เก่า มศก. และศิษย์อาวุโสยุค "อาจารย์ฝรั่ง" อาทิ อ.ประหยัด พงษ์ดำ, อ.อังคาร กัลยาณพงศ์ ฯลฯ ต่างมาพบปะร่วมรำลึกถึงผู้ประสาทวิชา




อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์ใน ๒ ครั้งแรก ได้ นิพนธ์ ขำวิไล เป็นบรรณาธิการบริหาร ในการขัดเกลาสำนวนของบรรดาศิษย์กว่า ๑๒๗ คน ที่เล่าเรื่องถึงอาจารย์ฝรั่งในทัศนะของตนเองด้วยตัวอักษร ร้อยเรียงให้เห็นภาพความผูกพันต่ออาจารย์ฝรั่งแห่งเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ส่วนครั้งล่าสุดนี้ พี่ตู่ วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร รับไม้ต่อทำหน้าที่ดังกล่าวแทน ในตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร ซึ่งวิจิตรอธิบายถึงเหตุผลที่ต้องจัดพิมพ์หนังสือมากคุณค่าเล่มนี้เป็นครั้งที่ ๓ ว่า




อันดับแรกคือ หนังสือที่จัดพิมพ์ไปทั้ง ๒ ครั้ง กว่า ๖,ooo เล่ม จำหน่ายหมดแล้ว ประการต่อมาคือ ต้องการปรับปรุงข้อมูลเนื้อหาที่ตกหล่นคลาดเคลื่อนในหนังสือให้ถูกต้อง และมีการเพิ่มบทสัมภาษณ์ของศิษย์เก่าที่เรียนทันสมัยที่ ศ.ศิลป์ยังสอนอยู่รุ่นสุดท้ายจริง ๆ ในปี พ.ศ.๒๕o๕ (ปีที่ท่านเสียชีวิต) จำนวน ๗ คน กลายเป็นศิษย์อาจารย์ฝรั่งถึง ๑๓๔ คน ร่วมกันจารึกคำให้การถึงคุณงามความดี และจิตใจอันสูงส่งของอาจารย์ศิลป์ ไว้เป็นหลักและเป็นฐาน ให้แก่คนในปัจจุบันและคนในอนาคตได้รู้ถึงบรรยากาศการเรียนศิลปะในสมัยก่อน สมัยที่ท่านสร้างคนไทยให้กลายเป็นจิตรกรเป็นอัจฉริยะสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ




"อีกจุดประสงค์ที่สำคัญจริง ๆ ก็คือ เราสัมผัสได้ว่าการเรียนการสอนและแนวความคิดในการเรียนศิลปะในปัจจุบัน เริ่มเบี่ยงเบนผิดเพี้ยนไปจากเดิมที่เคยเป็นเด็กที่เรียนศิลปะแต่ไม่รัก ศิลปะ ไม่อยากเป็นอาร์ตติส ศิลปินบางคน บางกลุ่มก็รักผลประโยชน์ของตัวเองมากกว่าส่วนรวม หรือผู้ที่เรียนศิลปะก็มาเรียนไปงั้น ๆ เรียนตามกระแส แต่ไม่รู้จริง ๆ ว่าจะเรียนอะไรดี เรียนเพื่ออะไร เพราะเขาเหล่านั้นขาดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้านศิลปะอย่างแท้จริง การจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้สู่สาธาณชนอีกครั้งจึงเสมือนการตอกย้ำความคิด ทิศทางการเรียนการสอนในอดีตที่ ศ.ศิลป์ได้บ่มเพาะจนเกิดเป็นนักศิลปะเก่ง ๆ ในเมืองไทยให้เห็นว่าท่านทำได้อย่างไร แล้วเขาเรียนกันอย่างไร"




ครูนำนักศึกษาทัศนศึกษาโบราณสถานและวัดสำคัญที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


