Group Blog
All Blog
### พระคุณของบิดามารดา ###















“พระคุณของบิดามารดา”

 

................


พระคุณของบิดามารดาเป็นบุญคุณที่ล้นฟ้า

ที่พวกเรานี้จะไม่สามารถที่จะทดแทนได้

ต่อให้เราเลี้ยงดูบิดามารดาอย่างดีที่สุด อุ้มท่าน

แบกท่านไว้บนบ่าบนไหล่ ให้ท่านอุจจาระ ปัสสาวะ รดใส่ตัวเราๆ

ก็ยังไม่สามารถที่จะทดแทนบุญคุณที่บิดามารดาให้กับพวกเราได้

นอกจากการที่จะทำให้ท่านได้เป็นพระอริยบุคคลเท่านั้น

ถึงจะสามารถทดแทนบุญคุณของท่านได้

การเป็นพระอริยบุคคล เช่นการเป็นพระโสดาบัน

จะทำให้พ่อแม่ไม่ต้องไปใช้กรรมในอบาย อีกต่อไป

ต่อให้เคยทำบาปทำกรรมมามากน้อยเพียงไรก็ตาม

แต่ถ้าบิดามารดาได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว

พระโสดาบันนี้จะไม่ต้องไปเกิดในอบายอีกต่อไป

และจะเหลือภพชาติที่จะต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์

ไม่เกิน ๗ ชาติเป็นอย่างมาก

แล้วก็จะบรรลุถึงพระนิพพานเป็นพระอรหันต์

ยุติการเกิด แก่ เจ็บตาย ที่เป็นกองทุกข์อันใหญ่โต

ที่พวกเราต้องแบกกันมานับไม่ได้ว่าแบกกันมามากน้อยเพียงไรแล้ว

ถ้าอยากจะรู้ว่าจำนวนภพชาติของพวกเรานี้มีมากน้อยเพียงไร

พระองค์ทรงยกตัวอย่างให้เรามาเปรียบเทียบดู

ในแต่ละภพแต่ละชาติที่เราเกิดมานี้เราต้องร้องห่มร้องไห้

กับความทุกข์ต่างๆ ถ้าเราสะสมน้ำตา ที่เราหลั่งออกมาในภพนี้

มารวมกันเอาไว้ น้ำตาของพวกเราถ้าเอามาสะสมไว้ทุกภพทุกชาติ

มันจะมีมากยิ่งกว่าน้ำในมหาสมุทรเสียอีก

 คิดดูก็แล้วกันว่าเราต้องมาเกิด แก่ เจ็บ ตาย กันกี่ครั้งกัน

ถึงจะสามารถหลั่งน้ำตาให้ได้มากกว่าน้ำในมหาสมุทร

นั่นแหละคือความทุกข์ของพวกเรา

น้ำตาของพวกเราที่เราหลั่งกันมาแล้วนี้

มากยิ่งกว่าน้ำในมหาสมุทรเสียอีก

แล้วจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆถ้าเราไม่ได้มาพบกับพระพุทธศาสนา

 ได้มาศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

แล้วน้อมนำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าไปปฏิบัติจนได้บรรลุ

เป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ถ้าเราบรรลุเป็นพระอริยบุคคลได้แล้ว

การที่จะสอนให้ผู้อื่น เช่นบิดา มารดา ก็จะไม่ใช่ของยากเย็นอะไร

ก็จะเป็นเหมือนกับการสอนคนอื่น เช่นสอนคนทำกับข้าวกับปลา

ถ้าเรายังไม่รู้จักวิธีทำกับข้าวกับปลา เราจะไม่สามารถไปสอนผู้อื่นได้

 แต่ถ้าเราไปเรียนมาแล้วเราจบจากการเรียนแล้ว

สามารถทำกับข้าวกับปลา อาหารชนิดต่างๆได้

เราก็สามารถที่จะไปสอนผู้อื่นได้อย่างง่ายดาย ฉันใด

พระพุทธเจ้าของพวกเราก็เป็นอย่างนั้น

พระพุทธเจ้าพอได้ตรัสรู้แล้วเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว

เป็นพระอริยเจ้าแล้วพระองค์ ก็สามารถสั่งสอนผู้อื่น

ให้เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกิทาคามี เป็นพระอนาคามี

และเป็นพระอรหันต์ได้อย่างง่ายดาย

พระองค์จึงทรงทดแทนพระคุณแก่พระพุทธมารดา

 ที่ทรงให้กำเนิดแก่พระองค์แต่ทรงเสด็จสวรรคตไป ๗ วัน

หลังจากที่ได้ทรงประสูติเจ้าชายสิทธัตถะออกมา

 เจ้าชายสิทธัตถะหลังจากได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

 ก็มีความกตัญญูอย่างมาก รำลึกถึงพระคุณของพระพุทธมารดา

ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ทรงเลี้ยงดูมา แต่ทรงให้กำเนิดทรงให้ร่างกาย

ที่ทำให้พระองค์สามารถนำเอาไปปฏิบัติธรรม

จนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา

พระองค์จึงได้ทรงส่งกระแสจิตไปบนสวรรค์ไปหาพระพุทธมารดา

เมื่อพบแล้วก็ทรงแสดงธรรม ให้พระพุทธมารดาอยู่ ๑ พรรษาด้วยกัน

แล้วก็ทำให้พระพุทธมารดาได้บรรลุเป็นพระโสดาบันขึ้นมา

ไม่ต้องกลับไปเกิดในอบายอีกต่อไป

ไม่ว่าจะทำบาปทำกรรมมาหนักเบามากน้อยเพียงไร

 ถ้าได้เป็นพระโสดาบันแล้วจะมีแสงสว่างแห่งธรรม

ที่จะบอกทางให้รู้ว่าทางที่ไปอบายนั้นไปอย่างไร

ทางที่ไปสวรรค์นั้นไปอย่างไร ก็จะไม่หลงเดิน

ไปสู่ทางที่จะพาไปอบายอีกต่อไป

นี่คือการทดแทนบุญคุณที่จะทำให้สามารถทดแทนบุญคุณ

ของบิดามารดาให้หมดไปได้เลย

 เพราะถ้าบิดามารดายังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน

บิดามารดาก็ยังจะต้องกลับมาเกิด แก่ เจ็บ ตาย

ในภพน้อยภพใหญ่ต่อไป

 ถ้าได้ทำบาปทำกรรมมาก็ต้องไปใช้กรรมในอบาย

ต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉานบ้าง ไปเกิดเป็นเปรตบ้าง

ไปตกนรกบ้าง แต่ถ้าบิดามารดาได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว

ไม่ต้องไปเป็นเดรัจฉาน ไม่ต้องไปเป็นเปรต

 ไม่ต้องไปตกนรกอีกต่อไป

แล้วก็จะหลุดพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตายในวัฏฏะสงสารได้

ภายใน ๗ ชาติเป็นอย่างมาก

นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตอบแทนต่อพระพุทธมารดา

พระพุทธบิดา ก็ทรงสั่งสอนให้บรรลุเป็นพระอรหันต์

พระมารดารเลี้ยงก็ทรงให้บวชเป็นแม่ชี เป็นภิกษุณี

แล้วก็ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ตามลำดับต่อไป

พระราหุลที่เป็นพระราชโอรสก็จับมาบวชเป็นเณรตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ

จนกระทั่วได้บรรลุเป็นพระอรหันต์เช่นเดียวกัน

นี่แหละคือความวิเศษของพระพุทธศาสนา

ที่ไม่มีศาสนาใด ที่ไม่มีคำสอนใดในโลกนี้จะสามารถกระทำได้

 คือทำให้สัตว์โลกอย่างพวกเราทั้งหลายได้หลุดพ้น

จากวัฏฏะแห่งการเกิด แก่ เจ็บ ตายได้

พระคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จึงยิ่งใหญ่กว่า

สูงกว่าพระคุณของบิดามารดา

แต่ท่านก็บอกว่าเวลาที่เราได้ตอบแทนบุญคุณ ของบิดามารดานั้น

เท่ากับได้ตอบแทนบุญคุณของพระอรหันต์เลย

ได้ทำบุญกับบิดามารดานี้ ท่านเปรียบว่าได้

ทำบุญกับพระอรหันต์ เท่ากันได้บุญได้อานิสงส์เท่ากัน

และในทางตรงกันข้าม ถ้าเกิดไปฆ่าบิดามารดาเข้า

ก็เหมือนกับการไปฆ่าพระอรหันต์

 โทษของการฆ่าบิดามารดา ฆ่าพระอรหันต์นี้เป็นโทษที่ร้ายแรงที่สุด

 เรียกว่าเป็นอนันตริยกรรมเป็นบาปที่หนักที่สุด

ถ้าเปรียบเทียบกับสมัยปัจจุบันนี้ก็เท่ากับโทษประหารชีวิต

นี่คือคุณค่าของบุคคลที่ต่างกัน

ถ้าเราฆ่าคนที่ไม่ใช่บิดามารดาของเราโทษไม่เท่ากันโทษน้อยกว่า

 ถ้าเราฆ่าสัตว์เดรัจฉานโทษก็ยิ่งน้อยกว่าลงไป

โทษจะเกิดขึ้นมากน้อยขึ้นอยู่ที่บุญคุณของบุคคล ที่เราฆ่า

ถ้าบุคคลที่เราฆ่าเป็นบุคคลที่มีคุณมีประโยชน์มาก

 โทษจะเกิดมากบาปก็จะหนัก

 ถ้าฆ่าบคคลหรือเดรัจฉานที่มีคุณน้อย มีประโยชน์น้อยบาปก็น้อย

แต่ก็ยังมีบาปอยู่ ทางที่ดีก็ไม่ควรฆ่าเลย

 แต่นี่เพียงพูดเปรียบเทียบให้รู้ให้พึงสังวรอย่างมากว่า

 ให้เราต้องเคารพบิดามารดาของเราเสมอ ต้องอดทนอดกลั้น

เวลาที่เราอยู่ต่อหน้าบิดามารดา ขอให้ถือว่า

เหมือนอยู่กับหน้าพระอรหันต์ เวลาท่านพูดอะไร ท่านสอนอะไร

ขอให้ถือว่าพระอรหันต์กำลังสั่งสอนเรา

 เพราะสิ่งที่บิดามารดาสั่งสอนให้กับพวกเรานี้

เป็นสิ่งที่มีคุณมีประโยชน์กับพวกเรา

เพราะไม่มีใครที่จะรักเราเท่ากับบิดามารดาของเรา

สิ่งที่ท่านสอนนี้ท่านรู้ เพราะท่านได้ผ่านมาแล้ว

ท่านรู้ว่าอะไรเป็นคุณอะไรเป็นโทษ

ท่านก็ทำหน้าที่ของบิดามารดา ที่จำเป็นจะต้องสอนลูกหลาน

ให้รู้จักบุญคุณ ให้รู้จักคุณ ให้รู้จักโทษ

 เพื่อที่จะทำแต่คุณแล้วหลีกเลี่ยง การกระทำโทษ

เพราะถ้าทำคุณก็จะมีประโยชน์สุขตามมา

มีความเจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองโดยถ่ายเดียว

 ถ้าทำโทษทำบาปก็จะมีผลเสียหายตามมา

นี่คือเวลาพ่อแม่สั่งสอนเราห้ามเถียงห้ามโต้แย้ง

 ถึงแม้ว่าสิ่งที่ท่านพูดอาจจะไม่ถูกก็ได้ ไ

ม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะไปโต้แย้ง

เหมือนญาติโยมตอนนี้ฟังเทศน์อยู่ไม่ใช่หน้าที่ของญาติโยม

จะมาโต้แย้งว่าพูดผิดหรือพูดถูก เราฟังแล้วเราเอาไปพิจารณาดู

ถ้าไม่ถูกก็ไม่ต้องทำตาม ก็เท่านั้นเองไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย

 ถ้าถูกก็นำเอาไปทำตามการไปเถียงโต้แย้งกับผู้หลักผู้ใหญ่นี้

เรียกว่าเสียมารยาท เสียคุณสมบัติของผู้ดี ผู้ดีนี้จะรู้จักกาลเทศะ

 การพูดการจาต่อบุคคลต่างๆว่าควรจะพูดอย่างไรไม่ควรพูดอย่างไร

 ผู้ที่สูงกว่าเรามีคุณต่อเรานี้เราต้องอ่อนน้อมให้ความเคารพเสมอ

ไม่ว่าท่านจะพูดหรือจะกระทำอะไรก็ตาม

ถ้าท่านทำดีผลดีก็เกิดกับท่าน ถ้าท่านทำไม่ดีผลไม่ดีก็จะเกิดกับท่าน

เราไม่ต้องไปตัดสินลงโทษท่านแต่อย่างใด

หน้าที่ของเรามีแต่ต้องคอยสำนึกบุญคุณของท่านอยู่เรื่อยๆ

ถ้าเราไม่รำลึกถึงบุญคุณอยู่เรื่อยๆเราจะลืมได้

เพราะในชีวิตของเรานี้เรามีเรื่องราวมากมาย

ต้องเรียนหนังสือ ต้องทำงานทำการ ต้องหาเงิน

ต้องแก้ปัญหาต่างๆอยู่เรื่อยๆ

จนถ้าเราไม่ระลึกนึกถึงบิดามารดาเราอาจจะลืมท่านก็ได้

 จะมานึกถึงท่านได้ก็วันนี้วันเดียว วันที่ ๑๒ สิงหาคม

กับวันที่ ๕ ธันวาคม นอกนั้นก็มัวแต่ไปยุ่งกับเรื่องงานเรื่องการ

เรื่องการเลี้ยงดูชีวิตของตนเอง จนทำให้ลืมบิดามารดาไปได้

โบราณจึงสอนให้เรากราบพ่อแม่ทุกเช้าทุกเย็น

ตื่นขึ้นมาก็ให้กราบพระ กราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

แล้วก็กราบบิดามารดาไม่ว่าท่านจะอยู่ที่เดียวกับเราหรือไม่ๆสำคัญ

การกราบนี้ไม่ได้กราบเฉยๆ

กราบแล้วต้องน้อมรำลึกถึงพระคุณของท่าน

น้อมรำลึกพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ

 น้อมรำลึกถึงพระคุณของบิดามารดา

ที่เป็นผู้มอบชีวิตร่างกายนี้ให้กับเรา

ชีวิตของเราร่างกายของเรานี้ไม่ได้เป็นของเรา

เป็นของบิดามารดามอบมาให้กับเราด้วยความเมตตากรุณา

คลอดออกมาจากท้องแล้วก็ยังเลี้ยงดู อย่างน้อยก็ต้อง ๒๐ ปีขึ้นไป

ถึงจะสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ ความทุกข์ต่างๆ

ความยากลำบากต่างๆที่พ่อแม่ต้องแบกให้กับลูกๆนี้มันแสนสาหัส

มากกว่าความทุกข์ยากลำบากของพ่อแม่

ในการไปทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตนเองเสียอีก

 แต่ก็กัดฟันทนเพราะมีความเมตตา มีความกรุณา

มีความปรารถนาที่อยากจะให้ลูกนั้นมีความสุข มีความเจริญ

จึงยอมอดทนลำบากลำบนต่อสู้กับปัญหาต่างๆ

ต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆเพื่อที่จะได้หาปัจจัย ๔ มาเลี้ยงลูก

แล้วก็หาเงินหาทองมาส่งเสียลูกให้มีการศึกษาที่ดี

 ให้ได้จบปริญญาขั้น ตรี โท เอก

คิดดูถ้าไม่มีพ่อแม่เราจะได้สิ่งเหล่านี้หรือไม่

ถ้าเกิดพ่อแม่ตายไปตั้งแต่วันที่เราคลอดออกมา

ชะตากรรมของเราไม่รู้จะเป็นอย่างไร ไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ต่อไปหรือเปล่า

ถ้ามีก็อาจจะต้องไประเหเร่ร่อน อยู่ตามสถานเลี้ยงเด็กต่างๆ

ไปเป็นลูกกำพร้าเป็นลูกอะไรต่างๆที่ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร

 นี่คือให้เราคิดดูว่าถ้าเราไม่คิดอย่างนี้

เราจะไม่เห็นบุญคุณของบิดามารดาว่ายิ่งใหญ่ขนาดไหน

สำหรับพวกเรา ถ้าเราไม่เห็นบุญคุณเราก็จะไม่สำนึก

เราจะไม่มีความกตัญญูกตเวทีเราอาจจะมองพ่อแม่

ว่าเป็นเหมือนคนรับใช้เราก็ได้

เกิดมามีกรรมต้องมามีเราเป็นเจ้านาย

หลวงตาเรียกลูกๆว่าข้าหลวง

พวกลูกๆนี้เป็นข้าหลวงของพ่อแม่

พ่อแม่นี่ต้องคอยรับใช้ลูกอยู่ตลอดเวลา

 ดังนั้นขอให้เราพยายามรำลึกถึงพระคุณของบิดามารดาอยู่เรื่อยๆ

 เพื่อที่เราจะได้ทำหน้าที่ของลูกที่อย่างถูกต้อง

หน้าที่ของลูกที่จะต้องปฏิบัติต่อบิดามารดามีอะไรบ้าง

ก็ต้องให้ความเคารพนับถือ ยกย่อง สรรเสริญ บิดามารดา

 ไม่ด่าไม่ว่าบิดามารดาโดยเด็ดขาด

ไม่ว่าท่านจะพูดหรือกระทำอะไรที่ไม่ถูกหรือถูกก็ตาม

ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะไปด่าพ่อด่าแม่

ลูกๆบางคนนี้เวลาพ่อแม่แก่แล้วต้องเลี้ยงดูพ่อแม่

บางทีก็ไปว่าพ่อแม่ให้ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้

พอไม่ทำก็ดุด่าว่ากล่าวพ่อแม่เหมือนกับเป็นเด็กเป็นลูกอันนี้ไม่ควรทำ

 ควรที่จะคอยรับใช้พ่อแม่บอกพ่อแม่ได้ว่าทำอย่างนั้นทำอย่างนี้

แต่ถ้าท่านไม่ทำตาม เราก็ต้องยอมแพ้ไม่ทำก็เรื่องของท่าน

 ท่านจะเป็นอะไรก็ช่วยไม่ได้เพราะเราทำหน้าที่ของเราแล้ว

 คือบอกแล้วว่าถึงเวลารับประทานยา ถึงเวลาต้องทำนั่นทำนี่

ถ้าไม่ทำก็แล้วไปแต่อย่าไปว่า บางทีก็ว่าพ่อแม่ว่าดื้อ

อย่างนี้ นี่ไม่ใช่หน้าที่ของลูกที่จะว่าต่อพ่อแม่

 พ่อแม่ต่างหากมีหน้าที่จะว่าลูกว่าดื้อ ว่าซน

แต่ลูกไม่มีหน้าที่จะว่าพ่อว่าแม่ ลูกต้องเคารพยกย่องพ่อแม่เสมอ

นี่คือหน้าที่ข้อที่หนึ่ง

สองก็ต้องเชื่อฟังคำสั่งคำสอนของพ่อของแม่เสมอ

ถ้าคำสอนคำสั่งเป็นคำสอนที่ผิดไม่ถูก

ม่ต้อง ทำตามก็ได้แต่ไม่ต้องไปเถียง ไม่ต้องไปว่าพ่อแม่ว่าสอนผิด

พ่อแม่บางครั้งก็อาจจะมีความรู้ไม่มากพอ

ที่จะสอนทุกสิ่งทุกอย่างให้ถูกต้องได้

แต่ถ้าเรารู้ว่าผิดเราไม่ต้องทำตามก็ได้แล้ว

ก็ต้องทดแทนบุญคุณให้แก่พ่อแม่

เวลาพ่อแม่เจ็บไข้ได้ป่วยหรือชราภาพก็ต้องเป็นหน้าที่ของเรา

ที่จะต้องดูแลท่านเลี้ยงดูท่านไปจนกว่าวันตาย

 ตายไปแล้วก็ต้องทำพิธีจัดงานศพให้สมเกียรติ

แล้วก็อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้พ่อแม่ไปอีก

ทุกครั้งที่เรารำลึกถึงพ่อแม่ก็ทำบุญอุทิศไปให้บิดามารดา

 นี่คือการตอบแทนบุญคุณได้ในระดับหนึ่งของลูก

ที่เรียกว่าลูกกตัญญูเป็นอย่างนี้.

