Group Blog
All Blog
### ชีวิตที่จิตใฝ่หา ###

















ชีวิตที่จิตใฝ่หา

ทุกวันนี้ผู้คนแทบทั้งโลกพากันไขว่คว้าแสวงหาเงินทอง

 ชื่อเสียง อำนาจ และสิ่งเสพนานาชนิดอย่างเอาเป็นเอาตาย

 ด้วยความเชื่อมั่นว่านั่นคือจุดหมายสูงสุดของชีวิต

 แต่น้อยคนที่จะหันมาไตร่ตรองว่า

 ชีวิตที่พอกพูนมั่งคั่งด้วยสิ่งเหล่านั้น

 เป็นชีวิตที่จิตใฝ่หาจริงหรือ หรือว่าแท้จริงแล้ว

มันเป็นเพียงชีวิตที่ไหลไปตามกระแส มิใช่แต่กระแสโลกเท่านั้น

 หากรวมถึงกระแสกิเลสด้วย

มีคนจำนวนไม่น้อยที่สามารถไขว่คว้าไล่ล่าเงินทอง ชื่อเสียง

อำนาจมาไว้ในความครอบครองเป็นจำนวนมาก

แต่ก็หารู้สึกว่ามีความสุขแต่อย่างใดไม่ ยังอยากจะมีเพิ่มขึ้นอีก

 แต่แม้จะมีแล้วมีเล่าก็ยังไม่พอใจ ในส่วนลึกยังรู้สึกหิวโหย

 ว่างเปล่า หรือขาดอะไรไปบางอย่าง

นั่นเป็นเพราะเงินทอง ชื่อเสียง อำนาจ

หาใช่สิ่งที่จิตต้องการอย่างแท้จริงไม่

 ดังนั้นไม่ว่าจะได้มามากมายเพียงใด

จิตก็ยังรู้สึกพร่องอยู่ดี

สิ่งที่จิตส่วนลึกปรารถนาอย่างแท้จริง คือ ความสงบเย็น

 และความเบิกบาน ซึ่งมิอาจได้จากการครอบครองสิ่งภายนอก

 แต่เกิดจากความตื่นรู้ และความอิสระภายใน

อันเป็นที่มาแห่งความสุขอย่างแท้จริง

 

...........................

 

พระไพศาล วิสาโล

 

 








ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 24 ธันวาคม 2558
Last Update : 24 ธันวาคม 2558 10:26:43 น.
Counter : 890 Pageviews.

0 comment
### ควบคุมความคิด ###

















"ควบคุมความคิด"

พวกเราควรทุ่มเทเวลาให้กับการภาวนา ดีกว่าทำอย่างอื่น

งานภายนอกทำเท่าไหร่ก็จะไม่จบไม่สิ้น ต้องทำไปเรื่อยๆ

 ต้องบูรณะซ่อมแซมอยู่เรื่อยๆ

 แต่ใจของพวกเรานี้ถ้าทำให้ดีแล้ว จะดีไปเรื่อยๆ จะไม่เสื่อม

 งานต่างๆภายนอกนั้น ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้ทำเท่าที่จำเป็น

 จะได้มีเวลามาทำงานที่สำคัญจริงๆ คืองานพัฒนาจิตใจ

 ใจได้รับการพัฒนามากน้อยเพียงไร

 พวกเราก็จะมีความสุขมากน้อยเพียงนั้น

ถ้าใจไม่ได้รับการพัฒนา ก็จะมีแต่ความทุกข์

ความสุขความทุกข์ไม่ได้อยู่ที่เรื่องภายนอก

แต่อยู่ที่ใจที่ได้รับการพัฒนา ด้วยธรรมะของพระพุทธเจ้าหรือไม่

ถ้านำธรรมะของพระพุทธเจ้าเข้าสู่ใจได้มากเท่าไหร่

ใจจะมีความร่มเย็นเป็นสุขมากเท่านั้น

ยิ่งใจมีความสุขมากเท่าไหร่

 ยิ่งจะเห็นความไม่สำคัญของสิ่งอื่นๆภายนอกมากขึ้นเท่านั้น

เพราะใจสามารถอยู่อย่างมีความสุขได้ โดยไม่ต้องมีอะไรเลย

 แม้แต่ไม่มีร่างกายใจก็ยังอยู่ได้

เช่นเวลาใจเข้าสู่ความสงบเข้าสู่สมาธิ

ตอนนั้นใจกับร่างกายก็แยกออกจากกันชั่วคราว

 ใจไม่รับรู้เรื่องของร่างกาย และเรื่องต่างๆ

ที่เข้ามาทางตาหูจมูกลิ้นกาย เหมือนกับไม่มีอะไร

เหมือนกับลอยอยู่ในอวกาศ ไม่มีอะไรมารบกวนใจ

พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสว่าใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน

 ใจเป็นที่ตั้งของความสุขและความทุกข์

 ใจเป็นผู้สร้างความสุขและความทุกข์

และใจเป็นผู้รับผลของความสุขและความทุกข์

เกิดจากความคิดปรุงแต่งของใจ

ถ้าคิดไปทางสมุทัยก็จะสร้างความทุกข์ขึ้นมา

 ถ้าคิดไปทางมรรคก็จะสร้างความสุขขึ้นมา

หน้าที่ของพวกเราจึงอยู่ที่การควบคุมความคิดของพวกเรา

 ถ้าอยากจะมีแต่ความสุขก็ต้องคิดไปในทางมรรค

ถ้าคิดไปในทางมรรคไม่ได้ ก็จะคิดไปในทางสมุทัย

 เพราะใจมีอวิชชาคอยกำกับคอยสั่ง ให้คิดไปในทางสมุทัยนั่นเอง

 ดังที่ทรงตรัสไว้ว่า อวิชชา ปัจจยา สังขารา

อวิชชาเป็นผู้กำกับให้สังขารคิดปรุงแต่งไปในทางสมุทัย

 พอมีเวทนาก็จะเกิดตัณหาเกิดความอยากตามมา

 ถ้าเป็นสุขเวทนาก็อยากจะให้สุขไปนานๆ

ถ้าเป็นทุกขเวทนาก็อยากจะให้ดับไปเร็วๆ

แต่สุขกับทุกขเวทนามีเหตุมีปัจจัยของเขา

 ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของความอยากของใจ

เช่นเวลาร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย เกิดทุกขเวทนาทางกายขึ้นมา

ใจก็จะอยากให้ทุกขเวทนาทางกายหายไปดับไป

 แต่เขาไม่ดับไปตามความอยาก เพราะเขาเป็นอนัตตา

ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของใจ เขามีเหตุมีปัจจัย

ที่ทำให้เขาเกิดขึ้นมา เช่นยามเจ็บไข้ได้ป่วย

เนื่องจากมีเชื้อโรคทำให้ร่างกายผิดปกติ

 ใจอยากจะให้มันหาย แต่มันก็ไม่หาย

พออยากให้หายก็จะมีความทุกข์ทรมานใจซ้อนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง

เพราะไม่สามารถห้ามความคิดไม่ให้คิดไปในทางสมุทัยนั่นเอง

ถ้าฝึกใจอยู่เรื่อยๆ ไม่ให้คิดไปในทางสมุทัย ก็จะไม่ทรมานใจ

เช่นเวลาเกิดความเจ็บปวดขึ้นมาทางร่างกาย

ก็อย่าไปคิดอยากให้หายปวด ด้วยอุบายที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

 เช่นบริกรรมพุทโธๆไปเรื่อยๆ ในขณะที่มีความทุกข์ทรมานใจ

กับความเจ็บปวดของร่างกาย ถ้าบริกรรมพุทโธๆ

 ก็จะควบคุมความคิดไม่ให้คิดในทางสมุทัยได้

 พอไม่คิดอยากจะให้ความเจ็บไข้ได้ป่วยหายไป

หรือคิดหนีจากความเจ็บไข้ได้ป่วยไป ก็จะไม่ทรมานใจ

 ถ้าไม่สามารถควบคุมความคิดได้ ก็อาจจะคิดฆ่าตัวตายก็ได้

ซึ่งไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริง

เพราะความทุกข์ทรมานใจไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย

 แต่อยู่ที่ความคิดปรุงแต่ง ที่ถูกอวิชชาความหลง

ความไม่รู้เรื่องของความทุกข์ของใจ

ว่าเกิดจากความคิดปรุงแต่งของใจนี้ พาให้คิดฆ่าตัวตาย

 ถ้ารู้ว่าความทุกข์ทรมานใจนี้เราสามารถดับได้

 ด้วยการควบคุมความคิด ไม่ให้คิดไปในทางสมุทัย

หรือให้หยุดคิดชั่วคราว ให้จิตรวมลง ให้เข้าสู่สมาธิ

ความทุกข์ทรมานใจก็จะหายไปหมด

จะเหลือแต่ความเจ็บปวดของร่างกาย

 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับความทุกข์ทรมานใจแล้ว

 เป็นเหมือนฟ้ากับดิน เป็น ๑ ต่อ ๑๐๐ เท่า

จะเห็นได้ชัดเลยว่าความเจ็บปวดของร่างกายนี้

ใจสามารถรับรู้ได้อย่างสบาย ถ้าไม่มีความทุกข์ทรมานใจ

ที่เกิดจากความคิดอยากให้ความเจ็บปวดของร่างกายหายไป

 หรือความคิดอยากจะหนีจากความเจ็บปวดนี้ไป

 ถ้าใจนิ่งเฉยๆจะไม่รู้สึกทรมานใจแต่อย่างใด

เพราะเราสามารถยับยั้งความคิดไม่ให้คิดไปในทางสมุทัยนั่นเอง

จะปวดก็ปวดไป อยู่ด้วยกันได้

ทำได้ ๒ วิธีด้วยกัน คือ ๑. ด้วยการบริกรรมพุทโธๆ

เพื่อไม่ให้ใจคิดไปในทางสมุทัย

๒. ให้คิดว่าความเจ็บปวดของร่างกายเป็นเรื่องปกติ

 เป็นเหมือนกับฝนตก ถ้าไม่ได้อยากให้ฝนหยุดตก

 ก็จะไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร แต่ถ้าอยากจะให้หยุดตก แต่ยังตกอยู่

ใจก็จะกระสับกระส่ายกระวนกระวาย ไม่สบายใจ

ถ้าคิดไปในทางที่ถูกต้องที่เรียกว่าสัมมาทิฐิ ใจก็จะสงบ

เขาเป็นอย่างนี้ อย่าไปถามว่าทำไม อย่าไปอยากให้เขาหายไป

 ให้คิดว่าเขาเป็นอย่างนี้ มีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้เขาเกิดขึ้น

จะอยู่นานหรือไม่นาน ก็เป็นเรื่องของเขา

เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปสั่งให้เขาหายไปได้

แต่สิ่งที่เราสั่งให้หายได้ก็คือสมุทัย ที่สร้างความทุกข์ให้แก่ใจ

ถ้าสอนใจให้คิดอย่างนี้ ใจก็จะไม่คิดอยาก

ให้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง

 เมื่อไม่มีความคิดที่เป็นเหตุที่สร้างความทุกข์ใจขึ้นมา

 ความทุกข์ใจก็จะไม่เกิด นี่คือเป้าหมายของการปฏิบัติ

อยู่ที่การควบคุมใจด้วยสติ ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา

 ที่เป็นเครื่องมือสำคัญ สำหรับการควบคุมความคิดปรุงแต่ง

 ให้อยู่ในทำนองคลองธรรม อยู่ในมรรค .

