Group Blog
All Blog
### หัวใจของการภาวนาอยู่ที่การเจริญสติ ###















“หัวใจของการภาวนาอยู่ที่การเจริญสติ”

การเจริญสตินี้ก็เรียกว่าเป็นการภาวนา

 เพราะหัวใจของการภาวนาก็อยู่ที่การเจริญสตินั่นเอง

ไม่ใช่อยู่ที่การเดินจงกรม นั่งสมาธิ

การเดินจงกรม นั่งสมาธินี้เป็นกิริยา

ของการเจริญบำเพ็ญจิตตภาวนา

แต่ถ้าเดินจงกรมนั่งสมาธิโดยไม่มีสตินี้

ก็ไม่ถือว่าเป็นการภาวนา

 ถ้าเดินไปแล้วปล่อยให้ใจลอย ไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ

 เดินไปเท่าไร นั่งไปเท่าไรก็จะไม่มีวันสงบได้

ดังนั้นการภาวนาที่แท้จริง จึงอยู่ที่การเจริญสติเป็นขั้นแรก

 ขั้นแรกของการภาวนาคือการเจริญสติ

ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ไม่ว่ากำลังจะทำอะไร

 ถ้ามีสติอยู่กับงานนั้นหรือมีสติอยู่กับคำบริกรรมพุทโธๆ

เรียกว่าเป็นกำลังภาวนาอยู่ ถึงแม้ว่ากำลังจะอาบน้ำ

 กำลังซักผ้า กำลังรับประทานอาหาร

แต่ถ้ามีสติควบคุมใจไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ

 ให้อยู่กับกิจกรรมที่กำลังทำอยู่หรือให้อยู่กับคำบริรกรรมพุทโธๆ

 หรือพิจารณาไตรลักษณ์อย่างนี้ เรียกว่าเป็นการภาวนา

ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ไม่ใช่ว่าจะต้องอยู่ในท่านั่งสมาธิ

 หรือท่าเดินจงกรมเท่านั้นถึงจะเรียกว่าเป็นการภาวนา

 ถ้านั่งสมาธิหรือเดินจงกรมโดยจิตที่ไม่มีสติ

 ไม่มีปัญญาอย่างนั้นก็เป็นเพียงแต่กิริยา

ไม่ได้เป็นการภาวนาที่แท้จริง

เพราะใจที่เป็นผู้ภาวนานั้นไม่ได้ภาวนา

ใจมัวแต่ไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้คนนั้นคนนี้สิ่งนั้นสิ่งนี้

 แล้วก็เกิดอารมณ์วุ่นวายสับสนขึ้นมา

 อย่างนี้เรียกว่าไม่ได้ภาวนาแล้ว

ผู้ปฏิบัติจึงต้องเข้าใจหลักของการภาวนา

 ว่าการภาวนานี้เป็นการควบคุมจิตใจให้ระงับ

จากความคิดปรุงเเต่งต่างๆ เพื่อจะได้ระงับความโลภ

 ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆ

เพราะความโลภ ความอยากต่างๆนี้

ต้องใช้ความคิดปรุงเเต่งเป็นเครื่องมือ

ถ้ามีความคิดปรุงเเต่งแล้วความโลภ ความโกรธ

ความหลงมักจะตามมาเสมอ

ดังนั้นถ้าอยากจะหยุดความโลภ ความโกรธ

 ความหลงไว้ชั่วคราวก็ต้องหยุดด้วยความคิดปรุงเเต่ง

 ด้วยการเจริญสติอยู่เรื่อยๆ

คอยให้ใจนี้จดจ่ออยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

 เช่นถ้ากำลังทำภารกิจอะไรต่างๆ

ก็ให้จดจ่ออยู่กับภารกิจการงานนั้น

 หรือถ้าไม่สามารถที่จะจดจ่ออยู่ได้ก็ใช้คำบริกรรมแทนก็ได้

บริกรรมพุทโธๆ ให้ใจจดจ่ออยู่กับคำบริกรรมพุทโธๆไป

ความคิดปรุงเเต่งต่างๆก็จะไม่สามารถทำงานได้

เมื่อความคิดปรุงเเต่งไม่ทำงาน ความโลภ ความโกรธ

 ความหลงก็จะไม่สามารถทำงานได้ ใจก็จะเข้าสู่ความสงบได้

นี่คือขั้นต้นของการบำเพ็ญจิตตภาวนาก็คือการเจริญสติ

สตินี้เป็นธรรมที่สำคัญมาก สำคัญที่สุดในการบำเพ็ญภาวนา

และต้องมีความเพียรเป็นผู้สนับสนุน

 ถ้าไม่มีความเพียรก็จะไม่สามารถเจริญสติได้

 เพียรอะไรก็เพียรสร้างสตินั่นเอง

 หมั่นสร้างสติหมั่นบริกรรมพุทโธอยู่เรื่อยๆ

หมั่นจดจ่อดูการเคลื่อนไหวการกระทำของร่างกายอยู่เรื่อยๆ

ถ้าร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหวไม่ได้กระทำอะไร

ก็ให้จดจ่ออยู่ดูกับลมหายใจเข้า-ออก

สำหรับผู้ที่ใช้การดูร่างกายเป็นการเจริญสติ เวลาที่นั่งอยู่เฉยๆ

เช่นเวลานั่งสมาธินี้ก็ใช้ลมหายใจเข้า-ออก เป็นที่ผูกใจ

เป็นที่ตั้งของสติ ให้เฝ้าดูลมเข้า-ออก

โดยที่ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้

ถ้าไม่สามารถดูลมหายใจเข้า-ออกได้

ใจยังไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ ก็ให้ใช้คำบริกรรมแทน

หรือให้ใช้การสวดพระสูตร หรือสวดมนต์แทนไปก่อน

แสดงว่าสติตอนนั้นไม่มีกำลังพอ

ที่จะดึงให้ใจเฝ้าดูลมหายใจเข้า-ออกได้

 ก็ต้องใช้การสร้างสติขึ้นมาด้วยการบริกรรมพุทโธๆ

หรือด้วยการสวดมนต์หรือด้วยการสวดพระสูตร

ท่องพระสูตรใดพระสูตรหนึ่ง

แล้วใจก็จะกลับเข้ามาสู่กับเรื่องที่เราต้องการให้อยู่ได้

ให้มาจดจ่อดูลมหายใจเข้า-ออกได้

หรือถ้าไม่สามารถสวดได้ก็ใช้การฟังเทศน์ฟังธรรมไปก่อนก็ได้

การฟังเทศน์ฟังธรรมก็เป็นการเจริญสติอีกแบบหนึ่ง

ฟังเทศน์ฟังธรรมไปแล้วใจถ้าจดจ่ออยู่กับการฟังธรรม

ก็จะได้สติกลับคืนมา เมื่อมีสติแล้ว

ก็สามารถที่จะกลับมาดูลมหายใจเข้า-ออกได้

หรือบริกรรมพุทโธๆได้ นี่คืออุบายขั้นต่างๆของการเจริญสติ

ผู้ปฏิบัติจะต้องสังเกตดูว่าตอนนี้ใจเป็นอย่างไร

ฟุ้งมากหรือฟุ้งน้อย สติมากหรือสติน้อย

ถ้าสติน้อยให้เพ่งดูลมหายใจไม่ได้

ให้บริกรรมพุทโธไม่ได้ก็อาจจะต้อง ฟังเทศน์ฟังธรรมไปก่อน

 หรือสวดมนต์ไปก่อนแล้วพอสติกลับคืนมาใจสงบลง

ความคิดปรุงเเต่ง น้อยลงไปหรือหายไป

ก็ค่อยกลับมาดูลมหายใจเข้า-ออกต่อไป

 หรือบริกรรมพุทโธๆต่อไป ทำอย่างนี้ไปแล้ว

เดี๋ยวใจจะรวมเข้าสู่ความสงบได้

พอเข้าสู่ความสงบแล้วทุกอย่างก็จะดับไปหมด

รูปเสียงกลิ่นรสก็จะหายไป

 เวทนาความรู้สึกรับรู้ร่างกายต่างๆก็จะหายไป

เหลือแต่สักแต่ว่ารู้เรียกว่า “เอกัคคตารมณ์”

อยู่กับความว่างมีอุเบกขาเป็นที่ตั้งของใจ

อุเบกขาก็คือความปราศจากอคติทั้ง ๔

คือความรัก ความชัง ความกลัว ความหลง

 ตอนนั้นจะไม่มีอยู่ภายในใจของจิตที่เข้าสู่ความสงบ

ที่เรียกว่า อัปปนาสมาธิ อันนี้เป็นสมาธิที่เรียกว่า “สัมมาสมาธิ”

