: กะว่าก๋าแนะนำหนังสือ - ปรัชญาแห่งนิกายเซน โพธิสัตวธรรม :
: ปรัชญาแห่งนิกายเซน โพธิสัตวธรรม :เขียนและแปล : พจนา จันทรสันติ

หนังสือกระดาษเหลืองกรอบเกรียมเล่มเล็ก ความหนาประมาณ 250 หน้า ฉบับพิมพ์ครั้งแรกในปี 2521 ผมนั่งอ่านหนังสือเล่มนี้ตอน 9 โมงเช้า และอ่านจบบ่ายสองโมงตรง“ปรัชญาแห่งนิกายเซน โพธิสัตวธรรม” คล้ายการนำงานเขียนงานแปลของตนเอง กลับมาสอบทานความคิดอีกครั้ง ผ่านมุมมองของปรัชญาเซน ปรัชญาเต๋า และชีวประวัติของนักปราชญ์ยุคโบราณ เช่น ท่านเหลาจื่อ , จวงจื่อ , ฮั่นซาน , เรียวกัน , สิทธารถะ ฯลฯ
มีหลายประโยคภายในเล่มที่โดนใจ มีหลายย่อหน้าซึ่งผมถูกใจและเห็นด้วย คงไม่อาจยกมาให้อ่านกันได้ทั้งหมด แต่ถ้าพอจะจับใจความแห่งธรรมที่ได้รับ ก็น่าจะพอสรุปความได้ดังนี้
-----------------------------------------------
คำถามที่ว่า “เซนคืออะไร ?” ไม่ควรจะมีคำตอบ เพราะคำถามเป็นเพียงคำถาม คำตอบเป็นเพียงคำตอบ คำตอบของอาจารย์เซนเป็น ‘สัจจะ’ ที่มีเพียงอาจารย์เท่านั้นเป็นผู้มองเห็น หาใช่สิ่งที่ศิษย์จะเป็นผู้มองเห็นด้วยประสบการณ์เดียวกันได้ เช่นเดียวกับ “ความหมายของชีวิต” ซึ่งคำตอบที่แท้จริงมิได้อยู่ภายนอกตัว ไม่ได้อยู่กับผู้รู้ ครูบาอาจารย์ มิได้อยู่ในกองตำราคัมภีร์โบราณจำนวนมาก แต่เป็นคำตอบที่เราต้องเป็นผู้ตอบด้วยตัวเราเอง ด้วยความเข้าใจทั้งหมดที่เรามี
-----------------------------------------------
มองดูเปลวเทียนนั่นสิ เปลวไฟที่ลุกวับแวมอยู่บนแท่งเทียนไข ตราบใดที่มันยังลุกไปโดยไม่มีคำถาม มันยังคงความเป็น ‘ไฟที่แท้จริง’ เอาไว้ได้ แต่เมื่อใดที่ไฟเริ่มตั้งคำถามว่า
“ฉันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ? ฉันจะไปสู่หนไหน ? ทำไมฉันต้องลุกไหม้อยู่เช่นนี้ ?”
เมื่อไฟเริ่มถามตนเอง มันจะไม่เป็นไฟอีกต่อไป มันจะหยุดลุก หยุดเผาไม้ มันจะหยุดนิ่ง และดับไป
-----------------------------------------------
อุดมคติของการดำรงชีวิต คือ การบินไปอย่างนก และว่ายไปอย่างปลา ชีวิตเป็นเรื่องง่ายและสามัญธรรมดาอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ บางครั้งเป็นเพราะเราฉลาดเกินไป รู้มากเกินไป มีมากเกินไป จนทำให้เราพลาดสัจจะชีวิตไปโดยไม่รู้ตัว เราพากันแสวงหาสัจจะจากนอกตัว ทั้ง ๆ ที่มันอยู่ในตัวเรา
-----------------------------------------------
ในการศึกษาธรรมะ การถกเถียงกันด้วยพระสูตรและพระศาสตร์ หาใช่ความจำเป็นไม่ คนฉลาดอาจไม่ใช่คนผู้ค้นพบ “คำตอบ” เกี่ยวกับการเกิดและการตายพบ เพราะ “สัจจะ” ที่เราต้องการพบ มันอยู่ในการเดิน การกิน การนั่ง การนอน การยืน อยู่ในขณะที่เรากำลังสนทนา อยู่ในขณะที่เรากำลังเงียบ อยู่ในทุกภารกิจประจำวัน
-----------------------------------------------
