Group Blog
All Blog
### รู้หรือหลง ###









“รู้หรือหลง”

ถ้าฝึกใจให้มันอยู่นิ่งๆได้แล้ว

ทุกอย่างมันก็จะเท่ากันหมด

 ก็ทุกอย่างก็เป็นสมมุติ

นี่เราไปให้ความสำคัญ กับสมมุติ

เราก็เลยขึ้นลงไปกับสมมุติ ถ้าเราทำใจให้เฉยไว้

ให้อยู่นิ่งให้เป็นกลาง ไม่ขึ้นไม่ลง

มันก็จะไม่เห็นว่ามีอะไรแตกต่างกัน

 เจริญกับเสื่อมก็เท่ากัน เกิดกับตายก็เท่ากัน

 หนาวกับร้อนก็เท่ากัน หิวกับอิ่มก็เท่ากัน

เพราะใจเป็นเพียงผู้รับรู้เท่านั้น

 ใจไม่ได้เป็นผู้ร้อนหรือหนาว หิวหรืออิ่ม เกิดหรือดับ

เจริญหรือเสื่อม อย่างที่เขาเจริญหรือเสื่อม เกิดหรือดับ

 ก็เป็นตามธรรมดาของเขา

 เขาเป็นของเขาอยู่อย่างนี้ ไปเสมอ

ใครที่หลงตามกับความเจริญกับความเสื่อม

 ก็จะเกิดความดีใจเกิดความเสียใจ เวลาเจริญก็ดีใจ

 เวลาเสื่อมก็เสียใจ แต่ดีใจแล้วมันก็ผ่านไป

เสียใจแล้วมันก็ผ่านไป มันก็กลับมาอยู่ที่เดิม

 ที่เดิมก็คือ ที่รู้หรือที่หลง ถ้าที่หลงก็เต้นไปเต้นมา

 ขึ้นๆลงๆไปกับเหตุการณ์ต่างๆ

ดีใจเสียใจไปกับการเจริญกับการเสื่อมต่างๆ

 ถ้ากลับมาที่รู้ที่อุเบกขาก็จะเฉยๆ

เจริญก็เฉยๆ เสื่อมก็เฉยๆ เกิดก็เฉยๆ ตายก็เฉยๆ

 มันก็เลยเท่ากัน เจริญกับเสื่อมก็เท่ากัน

เกิดกับตายก็เท่ากัน หิวกับอิ่มก็เท่ากัน

หนาวกับร้อนก็เท่ากัน

นี่เป็นจุดที่เราต้องกลับมาหา ตอนนี้เราอยู่ผิดจุดกัน

 แทนที่จะอยู่ที่จุดรู้ เราไปอยู่ที่จุดหลง

พอจุดหลง มันก็ดีใจเสียใจไปกับการเจริญการเสื่อม

ถ้าเราหาจุดรู้เจอเราก็จะไม่ดีใจไม่เสียใจ

ไปกับการเจริญกับการเสื่อม ของสิ่งต่างๆ

พวกเราทุกคนนี้พอมาเกิดในโลกนี้แล้ว

เราก็จะต้องสัมผัสรับรู้กับการเจริญกับการเสื่อม

กับการเกิดกับการดับกับการเป็นกับการตาย

กับร้อนกับหนาว กับสุขกับทุกข์

กับการเจริญของลาภยศสรรเสริญ

 กับการเสื่อมของลาภยศสรรเสริญ

แต่เวลาที่เราสัมผัสเราไม่ได้สัมผัสด้วยความรู้

 เราสัมผัสด้วยความหลง เราก็เลยเกิดความดีใจ

เกิดความเสียใจขึ้นมา

เวลาเกิดความดีใจเกิดความสุข

มันก็ไม่เป็นปัญหาอะไร

 แต่เวลาเกิดความเสียใจเกิดความทุกข์ขึ้นมา

มันจะทรมานมาก

ดังนั้นเราต้องมาศึกษาหาวิธีดึงใจเรา

 ให้ไปอยู่ที่จุดรู้ อย่าไปอยู่ที่จุดหลง

 วิธีที่จะทำให้เราเข้าสู่จุดรู้ ให้ออกจากจุดหลง

 ก็คือวิธีของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้

พบวิธีที่จะทำให้ใจได้ยืนอยู่ที่จุดรู้ จุดรู้ที่ไม่สุขไม่ทุกข์

ไม่ดีใจไม่เสียใจ ไม่ยินดีไม่ยินร้าย

ไม่วุ่นวายไปกับเหตุการณ์ต่างๆ

 นี่คือสิ่งที่พวกเรา ควรจะศึกษา

เพื่อที่เราจะได้ปรับใจของเรา

 ให้ย้ายจากจุดหลง มาสู่ที่จุดรู้

ให้ได้ ถ้าอยู่ที่จุดรู้แล้วสบาย ไม่ดีใจไม่เสียใจ

 อาจจะคิดว่าถ้าไม่ดีใจแล้วจะมีความสุขหรือ

ความสุขที่ได้จากการดีใจนั้น

มันสู้กับความสุขที่รู้เฉยๆไม่ได้

พวกเรายังไม่เคยสัมผัสกับความสุขที่ได้จากการรู้เฉยๆ

 เราก็เลยคิดว่า เรายังต้องมีความดีใจอยู่

แต่เราลืมไปว่า ถ้าเรามีความดีใจ

เราก็จะต้องมีความเสียใจ เพราะใจมันไม่ยืนอยู่ที่จุดรู้แล้ว

 มันไปยืนอยู่ที่จุดหลง มันก็จะแกว่งเหมือนลูกตุ้มนาฬิกา

 เวลาดีใจก็เหมือนมันแกว่งไปทางซ้าย

 เวลามันเสียใจมันก็จะแกว่งไปทางขวา

ใจก็จะแกว่งไปแกว่งมา กับความสุขกับความทุกข์

ก็จะต้องอยู่กับความทุกข์ไปเสมอ ถ้าใจยังไม่นิ่ง

 ไม่อยู่ตรงกลาง ตรงกลางนี้คือจุดรู้ จุดเฉย จุดนิ่งเฉย

 จุดที่เป็นอุเบกขา ถ้าอยู่นิ่งเฉยแล้ว

 กลับจะได้ความสุขที่ดีกว่าความสุขที่ได้จากความดีใจ

แล้วก็ไม่ต้องไปพบกับความทุกข์ที่เกิดจากความเสียใจ

ถ้าเราดีใจกับสิ่งใดแล้ว เราจะต้องเสียใจกับสิ่งนั้นต่อไป

 เพราะว่าสิ่งที่เราดีใจด้วยนั้น จะต้องเปลี่ยนไป

 ต้องมีวันเสื่อมต้องมีวันหมดไป เวลาเสื่อมเวลาหมดไป

 เวลานั้นก็จะเป็นเวลาที่เราทุกข์ใจ

แล้วเวลาเกิดความทุกข์ใจนี้มันก็จะทำให้เราทรมานมาก

 และอาจจะทำให้เราต้องไปทำความทุกข์เพิ่มขึ้นมาอีก

 เพราะเราไม่รู้จักวิธีที่จะแก้ความทุกข์

ไม่รู้จักวิธีที่จะดึงใจเราให้เข้าอยู่ตรงจุดรู้ จุดตรงกลาง

ก็พยายามที่จะดิ้นหนีจากความทุกข์

เวลาพยายามดิ้นหนีก็ยิ่งทุกข์ขึ้นมากใหญ่

 เหมือนกับปมที่เราผูกไว้ แทนที่เราจะแกะออก

เรากลับไปดึงปมให้มันแน่นขึ้นไป

ยิ่งทุกข์ทรมานใจเพิ่มมากขึ้นไปอีก 

เพราะว่าเราจะดิ้นหนีจากความเสียใจ

 ดิ้นหนีจากความทุกข์ใจ

แต่เราดิ้นหนีความจริงไปไม่ได้

 เราจะดิ้นหนีจากความเสื่อมจากการดับ

ของสิ่งที่เราดีใจด้วยไม่ได้ ดิ้นไปหาสิ่งใหม่

 เดี๋ยวมันก็เสื่อมเหมือนกัน

แม้ว่าจะไปหาอะไรมาทดแทนมัน

สูญเสียอะไรไปแล้วไปหาสิ่งใหม่มาทดแทน

เดี๋ยวสิ่งนั้นก็จะต้องเสื่อม ก็จะต้องดับไปเหมือนกัน

นี่เราดิ้นกันมาไม่รู้กี่ล้านกี่แสนชาติแล้ว

 ดิ้นหนีจากร่างกายที่แก่ที่เจ็บที่ตายไป

แล้วก็ดิ้นไปหาร่างกายอันใหม่

 พอได้ร่างกายอันใหม่มา

 เดี๋ยวมันก็แก่มันก็เจ็บมันก็ตายใหม่

 ดิ้นกันอย่างนี้ไปเรื่อยๆ พยายามหาความสุข

หาความดีใจกับสิ่งต่างๆไปเรื่อยๆ

จึงเป็นเหตุที่ทำให้พวกเราต้องมาทุกข์กันอยู่เรื่อยๆ

เพราะเราไม่รู้จักแก้ปัญหา ที่ถูกทางนั่นเอง

เราแทนที่จะแก้ เรากลับไปผูกมัดปมให้มันแน่นขึ้น

 แทนที่จะแกะมันออก เรากลับไปผูกมัน

ให้มันมีปมเพิ่มมากขึ้นไป

ถ้าเราไม่ได้มาพบกับพระพุทธศาสนา

ไม่ได้มาพบกับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

 เราจะไม่มีวันที่จะแก้ ปมปัญหาของพวกเราได้เลย

แทนที่จะแก้ เรากลับจะไปผูกปมปัญหาขึ้นมาใหม่เรื่อยๆ

 สร้างภพสร้างชาติใหม่ ขึ้นไปเรื่อยๆ

ยิ่งสร้างมากก็ยิ่งต้องสร้างมากขึ้นไป

มันเหมือนก้อนหินกลิ้งลงจากภูเขา

ก้อนหินมันจะไม่กลิ้ง ช้าลง แต่มันจะกลิ้งเร็ว

เร็วขึ้นไป เร็วขึ้นไป กำลังมันจะมีมากขึ้นไป

มากขึ้นไปเรื่อยๆ การแก้ปัญหาของพวกเรา

 ก็คือแก้ด้วยความอยาก เวลาอยู่เฉยๆไม่มีอะไรทำ

 ก็แก้ด้วยความอยาก อยากไปเที่ยว

อยากไปหาคนนั้นคนนี้ อยากจะไปหาสิ่งนั้นสิ่งนี้

อย่างคนที่แก้ปัญหาด้วยการไปเสพยาเสพติด

ดื่มสุรายาเมาสูบบุหรี่ ช็อปปิ้งซื้อของฟุ่มเฟือย

 ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ นี่คือวิธีแก้ความทุกข์ของเรา

