Group Blog
All Blog
### สละความสุขปลอม ###















“สละความสุขปลอม”

พระพุทธเจ้าทรงเห็นความจริงอันนี้จึงทรงสละพระราชสมบัติ

สละความสุขปลอม ความสุขของพระราชโอรส

 ที่มีความสุขทุกรูปแบบที่มนุษย์จะสรรหาได้มาเสพ

 ทรงเห็นว่ามันเป็นเพียงความสุขชั่วคราว

 เป็นความสุขในขณะที่ได้เสพ

 พอผ่านไปแล้วความสุขนั้นก็จางหายไปเหมือนควันไฟ

ต้องคอยเสพอยู่เรื่อยๆ ต้องคอยจัดงานเลี้ยงกันอยู่เรื่อยๆ

 เลี้ยงกันทุกวันทุกคืน เลี้ยงกันกี่วันกี่คืนมันก็หมดไปเหมือนควันไฟ

 จุดขึ้นมากี่ครั้งมันก็จางหายไปต้องคอยจุดอยู่เรื่อยๆ

จุดไปจนกระทั่งไม่มีปัญญาจะจุด คือสังขารร่างกายชราภาพ

จัดงานเลี้ยงไปเรื่อยๆ พอแก่ลงๆต่อไปก็ไม่มีปัญญาที่จะจัด

จัดไม่ไหว สังขารร่างกายไม่เอื้ออำนวย

ความสุขจากการจัดงานเลี้ยงก็จะไม่มี

ก็จะเหลือแต่ความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย

ความเศร้าสร้อยหงอยเหงา ที่ไม่มีเพื่อนไม่มีฝูง

 ไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมาให้เสพ ให้ความสุข

พระพุทธเจ้าสละความสุขแบบนี้ไป แล้วยอมที่จะทุกข์ยากลำบาก

 เพราะว่าการที่ไม่เคยอยู่แบบที่ไม่มีอะไรนี้ มันไม่ได้เป็นของง่ายดาย

ความจริงมันก็ไม่ใช่เป็นของยากเย็น

 ถ้าได้อยู่กับความไม่มีอะไรตั้งแต่เกิดมา

เช่นคนจนหรือคนขอทาน ที่เขาเกิดมา

ที่อยู่แบบไม่มีทรัพย์สมบัติไม่มีข้าวของเงินทองอะไร

เขาก็อยู่ของเขาได้ เพราะเขาต้องอยู่แบบนั้น

เขาก็เลยทำใจฝึกฝนตนเองให้อยู่กับสภาพที่ยากจนแสนเข็น

เขาก็อยู่กันได้ เพียงแต่เขายังมีความอยากที่จะร่ำอยากที่จะรวย

 อยากจะอยู่แบบมีสมบัติ มีลาภยศ สรรเสริญ สุข เท่านั้นเอง

แต่สำหรับพระพุทธเจ้านี้ท่านไม่ได้เป็นอย่างนั้น

 ท่านไม่ต้องการที่จะมีลาภยศ สรรเสริญ

มีความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

ท่านต้องการที่จะมีความสุขทางใจ

แต่ท่านก็ไม่เคยอยู่แบบลำบากอยู่แบบยากจน

การที่คนที่มีความร่ำรวย มีฐานะทางการเงินการทอง

 มีทรัพย์สมบัติมีอะไรต่างๆ อุดมสมบูรณ์คอยบำรุงบำเรอ

พอต้องมาอยู่แบบขอทานก็จะรู้สึกว่าลำบาก

 เพราะไม่เคยเท่านั้นเอง ถ้าเคยแล้วมันจะรู้สึกไม่ยากเย็นอะไร

 พระอรหันต์หรือผู้ที่ออกบวชนี้ส่วนใหญ่

จึงมักจะเป็นคนยากจนกัน เพราะเขาไม่รู้สึกว่ามันลำบาก

เวลามาบวชเป็นพระ เวลามาอยู่แบบขอทาน

เพราะเขาเคยอยู่แบบนี้มาตั้งแต่เขาเกิดแล้ว

แต่คนที่อยู่กับทรัพย์สมบัติอยู่กับความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