 เพราะจะเป็นสมาธิที่จะสนับสนุนในการเจริญปัญญา

 เพราะจะมีอุเบกขาเป็นเครื่องมือไว้ใช้ต่อสู้กับความรัก ความชัง

 ความกลัว ความหลง ที่จะเกิดขึ้น

หลังจากที่จิตออกจากสมาธิมาแล้ว

มาคิดปรุงเเต่งถึงเรื่องราวต่างๆ

หรือมารับรู้รูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ

ก็จะเกิดความรัก ความชัง ความกลัว ความหลง

แต่ใจที่มีสมาธิที่มีอุเบกขาติดออกมา

จะมีกำลังที่จะต้านอคติทั้ง ๔ นี้ได้

ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถที่จะทำลายมันได้ก็พอที่จะสู้กับมันได้

ไม่ถึงกลับที่จะทำให้เสียหลักลงไปทันที

พอที่จะมีเวลาให้ใช้ปัญญาเข้ามาช่วยในการกำจัดอคติทั้ง ๔ ได้.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

............................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๙

“คำสอนสุดท้ายของพระพุทธเจ้า”











ขอบคุณที่มา fb. พระอาจาารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 17 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 17 กุมภาพันธ์ 2559 10:34:37 น.
Counter : 1283 Pageviews.

0 comment
### วิถีชีวิตของผู้ที่เข้าสู่ขั้นที่ 2 ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ###















“วิถีชีวิตของผู้ที่เข้าสู่ขั้นที่ ๒

ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า”

การภาวนานี้จำเป็นที่จะต้องรักษาศีล ๘ กัน

 รักษาศีล ๕ นี้ยังไม่พอเพียง ยังไม่สามารถที่จะป้องกัน

 ไม่ให้กิเลสตัณหานั้นเล็ดลอดออกไปทำเรื่องทำราว

ไปก่อภพก่อชาติได้ ต้องอาศัยศีล ๘ เป็นรั้วกั้นไม่ให้ออกไป

 ทำกิจกรรมต่างๆ ที่จะต่อภพต่อชาติต่อการเวียนว่ายตายเกิด

แล้วก็จะได้ง่ายต่อการที่จะฆ่ากิเลสตัณหา

ด้วยการดึงกิเลสตัณหาให้เข้าสู่ใจ

เพื่อที่จะได้ใช้สติปัญญาทำลายต่อไป

ผู้ที่เข้าสู่ขั้นที่ ๒ แล้วก็จะไม่ต้องทำบุญ ทำทาน

 ไม่ต้องรักษาศีล ๕ ให้เปลี่ยนเป็นรักษาศีล ๘ ไป

 ส่วนบุญที่จากการทำทานก็ให้เอาบุญ ที่เกิดจากการภาวนาแทน

 เพราะบุญของการภาวนานี้จะเป็นบุญที่สูงกว่าที่ดีกว่า

บุญที่ได้จากการทำทาน ถ้าจะไปทำเอาบุญที่เกิดจากการทำทาน

 มันก็จะไปทำลายบุญที่จะได้จากการภาวนา

เพราะจะไม่สามารถภาวนาได้นั่นเอง

เพราะเวลาทำบุญทำทานก็มักจะต้องออกมาข้างนอก

 ออกไปตามสถานที่ต่างๆ มันก็จะขัดกับการภาวนา

ที่ต้องการให้อยู่ในสถานที่สงบ สงัด วิเวก ไม่ให้ไปไหน

ไม่ให้ไปเห็นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆ

ให้อยู่ในที่ไม่มีรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะยั่วยวนกวนใจ

เพราะการไปพบไปเห็นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะนี้

จะทำให้จิตใจฟุ้งซ่านขึ้นมาได้ จะทำให้ยากต่อการทำใจให้สงบ

เพื่อที่จะได้เป็นเครื่องมือใช้ในการทำลายกิเลสตัณหาต่างๆ

ที่มีอยู่ภายในใจ ให้หมดไปได้

ดังนั้นถ้าปฏิบัติได้เข้าสู่ขั้นที่ ๒ แล้วคือเข้าสู่ขั้นรักศีล ๘

 และภาวนาแล้วก็ไม่ควรที่จะไปกังวล กับเรื่องการทำบุญทำทาน

 ถ้าจะทำถ้ายังมีทรัพย์เหลืออยู่ก็ทำแบบพรวดเดียว

ให้มันหมดปัญหาไปเลย

เพื่อที่มันจะได้ไม่ต้องมาคอยดึงใจของเรา

ให้ออกมายุ่งกับเรื่องของการทำบุญทำทาน

 อย่างพระเณรที่ไปบวชอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด

 หลวงตานี้ท่านจะไม่ให้พระเณรออกจากนอกวัดไป

 นอกจากเวลาไปบิณฑบาตเท่านั้น

ภารกิจต่างๆ เช่นกิจนิมนต์ต่างๆ นี้ไม่ให้รับ

 เพราะการรับจะทำให้ออกไปสัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ชนิดต่างๆที่เห็นแล้วจะเกิดความกำหนัดยินดี

 เกิดอารมณ์ต่างๆขึ้นมา พอเวลากลับมาวัดแล้วใจไม่สงบ

เหมือนตอนก่อนที่จะออกไปนอกวัด

กว่าจะทำใจให้สงบได้ก็เสียเวลาไปเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันได้

และอาจจะเป็นเหตุที่ทำให้ไม่สามารถ อยู่ในผ้าเหลืองต่อไปก็ได้

หลวงตาเห็นโทษของการบำเพ็ญประโยชน์ของพระ

ในการที่ไปรับกิจนิมนต์ต่างๆ ซึ่งยังไม่ใช่เป็นเวลาอันสมควร

ของพระผู้บวชใหม่ ผู้ที่ยังต้องบำเพ็ญต้องปฏิบัติจิตตภาวนา

ไม่ควรที่จะไปรับกิจนิมนต์ต่างๆ เพราะเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ

 ถึงแม้ว่าจะเป็นประโยชน์ ให้กับศรัทธาญาติโยมได้ทำบุญก็ตาม

 แต่ประโยชน์ที่ให้กับญาติโยมนี้กลับมาเป็นโทษกับพระเอง

 ถ้าไม่มีความสำรวม ถ้าไม่ควบคุมใจไม่ควบคุมตาหูจมูกลิ้นกาย

ให้ไปเห็นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆ

จะควบคุมอย่างไรมันก็ควบคุมไม่อยู่

เพราะถ้ามันออกไปแล้วมันก็ต้องได้สัมผัส

หลวงตาท่านจึงไม่ให้ออกไป ไม่ให้รับกิจนิมนต์

นอกจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะไม่ให้ออกไปรับแล้ว

 ยังห้ามไม่ให้รูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ เข้ามาในวัดด้วย

เช่นห้ามไม่ให้มีโทรศัพท์ ไม่ให้มีทีวี ไม่ให้มีวิทยุ

 ไม่ให้มีหนังสือพิมพ์

 เพราะสิ่งเหล่านี้ก็เป็นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ถ้าดูหนังสือพิมพ์เห็นภาพเห็นอะไรต่างๆ

มันก็ทำให้เกิดอารมณ์ต่างๆขึ้นมาได้

ทำให้เสียเวลาในการภาวนาในขณะที่ดูหรือฟังสิ่งเหล่านี้

แล้วก็ทำให้จิตใจนั้น คึกคนองขึ้นมาเกิดความกำหนัดยินดี

 เกิดความรัก ความใคร่ ความชอบขึ้นมา

 เกิดความอยากเกิดกิเลสตัณหาขึ้นมา

แทนที่จะช่วยดับกิเลสตัณหากลับทำให้เกิดกิเลสตัณหา

 ถ้าจะดูต้องดูสิ่งที่ทำให้ดับกิเลสตัณหา เช่นให้ดูภาพอสุภะต่างๆ

ดูคนตาย ดูอวัยวะน้อยใหญ่ที่มีอยู่ในร่างกาย

ซึ่งตามธรรมดาหนังสือพิมพ์ต่างๆนิตยสารต่างๆ

เขาจะไม่มีภาพเหล่านี้ให้ดู เขาจะเฟ้นหาภาพสวยๆ งามๆ

ภาพที่ดูแล้วทำให้เกิดกิเลสตัณหาความอยากได้ขึ้นมา

การดูหนังสือพิมพ์และนิตยสารทางโลกจึงเป็นโทษต่อผู้บำเพ็ญ

ต่อผู้ปฏิบัติเช่นเดียวกับการฟังกับการรับรู้ เรื่องราวต่างๆ

 รับรู้แล้วก็จะทำให้ใจอดคิดปรุงเเต่งไปไม่ได้

 แทนที่จะทำให้ใจหยุดคิดปรุงเเต่ง

กลับไปทำให้มีความคิดปรุงเเต่งเพิ่มขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ

การภาวนาก็จะไม่เป็นผล จะล้มเหลว

นี่คือโทษของการที่ไปทำภารกิจที่ไม่ควรกระทำ

สำหรับผู้ที่อยู่ขั้นของการบำเพ็ญจิตตภาวนาและการรักษาศีล ๘

 ต้องตัดกิจกรรมของขั้นแรกไป ก็คือการออกไปทำบุญทำทาน

ตามสถานที่ต่างๆ ถึงแม้ว่าจะเป็นบุญ แต่มันเป็นบุญส่วนน้อย

เป็นบุญส่วนหยาบที่จะมาทำลายบุญส่วนมาก

และบุญที่ละเอียดคือ การบำเพ็ญจิตตภาวนาและการรักษาศีล ๘

นี่คือทางที่นำไปสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์ที่ผู้ปฏิบัติ

จะต้องรู้จักแยกแยะว่าเป็น ๒ ขั้นตอนด้วยกัน

ขั้นตอนแรกนี้ทำบุญ ทำทาน รักษาศีล ๕ นี้ไปได้

อยากจะไปทำบุญที่ไหนไปเลย อยากจะไปอินเดีย

ไปกราบสังเวยชนีสถาน ๔ ก็ไปเลย

อยากจะไปทอดผ้าป่าที่ต่างประเทศ

 อยากจะไปทอดกฐินที่ต่างจังหวัด

 อยากจะไปสร้างโบสถ์สร้างเจดีย์ที่นั่นที่นี่ไปได้เลย

ทำได้เต็มที่เลยทำให้มันหมดไปเลย จะได้ไม่มีอะไรจะต้องทำอีก

 เมื่อไม่มีอะไรจะต้องทำแล้วจะได้มาทำกิจที่สำคัญกว่า ที่ดีกว่า

 ที่เป็นประโยชน์มากกว่า ก็คือการรักษาศีล ๘

 และการบำเพ็ญจิตตภาวนา ถ้าเข้าสู่ขั้นนี้แล้วก็ต้องหาที่สงบ

 ปักหลักไม่ไปไหนแล้ว ปักหลักอยู่ที่เดียว

อย่างพระบ้านตาดนี้ถ้าไปอยู่ ๕ ปีแรกนี้ท่านไม่ให้ไปไหน

 ถ้าไปก็ไม่ต้องกลับ ถ้าอยากจะอยู่ก็ไม่ต้องไป

 อยู่มันทีเดียว ๕ ปีไปเลย จิตมันจะต้องมีหลักมีเกณฑ์

ไม่งั้นมันจะถูกกิเลสตัณหาต่างๆ หลอกล่ออยู่เรื่อยๆ

อยู่ตรงนี้ก็อยากจะไปตรงโน้น

พอไปตรงโน้นก็อยากจะกลับมาตรงนี้

มันก็กลิ้งไปกลิ้งมาเหมือนลูกฟุตบอล ถูกเตะไปเตะมาอยู่อย่างนั้น

 แล้วเมื่อไหร่มันจะสงบ มันจะสงบได้มันต้องอยู่ที่เดียว

หาที่ที่ดี สัปปายะ ที่สัปปายะคืออะไร ที่สงบ สงัด วิเวก

 ปราศจากเครื่องกวนใจต่างๆ เช่นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 บุคคลก็สัปปายะ บุคคลก็เป็นผู้ปฏิบัติเหมือนกันหมด

ไม่มาคอยมารบกวนกันด้วยการมาสนทนากัน

 มารบกวนกันให้ไปช่วยทำสิ่งนั้นทำสิ่งนี้

ผู้บำเพ็ญนี้จะไม่รบกวนใครเพราะการบำเพ็ญนี้ไม่ต้องอาศัยผู้อื่น

 มาช่วยทำด้วยตนเอง แต่ถ้าทำกิจอย่างอื่น

นอกเหนือจากการบำเพ็ญนี้บางทีจะต้องอาศัยผู้อื่นมาช่วย

 ก็จะไปรบกวนผู้ที่เขาภาวนาให้มาช่วยทำกิจ

ถ้ามีบุคคลอย่างนี้อยู่ก็ถือว่าบุคคลไม่สัปปายะ

 ไม่ควรจะไปคลุกคลีอยู่กับบุคคที่ไม่ภาวนา

ให้ไปอยู่กับบุคคลที่ชอบภาวนาที่ไม่ชอบยุ่งกับใคร

 ไม่ชอบสังสรร ไม่ชอบสังคมกัน

การภาวนานี้ไม่ใช่เป็นเรื่องงานสังคมนี้

งานสังคมนี้เป็นเรื่องของกิเลสตัณหา

งานตัดกิเลสตัณหานี้ เป็นงานที่ไม่ต้องสังคม

ไม่ต้องคลุกคลีกันให้ต่างคนต่างอยู่

เวลาที่จะต้องมาทำกิจร่วมกัน ก็ต่างคนต่างทำกันไม่ต้องคุยกัน

 ไม่ต้องมาสังสรรค์กัน พระปฏิบัตินี้เวลาท่านมาปฏิบัติกิจ

 เช่นปัดกวาด บิณฑบาต มาขบฉันที่ศาลานี้ ท่านจะไม่คุยกัน

 ถ้าจะพูดก็พูดแต่เรื่องจำเป็นที่จะต้องพูดเท่านั้น

นอกนั้นแล้วจะไม่พูดไม่คุยกัน ต่างคนต่างเจริญสติไป

ในขณะที่ทำภารกิจต่างๆ

การเจริญสตินี้ก็เรียกว่าเป็นการภาวนา

เพราะหัวใจของการภาวนาก็อยู่ที่การเจริญสตินั่นเอง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

................................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๙

“คำสอนสุดท้ายของพระพุทธเจ้า”









ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 16 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2559 12:14:55 น.
Counter : 1158 Pageviews.

2 comment
### วันสุดท้ายของหลวงปู่ดูลย์ ###














วันสุดท้ายของหลวงปู่ดูลย์


เรื่องเล่าเช้าวันพระ: 

เขียนเล่าเรื่อง พระไพศาล วิสาโล

.....................

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๔๓๑

ดังนั้นเมื่อถึงเดือนตุลาคม ๒๕๒๖ คณะศิษย์จึงจัดงานฉลอง

ในโอกาสที่ท่านมีอายุครบ ๘ รอบ หรือ ๙๖ ปีบริบูรณ์

 โดยกำหนดจัดงานวันที่ ๒๙ ตุลาคม

 หนึ่งวันก่อนเริ่มงานหลวงปู่มีอาการผิดปกติตั้งแต่เช้ามืด

 คือ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย กระสับกระส่าย

ตัวร้อนคล้ายจะเป็นไข้

 หลังจากหมอมาตรวจร่างกายแล้วถวายยาให้ฉัน

 ร่างกายของท่านก็ดูเป็นปกติแต่ยังเพลียอยู่

ตลอดทั้งวันท่านได้สนทนาธรรมกับลูกศิษย์ น้ำเสียงชัดเจน

 สติสัมปชัญญะสมบูรณ์

ตอบคำถามเกี่ยวกับปฏิบัติขั้นปรมัตถ์ได้เป็นอย่างดี

คณะศิษย์จึงคิดว่าหลวงปู่คงไม่เป็นอะไร

มีช่วงหนึ่งท่านปรารภว่า

 “ในทางโลกเขามีสิ่งที่มี แต่ในทางธรรมมีสิ่งที่ไม่มี”

 เมื่อมีผู้ถามถึงความหมาย ท่านก็ขยายความว่า

 “คนในโลกนี้ต้องมีสิ่งที่มี เพื่ออาศัยสิ่งนั้นเป็นอยู่

ส่วนผู้ปฏิบัติธรรมต้องปฏิบัติจนถึงสิ่งที่ไม่มี และอยู่กับสิ่งที่ไม่มี”

วันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันเริ่มงานฉลองอายุหลวงปู่