 ทุกข์ที่เกิดจากความเหงา ความว้าเหว่

ทุกข์ที่เกิดจากเวลาที่ไม่มีอะไรจะทำ ใจก็จะหงุดหงิด

 ต้องหาอะไรทำ ก็จะไปทำกับเรื่องของรูป

 เสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ในรูปแบบต่างๆ

เสพยาเสพติด ดื่มสุรา ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ

 ไปซื้อข้าวซื้อของฟุ่มเฟือยต่างๆ

พอแก้ปัญหาแบบนี้ แทนที่ความหงุดหงิด

 รำคาญใจเวลาอยู่เฉยๆ มันกลับเพิ่มความหงุดหงิด

 เพิ่มมากขึ้น ต้องแก้บ่อยขึ้นมากขึ้นไปเรื่อยๆ

แก้ไปเท่าไหร่ก็จะไม่มีวันหมด

ความหงุดหงิดความทุกข์

 ความไม่สบายอกไม่สบายใจ

 เวลาที่อยู่เฉยๆอยู่คนเดียว

 ก็จะไม่มีวันหมด ก็ต้องแก้ไปเรื่อยๆ

 แก้ไปจนไม่มีแรงที่จะแก้ คือร่างกายไม่สามารถ

ที่จะทำตามความอยากได้ ก็ทุกข์อีกแล้ว

 แก้ไม่ได้ แล้วก็พอตายไปก็ต้องไปหาร่างกายอันใหม่

เพราะอยู่แบบไม่มีร่างกายไม่ได้

ต้องมีร่างกายเพื่อที่จะได้มาแก้ความหงุดหงิด

ความรำคาญใจต่อ อันนี้คือวิธีแก้ของพวกเรา

วิธีแก้ของพระพุทธเจ้านี้ ท่านหยุดความอยาก

 เวลาอยู่เฉยๆหงุดหงิด ท่านก็ภาวนา ทำใจให้สงบ

 พอใจสงบ ใจก็จะหายจากความหงุดหงิด

ใจเข้าสู่จุดรู้ จุดอุเบกขา จุดที่ไม่มีความอยาก

ท่านก็เลยรู้ว่านี่คือวิธีแก้ปัญหา ที่แท้จริง

 แต่เป็นการแก้แค่ชั่วคราว

 เพราะว่าเวลาออกจากความสงบ

ความหงุดหงิดก็จะกลับคืนมา

ความอยากจะแก้ความหงุดหงิดด้วยการกระทำ

สิ่งต่างๆก็จะตามมาใหม่

ถ้าอยากจะแก้ความหงุดหงิดอย่างถาวร

 ก็ต้องพิจารณาให้เห็นว่า การแก้ความทุกข์ใจ

ด้วยการกระทำตามความอยากนี้

กลับเป็นการยืดความทุกข์

ให้เพิ่มมากขึ้นไปให้ยาวออกไป

 วิธีที่จะแก้ต้องแก้ด้วยการไม่ทำตามความอยาก

 พิจารณาให้เห็นว่า สิ่งที่จะมาทำให้เราหายหงุดหงิดนี้

 มันไม่เที่ยงมันไม่ถาวร ได้มาเราก็ดีใจใหม่ๆ

 แล้วเวลาเขาเสื่อมไป เปลี่ยนไปดับไป

เราก็กลับมาอยู่ที่จุดเดิมอีก กลับมาที่ความไม่สบายใจ

กลับมาที่ความทุกข์ใจ แล้วต่อให้เราพยายาม

ที่จะดูแลรักษาสิ่งที่เราให้ดีขนาดไหนก็ตาม

เราก็จะไม่สามารถที่จะไปยับยั้งความเสื่อมความดับ

 การเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่เราเอามาแก้ปัญหาให้กับเรานี้

 เราก็จะกลับมาอยู่ที่จุดที่เราไม่สบายใจทุกข์ใจ

หงุดหงิดรำคาญใจ เศร้าสร้อยหงอยเหงา

ว้าเหว่เปล่าเปลี่ยว

 แล้วเราก็จะไปทำตามที่เราเคยทำอีก

 แต่ถ้าเราได้พบกับวิธีแก้ที่ถูก

 ก็คือวิธีทำใจให้เป็นอุเบกขาได้

เราก็รู้ว่าเราต้องกลับมาที่จุดนี้

กลับมาที่จุดที่เป็นอุเบกขา

 และการที่จะกลับมาที่จุดที่เป็นอุเบกขา

ก็คือก็ต้องไม่ทำตามความอยากนั้นเอง

 พอเราไม่ทำตามความอยาก

ความอยากนั้นก็จะอ่อนกำลังลงไปเรื่อยๆ

แล้วก็จะหมดไปในที่สุด พอหมดแล้ว

เราก็จะอยู่ที่จุดรู้ตลอดเวลา

จะเข้าสมาธิก็ได้ไม่เข้าสมาธิก็ได้

 ถ้าเรามีปัญญาคอยสกัดความอยากทุกรูปแบบ

ที่จะดึงให้เราออกจากจุดรู้ ไปสู่จุดหลง

ไปสู่ความทุกข์

อันนี้แหละคืองานของพวกเรา

 ที่เราจะต้องพยายามทำกันให้ได้

คือ พยายามดึงใจของเราให้ออกจากจุดหลง

 ให้มายืนอยู่ที่จุดรู้ ก็ต้องเจริญสมถภาวนา

และวิปัสสนาภาวนา ด้วยการสนับสนุนของการรักษาศีล

 ด้วยการทำทาน ทานนี้มีไว้สำหรับสกัดความหลง

 ที่จะไปแก้ปัญหาด้วยการใช้เงินทองแก้ปัญหากัน

ทุกวันนี้เราใช้เงินทองแก้ปัญหาใจกัน

 เราไม่สบายใจเราก็ไปเที่ยวกัน ไปดื่มไปรับประทาน

ไปดูไปฟังกัน ก็ต้องใช้เงินทอง

เมื่อเราใช้เงินทองมาแก้ปัญหา

 เราก็สร้างปัญหาให้กับเรา

 เพราะเราก็ต้องไปหาเงินทองมา

หาเงินทองแล้วก็มาแก้ปัญหาที่ไม่มีวันจบไม่มีวันสิ้น

แก้กันไปอย่างนั้น วนกันไปอย่างนั้น

หาเงินมาก็ไปสร้างปัญหากับการหาเงินอีก

ต้องไปทุกข์ไปเหนื่อยยากกับการหาเงินหาทอง

แล้วพอได้เงินมา ก็เอามาแก้ปัญหาที่ไม่ถูกทาง

ทำให้ปัญหามันยืดเยื้อต่อไปมันไม่หมดไป

 ถ้าจะแก้ให้มันหมด ก็คือเอาเงินทอง

 ที่จะไปแก้ปัญหาแบบเดิมๆนี้

มาแก้ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแก้

คือเอามาทำทานเสีย

 เช่นปีใหม่นี้จะไปเที่ยวที่ไหน

 ก็อยู่บ้านเอาเงินที่จะเที่ยวนี้ เอาไปทำบุญทำทาน

ทำที่ไหนก็ได้ ทำที่วัดก็ได้ ที่โรงเรียนก็ได้

ที่โรงพยาบาลก็ได้ ที่บ้านก็ได้ ทำกับพ่อทำกับแม่

 ทำกับผู้ที่มีพระคุณ ทำกับผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากเดือดร้อน

ทำแล้วเราก็จะได้แก้ปัญหาได้ถูกทาง

เราจะได้หยุดแก้ปัญหาด้วยการใช้เงินทอง

เพื่อไปทำตามความอยากต่างๆ

 เรารักษาศีลก็เช่นเดียวกัน

 รักษาศีลก็เพื่อจะตัดไม่ให้เราไปสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น

 เพราะการทำบาปนี้ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา

แต่มันจะทำให้ปัญหาเพิ่มมากขึ้น

 เช่นเราขาดเงินขาดทอง เราก็ไปลักขโมย

หรือไปโกหกหลอกลวง เอาเงินของผู้อื่นมาใช้

ใช้แล้วเราก็ไม่มีปัญญาที่จะคืน

ก็ต้องถูกเขามาตามทวงหนี้อยู่เรื่อยๆ

 แล้วก็อาจจะต้องถูกจับขึ้นศาลขึ้นอะไรกัน

ติดคุกติดตารางไป เราจึงต้องรักษาศีลกัน

 ต้องไม่ทำบาป ต้องทำทาน

อย่าเอาเงินทองไปใช้ในการแก้ปัญหาทางใจ

ด้วยการไปซื้อของฟุ่มเฟือย ไปเที่ยวไปทำอะไรต่างๆ

ถ้าเราหยุดการใช้เงินทองเพื่อแก้ปัญหาทางใจ

เราก็จะไม่ต้องเสียเวลากับการไปหาเงินทองมา

ถ้าจะหาก็หาเท่าที่จำเป็น

หาพอให้มาแก้ปัญหาทางร่างกาย

คือหาอาหาร หาที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค

ก็ไม่ต้องเสียเวลามาก ก็จะทำให้เราได้มีเวลา

มาแก้ปัญหาใจของเรา คือมาบำเพ็ญจิตตภาวนา

 มาบำเพ็ญสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..................................