 พอต้องมาอยู่แบบไม่มีความสุขเหล่านี้ ก็จะรู้สึกยากมาก

นี่คือความยากของพระพุทธเจ้าที่ทรงเป็นพระราชโอรส

แล้วต้องสละความสุขของพระราชโอรส มาอยู่แบบขอทาน

 แต่เนื่องจากพระบารมีที่พระองค์ได้ทรงสร้างมาอย่างมากมาย

เช่นพระขันติบารมี พระอธิษฐานบารมี

จึงทำให้การเปลี่ยนสภาพ เปลี่ยนสถานะจากพระราชโอรส

มาเป็นขอทานนี้ ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด

พระองค์ทรงมีความแน่วแน่ มีความตั้งใจที่แน่วแน่

ที่จะต้องไปแสวงหาความสุขทางใจให้ได้

จะอยู่แบบยากไร้อย่างไรทุกข์ยากลำบากอย่างไร

 พระองค์ก็มีขันติความอดทนที่จะอยู่กับสภาพแร้นเเค้นนั้น

ได้อย่างสบาย ประกอบกับที่มีพระปัญญาบารมี

 พระอุเบกขาบารมี พระองค์ก็ทรงที่จะสามารถทำใจให้สงบได้

พอใจมีความสงบแล้ว ความทุกข์ยากลำบาก

ของทางร่างกายกลับไม่เป็นปัญหากับจิตใจเลย

เพราะความสุขที่ได้จากความสงบของใจนี้

 มันกลบความทุกข์ยากลำบากของทางร่างกายให้หายไปหมดเลย

เหมือนกับที่ทรงอดกระยาหารถึง ๔๙ วัน

คิดดูก็แล้วกันว่ามันทุกข์ขนาดไหนทางร่างกาย

พวกเรานี้เพียงแต่อดข้าวเย็นมื้อเดียวก็ยังแทบจะเป็นจะตายกัน

 นี่พระองค์ทรงอดพระกระยาหารถึง ๔๙ วัน

แต่พระองค์สามารถกระทำได้ก็เพราะว่าพระองค์มีความสุขทางใจ

 สามารถเข้าไปในสมาธิเข้าไปในฌาณได้

ก็เลยไม่ค่อยรู้สึกเดือดร้อนกับความหิวของร่างกาย

 จะรู้สึกก็เฉพาะช่วงที่ออกจากฌาณออกจากสมาธิมา

 พอทนไม่ไหวก็กลับเข้าไปในฌาณเข้าไปในสมาธิใหม่

 เพราะตอนนั้นยังไม่มีพระปัญญา

ยังไม่เห็นว่าความทุกข์ที่เกิดจากความหิวของร่างกายนี้

 เกิดจากความอยากของใจที่อยากจะรับประทานอาหาร

ถ้าทรงรู้ว่าความอยากนี้เป็นต้นเหตุของความทุกข์ ทรมานใจ

พระองค์ก็จะหยุดมันได้ แต่ช่วงนั้นยังไม่ได้มีปัญญา

ให้เห็นอริยสัจ ๔ จึงต้องใช้การเข้าไปในสมาธิ

 เป็นการหนีความทุกข์ทางร่างกาย

เพราะเวลาใจเข้าสู่สมาธิแล้วความทุกข์ทางร่างกายก็จะหายไป

มีแต่ความสุขทางจิตใจ

นี่คือแนวทางดำเนินของนักปราชญ์ของคนฉลาด

 จะต้องเสียสละความสุขทางร่างกายไปทุกคน

 ถ้าอยากจะได้ความสุขทางใจ

ไม่ว่าจะเป็นพระราชามหากษัตริย์

หรือเป็นคนขอทานก็จะต้องทำแบบเดียวกัน

ถ้าเป็นพระราชามหากษัตริย์ก็ต้องเสียสละมาก

 ถ้าเป็นคนขอทานก็ไม่ต้องเสียสละอะไรมาก

 อาจจะได้กำไรเสียอีก เพราะเป็นขอทานนี้สู้เป็นพระไม่ได้

ขอทานนี้จะหาขออะไรสักทียากเย็น

พอมาเป็นพระนี้ เดินบิณฑบาตเดี๋ยวเดียวอาหารก็ล้นบาตรแล้ว

ถ้าในยุคปัจจุบันนี้ เป็นพระนี้กลับสบายกว่าขอทาน

 แต่ในยุคสมัยพระพุทธกาลไม่ได้เป็นอย่างนั้น

สมัยพระพุทธกาลนี้นักบวชนั้นเปรียบเหมือนกับขอทานทั่วๆไป

ชาวบ้านก็ไม่ได้มีความเคารพเลื่อมใสเหมือนกับสมัยนี้

 แต่ก็เป็นสิ่งที่ผู้ที่แสวงหาความสุขทางใจจะต้องทำกัน

นี่เพียงพูดเปรียบเทียบให้เห็นถึงความยากง่าย

ของผู้ที่มีความมั่งคั่งมั่งมีกับผู้ที่ไม่มีความมั่งมี

ว่าเวลาที่จะต้องสละความสุขทางร่างกายไปนั้น

จะมีความยากง่ายต่างกันอย่างไร

แต่บางท่านถึงแม้ว่าจะมีความมั่งคั่ง

แล้วต้องสละความสุขจากความมั่งคั่งนี้ไปอยู่แบบขอทาน

ก็สามารถอยู่ได้ เพราะจิตใจมีบารมี มีขันติบารมี

มีสติที่จะคอยควบคุมใจไม่ให้ปรุงเเต่งหาความสุขทางร่างกาย