แต่เช้าท่านมีอาการกระสับกระส่ายเล็กน้อย

และปวดเท้าซ้ายขึ้นมาถึงบั้นเอว อีกทั้งมีไข้ขึ้นเล็กน้อย

ชีพจรมีอาการเต้นผิดปกติ อาการเปลี่ยนไปมาแบบทรง ๆ ทรุด ๆ

 เมื่อหมอมาตรวจอาการ พบว่าความดันอยู่ในระดับปกติ

ครั้นหมอจะถวายน้ำเกลือเข้าเส้น หลวงปู่ปฏิเสธ

 สั่งให้เอาสายออก ท่านบอกว่าขออยู่เฉย ๆ ดีกว่า

ครั้นพระครูนันทปัญญาภรณ์ผู้เป็นศิษย์กราบเรียนว่า

 จะพาหลวงปู่ไปรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพ ฯ

ท่านรีบตอบปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า “ถึงไปก็ไม่หาย”

ท่านพระครู ฯ เรียนว่า “ครั้งก่อนหลวงปู่หนักกว่านี้ยังหายได้

 ครั้งนี้ไม่หนักเหมือนแต่ก่อน ต้องหายแน่ ๆ”

ท่านตอบว่า “นั่นมันครั้งก่อน นี่ไม่ใช่ครั้งก่อน”

ตอนบ่ายหลวงปู่หลับตาอยู่ในอาการสงบ

 หายใจเป็นปกติแต่แผ่วเบามาก เมื่อลืมตาขึ้นมา

 มีอาการผ่องใสสดชื่นมาก ท่านพระครู ฯ เรียนถามท่านว่า

 “หลวงปู่หลับหรือเข้าสมาธิขอรับ” หลวงปู่ตอบว่า

 “พิจารณาลำดับฌานอยู่”

สี่โมงเย็นหลวงปู่ออกมานั่งรับแขกข้างนอก

หลังจากนั้นได้กลับเข้าห้อง นอนนิ่งเฉย

 ศิษย์สังเกตว่า ผิวของท่านเปล่งปลั่งผิดธรรมดา

ประมาณหนึ่งทุ่ม หลวงปู่ลืมตาขึ้น

จากนั้นได้สั่งให้พระที่คอยดูแลรับใช้ท่าน

ซึ่งมีประมาณ ๘-๙ รูปสวดมนต์ให้ท่านฟัง

 พระเหล่านั้นเริ่มฉงนสงสัย

 แต่ก็พร้อมใจกันสวดมนต์เจ็ดตำนานจนจบ

จากนั้นหลวงปู่บอกให้สวดเฉพาะโพชฌงคสูตรรวม ๓ จบ

แล้วสวดปฏิจจสมุปบาท อีก ๓ จบ

คืนนั้นบทสุดท้ายที่ท่านให้สวดคือ มหาสติปัฏฐานสูตร

เมื่อสวดจบหลวงปู่ยังอยู่ในอาการปกติ

มีช่วงหนึ่งท่านให้พาออกไปนอกกุฏิเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์

หลวงปู่เพ่งมองไปที่ศาลาหน้ากุฏิของท่าน

 ซึ่งมีพระเณรและฆราวาสจำนวนมาก ชุมนุมปฏิบัติธรรมอยู่

จากนั้นท่านได้กวาดสายตามองไปรอบ ๆ วัด

 ราวกับจะให้ศีลให้พรและอำลาลูกศิษย์ของท่าน

ตีสองของวันที่ ๓๐ ตุลาคม

หลวงปู่แสดงธรรมให้แก่ลูกศิษย์ในห้องเรื่อง

 “ลักษณาการแห่งพุทธปรินิพพาน”

โดยอยู่ในอิริยาบถนอนหงาย น้ำเสียงปกติธรรมดา

 ท่านได้บรรยายอย่างเป็นขั้นตอน สุดท้ายได้กล่าวว่า

“พระองค์ไม่ได้เข้าสู่พระนิพพานในฌานสมาบัติอะไรที่ไหนหรอก

 เมื่อพระองค์ออกจากจตตุตถฌานแล้ว

จิตขันธ์หรือนามขันธ์ก็ดับพร้อมไม่มีอะไรเหลือ

ไม่ถูกภาวะอื่นใดมาครอบงำอำพรางให้หลงใหลใด ๆ ทั้งสิ้น

 เป็นภาวะแห่งตนเองอย่างบริบูรณ์

ภาวะอันนั้นจะเรียกว่า “มหาสุญญตา” หรือ “จักรวาลเดิม”

หรือเรียกว่า “พระนิพพาน” อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้”

แล้วท่านก็สรุปว่า “เราปฏิบัติมาก็เพื่อถึงภาวะอันนี้”

หลังจากนั้นท่านก็ไม่พูดอะไรอีกเลย ประมาณตีสาม

หลวงปู่นอนสงบนิ่ง หายใจเบา ๆ คล้ายนอนหลับปกติ

 ศิษย์ทุกคนรู้ดีว่าท่านใกล้จะละสังขารแล้ว จึงไม่รบกวนท่าน

 เพื่อให้ท่านปล่อยวางสังขารตามสบาย

ไม่มีใครทราบว่าหลวงปู่ละสังขารตอนไหน

ผู้ที่พยาบาลด้านซ้ายเชื่อว่าหลวงปู่หยุดหายใจเวลา ๔.๑๓ น.

 ส่วนผู้ที่เฝ้าด้านขวา เข้าใจว่าลมหายใจของหลวงปู่

สิ้นสุดเวลา ๔.๔๓ น. นับเป็นการละสังขารที่นุ่มนวลแผ่วเบามาก

ราวกับใบไม้แห้งที่ค่อย ๆ ร่อนสู่พื้น

“นับเป็นลักษณาการมรณภาพที่ไม่ปรากฏร่องรอย

เป็นความงดงามบริสุทธิ์และสงบเย็นอย่างสิ้นเชิง”

พระครูนันปัญญาภรณ์ตั้งข้อสังเกต

หลายปีก่อนหน้านั้นหลวงปู่ได้เคยไปเยี่ยมศิษย์รูปหนึ่ง

ซึ่งใกล้จะมรณภาพ ท่านได้กล่าวแนะนำสั้น ๆ ว่า

 “การปฏิบัติทั้งหลายที่เราพยายามปฏิบัติมา

ก็เพื่อจะใช้ในเวลานี้เท่านั้น เมื่อถึงเวลาที่จะตาย

 ให้ทำจิตเป็นหนึ่ง แล้วหยุดเพ่ง ปล่อยวางทั้งหมด”

เมื่อถึงวาระของหลวงปู่ ท่านได้ปฏิบัติ

ให้เป็นแบบอย่างอันงดงามแก่ลูกศิษย์ ที่ยากจะลืมเลือนได้



................................







ขอบคุณที่มา fb. วัดป่าสุคะโตธรรมชาติที่พักใจ
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2559 10:45:43 น.
Counter : 793 Pageviews.

0 comment
### คำสอนสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ###















“คำสอนสุดท้ายของพระพุทธเจ้า”

ในวาระสุดท้ายของชีวิตของพระพุทธเจ้า

ก่อนที่พระองค์จะจากไป

ได้ทรงตรัสคำสั่งสอนครั้งสุดท้ายว่า

สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง

มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป

จงยังประโยชน์ของตนและของผู้อื่น

ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด

อันนี้เป็นคำเตือนคำสั่งสอนครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า

