happy memories
Group Blog
 
<<
กันยายน 2557
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
9 กันยายน 2557
 
All Blogs
 
คารวาลัย...อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี (๓)





ศิลปินแห่งชาติร่วมส่ง 'ถวัลย์ ดัชนี' สู่สัมปรายภพ ครั้งสุดท้าย


ศิลปินแห่งชาติร่วมจัดกิจกรรมส่ง 'ถวัลย์ ดัชนี' สู่สัมปรายภพ เป็นครั้งสุดท้าย ทั้งบรรเลงพิณเปี๊ยะ เครื่องดนตรี อ่านบทกวี ประสานเสียงขลุ่ยขับกล่อมขึ้นสวรรค์ รวมถึงบทเพลงที่ศิลปินโปรดปราน ขณะที่ศิษย์คนสนิทเผยพร้อมสานต่อเจตนารมณ์ สร้างงานศิลป์ที่ยิ่งใหญ่ที่ปลายด้ามขวานท่ามกลางบรรยากาศแห่งความโศกเศร้า...

เมื่อวันที่ ๕ ก.ย. ๕๗ นายกมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ กล่าวว่า คณะศิลปินแห่งชาติทุกสาขา ได้หารือกันถึงความร่วมมือในการจัดงานพิเศษ เพื่อส่งนายถวัลย์สู่สัมปรายภพเป็นครั้งสุดท้าย ในงานสวดพระอภิธรรมศพ และงานพระราชทานเพลิงศพ โดยได้ผลสรุปเบื้องต้นว่า ๖ ก.ย. ๕๗ จะมีการบรรเลงพิณเปี๊ยะ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรี และบทเพลงที่ นายถวัลย์มีความโปรดปรานมาก โดยมีนายลิปิกร มาแก้ว ผอ.ศูนย์วัฒนธรรมศึกษา มทร.ล้านนา และศิลปินล้านนามาบรรเลง จากนั้นวันที่ ๙ ก.ย. ๕๗ จะมีการจัดคอนเสิร์ต ของศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ อาทิ วงคาราวาน โดยนายสุรชัย จันทิมาธร วงดนตรี คันนายาว โดย นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

จากนั้น ในวันที่ ๑o ก.ย. ๕๗ ซึ่งเป็นวันพระราชทานเพลิงศพ จะมีการแสดง ๒ ช่วง ได้แก่ ช่วงก่อนพิธีพระราชทานเพลิงศพ นายสุรชัย จันทิมาธร จะมาร้องเพลงส่งนายถวัลย์เป็นครั้งสุดท้าย จากนั้น ในช่วงระหว่างพิธีพระราชทานเพลิงศพ นายเนาวรัตน์ จะมาอ่านบทกวี ที่แต่งขึ้นเพื่อร่วมไว้อาลัยต่อการจากไปของ ถวัลย์ พร้อมด้วย ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี อดีตสมาชิกวงคาราบาว ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตชื่อดัง จะมาเป่าขลุ่ย ประสานกันด้วย

นายกมล กล่าวต่อว่า นายนคร พงษ์น้อย กรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า อาจารย์ถวัลย์ มีความชื่นชอบ พิณเปี๊ยะ มากจึงจะนำมาบรรเลงบทเพลง ขับกล่อม ในงานพิธีบำเพ็ญกุศลศพก่อนการสวดพระอภิธรรมศพ ซึ่งเพลงที่จะเล่นในครั้งนี้จะนำเพลงที่แต่งในไร่แม่ฟ้าหลวง มีเนื้อหาเกี่ยวกับความงดงามยามเย็นของแม่ฟ้าหลวง ให้ผู้ร่วมงานได้ซึมซับบรรยากาศ ซึ่งการเล่นพิณเปี๊ยะนี้ครั้งนี้ถือเป็นการไว้อาลัยส่งอาจารย์ถวัลย์อย่างสง่างามเป็นครั้งสุดท้าย ที่สำคัญทุกคนสัมผัส และเห็นชีวิตจริงของอาจารย์ถวัลย์ว่า เป็นชีวิตที่งดงาม แม้บางครั้งท่านจะเจ็บป่วย แต่ท่านก็ใช้ชีวิตได้อย่างงดงาม

นายเจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ศิษย์คนสนิท ของนายถวัลย์ กล่าวว่า อาจารย์เป็นแรงบันดาลใจ ให้คนตัวเล็กๆ ที่มาจากชายแดนใต้อย่างตน สนใจที่จะเรียนรู้งานศิลปะ เพื่อกลับมาพัฒนาประเทศ จึงทำให้ตนค้นหาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับอาจารย์ถวัลย์ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ โดยเริ่มจากการเก็บสะสม บัตรเติมเงินโทรศัพท์ ทุกรุ่น ทุกลาย ที่มีการพิมพ์ภาพผลงานอาจารย์ถวัลย์ โดยในบัตรดังกล่าวจะมีรายละเอียดของภาคประกอบด้วย นอกจากนี้ ยังได้สะสมสูจิบัตร ข่าว และภาพที่เกี่ยวข้องกับอาจารย์ถวัลย์ไว้เป็นอย่างดี เพื่อนำมาใช้เป็นต้นแบบทั้งแนวคิด การศึกษาค้นคว้า การสร้างแรงบันดาลใจ ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ

นายเจะอับดุลเลาะ กล่าวอีกว่า สำหรับงานสุดท้ายที่ตนได้มีโอกาสพบเจอ อาจารย์ คือ โครงการเยาวชนสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ของ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยจัดขึ้นที่บ้านดำ เมื่อวันที่ ๒๓ มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนั้น อาจารย์ได้พาคณะศิลปินแห่งชาติ พร้อมด้วยลูกศิษย์ ไปเยี่ยมชมวัดร่องขุ่น ซึ่งขณะที่ตนยืนชมความสวยงามของพระอุโบสถ์อยู่นั้น อาจารย์ถวัลย์ ได้เดินเข้ามาโอบไหล่ตนอย่างแน่น พร้อมทั้งพูดด้วยน้ำเสียงจริงจังขึงขัง

"ผมกับเฉลิมชัย ได้ทำงานศิลปะให้ยิ่งใหญ่และเป็นความภูมิใจในภาคเหนือแล้วนะ ผมอยากฝากให้เจ๊ะ ทำงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้นที่ปลายด้ามขวาน ของประเทศ ผมปลูกเจ๊ะมาจึงมั่นใจตัวคุณ เมื่อจบคำสนทนา ทำให้รู้สึกว่า เราเป็นคนที่ตัวเล็กมาก และงานที่จะต้องทำเป็นภาระอันใหญ่หลวง แต่เมื่อ อาจารย์ให้ความไว้วางใจกับตน ก็จะต้องทำให้สำเร็จจนกว่าชีวิตจะหาไม่ โดยจะเริ่มจากการสร้างคน สร้างงานศิลปะ เพื่อนำไปสู่การสร้างแลนมาร์กที่ยิ่งใหญ่ด้านงานศิลปะที่มีเอกลักษณ์ท้องถิ่นแดนใต้ ในพื้นที่ภาคใต้ให้สำเร็จ และหลังจากนี้ตนจะกลับไปสร้างหอศิลป์เพื่อเชิดชูคุณูปการ และรำลึกถึง อาจารย์ถวัลย์ และศิลปินที่ช่วยให้ชาวจังหวัดชายแดนใต้ได้สนใจและศึกษางานศิลปะ" นายเจะอับดุลเลาะ กล่าว.