ควบคุมใจให้เข้าสู่ความสงบอยู่เรื่อยๆ

ก็จะไม่รู้สึกลำบากยากเย็นแต่อย่างไร

 มี ๒ ส่วนด้วยกัน ส่วนสำคัญก็คือใจ

ผู้ที่จะแสวงหาความสุขทางใจนี้ต้องมีคุณธรรมพิเศษอยู่ในใจ

 ถึงจะสามารถสละความสุขทางร่างกายไปได้

ถ้าไม่มีความสามารถพิเศษทางจิตใจ เช่นไม่มีสติบารมี

ไม่มีปัญญาบารมี ไม่มีวิริยะบารมี ไม่มีขันติบารมี

 จะไม่สามารถที่จะออกจากความสุขทางร่างกายได้

 จะต้องยึดติดอยู่กับความสุขนั้น

มีบางท่านมาทดลองอยู่แบบพระอยู่ อยู่หลายเดือน

แต่ในที่สุดก็ต้องยกธงขาวขอกลับไปเพราะสู้ไม่ไหว

 บางท่านถึงกลับบวช บวชได้ยังไม่ถึงปีก็ยกธงขาวก็มี

นี่พูดถึงผู้ที่มีความตั้งใจที่จะหาความสุขทางใจ

ด้วยการออกมาอยู่แบบขอทาน

มาปฏิบัติเพื่อสร้างความสุขทางใจ

 อันนี้ไม่ได้พูดถึงผู้ที่มีเจตนาบวชชั่วคราวแบบมีเจตนาอย่างนั้น

 เช่นบวชเพื่อทดแทนพระคุณของพ่อของแม่

หรือบวชเพื่อที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น บวช ๑ เดือน บวชแก้ซวย

 บวชอะไรต่างๆเหล่านี้ อันนี้ไม่ได้หมายถึงกลุ่มนี้

กลุ่มนี้เขาไม่ได้ตั้งใจจะบวชแบบจริงๆจังๆ

เขาไม่ได้ตั้งใจที่จะเข้าหาความสุขที่แท้จริง

เขาบวชเพื่อที่จะกลับไปหาความสุขปลอมของเขาต่อไป

 แต่เนื่องจากเขามีสถานภาพหรือมีภาระที่จะต้องบวช

 เช่นตามทำเนียมของชาวพุทธเรา

ที่เชื่อว่าการบวชนี้เป็นการทดแทนพระคุณให้แก่บิดามารดา

 เพราะว่าจะทำให้บิดามารดาให้มีโอกาสเกาะชายผ้าเหลือง

 เกาะชายผ้าเหลืองอย่างน้อยก็ได้ไปสวรรค์

เพราะว่าเวลาที่ลูกบวช พ่อแม่ที่ไม่เคยเข้าวัดเข้าวามาก่อน

ก็จะมาวัดมาทำบุญมาฟังเทศน์มาฟังธรรม แล้วก็มาปฏิบัติธรรม

 การทำบุญการปฏิบัติธรรม การรักษารักษาศีล

 การฟังธรรมนี้เป็นเหตุ ที่จะทำให้ผู้ที่ปฏิบัติตาม

ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นต่างๆนั่นเอง

 โดยอาศัยเหตุคือลูกที่เข้ามาเข้าวัดอยู่วัด มาบวชอยู่ในวัด

เมื่อลูกอยู่ที่ไหนใจของพ่อแม่ก็จะอยู่ที่นั่น

 ลูกอยู่ที่วัด พ่อแม่ซึ่งปกติไม่เคยมีเวลามาวัด ก็มีเวลาขึ้นมาทันที

เพราะว่ามีลูกอยู่วัดนั่นเองและจิตใจของพ่อแม่

ก็อยู่กับลูกมาตลอดตั้งแต่เกิดเลย

อันนี้ก็เลยเป็นอุบายของนักปราชญ์

ที่จะดึงพ่อแม่ ที่ไม่มีศรัทธาหรือว่าไม่มีเวลา

ที่จะมาศึกษามาปฏิบัติอย่างจริงจังได้มีโอกาส

ได้เข้ามาศึกษาและปฏิบัติอย่างจริงจังได้

พ่อแม่บางคนหลังจากที่ลูกสึกไปแล้ว

ก็ยังมาวัดอย่างสม่ำเสมออย่างต่อเนื่องต่อไป

 ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้น ก่อนที่ลูกจะบวชไม่เคยเข้าวัดเลย

 ถ้าเข้าก็เข้าเป็นแบบเข้าไปกราบพระขอพรหรือไปทำบุญวันเกิด

 วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น

 แต่ไม่ได้เข้าแบบเป็นกิจวัตรประจำ

แต่หลังจากที่ลูกได้มาบวชแล้ว

พ่อแม่ได้มาวัดมาฟังเทศน์ฟังธรรม

มาปฏิบัติธรรมก็ทำให้เห็นคุณค่าของการศึกษา

ของการปฏิบัติธรรม ก็พยายามที่จะศึกษา

ปฏิบัติธรรมให้เพิ่มมากขึ้นไปตามลำดับ

 ถึงแม้ว่าลูกไม่ได้บวชแล้วลูกไม่ได้อยู่ที่วัดแล้ว

 แต่ได้มาพบของที่ดีกว่าลูกที่วัดแล้ว

ก็คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

 ก็เลยได้เข้ามาศึกษาได้เข้ามาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องต่อไป