ให้พวกเราจงระลึกถึงความตายกันอยู่เรื่อยๆ

เพราะความตายนี้เป็นสิ่งที่จะทำให้เราเกิดความกระตือรือร้น

ความไม่ประมาทนอนใจในการที่จะทำประโยชน์ ของตน

ให้ถึงพร้อมแล้วถึงไปทำประโยชน์ให้ผู้อื่นต่อไป

ดังที่ได้เคยถามพระอานนท์ว่า

อานนท์ วันๆหนึ่ง เธอระลึกถึงความตายมากน้อยเพียงไร

พระอานนท์ก็ตอบไปว่า วันละ ๔ - ๕ ครั้งโดยประมาณ

 เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอนเป็นต้น

 พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า อานนท์เธอยังประมาทอยู่

 ถ้าเธอไม่ประมาท เธอต้องระลึกถึงความตาย

ทุกลมหายใจเข้า-ออก หายใจเข้า ถ้าไม่หายใจออกก็ตาย

 หายใจออก ถ้าไม่หายใจเข้าก็ตาย ให้ระลึกอยู่บ่อยๆ

 จะได้ไม่ถูกความหลงมาหลอกให้ไปทำประโยชน์

 ที่ไม่เป็นประโยชน์จริงแท้

ประโยชน์ที่จริงแท้ ประโยชน์ที่สำคัญที่สุด

ก็คือการปลดเปลื้องจิตใจให้หลุด ออกจากกองทุกข์

เเห่งการเวียนว่ายตายเกิด

อันนี้เป็นประโยชน์ที่แท้จริง

 เพราะผู้ที่ได้ทำได้รับประโยชน์อันนี้แล้วก็จะไม่ต้องมาทุกข์

 กับการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป จะได้พบกับบรมสุข

คือนิพพานัง ปรมัง สุขัง บรมสุขของพระนิพพาน

เป็นผล ที่เกิดจากการทำประโยชน์ของตน

ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท

 คือให้หมั่นทำกิจที่จะปลดเปลื้องจิตใจ ให้หลุดพ้น

จากการเวียนว่ายตายเกิดให้มุ่งมาที่ตนเองก่อน

ไม่ให้ไปกังวลกับการไปสั่งไปสอนผู้อื่น สอนตนเองก่อน

 สอนตนเองให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดให้ได้ก่อน

เมื่อทำได้แล้วค่อย ไปสอนคนอื่นต่อไป

อย่างที่พระพุทธเจ้าพระองค์เองได้ทรงปฏิบัติมา

ในระยะ ๖ ปีแรกของการบวช พระองค์ไม่ได้ไปสั่งสอนใคร

 พระองค์มุ่งไปสู่การศึกษาหาความรู้ที่จะนำเอามาใช้

ในการปลดปลื้องจิตใจ ให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

หลังจากที่ได้ทรงบรรลุถึงผลที่ต้องการแล้ว

คือได้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายแล้ว

พระองค์จึงได้มาทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นต่อไป

 เช่นหลังจากที่ได้ทรงตรัสรู้แล้ว

ระยะเวลาตั้งแต่นั้นจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตของพระองค์

เป็นเวลา ๔๕ ปีด้วยกัน พระองค์ไม่ได้ทำประโยชน์ของตนเลย

 แต่ทำประโยชน์ของผู้อื่นโดยถ่ายเดียว

 เช่นที่ได้แสดงไว้ในพุทธกิจ ๕ ประการด้วยกัน

คือกิจวัตรที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญทุกวัน

 มีอยู่ ๕ ข้อด้วยกัน

คือ ๑.ในยามบ่ายอบรมสั่งสอนฆราวาสญาติโยม

ในยามค่ำพระภิกษุสามเณร

ในยามดึกอบรมสั่งสอนเทวดาทั้งหลาย

 ในยามเช้าก่อนจะทรงออกบิณฑบาต

 ทรงเล็งฌานว่าสมควรที่จะไปโปรดสั่งสอนใคร

ในวันนั้นเป็นกรณีพิเศษ นี่คือกิจ ๔ ข้อของพระพุทธเจ้า

ที่ทรงทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นด้วยการสั่งสอนมนุษย์

และเทวดาทั้งหลาย

ส่วนกิจข้อที่ ๕ ก็ทรงออกบิณฑบาต เลี้ยงชีพ

 นี่เรียกว่าพุทธกิจ ๕ เป็นภารกิจที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญ

หลังจากที่ทรงได้ตรัสรู้ได้หลุดพ้น ออกจากกองทุกข์

แห่งการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว

พระองค์ไม่มีความจำเป็น

ที่จะต้องมาทำประโยชน์ ให้กับตนเองแล้ว

เพราะประโยชน์ของตนได้ทำพร้อมแล้ว

เต็มที่แล้วได้รับผลแล้ว

 ไม่มีกิจอื่นใด ที่จะต้องทำอีกต่อไป

กิจที่เกี่ยวกับการทำประโยชน์ให้กับตนเองนั้น

ผู้ใดได้ถึงพระนิพพานแล้ว ได้หลุดพ้นจากกองทุกข์

แห่งการเวียนว่ายตายเกิดแล้วนั้น

จะไม่มีอะไรที่จะต้องทำอีกต่อไป

 แต่ผู้ที่ยังติดอยู่ กับการเวียนว่ายตายเกิดนั้น

เป็นผู้ที่จำเป็นจะต้อง ได้รับคำสั่งคำสอน

ได้รับความรู้วิธีของการปฏิบัติ เพื่อให้ได้หลุดพ้น

ออกจากการเวียนว่ายตายเกิด

ก็จะไม่มีใครที่จะรู้วิธีนี้ได้ดีกว่าพระพุทธเจ้า

เพราะมีพระพุทธเจ้า เพียงพระองค์เดียว

ที่สามารถค้นหาวิธี ที่จะนำให้ผู้ปฏิบัติได้หลุดพ้น

ออกจากกองทุกข์ แห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้

 นอกจากนั้นแล้วไม่มีใครรู้เลย

แต่พอพระพุทธเจ้าทรงรู้แล้ว แล้วทรงนำเอามาเผยแผ่

สั่งสอนให้แก่ผู้อื่น พอผู้อื่นได้ยินได้ฟังได้รับรู้แล้ว

นำเอาไปปฏิบัติก็สามารถทำให้ตนเองได้หลุดพ้น

ออกจากกองทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้

 อย่างรวดเร็วและง่ายดาย

 เพราะมีผู้รู้แล้วมีผู้นำทางแล้ว ก่อนหน้านั้นไม่มีผู้รู้ทาง

ไม่มีผู้นำทาง ปฏิบัติไปอย่างไรก็ไม่สามารถที่จะหลุดพ้น

ออกจากกองทุกข์ แห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้

แต่พอมีพระพุทธเจ้ามาทรงตรัสรู้ทรงหลุดพ้น

ออกจากกองทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้แล้ว

แล้วนำความรู้อันนี้มาเผยแผ่สั่งสอนให้แก่ผู้ที่มีจิตศรัทธา

มีความเชื่อความเลื่อมใส มีความพร้อม ที่จะน้อมนำ

เอาไปปฏิบัติก็สามารถหลุดพ้นออกจากกองทุกข์ได้

อย่างง่ายดายและรวดเร็ว

นี่คือขั้นตอนของการดำเนินกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา

ขั้นตอนแรกท่านต้องการให้เราศึกษาให้ฟังเทศน์ฟังธรรม

เพื่อที่เราจะได้รู้วิธีการปฏิบัติเพื่อให้เราได้หลุดพ้น

ออกจากกองทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิด

เมื่อเรารู้แล้วเราก็นำเอาไปปฏิบัติ

 เมื่อปฏิบัติแล้วเราก็จะได้รับผล ของการปฏิบัติ

เราก็จะได้หลุดพ้นจากกองทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิด

 พอเราได้หลุดพ้นแล้วเราก็สามารถ ที่จะเอาเวลาที่เหลืออยู่

ของชีวิตนี้ไปบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นได้อย่างสบาย

 อย่างไม่มีปัญหาอะไร จะไม่มีปัญหาอะไรเข้ามา

ให้เกิดขึ้นกับตัวเราเลย เพราะปัญหาต่างๆที่เคยมีอยู่นั้น

ได้ถูกกำจัดไปหมดแล้ว และจะไม่เอาปัญหาอะไรเข้ามาใหม่อีก

 ก็จะมีแต่สั่งสอนช่วยเหลือผู้อื่นให้เห็นทาง

ให้รู้วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง แล้วนำเอาไปปฏิบัติ

เพื่อให้ได้หลุดพ้นจากกองทุกข์ต่อไป

นี่คือวิธีที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญมา

และเป็นวิธีที่จะทำให้พระพุทธศาสนานั้น

มีอายุสืบทอดต่อไปได้อยู่เรื่อยๆ

ตราบใดที่มีการศึกษา มีการปฏิบัติ มีการบรรลุธรรม

และมีการเผยแผ่ธรรมที่ได้บรรลุแล้ว

ตราบนั้นจะมีพระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกไปอยู่เรื่อยๆ

