Group Blog
All Blog
<<< " หลุดพ้นด้วย มรรค ๘ " >>>









“หลุดพ้นด้วย มรรค ๘”

“สัมมาสติ” คืออะไร

คือการระลึกรู้อยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

 เพื่อหยุดความคิดปรุงแต่งต่างๆ

 เช่น กรรมฐาน ๔๐ ชนิดนี้

เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

ให้เราใช้เป็นอารมณ์ ในการเจริญสติกัน

ให้เรามีสติอยู่กับกรรมฐานใดกรรมฐานหนึ่ง

 ที่เราได้ยินได้ฟังได้รู้จักกันก็คือ พุทธานุสติ

ให้เราระลึกอยู่ถึงพระพุทธคุณ

 เราก็ย่อลงมาเหลือพระนามของพระพุทธเจ้า

คือ พุทโธ พุทโธไป ถ้าเราอยากจะเจริญบทยาวก็ได้

 เช่นบทพระพุทธคุณ

“อิติปิโส ภควา อรหังสัมมา สัมพุทโธ

 วิชชา จรณสัมปันโน”

ในขั้นเริ่มต้น ถ้าจิตเราฟุ้งมาก

 จิตเราไม่ยอมอยู่กับพุทโธ เราก็อาจจะใช้การสวด

บทพุทธคุณไปก่อน ถ้าสวดบทพุทธคุณยังฟุ้ง

ก็สวดบทธรรมคุณต่อ บทสังฆคุณต่อ

อันนี้ก็เป็นกรรมฐาน พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณนี้

 เราเรียกว่า “พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ”

เป็นอารมณ์ที่ตั้งของสติ

เป็นอารมณ์ที่จะทำให้เกิดสติขึ้นมา

“สติ” ก็คือพลังของจิตที่จะหยุดความคิดปรุงแต่งต่างๆ

 ถ้าเราไม่มีสติ ก็เหมือนรถที่ไม่มีเบรก

 เมื่อรถไม่มีเบรก รถก็จะวิ่งแบบไม่ปลอดภัย

 เมื่อถึงสี่แยกไฟแดงก็หยุดไม่ได้

ก็จะเสี่ยงต่อการไปชนกับรถคันอื่น

 เวลาที่ไม่มีสติ จิตก็จะสู้กิเลสไม่ได้

 สู้ตัณหาความอยากไม่ได้

 ตัณหาก็จะฉุดลากจิตให้ไปเสพรูปเสียงกลิ่นรส

ไปหาความทุกข์ต่างๆ แต่ถ้ามีสติ

ก็สามารถที่จะหยุดความอยากได้

จิตก็จะปลอดภัยจากความทุกข์

 เหมือนกับรถที่มีเบรก

 ก็จะปลอดภัยจากอุบัติเหตุ ในการที่จะไปชนกัน

หรือในการที่จะตกออกจากถนน ออกนอกถนนไป

 รถต้องมีเบรก เวลาขับไปแล้ว

ถ้าถึงทางโค้งจะแหกโค้งก็เบรกเสีย รถก็ปลอดภัย

ใจก็เหมือนกัน ใจจะสงบ ใจจะปลอดภัยจากความทุกข์

 ที่เกิดจากตัณหาความอยากก็ต้องมีเบรก

คอยหยุดความอยากนั่นเอง จึงจำเป็นที่ต้องฝึกสติกัน

 สร้างกำลังหยุดของใจ

 อันนี้จำเป็นที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง

จนกว่าจะเกิดกำลังขึ้นมา ทำได้มากเท่าไหร่

มันก็จะได้กำลังมากขึ้นและเร็วขึ้น

 ทำน้อยก็จะได้น้อยและได้ช้า

ผู้บำเพ็ญจึงมักบำเพ็ญกันอย่างเต็มที่

ที่เรียกว่า “สุปฏิปันโน” คือบำเพ็ญตลอดเวลา

ตั้งแต่ตื่นจนถึงเวลาหลับ เพราะเป็นเวลา

ที่เราสามารถเจริญสติได้ตลอดเวลา

 ถึงแม้ว่าเรายังต้องทำกิจกรรมบางอย่างอยู่

 เราก็ยังสามารถเจริญสติได้

 ถ้าเป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้ความคิดปรุงแต่ง

 เช่นกิจกรรมดูแลร่างกาย ดูแลสถานที่ๆ เราอยู่

 ให้สะอาดให้เรียบร้อย อันนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ความคิด