...................................

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

กัณฑ์ที่ ๔๑๖ วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๓ (จุลธรรมนำใจ ๒๓)

"ความคุมความคิด"











ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 24 ธันวาคม 2558
Last Update : 24 ธันวาคม 2558 9:50:17 น.
Counter : 1046 Pageviews.

0 comment
### กุญแจไขพระอริยสัจ 4 คือ สติ ###

















“กุญแจไขพระอริยสัจ ๔ คือสติ”

เวลานั่งสมาธิก็ขอให้มีสติคือใจจดจ่ออยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง

จะเป็นการบริกรรมพุทโธๆ ไปก็ได้หรือจะดูลมหายใจเข้าออกไปก็ได้

 หรือจะรวมกันหายใจเข้าก็ว่าพุท หายใจออกก็ว่าโธก็ได้

แล้วแต่ความถนัดแล้วแต่ความเหมาะสมของจิตของแต่ละท่าน

ซึ่งไม่เหมือนกัน บางท่านชอบบริกรรมอย่างเดียว

บางท่านชอบดูลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว

บางท่านชอบพุทเข้า โธออก

 บางท่านก็ยังไม่สามารถที่จะดูลมหรือพุทโธได้

ก็สวดมนต์ไปภายในใจก่อนก็ได้ สวดอิติปิโส สวากขาโต สุปฏิปันโน

 สวดไปหลายๆ จบ สวดไปจนรู้สึกว่าใจนิ่งใจสงบแล้ว

ค่อยดูลมหรือพุทโธไปอย่างเดียวก็ได้

เป้าหมายของการนั่งสมาธิก็เพื่อทำใจให้สงบ ให้หยุดคิดปรุงเเต่ง

 เพราะความคิดปรุงเเต่งนี้ทำให้ใจวุ่นวาย ทำให้ใจมีความทุกข์

ทำให้ใจมีความวิตกกังวลกับเรื่องราวต่างๆ แต่ถ้าใจหยุดคิดได้

เรื่องราวต่างๆ ก็จะหายไปจากใจ ใจก็จะว่าง

จะเย็นจะสงบจะสบายจะมีความสุขอีกแบบหนึ่ง

 ความสุขที่เกิดจากความว่าง ซึ่งเป็นความสุขที่แท้จริง

เป็นความสุขของใจ เป็นความสุขที่จะอยู่กับใจคู่กับใจไปตลอด

 ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ใจก็จะมีความสุขเสมอ

อันนี้เป็นความสุขที่เราไม่ต้องอาศัยสิ่งต่างๆ ภายนอกใจ

เช่นรูป เสียง กลิ่น รส หรือบุคคลหรือวัตถุข้าวของเงินทองต่างๆ

 เราไม่ต้องพึ่งพาสิ่งต่างๆ เพราะสิ่งต่างๆนั้นพึ่งพาอาศัยไม่ได้

เป็นของชั่วคราว เวลามีก็มีความสุข เวลาหมดไปก็จะมีความทุกข์

แต่ถ้ามีความสุขจากความสงบ จากการเจริญสติ

ทำใจให้หยุดคิดปรุงเเต่งใจก็จะมีความสุขโดยที่ไม่ต้องมีอะไร

และก็จะมีความสุขแบบนี้ ไปได้เรื่อยๆไปตลอด

เพราะใจไม่มีวันสิ้นสุด และความสุขที่เกิดจากความสงบของใจ

ก็ไม่มีวันสิ้นสุดเหมือนกัน

นี่คือความสุขที่ดีกว่าความสุขทั้งปวง

นัตถิ สันติ ปรัง สุขัง สุขอื่นที่เหนือกว่าความสงบนี้ไม่มี

พระพุทธเจ้าทรงค้นพบความสุขอันนี้แล้ว

 แล้วก็ได้นำเอาความจริงอันนี้ ความสุขอันนี้มาเผยแผ่ให้แก่พวกเรา

 ที่ยังไม่มีความสุขแบบนี้กัน พวกเราอยากจะมีความสุขแบบนี้

ก็ต้องมีความเพียร มีความขยัน ต้องหมั่นเจริญสติให้มากๆ

 เพราะสตินี้เป็นผู้ที่จะทำให้จิตสงบนั่นเอง

 ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะทำให้จิตสงบได้ นอกจากสติ

สติจึงเป็นธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นธรรมที่สำคัญที่สุด

ทรงเปรียบเทียบสติว่าเป็นเหมือนรอยเท้าช้าง

เป็นรอยเท้าที่ใหญ่กว่ารอยเท้าของสัตว์ต่างๆทั้งหลายที่มีอยู่ในป่า

 รอยเท้าช้างนี้จะครอบรอยเท้า ของสัตว์ทุกชนิด

 นี่คือความสำคัญของสติ แล้วก็ผลที่ได้จากการเจริญสติ

 ก็จะได้ความสุขที่ยิ่งใหญ่กว่า ความสุขทั้งปวง ไ

ม่มีอะไรในโลกที่จะสู้ความสุขที่เกิดจากการความสงบไม่ได้

เราจึงต้องพยายามบังคับตัวเราเอง ให้เจริญสติอยู่เรื่อยๆ

 แล้วก็ให้นั่งสมาธิให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

เพราะขั้นเริ่มต้นนี้เราอย่าเพิ่งไปสนใจ เรื่องของทางปัญญา

 ปัญญานี้ถ้ายังไม่มีสมาธิเป็นผู้สนับสนุน

จะเป็นปัญญาที่เหมือนกับมีดที่ยังไม่ได้ลับ

 มีดที่ไม่ได้ลับนี้ยังเป็นมีดที่ไม่คม

ไม่สามารถที่จะเอาไปตัดอะไรต่างๆได้ ฉันใด

ปัญญาที่ไม่มีสมาธิเป็นผู้สนับสนุน

 ก็จะเป็นปัญญาที่ไม่สามารถตัดกิเลสตัณหาต่างๆได้

เป้าหมายของการปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานนี้

อยู่ที่การตัดกิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจนี่เอง

 และสิ่งที่จะตัดกิเลสตัณหาได้ก็ต้องเป็นปัญญา

 แต่ต้องเป็นปัญญาที่มีสมาธิเป็นผู้สนับสนุน

ที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา ภาวนาก็แปลว่าสมถภาวนา

มยปัญญา ก็คือปัญญาที่เกิดจากการใคร่ครวญพิจารณา

 ตามหลักของความเป็นจริงตามหลักของไตรลักษณ์

ตามหลักของอริยสัจ ๔ ถ้าพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่าง ว่าเป็นไตรลักษณ์

 เป็นอริยสัจ ๔ แล้วถ้ามีสมาธิเป็นผู้สนับสนุน

เวลาเกิดตัณหาความอยากต่างๆ ขึ้นมา

 ก็จะสามารถตัดตัณหาให้ขาดได้ เช่นความอยากไม่แก่

ความอยากไม่เจ็บ ความอยากไม่ตาย มีอยู่ในใจของพวกเราทุกคน

ไม่มีใครอยากแก่กัน ไม่มีใครอยากเจ็บไข้ได้ป่วยกัน

ไม่มีใครอยากตายกัน แต่ไม่มีใครที่จะสามารถยับยั้ง

ความแก่ ความเจ็บ ความตายได้ แต่สามารถยับยั้งความทุกข์

ที่เกิดจากความอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตายได้

ถ้ามีสมาธิ และมีปัญญาที่พิจารณาเห็นว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง

 เกิดมาแล้วย่อมต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายไปเป็นธรรมดา

ล่วงพ้นไปไม่ได้เป็นอนัตตา ไม่มีใครล่วงพ้นไม่มีใครสั่ง

ไปห้ามไม่ให้ร่างกายนี้แก่ เจ็บ ตายได้

 คำว่าอนัตตาก็คือล่วงพ้นไม่ได้

อยู่เหนือความแก่ ความเจ็บ ความตายไปไม่ได้

ถ้ามีร่างกายแล้วจะต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายด้วยกันทุกคน

 อนิจจาก็คือมีการเปลี่ยนแปลง มีการเจริญแล้วก็มีการเสื่อม

ร่างกายนี้เวลาเกิดมา ช่วงเกิดมาใหม่ๆ

 ช่วงแรกๆก็จะมีแต่การเจริญเติบโต

 พอเจริญเติบโตได้เต็มที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่แล้ว

ก็จะเริ่มเข้าสู่ความเสื่อม เริ่มแก่ลงไปทีละเล็กทีละน้อย

 จนในที่สุดก็ถึงความตาย

อันนี้ถ้ามีปัญญาพิจารณาเห็นความจริงอันนี้

ว่าร่างกายอย่างไรๆก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

ถ้าอยากให้ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายก็จะทุกข์ไปเปล่าๆ

 แต่ถ้าไม่มีปัญญา ไม่มีสมาธิจะไม่สามารถหยุด

ความอยากไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายที่ฝังลึกอยู่ภายในใจได้

