|
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 |
7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 |
14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 |
21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 |
28 | 29 | 30 | |
|
|
|
|
|
|
|
คารวาลัย...อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี (๕)

อมาวสีบูชา ส่ง ถวัลย์ ดัชนี ผู้กำนัลโลกนี้ด้วยงานศิลป์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จราชดำเนินไปในการ พระราชทานเพลิงศพ นายถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี ๔๔ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร บรรยากาศส่วนหนึ่งโดยรอบงานพระราชทานเพลิงศพ ซึ่งประดับประดาไปด้วยดอกไม้สีแดง และทางขึ้นมีภาพ ๒ ภาพที่มีลักษณะคล้ายผลงานภาพเขียนของศิลปินผู้ล่วงลับ ม่องต้อย - ดอยเธิเบศร์ ดัชนี ทายาทเพียงคนเดียวของถวัลย์ กล่าวว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากผลงานภาพเขียนส่วนใหญ่ของพ่อที่มีโทนสีดำและแดง รวมถึงแรงบันดาลใจที่ได้รับจาก ภาพม้า ภาพเขียนชิ้นสุดท้ายที่ถวัลย์เขียนระหว่างที่ป่วยอยู่ในโรงพยาบาล
 ก่อนที่ สมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จพระราชดำเนินมาถึง บรรยากาศถูกขับกล่อมด้วยเสียงขลุ่ยของ อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ในทำนองเพลง ทานตะวัน พร้อม ๆ ไปกับการวาดภาพโชว์ของศิลปินจากรั้วเพาะช่าง ต่อด้วยการแสดงของศิลปินจาก บ้านดำ ในชุด อมาวสีบูชา, การกล่าวแสดงความซาบซึ้งใจอย่างหาที่สุดไม่ได้ ของ ม่องต้อย - ดอยธิเบศร์ ที่ผู้เป็นพ่อได้รับพระราชทานเพลิงศพในครั้งนี้ และการเป่าขลุ่ยพร้อมกับอ่านบทกวี ของ เนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และกวีรางวัลซีไรต์
 ก่อนที่ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ท่าน ว. จะแสดงพระธรรมเทศนาให้แก่ผู้ที่มีความรักความศรัทธาในตัวของ ถวัลย์ ดัชนี ที่เดินทางไปร่วมงานศพ ได้ฟัง โดย ท่าน ว. ได้เล่าย้อนความหลัง นับตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้รู้จักกับ ถวัลย์ ดัชนี และขณะเป็นสามเณรเคยทำหน้าที่มัคคุเทศก์นำชมผลงานของถวัลย์ ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อาตมาภาพเอง แม้ไม่ใช่ศิลปิน แต่ว่าเป็นคนเชียงราย และเป็นชาวไทยคนหนึ่งที่ชื่นชม นิยมในศิลปะ และเมื่อเห็นอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี เอาพุทธธรรม มาผนวกเข้ากับศิลปะ สร้างสรรค์ผลงานออกมาเป็นพุทธศิลป์ และนั่นจึงเป็นเหตุให้ มีความนิยม ชื่นชม ยินดี ในตัว ท่านอาจารย์ เพิ่มมากขึ้น
 โดยความสัมพันธ์ ส่วนตัวนั้น เมื่ออาตมาภาพยังเป็นสามเณรอยู่ที่วัดพระสิงห์ พระอารามหลวง หลวงพ่อของอาตมานั้น ท่านอายุรุ่นราวคราวเดียวกับท่านอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ท่านได้ไปของานของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี มาชิ้นหนึ่ง แล้วให้ศิลปินบรรจงสลักเสลา เป็นบานประตูหลวง วัดพระสิงห์ พระอารามหลวง
และเมื่ออาตมาภาพได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดพระสิงห์ ๖ ปี นั้น งานของอาตมาก็คือ เป็นมักคุเทศน์ เฝ้าวิหารหลวง และเป็นผู้นำแขกบ้านแขกเมือง ซึ่งมาชมพระอารามหลวงแห่งนั้นชมงานศิลปะของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี
นับเป็นเวลา ๖ ปี ที่อาตมาภาพเป็นสามเณรน้อย และรับหน้าที่เป็นมักคุเทศน์ นำชมบานประตูหลวง ซึ่งเป็นงานออกแบบของท่านอาจารย์โดยตรง และนั่นเป็นเหตุให้ที่อาตมาภาพจะต้องศึกษาค้นคว้าชีวประวัติและผลงานของท่านอาจารย์ จึงนับเป็นความผูกพันทางจิตทางใจ นับแต่ยังเป็นสามเณรน้อย
 กระทั่งต่อมาเมื่อบวชเป็นพระแล้วได้มีโอกาสไปเยือน อาณาจักร บ้านดำ ของถวัลย์ ที่ ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย เป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นครั้งที่ ท่าน ว. บอกว่า ประทับใจจนถึงทุกวันนี้ ท่านอาจารย์กำลังวาดรูป เมื่อเห็นอาตมา ท่านก็วางพู่กัน หยุดวาดรูป แล้วก็ออกมาต้อนรับและนำชมบ้านดำ ซึ่งบ้านดำในช่วงนั้นมีอยู่ประมาณ ๓๖ หลัง และท่านอาจารย์ได้เปิดบ้านทุกหลังเพื่อนำอาตมาภาพชม ตอนนั้นอาตมาภาพยังไม่มีชื่อเสียงอะไร แต่ท่านก็เอ็นดูมาก ท่านใช้เวลาตั้งแต่บ่ายสามโมงจนถึง สองทุ่ม ในการเปิดบ้านทุกหลัง แล้วก็เล่ารายละเอียดของศิปละทุกชิ้นซึ่งจัดวางอยู่ในบ้านแต่ละหลัง โดยไม่มีการแสดงให้เห็นว่าเหน็ดเหนื่อยแต่อย่างใด ทั้งที่อาตมาภาพเองเป็นพระนักเทศน์ อาตมาไม่ได้เทศน์เลย อาจารย์ถวัลย์เทศน์เองทั้งหมด ตั้งแต่บ่ายสามโมงเย็นไปจนถึงสองทุ่ม
 และก่อนจากกันท่านได้พูดคำหนึ่งซึ่งอาตมายังจำจนอยู่ทุกวันนี้ ท่านบอกว่า วันหนึ่งผมก็จะจากโลกนี้ไป ส่วน พระอาจารย์นั้นยังหนุ่ม ยังมีเวลาพอสมควร ฉนั้นที่ผมเล่าถวาย วันหนึ่งหากผมไม่อยู่แล้ว สิ่งที่ผมเล่าไปจะมีคนเล่าได้มีกี่คน และนี่เป็นเหตุที่ผมยินดี เปิดบ้านทุกหลังเล่าถวายพระอาจารย์ สำหรับอาตมาภาพแล้ว คิดว่าวันนั้นเป็นวันที่น่าจดจำรำลึกที่สุดวันหนึ่งในชีวิต เพราะอย่างที่เรารู้กัน ท่านอาจารย์นั้น เวลาที่ท่านทำอะไร สมาธิท่านจะนุ่มลึกและนิ่งมาก เวลาท่านทำงานนั้นท่านไม่รับแขกอย่างสิ้นเชิง แต่ถึงกระนั้นท่านก็สละเวลามานำบรรยาย
 และหลังจากนั้นอีก แม้จะพบกันอีกหลายหน แต่วันเวลาที่จะได้พูด นั่งคุยกันเป็นวันๆแบบนั้น ไม่มีอีกเลย เพราะต่างก็มีภาระมากมาย หลังจากนั้นอีกต่างกรรมต่างวาระ อาตมา รวมทั้งท่านอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ท่านอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ในฐานะที่เป็นชาวเชียงรายด้วยกัน ยังได้ทำกิจกรรมร่วมกันทางศิลปะอีกหลายครั้งหลายหน เป็นความผูกพันส่วนตัว และความผุกพันส่วนธรรมะ คือท่านอาจารย์เฉลิมชัยท่านก็สร้างวัด อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ท่านก็สร้างมหาวิหาร และอาตมาภาพเองท่านก็กำลังสร้างวัด สร้างสถานปฏิบัติธรรม จนสื่อมวลชนไปเขียนแซว ว่าไปเชียงรายต้องไปให้ครบ ๓ เหลี่ยมทางจิตวิญญาณ ไม่งั้นไปไม่ถึง เช้าให้ไปขึ้นสวรรค์กับเฉลิมชัย บ่ายไปลงนรกกับอาจารย์ถวัลย์ แล้วตอนเย็นย่ำ ให้ไปเข้านิพพานกับท่าน ว. หลายปีมานี้ ทั้ง สามแห่งก็เลยกลายเป็นสัญลักษณ์ของเชียงราย ฉนั้นความผูกพันส่วนนี้ ถึงแม้ว่าอาจารย์ถวัลย์จะไม่อยู่ แต่ว่าความผูกพันระหว่างตัวตนและบุคคล ยังคงอยู่ต่อไป