การเข้าถึงธรรมนั้น ดำเนินไปตามวิถีทางของธรรมชาติ มิใช่เกิดจากการศึกษาพระสูตรคัมภีร์ การคัดลอกจดจำคำสอนจากตำราต่าง ๆ มิใช่อยู่ที่การนั่งสมาธิอย่างยาวนาน หรือสวดมนต์ทั้งวันทั้งคืน การถกเถียงกันในเรื่องปรัชญา ศาสนา นิพพานหรืออนัตตาว่าเป็นอย่างไร เป็นสิ่งไร้ประโยชน์ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างสามารถนำไปสู่การเข้าใจธรรม ทุกขณะจิตคือพุทธจริยา หนทางไปสู่ธรรม มิได้มีทางเดียว หนทางสู่การรู้แจ้ง มิได้มีรูปแบบแน่นอนตายตัว “สัจธรรม” มิได้แยกออกมาจาก “วิถีชีวิตประจำวัน” “ธรรมะ” ซ่อนอยู่ในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นใบไม้ ดอกไม้ พระจันทร์ สายลม ฯลฯ “ธรรมะ” ซ่อนอยู่ในทุกกิจกรรมที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน ทำครัว ทำสวน กวาดบ้านหรือดื่มชา ฯลฯ
-----------------------------------------------
อย่าถามเลยว่าสัจธรรมคืออะไร ? หรือ การตรัสรู้คืออะไร ? แต่จงมองดูด้วยตาตนเอง เพราะเพียงแต่ได้ “เห็น” เพียงครั้งเดียว การเห็นนั้นจะก่อเกิด “ปัญญา” และ “ญาณทัศนะ” อันใหญ่หลวง การ “เห็น” นั้นจะเปลี่ยนแปลงชีวิตไปโดยสิ้นเชิง ก่อเกิดความมีชีวิตชีวา เต็มไปด้วยพลังและความสร้างสรรค์ จะเปลี่ยนชีวิตเดิมให้กลายเป็น “ชีวิตที่มีคุณค่าและเปี่ยมความหมาย”
-----------------------------------------------
ในหลายครั้งเรามักสงสัยในวิธีการสอนและคำพูดของอาจารย์เซนยุคโบราณ ด้วยเหตุที่คำสอนนั้นมักดูไม่เป็นเหตุเป็นผล การกระทำที่ปฏิบัติต่อศิษย์ก็มักคาดไม่ถึง และไม่มีคำอธิบายใดใดตามมา แต่สิ่งเหล่านั้นคือ “อุบาย” ที่จะช่วยปลดปล่อยลูกศิษย์ออกจากความยึดมั่นถือมั่น ในคำตอบที่ตายตัวและแห้งแล้ง อาจารย์เซนได้ใช้ “ความไร้เหตุผล” เข้าทำลาย “เหตุผลเดิม” ที่ศิษย์มีอยู่ในความคิด ใช้ “ความไร้สาระ” ทำลาย “สาระเดิม” ที่มีอยู่ในความคิดของศิษย์ เพื่อให้ศิษย์เข้าไปสู่สิ่งที่อยู่เหนือกว่า “คำพูด” หรือ “กริยาท่าทาง” เหล่านั้น เมื่อ “อวิชชา” ในตัวศิษย์ถูกทำลายไป “วิชชา” ก็ปรากฏขึ้น ความรู้ที่แท้จริงก็อุบัติขึ้นในวินาทีนั้นนั่นเอง
-----------------------------------------------
“ชีวิตมนุษย์มีขอบเขตจำกัด แต่ความรู้ที่มีอยู่ทั้งหมดนั้นหาขอบเขตมิได้ การพยายามนำสิ่งที่มีขอบเขตไปแสวงหาสิ่งที่ไร้ขอบเขต ย่อมนำหายนะมาสู่ตน และแม้การนึกว่าตนเองเป็นผู้รู้นั้น ก็รังแต่จะนำความพินาศมาสู่ตนด้วย และสำหรับผู้ที่รู้จักหยุดในสิ่งซึ่งตนไม่รู้ ก็นับได้ว่าเป็นผู้เข้าถึงขอบเขตอันไร้ขอบเขตของความรอบรู้แล้ว”
: จางจื้อ
-----------------------------------------------
มหาปณิธาน 4 ประการของพระโพธิสัตว์
1. สรรพสัตว์มีมากมายเพียงใด เราปฏิญาณจะช่วยให้รอดสิ้น 2. กิเลสตัณหาดั่งน้ำพุมิรู้เหือดแห้ง เราปฏิญาณจะขัดให้สิ้น 3. ข้อธรรมะล้ำลึกมีเหลือคณานับ เราปฏิญาณจะศึกษาให้สิ้น 4. สัจธรรมแห่งพุทธะยากยิ่งลึกซึ้ง เราปฏิญาณจะเข้าให้ถึง
-----------------------------------------------
การหาเหตุผลมากมาย มาสนับสนุนความเชื่อของตนนั้น มิได้หมายความว่าสิ่งนั้นจะเป็นจริงขึ้นมาได้ เหตุผลก็เป็นเพียงเหตุผล เหตุผลจะกลายมาเป็นตัวความจริงได้อย่างไร
-----------------------------------------------