กัณฑ์ที่ ๔๖๙ วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๖

“รู้หรือหลง”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 01 สิงหาคม 2559
Last Update : 1 สิงหาคม 2559 11:01:48 น.
Counter : 1528 Pageviews.

0 comment
### วิธีที่จะทำให้ใจของเราสงบและอิ่มอย่างถาวร ###











“วิธีที่จะทำให้ใจของเราสงบ

และอิ่มอย่างถาวร”

วิธีที่จะทำให้ใจของเราสงบและอิ่มอย่างถาวร

 ก็คือเราต้องไม่ทำตามความอยากเท่านั้น

 ให้เราดูสิ่งที่เราอยากได้ ว่าเวลาได้มาแล้ว

 มันมีผลอะไรกับจิตใจเรา

มันให้ความสุขเรานานสักเพียงไร

บางทีมันให้เราเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง

 แล้วมันก็จางหายไปแล้วมันก็จะเกิดความอยาก

ที่จะได้ใหม่ ส่วนของที่ไม่จางหายไป

ของที่ได้มาแล้วยังมีอยู่

มันก็กลับสร้างความวุ่นวายใจให้กับเรา

 เพราะเราได้ของอะไรมา เราก็มักจะรักจะหวงจะห่วง

เพราะเราอยาก จะให้ของที่เราได้มา

หรือบุคคลที่เราได้มานั้นอยู่กับเราไปเรื่อยๆ

 ไม่จากเราไป แต่พอเราคิดขึ้นมาว่า

เขาอาจจะ ต้องจากเราไปวันใดวันหนึ่ง

 หรือเขาจากเราไปจริงๆ

เวลานั้นแทนที่เราจะมีความสุขกับสิ่งที่เราได้มา

 สิ่งที่เราได้มานั้นกลับกลายเป็นเหตุ

ที่สร้างความทุกข์ใจให้กับเรา

 การสูญเสียสิ่งที่เรารักไปนี้มักจะทำให้เรา

 ร้องห่มร้องไห้เศร้าโศกเสียใจกัน

แต่ถ้าเราไม่มีสิ่งที่เราได้มา

 เราจะมาเศร้าโศกเสียใจร้องห่มร้องไห้กับอะไร

 อันนี้ให้ใช้ปัญญาพิจารณาดูตาม

พระพุทธเจ้าได้ทรงพิจารณาและได้ทรงปฏิบัติมา

 พระองค์ทรงฝืน ความอยากทุกชนิด

ความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ที่เรียกว่ากามตัณหา พระองค์ก็ทรงฝืนไม่ทำตาม

 ภวตัณหา คือความอยากมี อยากเป็น

 พระองค์ก็ทรงฝืนไม่กระทำ

วิภวตัณหา ก็ทรงฝืนไม่กระทำตามความอยาก

 พอไม่กระทำไปเรื่อยๆ ความอยากก็จะอ่อนกำลัง

ลงไปตามลำดับแล้วก็จะหมดไปในที่สุด

นี่แหละคือวิธีที่เราจะสร้างมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

ให้เป็นไปอย่างถาวร ต้องสร้างด้วยวิปัสสนาภาวนา

 คือหลังจากที่เราได้สมถภาวนาคือความสงบแล้ว

 เราก็เอาความสงบนี้มาต่อสู้

กับความหิวความอยากต่างๆ มาสนับสนุนปัญญา

ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราพิจารณา

ให้พิจารณาว่าทุกอย่างไม่เที่ยง

ดีขนาดไหนก็ไม่เที่ยง

ถึงเวลามันก็ต้องจากเราไป

ถ้าเรารักมันเราก็จะทุกข์

 ของไม่ดีถ้าเราเจอมันเราก็จะทุกข์

 ถ้าเราอยากจะให้มันหายไป มันก็หายไม่ได้

 เพราะมันเป็นอนัตตา มันไม่ได้เป็นของเรา

มันไม่ได้เป็นตัวเรา

มันไม่ได้เป็นสิ่งที่เราจะสั่งให้มันหายไปได้

เช่นเวลาความแก่โผล่มา

เราจะสั่งให้มันหายไปไม่ได้

 เราจะกลับไปเป็นหนุ่มเป็นสาวไม่ได้

เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วยเราจะสั่งให้มันหายไปไม่ได้

 เวลาที่มันจะตายขึ้นมา เราไปสั่งให้มันไม่ตายไม่ได้

 เราก็ต้องหยุดความอยาก อย่าไปสั่งอย่าไปอยาก

ให้มันไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

เพราะมันจะทำให้เราต้องเครียด

 ต้องทุกข์ทรมานใจไปเปล่าๆ

 โดยที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความจริงแต่อย่างใด

ความแก่ก็ยังต้องแก่ ความเจ็บก็ยังต้องเจ็บ

 ความตายก็ยังต้องตาย

 แต่ความเจ็บ ความแก่

 ความตายนี้มันไม่ได้เป็นตัวปัญหา

 มันไม่ได้เป็นตัวที่สร้างความทุกข์ใจให้กับเรา

 ตัวที่สร้างความทุกข์ใจ ให้กับเราก็คือ

ความอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตายนี้ต่างหาก

 อันนี้คือความจริงที่เรียกว่า “ปัญญา”

ที่เราสามารถพิจารณาและแยกแยะออกให้เห็นได้ว่า

 อะไรเป็นพิษเป็นภัยกันแน่

พวกเรากลัวความแก่ กลัวความเจ็บ กลัวความตาย

เหมือนกับกลัวเสือ แต่ความจริงมันเป็นเสือที่ไม่กัด

ตัวที่กัดเรา เรากลับไม่กลัว

เรากลับไม่รู้ว่ามันเป็นตัวที่กำลังกัดเรา

 ตัวที่กำลังกัดเราก็คือตัววิภวตัณหานี้

ความอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย

 ไม่ใช่ความแก่ ความเจ็บ ความตาย

คนที่ไม่มีความอยากไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

เช่นพระอริยบุคคลทั้งหลายตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปนี้

ท่านไม่ทุกข์กับความแก่ ไม่ทุกข์กับความเจ็บ

 ไม่ทุกข์กับความตาย

เพราะท่านเจอเสือที่แท้จริงและได้ฆ่ามัน

ท่านรู้ว่าเสือตัวนี้ก็คือวิภวตัณหานี่เอง

ตัวที่ไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย

 เพราะมันไม่มองความจริง มองแต่ความหลง

 คิดไปตามความหลง

รักอะไรแล้วก็ต้องให้มันอยู่กับเราไปตลอด

 รักร่างกายนี้ก็ต้องการ ให้มันไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