วิจิตรยังเล่าถึงความพิเศษของหนังสืออาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์อีกว่า เรื่องเล่าเรื่องเดียวกันแต่คนละมุมมอง ทำให้ผู้อ่านจะได้เห็นภาพในลักษณะนิยาย ๓ มิติ เกี่ยวกับการใช้ชีวิต ครอบครัว การสอน ความเสียสละของอาจารย์ศิลป์ที่ทุกคนยอมรับว่าอาจารย์ฝรั่งผู้นี้รักลูกศิษย์ รักประเทศไทย และทำหน้าที่ข้าราชการไทยรวมถึงผู้รับใช้ที่ต่ำที่ต้อยในงานศิลปะที่ดีให้กับประเทศไทยอย่างที่สุด นอกจากนี้ หนังสือเล่มดังกล่าวยังเป็นเสมือนแหล่งข้อมูลอ้างอิงชั้นดีทางประวัติศาสตร์ศิลปะของไทย เกี่ยวกับเหตุการณ์การสร้างศิลปะไทยสมัยใหม่ที่ไม่ใคร่ปรากฏบนหนังสือนัก




ครูสนใจศึกษาเกี่ยวกับโบราณคดี ไปสัมมนาและสำรวจทั้งที่สุโขทัย อยุธยา บ้านเก่าราชบุรี และปราสาทเขาพระวิหาร


บรรณาธิการบริหารคนเดิมยังกล่าวด้วยว่า ทางสำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี มีความคิดจะจัดทำห้องนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับศิลปะไทยสมัยใหม่ และประวัติของ ศ.ศิลป์ พีระศรี อย่างครบวงจร เพื่อเป็นศูนย์กลางในการศึกษาค้นคว้าของนักเรียน นักศึกษา ขณะนี้รอเพียงผู้บริจาคพื้นที่เพียง ๑๔o ตร.ม.ย่านใจกลางชุมชน กรุงเทพฯเท่านั้น ผู้ใดมีจิตศรัทธาก็ติดต่อมาได้ที่สำนักวิจัย โทร.o๒-๘๘๗-๑๕๙๒, o๘๙-๔๔๗-๓๙๔๗




๑๕ กันยายนของทุกปี ลูกศิษย์จัดงานฉลองวันเกิดอย่างง่าย ๆ ให้ครูที่ห้องเรียน
ภาพนี้เป็นงานฉลองวันเกิดครั้งสุดท้าย


"ถ้าคิดถึงฉันจงไปเขียนรูป ทำงานศิลปะ แล้วฉันจะได้สบายใจ" ถ้อยคำสุดท้ายของอาจารย์ศิลป์ผู้เป็นที่รักยิ่งได้มอบให้บรรดาลูกศิษย์ ก่อนจะเสียชีวิตไม่นาน บันทึกอยู่ในหนังสืออาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์ฉบับปรับปรุงใหม่ พิมพ์ครั้งที่ ๓ ผู้ที่สนใจสามารถหาซื้ออ่านเพื่อร่วมรำลึกถึงบุคคลทางประวัติผู้มีค่ายิ่งต่อวงการศิลปะไทยได้แล้ว ณ ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ ราคา ๕oo บาท (จัดพิมพ์ ๔,ooo เล่ม แต่จัดจำหน่ายเพียง ๒,๕oo เล่ม)




"นาย...
ถ้าฉันตาย...นายนึกถึงฉัน นายรักฉัน...
นายไม่ต้องไปทำอะไร...
นายทำงาน...






ภาพและข้อมูลจาก
หนังสือ "อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์"
manager.co.th
wikipedia.org
artgazine.com
artgazine.com
basartstudio.com
pantipmarket.com
thailandmuseum.com
oknation.net/blog/phaen


บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่

Free TextEditor





Create Date : 15 กันยายน 2552
Last Update : 15 กันยายน 2563 23:00:23 น. 0 comments
Counter : 53624 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.