นอกจากนี้ ท่าน ว. ได้แสดงทัศนะว่า เหตุที่ทำให้ ถวัลย์ ดัชนี เป็นที่เคารพ เป็นที่รัก ของคนในทุกวงการว่า เพราะว่าท่านดำเนินชีวิตตามที่พระพุทธองค์ตรัสเอาไว้ ว่าชีวิตมีอยู่สองลักษณะ ๑. โมฆะชีวิต คือ ชีวิตที่ว่างเปล่าจากแก่นสารหรือสาระประโยชน์ ๒. อโมฆะชีวิต คือ ชีวิตที่เต็มไปด้วยแก่นสารหรือสาระประโยชน์ ท่านอาจาจารย์ถวัลย์ ดัชนี เป็นผู้ที่มี อโมฆะชีวิต มีชีวิตที่โมฆะ มีชีวิตที่ไม่เป็นหมัน แต่มีชีวิตที่เต็มไปด้วยแก่นสาร ที่ฝากไว้ให้กับประเทศชาติบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตในฐานะศิลปิน ซึ่งไม่ยุ่งกับอบายมุขโดยสิ้นเชิง หรือในฐานะผู้ที่เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ซึ่งมีความรอบรู้เป็นดังหนึ่งสารานุกรมเคลื่อนที่ ใครที่ได้ไปนั่งคุยกับท่านก็จะได้รู้ว่า แทบจะลืมอาหารไปได้เลย เพราะท่านคุยสนุกสนาน และองค์ความรู้ของท่านนั้น ครอบคลุมไปทุกสาขาทุกวิชา
 และในฐานะผู้ที่รักแผ่นดินถิ่นเกิด เมื่อประสบความสำเร็จแล้วก็ตั้งใจที่จะคืนให้กับแผ่นดินถิ่นเกิด หรือแม้กระทั่งในฐานะศิลปินระดับโลกที่ได้รังสรรค์งานศิลป์ฝากเอาไว้ให้แผ่นดิน เพราะฉะนั้นคุณูปการดังกล่าวนี้ ทำให้ชีวิตของท่านนั้น พูดได้อย่างเต็มปากว่าเป็นอโมฆะชีวิต คือชีวิตที่ไม่เป็นโมฆะ เพราะฉนั้น เมื่อได้เรียนรู้ชีวิตของท่านแล้ว ก็มาถามตัวเองว่าเรา จะทำเช่นท่านได้อย่างไร ซึ่งท่าน ว.ได้เตือนสติทุกคนว่า จะต้องใช้ชีวิตอย่างผู้ที่ไม่ประมาท ใน ๕ สถานะ ได้แก่ ๑. ไม่ประมาทในชีวิตว่าจะยืนยาว ๒. ไม่ประมาทในวัยว่ายังหนุ่มยังสาว
๓. ไม่ประมาทในสุขภาพว่ายังแข็งแรง ๔. ไม่ประมาท ในเวลาว่ายังเหลืออยู่มาก ๕. ไม่ประมาท ในธรรมะ หากตระหนักรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่เป็นประโยชน์ ต้อง ททท. ทำทันที
ท่านอาจารย์ถวัลย์จากไป แต่ตัวท่านได้ฝาก สถาปัตยกรรม ตลอดจนภูมิรู้ภูมิธรรม ภูมิปัญญา ที่ท่านได้พูด ได้กล่าว ได้สอน และที่ได้รับการบันทึกผ่านสื่อสารพัด ตลอดจนงานศิลปะของท่านในหอศิลป์ชั้นนำทั่วโลก ฉนั้นท่านไม่มีอะไรที่ติดค้าง เพราะท่านได้ฝาก สิ่งที่ดีที่สุด กำนัลไว้ในโลกนี้เรียบร้อยแล้"
ก่อนที่จะมาถึงงานพระราชทานเพลิงศพในวันนี้ นับตั้งแต่วันรดน้ำศพ และสวดอภิธรรมศพ หลายวันที่ผ่านมา ยังได้มีกิจกรรมจากหลายหน่วยงานและหลายกลุ่มศิลปิน ที่มาช่วยทำให้งานศพของถวัลย์ ดัชนี ไม่เงียบเหงา
 ม่องต้อย - ดอยธิเบศร์ กล่าวว่า การแสดงออกเหล่านี้ เปรียบได้กับความรักปรากฎรูปที่ทุกคนมีต่อพ่อของตน และเป็นการต่อลมหายใจให้กับพ่อ แม้ว่าพ่อจะไม่มีชีวิตอยู่แล้วก็ตาม
แทนที่เราจะมาโศกเศร้า ร้องไห้ เราก็มาทำงานศิลปะ เล่นดนตรี เป็นความรักปรากฎรูป ที่ต่อลมหายใจของคุณพ่อให้เป็นอมตะขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางเฟซบุ๊คที่หลายคนวาดรูปพ่อ โดยเฉพาะคนที่เรียนศิลปะ ใครที่รักพ่อ ผมก็เชื่อว่าเราก็ต้องทำงาน ตราบใดที่เรายังคงทำงานศิลปะ ยังมีลมหายใจ ดังนั้นการตายของศิลปินหนึ่งก็เป็นการต่อลมหายใจของกันและกัน ระหว่างศิลปินด้วยกัน