 ก็เลยสร้างเสือขึ้นมา เสือก็แท้จริงก็คือ

ความอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย

 พอใช้ปัญญาพิจารณาแยกแยะแล้วก็เลยรู้ว่า

 ต้องฆ่าตัวไหน ตัวที่จะต้องฆ่าก็คือ

ตัวความอยากไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายนี่เอง

 ตัวนี้แหละที่เป็นเสือจริง

 เสือปลอมก็คือความแก่ ความเจ็บ ความตาย

มันไม่กัดเรา มันไม่ทำลายจิตใจของเรา

อันนี้จะเกิดขึ้น ถ้าเรามีสมถภาวนา

ถ้าไม่มีสมถภาวนา เราจะไม่มีกำลัง

ที่จะพิจารณาความจริงอันนี้

 มันต้องพิจารณาในขณะที่เกิดเหตุการณ์จริง

 ถ้ายังไม่มีเหตุการณ์จริง อย่างตอนนี้เราพิจารณากัน

 มันยังไม่ได้เป็นของจริง มันยังดับความทุกข์ไม่ได้

 มันยังฆ่าเสือไม่ได้ ต้องรอให้เสือมาจริงๆก่อน

ต้องรอให้เกิดวิภวตัณหาขึ้นมาจริงๆ

 การที่จะเกิดวิภวตัณหาขึ้นมา

ก็ต้องไปเจอความแก่

ความเจ็บ ความตายอย่างจริงๆ

 แล้วดูซิว่าจะทำใจได้หรือเปล่า

 ทำใจให้ไม่ทุกข์กับความแก่ ความเจ็บ

ความตายได้หรือเปล่า

ถ้าทำได้ก็แสดงว่าเราได้ฆ่าเสือ

 ตัวที่มาคอยกัดกินใจของเรา

นี่คือเรื่องของวิปัสสนา

ที่จะต้องเอามาใช้ในการฆ่าเสือทั้ง ๓ ตัวนี้

เสือคือกามตัณหา วิภวตัณหา ภวตัณหา

กามตัณหาก็คือความอยากในกาม

 เช่นอยากจะเสพกาม อยากร่วมหลับนอนกับผู้อื่น

 เห็นเขาสวยเห็นเขาหล่อ

ห็นแล้วเกิดอารมณ์กำหนัดยินดี

 ถ้าไม่เสพแล้วมันหงุดหงิดกินไม่ได้นอนไม่หลับ

ถ้าได้เสพแล้วจะมีความสุข

 แต่ไม่รู้ว่าเป็นความสุขเดี๋ยวเดียว

แล้วเดี๋ยวก็ต้องเสพใหม่

 เหมือนกับยาเสพติดที่เวลาอยากขึ้นมา

ก็คิดว่าเสพแล้ว จะมีความสุข

พอได้เสพแล้วมันก็เป็นความสุขเดี๋ยวเดียว

พอผ่านไปแล้วไม่นาน ก็เกิดความอยากขึ้นมาใหม่

ก็ต้องเสพใหม่ แต่เราจะเสพไปได้ตลอด

ไปถึงเมื่อไหร่ เพราะร่างกายของเราก็ไม่เที่ยง

 ร่างกายของคนที่เราจะเสพด้วย

 เขาก็ไม่เที่ยงและสิ่งที่ไม่เที่ยง เร็วกว่าร่างกายของเขา

ก็คือจิตใจของเขา เขาอาจจะเปลี่ยนใจ

ไม่ชอบเราวันใดวันหนึ่งขึ้นมาก็ได้

 ไม่อยากจะร่วมหลับนอนกับเราเมื่อไหร่ก็ได้

ถึงเวลานั้นแล้วเราจะทำอย่างไร

 เราก็จะต้องหงุดหงิดทุกข์ทรมานใจ

นี่คือไม่ได้เป็นวิธีสร้างความสุขให้กับใจ

 ไม่ได้เป็นวิธีดับความทุกข์ให้กับใจ

 แต่เป็นวิธีตรงกันข้ามกัน คือสร้างความทุกข์ให้กับใจ

ทำลายความสุขที่มี ที่ได้จากความสงบไป

นี่แหละคือเสือที่เราต้องฆ่ามันให้ได้

จะฆ่ามันให้ได้ต้องล่อมันออกมาจากกรง

 ต้องล่อให้มันออกมา ตอนนี้มันไม่มีอารมณ์อะไรต่างๆ

มันไม่รู้จะฆ่าเสือได้อย่างไร เสือมันไม่ออกมา

ถ้าเราอยากจะฆ่าเสือ เราก็ลองถือศีล ๘

 ไปดู คนที่อยู่ด้วยกันต้องนอนหลับด้วยกันนี้

ลองถือศีล ๘ ไปดูสักพักหนึ่ง

 ดูซิว่าเสือมันจะออกมาหรือไม่ออกมา

มันต้องรอมันต้องสร้างภาวะ

ให้เกิดความอยากขึ้นมาให้ได้

 ถ้าไม่สร้างภาวะให้เกิดความอยาก

 คือเวลาเกิดความอยากต้องรีบทำตามความอยาก

 ความอยากนั้นก็หายไป

 เวลามันอยากแล้วเราอย่าไปตอบสนองความอยาก

ดูซิว่าจิตใจของเราเป็นอย่างไร ทุกข์หรือไม่ทุกข์

 ทุกข์แล้วเราจะแก้อย่างไร

จะแก้ด้วยการทำตามความอยาก

หรือจะแก้ด้วยการไม่ทำตามความอยาก

ถ้าแก้ด้วยการทำตามความอยาก

ก็เหมือนกับเวลาที่เราต้องการดับไฟ

เราเอาน้ำมันเทลงไป เราคิดว่าเป็นน้ำ

แต่ความจริงมันเป็นน้ำมัน เวลาเทลงไปใหม่ๆ

 ไฟมันทำท่าจะดับ เพราะตอนนั้นน้ำมันยังไม่ร้อน

 มันก็เป็นเหมือนน้ำ แต่สักครู่เดียวเท่านั้นแหละ

 น้ำมันที่มันเย็นนั้นมันร้อนขึ้นมา มันก็เกิดการปะทุ

ทำให้เกิดไฟลุกขึ้นเป็นกองใหญ่กว่าเก่า

นี่คือการดับความอยากด้วยการทำตามความอยาก

 พออยากปั๊บก็ทำตามความอยากปั๊บ

 ความทุกข์นั้นก็หายไป แต่หายไปไม่นาน

 เดี๋ยวมันกลับเกิดความอยากที่ใหญ่โตกว่าเดิม

 ต้องการมากกว่าเดิม เคยได้แค่นี้

คราวหน้า อยากจะได้ ๒ เท่าของคราวที่แล้ว

นี่คือลักษณะของการดับความทุกข์

ด้วยการทำตามความอยาก

 มันจะทำให้ความทุกข์นี้รุนแรงขึ้น

ความอยากรุนแรงขึ้นไม่ใช่ให้เบาให้น้อยลงไป

ถ้าจะให้เบาให้น้อยลง ต้องทำแบบพระพุทธเจ้า

คือต้องไม่ทำตามความอยาก ต้องใช้ปัญญาพิจารณา

ให้เห็นว่า มันเป็นความทุกข์ แล้วใช้สมถภาวนา

ใช้ความสงบมาคอยหล่อเลี้ยงจิตใจ

ไม่ให้ทุกข์ทรมานไปกับความอยากต่างๆ

 พอฝืนได้แล้ว ครั้งต่อไป

ความอยากมันก็จะอ่อนลงเบาลงไป

 ความรุนแรงจะอ่อนลงไปเรื่อยๆ

จนเรารู้สึกสบาย มันจะเกิดขึ้นมานี้

 ถ้าเราสู้กับตัวแรกได้แล้วตัวที่ ๒ ตัวที่ ๓

มันจะเล็กลงไปเรื่อยๆ ไม่ใช่จะใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ

 เหมือนกับเราเทน้ำลงไปในกองไฟ

ไฟมันก็จะลดอุณหภูมิลงไป

ความรุนแรงของไฟก็จะอ่อนลงไป

 พอเราเทครั้งที่ ๒ ลงไปมันก็ยิ่งอ่อนลงไปเรื่อยๆ

แล้วเดี๋ยวในที่สุดไฟมันก็จะดับไป

นี่คือเรื่องของการใช้สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา

ในการบรรลุมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ของพระพุทธเจ้า

ที่พระองค์ได้ค้นคว้าศึกษาหาได้ด้วยตนเอง

 ทรงรู้ว่าการแก้ความทุกข์นี้

ต้องแก้ด้วยการละความอยาก

ไม่ใช่แก้ ด้วยการทำตามความอยาก

พอพระองค์ได้กำจัด

ความอยากหมดสิ้นไปจากจิตใจ

 พระทัยของพระองค์

ก็เหลือแต่ ความสุขเพียงอย่างเดียว

 เป็นความสุขที่ไม่เสื่อมไม่หมด

 เพราะจิตใจนี้เป็นสิ่งที่ไม่เสื่อมไม่หมดนั่นเอง

สิ่งที่อยู่ ในจิตใจก็จะอยู่ไปกับจิตใจไปตลอด

 เพราะสิ่งที่จะมาทำให้เสื่อมให้หมดนั้น

มันไม่มีคือการเกิดความอยากขึ้นมา

และการเผลอสติ ไม่รักษาความสงบไว้เท่านั้นเอง

 แต่ถ้าเรามีสติที่เราจะรักษาความสงบไว้ได้อย่างต่อเนื่อง

 ตลอดเวลา จนเป็นธรรมชาติของใจไป

 มีสติควบคู่กับใจไปตลอด อย่างที่หลวงตาท่านพูด

 สติปัญญาอัตโนมัติ

 อัตโนมัติก็คือไม่ต้องไขลานไม่ต้องคอยเจริญ

สตินี้ถ้าเราเจริญไปถึงขีดหนึ่งแล้ว

มันจะเป็นธรรมชาติไป มันจะเป็นของมันไปเอง

 มันจะดูมันจะทำหน้าที่ของมันไป

โดยที่เราไม่ต้องไปปลุกไปเรียกมัน

 เช่นเดียวกับปัญญาที่เราใช้การพิจารณาไตรลักษณ์

 อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ในเบื้องต้นนี้เหมือนกับเราต้องไขลาน

ต้องคอยบังคับให้มอง

ให้ใจมองทุกอย่างว่าเป็นไตรลักษณ์

เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

พอมองไปเรื่อยๆแล้วต่อไปมันจะเป็นนิสัยไป

 มันเห็นอะไรมันจะคิดถึงไตรลักษณ์ทันที

 มันจะคิดถึงอสุภะทันที มันจะคิดถึงธาตุ ๔

 ดินน้ำลมไฟทันที นี่ถ้ามันเป็นอย่างนี้แล้ว

มันก็จะสามารถ ที่จะรักษาใจให้สงบไปได้ตลอด

 เป็นปรมัง สุขังได้ตลอดเวลา

ทั้งนี้ทั้งนั้นผลเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้นมาได้

ก็ขึ้นอยู่ ที่การปฏิบัติของพวกเราเอง

 ไม่มีใครสามารถที่จะปฏิบัติ ให้กับเราได้

 และสิ่งที่จะควบคุมบังคับให้เราอยู่ในล่องในรอย

ของการปฏิบัติก็คือคุณธรรม ๔ ประการ

ที่ได้ยกขึ้นไว้ในเบื้องต้น ก็คืออธิษฐานความตั้งใจ

 สัจจะความจริงใจ วิริยะความอุตสาหะ

พากเพียรและขันติ ความอดทน

 ถ้าเรามีคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้แล้ว

เราจะสามารถทำในสิ่งที่เราเห็นว่า

เป็นคุณเป็นประโยชน์กับเรา

ก็คือจะทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

 คือการเจริญทาน ศีล ภาวนานี้

ไปจนกว่าเราจะได้บรรลุมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

............................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๘

“อธิษฐาน สัจจะ วิริยะ ขันติ”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 31 กรกฎาคม 2559
Last Update : 31 กรกฎาคม 2559 15:16:41 น.
Counter : 798 Pageviews.