 เราสามารถที่จะใช้การกระทำของร่างกายนี้

เป็นที่ตั้งของสติได้ ทำอะไรก็ให้มีใจจดจ่อ

อยู่กับงานที่เรากำลังทำอยู่

 แล้วก็อย่าไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้

 อย่าไปคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต

อย่าไปคิดถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคต

 ให้รู้อยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อันนี้ก็เป็นการฝึกสติ

 เพราะเราจะสามารถควบคุมความคิดปรุงแต่งได้

อันนี้เรียกว่า “สัมมาสติ”

ส่วนถ้าเราใช้เจริญสติแบบที่เราใช้กันอยู่

เวลาเราไปทำงานที่ต้องใช้ความคิด

 อันนี้ก็เป็นสติเหมือนกัน

แต่เป็นสติที่มีความคิดปรุงแต่ง

 เพราะงานการที่เราทำนี้

เราต้องใช้ความคิด เช่นเราทำบัญชี

เราก็ต้องบวกลบคูณหาร วางแผนจัดการ

ว่าจะทำกิจการต่างๆ อย่างไร

 ก็ต้องใช้ความคิดปรุงแต่ง

 ถึงแม้จะมีสติอยู่กับงานที่กำลังทำอยู่

แต่ก็ไม่ได้หยุดความคิดปรุงแต่ง

 สติแบบนี้เราจึงเรียกว่า “มิจฉาสติ” ไม่ใช่ “สัมมาสติ”

เพราะมันไม่สามารถนำไปสู่สัมมาสมาธิได้

 คือ การทำจิตให้สงบให้นิ่งได้นั่นเอง

 ดังนั้นขอให้เราเข้าใจว่า สติมีหลายอย่าง

 สติที่เราใช้ในการทำงานของเรานี้

ส่วนใหญ่ไม่ใช่เป็นสติที่เรียกว่าสัมมาสติ

 สัมมาสติต้องเป็นสติที่ต้องไม่คิดปรุงแต่ง ให้รู้เฉยๆ

 ให้สักแต่ว่ารู้ เช่นงานของนักบวชส่วนใหญ่นี้

ไม่ต้องใช้ความคิดปรุงแต่ง

บิณฑบาตก็ไม่ต้องคิดปรุงแต่ง

ให้รู้เฉยๆ ให้รู้ว่ากำลังเดิน ให้รู้ว่ากำลังเปิดฝาบาตร

 กำลังปิดฝาบาตร ก็รู้เท่านี้เอง

ก็สามารถเจริญสัมมาสติได้ตลอดทาง

 หรือเวลารับประทาน ก็ให้รู้เฉยๆ ว่ากำลังรับประทาน

 กำลังตักอาหารเข้าปาก กำลังเคี้ยว กำลังกลืน

อันนี้เป็นวิธีของสัมมาสติ

อันนี้ต้องเข้าใจเวลาเจริญสติว่า

 สติอันไหนที่จะนำไปสู่สัมมาสมาธิ

สติอันไหนที่จะไม่นำไปสู่สัมมาสมาธิ

 คือ ถ้าไม่สามารถหยุดความคิดต่างๆ ได้

เวลานั่งสมาธิจิตก็ไม่นิ่งไม่สงบ ไม่เป็นสมาธิได้

 เพราะไม่มีสติที่จะคอยควบคุมความคิดนั่นเอง

 อันนี้ ถ้าสามารถมีสติที่หยุดความคิดได้

เวลานั่งสมาธิ เดี๋ยวจิตก็นิ่งสงบเป็นสัมมาสมาธิ

“สัมมาสมาธิ” เป็นอย่างไร

เป็นสมาธิที่นิ่งสงบ สักแต่ว่ารู้ เป็นอุเบกขา

“มิจฉาสมาธิ” เป็นอย่างไร

 เป็นสมาธิที่ไม่นิ่ง ไม่เป็นอุเบกขา

 เป็นสมาธิไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ ทั้งที่เกิดขึ้นภายในใจ