เสร็จจากงานพระราชทานศพ ท่องต้อยบอกว่า หลังจากนี้จะมีการประชุมเพื่อเตรียมจัดงานใหญ่ให้พ่อที่เชียงราย ในช่วงเดือนธันวาคม
และยืนยันอีกครั้งว่าจะไม่การขายงานศิลปะของพ่อที่ตัวเองดูแลอยู่ เพราะงานคุณพ่อก็ไม่ได้มีเยอะอะไรมาก อยากเก็บไว้เป็นสมบัติของทุกคน อยากให้ทุกคนได้ดูกัน ถ้าเราขายหมด มันก็ไม่มีอะไรเหลือ
 ขณะที่อีกหลายโครงการที่เคยทำร่วมกันกับพ่อ ก็จะคงเดินหน้าสานต่อ และบอกว่าไม่กระทบกับงานส่วนตัวของตนเองแต่อย่างใด เนื่องจากงานของตนและงานของพ่อเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันมาโดยตลอด แต่บางคนอาจไม่รู้
คือจริง ๆ งานที่ผมทำที่ผ่านมากับงานของคุณพ่อมันก็คืองานเดียวกันแหล่ะครับ เพราะว่าตลอดระยะเวลา ๑o ปี ทีผ่านมา งานของผมก็คืองานวางระบบ วางรากฐาน เพื่อจะมารองรับงานของพ่อ บ้านดำ ผมก็ช่วยคุณพ่อทำมาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว และผมก็เรียนศิลปะ เรียนการจัดการพิพิธภัณฑ์มาโดยตรง ผมเป็นคนก่อตั้งบ้านดำแกลเลอรี่ เป็นคนทำหลาย ๆ อย่างขึ้นมา ผมไม่กังวลอะไรเลย ก็แค่ทำต่อไปเท่านั้นเอง ทำอยู่แล้วและมันเริ่มมานานแล้ว แต่บางคนไม่รู้ว่าผมทำอะไรบ้าง



พระฉายาลักษณ์ ภาพและข้อมูลจาก manager.co.th


งดงาม-ทรงพลัง รำลึก ถวัลย์ ดัชนี ผ่าน ๒ งานพุทธศิลป์ที่ยอดศิลปินยกย่อง ปิ่น บุตรี
การสูญเสีย อ.ถวัลย์ ดัชนี(ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี ๒๕๔๔) ถือเป็นหนึ่งในการสูญเสียครั้งสำคัญของเมืองไทย เพราะ อ.ถวัลย์ ท่านเป็นปูชนียบุคคลสำคัญของเมืองไทย ซึ่งตลอดการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันยาวนานยอดศิลปินท่านนี้ได้ฝากผลงานศิลปะอันทรงคุณค่าไว้ในโลกาอยู่มากมาย นอกจากนี้ก็ยังมี บ้านดำ จ.เชียงราย ที่ อ.ถวัลย์ ได้ทิ้งไว้ให้เป็นมรดกอันทรงคุณค่าคู่ฟ้าเมืองไทย รวมถึงมีตำนาน เรื่องราว และผลงานต่าง ๆ ที่ อ.ถวัลย์ ฝากทิ้งไว้ให้จดจำรำลึกถึงกัน และเพื่อเป็นการไว้อาลัยต่อการจากไปของยอดศิลปินท่านนี้ ผมขอพูดถึงงานพุทธศิลป์ ๒ สิ่งในดินแดนล้านนาที่ อ.ถวัลย์ ชื่นชมยกย่องในความยอดเยี่ยมของฝีมือคนรุ่นก่อน

บ้านดำ จ.เชียงราย
ทรงพลัง นาควัดภูมินทร์ จ.น่าน ![]() วัดภูมินทร์ เป็นสถานที่สำคัญของ จ.น่าน ตั้งอยู่ที่ข่วงเมือง บนถนนผากลอง อ.เมือง วัดภูมินทร์ เป็นวัดสำคัญเก่าแก่อายุกว่า ๔oo ปีที่มีความงดงามไปด้วยงานพุทธศิลป์อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในเมืองไทย ซึ่งถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในไฮไลต์สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญประจำจังหวัดน่าน ซึ่งหากใครที่ไปแอ่วน่านแล้วยังไม่เคยไปเยือนวัดภูมินทร์ก็เหมือนยังไปไม่ถึง

วัดภูมินทร์ หนึ่งในไฮไลต์สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดน่าน
ภายในวัดภูมินทร์มีสิ่งสวยงามน่าสนใจอยู่มากหลาย ไล่ไปจากสถาปัตยกรรมทรงจตุรมุข ที่เป็นอาคารเดียวแต่มีหลายฟังก์ชัน เป็นทั้งโบสถ์ วิหาร และพระเจดีย์ประธานของวัด

พระประธานจตุรทิศ วัดภูมินทร์
จากนั้นเมื่อเข้าไปภายในอาคารจัตุรมุขจะพบกับ พระประธานจตุรทิศ ที่หันพระพักตร์(หน้า)ออกไปทั้ง ๔ ทิศ และหันพระปฤษฎางค์(หลัง)ชนกัน พระประธานองค์นี้เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามมาก และมีเอกลักษณ์ ลักษณะพิเศษโดดเด่นไม่เหมือนใครในเมืองไทย(บางคนว่ามีที่นี่เพียงหนึ่งเดียว) จนได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งอันซีนไทยแลนด์อันเลื่องชื่อ

จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ อีกหนึ่งความงามเลื่องชื่อ
ภายในอาคารจัตุรมุขยังมีอีกสิ่งสวยงามและสำคัญในระดับประเทศที่ถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของจังหวัดน่านนั่นก็คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง อันสวยงามและสุดคลาสสิก ซึ่งเชื่อกันว่าผู้วาดภาพน่าจะเป็นหนานบัวผัน จิตรกรชาวไทลื้อ

จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ อีกหนึ่งความงามเลื่องชื่อ
จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ นำเสนอเรื่องราวทางพุทธศาสนา ชาดก และภาพวิถีชีวิตชาวน่านในยุคนั้น ผ่านการวาดภาพอย่างเรียบง่ายแต่ดูมีชีวิตชีวา มีความเป็นธรรมชาติ หลายภาพมีขนาดสัดส่วนเทียบเคียงเท่ากับคนจริง โดยมีภาพสำคัญอันเลื่องลือคือพระประธานจตุรทิศที่เป็นภาพขนาดใหญ่ของชายหนุ่มและหญิงสาวในชุดแต่งกายแบบพม่าหรือแบบไทยใหญ่ ยืนเคียงคู่กันโดยฝ่ายชายได้ใช้มือป้องปากเหมือนกำลังกระซิบกระซาบถ้อยคำบางอย่างข้างๆ ต่อหญิงสาว

อาคารจัตุรมุขที่มีนาค 2 ตน เลื้อยทะลุออกมา
ด้วยความสวยงามคลาสสิกและลือชื่อทำให้ภายหลังในยุคนี้ได้มีการเรียกขานภาพปู่ม่าน-ย่าม่านว่า ภาพ กระซิบรักบันลือโลก พร้อมกับมี่การแต่งคำบรรยายประกอบอย่างโรแมนติกเพื่อเป็นสิ่งดึงดูดทางการท่องเที่ยวเพิ่มเติม นั่นคือสิ่งน่าสนใจของวัดภูมินทร์ที่ใครหลายคนพุ่งเป้าไป แต่ที่วัดภูมินทร์ยังมีอีกหนึ่งของดีเป็นความงามอันสุดคลาสสิกที่ใคร ๆ หลายคนอาจมองข้าม แต่ อ.ถวัลย์ กลับลึกซึ้งในความงามของสิ่งนั้น นั่นก็คือ พญานาคแห่งวัดภูมินทร์

นาค ๒ ตนกำลังชูคอเลื้อยดูมีชีวิตชีวา
พญานาควัดภูมินทร์เป็นประติมากรรมพญานาคคู่ขนาดใหญ่ ๒ ตน ช่างโบราณใช้ฝีมือสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างน่าทึ่ง โดยสร้างให้มันมีทั้งส่วนหัวและส่วนหาง เป็นนาคสะดุ้งลำตัวอวบอ้วนเพศผู้-เพศเมียชูหัวสง่า หน้าตาดูใจดี ดูมีชีวิตชีวา กำลังชูหัวยกคอขึ้นดูละม้ายคล้ายงูใหญ่กำลังเลื้อยจริง ๆ โดยมีลักษณะดูเหมือนเลื้อยทะลุออกมาจากอาคารจัตุรมุข บ้างก็ว่านาคคู่นี้กำลังใช้ลำตัวเทินโบสถ์ไว้ เพื่อคอยเป็นผู้ปกปักค้ำจุนพระพุทธศาสนา

ขณะที่ได้ตัวพญานาคทั้งส่วนหน้า-ส่วนหลังจะมีช่องเอาไว้ให้เดินลอด หากใครได้รอดแล้วจะโชคดี บ้างก็ว่าจะได้เนื้อคู่(สำหรับคนไม่มีคู่) บางก็ว่าหากลอดครบทั้ง ๔ ช่องแล้วจะเป็นทางรอดนำไปสู่หนทางหลุดพ้น หรือบางคนก็ว่าถ้าใครได้ไปเดินลอดท้องพญานาคแล้วจะได้กลับมาเยือนจังหวัดน่านอีก สำหรับในทางพระพุทธศาสนา พญานาคทั้ง ๒ เปรียบเสมือนผู้ปกป้องพระพุทธศาสนา แต่ในทางศิลปะงานช่างโบราณนั้น อ.ถวัลย์ที่เมื่อได้เห็นนาค ๒ ตนนี้ ได้ยกย่องให้เป็น พญานาคที่ดูมีชีวิตและทรงพลังที่สุดในเมืองไทย งานนี้ใครจะดูนาคทรงพลังแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน แต่กับคำพูดของ อ.ถวัลย์น่ะ ดูจะทรงพลังต่อผมเป็นอย่างยิ่ง เพราะเวลาที่ไปวัดภูมินทร์คราใดผมเป็นต้องไม่พลาดการชมนาคสะดุ้งมีชีวิตอันทรงพลังคู่นี้ด้วยประการทั้งปวง

บรรยากาศเปี่ยมศรัทธาที่วัดวัดศรีอุโมงค์คำ
พระเจ้าล้านตื้อ พระพุทธรูปสุดงามแห่งดินแดนล้านนา จากวัดภูมินทร์ จ.น่าน มาที่ วัดศรีอุโมงค์คำ จ.พะเยา กันบ้าง วัดศรีอุโมงค์คำ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดสูง ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพะเยา ถ.ท่ากว๊าน ต.เวียง อ.เมือง จ.พะเยา วัดแห่งนี้สร้างขึ้นมาแต่หนใด ไม่มีใครรู้ เพราะไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ ๒o-๒๑ วัดสูงถือเป็นหนึ่งในวัดสำคัญของจังหวัดพะเยาที่มีของดีในระดับโดดเด่นเป็นเอกอุอยู่มากพอดู ไม่ว่าจะเป็น พระพุทธรูปหินทรายกับงานแกะสลักหินทรายต่าง ๆ อาทิ เทวรูป รูปสัตว์ต่าง ๆ ที่เป็นตัวช่วยในการสันนิษฐานถึงความเป็นมาของวัดแห่งนี้