0 comment
### เติมกำลังใจ ###













“เติมกำลังใจ”

พวกเรามาวัดเพื่อมาชาร์จแบตเตอรี่

ชาร์จกำลังใจ

ที่เป็นปัจจัยสำคัญอย่างมาก

ต่อการหลุดออกจากการเวียนว่าย ตายเกิด

 ถ้าไม่มีกำลังใจจะไม่สามารถออกจาก

การเวียนว่ายตายเกิดได้

 เหมือนกับจรวดที่ส่งยานอวกาศ

 ออกจากการดึงดูดของโลก

 จะต้องมีกำลังมากกว่าแรงดึงดูดของโลก

 ถ้าแรงดึงดูดของโลกมีกำลังมากกว่า

จรวดก็จะไม่สามารถออกจากการดึงดูดของโลกได้

 เวลาออกแบบจรวด

จึงต้องคำนวณดูแรงดึงดูดของโลก

ว่ามีมากน้อยเพียงไร ต้องสร้างจรวดให้มีกำลัง

มากกว่าแรงดึงดูดของโลก

จรวดถึงจะออกจากการดึงดูดของโลก ได้

ไปสู่จุดหมายปลายทางที่ต้องการไปได้

 เช่นไปโลกพระจันทร์ ไปดาวอังคาร ฉันใด

ใจที่ต้องการหลุดจาก แรงดึงดูดของกิเลสตัณหา

ที่ดึงดูดใจให้เวียนว่ายอยู่ในวัฏจักร

แห่งการเวียนว่ายตายเกิด เกิดแก่เจ็บตาย

ก็ต้องมีกำลังมากกว่าแรงดึงดูดของกิเลสตัณหา

 โมหะอวิชชา ถ้าไม่มีพระพุทธศาสนา

 ก็จะไม่มีที่ชาร์จกำลังใจ

ให้ใจได้หลุดออกจากการดึงดูดของกิเลสตัณหา

 เพราะมีพระพุทธศาสนาเพียงศาสนาเดียวเท่านั้น

ที่รู้วิธีสร้างกำลังใจ ให้มีมากกว่า

แรงดึงดูดของกิเลสตัณหา

การได้มาพบพระพุทธศาสนา

จึงเป็นเหมือนกับพบที่ชาร์จ

แบตเตอรี่ของโทรศัพท์มือถือ

 เวลาแบตฯหมด ถ้าไม่มีที่ชาร์จแบตฯ

ก็จะไม่สามารถชาร์จแบตฯ

ให้ขับเคลื่อนโทรศัพท์มือถือได้ ฉันใด

ถ้าไม่มีพระพุทธศาสนา ก็จะไม่มีที่ชาร์จกำลังใจ

ที่จะทำให้ใจออกจากแรงดึงดูดของวัฏจักร

ของกิเลสตัณหาได้ ถ้าได้พบพระพุทธศาสนาแล้ว

 สิ่งที่ควรทำอย่างมากก็คือชาร์จกำลังใจ

เติมกำลังใจ ด้วยการสร้างคุณธรรม ๕ ประการคือ

๑. ศรัทธา ๒. วิริยะ ๓. สติ ๔. สมาธิ ๕. ปัญญา

 ที่จะทำให้ใจมีกำลังมากกว่ากิเลสตัณหา

 ที่ดึงใจให้เวียนว่ายตายเกิด

 ศรัทธาเป็นคุณธรรมประการแรกที่ต้องมีก่อน

ถ้าไม่มีศรัทธาก็จะไม่มีวิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา

ก็คือศรัทธาในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์

 ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ศรัทธาในพระธรรมคำสอน

 ของพระพุทธเจ้า ศรัทธาในพระอริยสงฆ์สาวก

ศรัทธาในพระพุทธเจ้าก็คือ

เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบ วิธีสร้างกำลังใจ

ด้วยพระองค์เอง ให้ใจมีกำลังมากกว่ากิเลสตัณหา

ที่ทำให้พระองค์หลุดพ้นจากการเวียน ว่ายตายเกิด

ศรัทธาในพระธรรมคำสอนก็คือ

เชื่อว่าพระธรรมคำสอนจะทำให้ผู้ปฏิบัติตาม

 สามารถสร้างกำลังใจ ให้ชนะกิเลสตัณหาได้

 ให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้

 ศรัทธาในพระอริยสงฆ์สาวก

ว่าเป็นผู้ที่มีศรัทธา ในพระพุทธเจ้า

 หลังจากที่ได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนแล้ว

ก็นำเอาไปปฏิบัติอย่างขะมักเขม้น

จนหลุดพ้นจากแรงดึงดูดของวัฏจักร

หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

ถ้ามีศรัทธาในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์

ก็จะเชื่อว่าเราก็สามารถ

ที่จะสร้างกำลังใจให้เกิดขึ้นได้

ให้มีกำลังมากกว่ากิเลสตัณหา

 เพื่อจะได้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

 นี่คือศรัทธา ธรรมข้อที่ ๑ อย่าสงสัยในพระธรรม

คำสอนของพระพุทธเจ้า ว่า

เป็นสวากขาโต ภควตา ธัมโมหรือไม่

 เป็นธรรมที่ตรัสไว้ชอบ หรือไม่

ที่สามารถนำพาสัตว์โลกให้หลุดพ้น

จากการเวียนว่ายตายเกิดได้หรือไม่

ต้องมีความเชื่อ มีความมั่นใจ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

 เพื่อจะได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจร้อยเปอร์เซ็นต์

ให้แก่การปฏิบัติ

ตามพระธรรมคำสอน ของพระพุทธเจ้า

 ดังที่พระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลายได้ทุ่มเท

ศรัทธาความเชื่อในพระพุทธเจ้า

 และในคำสอนของพระพุทธเจ้ามาแล้ว

 จนได้บรรลุเป็นพระอริยสงฆ์สาวก

ได้หลุดพ้นจากการเวียนว่าย ตายเกิดมาแล้ว

พวกเราก็เป็นพวกเดียวกับพระอริยสงฆ์สาวก

 เพียงแต่ว่าตอนนี้เรายังไม่ได้สร้างกำลังใจ

 ให้มีเท่ากับพระอริยสงฆ์สาวก

 ถ้าสร้างกำลังใจให้มีเท่ากับพระอริยสงฆ์สาวกแล้ว

 คือสร้างวิริยะให้เต็มร้อย สร้างสติให้เต็มร้อย

 สร้างสมาธิให้เต็มร้อย สร้างปัญญาให้เต็มร้อยแล้ว

 รับรองได้ว่าใจจะมีกำลังมากกว่า

 กิเลสตัณหา จะหลุดพ้น

จากการเวียนว่ายตายเกิดได้อย่างแน่นอน

เพราะการออกจากการเวียนว่ายตายเกิด

ก็เป็นเหมือนการชักเย่อกัน

 ฝ่ายหนึ่งจะดึงให้วนอยู่ในวัฏจักร

แห่งการเวียนว่ายตายเกิด

 อีกฝ่ายหนึ่งจะดึง ให้ออกจากการเวียนว่ายตายเกิด

 ฝ่ายไหนมีกำลังมากกว่า ฝ่ายนั้นก็จะเป็นฝ่ายชนะ

ถ้าฝ่ายธรรมมีกำลังมากกว่าฝ่ายกิเลสตัณหา

 ก็จะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

ถ้าฝ่ายกิเลสตัณหามีกำลังมากกว่า

 ก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป นี่คือเรื่องของใจ

 ที่เป็นเหมือนสมบัติของ ๒ ฝ่าย

ที่แก่งแย่งกัน แข่งขันกัน ฝ่ายธรรมกับฝ่ายอธรรม

 ฝ่ายธรรมก็คือฝ่ายของพระพุทธเจ้า

พระอริยสงฆ์สาวก

 ฝ่ายอธรรมก็คือฝ่ายของกิเลสตัณหา

 ถ้ากิเลสตัณหามีกำลังมากกว่า

 การเวียนว่ายตายเกิดก็ยังจะมีต่อไป

 ถ้าฝ่ายธรรมมีกำลังมากกว่า

 การสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด

ก็จะเป็นผลตามมา

 การจะทำให้สิ้นสุด แห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้

ก็ต้องมีวิริยะความอุตสาหะพากเพียร

ที่จะเจริญคุณธรรม ๓ ประการคือ สติ สมาธิ ปัญญา

 ถ้ามีศรัทธาแล้ว วิริยะจะตามมาเอง

อย่างวันนี้ญาติโยมก็มากันเอง มีศรัทธาแล้ว

ก็จะมีวิริยะความพากเพียรที่จะเข้าหาธรรมะ

แทนที่จะไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 ไปตามกำลังของกิเลสตัณหา

 กลับมาตามกำลังของศรัทธา

 ต่อพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ที่มีกำลังมากกว่า

จึงดึงจิตใจของท่านทั้งหลาย ให้เข้ามาหาธรรมะกัน

มาฟังเทศน์ฟังธรรมกัน

อย่างนี้ก็ถือว่าได้ชัยชนะแล้ว ๑ ครั้ง

 แต่ยังต้องชนะอีกหลายครั้ง

เหมือนกับเวลาแข่ง ชกมวยโอลิมปิก

 ต้องชนะหลายครั้งกว่าจะได้เหรียญทอง

 ตอนนี้เราได้ชนะกิเลสแล้ว ๑ ครั้ง

 เพราะว่ากิเลส ไม่สามารถชวนให้เราไปเที่ยวได้

 มีคนอีกมากที่ไม่ได้มาที่นี่ เพราะถูกกิเลสชวนไปเที่ยว

 แสดงว่าเขาแพ้ เราชนะ เราเก่งกว่าเขาแล้ว

ให้คิดอย่างนี้ จะได้มีกำลังใจ

 ว่าเราไม่ใช่เป็นผู้แพ้ตลอดเวลา

เราก็เป็นผู้ชนะเหมือนกัน

 แต่อย่าคิดจนทำให้เกิดความประมาทนอนใจ

 ว่าเราชนะแล้ว ไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว

ให้คิดว่าเราชนะครั้งที่ ๑ แล้ว เรามีศรัทธาแล้ว

ธรรมข้อที่ ๒ ก็คือวิริยะ

พากเพียรเจริญสติตลอดเวลา

 จะเจริญสติได้ตลอดเวลา

 ก็ต้องอยู่ตามสถานที่สงบสงัด

ต้องปลีกวิเวก ต้องสำรวมอินทรีย์

คือตาหูจมูกลิ้นกาย เรียกว่าอินทรียสังวร

 ไม่ให้ตาดูรูปที่ทำให้เกิดกามารมณ์

 เพราะจะทำให้ติดกับของกิเลสตัณหา

 การปฏิบัติก็เพื่อออกจากกับดักของกิเลสตัณหา

 ต้องไม่ดูรูปไม่ฟังเสียง ที่ทำให้เกิดกามารมณ์

จึงต้องสำรวมอินทรีย์ สำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย

 ด้วยการถือศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗

 ที่จะช่วยให้สำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย

 ไม่ให้ไปหาความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

พอไม่ไปหาความสุข ทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ก็จะมีเวลาเจริญสติ เพื่อทำใจให้สงบเป็นสมาธิ

 นี่คือการต่อสู้รอบที่ ๒ ที่จะต้องเอาชนะให้ได้

 ต้องควบคุมบังคับใจ

ไม่ให้ทำตามกระแสของความอยาก

ในรูปเสียงกลิ่นรส ความอยากมีอยากเป็น

 ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..........................