ภาพและข้อมูลจากเวบ
thairath.co.th
เฟซบุคถวัลย์ ดัชนี











ไว้อาลัย.... อ.ถวัลย์ ดัชนี...อัจฉริยะที่หนึ่งร้อยปี (อาจ) มีเพียง "หนึ่งเดียว"


Q : ดูเหมือนพุทธศาสนาจะมีบทบาทในการทำงานของอาจารย์มากทีเดียวนะคะ

อ.ถวัลย์ : ผมไม่คิดว่าพุทธศาสนาเป็นแนวทางของผม แต่พุทธศาสนากับผมเป็นลมหายใจเดียวกัน ถึงแม้ผมจะไม่ไปวัด ไม่เคยไปโบสถ์ แต่ผมไม่เคยทำเดรัจฉานกิจกรรมที่ไม่ใช่กิจของพุทธศาสนา

ผมไม่เคยนั่งคอยโชคชะตาหรือเชื่อนั่นเชื่อนี่ ไม่ห้อยเครื่องรางของขลัง ผมไม่เคยเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ต่าง ๆ นานา ผมเพียงแต่ประพฤติปฏิบัติบูชาในพุทธศาสนาเท่านั้น

นอกนั้น ผมยังเกิดมาท่ามกลางศรัทธาอันแรงกล้าของคนผู้นับถือศาสนา แม่ผมอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ แต่เขาสร้างวัดทั้งวัดให้เชียงราย คือ วัดมุงเมือง ซึ่งเป็นวัดประจำตระกูลของเรา โดยไอ้ต้อย (ลูกชาย อ.ถวัลย์) เป็นคนทำเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์หรือเจดีย์ อีกไม่นานคุณก็จะได้เห็น


Q : งานของศิลปินที่มีชื่อมักตั้งราคาไว้สูงมาก อยากทราบว่ามีเกณฑ์อะไรในการตั้งราคาคะ

อ.ถวัลย์ : ไม่มีเกณฑ์หรอก อยู่ที่ความศรัทธา งานศิลปะทุกอย่างล้วนเป็นมายา กินไม่ได้เหมือนข้าวปลา เพราะฉะนั้นมูลค่าและคุณค่าของงานศิลปะจึงอยู่ที่ตัวผู้สร้างว่ามีฝีไม้ลายมือเพียงใด มีความคิดอ่านที่เป็นปัจเจกบุคคลเพียงใด คุณไม่สามารถทำฟาร์มเกลันเจโล หรือฟาร์มดา วินชีได้ หากแผ่นดินไม่มีต้นสักเหลือสักต้น แต่ยังมีดอกสักเหลืออยู่ คุณหว่านเมล็ดลงไปอีก ๔o-๕o ปี ก็คงจะมีต้นสักเกิดใหม่ได้ แต่ศิลปินระดับอัจฉริยน่ะ ร้อยปีโลกถึงสร้างขึ้นมาได้สักหนึ่งคน

ถ้าผมตายไปก็ไม่มีคนอย่างผมอีกแล้ว จะให้ผมบอกว่า "ไอ้ต้อยไปเป็นตัวแทนกู" ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นความมีมูลค่าและความมีคุณค่าในตัวจึงเกิดได้เพียงครั้งเดียว...เป็นวาบหนึ่งขึ้นมาแล้วก็เลือนหายไป

ผมก็เหมือนกัน เพียงแค่ผ่านมา แล้วอีกไม่ช้าก็ต้องผ่านไป ส่วนใครจะจดจำรำลึกได้หรือไม่ ก็ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญ

..ผมพยายามจะปั้นรุ้งตะวันเป็นสร้อยระย้าให้แก่ผู้คนเพียงแค่พริบฝันเท่านั้น หลับตาแล้วก็เลือนหายไป และผมยินดีที่จะจางหายไป เพราะคนที่มีค่าในโลกนี้คือ ของที่รู้จักตาย...


Q : เป็นที่ทราบกันดีว่างานของอาจารย์มีมูลค่าสูงมาก อาจารย์มีวิธีจัดการกับเงินจำนวนมหาศาลที่ได้จากการวาดภาพอย่างไรคะ

อ.ถวัลย์ : ผมแบ่งเงินออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนหนึ่งผมใช้ซื้อสมบัติบ้าในการทำบ้าน อย่างบ้านดำ ๓๖ หลัง ผมก็ใช้เงินไปหลายบาท รวมทั้งสมบัติบ้าที่อยู่ในนั้นด้วย ทั้งเครื่องเงิน เครื่องทอง เขาสัตว์ หนังสัตว์ คุณลองประเมินราคาดูเถอะว่า เนื้อที่ ๑oo ไร่ กับบ้าน ๓๖ หลัง ที่ใช้ไม้แผ่นกว้างเป็นวานั้น จะต้องใช้เงินมหาศาลขนาดไหน

ส่วนที่สอง ผมมอบให้กับ "กองทุนเพื่อทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา" โดยได้ให้ทุนการศึกษา ปีละ ๕o ทุน เป็นเวลา ๓๕ ปีแล้ว คิดเป็นเงินปีละประมาณ ๓ ล้านบาท แล้วก็ยังเขยิบไปตั้งเป็นกองทุนในยุโรปและอเมริกาด้วย เราจะคัดเลือกนักเรียน ๑o คนมาฝึกหัด ก่อนจะส่งไปให้สภาศิลปกรรมไทย สหรัฐอเมริกา ผมทำกับกมลมา ๓๕ ปีแล้ว

เรื่องนี้ถ้าคุณไม่ถาม ผมก็ไม่บอกใครหรอก ผมทำเหมือนกับที่ในหลวงพระราชทานพระบรมราชาโชวาทว่า แม้จะปิดทองหลังพระ แต่ถ้าปิดเยอะเข้าๆ คนก็สามารถเห็นเอง สำหรับผมนั้นไม่ได้ปิดทองหลังพระ ไม่ได้ปิดทองหน้าพระ แต่ผมปิดใต้ฐานท่านเลยละ (หัวเราะ)

ส่วนที่สาม เป็นเงินที่ผมใช้ทิ้งขว้าง หมายความว่า ใช้ไปกับสิ่งที่ผมคิดว่าสมควร อย่างเช่น ผมให้ไอ้ม่องต้อยเอาเงินไปให้ลุงคนที่เล่นพิณเปี๊ยะ หรือเอาเงินไปให้ป้าคนที่ฟ้อนสาวไหม เพราะเขาทำได้ดีมาก ในขณะเดียวกัน ผมก็เก็บงำเงินส่วนหนึ่งไว้ให้ไอ้ม่องต้อย ผมเคยบอกมันว่า พ่อกูเป็นข้าราชการเล็ก ๆ ตอนที่ปู่ตาย กูมีเงิน ๒o บาท แต่ตอนนี้อายุ ๓๖ แล้ว เอาไปร้อยล้านเลยแล้วกัน อยากจะเอาไปทำอะไรก็ทำเถอะ


Q : อาจารย์มีวิธีปล่อยวางสมบัติพัสถานล้ำค่าที่มีอยู่มากมายได้อย่างไรคะ

อ.ถวัลย์ : อันนี้ขึ้นกับปัจจัตตัง ขึ้นกับปัจเจกชน คนบางคนอาจจะมีเงินทองเยอะแยะไปหมดและอยากจะสะสมไว้ให้ลูกหลาน

ขณะที่ตัวผมนั้นได้ทำให้ตัวเองและลูกหลานมาพอสมควรแล้ว ตอนอายุ ๓๕ ผมมีที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค อาหารการกินพร้อมบริบูรณ์แล้ว เพียงพอสำหรับผมกับไอ้ต้อย

ส่วนบ้านดำนั้นเป็นบ้านสำหรับบรรจุดวงวิญญาณ และผมตั้งใจไว้แล้วว่าจะคืนบ้านทั้ง ๓๖ หลังนี้ให้แก่แผ่นดิน สิ่งที่ผมมีทั้งหมดเปรียบเหมือนเรือ เมื่อข้ามฟากได้แล้ว ผมก็ไม่ต้องแบกเรือไว้อีกแล้ว สมควรที่จะวางเรือไว้ให้คนอื่นใช้ข้ามฟากต่อไป

สำหรับบ้านดำนั้นมี ๑๕ หลังที่เป็นเรือนไม้ ฉะนั้นอยู่ได้ไม่เกิน ๖o ปีก็คงเสื่อมสลายไป อันที่จริงผมก็ไม่ได้คิดจะให้บ้านดำอยู่ยืนยงอะไรนักหนา ผมต้องการให้มันตาย เพราะจะทำให้มันมีค่า ดวงอาทิตย์ยังต้องมีวันดับ สิ่งที่ไม่รู้จักตายก็เหมือนดอกไม้พลาสติก มันไม่มีค่า...บ้านดำก็เช่นกัน

ผมเองสักวันหนึ่งก็ต้องตายเพราะผมตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้เสมอ แต่ในขณะที่ยังมีลมหายใจ ผมจึงอยากจะมอบสุนทรียภาพแก่แผ่นดิน

ผมเคยเดินทางตั้งแต่แม่สายยันสุไหงโก-ลก แล้วต้องหลับตาลงด้วยความปวดร้าว เพราะผมเห็นต้นไม้ถูกทำลาย ป่าเขาถูกบุกเบิก ผมไม่เห็นความงามอะไรหลงเหลืออยู่ เพราะฉะนั้นผมจึงกลับมาที่บ้าน...ทำอะไรได้แค่ไหนก็ทำ...