พระเจ้าทันใจ
นอกจากนี้ก็ยังมีองค์พระธาตุเจดีย์บนเนินที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ด้านหลังของโบสถ์ เป็นเจดีย์เก่าแก่อายุไม่ต่ำกว่า ๔oo ปี ลักษณะเจดีย์แม้เป็นทรงล้านนาทั่วไป แต่มีความโดดเด่นตรงที่มีฐานย่อมุมไม้ ๑๒ และมีซุ้มพระประดับอยู่ทั้ง ๔ ด้าน ด้วยความที่ในอดีตเจดีย์องค์นี้มักถูกฟ้าผ่าอยู่บ่อยครั้ง ทำให้คนโบราณหลายคนเชื่อว่าเป็น เจดีย์อาถรรพ์ ส่วนถ้ามองกันตามข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากเจดีย์องค์นี้ตั้งอยู่บนเนินกลางแจ้ง สมัยก่อนยังไม่มีการติดตั้งสายล่อฟ้า ทำให้เจดีย์ย่อมถูกฟ้าผ่าบ่อยเป็นธรรมดา แต่เมื่อมายุคปัจจุบันมีการติดตั้งสายล่อฟ้าก็ทำให้ปัญหาเรื่องฟ้าเจดีย์หักพังเป็นอันหมดไป จากเจดีย์มาไหว้พระกันบ้างที่วัดศรีอุโมงค์คำมี พระเจ้าทันใจ ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระหลังเล็กเป็นอีกหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ เพราะเป็นพระพุทธรูปหินทรายที่ได้ชื่อว่ามีความสมบูรณ์ที่สุดในบรรดาพระพุทธรูปหินทรายที่ขุดค้นพบในพะเยา

พระเจ้าแข้งคม
องค์แรกเป็นพระเจ้าแข้งคม ซึ่งเหตุที่คนเรียกขานช่อกันแบนี้เป็นเพราะท่านมีหน้าแข้ง(พระชงฆะ) เป็นเหลี่ยมเป็นสันคมชัดอย่างชัดเจน นับเป็นอีกหนึ่งในงานพุทธศิลป์พื้นบ้านล้านนาที่ปัจจุบันหาชมได้ยากยิ่ง

พระเจ้าล้านตื้อ
ส่วนพระพุทธรูปองค์ที่สองเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่ อ.ถวัลย์ยกย่องนั่นก็คือ พระเจ้าล้านตื้อ องค์พระประธานที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ภายในโบสถ์ พระเจ้าล้านตื้อ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทำจากทองสำริด หน้าตักกว้าง ๑๘๔ เซนติเมตร สูง ๒๗o เซนติเมตร มีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าเมืองสร้อยพะเยา ในราวปี พ.ศ. ๒o๕๘ แต่ไม่ทราบว่าดั้งเดิมมาจากที่ไหน เพราะพบถูกทิ้งอยู่ที่สนามเวียงแก้ว (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งศาลหลักเมืองพะเยา) ก่อนถูกอัญเชิญมาเป็นพระประธานภายในโบสถ์วัดศรีอุโมงค์คำ

ชื่อของพระเจ้าล้านตื้อ มาจากคำว่า ตื้อ ที่เป็นจำนวนนับของทางล้านนา ตื้อเป็นจำนวนนับที่เยอะมาก จากแสน ล้าน โกฏิ ก็เป็น ตื้อ ดังนั้นล้านตื้อจึงหมายถึงความมีน้ำหนักมากของพระพุทธรูปองค์นี้ พระเจ้าล้านตื้อยังมีอีก ๒ ชื่อเรียกขาน เริ่มจาก พระเจ้าแสนแส้ (บางข้อมูลเขียนว่าแสนแซ่) ที่มาจากคำว่า แส้ ในภาษาล้านนาหมายถึงสลัก ซึ่งตลอดทั้งองค์ของท่านช่างได้ทำเป็นสลัก สามารถถอดประกอบได้ มีทั้งหมด ๔ จุดด้วยกัน คือที่คอ(พระศอ) ข้อศอกทั้ง ๒ ข้าง และที่เอว นับเป็นอีกหนึ่งความพิเศษของพระพุทธรูปองค์นี้ ส่วนอีกหนึ่งชื่อเรียกขานของพระเจ้าล้านตื้อก็คือ หลวงพ่องามเมืองเรืองฤทธิ์ ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อยกย่องให้เกียรติในความงามอย่างยิ่งยวดของพระเจ้าล้านตื้อ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดองค์หนึ่งแห่งล้านนา

หลวงพ่องามเมืองเรืองฤทธิ์เป็นชื่อที่มาตั้งกันภายหลัง ที่มาของชื่อก็มีความเกี่ยวพันกับ อ.ถวัลย์ ดัชนี โดยหลวงพี่ที่(เคย)พาผมชมสิ่งน่าสนใจภายในวัดวัดศรีอุโมงค์คำ เล่าให้ฟังว่า อ.ถวัลย์ เมื่อได้มาเห็นพระพุทธรูปองค์นี้ก็ไม่รีรอที่จะบอกว่า พระเจ้าล้านตื้อมีความงดงามที่สุดในล้านนา นับตั้งแต่แกเคยพบเจอมา นี่ก็เป็นการรำลึกไว้อาลัยแด่ อ.ถวัลย์ ดัชนี ผ่าน ๒ สิ่ง ใน ๒ สถานที่ ที่ยอดศิลปินท่านนี้เคยกล่าวยกย่องในงานพุทธศิลป์อันทรงคุณค่า นับได้ว่า อ.ถวัลย์ ท่านเป็นอีกหนึ่งปูชนียบุคคลสำคัญของเมืองไทยที่ ตัวตายแต่ชื่อยัง
ภาพและข้อมูลจากเวบ manager.co.th


ภาพชิ้นสุดท้ายของ "ถวัลย์ ดัชนี"
ภาพเขียนชิ้นสุดของ "ถวัลย์ ดัชนี" ภาพนี้ คือภาพที่ "ม่องต้อย - ดอยธิเบศร์" ทายาทของถวัลย์แจ้งว่า จะถูกนำมาจัดพิมพ์ในจำนวนจำกัด เพื่อมอบให้ทุกคนที่ไปร่วมงาน พระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ ๑o กันยายน ๒๕๕๗ ณ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร
"วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗ พ่อวาดภาพ "ม้า" ขึ้นที่โรงพยาบาลในขณะที่เข้าพักรักษาตัวอยู่ เป็นภาพสุดท้ายที่พ่อวาดในขณะยังมีลมหายใจ เทคนิคปากกาเคมีและปากกาลูกลื่นบนกระดาษ" ไม่ผิดไปจากที่ กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี ๔o เคยให้สัมภาษณ์กับ ART EYE VIEW ก่อนหน้านี้ ในงานรดน้ำศพ เกี่ยวกับภาพเขียนชิ้นสุดท้ายของถวัลย์ที่เขาได้เห็นเมื่อครั้งได้ไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลรามคำแหงว่า "เป็นภาพเขียนวาดด้วยเส้นสีแดง บวกกับมีลักษณะเป็นจุด ๆ"
ภาพและข้อมูลจาก manager.co.th