กัณฑ์ที่ ๔๕๗ วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๖

 (จุลธรรมนำใจ ๓๓)

“เติมกำลังใจ”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 30 กรกฎาคม 2559
Last Update : 30 กรกฎาคม 2559 7:49:49 น.
Counter : 831 Pageviews.

0 comment
### เรื่องของความจริงกับความจำ ###









“เรื่องของความจริงกับความจำ”

เรื่องของความจริงกับความจำ

 ธรรมะที่ได้ศึกษาในเบื้องต้นจะเป็นความจำก่อน

 ถ้าไม่เอามาพิจารณาอย่างต่อเนื่องจะเลือนรางไป

 ได้มาฟังเทศน์กันหลายครั้งแล้ว

 พอกลับไปไม่กี่วันก็หายไปหมด

จำไม่ได้เลยว่าพูดอะไรบ้าง ก็ต้องกลับมาฟังใหม่

ฟังแล้วกลับไปก็เหมือนเดิม

อาทิตย์ที่แล้วได้ฟังอะไรไปบ้าง จำได้หรือเปล่า

 นี่ก็กลับมาฟังใหม่อีก ก็ฟังเรื่องเก่าอีก

 เรื่องกิเลสตัณหา เรื่องสติปัญญา ซ้ำแล้วซ้ำอีก

 ก็ยังไม่เข้าไปในใจ ฟังแล้วก็ลืม

ถ้าไม่เอามาคิดอยู่เรื่อยๆก็จะลืม

ถ้าเอามาพิจารณาอย่างต่อเนื่องจะไม่ลืม

เหมือนกับท่องสูตรคูณ หรือพิมพ์ดีดสัมผัส

ถ้าพิมพ์อยู่เรื่อยๆก็จะจำได้

 แต่ถ้าหยุดพิมพ์ไปสักพักหนึ่ง เวลาจะพิมพ์ใหม่

จะไม่มั่นใจว่าจะพิมพ์ได้หรือไม่

 ถ้าไม่ทำอยู่เรื่อยๆ ก็จะลืมได้

จึงต้องนำเอาธรรมที่ได้ยินได้ฟังให้ฝังอยู่ในใจ

ให้เป็นความจริง ด้วยการพิจารณาอย่างต่อเนื่อง

ต้องเห็นทุกข์จริงๆ เช่นเวลาเครียดก็ต้องพิจารณาว่า

 เครียดกับเรื่องอะไร พิจารณาให้เห็นว่า

 ความอยากเป็นเหตุที่ทำให้เครียด

แล้วก็พิจารณาให้เห็นว่า ไม่สามารถสั่ง

ห้สิ่งที่เราอยากได้ เป็นไปตามความอยากเสมอไป

เช่นอยากให้คนนี้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

พิจารณาดูก็จะเห็นว่าเปลี่ยนเขาไม่ได้

ให้เขาเป็นอย่างที่เราต้องการไม่ได้ ทุกข์ไปทำไม

 ถ้าไม่อยากทุกข์ก็หยุดความอยาก ทุกข์ก็จะดับไป

เช่นแฟนอยากจะจากเราไป ก็ให้เขาไป

จะหายเครียดหายทุกข์ ถ้าอยากให้เขาอยู่ ก็จะเครียด

แฟนป่วยเป็นโรคร้ายรักษาไม่หาย แต่อยากให้เขาหาย

อยากจะให้เขาอยู่กับเราต่อไป ก็จะเครียด

พอพิจารณาด้วยปัญญาว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา

 ไม่สามารถห้ามการป่วยการตายของเขาได้

พอยอมรับความจริง หยุดความอยาก

ความเครียดก็จะหายไป ก็จะจำไปฝังใจเลย จะไม่ลืม

เพราะเป็นความจริง

รู้แล้วว่าวิธีดับความเครียด ดับความทุกข์

ก็คือการหยุดความอยาก ร่างกายของคนอื่น

ไม่สำคัญเท่าร่างกายของเรา เวลาเผชิญความตาย

 แล้วหยุดความอยากไม่ตายได้ จะหายทุกข์เลย

 ยอมตายได้เมื่อไหร่จะหายทุกข์ทันที

ใจจะเย็นจะสงบเป็นอุเบกขา จะมีความสุข

ทั้งๆที่จะตายกลับมีความสุข เพราะพิจารณาด้วยปัญญา

 ว่าร่างกายเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเรา

เราไปห้ามร่างกายไม่ได้ ร่างกายจะแก่จะเจ็บจะตาย

 ถ้าอยากให้ร่างกายไม่ตาย จะเครียดมากจะทุกข์มาก

 แต่พอยอมรับความจริงว่า ถึงเวลาแล้วที่ร่างกายต้องตาย

 จะตายก็ให้ตายไป พอหยุดความอยากไม่ตายได้

ยอมตายได้ จิตก็จะดิ่งเข้าสู่ความสงบเป็นอุเบกขาทันที

ปล่อยวางร่างกายทันที นี่คือการทำงาน

ของทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

จะเห็นอย่างชัดเจนภายในใจ

ถ้าเห็นอย่างนี้แล้วจะไม่มีวันลืม พอไม่กลัวตายแล้ว

ตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงวันนี้ ก็ไม่กลัวตายอยู่เหมือนเดิม

รู้จักวิธีปล่อยร่างกายแล้ว รู้จักวิธีทำให้ใจไม่ทุกข์

กับความตายของร่างกายแล้ว

นี่คือการเห็นอริยสัจ ๔ ที่จะไม่มีวันลืม

 จะอยู่ติดไปกับใจไปตลอดทุกภพทุกชาติ

 ถ้ายังไม่สิ้นสุดเวียนว่ายตายเกิด

 เช่นพระโสดาบัน ท่านจะกลับมาเกิดอีกกี่ชาติ

ท่านก็จะไม่กลัวความแก่ความเจ็บความตาย ท่านปลงได้

พอเห็นคนตายปั๊บ จะพิจารณาร่างกายของท่านทันที

ว่าร่างกายของเราก็ต้องเป็นอย่างนี้เหมือนกัน

 ไปหยุดร่างกายไม่ได้ พอรู้ว่าหยุดไม่ได้

ก็จะหยุดความอยากไม่ตาย

 พอไม่มีความอยากไม่ตาย ก็จะไม่ทุกข์ใจ

ไม่เครียดกับความตาย

 นี่คือเรื่องของความจริงกับความจำ

ตอนนี้ธรรมของพวกเรายังเป็นความจำอยู่

เพราะยังไม่เจอความทุกข์จริงๆ

ความทุกข์ที่เกิดจากความอยากไม่ตาย

ต้องเผชิญกับความตายจริงๆ ถึงจะรู้ว่า

ทำนิโรธให้แจ้งได้หรือไม่ ปล่อยวางร่างกายได้หรือไม่

 เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาหรือไม่ ถ้าเห็นได้ปล่อยได้

 นิโรธก็จะเกิดขึ้นมา ใจก็จะเย็น มีความสุข

แทนที่จะมีความทุกข์กับความตาย กลับมีความสุข

นี่คือการสร้างกำลังให้แก่ใจ ด้วยการสร้างศรัทธา

 ที่เกิดจากการเข้าหาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

จะจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า หรือจากพระไตรปิฎก

 หรือจากคำสอนของพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย

ก็เป็นคำสอนอันเดียวกัน สอนเรื่องอริยสัจ ๔

สอนให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

 สอนให้เอาชนะกิเลสตัณหา เหมือนกันหมด

ถ้าได้ยินได้ฟังธรรมที่เป็นสวากขาโต ภควตาธัมโม

 ก็จะเกิดศรัทธา ถ้าฟังธรรมที่ไม่ใช่

สวากขาโต ภควตาธัมโม คือธรรมประยุกต์

 ผู้พูดเอามาประยุกต์ตามความรู้สึกนึก คิดของผู้พูดเอง

 ฟังแล้วก็จะไม่มั่นใจ แต่ถ้าฟังจากผู้ที่รู้จริงเห็นจริง

 เช่นพระพุทธเจ้าหรือพระอริยสงฆ์ สาวกทั้งหลาย

 จะเกิดศรัทธาความเชื่อ เพราะแสดงด้วยเหตุด้วยผล

 ไม่มีอะไรที่จะแย้งได้เลย

 ถ้าพูดจากจินตนาการ ฟังแล้วจะสับสน

 จะแย้งขึ้นมาได้ว่าทำไมเป็นอย่างนี้ๆ

 ทำไมไม่เป็นอย่างนี้ การฟังธรรมที่เกิดศรัทธา

 ต้องฟังจากผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้ที่หลุดพ้นแล้ว

 จะได้ความจริง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.............................

กัณฑ์ที่ ๔๕๗ วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๖

(จุลธรรมนำใจ ๓๓)

“เติมกำลังใจ”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 29 กรกฎาคม 2559
Last Update : 29 กรกฎาคม 2559 11:08:44 น.
Counter : 645 Pageviews.