ณ ที่ซึ่งไม่มีคำว่า “เรา” และ “เขา” อยู่ ไม่มีตัวพี่และก็ตัวเธออยู่ด้วย ณ จุดนี้แหละที่ความรักและความจริงใจจะไหลหลั่งออกมา เมื่อกระแสธารแห่งความรัก โถมเข้าทำลายปราการแห่งความเกลียดชังลง ความงามในรูปแบบต่าง ๆ ย่อมปรากฏออกสู่สายตามนุษย์ เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ว่า สิ่งเหล่านี้มีจริงอยู่ในโลก
-----------------------------------------------
การตายจาก มิใช่สิ่งที่น่าเศร้าโศก การมีชีวิตอยู่ ก็มิใช่สิ่งที่น่ายินดี เพราะแท้ที่จริงในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราก็ได้ตายไปทุกขณะ ในชีวิตมีความตาย และในความตายมีเชื้อพันธุ์แห่งชีวิต ที่ซุกซ่อนรอเวลาที่จะงอกอยู่
-----------------------------------------------
เราต้องรับถ้วยแห่งความทุกข์ยากมาและดื่มกินเข้าไป หาไม่ ; ก็จะไม่มีวันเข้าใจถึงชีวิต หากคนมิได้ผ่านความทุกข์ทรมานที่ยิ่งใหญ่มาแล้ว เขาจะเป็นคนเหนือคนได้อย่างไร
-----------------------------------------------
เมื่อทั้งหมดแฝงเร้นอยู่ในหนึ่ง หนึ่งย่อมซึมซาบเข้าสู่ทั้งหมด เมื่อหนึ่งแฝงเร้นอยู่ในทั้งหมด ทั้งหมดย่อมซึมซาบเข้าสู่หนึ่ง เมื่อหนึ่งแฝงเร้นอยู่ในหนึ่ง หนึ่งย่อมซึมซาบเข้าสู่หนึ่ง เมื่อทั้งหมดแฝงเร้นอยู่ในทั้งหมด ทั้งหมดย่อมซึมซาบเข้าสู่ทั้งหมด
-----------------------------------------------
นักวิทยาศาสตร์เคาะประตู แต่ประตูของธรรมชาติอันลึกลับก็ไม่ยอมเปิดออก ในขณะที่เขาเกือบจะค้นพบความลึกลับแห่งชีวิตอยู่แล้ว แต่ทันใดนั้น ‘ชีวิต’ ก็ปิดบังตัวเองไว้อย่างสิ้นเชิง
: Lin Yu Tang












Create Date : 08 พฤศจิกายน 2567 |
Last Update : 8 พฤศจิกายน 2567 5:13:26 น. |
|
14 comments
|
Counter : 651 Pageviews. |
|
 |
|
|
ผู้โหวตบล็อกนี้... |
คุณหอมกร, คุณmultiple, คุณThe Kop Civil, คุณ**mp5**, คุณจันทราน็อคเทิร์น, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณนายแว่นขยันเที่ยว, คุณmcayenne94, คุณปรศุราม, คุณอาจารย์สุวิมล, คุณสองแผ่นดิน, คุณnewyorknurse |
โดย: หอมกร วันที่: 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา:6:48:24 น. |
|
|
|
โดย: **mp5** วันที่: 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา:13:35:21 น. |
|
|
|
โดย: ปัญญา Dh วันที่: 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา:15:24:54 น. |
|
|
|
โดย: mcayenne94 วันที่: 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา:17:51:15 น. |
|
|
|
โดย: multiple วันที่: 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา:18:36:34 น. |
|
|
|
โดย: In the past วันที่: 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา:21:26:58 น. |
|
|
|
โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา:21:49:11 น. |
|
|
|
โดย: สองแผ่นดิน วันที่: 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา:22:48:23 น. |
|
|
|
โดย: กะว่าก๋า วันที่: 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา:23:38:15 น. |
|
|
|
| |
เป็นเรื่องของนักคิดคุณก๋า
ป.ล. คุณธัญท่าจะป่วยหนักแน่ๆ