 โอกาสที่จะไปสวรรค์และไปพระนิพพาน

 ก็มีเพิ่มมากขึ้นไปตามลำดับ ถ้าการปฏิบัติมีเพิ่มขึ้นไปตามลำดับ

 ไม่ช้าก็เร็วก็สามารถที่จะบรรลุถึงพระนิพพานได้

 อันนี้ก็อาศัยชายผ้าเหลืองของลูกชาย

แต่ลูกชายเองกลับสลัดชายผ้าเหลืองไป

กลับไปหาผ้าไหมผ้าซิ่นของภรรยาของแฟน

อันนี้ก็เป็นเรื่องของผู้ที่บวชชั่วคราว

 เขาจะไม่ค่อยรู้สึกเดือดร้อนเท่าไร

เพราะเขารู้ว่าเขาเพียงมาบวชชั่วคราวเท่านั้น

เดี๋ยวเขาก็จะกลับไปหาความสุขของเขาอีกต่อไป

นี่ไม่ถือว่าเป็นนักปราชญ์

ถ้าเป็นนักปราชญ์แล้วเป็นคนฉลาดแล้ว

บวชจะไม่มีวันสึกถ้าสึกก็แสดงว่าโง่

 ลืมไปว่าความสุขที่ตนเองกลับไปหานั้น

เป็นความสุขปลอมนั่นเอง

 คนที่รู้ว่าเป็นความสุขปลอม ก็จะไม่กลับไปหาความสุขปลอม

 ก็จะพยายามผลักดันการปฏิบัติของตน

ให้คืบหน้ามากขึ้นไปเรื่อยๆ ให้ปฏิบัติเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ

 เพิ่มเวลาของการปฏิบัติ เพิ่มขั้นตอนของการปฏิบัติ

ให้มากขึ้นให้สูงขึ้น ให้เจริญสติอย่างต่อเนื่อง

 เพื่อให้จิตได้เข้าสู่ความสงบและให้สงบได้นานๆ

สงบได้บ่อยๆ จนสามารถที่จะเข้าสู่ความสงบได้ตลอดเวลา

 ต้องการจะเข้าสู่ความสงบเวลาใดก็สามารถเข้าได้ทันที

อันนี้เป็นความสำคัญ เพราะว่าเวลาที่จะเข้าไปสู่ขั้นปัญญานี้

จะต้องใช้การคิดปรุงเเต่งเป็นการเจริญปัญญา

 การคิดปรุงแต่งไปตามความเป็นจริงคือ

คิดไปในทางอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

จะทำให้ใจไม่ฟุ้งซ่านไม่วุ่นวาย

แต่บางครั้งพิจารณาไปก็อาจจะพลั้งเผลอ

หรือถูกอำนาจของกิเลสตัณหาเข้ามาแย่งไปก็ได้

 ถ้าเผลอถูกอำนาจของกิเลสตัณหาแย่งไปคิด

แทนที่จะสงบก็จะฟุ้งซ่านขึ้นมาแล้ว

ถ้าไม่มีความเชี่ยวชาญ ในการทำใจให้สงบดึงใจเข้าสู่สมาธิ

ก็จะต้องอยู่กับความฟุ้งซ่านไปเป็นเวลาอันยาวนาน

แต่ถ้ารู้ว่าจิตเริ่มฟุ้งซ่าน เริ่มคิดไปในทางของกิเลสตัณหาแล้ว

ถ้าเข้าสมาธิได้อย่างชำนาญก็หยุดปรุงเเต่งได้ทันที

 กำหนดจิตให้เข้าสู่ความสงบได้

แสดงว่ากำลังของสมาธิกำลังของอุเบกขา

 ที่จะต่อต้านกำลังของกิเลสตัณหานั้นได้อ่อนลง

ก็ต้องกลับเข้าไปเพิ่มกำลังของอุเบกขาใหม่

ด้วยการเข้าไปอยู่ในความสงบ

พอใจสงบแล้วมีอุเบกขาแล้วก็ถอนออกมาแล้วก็มาพิจารณาใหม่.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...............................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๘

“ทิ้งสุขปลอมแล้วจะเจอสุขจริง”











ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 2 กุมภาพันธ์ 2559 11:41:39 น.
Counter : 1268 Pageviews.

0 comment
### ทิ้งสุขปลอมแล้วจะเจอสุขจริง ###














“ทิ้งสุขปลอมแล้วจะเจอสุขจริง”