..................

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

ธรรมะในศาลา วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๘

“วิธีทดแทนบุญคุณต่อบิดามารดา”










Create Date : 25 พฤศจิกายน 2558
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2558 10:55:52 น.
Counter : 849 Pageviews.

0 comment
### เห็นทั้งข้างนอกและข้างใน ###















เรื่องเล่าเช้าวันพระ:

เห็นทั้งข้างนอกและข้างใน

หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ

พระไพศาล วิสาโล เขียนเล่าเรื่อง

หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ ออกบวชเมื่ออายุ ๓๐ ปี

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นหลังจากได้ไปปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียน

 จิตฺตสุโภ ที่วัดป่าพุทธยาน จังหวัดเลย

ก่อนหน้านั้นท่านชอบภาวนาแนวสมถะ คือมุ่งความสงบ

อยากนั่งนิ่ง ๆ จนบ่อยครั้งรู้สึกเพลิดเพลินในนิมิตที่เกิดขึ้น

ครั้นมาภาวนากับหลวงพ่อเทียน ท่านสอนให้หมั่นรู้สึกตัวอยู่เสมอ

 โดยกำหนดรู้อยู่กับการยกมือเป็นจังหวะ ไม่ให้เข้าไปอยู่ในความสงบ

 ซึ่งสวนทางกับวิธีการที่ท่านฝึกมา ทีแรกก็ไม่อยากทำ

นึกคัดค้านในใจ แต่หลังจากได้รับการยืนยันจากหลวงพ่อเทียนว่า

 หากทำจริง ๆ จิตใจจะเปลี่ยนไปจากเดิม

ท่านจึงปลงใจปฏิบัติตามคำสอนของหลวงพ่อเทียนอย่างจริงจัง

วันหนึ่งขณะที่ท่านกำลังปฏิบัติอยู่ในกุฏิ

หลวงพ่อเทียนได้เดินมาที่หน้าประตูซึ่งปิดอยู่ แล้วถามว่า

“อยู่นี่หรือ?”
“อยู่ครับหลวงพ่อ”

“ทำอะไร?”
“
สร้างจังหวะครับ”

“เห็นทั้งข้างนอกทั้งข้างในไหม”
“ไม่เห็นข้างนอกครับ เห็นแต่ข้างใน”

“ถ้าอยากเห็นข้างนอกทำอย่างไร?”
“เปิดประตูออกครับ”

“เอ้า ลองเปิดประตูออกมาดู”

พอโยมคำเขียนลุกไปเปิดประตู หลวงพ่อเทียนก็ถามว่า

 “เห็นข้างนอกไหม” ท่านตอบว่า “เห็นครับ”

“เห็นข้างในไหม” ท่านตอบว่า “เห็นครับ”

 แล้วหลวงพ่อเทียนก็ย้ำว่า “ให้เห็นทั้งข้างนอกข้างในนะ

 อย่าให้เห็นแต่ข้างนอกและอย่าให้เห็นแต่ข้างในนะ

ดูตรงกลาง ๆ นี้นะ”

โยมคำเขียนคิดอยู่สักพัก ก็นึกไม่ออก

ว่าหลวงพ่อเทียนต้องการบอกอะไรท่าน

ครั้นลองปฏิบัติดูก็ได้คำตอบ

หลวงพ่อเทียนแนะท่านว่า อย่าคิดออกไปข้างนอก

และอย่าเพ่งเข้าข้างใน นี้เป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับโยมคำเขียน

 ทำให้ท่านคลายการเพ่งหรือบังคับจิตให้สงบ

แต่ให้กลับมารู้สึกตัว รู้ทันความคิดที่เกิดขึ้นภายใน

 โดยไม่พลัดเข้าไปในความคิดนั้น ครั้นมีอะไรภายนอกมากระทบ

 ก็รู้แต่ไม่ปล่อยจิตออกไปหรือปรุงแต่งต่อ

หลังจากปฏิบัติธรรมหนึ่งเดือนกับหลวงพ่อเทียน

ท่านเกิดความเปลี่ยนแปลงทางจิต จึงตัดสินใจออกบวช

และปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียนอย่างต่อเนื่อง

ภายหลังได้ท่านได้รับมอบหมายจากหลวงพ่อเทียน

ให้ไปสอนธรรมตามที่ต่าง ๆ ก่อนจะขึ้นมาอยู่ที่วัดป่าสุคะโต

ซึ่งหลวงพ่อบุญธรรม อุตฺตมธมฺโม ญาติผู้พี่ ได้มาบุกเบิกเอาไว้

ระหว่างสอนธรรมตามที่ต่าง ๆ มีปัญหานานาชนิดเกิดกับผู้ปฏิบัติ

ที่ต้องอาศัยท่านช่วยแก้ให้

คราวหนึ่งที่วัดโมกขวนาราม จังหวัดขอนแก่น

ท่านสังเกตว่าผู้เฒ่าคนหนึ่งไม่มาทำวัตรเช้า

ครั้นถึงเวลาอาหารก็ไม่ปรากฏตัว ท่านจึงไปหาที่กุฏิ

พอถามเขาว่าเป็นอะไร เขาก็เรียกให้หลวงพ่อช่วยเขาด้วย

 เพราะมือเขาติดอยู่ตรงหน้าท้องตั้งแต่ตีสาม

 ยกมือเท่าไหร่ก็ยกไม่ออก

หลวงพ่อคำเขียนได้ยินเช่นนั้นก็รู้เลยว่าเขายกมือสร้างจังหวะ

แต่วางใจไม่ถูก พยายามบังคับจิต และเพ่งมากไป

 จึงเกิดอาการดังกล่าว แต่แทนที่ท่านจะแนะนำให้เขาทำใจสบาย ๆ

ท่านกลับชวนเขาคุยเรื่องครอบครัว ถามว่าโยมมีลูกกี่คน

 มีครอบครัวกันหมดแล้วยัง แล้วตอนนี้โยมอยู่กับใคร ทำอะไรบ้าง

คิดถึงหลานบ้างไหม ระหว่างที่เขาพูดคุยกับหลวงพ่อ

 มือของเขาก็ตกลงมา แต่เขายังไม่รู้ตัว

 ท่านชวนคุยต่อสักพัก เขาถึงได้รู้ว่ามือกลับมาเป็นปกติแล้ว

หลวงพ่อคำเขียนอธิบายว่า ปัญหาของชายผู้นี้เกิดจากการที่

 “จิตมันเข้าข้างในจนติดอยู่ในนั้น”