แต่ถ้ามีสมาธิแล้วก็มีปัญญา พิจารณาเห็นความจริงของร่างกาย

ว่าไม่เที่ยง เป็นอนัตตา เป็นทุกข์ถ้าไปอยากให้ร่างกายเที่ยง

 ร่างกายเป็นอัตตา เป็นของเราอยู่ภายใต้คำสั่งของเรา

 สั่งให้ไม่แก่ก็ไม่แก่ สั่งให้ไม่เจ็บก็ไม่เจ็บ สั่งให้ไม่ตายก็ไม่ตาย

 แต่มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นอนัตตา

สั่งร่างกายให้ไม่แก่ไม่ได้ ไม่เจ็บไม่ได้ ไม่ตายไม่ได้

 จำเป็นที่จะต้องปล่อยวาง ยอมรับความจริง

ถ้าพิจารณาด้วยปัญญาอยู่เรื่อยๆ ใจก็จะรู้ว่าฝืนไม่ได้

 ฝืนความจริงไม่ได้ ความแก่ ความเจ็บ ความตายนี้

มีอยู่กับทุกร่างกายไม่ใช่มีอยู่กับร่างกายของเราเพียงอย่างเดียว

ร่างกายของคนอื่นก็เป็นเหมือนกัน

ร่างกายของสัตว์เดรัจฉานก็เป็นเหมือนกัน

 เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายไปด้วยกัน

ทุกสัตว์ทุกบุคคลจึงอย่าไปอยากให้ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

เพราะจะเป็นสมุทัย สมุทัยก็คือต้นเหตุของความทุกข์ใจ

ความทุกข์ใจนี้เกิดจากสมุทัยคือ

ความอยากไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายนี่เอง

ความทุกข์ใจนี้สามารถดับมันได้

 สามารถทำลายมันได้ด้วยการใช้สมาธิและปัญญา

เป็นผู้มาหยุดความอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย

 พอหยุดความอยากไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายแล้ว

ใจจะไม่ทุกข์กับความแก่ ความเจ็บ ความตาย

 จะอยู่ไปอย่างสบาย ร่างกายยังไม่แก่ ก็ไม่เดือดร้อนแก่ก็ไม่เดือดร้อน

 ร่างกายเจ็บก็ไม่เดือดร้อน ร่างกายไม่เจ็บก็ไม่เดือดร้อน

ร่างกายตายหรือไม่ตายก็จะไม่เดือดร้อน รับได้อย่างสบาย

อันนี้ถ้าฝึกสติบ่อยๆ มากๆ จะทำให้ใจนิ่งใจสงบ เป็นสมาธิ

 เมื่อใจสงบใจเป็นสมาธิแล้วเวลาเจอตัณหา

ก็สามารถใช้ปัญญานี้มาสอนใจได้ สอนว่าอย่าไปอยาก

 อยากแล้วจะทุกข์ ไม่ว่าจะอยากกับเรื่องอะไรก็ตาม

นอกจากร่างกายแล้วก็ยังไปอยากกับเรื่องอื่นๆด้วย

เรื่องของร่างกายของคนอื่น

 เรื่องของทรัพย์สินข้าวของเงินทองต่างๆ

เรื่องของเหตุการณ์ต่างๆ เรื่องของดินฟ้าอากาศ

ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตามเขาเป็นอนิจจัง อนัตตาทั้งนั้น

เราไปเปลี่ยนแปลงเขาไม่ได้ เราไปสั่งไปห้ามเขาไม่ได้

เช่นตอนนี้ฝนฟ้าตกฝนฟ้าคะนองมีเสียงดัง เราไปสั่งให้หยุดไม่ได้

แต่เราไม่ทุกข์กับมัน เพราะเรารู้ว่าเราสั่งเขาไม่ได้

เรารู้ว่าเราต้องอยู่กับเขา ถ้าเราอยู่กับเขา

เรารับเขาไม่ปฏิเสธเขา ไม่มีความอยากให้เขาเปลี่ยนไป

หรือหายไปหมดไป เราก็จะไม่ทุกข์กับเขา

เราก็จะอยู่กับเขาได้อย่างสบาย

นี่คือการบรรลุผลของการปฏิบัติ คือดับความทุกข์ภายในใจ

ที่มีอยู่หลายขั้นหลายตัวด้วยกัน

ขั้นแรกของพระโสดาบันนี้ก็เกี่ยวกับร่างกาย

ร่างกายนี้คือความแก่ ความเจ็บ ความตายนี้

เป็นข้อสอบของพระโสดาบัน

ผู้ที่จะบรรลุพระโสดาบันได้ต้องเห็นว่า

ร่างกาย และความเจ็บของร่างกายนี้เป็นเรื่องธรรมดา

เป็นสิ่งที่ต้องปรากฏขึ้น ไม่ช้าก็เร็ว

และเวลาปรากฏขึ้นมา ก็ต้องรับมันไป ไม่ปฏิเสธคือปล่อยวาง

 ร่างกายจะแก่ก็ปล่อยให้แก่ไป ร่างกายจะเจ็บก็ปล่อยให้เจ็บไป

ร่างกายจะตายก็ปล่อยให้ตายไป

ถ้าปล่อยวางได้ก็จะไม่ทุกข์กับร่างกาย

จะเห็นว่าถ้าไม่ปล่อย ถ้าอยากให้ไม่แก่ อยากหให้ไม่เจ็บ

อยากให้ไม่ตายนี้ใจจะทุกข์ จะเห็นอริยสัจ ๔ เห็นเลยว่า

ความทุกข์ของใจนี้ไม่ได้เกิดจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย

ของร่างกาย แต่เกิดจากความอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ

อยากไม่ตาย ที่เรียกว่า วิภวตัณหา

 ความอยากไม่ให้สิ่งนั้นไม่เป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างนี้

 ความอยากอันนี้เห็นแล้วว่ามันเป็นต้นเหตุ ของความทุกข์ทรมานใจ

และถ้าอยากจะให้ความทุกข์ทรมานใจอันนี้มันหายไปดับไป

ก็ต้องหยุดความอยาก หยุดวิภวตัณหา

หยุดความอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย

 จะหยุดได้ก็ต้องมีสมาธิ แล้วก็มีปัญญาที่เห็นว่า

ร่างกายเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ร่างกายต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

 ร่างกายเป็นอนัตตา ไม่มีใครไปห้ามมันได้

ร่างกายไม่อยู่ภายใต้คำสั่งของใคร

เราจึงไม่สามารถเรียกร่างกายว่าเป็นตัวเราของเราได้

ถ้ามันเป็นตัวเราของเราเราต้องสั่งมันได้

ตอนนี้เราสั่งมันได้ เราก็คิดว่าเราจะสั่งมันได้ไปในทุกเรื่องทุกอย่าง

 แต่เราก็สั่งมันได้เพียงบางเรื่องบางอย่าง

 เช่นตอนนี้เราสั่งให้มันไปไหนมาไหนได้

อยากจะให้มันทำอะไรก็สั่งมันได้ แต่มันมีเวลาที่สั้งมันไม่ได้

 เวลามันเจ็บไข้ได้ป่วย สั่งให้มันลุกขึ้นมาไปทำงานทำการ

มันก็ไม่ยอมลุก เวลามันจะตายห้ามมันไม่ให้ตายก็ห้ามมันไม่ได้

ดังนั้นเราต้องเห็นว่ามันไม่ได้เป็นตัวเราของเรา

เพราะเราสั่งมันไม่ได้ ห้ามมันไม่ได้

เมื่อเราเห็นว่าเราห้ามมันไม่ได้สั่งไม่ได้

ถ้าเราไม่อยากจะทุกข์กับมันเราก็ต้องปล่อยมัน

 ปล่อยให้มันแก่ไป ความแก่นี้เราห้ามไม่ได้สั่งไม่ได้

ความเจ็บไข้ได้ป่วยนี้เราสั่งไม่ได้ห้ามไม่ได้

ความตายนี้เราสั่งไม่ได้ห้ามไม่ได้

 พอเราเห็นว่าถ้าอยากให้มันเป็นไปตามความอยาก

 เราก็จะทุกข์ไปเปล่าๆ แต่ถ้าเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่เราสั่งไม่ได้

 เป็นสิ่งที่จะต้องเป็นไป เพราะมันเป็นไม่ถาวร มีเจริญแล้วก็ต้องมีเสื่อม

 มีเกิดแล้วก็ต้องมีดับ นี่คือปัญญาเห็นอนิจจัง เห็นอนัตตา

 เห็นทุกขังว่าเกิดจากความอยาก เกิดจากสมุทัย ทุกข์

สมุทัย นิโรธ มรรค

มรรคคือปัญญาเห็นชัดเจนว่า ทุกข์เกิดจากสมุทัย

 ถ้าอยากจะดับความทุกข์ก็ต้องละสมุทัย ใจก็เลยละสมุทัย

หยุดความอยากไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

 เวลาเจ็บก็ปล่อยให้มันเจ็บไป เวลาตายก็ปล่อยให้มันตายไป

 ถ้าปล่อยแล้วใจจะไม่ทุกข์ ความทุกข์จะดับ นี่คือนิโรธ

ความดับของทุกข์นี้คือนิโรธ พอนิโรธก็รู้เลยว่าได้บรรลุธรรมแล้ว

 ได้ละสักกายทิฐิได้แล้ว ได้ละสักกายทิฐิได้

 และก็ได้ละวิจิกิจฉาได้แล้ว

ไม่สงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว

เห็นพระธรรมปรากฏขึ้นมาภายในใจ เห็นพระอริยสัจ ๔

เห็นทั้งทุกข์ เห็นทั้งสมุทัย เห็นทั้งนิโรธ เห็นทั้งมรรค

ผู้ที่เห็นธรรมก็คือผู้ที่เห็นพระพุทธเจ้า

เพราะว่าธรรมอันนี้แล เป็นธรรมอันเดียวกัน

ที่มีอยู่ในพระทัยของพระพุทธเจ้า

ถ้าเห็นธรรมอันนี้ก็แสดงว่าผู้ที่แสดงธรรมอันนี้ต้องมีจริง

ต้องมีพระพุทธเจ้าจริง เมื่อเห็นธรรมแล้วก็จะไม่สงสัย

ว่ามีพระพุทธเจ้าหรือไม่ ถ้าไม่ได้ปฏิบัติธรรมนี้

มีคนเข้ามาทักก็ได้ว่า โอ๊ย! พระพุทธเจ้านี้ไม่มีหรอก

เป็นเรื่องนิยาย เขาแต่งกันขึ้นมาเอง

 ถ้าเราไม่เห็นธรรมนี้เราก็ชักจะไม่แน่ใจเหมือนกันว่า

นี่เป็นเรื่องแต่งกันขึ้นมาหรือเปล่า เป็นนิยายหรือเปล่า

แต่พอเราได้ปฏิบัติได้เห็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงเห็น

 ธรรมที่พระพุทธเจ้านำมาเผยแผ่สั่งสอนให้แก่พวกเรา

ก็คืออริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

 พอเราปฏิบัติเราก็จะเข้าไปเจอทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคนี้

เช่นเวลาเราอยากจะเจอทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคนี้

ลองนั่งให้มันเจ็บดู ลองนั่งแล้วให้ร่างกายมันเจ็บดู

แล้วดูซิว่ามันเกิดความทุกข์ขึ้นมาหรือไม่

นอกจากความเจ็บแล้วมันมีความทุกข์ขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง

ไอ้ที่เราทนกันไม่ไหวไม่ใช่ความเจ็บ ที่ทนไม่ไหวกันก็คือความทุกข์

ที่เกิดจากสมุทัย คือความอยากให้ความเจ็บมันหายไป

พอเราปฏิบัติเข้าไปในใจแล้วเห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

เราก็จะไม่สงสัยในพระพุทธเจ้า แล้วเราก็ไม่สงสัยในพระอริยสงฆ์

ว่าคือใคร พระอริยสงฆ์ก็คือผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ

 ผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรมนี่เอง ก็คือตัวเรานี่แหละ

ตัวที่ได้เห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ได้ละสมุทัย

ได้ทำนิโรธให้แจ้งขึ้นมา ได้เจริญมรรคด้วยปัญญา

ด้วยการเห็นไตรลักษณ์ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 ก็จะไม่สงสัยในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์

ว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างไร

 พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์นี้ต่างกันตรงลักษณะ

แต่เนื้อหาสาระนี้อันเดียวกัน พระพุทธเจ้ามีอริยสัจ ๔

พระธรรมก็มีอริยสัจ ๔ พระสงฆ์ก็มีอริยสัจ ๔

นี่คือตัวเชื่อมระหว่างพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์

ว่าเป็นเหมือนตัวเดียวกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ก็คือพระอริยสัจ ๔ เมื่อเห็นทุกข์แล้วว่าเกิดจากความอยาก

และความอยากนี้ ก็เกิดจากความไม่อยากให้สิ่งต่างๆ มันเสื่อม

 ก็จะไม่ไปทำการกระทำต่างๆ ที่จะมาดับความทุกข์

 นอกจากการละตัณหาความอยากเท่านั้น

จะไม่มีสีลัพพตปรามาส คือจะไม่ไปประกอบพิธีกรรมอะไรต่างๆ

เพื่อมาดับความทุกข์ที่มีอยู่ในใจ

ดับไม่ได้เวลาเกิดความทุกข์ใจที่เกิดจากความกลัวความเจ็บก็ดี

 กลัวความตายก็ดี บางคนก็ไปทำบุญถวายผ้าขาวให้กับพระ

 เวลาพ่อแม่ไม่สบายเข้าโรงพยาบาล

ใจตนเองทุกข์ไม่อยากให้พ่อแม่ตาย ก็เลยเชื่อเขาว่า

เอาผ้าขาวไปถวายพระแล้วเดี๋ยวพ่อแม่จะหายจะไม่ตาย

 พระท่านจะเมตตา เวลามาถวายผ้าขาวก็ขอให้พระช่วยเเผ่เมตตาให้

 อันนี้แหละเรียกว่าเป็นสีลัพพตปรามาส แก้ปัญหาไม่ถูกจุด

ปัญหาที่ถูกจุดก็คือ ตอนนี้เราทุกข์เพราะอะไร

เราทุกข์เพราะเราไม่อยากให้พ่อแม่เราตาย

 เราอยากให้พ่อแม่เราอยู่ อันนี้แหละเป็นตัวต้นหตุของความทุกข์ใจ

อยากให้พ่อแม่อยู่ต่อไป อยากไม่ให้พ่อแม่ตาย

 ก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา เพราะไม่มีปัญญา

ไม่เห็นความจริงว่า พ่อแม่ของเราทุกคนนี้เกิดมาแล้วเขาก็ต้องแก่

เขาก็ต้องเจ็บ เขาก็ต้องตายไป

ถ้ามีปัญญาแล้วมีสมาธิก็จะยอมรับความจริงได้

 ก็จะทำใจให้สงบ ทำใจให้นิ่ง ทำใจให้เฉยๆ

ยุติความอยาก ใจก็จะไม่ทุกข์กับความตายของพ่อของแม่

เพราะเมื่อมันเป็นความจริง มันเป็นอนิจจัง เกิดแล้วต้องตาย

อย่างพระอัญญาโกณฑัญญะได้เปล่งวาจาไว้

หลังจากที่พระพุทธเจ้า ได้ทรงแสดงพระอริยสัจ ๔ให้ฟัง

สิ่งใดมีการเกิดขึ้นมาเป็นธรรมดา

สิ่งนั้นต้องมีการดับไปเป็นธรรมดา

 ร่างกายเมื่อมีเกิดแล้วต้องมีตายเป็นธรรมดา

ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของใครก็ตาม

เเม้แต่ร่างกายของพระพุทธเจ้า

 ร่างกายของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

ก็ต้องมีการตายไปเป็นธรรมดา

 แต่ผู้ที่ไม่ได้ตายนั้นคือใจ ใจไม่ได้ตายไปกับร่างกาย

ใจเป็นสิ่งที่ถาวร ใจจะต้องไปรับผลบุญผลบาปต่อไป

ถ้าใจได้ชำระได้ทำใจให้สะอาดบริสุทธิ์

ก็ไม่ต้องไปรับผลบาปผลบุญอีกต่อไป

ก็จะเป็นใจของพระพุทธเจ้า เป็นใจของพระอรหันตสาวก

 ก็ยังเป็นใจเหมือนกันอยู่

ใจที่ยังไม่ชำระก็ต้องไปรับผลบุญผลบาปต่อไป

ไปเกิดใหม่ ไปเเก่ ไปเจ็บ ไปตายใหม่อีกต่อไป มีเท่านี้ความจริง

ผู้ที่เข้าใจความจริงแล้วก็จะไม่รู้สึกวุ่นวาย

ไปกับความตายของร่างกาย

เพราะร่างกายนี้ก็จะเป็นเสื้อผ้าชุดหนึ่งเท่านั้นเอง

 คนที่สวมใส่เสื้อผ้าไม่ได้ตาย ไปกับเสื้อผ้า

เวลาเสื้อผ้ามันขาดก็เอาไปทิ้งหรือเอาไปเผามันทิ้งไป

แล้วก็ซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่มาใส่ต่อ ก็มีอยู่เท่านั้น

 ร่างกายกับใจเป็นอย่างนี้ ใจเป็นเหมือนร่างกาย

 ร่างกายนี้เป็นเหมือนเสื้อผ้า เวลาร่างกายตายไปนี้

ใจไม่ได้ตายไปกับเสื้อผ้า ไม่เห็นจะต้องไปตื่นเต้นตกใจ

เสียอกเสียใจแต่อย่างใด

เวลาพ่อแม่ตายไป ตัวพ่อแม่เองไม่ได้ตายไปกับร่างกาย

ตัวพ่อแม่ก็คือใจ ใจของพ่อแม่ก็ยังอยู่

เพียงแต่ว่าไม่มีร่างกายไว้สำหรับติดต่อกับพวกที่มีร่างกาย

อย่างพวกเราเท่านั้นเอง

เวลาที่พ่อแม่ตายไปก็เหมือนกับโทรศัพท์มือถือของพ่อแม่เสียไป

 เมื่อโทรศัพท์มือถือของพ่อแม่เสียไป

 เราก็ไม่สามารถโทรติดต่อกับโทรศัพท์ของพ่อแม่ได้

ร่างกายของเรานี้ก็เป็นเหมือนโทรศัพท์มือถือ

 ใจของพวกเราก็เป็นผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ

เวลาโทรศัทท์มือถือเครื่องนี้เสียไปเราก็ไปเปลี่ยนเครื่องใหม่

 ซื้อเครื่องใหม่ พอเรามีเครื่องใหม่เราก็ติดต่อกับคนอื่น

ที่มีโทรศัพท์มือถือได้ แต่เครื่องใหม่นี้ซื้อมา ต่อไปมันก็ต้องเก่า

เก่าแล้วมันก็ต้องตาย มันก็ต้องพังไปเหมือนกัน

 ร่างกายนี้ก็เหมือนกัน เราเปลี่ยนร่างกายมาไม่รู้กี่ร้อยล้านร่างแล้ว

เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เวลาเปลี่ยนทีก็ร้องห่มร้องไห้กันทุกข์ทรมานใจกัน

 แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร พอมาได้ร่างกายอันใหม่

ก็ดีอกดีใจไปสักพักหนึ่ง ตอนที่เป็นหนุ่มเป็นสาวนี้

ก็หลงระเริงหาความสุขกัน

 เพราะร่างกายตอนนั้นมันสมบูรณ์แข็งแรง

สามารถทำอะไรต่างๆ ได้

แต่พอมาเห็นคนแก่ เห็นคนเจ็บ เห็นคนตายเข้า

ก็จะเริ่มมีความวิตกกังวลแล้วว่าต่อไป ร่างกายของเรานี้ก็จะต้องแก่

 จะต้องเจ็บ จะต้องตายไปเหมือนกัน

เวลามันแก่ เวลามันเจ็บ เวลามันตาย

ก็จะเป็นเวลาที่มีแต่ความทุกข์ทรมานใจ

เพราะจะไม่สามารถทำอะไรตามความอยากได้

มีพระพุทธเจ้าที่ทรงเห็นปัญหานี้และทรงพยายามหาวิธีแก้ปัญหานี้ว่า

 ทำอย่างไรถึงไม่ต้องมาเจอความแก่ ความเจ็บ ความตาย

 ก็ได้ข้อสรุปว่าต้องไม่มาเกิดเท่านั้น

ถ้าไม่เกิดแล้วก็ไม่ต้องมีร่างกาย เมื่อไม่มีร่างกาย

ก็ไม่มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย

แล้วทรงค้นพบต้นเหตุของการมาเกิดว่า

เกิดจากตัณหาความอยากนี่เอง

เพราะว่ายังอยากมีความสุขผ่านทางร่างกายอยู่

เพราะไม่มีรู้ว่ามีความสุขที่ดีกว่านี้อยู่ภายในใจ นี่เรียกว่าอวิชชา.

..............................

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

ธรรมะบนเขา วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๘

“ทางเดินไปสู่นิพพาน”












ขอบคุณที่มา fb.พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 23 ธันวาคม 2558
Last Update : 23 ธันวาคม 2558 11:42:20 น.
Counter : 2139 Pageviews.