งานทั้งหมดที่ผมสร้างสรรค์มา เป็นเพียงเรือใบไม้ที่เอาไว้พลิ้วคลื่นในโมงยาม ไม่ได้มุ่งสู่จุดหมายปลายทางใด ๆ ทั้งสิ้น มันจะเป็นเพียงแสงหิ่งห้อยส่องก้นตนเอง ผมไม่ได้อหังการ ต้องเป็นสถาบันศิลปะ

ทุกอย่างมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ต้องดับไป ผมตั้งใจเพียงว่า ก่อนตายผมจะทำความงามให้ปรากฎแก่แผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม วรรณกรรม นาฏกรรม...
และถึงวันนี้ ผมก็พร้อมที่จะตายแล้ว


ภาพและข้อมูลจากเวบ
กระทู้พันทิป











ลายเส้น‘ถวัลย์ ดัชนี’วัยหนุ่มสู่หอศิลป์กทม"


จากนี้ไปเราคงไม่ได้เห็นศิลปินนามอุโฆษชาวจังหวัดเชียงราย “ถวัลย์ ดัชนี” วัย ๗๔ ปี ศิลปินแห่งชาติปี ๒๕๔๔ ชายผู้ถือพู่กัน สีสันที่ผู้สะสมอันพึงมีทรัพย์มหาศาลเท่านั้นจะได้มาครอบครอง แต่ภายใต้เคราสีขาวในชุดดำ หม้อฮ่อมทมึนนั้น กลับมาพร้อมกับมุขตลก เสียงหัวเราะ คงเหลือไว้ซึ่งความทรงจำในฐานะพ่อครูงานศิลป์ของศิลปินล้านนา ศิลปินทั่วประเทศ ข้อคิดอันเป็นสัจธรรมตามความเชื่อพระพุทธศาสนา แนวทางการดำเนินชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ และที่สำคัญ “ผลงานศิลปะ” ที่โดดเด่นมีรูปแบบที่ไม่เหมือนใครในโทนสีดำและแดง ซึ่งมีต้นกำเนิดจากงานพุทธศิลป์ดั้งเดิม อันเลื่องชื่อจารึกไว้ในแผ่นดินหลายร้อยหลายพันชิ้น




ดังปรากฏ จะเป็นนิทรรศการต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ยังได้รับเชิญให้วาดฝาผนังในสถานที่ราชการ เอกชนหลายแห่ง เช่น พระราชวังดอยตุง ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ และอาคารเชลล์ ของบริษัทเซลล์แห่งประเทศไทย จำกัด เป็นต้น เป็นผู้ออกแบบตุงทองคำ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ และยังเป็นผู้ถ่ายทอดศิลปะของไทยและเอเชียในงานสำคัญระดับโลกหลายงานได้รับรางวัลศิลปินดีเด่น เหรียญทอง จากสมาคมสถาปนิกสยามและเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี ๒๕๔๔ เหนือคำว่า มูลค่านั่นคือ คุณค่า ข้อคิด ความเชื่อที่อาจารย์ถวัล แฝงไว้ในลายเส้น สี กระดาษทุก ๆ แผ่น




ล่าสุดผลงานของอ.ถวัช ดัชนี ชิ้นเล็กๆแต่ถือเป็นชิ้นสำคัญยิ่งยวด ปรากฏให้ผู้ชื่นชมศิลปะได้เห็นเป็นครั้งแรก ในห้องจัดแสดงห้องที่ ๒ ของ นิทรรศการ “มนต์เสน่ห์ไทย : มรดก+พลังสร้างสรรค์ (ThaiCharisma : Heritage+Creative Power) ที่เปิดให้ผู้ชมทั่วไปชมฟรี อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคมที่ผ่านมา และยังจัดแสดงไปจนถึงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ณ บริเวณชั้น ๘ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร และนี่ถือเป็นครั้งแรกที่โบราณวัตถุ ศิลปะวัตถุอันล้ำค่าของชาติที่รังสรรค์จากช่างโบราณนำมาจัดแสดงพร้อมกับงานศิลปะร่วมสมัย อีกทั้งมรดกเหล่านี้ยังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินยปัจจุบันนำมาสร้างเป็นงานศิลปะ สืบทอดความเป็นไทยร่วมสมัย




“ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์” ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) บอกว่า ผลงานอ.ถวัลนั้น เป็นงานวาดภาพชุดลายเส้นภาพของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติปี ๒๕๔๔ ซึ่งไม่เคยนำออกแสดงที่ไหนมาก่อน อาจารย์ถือเป็นศิลปินที่มีฝีมือเป็นเลิศเรื่องนำเอาเนื้อหาความหมาย ความเชื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพราหมณ์ ฮินดู วิญญาณนิยม นำมาเขียนเป็นภาพลักษณะของลายเส้น ในอิริยาบถต่าง ๆ ได้รับแรงบันดาลใจจากไตรภูมิกถา ซึ่งมีบันทึกเนื้อหาเกี่ยวกับความเชื่อ สวรรค์ โลกมนุษย์ นรก มาถ่ายทอดผ่านความรู้ความสามารถของอาจารย์ที่ได้ไปศึกษามาจากต่างประเทศด้วย

“เราอยากให้เห็นผลงานชิ้นนี้ ที่ผมคิดว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของอาจารย์ถวัล ดัชนี กล่าวคือเป็นชุดลายเส้นภาพเหมือนจริงใบหน้าของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ตอนยังหนุ่มเมื่อ ๓o-๔o ปีที่แล้ว เอามาจัดแสดงที่นี่เป็นที่แรก โดยผลงานชุดนี้เป็นงานสะสมของคุณ Rolf von Buren ซึ่งเป็นชาวเยอรมันที่อยู่ในประเทศไทยมานานกว่า ๕o ปี ดังนั้น เราต่างก็ทราบว่าอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี มีฝีมือและความสามารถมากมาย แต่ผมคิดว่าเราเอางานของศิลปินแห่งชาติจากจังหวัดเชียงรายท่านนี้มาเป็นจุดเริ่มต้นของงานนิทรรศการครั้งนี้ บ่อบอกว่าท่านเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมต่อช่างนิรนามกับช่าง ศิลปิน สล่าร่วมสมัย สืบทอดเทคนิคการทำงานศิลปะให้เป็นมรดกร่วมสมัยได้ นี่คือจุดเริ่มต้นของงานครั้งนี้”




ส่วนใหญ่อาจารย์ไม่ ถือเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่วงการศิลปะบ้านเรา อ.เป็นปู้ชนียบุคค บุกเบิกงานช่วงต้น ๆ ลูกศิลป์คนท้ายอ.ศิลป์ภีรศี ไปจบดร.เนเธอแลนด์ มีเอกลัษณ์ ประจำตัวโดดเด่น สมัยเยน เอลวิส สมัยร๊อคแอนโรล อ.ผู้บุกเบิกงานท้องถิ่น งานล้านนา ศึกษาไตรภูมิ ศาสนา พม่า ทิเบศ กัมพูชา เป็นผู้บุกเบิกงานพระพุทธศาสนาใน ตอนนั้นตะวันตก อา.พลิกกลับท้องถิ่นนิยม สิ่งหนึ่งที่อ.สร้างความฮือฮา ปี ๒๕๑๔ นำภาพชุดหนึ่งไปร.ร.กรุงเทพคริสเตียน มีการตีความผิดเพี้ยน บางคนว่าหลบหลู่ศาสนา แต่อ.สะท้อนมารผฐนมิติต่าง ขอดี ขอเลว มีนิสิต นศ.นำมีดกรีดงานศิลปิน ไม่ย่อท้อ พัฒนาต่อมาย่อ แสดงงาน ม.ร.ว.คึกฤทฑิ์ อุปถ้มภ์ เชิญปราสาทเยอรมัน รางวัลญี่ปุ่น ความสามารถสูงส่ง ดูแลให้ทุนนัก อารมณ์ขันอยู่มาก การนำเสนองานโดยวาทศิลป์อันเป็นที่เลื่องลือ หวยหาเสียงหัวเราะ ได้ร่วมทำงามาร่วม ๓o ปี วงการศิลปะอย่างยิ่ง เป็นต้น




นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ กล่าวว่า ทราบว่าการจัดนิทรรศการครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเครื่อข่ายทางศิลปวัฒนธรรมหลายองค์กร ภาครัฐ เอกชน ประชาชน นับเป็นนิมิตรหมายอันดีทำให้มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนในวงกว้างขึ้น การนำโบราณวัตถุศิลปะวัตถุมาจัดแสดงร่วมกับผลงานศิลปะร่วมสมัย จะทำให้พี่น้องประชาชนผู้รักงานศิลปะได้เห็นถึงพัฒนาการงานศิลปกรรมไทยที่สืบทอดกันมายาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นเครื่องบ่งบอกถึงความรุ่งเรืองของอารยธรรมชาติไทยได้เป็นอย่างดี นิทรรศการครั้งนี้ถือเป็นการอนุรักษ์มรดกทางศิลปะวัฒนธรรมของชาติควบคู่กับการพัฒนาให้ทันต่อยุคสมัย นับเป็นน่าชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่ง

“กระผมหวังว่าท่านผู้โชคดีที่จะได้มีโอกาสชมนิทรรศการในครั้งนี้ จะได้ซึมซับกับความมีเสน่ห์ของศิลปกรรมไทยและตระหนักถึงคุณค่าของมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ พร้อมมีส่วนร่วมดูแลรักษา สืบสานให้คงอยู่อย่างมั่นคง รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้ศิลปินร่วมสมัยได้มีพลังในการสร้างสรรค์ ผลิตผลงานสู่สาธารณะชนต่อไป”




หากใครคิดถึงอ.ถวัลย์ อยากจะชื่นชมและสืบทอดงานศิลปะไทยร่วมสมัย ไปพร้อม ๆ กับศิลปินรุ่นใหม่ที่เดินบนถนนศิลปะ อาทิ ผลงานชุด “Beyond” ของ คามิน เลิศชัยประเสริฐ สร้างสรรค์ผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพระพุทธรูปไม้โบราณ สร้างพระพุทธรูปจากสำริดถ่ายทอดลักษณะความเกิดแก่เจ็บตาย ความโลภหลง ถือเป็นวัฏจักรของมนุษย์ ให้ผู้ชมได้ศึกษาและมีสติจากผลงานเหล่านี้ , ผลงาน “Ayodhya” ของจักกาย ศิริบุตร ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากผ้าปักรามเกียรติ์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕ ,ผลงานรอยต่อแห่งศรัทธาของกาลเวลา ของปานพรรณ ยอดมณี, ผลงาน Angel ของประเสริฐ ยอดแก้ว ที่สะท้อนแนวคิดหากเทวดาตกสวรรค์แล้วจะเป็นอย่างไร, ผลงานการถ่ายทอดสัญลักษณ์ของความเสียสละ ผู้ให้ และผู้ขอเสมอ ชื่อ ”วัวนักบุญผู้ให้กับหมูขี้ขอ” ของยุรี เกนสาคู เป็นต้น





ภาพและข้อมูลจากเวบ
komchadluek.net











รอยแปรง อ.ถวัลย์ ดัชนี
นันทพร ไวศยสุวรรณ์


"มีตำนานน่าทึ่งของศิลปินหน้าพระลานอย่างน้อย ๒ คน คือ อังคาร กัลยาณพงศ์ กับ ถวัลย์ ดัชนี ทั้งสองเป็นทั้งนักคิด ทั้งจิตรกร และนักปรัชญาในตัวคนคนเดียว..."

ถ้อยคำแห่งความรู้สึกของ สัมพันธ์ ก้องสมุทร นักเขียนผู้ศรัทธาในวิถีของศิลปินที่กล่าวถึงทั้งสองท่าน คุณสัมพันธ์ เป็นบรรณาธิการและผู้จัดพิมพ์หนังสือ "มนุษย์ต่างดาว ถวัลย์ ดัชนี" ในนามสำนักพิมพ์วสี ครีเอชั่น โดยได้นักเขียนรุ่นใหญ่ ไมตรี ลิมปิชาติ เป็นผู้เขียน

หนังสือที่มีความหนา ๒๔o หน้า ดิฉันอ่านรวดเดียวจบ อ่านอย่างตื่นตะลึง อิ่มใจ อมยิ้ม และทึ่ง!

บุคคลที่มีความเอกอุทุกด้าน ทั้งการใช้ชีวิต และการทำงาน อย่าง อ.ถวัลย์ ดัชนี เชื่อเหลือเกินว่าใน ๑oo ปี จะมีคนอย่างนี้สักคนยังยาก !

อ.ถวัลย์ ซ้อมตายตั้งแต่อายุ ๓๕ ปี ท่านให้เหตุผลว่า "เพราะเมื่อ ๓๕ ปี ผมหมดภาระจากเรื่องที่มนุษย์เขาทำกัน" ที่พูดอย่างนี้เพราะคนส่วนใหญ่ในวัยนี้มักจะหาความมั่นคงให้แก่ตัวเองและครอบครัว แต่อาจารย์มีทุกอย่างครบแล้ว

การจากไปของ อ.ถวัลย์ จึงเหมือนแค่ไม่เห็นตัวท่านเท่านั้น เพราะผลงานมากมายที่ฝากไว้ เป็นตัวแทนให้เราเห็น "คุณค่าทางใจ" และ "ความหมายเชิงปรัชญา" ให้คนทั่วโลกตะลึงมาแล้ว

และน่าดีใจเหลือเกินที่นักธุรกิจอย่าง คุณบุญชัย เบญจรงคกุล ผู้หลงใหลในงานศิลปะ ได้รวบรวมผลงานของ อ.ถวัลย์มากที่สุด และได้นำมาแสดงให้เราได้เข้าไปชื่นชม ศึกษา และค้นหาความหมายที่แฝงอยู่ในฝีแปรงของท่านที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย" (Museum Of Contemporary Art - MOCA) ย่าน ถ.วิภาวดีรังสิต

และเพื่อเป็นการไว้อาลัยในการจากไปของท่าน เจ้าสัวบุญชัยจึงเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมฟรี จนถึงวันที่ ๑๑ กันยายนนี้

ไปเถอะค่ะ ไปชมผลงานกว่า ๑oo ชิ้นของ อ.ถวัลย์ ดิฉันคิดว่าที่นี่มีให้ชมมากที่สุด หากไม่นับของ อ.ถวัลย์เองที่บ้านดำ จ.เชียงราย

อย่างน้อยคุณจะได้เห็น ๒ ภาพประวัติศาสตร์ของคุณบุญชัย...