ในโลกนี้มีความสุขอยู่ ๒ ชนิดด้วยกัน คือสุขแท้และสุขปลอม

 สุขที่ถาวรและสุขชั่วคราว สุขที่เป็นสุขแท้ สุขที่ถาวร

คือความสุขทางใจ สุขที่เป็นความสุขปลอมเป็นความสุขชั่วคราว

ก็คือความสุขทางร่างกาย ความสุขทางลาภยศ สรรเสริญ

 ความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

 คนฉลาดเลือกความสุขที่แท้จริงที่ถาวร

คนโง่จะเลือกความสุขชั่วคราว

ความสุขที่ไม่แท้จริงความสุขปลอม

 เพราะไม่มีปัญญา มองไม่เห็นความเสื่อม ของความสุขปลอม

ส่วนคนฉลาดนักปราชญ์ เช่นพระพุทธเจ้า

 พระอรหันตสาวกทั้งหลายท่านมีปัญญา

 ท่านเห็นความเสื่อมของความสุขทางร่างกาย

เห็นความเสื่อมของลาภยศ สรรเสริญ

เห็นความเสื่อมของตา หู จมูก ลิ้น กาย

 ท่านจึงไม่หลงไปแสวงหาความสุขปลอม

ท่านไปหาความสุขจริงความสุขแท้ ท่านจึงไม่ผิดหวัง

ท่านจึงได้พบกับความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

คือความสุขของพระนิพพานที่เรียกว่า บรมสุข

 นิพพานัง ปรมัง สุขัง ส่วนคนโง่ก็จะหาความสุขจากลาภยศ

สรรเสริญ จากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

 แล้วก็ต้องประสบกับความผิดหวัง

 เมื่อลาภยศ สรรเสริญและรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมีอันเป็นไป

มีการเสื่อมมีการพลัดพรากจากกันไป

เวลานั้นความสุขก็กลายเป็นความทุกข์

นี่ความสุขที่มีอยู่ในโลกนี้ มีความสุขอยู่ ๒ ชนิดด้วยกัน

 ถ้าเราไม่มีพระพุทธศาสนา ไม่มีคำสอนของพระพุทธเจ้า

 มาแสดงให้เรารู้มาแจ้งให้เรารู้ เราก็จะหลง

ติดอยู่กับการหาความสุขปลอมกัน

อย่างที่คนส่วนใหญ่ในโลกนี้ กำลังแสวงหากัน

เพราะคนส่วนใหญ่ในโลกนี้

ไม่ได้เข้าถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง

ถึงแม้จะถือตนเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชน

ก็เป็นพุทธศาสนิกชนแบบทัพพีในหม้อแกง

 นับถือพระพุทธศาสนา แต่ไม่รู้จักพระธรรมคำสอน

ของพระพุทธเจ้าที่สอนให้หาความสุขทางใจกัน

กลับไปหาความสุขทางร่างกายกัน

ไปหาความสุขทางลาภยศ สรรเสริญกัน

 จึงต้องพบกับความทุกข์ความผิดหวัง

 เพราะว่าเป็นเหมือนทัพพีในหม้อแกงนั่นเอง

ทัพพีจะอยู่ในหม้อแกงนานสักเท่าไรก็ตาม

จะไม่รู้ว่าแกงที่ทัพพีได้สัมผัสนั้นเป็นแกงอะไร

เป็นแกงจืด แกงเผ็ดหรือแกงหวาน

จะไม่มีวันรู้ได้ ไม่เหมือนลิ้นกับแกง

 ถ้าลิ้นนี้พอสัมผัสรสของแกงเพียงหยดเดียวเท่านั้นก็จะรู้ทันที

คนฉลาดพอได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

ก็จะหูตาสว่างขึ้นมาทันที พอทรงตรัสคำว่า “อนิจจัง” เท่านั้น

สพเพสังขารา อนิจจา ก็เกิดหูตาสว่างขึ้นมาเลย

 เห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของทุกสิ่งทุกอย่าง ที่มีอยู่ในโลกนี้

 เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น

ด้วยการรวมตัวของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ และธาตุรู้

ถ้ามีธาตุรู้ก็เป็นมนุษย์ เป็นเดรัจฉาน

ถ้าไม่มีธาตุรู้ก็เป็นต้นไม้ใบหญ้าต่างๆ

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประกอบขึ้น โดยการรวมตัวของธาตุทั้ง ๔