0 comment
### กำลังหยุดความอยาก ###
















“กำลังหยุดความอยาก”

อวิชชาคือความไม่รู้ความสุขที่แท้จริงว่ามีอยู่ในใจของเราแล้ว

ไม่ต้องไปหาความสุขนอกใจ แต่เมื่อไม่รู้

ก็เลยต้องไปหาความสุขนอกใจ ความสุขนอกใจก็คือ

ความสุขทางร่างกายนี่เอง ก็ต้องไปหาร่างกายมา

เพื่อจะได้มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย

 เพราะจะได้เสพความสุขทางรูป เสียง กลิ่น รส

เวลาให้เห็นรูปที่ถูกอกถูกใจก็มีความสุข

เวลาได้สัมผัสกับเสียงกับกลิ่นกับรสกับโผฏฐัพพะ

ที่ถูกอกถูกใจก็มีความสุข

แต่ไม่รู้ว่าความสุขเหล่านี้เป็นความสุขชั่วคราว

เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นความสุขที่มีการเจริญแล้วมีการเสื่อมไป

 มีการเกิดแล้วมีการดับไป เวลาเสื่อมไปดับไป

ก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา แต่ก็ไม่เข็ด

พอเสื่อมไปก็หาใหม่มาทดแทน

หามาทดแทนมากน้อยเท่าไร ก็หมดไปเหมือนกัน

ก็ต้องหามาอยู่เรื่อยๆ หาไปจนร่างกายนี้หาไม่ไหว

 ร่างกายเองก็ต้องเสื่อมหมดไป แต่ความอยากมันไม่ได้หมดไป

กับความเสื่อมของร่างกาย ความอยากมันอยู่ในใจ

มันก็ผลักดันให้ใจ ไปหาร่างกายอันใหม่

ก็กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด

การเวียนว่ายตายเกิดของเรานี้มันมากมายก่ายกอง

 ถ้าอยากจะรู้ว่ามากขนาดไหน ท่านยกตัวอย่างให้ฟังว่า

 ในแต่ละภพแต่ละชาติที่เรามาเกิดนี้ เราต้องร้องไห้กันทุกคน

 น้ำตาที่เราหลั่งออกมานี้ ถ้าเราเอามาเก็บรวบรวมกันไว้

ของแต่ละภพแต่ละชาตินี้ ถ้ารวมกันแล้วนี้

มันจะมากกว่าน้ำในมหาสมุทรเสียอีก

 คิดดูก็แล้วกันว่าจะต้องมาเกิดแก่ เจ็บตายกี่ล้านล้านครั้งด้วยกัน

ถึงจะมีน้ำตามากกว่าน้ำในมหาสมุทร

นั่นคือจำนวนภพชาติของพวกเรา แล้วก็ยังจะมีเพิ่มขึ้นไปอีก

ไม่มีวันหมด จนกว่าเราจะได้มาพบกับพระพุทธศาสนา

และมาพบพระอริยสัจ ๔ มาเห็นว่าความทุกข์ของพวกเรานั้น

เกิดจากความอยาก ความอยากเกิดจากความหลง

หรือความไม่รู้ความจริงว่า ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่การหยุดความอยาก

 อยู่ที่การทำใจให้สงบ ทำใจให้นิ่ง ถ้าใจสงบใจนิ่งใจไม่มีความอยาก

 ใจจะพบกับความสุขที่เหนือกว่าความสุขที่ได้จากสิ่งต่างๆ

ภายในโลกนี้ จากร่างกายจากรูป เสียง กลิ่น รส

พอเราเห็นความสุขอันนี้แล้วเราก็จะมีกำลัง

ที่จะหยุดความอยากต่างๆ ได้ เพราะเรารู้ว่า

ทำไปก็สู้ความสุข ที่เรามีอยู่นี้ไม่ได้

เหมือนกับถ้าเราได้ของที่ดีกว่า

เราจะไปอยากเก็บของที่ไม่ดีกว่าไว้ทำไม

 ถ้าเราได้รถคันใหม่ เราอยากจะเก็บรถคันเก่าไว้ทำไม

 ถ้ารถคันใหม่มันดีกว่ารถคันเก่า ฉันใดถ้าเราพบกับความสุข

 ที่เกิดจากความสงบแล้วเราก็จะเลิกหาความสุขผ่านทางร่างกายได้

 เมื่อเราไม่ต้องหาความสุขผ่านทางร่างกาย

 เราก็ไม่ต้องมีร่างกายก็ได้ พอร่างกายอันนี้ตายไป

เราก็ไม่ไปหาร่างกายอันใหม่ เราก็ไม่ต้องกลับมาเกิดใหม่

ไม่ต้องกลับมาแก่ มาเจ็บ มาตายใหม่

นี่คือเรื่องของธรรมะของพระพุทธเจ้า ที่เริ่มต้นที่การฝึกสติ เจริญสติ

 ถ้ามีสติแล้วจะทำใจให้สงบได้ เมื่อใจสงบแล้ว

ถ้าหมั่นเจริญปัญญาพิจารณาไตรลักษณ์อยู่เรื่อยๆ

ใจก็จะหยุดความอยากได้ จะไม่ทำตามความอยาก

 เมื่อไม่ทำตามความอยากก็จะไม่ทุกข์

แล้วก็ไม่ต้องไปเกิดแก่เจ็บตายใหม่อีกต่อไป

ดังนั้นพวกเราต้องพยายามเจริญสติกันใหม่มากๆ

สร้างความเพียรพยายามให้มากๆ

ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น

 เหตุคือสติ ถ้ามีสติแล้วจะมีสมาธิจะมีปัญญา

 เมื่อมีปัญญาแล้วก็จะมีการหลุดพ้น

 มีการบรรลุมรรคผล นิพพานตามมา

ดังนั้นหน้าที่ของเราอยู่ที่การสร้างเหตุเจริญเหตุ

 สร้างเหตุด้วยความพากเพียรความพยายาม

ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น

 ถ้าไม่มีความเพียร ไม่มีความพยายาม

มีแต่ความอยากได้ผลนี้ ก็ต้องอยากไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด

อยากเท่าไรก็จะไม่มีวันได้ผล เพราะผลไม่ได้เกิดจากความอยาก

 ผลเกิดจากความเพียร เพียรสร้างสติ เพียรสร้างสมาธิ

 เพียรสร้างปัญญา เมื่อมีความเพียรมีสติ มีความเพียรก็จะมีสติ

 มีสติก็จะมีสมาธิ มีสมาธิก็จะมีปัญญา

เมื่อมีสติ สมาธิ ปัญญาแล้ว ตัณหาความอยากต่างๆ

ที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ใจก็จะถูกทำลายไปหมด

นิโรธคือความดับของความทุกข์ก็จะปรากฏขึ้นมา

 นิโรธก็คือมรรคผล นิพพานนี่เอง

ผลที่เกิดจากมรรค มรรคก็คือ สติ สมาธิ ปัญญา

 ผลก็คือ นิโรธ คือการดับทุกข์ขั้นต่างๆ

ดับทุกข์ของขั้นพระโสดาบัน ดับทุกข์ของขั้นพระสกิทาคามี

 ดับทุกข์ของขั้นพระอนาคามี และดับทุกข์ของขั้นพระอรหันต์

มีแบ่งไว้เป็น ๔ ขั้นตอนด้วยกัน ต้องใช้มรรคในการทำลายตัณหา

 เพราะทุกๆขั้นตอนนี้เกิดจากตัณหาความอยาก

มรรคก็ต้องเห็นไตรลักษณ์เห็นอสุภะ

ถ้าขั้นสกิทาคามี ขั้นอนาคามีนี้ต้องเห็นอสุภะ เห็นว่าไม่สวยไม่งาม

 ร่างกายของคนที่เราหลงไหลคลั่งไคล้ว่าสวยว่างามนี้

เราเห็นเพียงด้านเดียว ด้านไม่สวยเราไม่มองกัน

เราจึงหลงไหลคลั่งไคล้

แต่ถ้าเรามองด้านที่ไม่สวยมองเข้าไปภายใต้ผิวหนังดู

ลองดูข้างใต้ผิวหนังว่ามีอะไรบ้าง มีหนัง มีเนื้อ มีเอ็น

 มีกระดูก มีม้าม มีตับ มีไต มีหัวใจ มีปอด มีลำไว้ มีสมอง

เห็นสิ่งเหล่านี้ภายใต้ผิวหนังแล้ว ก็จะเห็นความจริงของร่างกายว่า

 ไม่สวยไม่งาม เมื่อเห็นความไม่สวยไม่งามก็จะละกามารมณ์

 กามราคะได้ ความรักความใคร่ในร่างกาย

ความอยากจะเสพกามกับร่างกายอันนี้ก็จะถูกทำลายไป

ด้วยอำนาจของอสุภะ

อสุภะนี้ก็คือปัญญาหรือมรรคที่จะมาละกามราคะ

 ก็คือกามตัณหาที่เป็นสมุทัย ที่ทำให้ต้องไปหาร่างกาย

 มาเสพอยู่เรื่อยๆ เพราะว่าเวลาไม่ได้เสพแล้วจะเกิดความเหงาว้าเหว่

 รู้สึกไม่สบายอกไม่สบายใจ พอได้เสพกามแล้ว

ก็จะระบายความรู้สึกนั้นไปได้ชั่วคราว

แต่เดี๋ยวมันก็กลับคืนขึ้นมาใหม่แล้วก็อยากจะเสพใหม่

 ก็ต้องเสพอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตายไปก็ต้องกลับมาเกิดใหม่

 เพื่อมาเสพมันใหม่ แต่ถ้าเจริญอสุภะ มองเห็นอสุภะได้ ตลอดเวลา

เวลาเกิดกามารมณ์ก็ใช้อสุภะนี้มาดับกามารมณ์ได้

พอกามารมณ์ดับไป ความทุกข์ก็หายไป

ไม่ต้องเสพกาม ระบายกามารมณ์ด้วยการใช้อสุภะนี้

ดีกว่ากับการใช้การไปเสพกาม

 เพราะการเสพกามตามความอยากนี้

มันจะทำให้ความอยากใหม่ เกิดขึ้นมาใหม่

 แต่ถ้าการระบายความทุกข์ ที่เกิดจากกามารมณ์

ด้วยการหยุดกามารมณ์ด้วยการพิจารณาอสุภะ

อันนี้กามารมณ์จะไม่กลับฟื้นขึ้นมาใหม่

 กามารมณ์จะตายไปหมด กามราคะ กามตัณหาจะตายด้วยอสุภะ

ไม่ได้ตายด้วยการเสพกาม ถ้าเสพกามแล้ว มันก็ต้องเสพไปเรื่อยๆ

 เสพวันนี้แล้ว เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็อยากจะเสพใหม่