ภาพวาดสีน้ำมันและทองคำเปลวบนผืนผ้าใบ ส่วนหนึ่งจาก ๗ ภาพ ของ อ.ถวัลย์ ที่ส่งมาให้เพื่อเป็นกำลังใจในช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๔o ซึ่งทำให้คุณบุญชัยต้องมีหนี้สินถึง ๔-๕ หมื่นล้านบาท

เป็นภาพชุดที่เย้ากันว่าแต่ละภาพมีราคาหลักร้อยล้านบาท อ.ถวัลย์มอบให้คุณบุญชัยได้นำไปใช้หนี้ แต่คุณบุญชัยก็ไม่คิดจะขาย แถมยังติดไว้ที่อาคารเบญจจินดา ซึ่งทำให้พนักงานต้องตกใจ เพราะเป็นภาพเสือกำลังขย้ำม้าและวัว ซึ่งปีม้าเป็นปีเกิดของคุณบุญชัย ขณะที่ปีวัวเป็นปีเกิดของน้องชาย

แสดงให้เห็นว่าทั้ง อ.ถวัลย์ และคุณบุญชัย เข้าใจตรงกันในความหมายเชิงสัญลักษณ์ ถึงการเปลี่ยนแปลงของศาสนา รูปนั้นจึงยังคงอยู่อย่างสง่า และงดงามลึกซึ้งเหลือเกิน

อีกภาพหนึ่ง ที่น่าจะไปชม คือ" "มารผจญ" ถือเป็นภาพชุดสุดท้ายในปลายชีวิตของ อ.ถวัลย์ ซึ่งในเซตเดียวกันนี้ นอกจากที่บ้านดำแล้ว ยังจะได้ชมที่นี่อีกด้วยค่ะ

หรือติดตามได้ในช่วง OPEN EYES รายการเนชั่นมิตรไนท์ ช่องเนชั่นทีวี วันจันทร์นี้ ที่คุณบุญชัยพาดิฉันเดิมชมพร้อมกับอธิบายความหมายของภาพ และความเคารพศรัทธาในตัว อ.ถวัลย์ค่ะ

แล้วจะคิดอย่างดิฉันว่า อ.ถวัลย์ เป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดินจริง ๆ!


ภาพและข้อมูลจาก
คอลัมน์ "มองผ่านเลนส์คม"นสพ.คม ชัด ลึก ๗ ก.ย. ๒๕๕๗
komchadluek.net











ถอดรหัสบ้านดำ
เอกรัตน์ ศักดิ์เพชร


ทำความเข้าใจ 'บ้านดำ' เชิงสถาปัตยกรรม ผ่านวิทยานิพนธ์ของ ดอยธิเบศร์ ดัชนี

นอกเหนือจากความสามารถทางด้านจิตรกรรมอันเป็นที่ประจักษ์แจ้งกันโดยทั่วกันแล้ว ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ยังมีความสามารถทางด้านสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น

จากการศึกษาระดับปริญญาโททางด้านจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์ ผังเมือง และปริญญาเอกสาขาอภิปรัชญาและสุนทรียศาสตร์ที่ราชวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ความรู้ ความชำนาญ ประกอบกับประสบการณ์ เป็นที่มาของการสร้าง บ้านดำ ขึ้นมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ และได้รับรางวัลเกียรติยศเหรียญทองจากสมาคมสถาปนิกสยามแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. ๒๕๒๘

พิพิธภัณฑ์บ้านดำ เป็นกลุ่มงานสถาปัตยกรรมกว่า ๔๐ หลัง แต่ละหลังได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบแตกต่างกัน ภายในจัดแสดงสิ่งของที่ศิลปินรวบรวมไว้เพื่อใช้เป็นข้อมูลและสร้างแรงบันดาลใจในการออกแบบงานศิลปกรรม




ส่วนชื่อ 'บ้านดำ' มาจากสีของบ้านที่ทาด้วยสีดำ จนคนเรียกันติดปากว่า บ้านดำ

บ้านดำเป็นอดีตของ ถวัลย์ ดัชนี ที่มีการจัดระเบียบและเข้ารหัสไว้อย่างดี คงไม่มีใครในโลกที่จะถอดรหัสนี้ได้ดีไปกว่า ดอยธิเบศร์ ดัชนี ทายาทเพียงคนเดียว

'กรุงเทพวันอาทิตย์' ได้รับอนุญาตจากผู้วิจัย ให้ได้มีโอกาสเผยแพร่ส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์เรื่อง บ้านดำ ภาชนะห่อหุ้มจิตวิญญาณ ของ ถวัลย์ ดัชนี ผู้วิจัย ดอยธิเบศร์ ดัชนี วิทยานิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (วัฒนธรรมศึกษา) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2552 ซึ่งเนื้อหาต่อไปนี้ จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจความเป็น 'บ้านดำ' จากมุมมองของศิลปิน

๕.๑ "บ้านดำ" ผลงานของศิลปินในด้านสถาปัตยกรรม (บ้าน) ที่ศิลปินจัดการด้วยตนเอง




อูบหัวนกกก, นกเงือกหัวแรด


ความหมายของชื่อ : ความงาม สุนทรียภาพ อนุรักษ์ นิเวศน์ ประติมากรรม และปั้นปูน
ปีที่สร้าง ๒๕๔๙-๒๕๕๑ ระยะเวลาในการสร้าง ๓ ปี

ที่มาและแรงบันดาลใจในการออกแบบ : ประติมากรรมในรูปแบบที่อยู่อาศัยทางสถาปัตย์จากนาวาโฮในอินเดียน อาปาเช่ในซานตาเฟ่ อูบมุงลาว โบสถ์ของเกาดี้ในสเปน โนเตรอะดามส์ รองชอง ของมีส วันโคโร มาจนถึง บิลเบา ของแฟรงค์ แกรี่

รูปแบบสถาปัตยกรรม : ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียวทรงโดมมีลักษณะคล้ายหัวนกเงือก โครงสร้างอาคารเป็นโครงสร้างปูนทั้งหมด มีเสารองรับโครงสร้างของอาคาร มีประตูเข้าออกทางเดียว ด้านหน้ามีกระจกทรงกลมด้านข้าง ข้างละสามบานเพื่อเป็นช่องแสง ด้านในมีห้องนั่งเล่นและห้องน้ำ

ขนาด : กว้าง ๕.๘o เมตร ยาว ๒๓.oo เมตร สูง ๗.๓o เมตร





บ้านดำในฐานะผลงานศิลปะ


ถวัลย์สร้างบ้านเหมือนการสร้างผลงานศิลปะของตนเอง การสร้างบ้านเกิดขึ้นจากสิ่งของภายในที่เข้าอยู่อาศัย เป็นการสร้างพื้นที่ภายนอกจากโครงร่างภายใน เหมือนกับการขึ้นรูปมนุษย์ในการปั้น ที่ถวัลย์ได้รับการฝึกฝนจากแนวคิดศิลปะแบบ "หลักวิชา"(Academic) ที่เป็นสำนักหนึ่งในยุโรป ที่จะต้องศึกษากระดูก กล้ามเนื้อ และหนังที่ห่อหุ้มร่างกายแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจนและแม่นยำก่อนที่จะสร้างรูปมนุษย์ขึ้นมา

ดังนั้นความสำคัญของบ้านนั้นอยู่ภายในบ้าน และจึงให้ความสำคัญภายนอกบ้านในท้ายที่สุด ดังนั้นภายนอกบ้านจะดูเรียบง่าย และเปิดให้เห็นภายในบางหลัง

แต่สำหรับบ้านที่เป็นวิหารนั้น จึงจะมีลักษณะที่ซับซ้อนภายนอกเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไร ภายในก็ยังเป็นสาระสำคัญที่แสดงถึงเรื่องราวต่างๆ ทางความคิดของศิลปิน

ถ้าเปรียบบ้านดำเป็นภาพเขียน บ้านดำเป็นเหมือนภาพของมหากาพย์ ของวรรณกรรมชีวิต ที่มีองค์ประกอบเป็นไตรภูมิ ที่เริ่มจากบ้านของมนุษย์โลก บ้านของสรรพสัตว์หรือโลกบาดาล และบ้านของเทพหรือโลกสวรรค์ และทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกันด้วยมหาสมุทรที่เป็นโลกของชีวิตของศิลปิน ที่เดินทางไปทั่ว ๗ คาบสมุทร

ดังนั้น บ้านดำจึงเป็นผลงานศิลปะที่กำลังดำเนินอย่างต่อเนื่องเป็น ผลงานศิลปะทางชีวะสังคม แรงบันดาลใจและความร่วมมือร่วมใจของผู้คนใดบ้างในการสร้างบ้านและวัตถุประยุกต์ในการใช้ประโยชนั้น ก็พบว่าเป็นเรื่อง "ระบบความสัมพันธ์ของถวัลย์ ดัชนี ที่มีต่อสรรพสิ่ง"