0 comment
### วิธีทดสอบกำลัง ###









“วิธีทดสอบกำลัง”

วิธีทดสอบกำลังของเรา กับกำลังของตัณหา

ก็มีอยู่ง่ายๆคือ เวลาที่เราว่างจากภารกิจการงาน

 ก็นั่งเฉยๆสัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง

นั่งบนเก้าอี้ที่สบาย ไม่ลุกจากเก้าอี้

จนกว่าจะครบเวลาที่กำหนดไว้

จะเป็น ๖ ชั่วโมง หรือ ๘ ชั่วโมงก็ได้

มีน้ำดื่มไว้ในกรณีที่หิวน้ำ

รับประทานอาหารให้เรียบร้อยก่อน

จะได้ไม่มีปัญหากับการรับประทานอาหาร

 รับประทานมื้อเดียว แล้วก็นั่งที่เก้าอี้

 ต่อสู้กับความอยาก ที่อยากจะลุกจากเก้าอี้

ถ้าจะลุกก็เพื่อเข้าห้องน้ำ ห้ามเถลไถลไปที่อื่น

 เสร็จกิจแล้วก็กลับมานั่งต่อ

ถ้านั่งแล้วปวดเมื่อยอยากจะลุก ก็ยืนที่ข้างเก้าอี้

 ให้มีเพียง ๒ อิริยาบถ คือนั่งกับยืน

 สัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง ดูว่าจะทำได้หรือไม่

จะเอาชนะความอยากได้หรือไม่

น่าจะเอาชนะได้ เพราะไม่ต้องทำอะไรเลย

เพียงแต่นั่งเฉยๆหรือยืนเฉยๆเท่านั้นเอง

 ไม่ทำตามความอยากสัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมงดู

ห้ามนั่งหลับ ถ้าหลับก็ถือว่าแพ้ ลองทำดู

ถ้าอยากจะดูว่ากำลังของเรากับของกิเลสตัณหา

ใครจะมีมากกว่ากัน

วิธีง่ายๆที่จะตรวจดูว่าเรามีกำลังมากน้อย

 นั่งเฉยๆสัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง นั่งแบบสบายๆ

ไม่ต้องนั่งขัดสมาธิหลับตา นั่งบนเก้าอี้นวมก็ได้

นั่งห้อยเท้าก็ได้ แต่ไม่ให้ดูอะไร ไม่ให้ฟังอะไร

ไม่ให้อ่านอะไร แม้แต่ธรรมะ ก็ไม่ให้ดูไม่ให้ฟัง

ต้องการให้เอาใจมาสู้กับกิเลสตัณหา

ดูว่าจะใช้สติสมาธิปัญญา

 ควบคุมกิเลสตัณหาได้หรือไม่

 เวลาเกิดความอยากลุก

 ก็ควบคุมด้วยการบริกรรมพุทโธๆ

 ด้วยการสวดมนต์ พิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกาย

 พิจารณาเกิดแก่เจ็บตาย พิจารณาพระอริยสัจ ๔

ว่าทุกข์เกิดจากความอยากลุก

ทุกข์จะดับไปหายไปถ้าไม่อยากลุก

 ใช้สติสมาธิปัญญาต่อสู้กับกิเลสตัณหาดู

นี่คือวิธีปฏิบัติง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก

ขังตัวเองไว้ในห้องที่เงียบ แล้วก็นั่งสัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง

 ถ้าทำได้จะมีกำลังใจที่จะปฏิบัติมาก

จะรู้ว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย อยู่ที่ความอยาก

 นั่งเฉยๆทำไมใจจึงทุกข์ ทำไมนั่งไม่เป็นสุข

 เพราะใจไม่สงบ ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา

ที่จะดับความอยาก ที่ทำให้ใจทุกข์ ทำให้ใจเครียด

นี่คือการปฏิบัติธรรม ต้องกำหนดเวลา

 กำหนดสถานที่ กำหนดเงื่อนไข

ต้องปลีกวิเวก อยู่ตามสถานที่สงบสงัด

สำรวมอินทรีย์ สำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย

ไม่คลุกคลีกัน ไม่คุยกัน อยู่ตามลำพัง

ควบคุมการบริโภคอาหาร รับประทานพอประมาณ

 รับประทานมื้อเดียวก็พอ เจริญสติอย่างต่อเนื่อง

 อย่าปล่อยให้ใจคิดเรื่อยเปื่อย

จะทำให้เกิดความอยาก ความฟุ้งซ่าน ความเครียด

 จนไม่สามารถนั่งเฉยๆได้

แต่ถ้าสามารถควบคุมความคิดได้ ใจจะสงบ

จะเป็นอุเบกขา จะนั่งเฉยๆได้

 จะมีความสุขกับการนั่งเฉยๆ

พอได้สมาธิแล้ว ก็จะได้ความสุข

 ที่ดีกว่าความสุข ที่ได้จากการเสพ

รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ไม่ต้องไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 เวลาออกจากสมาธิ ถ้ากิเลสตัณหาอยากจะไปเสพ

ก็ใช้ปัญญาสอนใจ ว่าอย่าไปทำตามกิเลสตัณหา

 เพราะจะพาไปสู่ความทุกข์

เวลาที่ไม่ได้เสพ จะทุกข์มาก จะสุขตอนที่ได้เสพ

แต่สุขเดี๋ยวเดียว เวลาไม่ได้เสพจะทุกข์ทรมานใจ

 เช่นเวลานั่งเฉยๆ ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง

ทุกข์เพราะอยากเสพรูปเสียงกลิ่นรส

 ถ้าใจจะสงบเป็นอุเบกขาแล้ว

เวลานั่งเฉยๆ ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง จะไม่ทุกข์เลย

ถ้าได้สมาธิแล้ว เวลาออกจากสมาธิ

กิเลสก็จะออกมา มาชวนให้ไปหาความสุข

ทางตาหูจมูกลิ้นกาย ชวนไปเปิดตู้เย็นหาเครื่องดื่ม

 หาขนมรับประทาน ก็ต้องใช้ปัญญาว่า

 ถ้าต้องการดื่มเพื่อร่างกายก็ดื่มน้ำเปล่า

ถ้าต้องการรับประทานอาหารขนมนมเนย

ก็ต้องรอให้ถึงเวลาก่อน ตอนนี้ไม่ใช่เวลารับประทาน

 ต้องมีมาตรการควบคุม กีดกันไม่ให้กิเลสตัณหา

มาหลอกมาล่อ ว่าร่างกายต้องการอาหาร

 จริงอยู่ที่เราต้องให้อาหารกับร่างกาย

แต่ควรให้ตามเวลา ถ้าวันนี้รับประทานอาหารไปแล้ว

ก็ถือว่าหมดสิทธิ์ ถ้าจะรับประทานอีกครั้งหนึ่ง

ก็ต้องเป็นพรุ่งนี้ วันนี้ไม่เอาแล้วของขบเคี้ยวทั้งหลาย

 จะเอาแต่น้ำดื่มเท่านั้น เพราะร่างกายต้องการน้ำ

แต่ไม่ดื่มน้ำที่มีรสต่างๆ เพราะเป็นการเสพรส

 เป็นกามตัณหาความอยากในรส ต้องดื่มน้ำเปล่าๆ

ไม่มีรสชาติกลิ่นสีมาเกี่ยวข้อง

ถ้าดื่มเครื่องดื่มที่มีรสมีสีมีกลิ่น

 แสดงว่าไม่ได้ดื่มเพื่อร่างกาย เพียงอย่างเดียว

แต่ดื่มเพื่อกามตัณหาด้วย

คือความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ต้องระมัดระวังเกี่ยว กับเรื่องนี้มาก