แต่ถ้าพิจารณาใช้อสุภะเข้ามาหยุดกามารมณ์

ต่อไปกามารมณ์มันก็จะจางหายไป

ทุกครั้งที่มันยังโผล่ขึ้นมาอยู่ ก็ใช้อสุภะนี้เข้าไปละลายมัน

ละลายมันไปเรื่อยๆ เดี๋ยวต่อไปมันก็จะหายไปหมด

พอไม่มีกามารมณ์แล้วก็จะไม่มีความทุกข์ใจ

ที่เกิดจากความอยากจะเสพกาม

อันนี้ก็เป็นขั้นของพระสกิทาคามีและพระอนาคามี

พระสกิาทาคามีนี้ท่านทำให้กามารมณ์เบาบางลงไป

ยังไม่ถึงกลับหมด คือเหลือร้อยละ ๕๐ จากร้อยต่อร้อย

 เหลือร้อยละ ๕๐ แต่ยังไม่ได้ทำลายให้หมดไป

เพราะว่าท่านยังไม่สามารถเจริญอสุภะได้ตลอดเวลา

เวลาที่มีอสุภะก็สามารถระงับกามารมณ์ได้

เวลาที่ไม่มีอสุภะก็ยังต้องเผลอไปเสพกามอยู่

แต่พอถึงขั้นพระอนาคามีนี้ ท่านจะสามารถเจริญอสุภะได้ตลอดเวลา

 มีอสุภะอยู่ภายในใจตลอดเวลา

 เวลาใดที่เกิดกามารมณ์ขึ้นมา

 เวลานั้นสามารถนำเอาอสุภะมาดับกามารมณ์ได้เลย

 ก็เลยทำให้กามารมณ์นี้หมดไป

 หมดไปก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีร่างกายอีกต่อไป

การมีร่างกายนี้ก็มีไว้เพื่อมาเสพกามกันนั่นเอง

 ที่ต้องมาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือเป็นเทวดา

พวกนี้ยังเป็นสัตว์ที่เสพกามกันอยู่ ยังต้องมีร่างกาย

 เทวดาต้องมีร่างทิพย์ กายทิพย์ ส่วนมนุษย์ก็ร่างกายหยาบ

คือ ร่างกายที่ทำจากดิน น้ำ ลม ไฟ เช่นเดียวกับสัตว์เดรัจฉาน

อันนี้ก็จะหมดปัญหาไป การจะกลับมาเกิดในกามภพ ก็จะหมดไป

แต่ยังมีตัณหาที่ยังความอยากจะเสพความสุขอันละเอียดภายในใจ

เช่นความสุขที่ได้จากรูปฌาณ หรืออรูปฌาณ

 อันนี้ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นว่า

 มันก็เป็นเหมือนกับร่างกายนี้แหละ

มันก็เป็นเหมือนความอยากเสพร่างกาย

เพียงแต่ว่าแทนที่จะเสพร่างกายกลับเสพความสงบ

เสพรูปฌาณ เสพอรูปฌาณ

ก็ต้องใช้ปัญญาเข้ามาพิจารณาให้เห็นว่า

ฌาณก็เป็นของไม่เที่ยงเหมือนกัน เวลาอยู่ในฌาณก็มีความสุข

 เวลาออกจากฌาณมาก็อยากจะมีความสุขอีก

ก็จะเกิดความทุกข์เกิดความไม่สบายใจ แต่เป็นความทุกข์ที่ละเอียด

ไม่ได้เป็นความทุกข์แบบของพวกเราแบบของมนุษย์มนาธรรมดา

 เป็นความทุกข์อันลึกๆ ของพระนาคามี

ผู้ที่มีปัญญาในระดับนั้นจะเห็นแล้วก็จะแก้ปัญหาไป

แก้ปัญหาเรื่องการติดอยู่ในรูปฌาณ อรูปฌาณ

แล้วก็มาแก้ปัญหาที่ยังมีมานะมีการถือตัว

แล้วก็มาแก้ความหลง ที่ยังไปหาความสุขนอกจากความว่าง

 ความสุขที่แท้จริงนั้นก็คือความว่าง คือไม่ต้องมีอะไร

 อันนี้ก็จะใช้ปัญญากำจัดอวิชชาความหลง

 ที่ยังไปหลงหาความสุขจากสิ่งต่างๆ อยู่ที่มีอยู่ภายในใจ

อารมณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ภายในใจ

 พอมีปัญญาเห็นว่าอารมณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ภายในใจนี้ก็ไม่เที่ยง

มีเจริญมีเสื่อม เป็นทุกข์ ถ้าไปอยากให้มันไม่เสื่อม

ก็เลยปล่อยวางการเสพอารมณ์ที่ละเอียดที่มีอยู่ภายในใจ

พอปล่อยวางไม่เสพปั๊บ ใจก็จะนิโรธก็จะปรากฏขึ้นมาเต็มที่

นิโรธส่วนที่เหลือที่ยังไม่เกิดก็จะเกิดขึ้นมา

เมื่อนิโรธปรากฏเต็มที่ทุกข์ดับหมด เพราะตัณหาต่างๆ ดับหมด

 ใจก็หลุดพ้น ใจก็เข้าสู่พระนิพพานไป

นี่คือเรื่องของการใช้สติเพื่อสร้างสมาธิ เพื่อเจริญปัญญา

เพื่อที่จะนำมาสู่การดับของความทุกข์ของขั้นต่างๆ

นับตั้งแต่ขั้นของพระโสดาบันขึ้นไป จนถึงขั้นของพระอรหันต์

 ต้องใช้สติ ใช้สมาธิ และใช้ปัญญา ในการดับความทุกข์

ที่ปรากฏขึ้นมาภายในใจ เมื่อดับความทุกข์ต่างๆ หมดไปแล้ว

ความทุกข์ก็จะไม่มีปรากฏอีกต่อ

ความทุกข์ไม่มีปรากฏอีกต่อไปก็เหลือแต่ความสุขที่เรียกว่า

 ปรมัง สุขัง ความสุขที่อยู่กับความว่างนี่เอง

นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานัง ปรมัง สุญญัง

ความสุขที่แท้จริงอยู่กับความว่าง อยู่กับการไม่มีอะไร

เพราะว่าการมีอะไรนี้ จะต้องมีการเสื่อมไปเสมอ

 ไม่ว่าจะเป็นของหยาบ หรือของละเอียดก็ตาม

ของหยาบก็เช่นลาภยศ สรรเสริญ รูป เสียง กลิ่น รส ขันธ์ ๕

หรือสิ่งที่ละเอียดก็คือธรรมารมณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ภายในใจ

ผู้ปฏิบัติจะต้องเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ทั้งหมด

 เมื่อละได้แล้ว ใจก็จะไม่อยู่กับสิ่งเหล่านี้ใจจะอยู่กับความว่าง

 ท่านถึงเรียกว่า นิพพานัง ปรมัง สุญญัง

นิพพานนี้อยู่กับความว่าง อยู่กับบรมสุข

 บรมสุข นิพพานคือบรมสุข นิพพาน

บรมว่าง ปรมัง สุญญัง ก็คือความว่าง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

ความว่างเต็มที่ เรียกว่านิพพานัง ปรมัง สุญญัง

นิพพานัง ปรมัง สุขัง อยู่ตรงนี้ เราไม่ต้องอยู่กับอะไร

 ไม่ต้องมีอะไรมาให้ความสุขกับเรา เพราะความว่างนี่แหละ

เป็นความสุขที่แท้จริงนั่นเอง

นี่ผลที่จะเกิดขึ้นจากการที่เรามาเจริญสติกัน

เจริญสติแล้วก็นั่งสมาธิทำใจให้สงบ

เมื่อทำใจให้สงบแล้วจะมีพลังมีกำลังที่จะไปเจริญปัญญา

แล้วจะเอาปัญญานี้ไปต่อสู้กับตัณหาความอยากต่างๆ ได้

 ทำลายตัณหาความอยากต่างๆ ให้หมดไปจากใจได้

ทำใจให้ปราศจากความทุกข์ ทำใจให้ว่างไปตลอดได้.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

ธรรมะบนเขา วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๘

“ทางเดินไปสู่นิพพาน”











ขอบคุณที่มา fb.พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 23 ธันวาคม 2558
Last Update : 23 ธันวาคม 2558 10:08:23 น.
Counter : 1092 Pageviews.

0 comment
### การฟังเทศน์ฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ ###
















“การฟังเทศน์ฟังธรรมจากครูบาอาจารย์”

ผู้ที่ฟังธรรมจิตที่มีศีล มีสมาธิแล้ว

พอได้ฟังปัญญาของพระพุทธเจ้า

ก็จะสามารถดับความทุกข์ใจต่างๆ ได้

เพราะมีกำลังที่จะหยุดความคิดปรุงเเต่ง

ไม่ให้คิดไปในทางของกามตัณหา ของภวตัณหา

และของวิภวตัณหาได้ก็จะบรรลุธรรมกันได้

หลุดพ้นจากความทุกข์ต่างๆได้ในขณะที่ฟังธรรมเลย

นี่ถือว่าเป็นกรณีพิเศษ กรณียกเว้น

เป็นกรณีของผู้ที่ได้สร้างศีลมาครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว

 มีศีลครบถ้วนบริบูรณ์ตลอดเวลา มีสมาธิรวมเป็นหนึ่ง

 เป็นอุเบกขาแล้ว พอได้ฟังธรรมที่เป็นปัญญาของพระพุทธเจ้า

ก็สามารถเอามาปฏิบัติกับความคิดปรุงเเต่งของตนได้เลย

 หยุดความคิดปรุงเเต่งไม่ให้คิดไปในทางกามตัณหา

 ภวตัณหา และวิภวตัณหา

 ก็สามารถบรรลุเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆได้

ในขณะที่ฟังเทศน์ฟังธรรมเลย

นี่คือประโยชน์ของการฟังเทศน์ฟังธรรม

ทั้งของผู้ที่ยังไม่มีศรัทธาและของผู้ที่มีศรัทธาแล้ว

 ผู้ที่ไม่มีศรัทธาเมื่อได้ยินได้ฟังธรรมก็จะเกิดศรัทธา

เกิดความเชื่อแล้วก็จะเกิดความยินดี

ที่จะน้อมนำเอา คำสอนของพระพุทธเจ้าไปปฏิบัติ

 เมื่อปฏิบัติแล้วก็จะมีปัญหามีคำถามมีความไม่เข้าใจเกิดขึ้น

ก็ต้องมาฟังเทศน์ฟังธรรมใหม่ มาสอบถามปัญหาใหม่

 เพื่อที่จะได้แก้ความสงสัยความไม่เข้าใจต่างๆ

เพื่อที่จะได้นำเอาไปปฏิบัติให้ถูกต้อง

เมื่อน้อมเอาไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

ผลต่างๆ ก็จะค่อยปรากฏขึ้นมาตามลำดับ

การฟังเทศน์ฟังธรรมจึงเป็นกระบวนการที่สำคัญ

ในการปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นจากกองทุกข์ของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย

จำเป็นที่จะต้องมีการศึกษามีการฟังธรรมไป

จนกว่าจะได้บรรลุถึงธรรมขั้นสูงสุดได้

ถ้ามีครูบาอาจารย์ ก็จะป็นโชคเป็นวาสนา

เพราะจะมีผู้คอยนำทางให้ไปจนถึงจุดหมายปลายทาง

ได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ต้องเสียเวลาไม่หลงทาง

 แต่ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์แต่ได้ปฏิบัติมาจนถึงจุดที่เรียกว่า

 จุดของพระอริยบุคคลแล้วก็ยังสามารถที่จะปฏิบัติได้ด้วยตนเอง

แต่อาจจะช้าหน่อย ยากหน่อย เพราะว่าไม่มีผู้ที่คอยบอกทาง

แต่ผู้ที่ได้บรรลุขั้นพระโสดาบันขึ้นไปนี้จะเห็นทางแล้ว

 แต่เป็นทางที่ตนเองยังไม่ได้ไปก็ยังต้องไปลองผิดลองถูกอยู่

แต่ก็รู้ว่าต้องอยู่ในแนวทางนี้อย่างแน่นอน

คือแนวทางของการระงับความคิดปรุงเเต่งใน

ไม่ให้ไปทางกามตัณหา ภวตัณหาและวิภวตัณหา

 และสิ่งที่จะทำให้ใจไม่คิดไปในทางตัณหาทั้ง ๓ ก็คือ

ความจริงของสภาวธรรมทั้งหลายที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี่เอง

นี่คือสิ่งที่ผู้ปฏิบัติถ้าได้เข้าสู่กระแสธรรมแล้วจะรู้หน้าที่ของตน

จะรู้วิธีการดับทุกข์ของตนว่าจะต้องทำอย่างไร

 ก็คือจะต้องพิจารณาสภาวธรรมต่างๆ

ที่ใจยังไปหลงรักหลงชอบที่ยังคิดไปในทางตัณหาอยู่

ก็จะต้องใช้การพิจารณาไตรลักษณ์ของสิ่งต่างๆ

 ถ้าเห็นสิ่งต่างๆที่หลงไหลชอบอยากได้ อยากมี อยากเป็น

 ถ้าพิจารณาเห็นว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 ก็จะสามารถยุติความคิดไปในทางตัณหาความอยากได้

นี่คือการศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

 เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่สำคัญมากเพราะว่าถ้าไม่ได้ยินได้ฟังแล้ว

 จะไม่รู้วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง ถ้าไม่รู้จักวิธีที่ถูกต้อง

ก็เหมือนกับคนที่เอาผ้าผูกตาปิดตาของตน

แล้ว ก็เดินไปหาสิ่งต่างๆ ต้องคลำไป คลำผิดคลำถูก

 สิ่งที่คลำก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไรกันแน่

โอกาสที่จะได้ในสิ่งที่ตนเองปรารถนาก็จะเป็นไปไม่ได้

แต่ถ้าได้มีการฟังเทศน์ฟังธรรมก็เหมือนกับ มีคนนำทาง

มีคนบอกทาง บอกให้รู้ว่าทิศทางที่เราต้องการจะไปนั้นไปทางไหน

ไปข้างหน้าแล้วจะมีอะไร จะพบอะไร

และจะต้องปฏิบัติกับสิ่งที่ได้พบอย่างไร

ถ้ามีคนคอยบอกทางก็จะสามารถเดินไป

จนถึงจุดหมายปลายทางที่ปรารถนา

ดังนั้นผู้ปฏิบัติจำเป็นจะต้องมีผู้คอยบอกคอยสอน

มีคนถามว่าการปฏิบัตินี้ต้องมีอาจารย์หรือไม่

ก็เหมือนกับนักเรียนที่จะเรียนหนังสือให้จบปริญญา

จำเป็นจะต้องมีอาจารย์สอนหรือไม่

 ต้องมีคนที่เขารู้ทางแล้วมาสอน

เพราะมันง่ายกว่าจะเรียนด้วยตนเอง

เพราะการเรียนด้วยตนเอง ๑.ก็ไม่รู้ว่าจะไปเอาหนังสือไหนมาอ่าน

 ต้องอ่านหนังสือเล่มไหนบ้างถึงจะสามารถเรียนจบปริญญาได้

 แต่ถ้ามีครูมีอาจารย์ท่านก็จะบอกว่าให้เรียนหนังสือเล่มนั้น

เรียนหนังสือเล่มนี้ แล้วเวลาเรียนแล้วไม่เข้าใจในหนังสือที่เรียน

ก็สามารถสอบถามครูอาจารย์ให้ความกระจ่างได้

 อันนี้ก็เหมือนกันการปฏิบัติธรรมถ้าไม่มีครูไม่มีอาจารย์

ก็อาจจะเกิดความเสียหายได้ บางครั้งก็ถึงกลับเป็นบ้าไปก็ได้

 เพราะเวลาปฏิบัติแล้วก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองได้พบได้เห็นนั้น

 เป็นคุณหรือเป็นโทษแต่อย่างใด

ถ้าไปหลงกับสิ่งที่เป็นโทษหรือเป็นสิ่งที่ไม่มีคุณ

ไม่มีประโยชน์ก็จะเสียเวลา และจะเกิดโทษกับตนเองได้

 อาจจะทำให้ตนเองหลงผิดคิดผิดไป อย่างที่เขาเรียกว่าเป็นคนบ้าไป

คิดว่าตัวเองได้บรรลุแล้ว ได้เป็นพระอรหันต์แล้ว

 ทั้งที่ใจของตนเองนั้นถูกหุ้มห่อด้วยกิเลสตัณหา

 ด้วยความทุกข์ต่างๆ แต่ไม่รู้ความจริงอันนี้

 แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านจะเตือน ท่านจะบอกเลยว่า

 ยังไม่ถึงเวลา ยังไม่ใช่ ยังมีความทุกข์อยู่

 ยังมีความอยากอยู่ยังไม่ใช่ ยังไม่ได้หลุดพ้น

ต้องกลับมาปฏิบัติที่ตรงนี้

บางคนคิดว่านั่งสมาธิแล้วเห็นแสงเห็นสีเห็นกายทิพย์

 เห็นร่างกายทิพย์ เห็นนรก เห็นสวรรค์

ก็อาจจะคิดว่าได้บรรลุถึงพระนิพพานแล้วก็ได้

แต่ความจริงอันนั้นไม่ใช่เป็นการบรรลุถึงพระนิพพาน

การนั่งสมาธินี้สามารถเห็นอะไรต่างๆ ได้หลากหลาย

แต่สิ่งที่เห็นเหล่านั้นไม่มีประโยชน์

ต่อการที่จะมาดับความทุกข์ที่มีอยู่ภายในใจเลย

 แต่กลับจะสร้างความทุกข์ให้มีเพิ่มมากขึ้นภายในใจก็ได้

 เพราะถ้านั่งแล้วเห็น ครั้งต่อไปก็อยากจะเห็นอีก

 เวลาไม่เห็นก็จะเกิดความทุกข์ เกิดความไม่สบายใจขึ้นมา

 ดังนั้นผู้ที่ปฏิบัติทางนี้ ทางที่พระพุทธเจ้าได้ปฏิบัตินี้

จำเป็นจะต้องมีครูบาอาจารย์ทุกๆคน

พระอรหันต์ทุกๆรูป มีครูอาจารย์ทั้งนั้น

 ครูอาจารย์ของพระอรหันต์ก็คือพระพุทธเจ้า

หรือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

ที่ได้จารึกไว้ในพระไตรปิฎก

หรือพระอรหันต์ที่ได้บรรลุแล้วมาเป็นครูบาอาจารย์อีกที

 พระอรหันต์ทุกรูปจึงเรียกว่า พระอรหันตสาวก

คำว่าสาวกก็แปลว่า ผู้ฟังนั่นเอง

พระอรหันต์แต่ละรูปนี้ไม่เรียกตนเองว่า

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

มีพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น

ที่ทรงเรียกพระองค์เองว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

คือผู้รู้ธรรมได้ด้วยตนเอง ผู้รู้ธรรมด้วยตนเอง คือ

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่ผู้ที่รู้ธรรมด้วยการได้ยินได้ฟังจากพระพุทธเจ้า

หรือจากพระอรหันตสาวกของพระพุทธเจ้า

 จะไม่เรียกตนเองว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

 แต่จะเรียกตนเองเป็นพระอรหันตสาวก

 เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาได้ด้วยการได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอน

ของพระพุทธเจ้านั่นเอง

ดังนั้นผู้ปฏิบัติทุกคนนี้จำเป็นจะต้องมีครูมีอาจารย์

แต่ครูอาจารย์นี้ไม่ได้หมายความว่า

จะต้องเป็นเทรนเนอร์เหมือนนักกีฬาจะต้องวิ่งด้วยกัน

จะต้องตีลูกบอลด้วยกัน จะต้องเตะบอลด้วยกันอย่างนี้

ไม่ใช่ ครูบาอาจารย์เป็นเพียงแต่ผู้บอกทาง

คอยสอนวิธีการปฏิบัติแต่เวลาปฏิบัตินี้ ต้องไปทำกันเอาเอง

 อย่างวันนี้ญาติโยมก็มาฟังเทศน์ฟังธรรมกัน

 เรียกว่ามาหาครูหาอาจารย์ มารับความรู้จากครูอาจารย์

แล้วก็นำเอาความรู้นี้ไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันของตน

ปฏิบัติได้มากได้น้อยก็จะได้ผลมากผลน้อยตามลำดับ

 ตามกำลังของการปฏิบัติ ถ้ายังไม่ได้ผลก็แสดงว่า

ยังปฏิบัติไม่ถูกหรือปฏิบัติไม่พอ ก็ต้องกลับมาตรวจสอบดู

ว่าขาดอะไร ขาดการปฏิบัติขาดความเพียร

หรือขาดการปฏิบัติวิธีที่ถูกต้อง นั่งสมาธิแล้วทำไมใจไม่สงบ

ทำไมใจจึงคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่รู้จักหยุดไม่รู้จักหย่อน

ก็เพราะว่าไม่มีผู้ที่จะมาควบคุมความคิดนี่เอง

ถ้ามีผู้ที่มาควบคุมความคิด ความคิดก็จะไม่สามารถคิดปรุงเเต่งได้

 อันนี้ก็ต้องทบทวนดูว่าการปฏิบัติของตนเองนั้นถูกหรือผิด

ตรงกับคำสอนหรือไม่ ถ้าตรงแต่ยังไม่ได้ผล

 ก็อาจจะยังไม่ปฏิบัติมากพอก็ได้ แทนที่จะปฏิบัติทั้งวันทั้งคืน

ก็เอาแค่วันละชั่วโมงสองชั่วโมง ถ้าอย่างนี้ผลก็ยังจะไม่ปรากฏขึ้นมา

 อันนี้ก็สามารถไปสอบถามครูอาจารย์ได้ว่า

ขาดตกบกพร่องตรงไหน

ถ้าไม่สามารถมองเห็นข้อขาดตกบกพร่องของตนเอง

ก็ต้องมีครูมีอาจารย์คอยเตือนคอยบอกว่าปฏิบัติน้อยไปนะ

 ปฏิบัติผิดอยู่นะ ปล่อยให้ใจไม่มีสติควบคุมกำกับ

ปล่อยให้ใจคิดปรุงเเต่งไปทั้งวันทั้งคืน แทนที่จะมีสติ

เช่นการบริกรรมพุทโธไว้คอยขนาบคอยยุติความคิดปรุงเเต่ง

กลับไม่มีพุทโธเลย ใจก็คิดปรุงเเต่งไปได้ตลอดเวลา

 เวลาจะมานั่งสมาธิใจก็ไม่ยอมคิดปรุงเเต่ง

ก็คิดปรุงเเต่งต่อไป นั่งไปนานสักเท่าไหร่ก็ไม่ได้ความสงบสักครั้ง

 ก็เพราะว่าไม่มีสติไว้คอยหยุดความคิดปรุงเเต่งนั่นเอง

อันนี้คือเรื่องของการมีครูมีอาจารย์ต้องมีคนคอยบอกทาง

แต่ไม่ต้องมีคนมานั่งสมาธิกับเรา ไม่ต้องมีคนมาเดินจงกรมกับเรา

 ซึ่งเดี๋ยวนี้มักจะเป็นอย่างนี้กัน เวลาจะเรียนกัน

ต้องไปเรียนกับอาจารย์ อาจารย์จะต้องพาเดิน พานั่ง พานอน

 อันนี้ถ้าต้องทำแบบก็ยังถือว่าเป็นขั้นอนุบาลอยู่

หรือขั้นก่อนอนุบาล ที่จะต้องมีคนมาคอยคุมอยู่ตลอดเวลา

การปฏิบัติที่แท้จริงนี้ต้องอยู่ในระดับอุดมศึกษา

คือต้องสามารถดูหนังสือเองได้ ไปโรงเรียนเองได้

เข้าห้องเรียนเองได้ รู้จักเวลาของตนเองว่า

จะต้องทำอะไรบ้างอย่างไร ไม่ใช่จะให้คนมาคอยปลุกคอยเรียก

 ถึงเวลาตื่นเเล้วนะ ถึงเวลาลุกขึ้นมานั่งสวดมนต์ไหว้พระแล้วนะ

ถ้าต้องถึงอย่างนี้ก็คงจะอยู่ในขั้นอนุบาลอยู่

ถ้าอยากที่จะพัฒนาก้าวหน้าไปกว่านี้ก็ต้องมีวินัยในตนเอง

 ต้องสามารถสั่งตนเองให้ลุกขึ้นมานั่งสมาธิ มาเดินจงกรม

มาปฏิบัติไม่ใช่จะรอให้คนนั้นคนนี้มาคอยเรียกเราถึงค่อยปฏิบัติ

นี่คือการมีครูมีอาจารย์ ส่วนหนึ่งเราต้องเป็นอาจารย์ของตัวเราเองด้วย

 ไม่ใช่รอให้แต่อาจารย์คนอื่นมาเป็นอาจารย์ของเรา

ถ้าวันไหนอาจารย์ไม่สบายเราจะทำอย่างไร

ถ้าวันไหนอาจารย์ตายไปเราจะทำอย่างไร

 เราก็ต้องเป็นอาจารย์ของเราด้วย พอเรารู้แล้วว่าเราต้องทำอะไร

 เราต้องเป็นผู้กำกับ คอยสั่ง คอยบอก คอยสอนว่าต้องทำอย่างนี้

เช่นการปฏิบัติเบื้องต้น ก็ต้องควบคุมความคิดปรุงเเต่งให้ได้

 จะใช้สติแบบไหนก็ได้ มีอยู่ ๔๐ แบบด้วยกัน

ที่เรียกว่า กรรมฐาน ๔๐ กรรมฐานทั้ง ๔๐ นี้ถ้าเอามาใช้

จะสามารถควบคุมความคิดปรุงเเต่ง ไม่ให้คิดปรุงเเต่งได้

จะบริกรรมพุทโธก็ได้ จะบริกรรมธัมโมก็ได้ สังโฆก็ได้

 จะคิดถึงความตายก็ได้ จะดูการเคลื่อนไหวของร่างกายก็ได้

จะดูลมหายใจเข้าออกก็ได้ ให้มีอะไรเป็นตัวผูกใจเอาไว้

ไม่ให้ใจลอยไปตามความคิดต่างๆ

ถ้ามีการปฏิบัติแบบนี้มีการบังคับตัวเอง

 ถ้าไม่บังคับตัวเอง ครูบาอาจารย์ก็ไม่สามารถ

ที่จะมาบังคับให้กับเราได้ เราต้องมีอาจารย์อีกชั้นหนึ่ง

 เราต้องมี ๒ อาจารย์ อาจารย์คนแรกก็บอกวิธีปฏิบัติ

อาจารย์ที่ ๒ คนนี้แหละต้องเป็นเทรนเนอร์ของเรา

เพราะอยู่ใกล้ชิดกับเราตลอดเวลา พอถึงเวลาบอกให้ตื่น

 ลุกขึ้นมานั่งสมาธิ อย่านอนเป็นหมู

นอนไปไม่มีวันหลุดพ้นจากกองทุกข์แห่งการเกิด แก่ เจ็บ ตายได้

 ลุกขึ้นมานั่งสมาธิ ถ้าง่วงก็ลุกขึ้นมาเดินจงกรมอย่างนี้

ต้องมีอาจารย์ใกล้ชิดที่สุด อาจารย์ใกล้ชิดที่สุดก็คือตัวเองนี้

 เราต้องเป็นอาจารย์ของเราเอง ไม่จะรอพึ่งอาจารย์คนอื่น

จะให้อาจารย์มาอยู่มากินมานอนกับเราได้อย่างไร

 เราต้องเป็นอาจารย์ของเราด้วย

เพราะเราเป็นผู้ที่ใกล้ชิดที่สุดกับตัวของเราเอง

ไม่มีใคร ที่จะใกล้ชิดเท่ากับตัวของเราเอง

 ถ้าเรารอให้อาจารย์มาคอยแก้ปัญหามันก็อาจจะไม่ทันกาล

ตอนนี้คิดฟุ้งซ่านจะเป็นบ้าหาอาจารย์ไม่เจอ

แต่ถ้าเรามีอาจารย์ใกล้ตัวบอกว่า หยุดคิดซิ หยุดปรุงเเต่ง

บริกรรมพุทโธไป นับ ๑ ๒ ๓ ไป หรือพิจารณาไตรลักษณ์ไป

อย่างใดอย่างหนึ่งเอามาใช้ซิ อันนี้เรียกว่ามีอาจารย์ใกล้ตัวที่สุด

อาจารย์นี้ก็อาศัยอาจารย์นอกก่อน ไปฟังอาจารย์ข้างนอก

ว่าท่านสอนให้ทำอย่างไร เมื่อท่านสอนแล้ว ก็เอามาใช้กับตัวเราเอง

 อย่ามัวแต่พึ่งอาจารย์ข้างนอกเพียงอย่างเดียว

ต้องสร้างอาจารย์ข้างในขึ้นมาด้วย

 เพราะต่อไปเราจะต้องเป็นอาจารย์ของเราเอง

ถ้าเราเป็นอาจารย์ของเราเองได้แล้ว

เราก็จะไม่ต้องพึ่งอาจารย์ที่อยู่ข้างนอกต่อไป

 นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น ถ้าพวกเราให้ความสำคัญต่อการศึกษา

 ต่อการฟังเทศน์ฟังธรรมแล้วก็นำเอาสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังไปปฏิบัติ

 เพราะการปฏิบัตินี้จะทำให้เกิดผลขึ้นมา

เมื่อเกิดผลขึ้นมาก็จะทำให้เรามีกำลังจิตกำลังใจที่จะปฏิบัติมากขึ้น

ที่จะสละมากขึ้น ที่จะทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการปฏิบัติมากขึ้น

เหมือนกับเวลาที่เราทำงานแล้วเราได้รับเงินเดือน

พอสิ้นเดือนแล้วเราได้รับเงินเดือนออกแล้วเราได้รับเงินเดือนนี้

เราก็มีกำลังใจที่จะกลับมาทำงาน

แต่ถ้าสิ้นเดือนแล้วเขาไม่จ่ายเงินเดือน เขาบอกว่ายังไม่มีเงินจ่าย

เราก็จะไม่มีกำลังใจที่อยากจะกลับมาทำงานกับบริษัทนี้

ต้องไปหางานทำที่บริษัทอื่นแล้ว เพราะไม่รู้ว่า

สิ้นเดือนหน้าจะได้เงินเดือนอีกหรือไม่

ถ้าไม่ได้อีกก็จะไม่มีกำลังจิตกำลังใจที่จะทำ.

............................

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๘

“การเข้าหาพระธรรมคำสอน”













ขอบคุณที่มา fb.พระอาจารย์สุชาติ อภืชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 21 ธันวาคม 2558
Last Update : 21 ธันวาคม 2558 9:51:28 น.
Counter : 1449 Pageviews.

1 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