ดังนั้น จึงให้ความหมายของการอธิบายเรื่องรูปแบบบ้านดำเป็นเรื่อง "ผลงานศิลปะทางชีวะสังคม ที่อยู่ท่ามกลาง (In Between)" ที่กำลังดำเนินไป กำลังจะกลายเป็น ยังไม่มีที่สิ้นสุดของการนิยาม โดยมีความเป็นต้นแบบของผลงานที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทย ที่ถูกสร้างขึ้นโดยศิลปินที่อุทิศตนเพื่อศิลปะและมีบทบาทในการสร้างพื้นที่และเส้นทางศิลปะให้กับผู้ที่จะเดินทางต่อไป




บ้านวงแหวนหว่านล้อมดาวพระเสาร์


ความหมายของชื่อ : ความงาม รัศมีภาพของวงรุ้งหัวแหวนคืนวันในวงกตกาลเวลา ปีที่สร้าง ๒๕๓๘-๒๕๔๒ เวลาในการสร้าง ๒ ปี

ที่มาและแรงบันดาลใจในการออกแบบ : โยนกนาคพันธุ์ นพบุรีศรีเชียงแสน รัตนะปุระอังวะ มิ่งมัณฑเลย์ ในอู่อารยธรรมร่วมสมัย ความโปร่งเบาล่องลอย ในม่านหมอกและจินตนาการของเช้าวันหนึ่งของคืนวานพรุ่งนี้

รูปแบบสถาปัตยกรรม : ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว โครงสร้างอาคารเป็นโครงสร้างไม้ทั้งหมด มีเสาไม้รองรับโครงสร้างของอาคาร หลังคาทรงสามเหลี่ยมมุงด้วยกระเบื้องดินเผาไม่เคลือบสี ด้านบนประดับด้วยป้านลมและหางหงส์ ด้านล่างมีค้ำยัน ประตูด้านหน้าประดับด้วยซุ้มประตูขนาดใหญ่ฝีมือช่างพม่า ด้านหลังมีทางเชื่อมต่อไปยังห้องน้ำ

ขนาด : กว้าง ๖ เมตร ยาว ๙ เมตร สูง ๑๘ เมตร

วัตถุจัดแสดงภายในบ้าน : เขาสัตว์จากแอฟริกา เนปาล ทิเบต ในรูปของเครื่องประดับแหวน กำไล เคียว หอก มีด ง้าว และเตียงตั่ง ไม้แกะสลักดาวเพดานฝีมือช่างพม่าอโยธยา





บ้านดำในฐานะมรดกทางวัฒนธรรม


บ้านดำมีความเป็นต้นแบบทางรูปแบบและแนวคิด ที่เริ่มจากคนธรรมดาของสังคมที่ต่อสู้เพื่อให้มีที่ยืนในสังคมในฐานะศิลปิน และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นการส่งต่อให้กับสังคม

กลายเป็นทุนทางสังคม ซึ่งเป็นทุนทางสังคมที่เป็นการพัฒนาขึ้นจากมนุษย์ องค์ความรู้ วัฒนธรรม ก่อให้เกิดการพัฒนา มนุษย์ที่มีความรู้ มีคุณภาพ สร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม ซึ่งทุนทางสังคมนี้ เป็นเหตุให้เกิดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมที่มีรสนิยม มีความหมายเชิงวัฒนธรรม ภูมิปัญญาชั้นสูงประกอบอยู่

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้มีการรวบรวมความรู้ ความคิดเห็นจากพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อ

๑. ค้นหาทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่

๒. สนับสนุนให้มีการวิจัยสร้างฐานข้อมูลภูมิปัญญาส่งเสริมผลิตภัณฑ์วัฒนธรรม

๓. สนับสนุนเชิดชูศิลปินผู้แสดงทางวัฒนธรรม รักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรม

๔. สร้าง Culture Taste โดยเน้นเศรษฐกิจวัฒนธรรม (Cultural Economy)

ในส่วนบ้านดำกับทุนทางวัฒนธรรม ที่เป็นมรดกทางสังคมวัฒนธรรมนั้น จากการศึกษาพบว่า สามารถแบ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ (Tangible Heritage) คือ ตัวบ้าน และวัตถุที่จัดเก็บไว้ในบ้าน

ตัวบ้านเองนั้นเป็นการสร้างสรรค์รูปแบบขึ้นมาใหม่ บนฐานวัฒนธรรมดั่งเดิมของล้านนาและประเทศต่าง ๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และในส่วนวัตถุที่จัดเก็บนั้น สามารถจัดแบ่งได้เป็นสามส่วน กล่าวคือ

ส่วนที่ ๑ เป็นวัตถุทางวัฒนธรรมที่จัดเก็บรวบรวมมาจากแหล่งวัฒนธรรมต่างในลุ่มแม่น้ำโขง เป็นวัตถุทางวัฒนธรรมที่กล่าวได้ว่า เป็นศิลปวัตถุที่มีคุณค่าในลักษณะ "วัตถุจัดเก็บระดับพิพิธภัณฑ์" ที่ทรงคุณค่า หายาก และมีลักษณะพิเศษ ไม่สามารถหาได้อีกในแหล่งวัฒนธรรมอีกแล้ว และไม่สามารถหาได้จากพิพิธภัณฑ์หรือแหล่งสะสมอื่น ๆ นับว่าเป็นความพยายามของถวัลย ดัชนีที่พยายาม "ย่อโลกของอารยธรรมแม่น้ำโขง" มาไว้ในพื้นที่ของบ้านดำ

ส่วนที่ ๒ เป็นสถาปัตยกรรมและหัตถกรรมสร้างสรรค์ ที่ปรากฎในรูปแบบน้ำบวย งานแกะสลัก และงานสถาปัตยกรรม มีด เก้าอี้ ฯลฯ ที่เป็นการสรุปรวมสังคมทางศิลปหัตถกรรมของถวัลย์ เป็นงานศิลปะที่เป็นต้นแบบ

ส่วนที่ ๓ เป็นส่วนผลงานศิลปะที่ถวัลย์ได้สร้างสรรค์ขึ้น งานที่ยังไม่ปรากฎชัดในพื้นที่บ้านดำ แต่เป็นการวางแผนงานที่จะนำมาติดตั้งเมื่ออาคารที่รองรับผลงานนั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ทั้งสามส่วนนี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ แต่สิ่งที่กำกับอยู่เบื้องหลังของวัตถุทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้นั้นคือ รสนิยมทางศิลปะ (Cultural Taste) เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Heritage)




อูบนอแรดในรุ้งดาว (อูบเตารีด)


ความหมายของชื่อ : ความโดดเดี่ยว วิเวก และสำนึกของต้นกำหนดคืนวัน ปีที่สร้าง ๒๕๔๕ เวลาในการสร้าง ๑ ปี

ที่มาและแรงบันดาลใจในการออกแบบ : อูบเมืองแก่งเมืองล้านช้าง รูปทรงเตารีดผ้าถ่านโบราณ หลุมฝังศพในตะวันออกกลาง โบสถ์คริสต์ใต้ดินยุคแรกและโรงบ่มใบยาทางภาคเหนือของประเทศไทย

รูปแบบสถาปัตยกรรม : ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียวทรงโดมมีลักษณะคล้ายเตารีดเหล็กโบราณหรือโบสถ์คริสเตียนในยุคกลาง โครงสร้างอาคารเป็นโครงสร้างปูนทั้งหมด มีเสารองรับโครงสร้างของอาคาร มีประตูเหล็กขนาดใหญ่เข้างทางด้านหน้า-หลัง

ขนาด : กว้าง ๗ เมตร ยาว ๑o เมตร สูง ๑๒ เมตร

วัตถุจัดแสดงภายในบ้าน : ศูนย์แกนแกลางของบ้านในระบบภูมิทัศน์ กลางกำเนิดวัฒนธรรม ไม้ ดินเผา และคอนเกรีตมาบรรจบกันที่ปลายหอก หน้าสวนหิน

เนื้อหาหรือความหมายโดยรวมของบ้าน : จุดศูนย์กลางสะดือบ้าน แฉกดาวทั้งหมดที่เปล่งจากศูนย์รวมแสง