 คือ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุน้ำ และธาตุไฟ

เป็นใบไม้ เป็นต้นไม้ เป็นดอกไม้ เป็นอะไรต่างๆ เรียกว่าเป็นธาตุ

 ส่วนร่างกายของมนุษย์และของสัตว์เดรัจฉาน

ก็ประกอบขึ้นด้วยธาตุ ๔ เช่นเดียวกัน

คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ

 แล้วก็มีธาตุรู้คือใจมาเป็นผู้ครอบครอง

สิ่งใดก็ตามเมื่อมีการรวมตัวกัน ย่อมมีการแยกตัวกัน

อันนี้เป็นกฏของอนิจจัง ความไม่ถาวร

 สิ่งที่ถาวรที่ไม่มีวันแยกตัวกันก็คือธาตุทั้ง ๕ นี่เอง

 รวมถึงธาตุที่ ๖ คืออากาศธาตุ

นี่คือสิ่งที่เรียกว่าสัพเพธัมมา อนัตตา

สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นสังขาร สังขาราอนิจจัง

สังขารนี้ท่านแปลว่า สิ่งที่ประกอบขึ้นด้วยการปรุงเเต่งของธาตุทั้ง ๖

 หรือธาตุทั้ง ๕ คือธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุ

 และธาตุรู้ เรียกว่าสังขาร แต่ตัวที่เป็นธาตุแท้ๆนี้ไม่มีวันเสื่อม

ไม่มีวันหาย เป็นธาตุอยู่ตลอดเวลา ธาตุน้ำก็เป็นน้ำตลอดเวลา

 ธาตุดินก็เป็นธาตุดินอยู่ตลอดเวลา ธาตุลมก็เป็นธาตุลม

 ธาตุไฟก็เป็นธาตุไฟอยู่ตลอดเวลา

อากาศธาตุก็เป็นอากาศธาตุอยู่ตลอดเวลา

ธาตุรู้ก็เป็นธาตุรู้อยู่ตลอดเวลา

แต่พอมารวมตัวกันเป็นสังขารขึ้นมา เรียกว่าสังขาร

 ถ้าเป็นสังขารท่านก็เรียกว่า สัพเพสังขารา อนิจจา

 สังขารทั้งหลายเป็นของชั่วคราว

ท่านไม่ได้เรียกว่า สัพเพธัมมา อนิจจา

ท่านไม่ได้เรียกว่า ธาตุทั้ง ๖ นี้เป็นอนิจจา

 เพราะธาตุทั้ง ๖ นี้ไม่เป็นอนิจจา เป็นธาตุคงเดิมอยู่ตลอดเวลา

 ถ้าผู้ใดสัมผัสแล้วมาครอบครองคือธาตุรู้

มาสัมผัสมาครอบครองกับสังขารแล้ว

ไปมีความหลงยึดติดคิดว่า เป็นของถาวรคิดว่าเป็นของของตน

ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา เวลาที่ธาตุทั้ง ๔ แยกตัวออกจากกัน

นี่คืออนิจจา สัพเพสังขารา อนิจจา

 ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง

 ที่ทรงตรัสรู้ ทรงค้นพบว่าสังขารทั้งหลาย เป็นของชั่วคราว

ประกอบขึ้นจากธาตุทั้ง ๖ ที่เป็นของถาวรไม่มีตัวไม่มีตน

ไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคลเป็นธาตุเท่านั้น แต่ธาตุรู้นี้มีปัญหา

 ธาตุรู้ถูกอวิชชา ความไม่รู้ความจริงอันนี้มาหลอก

ให้ธาตุรู้คิดว่าธาตุรู้นี้เป็นตัวเป็นตน

ให้คิดว่าสิ่งที่ธาตุรู้ได้มาครอบครองคือร่างกายเป็นของตน

 แล้วก็ให้หลงกับธาตุสังขารต่างๆ นอกจากร่างกาย

เช่นทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ ที่มนุษย์เราผลิตกันขึ้นมา

สิ่งของต่างๆ ที่มนุษย์เราผลิตกันขึ้นมา ก็ผลิตมาจากธาตุ ๔ นี่เอง

 ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ กลายเป็นสินค้าต่างๆ

 ให้เสพให้สัมผัส ให้เกิดความสุขชั่วคราวขึ้นมา

ทำให้ธาตุรู้ที่ไม่มีปัญญานี้หลงไหลคลั่งไคล้

ติดอยู่กับความสุขแบบนี้ แบบถอนตัวไม่ขึ้น

ต้องกลับมาเสพความสุขเหล่านี้อยู่เรื่อยๆ

 ด้วยการกลับมาเกิดแล้วก็มาแก่ มาเจ็บ มาตาย

ตายแล้วก็ต้องกลับมาเกิด มาแก่ มาเจ็บ มาตาย

เพราะความยึดติดอยู่กับการเสพความสุข

ทางตา หู จมูก ลิ้น กายนี่เอง ที่เป็นความสุขชั่วคราว

เป็นความสุขปลอมที่มีวันเสื่อมหมดไป

 แล้วก็มีความทุกข์มาทดแทนให้เสพให้สัมผัส

มนุษย์จึงตกอยู่ในกองทุกข์ของการเวียนว่ายตายเกิด

 เกิดอยู่ในกองทุกข์ของการสูญเสีย ของการพลัดพรากจากกัน

 เพราะสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์และสัตว์เดรัจฉานมาครอบครองนั้น