สิ่งที่ท่านทำก็คือ “ล่อจิตเขาให้ออกไปข้างนอก”

การส่งจิตออกนอกไม่ใช่สิ่งที่นักปฏิบัติควรทำ

แต่ถ้าจิตเพ่งเข้าในมากจนเกิดอาการวิปริตผิดเพี้ยน

 ทางเดียวที่จะช่วยได้คือ “ล่อ” จิตให้ออกไปสนใจสิ่งนอกตัวแทน

วัดสนามในเป็นอีกแห่งหนึ่ง

ที่หลวงพ่อคำเขียนเคยไปสอนธรรมเป็นประจำ

มีนักปฏิบัติผู้หนึ่งตั้งใจภาวนามากเกินไป จนเกิดนิมิตอย่างแรง

 หลงตัวว่าบรรลุธรรมแล้ว

เอาแต่เดินจงกรมอยู่บนสะพานลอยตลอดคืน

ตำรวจไปพูดให้กลับลงมา เขาก็ไม่ยอม สอนตำรวจว่า

พระอาทิตย์จะขึ้นจะลงห้ามไม่ได้

สุดท้ายตำรวจต้องพามาส่งที่วัดสนามใน

 หลวงพ่อพยายามแก้อารมณ์เท่าไรก็ไม่หาย

จึงพากลับวัดป่าพุทธยาน แล้วชวนให้โยมผู้นั้นขุดหลุมสร้างส้วม

 พื้นดินบริเวณนั้นเป็นหินลูกรังขุดยากมาก

 พอเขาขุดไปได้หนึ่งเมตร ท่านก็บอกเขาว่าขุดไม่ถูกที่

ต้องย้ายไปขุดอีกที่หนึ่ง หลังจากขุดนานนับชั่วโมง

จนเหงื่อไหลเต็มตัว นิมิตก็จางหาย ความรู้สึกตัวกลับมา จึงเป็นปกติ

สมาธิภาวนาหรือการปฏิบัติธรรม แม้จะเป็นของดี

แต่หากวางใจไม่เป็น ก็อาจเกิดโทษได้

นั่นคือทำให้หลงตัวลืมตนจนมีอาการผิดเพี้ยนได้

 การสร้างความรู้สึกตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักปฏิบัติ

หากละเลยการทำความรู้สึกตัวแล้ว

 อย่าว่าแต่จุดมุ่งหมายสูงส่งทางธรรมเลย

แม้แต่การดำรงชีวิตสามัญอย่างชาวโลก ก็มิอาจทำได้

.....................


ขอบคุณที่มา fb. วัดป่าสุคะโต ธรรมชาติที่พักใจ
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ





Create Date : 25 พฤศจิกายน 2558
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2558 10:28:32 น.
Counter : 1115 Pageviews.

0 comment
### วัดพุทธพาณิชย์ ###
















“วัดพุทธพาณิชย์”

ถาม : เป็นเพราะว่าคนไทยเราไม่ได้ศึกษาว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร

 จึงมีแต่ทำทาน มันจึงมีพุทธพาณิชย์ตามมา

บางวัดมีทั้งศาลเจ้าของจีน และมีเจ้าของพราหมณ์

พระอาจารย์ : เพราะไม่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ

 เป็นที่พึ่งทางใจที่แท้จริง ก็เลยใครบอกว่าอะไรเป็นที่พึ่ง

ก็เชื่อกันไปหมด เลยมีอิทธิพลของคำสอนของศาสนาอื่น

เข้ามาผสมผสานในศาสนาพุทธ

มีพิธีพรามหณ์มีการบวงสรวงเทวดา

 มีการศึกษากับซินแสเรื่องฮวงจุ้ยอะไรต่างๆ

 หาคนเข้าทรง ทำนายทายทัก

 อันนี้เป็นกิจกรรมนอกคำสอนของพุทธศาสนา

ที่ตกอยู่ในข้อสังโยชน์ที่เรียกว่า ลีลัพพตปรามาส

 ถ้าผู้ที่ศึกษาพระธรรมมีดวงตาเห็นธรรมแล้ว

จะเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เพียงอย่างเดียว

 พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ให้เชื่อกฎแห่งกรรมเพียงอย่างเดียว

 ไม่ต้องไปทำพิธีอะไรทั้งนั้น

เพราะว่าผลที่เกิดขึ้นนี้มันเกิดขึ้นเพราะเหตุ ๒ ประการ

เหตุแรกก็คือกฎแห่งกรรม กรรมที่ทำมา

เหตุที่ ๒ ก็คือกฎธรรมชาติ คือทุกสิ่งทุกอย่างมีเจริญ

ย่อมมีเสื่อมไปเป็นธรรมดา

 แต่คนเรามักจะไม่ชอบความเสื่อมกัน ชอบแต่ความเจริญ

 เวลาพบกับความเสื่อมก็เลยต้องพยายามหาวิธี

ดับความเสื่อมนั่นให้ได้ เมื่อยังไม่อยากจะให้เสื่อม

 เมื่อพระพุทธศาสนาไม่สามารถตอบสนองความต้องการนี้ได้

ก็เลยต้องไปหาผู้อื่นมาช่วย ผู้อื่นเขาก็หลอกว่า

ให้ทำพิธีกรรมอะไรต่างๆ ให้ฆ่าวัว ฆ่าเป็ด ฆ่าไก่ ให้บูชาราหู

บูชาด้วยของดำธูปดำเทียนดำ

หรือถ้าไปหาซินแสก็ให้เปลี่ยนทิศทางของบ้าน

หน้าต่างควรจะย้ายมาทางนี้ปิดทางนี้

เปิดทางนี้ ของจัญไรมันเลยเข้ามา

อันนี้คือเรื่องของการที่ไม่เชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ไม่เชื่อเรื่องกฎของธรรมชาติ

ที่มีการเจริญย่อมมีการเสื่อมไปเป็นธรรมดา

 เช่นชีวิตของคนเราทุกคนเกิดมาแล้ว

มันก็ต้องแก่ ต้องตายไปเป็นธรรมดา

แต่เมื่อยังมีความหลง ยังอยากให้ชีวิตอยู่ไปนานๆ

ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ใครมาแนะนำว่าไปทำพิธีอย่างนั้นพิธีอย่างนี้

แล้วจะไม่เสื่อมไม่แก่ไม่เจ็บก็ไปทำกันใหญ่

 ทำแล้วก็ผิดหวังไปไม่ได้ผลอะไร.