จุดประสงค์ในการสร้าง : สรุปความคิดรวบยอด ภารธุดงค์จาริกไปบนเมฆตกต้องมาเป็นหยดฝน





บ้านดำกับการจัดการมรดกทางวัฒนธรรม


การจัดการมรดกทางวัฒนธรรมนั้น อาจเป็นออกเป็นสองส่วนคือ การจัดการพื้นที่ของบ้านดำ และการจัดการองค์ความรู้ในบ้านดำ ในส่วนของการจัดการพื้นที่ของบ้านดำนั้น การศึกษาในครั้งนี้ สามารถวิเคราะห์แยกหมวดหมู่ของบ้านออกตามลักษณะทางวิวัฒนาการและยุคสมัยได้ดังนี้

กลุ่มที่ ๑ กลุ่มวัฒนธรรมไม้

กลุ่มที่ ๒ กลุ่มวัฒนธรรมดินเผา

กลุ่มที่ ๓ กลุ่มวัฒนธรรมคอนกรีต

กลุ่มที่ ๔ กลุ่มเรือนบริการและศาลา

ทั้งสามกลุ่มจะเห็นว่ามีการจัดระบบของบ้านไว้เป็นอย่างดี ในกลุ่มแรกนั้น ได้แก่บ้านของกลุ่มวัฒนธรรมไม้ เป็นกลุ่มบ้านในยุคแรกเริ่มในการสร้าง กลุ่มที่สองวัฒนธรรมดินเผาที่มีวิวัฒนาการขึ้นมาตามยุคสมัย และกลุ่มที่สามคือ วัฒนธรรมคอนกรีต ซึ่งเป็นยุคที่มีวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากยุคอื่นๆ และกลุ่มสุดท้าย เป็นกลุ่มของเรือนบริการและศาลา ทั้งหมดเป็นการจัดลำดับชั้น และการให้คุณค่าทางความหมายของถวัลย์ และยังชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการทางความคิดและวิวัฒนาการของการออกแบบบ้านในแต่ละยุคสมัยตลอดระยะเวลากว่า ๓๕ ปีในการออกแบบและสร้างบ้านในแบบของ ถวัลย์ ดัชนี

บ้านทั้งหมดเป็นพื้นที่พบปะเชื่อมโยงกับผู้คนที่เข้ามาสัมพันธ์กับเจ้าของบ้าน ที่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์กับการจัดการของบ้านดำ ที่เกิดขึ้นจากระบบของศิลปินที่มีกิจวัตรต่อสังคม ให้สามารถที่จะมีชีวิตเป็นของตนเองได้




อูบเปลวปล่องฟ้า(ซ้าย), อูบหยาดน้ำตาบนแก้มกาลเวลา (ขวา)


อูบเปลวปล่องฟ้า : ความหมายของชื่อ โผล่ขึ้นมาจากฐานปัทม์ กลีบบัวหงาย บัวคว่ำ ที่ยังคงคร่อมคาอยู่บนดิน มีประตูมหาอุตทางเดียว ศิลปินต้องการความวิเวก ความเป็นปัจเจกทั้งอารมณ์ ความคิดคำนึง และเอตัคคตารมณ์ ปีที่สร้าง ๒๕๔๓ เวลาในการสร้าง ๓ ปี

ที่มาและแรงบันดาลใจในการออกแบบ : ในช่วงพ้นอายุหกสิบ ศิลปินหยุดโลก ละเลียด เคี้ยวเอื้องความคิด ไม่มีนิวรณ์ จึงสะท้อนชีวิตมาในรูปแบบที่สงบ ระงับ

ขนาด : กว้าง ๕.๘ เมตร ยาว ๕.๘ เมตร สูง ๔.๙ เมตร

เนื้อหาหรือความหมายโดยรวมของบ้าน : หยดหนึ่งของหยาดเหงื่อ จากหน้าผากแผ่นดิน ร่วงลงบนทางเท้าแม่พระธรณี

จุดประสงค์ในการสร้าง : สำรอก สำรวจ สำรวจ สำเริง กับกาลเวลาที่หลั่งริน

อูบหยาดน้ำตาบนแก้มกาลเวลา (อูบก๊อกตด) : ความหมายของชื่อ ชื่อบ่งบอก สกุลช่าง บทวีและวรรณศิลป์ ปีที่สร้าง ๒๕๔๔ ใช้เวลาในการสร้าง ๑ ปี

ที่มาและแรงบันดาลใจ : ดอกบัวบานรองรับหยาดน้ำตาที่ร่วงลงมาบนแก้มกลีบกาลเวลา ต้นแบบของอูบมุงปักยอดฉัตรบนปรางค์ปลียอด เค้าโครง และสัดส่วนที่ลงตัว ปฏิมาสถาปัตย์ชั้นแรก

ขนาด : กว้าง ๑o เมตร ยาว ๑o เมตร สูง ๑o.o๕ เมตร

เนื้อหาหรือความหมายโดยรวมของบ้าน : อูบทั้งหมดไม่เอาแสงไฟฟ้า ไขประทีป จุดเทียน เพื่อผลทางจิตที่ไม่ปรุงแต่งจากวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม

จุดประสงค์ในการสร้าง : สื่อความหมายสายตรงระหว่างมนุษย์ พระเจ้า นิพพาน อริยมรรค และตน




ดังนั้น บ้านดำมีความเหมาะสมในรูปแบบการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมในฐานะบ้านศิลปินที่ศิลปินยังมีชีวิตอยู่ ในฐานะจุดหมายปลายทางของผู้แสวงหาแรงบันดาลใจทางศิลปะ

๕.๒ ลักษณะเฉพาะของศิลปินเรื่องความสัมพันธ์ของโครงสร้างสังคมกับผลงานบ้านศิลปิน "บ้านดำ"

บ้านดำกับ "โลกของอดีตที่มีการจัดการไว้เป็นอย่างดี"

บ้านดำของถวัลย์ ดัชนี นั้นเป็นเสมือนการบันทึกความรู้ ความคิดของเจ้าของบ้านที่มีการจัดการไว้อย่างเป็นระบบ ที่จะแสดงถึงตัวตนของถวัลย์ ได้เห็นถึงผลของการตกผลึกทางชีวิตที่ผ่านมาของศิลปินที่เกี่ยวพันกับสังคม รัฐ และโลกาภิวัตน์ ในวิถีการต่อสู้ของถวัลย์กับระบบต่างๆ นั้นบางครั้งก็ยอมสยบเชื่องต่ออำนาจ และบางครั้งก็ต่อต้านขัดแย้ง สร้างองค์ความรู้ให้สังคม สร้างมาตรฐานทางวิชาชีพศิลปินที่เป็นอิสระ สร้างต้นแบบของชีวิต




บ้านดำ ที่พบเห็นในรูปแบบปัจจุบันนั้นเป็นผลผลึกจากอดีตที่จัดเรียงไว้เป็นอย่างดี ผ่านระบบความสัมพันธ์ที่เป็นชั้น ๆ ตามลำดับของคุณค่าที่ศิลปินได้ให้ความหมายไว้ เป็นการเมืองระหว่างอำนาจของรัฐในเรื่องการผนวกรวมรัฐชาติไว้เป็นหนึ่งเดียวในระยะหนึ่ง กับระบบวาทกรรมการพัฒนาตามแนวตะวันตก และค่านิยมโลกาภิวัตน์ ที่รัฐไทยไม่สามารถที่จะโอบอุ้มหรืออุปถัมภ์และส่งเสริมผลงานศิลปกรรม และเหล่าศิลปินที่เป็นอิสระ ไม่ยอมเป็นข้าราชการ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน และประวัติศาสตร์ศิลป์ของรัฐไทยไม่เคยได้บันทึกความสำเร็จของผู้คนเหล่านั้นไว้ (อาจมีบ้างก็เป็นเพราะว่าทำแบบเสียไม่ได้ หรือมีแบบกดทับไว้ว่าเป็นของพื้นบ้านท้องถิ่นชั้นต่ำ)