 ต่อถ้าไม่มีการศึกษา ไม่มีการปฏิบัติ ไม่มีการบรรลุธรรม

ก็จะไม่มีการเผยแผ่ธรรมที่ถูกต้อง

ธรรมที่เผยแผ่ที่เกิดจากการศึกษาเพียงอย่างเดียวนี้

 จะไม่ได้เป็นธรรมที่แท้จริง จะเป็นธรรมที่มีกิเลสตัณหาแฝงอยู่

เพราะในใจของผู้ที่ศึกษานั้น ยังไม่ได้จำกัดกิเลสตัณหา

ออกไปจากใจที่เป็นต้นเหตุของการเวียนว่ายตายเกิด

 ก็เวลาสั่งเวลาสอน ก็จะสอนไม่เหมือน

กับผู้ที่ได้กำจัดกิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจแล้ว

 การสอนก็จะไม่เป็นการสอนที่ไม่ถูกต้อง

 ผู้ฟังเมื่อน้อมนำเอาไปปฏิบัติ

ก็จะไม่ได้รับผลอย่างที่ควรที่จะได้รับ

 ดังนั้นการเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านี้

ต้องรอให้ผู้ที่จะเผยแผ่นั้นบรรลุผลก่อน ปฏิบัติก่อน ศึกษาก่อน

 เมื่อได้บรรลุผลแล้วถึงค่อยนำเอาไปเผยแผ่ให้แก่ผู้อื่นอีกต่อหนึ่ง

การเผยแผ่ด้วยจิตใจที่สะอาด บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสตัณหา

โมหะ อวิชชาจะเป็นการเผยแผ่ธรรมะที่บริสุทธิ์ ที่ถูกต้อง

ตามหลักความเป็นจริงทุกประการ

จะทำให้ผู้ฟังนี้ไม่ลังเลสงสัย

และจะทำให้ผู้ปฏิบัติตาม ได้รับผลอย่างแน่นอน

นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสั่งไว้ก่อนที่จะจากไป

ให้พวกเราที่ยังตกอยู่ในกองทุกข์ แห่งการเวียนว่ายตายเกิด

 อย่าหลงมัวเมาอยู่กับหาประโยชน์ชั่วคราว

คือประโยชน์ทางร่างกาย

 ประโยชน์จากการได้ลาภยศ สรรเสริญ

ประโยชน์จากการได้รับความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

เพราะเป็นความสุขเป็นประโยชน์ชั่วคราว

ชั่วขณะที่มีชีวิตอยู่เท่านั้นเพราะหลังจากที่ตายไปแล้ว

 ประโยชน์เหล่านี้จะไม่สามารถนำเอาไปติดตัวไปได้

 จะไปแบบตัวเปล่าๆ ไปกับต้นเหตุของการเวียนว่าย ตายเกิด

ก็คือความอยากต่างๆ ความโลภ ความโกรธ ความหลงต่างๆ

 ที่ยังไม่ได้รับการกำจัด เพราะการหาลาภยศ สรรเสริญ

การหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายนี้

ไม่ได้เป็นวิธีการที่จะกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง

ความอยากต่างๆ ให้หมดไปจากใจได้

แต่กลับเป็นการเสริมสร้างความโลภ ความโกรธ ความหลง

ความอยากต่างๆ ให้มีมากขึ้นไปเรื่อยๆ

ถ้ามีความโลภ ความอยากต่างๆมากขึ้นไปเรื่อยๆ

 ภพชาติคือการเวียนว่ายตายเกิดก็จะมีมากเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

 ไม่ใช่มีน้อยลงไป

วิธีที่จะทำให้ภพชาติน้อยลงไปและหมดไปได้นั้น

ต้องอยู่ที่การกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง

ความอยากต่างๆ อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญ

 วิธีที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญและทรงนำเอาเผยเเผ่สั่งสอน

ให้แก่สัตว์โลกนั้นก็คือ ทางสู่การหลุดพ้น

จากการเวียนว่ายตายเกิด มี ๓ ส่วนด้วยกันคือ

 ๑. ทาน ๒ ศีล ๓.ภาวนา นี่คือทางที่จะนำไปสู่การหลุดพ้น

จากกองทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิด

ทางนี้เราอาจจะแบ่งไว้เป็น ๒ ขั้นก็ได้ ขั้นที่ ๑ และขั้นที่ ๒

 ขั้นที่ ๑ ก็คือการทำทานกับการรักษาศีล

ขั้นที่ ๒ ก็คือการรักษาศีลและการภาวนา จะมีความแตกต่างกัน

เวลาเริ่มต้นนี้เราจะถูกสอนให้ทำบุญทำทานต่างๆ

แล้วก็ให้รักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ อันนี้เรียกว่าเป็นการปฏิบัติขั้นที่ ๑

ขั้นที่ ๑นี้เราสามารถทำบุญกันได้อย่างเต็มที่

อยากจะไปทอดผ้าป่าไปทอดกฐินไปงานอะไรต่างๆ

 ของทางศาสนา ไปร่วมสร้างโบถส์สร้างเจดีย์ สร้างวิหารย์

หรือทำอะไรต่างๆ เพื่อเป็นการแบ่งปันทรัพย์สมบัติ

 ข้าวของเงินทองต่างๆ ที่เรามีเหลือกินเหลือใช้

เอาไปทำให้เป็นทานเสีย เพราะจะทำให้ใจของเรานั้นพัฒนา

 มีกำลังที่จะทำให้เราตัดกิเลสตัณหาต่างๆ

 ให้น้อยลงไปได้ตามลำดับ การทำทานจะช่วยตัดกิเลสตัณหา

 ที่ชอบใช้เงินใช้ทอง ไปซื้อความสุขต่างๆ

ให้เอาเงินทองที่จะไปซื้อความสุข ด้วยกิเลสตัณหานี้

มาทำบุญทำทานแทน

 แล้วจะทำให้กิเลสตัณหาเหล่านั้นหายไปหมดไป

แล้วจะทำให้จิตใจมีความสุขมากขึ้น

และมีกำลังที่จะทำบุญที่สูงต่อไปได้

เมื่อเราทำบุญทำทานรักษาศีล ๕ ได้อย่างสม่ำเสมอ

 เราก็จะมีกำลังที่จะก้าวขึ้นสู่ขั้นที่ ๒

 คือการรักษาศีล ๘ และการภาวนาได้.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

........................................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๙

“คำสอนสุดท้ายของพระพุทธเจ้า”











ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2559 10:27:05 น.
Counter : 1556 Pageviews.

2 comment
### ศึกษาวิธีควบคุมใจให้สงบ ###















“ศึกษาวิธีควบคุมใจให้สงบ”

พวกเรามีโชคที่เราได้มาพบกับพระพุทธศาสนา

 ที่สอนให้เราสามารถที่จะอยู่กับความทุกข์ของทางร่างกายได้

ความแก่ ความเจ็บ ความตายของร่างกายที่จะต้องเกิดขึ้น

 แต่ใจของเรานี้จะไม่ทุกข์กับความแก่

ความเจ็บ ความตายของร่างกาย

ถ้าเรามาศึกษาวิธีควบคุมใจให้สงบ สอนใจให้สงบ

 อย่าไปวุ่นวายกับเรื่องของร่างกาย มากเกินไป

ดูแลร่างกายไปตามเหตุตามผลตามมีตามเกิด

ร่างกายมันไม่ต้องการอะไรมาก มันต้องการแค่ข้าว

ที่อยู่อาศัย น้ำดื่ม อากาศไว้หายใจ มีเสื้อผ้าไว้ใส่

เจ็บไข้ได้ป่วยก็มียาไว้รับประทาน แค่นี้ก็อยู่ของมันไป

แต่เราไปหลงผิดเราไปหลงอาศัยร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุข

 พอเรามีร่างกายเราก็ไปเที่ยวได้

ถ้าร่างกายเเข็งแรงเราก็ไปเที่ยวได้

 มีใครซื้อตั๋วเที่ยวมาให้นี้ไปกันทุกคนเชื่อไหม

อย่างรถทัวร์ที่มาวัดญาณสังวรารามนี้ บางทีมาจากภาคอิสานกัน

 อบต.เขาจัดมากันทั้งนั้น พวกนี้พวกนายก อบต.