................

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

ธรรมะบนเขา วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๗ สนทนาธรรม











Create Date : 25 พฤศจิกายน 2558
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2558 10:06:06 น.
Counter : 1255 Pageviews.

0 comment
### ทุกข์ดับด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ###

















“ทุกข์ดับด้วยศีล สมาธิ ปัญญา”

การบรรลุธรรมก็คือการทำให้ทุกข์นั้นดับไปนั่นเอง

เวลาทุกข์ดับไปด้วยศีล สมาธิ ปัญญาก็เรียกว่าเป็นการบรรลุธรรม

 มรรคก็คือศีล สมาธิ ปัญญา เช่นศีลนี้ประกอบด้วยอะไร

ศีลนี้ก็ประกอบด้วยสัมมากัมมันโต การกระทำชอบ

สัมมาวาจา การพูดชอบ และสัมมาอาชีโว การมีอาชีพชอบ

 คือการกระทำที่ถูกต้องการพูดที่ถูกต้องและการมีอาชีพที่ถูกต้อง

 อันนี้เป็นองค์ประกอบของศีล

ส่วนองค์ประกอบของสมาธิคืออะไร

ก็สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธินี้เอง

สัมมาวายาโมก็คือความเพียรชอบ

 สัมมาสติก็คือการตั้งสติชอบ

 สัมมาสมาธิก็คือการสงบของจิตที่ถูกต้องที่ชอบ

สัมมาสมาธิก็คืออัปปนาสมาธิ

 สัมมาสติก็คือการระลึกรู้อยู่กับเรื่องเดียวสิ่งเดียว

เช่นการบริกรรมพุทโธๆ

ความเพียรชอบก็คือการเจริญสติ

การเจริญศีล สมาธิ ปัญญานี่เอง เรียกว่าความเพียรชอบ

ส่วนองค์ประกอบของปัญญาก็สัมมาทิฏฐิกับสัมมาสังกัปโปนี่เอง

 สัมมาทิฏฐิก็คือความเห็นชอบ

สัมมาสังกัปโปก็คือการดำริหรือความคิดชอบนั่นเอง

คิดอย่างไรถึงคิดชอบ มีความเห็นอย่างไรถึงเห็นชอบ

 ก็เห็นว่าความทุกข์นี้เกิดจากตัณหาความอยากต่างๆ นี่เอง

 และการดับความทุกข์ก็ต้องดับด้วยมรรคที่มีองค์ ๘ นี่เอง

อันนี้เรียกว่าความเห็นชอบ

พอเห็นชอบแล้วก็จะมีความคิดที่ชอบที่ถูกต้อง

คิดที่จะกำจัดตัณหาความอยาก คิดที่จะเจริญมรรคอยู่เรื่อยๆ

เจริญศีล เจริญสมาธิ เจริญปัญญาอยู่เรื่อยๆ

ถ้าบำเพ็ญไปเรื่อยๆ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็จะเจริญขึ้นมา

จนเจริญเต็มที่พอศีล สมาธิเจริญเต็มที่ก็สามารถที่ทำลายตัณหา

ความอยากได้อย่างราบคาบ ก็จะบรรลุถึงพระนิพพานได้ในที่สุด

นี่คืออริยสัจ ๔ ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้

หลังจากที่พระองค์ได้ทรงทำใจให้สงบ เป็นสมาธิ

 เป็นอัปปนาสมาธิแล้ว พระองค์ก็ทรงพิจารณา

ดูความสุขความทุกข์ที่อยู่ภายในใจ ก็ทรงเห็นว่า

ความทุกข์ภายในใจเกิดจากตัณหาความอยาก

และการดับความทุกข์ภายในใจก็เกิดจากการมีปัญญา

 ที่เห็นว่าการทำตามความอยากนี้ ไม่ใช่เป็นการไปหาความสุข

แต่เป็นการไปหาความทุกข์ ก็เลยหยุดทำตามความอยาก

พอหยุดความอยากต่างๆ ได้ ความทุกข์ภายในใจก็หายไปหมด

 ก็บรรลุถึงพระนิพพานได้ พระนิพพานก็คือใจที่สงบ

ปราศจากความอยากต่างๆ นี้เอง

ใจที่เป็นบรมสุข ปรมัง สุขัง ความสุขที่เกิดจากความสงบนี้เเล

 เป็นความสุขที่เหนือกว่าความสุขทั้งปวง

ถ้าเป็นความสุขที่ถาวรไม่มีวันเสื่อมก็เป็นพระนิพพาน

 ถ้าเป็นความสุขที่มีความเสื่อมอยู่

ก็คือยังเป็นความสุขของอัปปนาสมาธิ

 อัปปนาสมาธินี้ยังมีการเสื่อมได้

เวลาออกจากสมาธิมาถ้าไม่คอยรักษาประคับประคองด้วยสติ

หรือด้วยปัญญาไปทำตามความอยากเมื่อไหร่

ความสงบที่ได้จากอัปปนาสมาธิ

 ความสุขที่ได้จากอัปปนาสมาธิก็จะหายไปได้

เราจึงเรียกว่าอัปปนาสมาธิว่าเป็นพระนิพพาน

เราเรียกว่านิพพานก็เพราะว่าเป็นอัปปนาสมาธิที่ถาวร

เป็นความสงบที่ถาวรไม่มีวันที่จะเสื่อม

 เพราะเหตุที่ทำให้เสื่อมนั้นถูกทำลายไปหมด

 คือตัณหาความอยากทั้ง ๓ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา.

...................................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๘

“เหตุและปัจจัยที่ทำให้บรรลุธรรม”

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต









Create Date : 24 พฤศจิกายน 2558
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2558 10:15:31 น.
Counter : 1377 Pageviews.