และที่อยู่นอกใจ คือ กายทิพย์ต่างๆ

สิ่งต่างๆ ที่อยู่ข้างนอกนี้ ถ้าจิตที่เข้าสมาธิแล้ว

ถ้าเป็นสมาธิแบบไม่ใช่อัปปนาสมาธิ เป็นอุปจารสมาธินี้

 เป็นสมาธิที่จะสามารถไปติดต่อกับ

ดวงจิตดวงวิญญาณของผู้อื่นได้

 หรือสามารถไปรู้ความคิดปรุงแต่ง

ของดวงจิตของผู้อื่นได้

อย่างถ้าเราอ่านประวัติของหลวงปู่มั่นนี้

ท่านก็มีทั้งอุปจารสมาธิ และมีทั้งอัปปนาสมาธิ

 เวลาท่านเข้าไปอุปจารสมาธิ ท่านก็ติดต่อกับเทวดาได้

 มีเทวดามาฟังเทศน์ฟังธรรม

นี่พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย

 เวลาแสดงธรรมให้แก่กายทิพย์ทั้งหลายนี้

 ก็ต้องเข้าไปในอุปจารสมาธิ

เพราะถ้าอยู่ในอัปปนาสมาธินี้ไม่รับรู้ ไม่ติดต่อกับใคร

ถ้าเป็นมือถือก็ปิดเครื่อง ไม่เปิดรับ

ถ้าอยากจะรับก็ต้องเปิดเครื่อง

 อันนี้จิตก็เหมือนกับมือถือ

มี ๒ โหมด โหมดปิดเครื่องไม่รับสาย

 ไม่โทรเข้าไม่โทรออก

กับโหมดที่รับสาย โทรเข้าโทรออกได้

 อันนี้ก็เหมือนกัน

 แต่ทำไมท่านทรงเน้นเรื่องสัมมาสมาธิ

คือให้ปิดการรับรู้เรื่องราวต่างๆ

 เพราะมันไม่เป็นประโยชน์

ต่อการที่จะไปใช้ในการกำจัดความอยาก

 เพราะจิตจะไม่มีกำลัง คือ ไม่มีอุเบกขา ไม่มีความนิ่ง

 ที่จะเอาไปสู้กับตัณหาความอยากต่างๆ ได้

จึงให้เน้นที่อัปปนาสมาธิ สัมมาสมาธิ

ให้นิ่ง ให้สงบ ให้สักแต่ว่ารู้ ขณะที่อยู่ในระดับสมาธินี้

ยังไม่ใช่ระดับของการเจริญปัญญา

 อย่าเพิ่งไปพินิจพิจารณาอะไรทั้งสิ้น

 ขณะจิตสงบอยู่ในอัปปนาสมาธิ

 ให้ใช้สติประคับประคองให้นิ่งไปนานๆ

นิ่งไปจนกว่าสติหมดกำลัง

ที่จะสู้กับกำลังของความอยาก

ที่จะคิดปรุงแต่งไม่ได้ ก็จะต้องปล่อย

ให้เกิดความคิดปรุงแต่งขึ้นมา

พอเกิดความคิดปรุงแต่งแล้ว

 ก็ถ้าอยากจะเจริญปัญญา ก็เจริญได้ในตอนนั้น

 แทนที่จะปล่อยให้ไปคิดตามความอยาก

ตามรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ตามลาภยศสรรเสริญ

 ก็ดึงให้มาคิดตามไตรลักษณ์ ให้มาคิดตามอสุภะ

 ตามให้มาคิดทางอนัตตา อันนี้ต้องบังคับจิตให้คิด

 ถึงจะคิดมาทางนี้ ปกติจิตที่อยู่ภายใต้อำนาจ

ของตัณหาความอยาก จะไม่ชอบคิดทางไตรลักษณ์

 จะไม่ชอบคิดทางอสุภะ จะไม่ชอบคิดทางธาตุ ๔

 จะไม่ชอบคิดทางอาการ ๓๒ อันนี้ต้องบังคับให้คิด

 คิดเพราะอะไร จะได้เห็นความจริงนั่นเอง

 เห็นความจริงของสิ่งที่จิต

ไปหลงไปรักไปชอบไปยึดไปติด

 ไปคิดว่าเป็นสุข ไปคิดว่าน่าดูน่าชม

 ให้มองความจริงของสิ่งเหล่านี้ว่า

 มันไม่ได้เป็นสุขอย่างที่จิตคิด มันเป็นทุกข์