ถวัลย์ ดัชนี จึงต้องสร้างพื้นที่ของตนเองที่จะ "เล่าเรื่องอดีต" ของตนเอง และเรื่องเล่าของถวัลย์นั้นเป็นเรื่องเล่าที่ "มีพลานุภาพ" ในรูปแบบของคนธรรมดา สามัญชน คนชายขอบ คนที่ถูกกดทับ หรือจะเรียกอย่างไรก็ตาม ที่กำลังต่อสู้กับ "เรื่องเล่าที่ยิ่งใหญ่ของรัฐ" คือประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยฉบับรัฐไทยสมัยใหม่

ถวัลย์ได้ใช้เรื่องเล่าของตนเองผ่านระบบสื่อสารสมัยใหม่ เช่นบทสัมภาษณ์ทางหนังสือพิมพ์ บทสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ การแสดงงานศิลปะ และการพูดคุยกับผู้คนที่มาเยี่ยมเยือนที่บ้านดำ ที่ถวัลย์ต้องการแสดงให้ผู้คนเห็นว่า การที่คนหนึ่งคนมายืนในจุดที่เรียกได้ว่ามีชื่อเสียงนั้น ผ่านเส้นทางการต่อสู้มาอย่างไร กับอำนาจที่กระทำต่อมนุษย์ให้สยบยอม และถวัลย์ได้รื้อสร้างเรื่องเล่าที่ยิ่งใหญ่เหล่านั้นมาอธิบายอำนาจเหล่านั้นใหม่ผ่านประสบการณ์ตนเอง




การอธิบายใหม่นั้นผ่านบ้านดำที่ใส่รหัสไว้ เช่น การศึกษาศิลปะแบบหลักวิชา(Academic) ที่เป็นเรื่องการฟื้นฟูมนุษย์นิยมแบบกรีกนั้น พบเห็นที่บ้านดำจากซากโครงกระดูกสรรพสัตว์นั้น เป็นสิ่งที่นักเรียนศิลปะในแนวทางหลักวิชาต้องศึกษาอย่างลึกซึ้ง

แต่สำหรับถวัลย์แล้ว คำอธิบายนั้นเป็นเรื่องของอดีตของตระกูลตนเองที่มีความสามารถเรื่องการล่าสัตว์ และการมาศึกษาเรื่องอนาโตมีนั้นเป็นเรื่องที่ครอบครัวและตนเองมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้วจากเชียงราย และการสร้างพื้นที่ของตนเองนั้น ก็เป็นรูปแบบของ "บ้าน" ซึ่งรัฐไม่สามารถมีอำนาจเหนือบ้านผู้คนได้ น้อยมาก เป็นพื้นที่ที่มีความเป็นส่วนตัวสูงเท่าที่รัฐไทยจะไม่สามารถเอื้อมมือของอำนาจรัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้ และบ้านจึงเป็นพื้นที่แห่งอิสระ(ถ้ายังเป็นบ้านหลังเล็ก ๆ) รูปแบบของบ้านดำจึงเป็นอิสระตามจินตนาการของศิลปิน สามารถเล่าเรื่องและกักเก็บอดีตของตนเองไว้ได้ โดยถ้าเป็นหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ ก็จะมีอำนาจทางความรู้ต่าง ๆ เข้ามาอธิบายและบริหารจัดการ

การสร้างบ้านหลายหลังก็ผ่านเรื่องเล่าที่เคยหลบซ่อนตามซอกมุมของโรงเรียนมาก่อน จึงเป็นเรื่องที่ผู้นำชมจะถูกถามบ่อย ๆ ว่า บ้านเหล่านี้ศิลปินอาศัยอยู่จริงหรือไม่ และพักอาศัยอยู่หลังใด จึงสร้างเรื่องเล่าของคนชายขอบที่ต้องถูกผนวกรวมไปยังศูนย์กลางอำนาจรัฐในประวัติของตัวศิลปินเสมอ

ในส่วนของรูปแบบบ้านที่เป็นลักษณะของการสร้างรูปแบบใหม่ที่เป็นต้นแบบ แต่มีลักษณะของสถาปัตยกรรมในลุ่มแม่น้ำโขงนั้น เป็นเรื่องเล่าของถวัลย์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศที่ตนเองพยายามที่จะสู่ศิลปะสมัยใหม่ตามแบบกระแสนิยม แต่ผู้สอนอยากให้ถวัลย์เป็นตัวของตัวเอง และถวัลย์ได้เลือกที่จะเป็นตัวเองแบบใหม่ และหลุดพ้นจากแนวกระแสนิยม จนสามารถมีชื่อเสียงได้

บ้านดำจึงเป็นอดีตของถวัลย์ ดัชนี ที่ถูกจัดไว้อย่างดีและเข้ารหัสไว้ เพื่อให้ซ่อนจากอำนาจของรัฐที่ตัวศิลปินเองพยายามต่อต้านมาโดยตลอด





บ้านดำ "ภาวะทางโลกที่เป็นปัจจุบัน"


บ้านดำในสภาวะปัจจุบัน เป็นพื้นที่ของการศึกษาทางศิลปกรรม เป็นจุดหมายปลายทางของนักเรียนศิลปะ ที่สักครั้งหนึ่งในชีวิตต้องจาริกแสวงหาแรงบันดาลใจ ต้องเดินทางมาเยือน มีรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งยังมีการมาเยือนแบบไม่เป็นทางการ และการเยือนแบบเป็นทางการที่ต้องนัดล่วงหน้า มีการนำชมโดยคนในบ้านที่ได้รับการอบรมไว้ การชมแบบเป็นทางการนี้จะมีเพียงวันละสองคณะเท่านั้น

บ้านดำ ยังเป็นสถานที่รับแขกบ้านแขกเมือง เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทั้งของไทยและของต่างประเทศมาแล้ว นอกเหนือจากนั้นยังเป็นพื้นที่การฝึกอบรมศิลปะให้แก่ศิลปินและนักเรียนหลากหลายระดับตามแต่โอกาส และกลายเป็นสถาบันทางศิลปกรรมที่สร้างและผลิต "สล่า" ให้กับสังคม ผ่านกระบวนการสร้างบ้านดำในขณะนี้ ปัจจุบันขณะของบ้านดำจึงเป็นประเด็นการใช้สอยและประโยชน์ของบ้านดำกับสังคม....

ข้อความหนึ่งจากหัวข้อ "๕.๓ ข้อค้นพบในการศึกษา" ระบุว่า..

บ้านดำจึงเป็นภาชนะห่อหุ้มวิญญาณของถวัลย์ที่มีสามขั้นตอน กล่าวคือ อดีตนั้นเปรียบเสมือนเทคนิคการผลิตที่ผสมผสานหยิบยืม แต่ก็ผนวกไปด้วยรสนิยมที่เลือกสรรแล้ว เปรียบได้ดั่งอดีตที่มีพลานุภาพของถวัลย์ เมื่อกลายเป็นภาชนะแล้วเป็นปัจจุบันขณะที่มีประโยชน์ต่อสังคม แต่เมื่อสิ้นกระแสการใช้แล้ว ก็กลายเป็นศิลปวัตถุที่ทรงคุณค่าในบ้านดำ ที่ได้กลายเป็นสถาบันทางสังคมใหม่ ในรัฐสมัยใหม่พึงมี ในที่สุดความเป็นถวัลย์ ดัชนี ก็จะเป็นอมตะตลอดไป








ภาพและข้อมูลจาก
คอลัมน์ "เรื่องจากปก"นสพ.กรุงเทพธุรกิจวันอาทิตย์ ๗ ก.ย. ๒๕๕๗
bangkokbiznews.com
เฟซบุคถวัลย์ ดัชนี








Thaipost


Thaipost10


Thaipost9


Thaipost8


Thaipost4B


Thaipost7


ภาพและข้อมูลจากนสพ.โพสต์ทูเดย์ ๗ ก.ย. ๒๕๕๗


บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะ


บีจีจากคุณเนยสีฟ้า กรอบจากคุณ somjaidean100

Free TextEditor





Create Date : 09 กันยายน 2557
Last Update : 5 กันยายน 2566 20:56:36 น. 0 comments
Counter : 8140 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.