0 comment
### ปัญญาขั้นที่สาม ###



















“ปัญญาขั้นที่สาม”

ปัญญาที่จะสามารถทำลายตัณหาความอยาก

 ดับความทุกข์ต่างๆ ได้นี้ ต้องเป็นภาวนามยปัญญา

เป็นปัญญาขั้นที่สาม เป็นปัญญาที่จะต้องมีสมถภาวนาเป็นผู้สนับสนุน

 สมถภาวนาก็คือสมาธิ หรือที่เรียกว่าอัปปนาสมาธิ

ถ้าเรายังไม่มีอัปปนาสมาธิ ปัญญาที่เรามีอยู่นี้

จะไม่มีกำลังพอที่จะละตัณหาต่างๆได้ ที่จะดับความทุกข์ต่างๆได้

เพราะไม่มีกำลังพอ เช่นเราได้ยินได้ฟังธรรมแล้ว

เรารู้แล้วว่าตัณหาเป็นตัวที่ทำให้เราเกิดความทุกข์

เป็นเหตุที่ทำให้เราต้องเวียนว่ายตายเกิด

แต่เราก็ยังไม่สามารถที่จะละตัณหาความอยากต่างๆ ได้

 เช่นความอยากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

 เราก็ยังละกันไม่ได้ เราก็ยังอยากดู อยากฟัง อยากดื่ม

อยากรับประทาน อยากเสพรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอยู่

 ถ้าเรายังมีความอยากอยู่ปัญญาที่เราได้รับจากการได้ยินได้ฟัง

ได้ศึกษานั้นไม่สามารถที่จะระงับละตัณหาได้

แต่ถ้าเราได้เจริญสมาธิ ทำใจรวมให้เป็นหนึ่งได้

 ให้เป็นอัปปนาสมาธิได้ ใจของเราจะมีกำลังคืออุเบกขา

 ที่จะสามารถต้านความอยากได้

เวลาเกิดความอยากแล้วปัญญาบอกว่า

นี่แหละคือต้นเหตุของความทุกข์

การที่จะบรรลุธรรมก็บรรลุตรงที่การไม่ทำตามความอยากนี่นั่นเอง

 เพราะถ้าละความอยากได้ ไม่ทำตามความอยากได้

 ความทุกข์ก็จะดับไป ความทุกข์ดับไป การบรรลุธรรมก็ปรากฏขึ้นมา

 อันนี้ถ้าไม่มีอุเบกขาไม่มีอัปปนาสมาธิ

 ปัญญานี้จะเป็นจินตามยปัญญา หรือเป็นสุตมยปัญญา

จะไม่ใช่เป็นภาวนามยปัญญา จะไม่สามารถละตัณหาทั้ง ๓ ได้

 คือกามตัณหา ภวตัณหาและวิภวตัณหาได้

และการที่เราจะมีอัปปนาสมาธิได้ เราก็ต้องมีศีล

 เช่นศีล ๘ เพราะศีล ๘นี้จะเป็นรั้วที่จะกั้นตัณหาความอยาก

 ไม่ให้ออกมาเพ่นพ่านให้ขังอยู่ในใจไม่ให้ออกมาทางกาย ทางวาจา

 เช่นผู้ที่ถือศีล ๘นี้จะไม่สามารถทำตามกามตัณหาได้

 ทำตามความอยากเสพรูป เสียง กลิ่น รสได้

เช่นศีลข้อ ๓ ก็จะห้ามไม่ให้ร่วมหลับนอนกับคู่ครองของตน

 ศีลข้อ ๖ ก็จะไม่ให้เสพกามด้วยการรับประทานอาหารมาก

เกินความต้องการของร่างกาย

 ศีลข้อ ๗ ก็ห้ามไม่ให้หาความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

 เช่นห้ามดูมหรสพบันเทิงต่างๆ ห้ามร้องรำทำเพลง

ห้ามเเต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่มีสีสันสวยงาม วิจิตรพิสดาร

ห้ามใช้น้ำหอม น้ำมันเครื่องสำอางต่างๆ

 ใช้เสริมความงามของร่างกาย

 แล้วก็ห้ามหลับนอนมากเกินความต้องการของร่างกาย

ด้วยการไม่นอนบนเตียงใหญ่ๆ ฟูกหนาๆ

เพราะจะทำให้นอนได้นาน

ปกติร่างกายนี้ต้องการพักผ่อนไม่เกินวันละ ๔ -๕ ชั่วโมง

 แต่ถ้าได้นอนบนเตียงใหญ่ๆฟูกหนาๆ

 พอร่างกายได้พักผ่อนตื่นขึ้นมาแล้ว เนื่องจากความนุ่มความสบาย

 ของที่นอน ก็จะทำให้อยากนอนต่อ

 ไม่อยากจะลุกขึ้นมาบำเพ็ญนั่งสมาธิ เจริญปัญญา

ก็จะทำให้ติดอยู่กับการเสพความสุขทางร่างกาย

 ศีล ๘ นี้จึงมีความจำเป็นอย่างมาก สำหรับผู้ที่ต้องการเจริญสมาธิ

และปัญญาเพื่อบรรลุมรรคผล นิพพาน

ศีล ๕ นี้สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้มีความพร้อมที่จะปฏิบัติธรรม