ทุกข์เพราะว่ามันไม่เที่ยง มันสุขเดี๋ยวเดียว

 พอมันเปลี่ยนไป พอมันสูญไป มันหมดไป

 สุขที่ได้ก็กลายเป็นทุกข์ขึ้นมา

นี่ให้พิจารณาไตรลักษณ์กับสิ่งต่างๆ

 ที่จิตไปหลงรักหลงชอบหลงอยากได้

ก็คือกามคุณ ๕ รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ลาภยศสรรเสริญ ร่างกายของคนนั้นคนนี้

ก็ต้องมองให้เห็นว่าร่างกายของคนนั้นคนนี้

 ถึงแม้จะมีส่วนที่สวย ก็มีส่วนที่ไม่สวยถูกหุ้มห่ออยู่

ภายใต้ส่วนที่สวยงามนั้นเอง ก็คืออาการภายในร่างกาย

 ภายใต้ผิวหนัง หรืออาการของร่างกาย

เวลาที่หมดลมหายใจ ก็จะแปรสภาพ

จากความสวยงาม ไปสู่ความไม่สวยงามต่อไป

อันนี้เป็นการเจริญสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป

 เพราะถ้าเห็นด้วยความเป็นจริง

ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์ เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง

 ควบคุมบังคับให้มันเที่ยงไม่ได้ ไม่สวยไม่งาม

 ความอยากต่างๆ ก็จะหายไปหมด

 ไม่มีใครอยากได้ความทุกข์กัน

ที่ไปเอามากันเพราะไปคิดว่ามันเป็นสุขกัน

ไปคิดว่ามันน่าดูน่าชมกัน พอพิจารณาด้วยปัญญา

 ด้วยสัมมาทิฏฐิ ก็จะเห็นว่ามันไม่น่าดูน่าชม มันไม่เที่ยง

 เราไม่สามารถทำให้มันเที่ยงได้ พอเห็นอย่างนี้

 ความอยากได้สิ่งต่างๆ

 อยากได้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะก็หายไป

 อยากได้ลาภยศสรรเสริญก็หายไป

 อยากให้ร่างกายอยู่ไปแบบ

ไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายก็จะหายไป

 เมื่อหายไปใจก็ไม่ทุกข์กับสิ่งต่างๆ

 ถึงแม้จะสัมผัสรับรู้เหมือนเดิม แต่ไม่ทุกข์เหมือนเดิม

 ใจเปลี่ยนจากกระดาษซับเป็นใบบัวไป

นี่คือการสร้างมรรคขึ้นมา เพื่อมาเปลี่ยน

กระดาษซับกระดาษซึมที่ดูดเอาน้ำเข้าไปในกระดาษ

 ให้มาเป็นใบบัวที่ไม่ดูดซับไม่ดูดซึม

 ถึงแม้ยังสัมผัสกันอยู่

ก็ต่างฝ่ายต่างอยู่กัน พระพุทธเจ้า พระอรหันต์

ใจของท่านเปลี่ยนจากกระดาษซับ

กระดาษซึมมาเป็นใบบัว

แต่ท่านก็ยังสัมผัสกับโลกธรรมอยู่

ยังสัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะอยู่

ยังสัมผัสกับลาภยศสรรเสริญอยู่

 แต่จิตใจของท่านไม่ดูดซึม เพราะไม่มีตัวตัณหา

ที่จะไปดูดให้เข้ามาในจิตในใจ จึงไม่เดือดร้อน

ต่อการเสื่อมการหมดของสิ่งเหล่านี้

 นี่คือการทำให้จิตใจหลุดพ้นจากความทุกข์ต่างๆ

หลุดพ้นจากการที่จะกลับมาเกิดมาแก่มาเจ็บมาตาย

ก็หลุดพ้นด้วยมรรค ๘ นี่เอง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

............................