"วันสุดท้ายของพ่อ...วันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๗"
วันนี้เป็นวันที่มีเรียนแต่เช้า ผมตื่นขึ้นมาบนโซฟาชั้นล่าง เพราะไม่มีแรงแม้จะเดินขึ้นไปห้องนอน รีบอาบน้ำแต่งตัวออกจากบ้าน ขณะนั่งรถไปในใจก็กลัวว่าจะไม่ทันเข้าห้องเรียน รถก็ติดมาก และแล้วก็ไปถึงหน้าวัดพระแก้ว แต่มีความรู้สึกอะไรบางอย่างเกิดขึ้น ผมตัดสินใจบอก คนขับ Taxi ว่า "พี่ครับผมเปลี่ยนใจแล้วครับ มุ่งหน้าตรงไปโรงพยาบาลเลยครับ" แล้วผมก็ฝากเพื่อนลาเรียน พอไปถึงโรงพยาบาลผมตรงเข้าไปคุยกับหมอ "หมอครับพ่อผมจะอยู่ถึงวันที่ ๒๗ ไหวมั้ยครับ? มันเป็นวันเกิดของพ่อพอดี หมอตอบว่า ถ้าจะให้อยู่ถึงคงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ!!! ต้องใส่ท่อพะรุงพะรัง ผมตอบว่า งั้นอย่าทรมานพ่อเลยครับ ให้ท่านเลือกวันที่จะไปด้วยตัวท่านเองดีกว่า!!!
จากนั้นผมก็รีบขึ้นไปบนห้อง ICU ไปเยี่ยมพ่อตามปกติ วันนี้พ่อดูเพลีย ๆ และหลับเป็นส่วนใหญ่ ผมนั่งรอข้าง ๆ สักพักใหญ่ ๆ จนพ่อลืมตาขึ้นมาดู แล้วผมเข้าไปหอมที่หน้าผาก แล้วพูดข้าง ๆ หูพ่อว่า "พ่อครับ ลูกรักพ่อนะ" พ่อพยักหน้ารับพร้อมกับทำเสียงว่า อื่อ!!!" ผมยิ้มดีใจที่พ่อรับรู้ได้ ทุกครั้งที่ผมมาหาพ่อ ผมจะบอกว่ารักพ่อทุก ๆ วัน บางวันพ่อก็ยิ้มหรือพยักหน้าให้ บางวันก็ตอบเป็นคำพูด
หลังจากที่ผมพูดเสร็จ พ่อทำตาเบิกโพลง ผมพูดต่อว่า "พ่อครับ พ่อไม่ต้องกังวลอะไรนะ พ่อพักผ่อนให้สบาย ทุกอย่างที่พ่อทำไว้ลูกจะรักษามันไว้อย่างดี พ่อไม่ต้องเป็นห่วงนะ" พ่อฟังแล้วพยักหน้าเบา ๆ จากนั้นผมหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา เปิดคลิปเสียงของแม่ให้พ่อฟัง เป็นคลิปเสียงของแม่ที่ผมขอร้องให้แม่อโหสิกรรมให้พ่อในวาระสุดท้ายของชีวิต ตั้งแต่แม่จากไปสามสิบกว่าปีที่พ่อไม่เคยได้ยินเสียงแม่อีกเลย
ใจความในคลิปพูดว่า "ฮาโหล หวัน ได้ข่าวว่าไม่สบาย หวังว่าเธออย่าไปคิดมาก อันนี้ถึงเวลาแล้ว ตายอย่างสงบ ชั้นกับเธอก็มีลูกชายด้วยกันที่น่ารัก เค้าก็ดูแลเธอดี ชีวิตที่ผ่านไปแล้วคือมันต้องผ่าน คือก็อย่าไปคิดมาก ไปอย่างสบายเถอะ สวัสดีนะจ๊ะ" เสียงแม่ดังชัดเจนในห้องไอซียู พ่อตั้งใจฟังจนจบ แล้วตาก็มองเหลือบขึ้นด้านบน ผมหอมที่หน้าผากอีกครั้ง แล้วบอกว่า "พ่อนอนพักนะไม่ต้องกังวลอะไร"
จากนั้นผมก็นั่งอยู่กับพ่ออีกพัก พอมั่นใจว่าพ่อหลับผมจึงกลับมาที่ออฟฟิสเพื่อจัดการเรื่องเงินเดือนพนักงาน ผมช้าไป ๒ วันแล้ว พอทำอะไรเสร็จก็รีบกลับไปที่โรงพยาบาล ไปถึงช่วงค่ำ ๆ เพราะรถติดมาก คราวนี้เห็นพ่อใส่เครื่องช่วยหายใจแต่เป็นแบบที่ครอบจมูก อัดอ๊อกซิเจนเข้าไป มันจะทำให้พ่อไม่เหนื่อยมาก แต่ไม่ใส่ท่อลงไปในคอ ผมสังเกตุเห็นพ่อหายใจหอบดูท่าทางหายใจลำบาก เพราะน้ำในกระบังลม และมะเร็งที่ลามไปที่ปอด พอครบ ๒ ชั่วโมง หมอจะให้พ่อเอาหน้ากากครอบออกเพราะมันจะรัดหน้าเป็นรอย ช่วงนั้นก็สลับมาใส่หน้ากากอันเล็ก ผมสังเกตุเห็นพ่อหายใจลำบากมากขึ้น ดูควสมดันลดลงเหลือ ๙๘ ผมเริ่มใจไม่ดีออกมาเรียกพยาบาลให้ไปดู พยาบาลสลับสายวัดมาเป็นแขนอีกข้าง จากแขนซ้ายมาเป็นแขนขวา ปรากฎตั้งวัดอีกหลายรอบ ผลออกมา ๑๒o ผมก็สบายใจขึ้น
ผมนั่งอยู่กับพ่อจนถึงประมาณ เที่ยงคืนเกือบตีหนึ่ง ผมดูสถานการณ์พ่อความดันแกว่งมากขึ้น ๆ ลง ๆ ผมนั่งลุ้นตามองที่เครื่องวัดตลอดเวลา ว่าถ้ามันลงต่ำกว่า ๙o ต้องฉีดยากระตุ้นแล้ว ผมนั่งไปก็จับโทรศัพท์ขึ้นมานั่งพิมพ์ ข้อความบางอย่างว่า
"พ่อไม่ต้องกังวล เพราะพ่อจะไม่ไปไหน พ่อจากไปแต่เพียงร่างกายแต่ผลงานศิลปะที่มาจากหัวใจ จิตวิญญาณ และลมหายใจที่พ่อสร้างทิ้งไว้จะเป็นอมตะตลอดกาล พ่อคือผู้สร้าง และลูกคือผู้รักษา หลับให้สบายนะพ่อ เลือดของพ่อยังไหลเวียนในกายลูกเสมอ และเราจะพบกัน...รักพ่อสุดหัวใจ"