 ล้วนเป็นสมบัติชั่วคราวทั้งนั้นได้มาแล้วก็ต้องมีวันหมดไป

ได้ลาภก็มีการเสื่อมลาภ ได้ยศก็มีการเสื่อมยศ

 ได้สรรเสริญก็มีนินทา ได้สุขก็ต้องมีทุกข์

เวลาสุขหมดไปทุกข์ก็กลับกลายเข้ามา

นี่คืออนิจจัง ของสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในโลกนี้

 ผู้ที่มีปัญญาเห็นอนิจจัง จะไม่หลงยึดติดกับสิ่งเหล่านี้

จะถอนตัวออกแล้วก็ไปพบกับความสุขที่แท้จริง

 คือความสุขที่เกิดจากความสงบของใจ

 ความสุขที่เกิดจากความสงบของใจนี้

เกิดจากการถอนตัวออกจากการเสพความสุขปลอม

ความสุขทางร่างกาย ผู้ที่ปรารถนาที่ต้องการพบความสุขที่ถาวร

จึงจำเป็นจะต้องสละความสุขปลอมไป

จะเอาความสุขทั้ง ๒รูปแบบไม่ได้

 เหมือนกับจะเอาร้อนกับเย็น

 ความร้อนกับความเย็นนี้อยู่ด้วยกันไม่ได้ ต้องแยกกันอยู่

 เหมือนความมืดกับความสว่างเกิดขึ้นพร้อมกันไม่ได้

 ถ้ามืดมันก็ไม่สว่าง ถ้าสว่างมันก็ไม่มืด

ความสุขแท้กับความสุขปลอมก็เช่นเดียวกัน

ถ้าจะเอาความสุขแท้ก็ต้องละความสุขปลอม

ถ้าต้องการความสุขปลอมก็จะไม่ได้ความสุขแท้

จะเอาความสุขทั้ง ๒ รูปแบบนี้เป็นไปไม่ได้

ก็จะได้แบบอย่างละนิดอย่างละหน่อย

 อย่างที่ผู้ปฏิบัติช่วงระยะเริ่มต้น

จะสัมผัสได้ความสุขแท้นิดหน่อย

 แล้วก็ได้ความสุขปลอมอีกนิดหน่อย

เพราะยังเสียดาย นั่งสมาธิเสร็จออกมา

ก็หาขนม กาแฟดื่มรับประทาน หารูป เสียง กลิ่น รสเสพ

 ดูภาพยนต์ ฟังเพลง หรือทำอะไรที่ทำให้เกิดความสุข

ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย อย่างนี้เรียกว่า

ยังจะเอาความสุขทั้ง ๒ รูปแบบอยู่

ความสุขปลอมก็เอา ความสุขแท้ก็จะเอาก็เลยได้ไม่สมบูรณ์

 ได้อย่างละนิดอย่างละหน่อย

แล้วเวลาที่ความสุขปลอมหายไป

ก็เกิดความทุกข์ทรมานใจขึ้นมา

ถ้าต้องการความสุขแท้ความสุขที่ไม่มีความทุกข์ทรมานใจตามมา

ก็ต้องสละความสุขปลอมไป เพราะความสุขปลอมนี้แหละ

เป็นที่เกิดของความทุกข์ทรมานใจ

เวลาที่ความสุขปลอมนี้จางหายไป

ความทุกข์ทรมานก็จะปรากฏขึ้นมา.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.......................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๘

“ทิ้งสุขปลอมแล้วจะเจอสุขจริง”









ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ

 




Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 1 กุมภาพันธ์ 2559 12:59:38 น.
Counter : 808 Pageviews.

0 comment
### ชาวบ้าน ชาววัด ###



















ชาวบ้าน-ชาววัด

อันชาวบ้าน ทำงาน เพื่อกามเกียรติ
จึงเกิดความ ตึงเครียด จนสั่นเสียว
ส่วนชาววัด มุ่งขจัด ไปท่าเดียว
มิให้เกี่ยว เกียรติกาม มุ่งงามธรรม

จึงเกิดมี เครื่องวัด วัดชาวบ้าน
ด้วย "เงิน" "งาน" "อดอยาก" หรือ "อิ่มหนำ" ?
ส่วนเครื่องวัด ชาววัด, วัดกิจกรรม
ว่าเขาทำ ให้ว่างได้ เท่าไรแล

ถ้าชาววัด ฮึดฮัด มุ่งกามเกียรติ
มันน่าเกลียด แสนกล คนตอแหล
ถ้าชาวบ้าน เกียจคร้าน งานเชือนแช
ก็มีแต่ ทุกข์ทน หม่นหมองไป

จึงขอให้ ชาวบ้าน เป็นชาวบ้าน
ผสมผสาน เกียรติกาม ตามวิสัย
ให้ชาววัด เป็นชาววัด ขจัดไกล
เพื่อพ้นภัย เกียรติ กาม งามนักเอย ฯ

พุทธทาสภิกขุ











ขอบคุณที่มา fb. วัดป่าสุคะโตเพื่อธรรมะและธรรมชาติ
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 1 กุมภาพันธ์ 2559 9:56:26 น.
Counter : 1120 Pageviews.

0 comment
### ขอศีลธรรมให้กลับมา ###















ถ้าศีลธรรม ไม่กลับมา โลกาวินาศ
มนุษย์ชาติ จะเลวร้าย กว่าเดรัจฉาน
มัวหลงเรื่อง กิน กาม เกียรติ เกลียดนิพพาน
ล้วนดื้อด้าน ไม่เหนี่ยวรั้ง บังคับใจ

อาชญากรรม เกิดกระหน่ำ ลงในโลก
มีเลือดโชก แดงฉาน แล้วซ่านไหล
เพราะบ้ากิน บ้ากาม ทรามเกินไป
บ้าเกียรติก็ พอไม่ได้ ให้เมาตน

อยากครองเมือง ครองโลก โยกกันใหญ่
ไม่มีใคร เมตตาใคร ให้สับสน
ขอศีลธรรม ได้กลับมา พาหมู่คน
ให้ผ่านพ้น วิกฤตการณ์ ทันเวลาฯ

พุทธทาสภิกขุ









Create Date : 31 มกราคม 2559
Last Update : 31 มกราคม 2559 12:35:15 น.
Counter : 874 Pageviews.