เพราะการปฏิบัติก็เพื่อที่จะตัดกามตัณหา

ตัดภวตัณหา ตัดวิภวตัณหา จึงต้องระมัดระวัง

พอออกจากสมาธิแล้ว

ถ้าอยากเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ก็ต้องหยุด

 ถ้าอยากไปโน่นมานี่ก็ต้องหยุด เพราะเป็นภวตัณหา

เช่นอยากไปหาเพื่อน อยากไปทำบุญ

การอยากไปทำบุญในตอนที่ปฏิบัติ

ก็เป็นโทษต่อการปฏิบัติ เพราะทำให้จิตออกข้างนอก

 นักภาวนา ผู้ปฏิบัติ ผู้ปลีกวิเวกจึงต้องระวัง

ไม่ให้กิเลสหลอก ให้ออกไปทำบุญทอดผ้าป่าทอดกฐิน

 ฉลองโบสถ์ ฉลองเจดีย์ ฉลองวันเกิดครูบาอาจารย์

 การกระทำเหล่านี้สำหรับนักบุญ

ส่วนผู้ปฏิบัติธรรมได้เลื่อนขั้นขึ้นมาแล้ว

 เป็นนักบุญมาแล้ว พอแล้ว ตอนนี้มาเป็นนักบวช

 มารักษาศีล มาสังวรอินทรีย์ มาปลีกวิเวก

มาต่อสู้กับกิเลสตัณหา เวลากิเลสตัณหาหลอก

 ก็ต้องรู้ทัน เช่นหลอกให้ไปงานศพไปงานวันเกิด

ของครูบาอาจารย์ ไปงานบุญงานกุศลต่างๆ

สำหรับนักบวชต้องถือว่าไม่เป็นบุญเป็นกุศล

 เพราะจะขัดขวางการชาร์จกำลังใจ

การสร้างกำลังใจ ที่จะใช้ในการฆ่าฟันกิเลสตัณหา

ให้หมดไปจากใจ

การไปทำบุญกลับเป็นการสร้างกำลัง

ของกิเลสตัณหาให้มีมากขึ้น ต้องคิดอย่างนี้

ออกไปแล้วก็ไปเห็นรูปเสียง กลิ่นรส

ไปพบคนนั้นคนนี้ ก็ได้พูดได้คุยกัน

 ก็จะไม่ได้เจริญสติ พอเขาเอาเครื่องดื่มมาให้ดื่ม

ก็ต้องดื่ม ด้วยความเกรงใจ

 และด้วยความอยากที่ซ่อนอยู่ โดยไม่รู้สึกตัว

แต่ก็อ้างความเกรงใจ แต่ความจริง ถ้าไม่อยากแล้ว

 ต่อให้เขายัดเข้าไปในปากก็จะยัดไม่เข้า

 เพราะไม่อยาก แต่ความอยากจะฉวยโอกาส

อ้างความเกรงใจ นี่คือเล่ห์กลของกิเลสตัณหา

ที่แสนละเอียด ที่จะหลอกล่อ

ให้ออกจากการสร้างกำลังใจ

สร้างสติ สร้างสมาธิ สร้างปัญญา

ต้องถามตัวเองว่าตอนนี้อยู่ในสถานภาพใด

 เป็นนักบุญหรือเป็นนักบวช

 ถ้าเป็นนักบุญก็ต้องยอมรับผล ของนักบุญ

ว่าได้แค่สวรรค์ ถ้าเป็นนักบวช

ก็ต้องรักษาสถานภาพของนักบวชไว้

 เหมือนคนที่แต่งงาน กับคนที่เป็นโสด

มีสถานภาพต่างกัน จะทำตัวให้เหมือนกันไม่ได้

 คนโสดจะไปเที่ยวกับใครที่ไหนเมื่อไหร่ก็ทำได้

แต่คนที่มีคู่ครองแล้วต้องไปกับคู่ครองเท่านั้น

 พุทธศาสนิกชนก็มีหลายสถานภาพด้วยกัน

ถ้าเป็นนักบุญก็ไปเลย ใครมาชวนทำบุญที่ไหน ไปเลย

 ไปอินเดียไปเลย ใช้เงินให้หมด

พอหมดแล้วจะได้ไม่ต้องไปไหน จะได้เป็นนักบวช

พอเป็นนักบวชแล้ว จะไม่ไปไหนแล้ว

จะเข้าป่าไปปลีกวิเวก จะไม่สังคมกับใคร

ไม่ติดต่อกับใคร จะดึงใจให้เข้าข้างใน

ด้วยการเจริญสติ เดินจงกรมนั่งสมาธิ

ตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นจนหลับ ไม่ว่าจะทำภารกิจใด

ที่จำเป็นจะต้องทำ ก็จะเจริญสติควบคู่ไปด้วย

ปัดกวาดก็พุทโธไปด้วย

หรือเฝ้าดูการปัดกวาดเพียงอย่างเดียว

 ไม่ให้จิตไปอดีตไปอนาคต ไม่ให้คิดถึงใคร

 ให้จิตอยู่กับการปัดกวาด เพียงอย่างเดียว

เวลาขบฉันก็อยู่กับการขบฉันเพียงอย่างเดียว

 เวลาซักจีวรก็อยู่กับการซักจีวร

เวลาอาบน้ำก็อยู่กับ การอาบน้ำ

พอเสร็จกิจก็เข้าทางจงกรมหรือนั่งสมาธิทันที สลับกันไป

 จนถึงเวลาพักผ่อนหลับนอน ก็พักผ่อนหลับนอน

 พอตื่นขึ้นมาลุกขึ้นมาก็เดินจงกรมนั่งสมาธิต่อ

 จนกว่าจะถึงเวลาไปทำภารกิจต่างๆ

 เช่นไปทำอาหาร ไปรับประทานอาหาร

 ถ้าเป็นพระก็ออกบิณฑบาต กลับมาฉันก็ฉันด้วยสติ

 ไม่ให้จิตไปคิดเรื่องอื่น ให้อยู่กับปัจจุบันตลอดเวลา

 อยู่กับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

 อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าสร้างกำลังใจ

 รักษาสถานภาพของนักบวช

ใครมาชวนให้ไปทำบุญที่ไหนก็ต้องปฏิเสธ

 ทำมาพอแล้ว ไม่มีเงินจะทำอีกแล้ว

นี่คือการปฏิบัติที่จะทำให้เกิดผล ต้องมีมาตรการ

 ต้องรู้จักสถานภาพของตน

ว่าตอนนี้เป็นนักบุญหรือนักบวช

ไม่อย่างนั้นกิเลสจะหลอกให้หลง แทนที่จะปฏิบัติ

จะหลอกให้ไปทำบุญ จะไม่เจริญก้าวหน้า

 จะติดอยู่ที่การทำบุญ ไม่ยอมรักษาศีล ๘

ไม่ยอมปลีกวิเวก ไม่ยอมภาวนา ไม่ยอมออกบวช

 ถ้าไม่ออกบวช จะไม่สามารถสร้างกำลังใจ

ให้มีกำลังเต็มร้อย ที่จะเอาชนะกิเลสตัณหาได้

การทำบุญกำลังไม่พอ

ที่จะปราบกิเลส ให้หมดไปจากใจได้

แต่การทำบุญก็เอื้อต่อการปฏิบัติ

ถ้าทำบุญจนเงินทองหมด ก็จะไม่มีเงินทองรับใช้กิเลส

ก็ต้องเข้าวัด บังคับใจให้ปฏิบัติธรรมขั้นสูงต่อไป

ถ้าอยากจะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในชาตินี้

 ก็ต้องรีบทำให้มากที่สุด

เพราะไม่รู้ว่ามีเวลาเหลืออยู่มากน้อย

ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะอยู่หรือไป อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ

 ให้คิดอย่างนี้ จะได้ไม่ประมาทนอนใจ

อย่างที่พระพุทธเจ้า ทรงสอนพระอานนท์ว่า

 ต้องระลึกถึงความตาย อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก

ให้รู้ว่าตายได้ทุกเวลานาที

ถ้าหายใจเข้าไม่หายใจออกก็ตาย

หายใจออกไม่หายใจเข้าก็ตาย

คิดอย่างนี้จะได้ ไม่ประมาทนอนใจ

จะได้รีบทำกิจที่ควรทำ คือสร้างกำลังใจ

ให้มีมากกว่ากิเลสตัณหา ถ้ามีก็จะฆ่ากิเลสตัณหา

 ให้หมดไปจากใจได้ พอหมดแล้ว ก็หมดภารกิจ

ไม่มีภารกิจอื่นที่ต้องทำอีกต่อไป

จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะเสร็จกิจแล้ว

 ไม่กลับมาเกิดอีกแล้ว ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกแล้ว

 ถ้าทำไม่เสร็จ ตายไปก็ต้องกลับมาเกิดใหม่

มาแก่มาเจ็บมาตายใหม่ มาปฏิบัติใหม่

 มาคราวหน้าอาจจะไม่มีพระพุทธศาสนา มาคอยนำทาง

 มาคอยสอน ก็จะไม่รู้ว่าต้องปฏิบัติอะไรกัน

เพราะสิ่งที่ได้ยินได้ฟังในชาตินี้ ถ้ามันไม่ฝังอยู่ในใจ

ถ้ายังไม่เป็นความจริง เป็นเพียงความจำ

 พอกลับมาใหม่ก็จะลืมๆ เพราะความจำหายไปได้

 แต่ความจริงไม่หาย

ดังที่มีคนถามพระอรหันต์ว่า พระอรหันต์ลืมได้หรือไม่

ท่านก็ตอบว่าลืมได้ ลืมชื่อคนนั้นลืมชื่อคนนี้

ลืมสิ่งนั้นลืมสิ่งนี้ เช่นกินยาไปแล้ว

บางทีก็ลืมไปแล้วว่ากินหรือยัง ลืมวันเดือนปีได้

มีอะไรที่พระอรหันต์ไม่ลืม มี ท่านไม่ลืมความจริง

 คือพระอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ที่เป็นแก่นของพระพุทธศาสนา

 ผู้มีพระอริยสัจ ๔ อยู่ในใจแล้ว

 จะมีพระพุทธศาสนาอยู่กับตนเสมอ

จะรู้ว่าทุกข์ต้องกำหนดรู้ สมุทัยต้องละ

 นิโรธต้องทำให้แจ้ง มรรคต้องเจริญให้มาก

ไม่ว่าจะเกิดในภพใด จะพบพระพุทธศาสนาหรือไม่

จะมีพระพุทธศาสนาที่อยู่ในใจ

คอยกระตุ้นให้เจริญมรรคตลอดเวลา

มรรคคืออะไร ก็คือศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญานี่เอง

ไม่มีวันลืม พระอริยะทุกองค์

 อย่าว่าแต่พระอรหันต์ พระโสดาบันก็ไม่ลืม

 พระโสดาบันจะเวียนว่ายตายเกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติ

 เพราะท่านไม่หลงไม่ลืมทาง ไม่ลืมพระอริยสัจ ๔

 มีแผนที่ติดตัว มีพระพุทธศาสนาอยู่คู่กับใจ

ไม่สงสัยในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์

รู้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้พระอริยสัจ ๔ ด้วยตนเอง

 รู้ว่าพระอริยสัจ ๔ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

รู้ว่าพระอริยสงฆ์สาวกคือผู้เห็นอริยสัจ ๔

ผู้มีอริยสัจ ๔ อยู่ในใจ ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป

ท่านไม่สงสัยในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์

ไม่มีวันลืมพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะอยู่ในภพใดชาติใด

จะมีพระพุทธศาสนานำทางเสมอ

ท่านสามารถปฏิบัติเองได้

ไม่ต้องอาศัยพระพุทธศาสนาภายนอกใจนำทาง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.............................

กัณฑ์ที่ ๔๕๗ วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๖

 (จุลธรรมนำใจ ๓๓)

“เติมกำลังใจ”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 28 กรกฎาคม 2559
Last Update : 28 กรกฎาคม 2559 12:40:00 น.
Counter : 635 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