ผมรู้สึกว่าไม่ช้าก็เร็ว พ่อก็ต้องจากผมไปแน่นอน ผมจึงเขียนข้อความนี้ขึ้นมาก่อน สักพักผมรู้สึกหิวเพราะไม่ได้ทานข้าว จึงเดินออกมาหาอะไรกิน เดิมทีตั้งใจจัไปฟู๊ดแลนด์ แต่มีความรู้สึกว่า ไม่อยากไปไหนไกล เป็นห่วงพ่อ เลยซื้อลูกชิ้นทอดหน้าเซเว่นกินแทน นั่งกินสักพัก ตานินหลานสาวซึ่งเป็นลูกของพี่ชายโทรมา บอกว่าวันนี้รู้สึกเป็นห่วงปู่หวันจัง อยากมาหามาได้มั้ย?
ผมตอบว่าจะมาก็มาสิ จะได้มาอยู่เป็นเพื่อนกัน ผมใช้เวลากินลูกชิ้นทอด ประมาณ ๑o นาที จากนั้นตานินก็มาถึง ผมชวนขึ้นไปหาพ่อ เราสองคนยืนมองพ่อหายใจหอบและดูท่าทางเหนื่อยมาก สักพักพยาบาลเข้ามาเรียกผม แล้วบอกว่าคุณพ่อชีพจรเต้นช้าลง จะให้ปั๊มหัวใจช่วยชีวิตมั้ย?
ผมถามกลับไปว่าต้องทำยังบ้าง หมอบอกว่า "ต้องยัดท่อลงไปในคอ พ่ออาจจะทรมานและอาจจะเกิดอาการเลือดไหลไม่หยุดเพราะ พ่อเป็นตับอยู่ และหมอก็ไม่รับรองว่าจะฟื้นหรือไม่ ผมก็บอกว่าถ้างั้นอย่าทำเลยครับ" ผมกลับเข้าไปในห้องจับมือพ่อไว้ ตานินก็อยู่ด้วยสักพักพี่อ้อดลงมาพอดี เราสามคนอยู่ด้วยกันจนวินาทีสุดท้ายของพ่อ ผมจับมือพ่อไว้แน่น ตาก็มองที่จอมอนิเตอร์ที่ตัวเลขของชีพจรค่อยๆลดลงจาก ๑๑o-๙o-๖o-๖o-๔o-๓o-๒o-๑o-o จนเสียงเสียงดัง ติ๊ดดดดดดดดดด เครื่องร้องดังพร้อมกับเสียงพวกเราสามคนร้องไห้โฮ ผมจับมือพ่อไว้แน่นทรุดตัวลงหอมที่หน้าผาก แล้วบอกพ่อว่า"ลูกรักพ่อนะ หลับให้สบายนะพ่อนะ" ผมปล่อยมือแล้วก้มลงกราบที่เท้าพ่อเป็นครั้งสุดท้าย และขอใช้เวลาอยู่กับพ่อสองคนโดยไม่มีใครรบกวน
ระหว่างนั้นผมขอให้พี่อ้อดกับตานินกลับไปจัดเตรียมชุดที่จะใส่ให้พ่อ ในวาระสุดท้าย ผมนั่งลงแล้วจับมือพ่ออีกครั้ง พร้อมกับถ่ายรูปมือผมกับพ่อเก็บไว้เป็นครั้งสุดท้าย ผมคลายเคราของพ่อที่ถูกมัดไว้ ออกหยิบเอาหวีขึ้นมาหวีผมและเคราให้พ่อเป็นครั้งสุดท้าย พ่อจากเราไปตอน ตี ๒.๑๕ นาที ของวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๗ และผมได้โพสบอกข่าวในเฟสบุ๊คตอน ตี ๒.๓o วันนี้ตรงกับเกิดของผม คือวันที่ ๓ เช่นกัน ผมสังหรใจอยู่แล้วว่าพ่อจะต้องจากไปในวันที่มีความเกี่ยวข้องและสัมพันในชีวิตของผม พ่อรู้ว่าผมชอบเลข ๓ มาก ทุกอย่างในชีวิตของผมเป็น ๓ หมด ตั้งแต่เลขที่บ้าน ทะเบียนรถ เบอร์โทรศัพท์ ตอนพ่อเป็นเบาหวานหนัก มีครั้งนึงตอนตรวจวัดน้ำตาลในเลือดมันออกมาเป็น ๓๓๓ ผมยังขำแล้วบอกพ่อว่า "นี่พ่อเอาใจลูกขนาดนี้เลยเหรอเนี้ย" เราหัวเราะกันอย่างมีความสุข และแล้ววันนี้พ่อจากไปในวันที่ ๓ กันยา อีกเพียง ๑ เดือนจะถึงวันเกิดผม ในวันที่ ๓ ตุลา จากนั้นเราแต่งตัวให้พ่ออย่างสง่างาม ในชุดสีขาวเป็นชุดของ NAGARA เป็นลายที่ผมออกแบบ และใส่บูทหนังงูคู่เก่งของพ่อ ผมหวีผมให้พ่ออีกครั้ง พ่อถูกนำศพไปเก็บไว้ที่ห้องเย็นหมายเลข ๓ อย่างบังเอิญ
พ่อจากไปอย่างสงบ สง่างาม ไร้ที่ติ ชีวิตตั้งแต่ลมหายใจแรกจนลมหายใจสุดท้าย พ่อมีชีวิตอยู่อย่างทรนง องอาจ กล้าหาญ และเด็ดเดี่ยว ไม่มีแม้น้ำตาสักหยดให้เห็น หรือบ่นพร่ำรำพันในความยากลำบาก พ่อคือตัวอย่างของคนทำงานศิลปะซึ่งในชีวิตทำเพียงอย่างเดียวคือ "ศิลปะ" ชีวิตของพ่อคือกวีไฮกุ เรียบง่าย แต่สง่างาม ลมหายใจของพ่อคือศิลปะที่ได้รังสรรค์ทิ้งไว้
ขอบคุณพ่อที่รักและดูแลผมจนเติบใหญ่ นับแต่นี้ไปผมจะเป็นคนดูแลและรักษาลมหายใจของพ่อต่อเอง ไม่ว่าจะนานเท่าไหร่ลมหายใจของพ่อจะคงอยู่เป็นอมตะจนกว่าแผ่นดินนี้จะแตกดับ ผมจะดูแลและรักษามันไว้เยี่ยงลมหายใจของตัวเอง
ด้วยรักและอาลัยยิ่ง ร่วมใจกันส่งพ่อในพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันพรุ่งนี้
ดอยธิเบศร์ ดัชนี ๙/๙/๒๕๕๗

ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุคถวัลย์ ดัชนี


"มื้อเช้าของพ่อ"
ทุกเช้าหลังจากที่พ่อตื่นนอน พ่อจะออกมาจากห้องวาดรูปแล้วมานั่งที่โต๊ะใต้ถุนบ้านสามหลัง นั่งอ่านหนังสือพิมพ์และดูโทรทัศน์
ทุกครั้งเวลาที่ผมกลับไปเชียงราย วันไหนผมพอมีแรงจะตื่นตั้งแต่เช้ามืดเพื่อไปตลาด ผมจะหาของกินที่ดีที่สุดและเป็นของที่พ่อชอบที่สุด และจะรีบกลับมาจัดสำรับไว้ที่โต๊ะ รอพ่อตื่นมากินในตอนเช้า วันนี้มีหมูทอดแล่บางชุบแป้ง อกไก่ทอดแน่งน้อยเจ้าเก่ง แอ๊ปปลาดุกย่างแบบเป็นชิ้น และแบบมัดเป็นตัวผสมสมุนไพรแล้วย่างหอมๆ ทานพร้อมข้าวเหนียวห่อใบตอง รังต่อสวยๆให้พ่อได้ดูรูปทรงเป็นแรงบันดาลใจ ข้าวเหนียวปิ้งไส้ต่าง ๆ เกาลัก ฝักบัว ข้าวต้มไส้กล้วยโรยด้วยมะพร้าวขูด ข้าวเหนียวหน้าสังขยา โรตีใส่ไข่ ดอกบัวสวรรค์ ส่วนใหญ่พ่อจะเลือกแค่อย่างหนึ่งเช่นกินปลาดุกกับขนมสักชิ้น นอกนั้นก็จะให้คนงานเอาไปกินต่อ
เวลาพ่อตื่นมาจะเห็นของกินที่ผมซื้อมาฝาก โดยที่เราจะรู้กันโดยไม่ต้องบอก และบางทีเวลาพ่อออกไปข้างนอกกลับมาก็จะซื้อขนมมาฝาก ส่วนใหญ่จะให้คนงานวิ่งมาส่งหรือเอามาแขวนไว้หน้าบ้านหลังที่ผมนอน
ผมกับพ่อไม่ใช่พ่อลูกที่จะมานั่งบอกรักกันพร่ำเพรื่อตลอดเวลา แต่เราบอกรักกันด้วยการกระทำเสมอ วันนี้ถึงพ่อไม่อยู่แต่ลูกก็คงยังทำทุกอย่างเหมือนเดิม
ด้วยรักและคิดถึง ดอยธิเบศร์ ดัชนี


ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุคถวัลย์ ดัชนี


เรียน คุณอัตถ์ ที่นับถือ
ต้องขออนุญาตเขียนถึง อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี บ้างนะคะ อาจารย์วิวัฒน์ชัย อัตถากร เขียนลงไทยโพสต์เมื่อ ๑๐ ก.ย. ก่อนถวัลย์ ดัชนีเสียสัก ๒ สัปดาห์ แปลกมากนะคะ ดิฉันคิดถึงอาจารย์อยากจะไป "บ้านคำ" เพื่อคุยกับอาจารย์อีก
เมื่อประมาณ ๓-๔ ปีก่อน พวกเราเพื่อน ๆ ๔-๕ คนไปเที่ยวเชียงราย นั่งรถผ่าน "บ้านคำ" ก็ลงไปเดินเล่นตามประสาคนที่ไม่มีจุดหมายอะไร โผล่หน้าเข้าไปในอาคารหลังนั้นหลังนี้ด้วยสมองที่ว่างเปล่า และแล้วชายผู้หนึ่งแต่งตัวด้วยเสื้อหม้อห้อมก็มาต้อนพวกเราเอาไปนั่งคุย พร้อมกับเลี้ยงน้ำและอาหารแห้ง ดิฉันกินหนึ่งคำแล้วแข็งใจกลืน โชคดีที่เพื่อนคนหนึ่งกินแบบเอร็ดอร่อย ก็ขอแสดงความเห็นอีกคนหนึ่งว่าศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้เป็นคนสมถะ มีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย
อาจารย์ถวัลย์พาเดินชมและสีซอให้คน (ควาย) ฟังอย่างไม่ รู้จักเบื่อหน่าย ท่านคุยสนุกและบังเอิญเราเป็นเหยื่อกลุ่มเดียวที่โผล่เข้าไป จนถึงอาคารหลังสุดท้ายที่มีธงหน้าตาแปลกๆ อาจารย์ก็อธิบายไม่ยอมหยุดจนเลยเวลา ๕ โมงเย็น พวกเราเห็นป้ายติดว่าเวลาทำการของ "บ้านคำ" นี้ปิด ๑๗.๐๐ น. เลยเตือนท่านว่าหมดเวลาแล้ว (ท่านควรจะพักผ่อน)
ขอพื้นที่ของคุณอัตถ์ได้รำลึกถึง "ถวัลย์ ดัชนี" ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ระดับโลกคนนี้ และเป็น "ศิลปินของแผ่นดินบนความพอเพียง" ตามคำของ อ.วิวัฒน์ชัย อัตถากร เป็นโชคดีของพวกเราที่ครั้งหนึ่งในชีวิตได้เคยสัมผัสกับท่าน.
ขอบคุณค่ะ อำภา
วันนี้ (๑๙ ก.ย.๕๗) ศาสตราจารย์ประหยัด พงษ์ดำ ศิลปินแห่งชาติ ได้มาจากไปอีกท่านครับ ศาสตราจารย์ประหยัดกับอาจารย์ถวัลย์ท่านรักกันมากครับ พูดจาหยอกล้อกันทุกครั้งที่เจอหน้า จนเด็ก ๆ อย่างเรา ๆ ต้องแอบยิ้มตาม
อัตถ์ อัตนัย
ภาพและข้อมูลจาก ryt9.com คอลัมน์ "ถูกทุกข้อ"นสพ.ไทยโพสต์ ๒o ก.ย. ๒๕๕๗ เฟซบุค Thawan Duchanee
บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะ
บีจีจากคุณเนยสีฟ้า กรอบจากคุณ somjaidean100
Free TextEditor
Create Date : 25 กันยายน 2557 |
Last Update : 25 กันยายน 2557 19:46:09 น. |
|
0 comments
|
Counter : 5181 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
|
|