0 comment
### ทุกข์เพราะใจ ###












 ทุกข์เพราะใจ


เรื่องเล่าเช้าวันพระ:

เขียนเล่าเรื่อง....

 พระไพศาล วิสาโล

พระอาจารย์พรหมวังโส เป็นพระชาวอังกฤษ

ศิษย์หลวงพ่อชา สุภัทโท

 ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

 จะมาใช้ชีวิตอย่างพระป่าในภาคอีสาน

ซึ่งมีวิถีชีวิตแตกต่างจากชาวตะวันตกมาก

 มีประสบการณ์หลายอย่างที่นั่น

ซึ่งท่านไม่เคยเจอะเจอมาก่อนในอังกฤษ

ประสบการณ์อย่างหนึ่งที่ท่านจำได้ไม่ลืมเลย

เกิดขึ้นขณะที่ท่านบวชได้เพียงปีเดียว

มีงานฉลองในหมู่บ้าน ๓ วัน ๓ คืน

เป็นธรรมดาของชาวบ้านที่เมื่อมีมหรสพ ก็จะเปิดเสียงดังเต็มที่

 ราวกับจะเผื่อแผ่ให้คนทั้งหมู่บ้านได้ร่วมสนุกสนานด้วย

ปรากฏว่าเสียงดนตรีดังกระหึ่มไปถึงวัด ซึ่งอยู่ห่างไป ๑ กิโลเมตร

ไม่มีมุมไหนของวัดที่เสียงดนตรีนั้นจะทะลวงไปไม่ถึง

กลางค่ำกลางคืน เสียงมหรสพก็ยังดังไม่หยุด

 ยิ่งดึก เสียงก็ยิ่งดังจนถึงรุ่งเช้า พระทั้งวัดนอนแทบไม่ได้เอาเลย

วันรุ่งขึ้นพระในวัดจึงขอร้องผู้ใหญ่บ้านว่า

ถ้ามหรสพยุติราวตี ๑ จะได้ไหม เพื่อให้พระมีเวลาหลับสัก ๒ ชั่วโมง

 ก่อนที่จะลุกขึ้นมาทำวัตรตอนตี ๓ แต่ผู้ใหญ่บ้านกลับปฏิเสธ

พระในวัดไม่มีที่พึ่งอื่นใดนอกจากหลวงพ่อชา

จึงพากันไปขอร้องท่านให้บอกชาวบ้านช่วยหรี่เสียงตอนตี ๑

 เพราะเชื่อว่าผู้ใหญ่บ้านต้องเกรงใจหลวงพ่อแน่ ๆ

อีกทั้งหลวงพ่อคงไม่เห็นดีด้วยกับความสนุกสนาน

ที่ไม่รู้จักเวล่ำเวลาแถมส่งเสียงดังทำลายความสงบสงัดของวัดป่า

แต่แทนที่หลวงพ่อจะเห็นด้วยกับพระในวัด ท่านกลับบอกว่า

“เสียงไม่ได้รบกวนท่าน ท่านต่างหากที่รบกวนเสียง”

 นี้เป็นสิ่งที่พระพรหมวังโสและเพื่อนพระไม่คาดคิด

แต่คำพูดของหลวงพ่อทำให้พระเหล่านั้นได้คิดว่า

เสียงก็เป็นสักว่าเสียง จะดังแค่ไหนก็ไม่ทำให้เราทุกข์ใจได้เลย

หากไม่ทะเลาะเบาะแว้งกับมัน หากวางใจเป็นกลางต่อเสียงนั้น

 ก็ไม่รู้สึกเป็นทุกข์แต่อย่างใด

พระอาจารย์พรหมวังโสพูดถึงประสบการณ์ครั้งนั้นว่า

แม้เสียงมหรสพยังดังอยู่ในหู

แต่ไม่รบกวนจิตใจของพระในวัดอีกต่อไป

เพราะต่างทำใจยอมรับได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น

 จะว่าไปมันก็แค่ ๓ วันเท่านั้น ไม่นานมันก็ผ่านไป

ในยามทุกข์ใจ ผู้คนมักโทษสิ่งภายนอก

แต่กลับไม่ตระหนักว่าแท้จริงแล้วสาเหตุของความทุกข์นั้น

อยู่ที่ใจตนเองต่างหาก นั่นเป็นเพราะว่าเราชอบส่งจิตออกนอก

จนลืมกลับมาดูใจของตน

หลวงพ่อชาชี้ให้เห็นนิสัยของคนส่วนใหญ่อย่างชัดเจน

เมื่อท่านกล่าวว่า

 “คนตั้งร้อยพันคนโทษว่ารูมันลึกเพราะล้วงไปไม่ถึง

 ที่จะว่าแขนของตนสั้นนั้นไม่ค่อยมี”











ขอบคุณที่มา fb. วัดป่าสุคะโต ธรรมชาติที่พักใจ
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 31 มกราคม 2559
Last Update : 31 มกราคม 2559 11:17:31 น.
Counter : 1237 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