เหมือนเขาตอบแทนเวลาหาเสียงเลือกตั้ง

 เสร็จแล้วเขาก็พาชาวบ้านมาเที่ยว

ถ้าให้เงินแล้วให้ไปเที่ยวนี้ใครๆก็ไปใช่ไหม ชอบไป

เพราะใจมันอยากจะหาความสุข มันรู้จักความสุขทางนี้ทางเดียว

ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

ถ้าอบต.จัดไปปฏิบัติธรรมที่วัดนี้ คิดดูจะไปกันสักกี่คน

แต่ของดีไม่รู้กัน ของดีคือการไปปฏิบัติธรรมที่วัด

ไปอยู่โกเอ็นก้าสัก ๑๐ วัน ไปนั่งสมาธิเดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน

 ไม่ให้คุยกันให้ทำใจให้สงบ เพราะเวลาคุยกันใจมันต้องทำงาน

 เวลาจะคุยนี้ใจเราต้องคิดก่อน คิดว่าจะพูดอะไร

เพราะใจคิดใจก็ไม่นิ่งไม่สงบ มันก็เลยไม่มีความสุข

 พอคิดมากๆ เดี๋ยวไปคิดถึงขนมนมเนยก็ยิ่งหิวใหญ่

 บางทีร่างกายมันไม่หิวแต่ใจหิวแล้ว คิดถึงขนมนมเนย

บางทีเพิ่งกินอาหารเสร็จหยกๆ

พอไปคิดถึงอะไรที่น่ากินขึ้นมาอีกก็อดไม่ได้กัน

ร่างกายมันถึงรับอาหารมากเกินความต้องการ

เพราะใจมันหิว หิวด้วยความคิด

 พอคิดแล้วก็เกิดความอยากขึ้นมา

 แล้วก็ใช้ร่างกายนี้เป็นผู้ตอบสนองความอยากของตน

 ทีนี้พอร่างกายเริ่มแก่ลงๆ

มันก็ไม่ได้ตอบสนองความอยากไม่ได้

พออยากแล้วไม่ได้ใจก็ไม่สบาย

ดังนั้นเราต้องมาฝึกฝนอบรมใจให้มันอยู่นิ่งๆ

 อย่าให้มันคิดปรุงเเต่ง อย่าให้มันอยากได้โน่นได้นี่

อยากทำโน่นอยากทำนี่ เกิดมาทำมาตั้งแต่เกิดแล้วได้อะไรบ้าง

 มันก็ยังอยากทำเหมือนเดิม ทำมาแทบเป็นแทบตายไม่รู้กี่ปีแล้ว

 พอหรือยังอิ่มหรือยัง ไม่อยากทำหรือยัง ไม่มีคำนี้เลย

 ถ้าร่างกายมันยังทำอะไรได้อยู่มันไม่หยุดหรอก

มันจะหยุดก็ต่อเมื่อร่างกายมันไม่ไหวแล้วไปไม่ได้แล้ว

 แล้วเวลานั้นก็ทุกข์ เครียด ฆ่าตัวตายไปก็มี

ถ้าใครมาพูดอะไรทำให้ช้ำอกช้ำใจหน่อย

คนแก่นี้น้อยอกน้อยใจง่าย ลูกหลานพูดอะไรไม่ดีสักหน่อยนี้

 เดี๋ยวฆ่าตัวตายละ ไปไหนไม่ได้มันก็อยู่ตรงนั้น

ไอ้เราก็เหมือนลงดีๆนี่เอง มันไปไหนมาไหนด้วยความคิด

 คิดไปโน่นคิดมานี่ คิดไปคิดมาแล้วก็อยาก

 อยากไปทำตามความคิด พอไปทำเสร็จเดี๋ยวก็อยากใหม่อีก

ถ้าคิดแล้วอยากแล้วไม่ได้ทำก็เครียดขึ้นมาอีก

นี่วันวนเวียนอยู่อย่างนี้ ใจของเราเป็นอย่างนี้

ถ้าเราไม่มีเชือกมาคอยดึงมันไว้ หยุดมัน

เชือกที่พระพุทธเจ้าสอนก็คือสติ

สตินี้เป็นตัวควบคุมบังคับใจไม่ให้ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้

วิธีเจริญสตินี้ก็มีตั้ง ๔๐วิธีด้วยกัน

ที่เราได้ยินยุบหนอ พอหนอนี่ก็วิธีหนึ่ง พุทโธๆนี้ก็วิธีหนึ่ง

 เพิ่งดูดวงแก้วลูกแก้วก็เป็นวิธีหนึ่ง

มีหลายวิธีคือเป็นอุบายที่จะทำให้เราไม่ต้องไปคิด

 หยุดคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เช่นถ้าเราพุทโธๆ

อย่างนี้เราก็จะไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่ได้

 หรือสวดมนต์ที่ญาติโยมคนแก่เข้าวัดไปสวดมนต์กัน

ก็เป็นวิธีเจริญสติ วิธีหยุดความคิด เพื่อจะให้ทำใจให้สงบ

 เพียงแต่ว่าการสวดนี้มันเป็นการหยุดเบื้องต้น

มันไม่หยุดอย่างเต็มที่ หยุดได้เพียงเล็กน้อย

 ทำให้ใจเบาลงไปบ้าง

ไม่ต้องไปกังวลกับลูกหลานไม่ต้องไปกังวลไปกับเรื่องราวต่างๆ

 แต่ถ้าอยากจะให้มันสงบอย่างเต็มที่นี้จะต้องนั่งเฉยๆ

 หลับตาแล้วก็พุทโธๆไปอย่างเดียว หรือดูลมไปอย่างเดียว

ในเบื้องต้นถ้ายังพุทโธไม่ได้ก็สวดมนต์ไปก่อน กล่อมใจไปก่อน

 เวลานั่งใหม่ๆนี้ความคิดมันยังแรงอยู่

 ก็ใช้การสวดมนต์สู้กับความคิดแทนที่จะไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้

ก็ดึงมันมาสวดอิติปิโสไป สวดไปภายในใจไม่ต้องออกเสียงก็ได้

นั่งหลับตานั่งขัดสมาธิแล้วก็สวดไปเลย

สวดไปพักหนึ่งแล้วรู้สึกว่าใจเริ่มเบาเริ่มเย็น

 ความคิดเริ่มอ่อนลงก็ลองใช้พุทโธดู

หรือถ้าไม่อยากจะท่องพุทโธก็ดูลมหายใจอย่างเดียวก็ได้

เฝ้าดูลมหายใจเข้าหายใจออก แต่จะนั่งทำอย่างนี้ได้

ก่อนจะนั่งก็ต้องมีสติควบคุมใจอยู่ทั้งวัน

ต้องคอยควบคุมอย่าให้มันคิดเรื่อยๆ เปื่อย

ผูกมันไว้กับพุทโธก็ได้ ผูกมันไว้กับการเคลื่อนไหวของร่างกายก็ได้

ร่างกายกำลังทำอะไร ก็เอาใจมาผูกมันไว้

ให้เฝ้าดูว่าตอนนี้เรากำลังทำอะไรอยู่

 เรากำลังแปรงฟังก็ให้อยู่กับการแปรงฟันอย่างเดียว

 อย่าไปคิดถึงคนนั้นคนนี้สิ่งนั้นสิ่งนี้

อาบน้ำ ล้างหน้า หวีเผ้าหวีผม แต่งเนื้อเเต่งตัว

กินข้าวกินอะไรให้ใจอยู่กับการทำงานของร่างกาย

อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นการฝึกสติ

 ถ้ามันเฝ้ามันก็ไม่สามารถไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้

 ถ้ามันคอยดูทุกกิริยาบถ ท่านสอนตั้งแต่การตักข้าวขึ้นมา

 เอาข้าวเข้าปากเคี้ยวกลืนให้รู้อยู่ทุกอิริยาบถเลย

 อย่างที่เขาสอนให้เดินนะ เห็นไหม ยกหนอ ก้าวหนอ วางหนอ

ยกหนอ ก้าวหนอ วางหนอ นี่ไม่ได้หัดเดินนะ

หัดเอาใจมาผูกติดไว้กับการเดิน

 ความจริงในเบื้องต้นทำอย่างนี้ก็ได้

 แต่พอรู้แล้วก็เดินธรรมดาได้ ใจมันเร็วจะตายไป

ไม่ต้องมายกหนอ ก้าวหนอ เดินหนอ

 กลายเป็นเหมือนคนพิการหัดเดิน ก็เดินธรรมดาไป

แต่ใจให้ยกหนอ ก้าวหนอ วางหนอไปกับมัน

 มันจะเดินเร็วขนาดไหนใจมันตามทัน ถ้าเราเฝ้าดูมันจริงๆ

 ไม่ต้องมาทำช้า ช้าอาจจะเป็นเหมือนกับว่าเริ่มหัด

เอาใจมาผูกไว้กับร่างกาย กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย

ก็อาจจะทำช้าๆไปก่อน แต่พอทำชำนาญแล้ว

ทีนี้ก็ไม่ต้องทำช้าแล้ว ใจมันเร็วจะตายไป เร็วกว่าร่างกายอีก

นี่เป็นอุบายวิธีสร้างสติ ถ้าใจเราอยู่กับเรื่องราวเหล่านี้

มันก็ไม่มีเวลาไปคิดถึงคนนั้นคนนี้สิ่งนั้นสิ่งนี้

 ใจก็จะว่างจะสบาย เพียงแต่ว่ายังไม่นิ่งไม่สงบเต็มที่

อยากจะนิ่งจะสงบเต็มที่ใจต้องนั่งเฉยๆ

เพราะเวลาเดินนี้ใจยังทำงานอยู่ใจต้องควบคุม

ต้องสั่งให้ร่างกายทำงานอยู่ ถ้าอยากจะให้จิตสงบนิ่งเต็มที่

ต้องนั่งเฉยๆ หลับตาไม่รับรู้เรื่องราวผ่านทางทวารทั้ง ๕

แล้วก็อยู่กับลมหายใจก็ได้ อยู่กับพุทโธก็ได้

ถ้าทำได้อย่างต่อเนื่องเดี๋ยวมันก็สงบ ใจสงบแล้วมันเย็นสบาย

 เหมือนขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น แล้วมันก็จะรู้แล้วว่า