 เหมาะกับผู้ที่ชอบแสวงบุญ ชอบทำทาน

ก็ให้ทำทานแล้วก็รักษาศีล ๕ ไปก่อนจนกว่าจิตจะมีกำลังเพิ่มมากขึ้น

 เห็นคุณค่าของการมีความสงบภายในใจ

 ก็จะเกิดความฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เกิดอิทธิบาท ๔

 ที่อยากจะหาความสุขจากความสงบให้เพิ่มมากขึ้น

ก็จะสนใจในการที่จะรักษาศีล ๘

สนใจในการที่จะไปหาที่สงบสงัดวิเวกเพื่อที่จะได้เจริญสติ

 ที่จะคอยควบคุมความคิดปรุงเเต่งไม่ให้คิดฟุ้งซ่าน

เพื่อระงับความคิดปรุงเเต่ง เพื่อให้จิตเข้าสู่ความสงบ

ให้สักแต่ว่ารู้ให้จิตรวมเป็นหนึ่ง เป็นอุเบกขา

แล้วจะได้พบกับความสุขที่แท้จริง

ความสุขที่ถาวร ความสุขที่ยิ่งใหญ่กว่าความสุขทั้งปวง

คือความสุขที่เกิดจากความสงบของใจ

แล้วพอได้ความสงบแล้ว เวลาเกิดตัณหาความอยากขึ้นมา

 ก็จะเห็นโทษทันทีเพราะเวลาเกิดตัณหาความอยาก

 ความสงบของจิตนี้จะหายไป

ก็จะรู้ทันทีว่าสิ่งที่จะมาทำลายความสุขที่แท้จริงก็คือ

ตัณหาความอยาก และสิ่งที่ทำให้เกิดตัณหาความอยากก็คือความหลง

ที่ไปหลงคิดว่าการหาความสุขนอกเหนือจากความสงบนั้นเป็นความสุข

 แต่ความจริงแล้วมันเป็นความทุกข์

แต่ถ้าไม่มีความสงบไม่มีสมาธิ จะไม่เห็นความจริงอันนี้

 ผู้ที่ไม่มีความสงบไม่มีความสุขภายในใจ

ก็ต้องหาความสุขภายนอกใจ

 หาความสุขตามความอยากคือกามตัณหา

 หาความสุขทางกามคุณทั้ง ๕

คือทางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนี้เอง

แต่ผู้ที่มีความสงบแล้วจะไม่หิว

กับอารมณ์ทางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

แล้วพอเกิดความอยากขึ้นมา ก็จะเห็นโทษของความอยาก

ว่าจะเป็นตัวที่จะมาทำลายความสงบ

 ก็จะใช้ปัญญาสอนใจเตือนใจว่า อย่าไปทำตามความอยาก

 เพราะความสุขที่ได้จากการทำตามความอยากนี้เป็นความสุขชั่วคราว

เป็นอนิจจัง ไม่ถาวร เวลาได้เสพได้สัมผัสก็มีความสุข

 ก็เสพเสร็จผ่านไปแล้วความสุขที่ได้ก็หายไป

ปล่อยให้เหลือแต่ความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว

ปล่อยให้เหลือแต่ความอยากที่จะเสพใหม่

และเวลาที่ไม่ได้เสพก็จะเป็นเวลาที่ทุกข์ทรมานใจ

ก็ต้องคอยเสพอยู่เรื่อยๆ แต่เครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการเสพ

มันก็เป็นของไม่เที่ยง คือร่างกาย คือตา หู จมูก ลิ้น กายนี่เอง

 มันก็ต้องแก่ลงไปเรื่อยๆ

สมรรถภาพที่สามารถจะดู จะฟังก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ

แล้วต่อไปก็จะไม่สามารถใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย

เป็นเครื่องมือในการหาความสุขได้

ก็จะอยู่กับความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวเดียวดายอยู่กับความหิวโหย

 อยู่กับความอยาก อยู่กับความทุกข์ ที่เกิดจากความอยาก

ความหิวโหย แล้วเวลาตายไปความอยากนี้ก็ยังอยู่ภายในใจ

ความอยากนี้ก็จะดึงใจให้กลับมาเกิดใหม่

หลังจากที่ไปรับผลบุญผลบาปแล้ว

ถ้าเป็นบาปพาไปก็ต้องไปรับผลบาปในอบาย

ถ้าเป็นบุญพาไปก็ไปรับผลบุญในสวรรค์ชั้นต่างๆ

จนกว่าผลบุญผลบาปนั้นได้หมดลงไป ก็จะกลับมาเกิดใหม่

มาเป็นมนุษย์ใหม่ มาเสพกามใหม่ มาเสพกามตัณหา

 เสพภวตัณหา วิภวตัณหาใหม่

ถ้าไม่ใช้ปัญญาคอยกำจัดหลังจากที่ได้สมาธิแล้ว

 ปัญญานี้จะเป็นภาวนามยปัญญา

แต่ถ้ายังไม่มีสมาธินี้ปัญญาจะเป็นจินตามยปัญญา

 เป็นความรู้แต่ไม่มีกำลังที่จะทำตามความรู้ความเห็นนั้นได้

อย่างพวกเราที่ได้ยินได้ฟังธรรมกัน

และได้พิจารณาธรรมกันอยู่เรื่อยๆ

พวกเราคงจะเห็นถ้าใจของเรายังไม่สงบ

ความอยากต่างๆ ที่เรารู้ว่าไม่ดีเป็นโทษกับเรา

เราก็ยังหยุดมันไม่ได้ละมันไม่ได้ นั่นก็เป็นเพราะว่า

ใจเราไม่มีกำลังของอุเบกขานั่นเองไม่สามารถอยู่เฉยๆได้

 ไม่สามารถต้านความอยากที่จะดึง

ให้ไปแสวงหาความสุขจากสิ่งต่างๆได้นั่นเอง

นี่คือเรื่องของปัญญา ที่ต้องเป็นภาวนามยปัญญา

ถ้าเป็นสุตะหรือจินตาไม่พอ ไม่มีกำลังไม่มีอุเบกขา

 ต้องสร้างอุเบกขาสร้างอัปปนาสมาธิขึ้นมา

ถ้ามีอัปปนาสมาธิก็จะมีอุเบกขา ถ้ามีอุเบกขาก็จะมีกำลัง

ที่จะต่อต้านตัณหาความอยาก

 เวลาที่ปัญญามาชี้แนะนำให้เห็นโทษ ของการทำตามความอยาก

ว่าเป็นการหาความสุขชั่วประเดี๋ยวประด๋าว

เหมือนกับคนหาความสุขจากยาเสพติด

คนที่หาความสุขจากยาเสพติดนี้จะทุกข์มากกว่า

คนที่ไม่หาความสุขจากยาเสพติด ฉันใด

คนที่ไม่หาความสุขตามความอยากก็จะไม่ทุกข์

เหมือนกับคนที่หาความสุขตามความอยาก

คนที่หาความสุขจากความสงบนี้จะไม่ต้องคอยดิ้นหาสิ่งนั้นสิ่งนี้

มาให้ความสุขกับตน เพราะความสุขที่เกิดจากความสงบนี้

ป็นความสุขที่สามารถที่จะอยู่กับตนไปได้ตลอด

สามารถให้ความสุขกับตนไปได้ตลอด

ไม่ว่าจะมีร่างกายนี้หรือไม่มีร่างกายนี้

 ไม่ว่าจะมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะให้เสพหรือไม่ก็ตาม

ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด

เเต่ผู้ที่ยังต้องเสพกาม เสพรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ก็จำเป็นจะต้องหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพต่างๆ

มาเสพอยู่เรื่อยๆ แล้วก็ต้องใช้ตา หู จมูก ลิ้น กายเป็นเครื่องมือ

 แล้วเวลาที่ตา หู จมูก ลิ้น กายนี้เข้าสู่ความชราภาพ

 เข้าสู่ความพิกล พิการก็จะไม่สามารถที่จะหาความสุข

จากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้

พอไม่สามารถหาได้ก็จะเหมือนกับคนที่ติดยาเสพติด

แล้วไม่สามารถหายาเสพติดมาเสพได้ ก็จะมีแต่ความทุกข์ทรมานใจ

นี่คือการใช้ปัญญาเพื่อสอนใจให้เห็นโทษ

ของการทำตามความอยากแล้วจะทำให้ไม่ทำตามความอยาก

ฝืนความอยากละความอยากได้ ถ้าใจมีอัปปนาสมาธิ ใจมีอุเบกขา.

.........................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๘

“เหตุและปัจจัยที่ทำให้บรรลุธรรม”

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต










Create Date : 23 พฤศจิกายน 2558
Last Update : 23 พฤศจิกายน 2558 10:40:41 น.
Counter : 1049 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