อ๋อ...นี่แหละคือเป้าหมายของการปฏิบัติ

เพื่อให้เข้าถึงความสงบ ความสุขอันนี้ ความอิ่ม ความอิ่มเอิบใจ

ไม่หิว คนได้ความสงบนี้แล้วไม่ค่อยหิวข้าว

 ถึงเวลาก็กินไม่ถึงเวลาก็ไม่กิน ไม่เดือดร้อน

แล้วขั้นต่อไปก็รักษาความสงบนี้ไว้ เวลาออกจากสมาธิ

พอมันจะคิดก็อย่าปล่อยให้มันไปคิดไปทางความอยาก

 เพราะอยากแล้วเดี๋ยวความสงบก็จะหายไป

พออยากแล้วใจก็เริ่มกระเพื่อมใจเริ่มกระวนกระวาย

พออยากแล้วก็อยากจะได้ดังใจ ถ้าไม่ได้ใจก็ขุ่นมัวขึ้นมาอีก

 ดังนั้นต้องพิจารณาความอยาก

สิ่งที่เราอยากได้มันไม่ได้เป็นความสุขหรอก

มันเป็นความสุขเดี๋ยวเดียว

 แต่ความทุกข์นี้มันมีมา ตั้งแต่เริ่มอยากแล้ว

 พอได้ไปทำสิ่งที่เราอยากก็มีความสุขเดี๋ยวเดียว

แล้วเดี๋ยวก็หายไปแล้ว ก็ต้องไปทำใหม่

เช่นคนชอบสูบบุหรี่อย่างนี้ พอได้สูบบุหรี่ก็สบายใจไปพักหนึ่ง

แล้วเดี๋ยวก็ต้องอยากขึ้นมาอีกก็ต้องสูบ

ถ้าไม่ได้สูบก็เครียดขึ้นมาอีก

ดังนั้นต้องตัดความอยากทุกอย่างให้หมดไป

ความอยากนี้ไม่เป็นประโยชน์ กับใจของเรา

 เป็นโทษกับใจของเรา เป็นเหมือนเชื้อโรค

อย่าเอาเข้ามาในใจเรา เกิดความอยากอะไร ตัดมันไปให้หมด

ให้มีอยากอยู่เฉยๆ อย่างเดียวพอ

อยากนั่งสมาธินี้ไม่เป็นไร อยากอยู่เฉยๆ อยากอยู่คนเดียว

ไม่อยากยุ่งกับใคร ถ้าอยากแบบนี้ใช้ได้ ไม่เป็นภัยไม่เป็นโทษ

 อยากไปยุ่งเกี่ยวกับคนนั้นสิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วเดี๋ยวก็ต้องเจอของดี

เดี๋ยวก็ต้องเจอความทุกข์ ก็มีแค่นี้แหละคำสอนของพระพุทธเจ้า

 สอนให้เรารู้จักทำใจให้สงบ ทำใจให้นิ่ง

 ทำใจให้ปล่อยวางทุกอย่าง

 เพราะทุกอย่างนี้ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องจากกันไป

ของที่เราได้มาในโลกนี้ตั้งแต่ร่างกายนี้มันไม่ใช่เป็นของเรา

 ร่างกายนี้มันก็ได้มาจากพ่อจากแม่

 แล้วเดี๋ยวก็ต้องแก่เจ็บตายไป

 ส่วนของอย่างอื่นที่ได้ผ่านทางร่างกายก็ต้องหมดไป

ได้สามีได้ภรรยาได้ลูก ได้ทรัพย์สมบัติได้อะไรต่างๆ

 เดี๋ยวพอร่างกายตายไปก็จะหมดไป จากกันก็จะทุกข์มาก

ถ้าไม่รู้จักปล่อยวางถ้าไปหลงไปอยากให้อยู่กับเรา

เพราะลืมคิดไปว่ามันจะต้องจากกัน

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราคิดอยู่เรื่อยๆว่า

เราต้องหลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา

 คิดอยู่บ่อยๆ คิดอยู่เรื่อยๆ แล้วมันจะได้ไม่ลืม

พอมันไม่ลืมแล้วมันก็จะได้ไม่ไปอยากให้อยู่ด้วยกันไปตลอด

 มันก็จะเตรียมตัวเตรียมใจว่าต้องไปแล้วนะ

ว่าต่อไปเราก็ต้องจากเขาแล้ว เดี๋ยวร่างกายนี้ก็ต้องไปแล้ว

 แต่เราไม่ได้เป็นอะไรไปกับร่างกายไม่ต้องกลัว

ใจเรานี้ไม่มีวันตาย วันตายไม่มีสำหรับจิตใจ

 มีแต่วันทุกข์เพราะความหลง

พอไม่หลงแล้ว ก็จะไม่มีวันทุกข์ อีกต่อไป

 ไม่หลงก็คือไม่หลงคิดว่าสิ่งต่างๆ นี้เป็นของเรา

หรือจะให้ความสุขกับเรา

จะเห็นว่าสิ่งต่างๆนี้ มันไม่ได้ให้ความสุขกับเรา

มันให้ความทุกข์กับเรามากกว่าเวลาที่เราต้องจากกันไป

สอนใจอยู่เรื่อยๆแล้วต่อไปใจจะไม่อยากได้อะไร

มีก็ไม่ยึดไม่ติดอยู่ด้วยกันไป พร้อมที่จะแยกทางกันไป

 มีอยู่ก็ใช้ประโยชน์ไป มีอะไรที่เราเอามาใช้ประโยชน์ได้

ก็เอามาใช้ประโยชน์ ทำประโยชน์ให้กับเรา

ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น ประโยชน์ที่ดีที่สุดก็คือความสงบ

 ต้องเอาตัวนี้ให้ได้ก่อน

ถ้าได้ตัวนี้แล้วตัวอื่นไม่สำคัญมีก็ได้ไม่มีก็ได้

 แต่ถ้าไม่มีตัวนี้ต้องเอาตัวอื่นก่อน

ต้องเอาแฟนก่อน เอาสามีไว้ก่อน เอาภรรยาไว้ก่อน

 เอาเงินเอาทองไว้ก่อน แต่ถ้ามีความสงบแล้ว

ของพวกนี้มีก็ได้ไม่มีก็ได้ไม่เป็นปัญหา

ก็ขอให้เอาไปปฏิบัตินะ ไปควบคุมใจทำใจให้สงบ

เชือกพระพุทธเจ้านี่แหละเป็นความสุขที่แท้จริง

คือความสงบของใจ ของอย่างอื่นเป็นความสุขปลอม

เป็นความสุขชั่วคราว เป็นเหมือนยาขมเคลือบน้ำตาล

เป็นเหมือนความทุกข์เคลือบความสุข

 ความสุขบางๆเคลือบความทุกข์

 เวลาได้อะไรมาใหม่ๆ ก็มีความสุขดีอกดีใจ

 แล้วก็ต้องมาทุกข์กับการดูแลรักษา

แล้วต้องมาทุกข์กับการพลัดพรากจากกัน

ถ้าไม่มีก็ไม่มีความทุกข์หรอก

เอาความสุขความสงบก็ไม่ต้องมีอะไร

 ก็จะไม่มีความทุกข์เข้ามาหาใจ ต่อไปร่างกายนี้ก็ไม่ต้องมี

 ร่างกายนี้หมดก็พอแล้วไม่ต้องไปหาร่างกายอันใหม่

เพราะได้อะไรมาใหม่ก็ทุกข์ใหม่อีก ก็มีแค่นี้แหละ.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...................................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๘

สนทนาธรรม









ขอบคุณข้อมูลจาก fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 14 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 14 กุมภาพันธ์ 2559 10:38:04 น.
Counter : 1323 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