ธรรมะบนเขา
วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๑







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 03 มีนาคม 2562
Last Update : 3 มีนาคม 2562 8:45:17 น.
Counter : 928 Pageviews.

0 comment
<<< "เรื่องของการทำทานทำได้กับทุกคน" >>>









“เรื่องของการทำทาน ทำได้กับทุกคน”

เรื่องของการทำทานเราจึงมักจะมุ่งมาที่

พระศาสนาเป็นจุดแรกก่อนของการทำบุญทำทาน

 เพราะเราเห็นคุณค่าของการสนับสนุนพระพุทธศาสนา

 สนับสนุนพระภิกษุที่มาบวชในบวรของพระพุทธศาสนา

 เพราะว่าท่านเป็นเหมือนที่พึ่งของเรานั่นเอง

 เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เราต้องดูแลต้นโพธิ์

 ต้องปลูกตันโพธิ์กัน ปลูกให้ต้นโพธิ์เจริญเติบโตใหญ่โต

 พวกเราเป็นเหมือนนกเหมือนกา ถ้ามีต้นโพธิ์ต้นไทร

ก็จะมีที่พึ่งมีอาหาร พระพุทธศาสนาจึงเป็น

ที่ที่เราจะมุ่งมาทำบุญทำทานกันเป็นจุดแรก

 เพราะว่าจะได้ประโยชน์กับเราต่อไป

 ได้รับประโยชน์เพราะเราจะได้เรียนรู้

จากพระพุทธศาสนานั่นเอง

ถ้าเราไม่สนับสนุนพระพุทธศาสนา

 พระพุทธศาสนาก็จะเสื่อมและหมดไปได้

 ถ้าไม่มีใครสนับสนุนพระพุทธศาสนา

ก็จะไม่มีใครมาบวชกัน เพราะถ้ามาบวชแล้ว

 ไม่มีใครใส่บาตร ต้องไปหาเงินหาทองมาซื้ออาหาร

มาทำอาหารกัน ก็จะไม่ได้มาเรียนรู้มาปฏิบัติ

 เวลาไม่มี ก็เหมือนกับไม่ได้บวชนั่นแหละ

การมาบวชก็ไม่มีความหมายอะไร

ถ้ามาบวชแล้วต้องทำมาหากิน

 เหมือนกับตอนที่เป็นฆราวาสญาติโยม

นี่คือการทำทานว่าทำไมชาวพุทธเรา

จึงมุ่งมาทำที่วัดก่อน

 แต่การทำทานจริงๆ นี้ ไม่ต้องมาทำที่วัด

เพียงที่เดียวเท่านั้น การทำทานคือการให้

การแบ่งปันความสุขจากข้าวของเงินทองที่เรามีอยู่นี้

 เราสามารถให้กับทุกคน ไม่ใช่แต่เฉพาะผู้ที่มาบวช

อยู่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น เราให้ได้กับทุกคน

 ใครที่เขาตกทุกข์ได้ยากเดือดร้อน

 แล้วเราให้ความช่วยเหลือกับเขานี้

 เราก็ได้บุญเหมือนกัน อันนี้พูดเผื่อไว้

ในกรณีที่เราไม่สามารถไปทำบุญที่วัดได้

 วัดอยู่ห่างไกลหรือไม่สะดวก

 แต่เราอยากจะทำบุญ อยากจะซื้ออาหารให้แก่จิตใจ

เราก็สามารถทำกับใครก็ได้ที่เราเห็นว่าเขาเดือดร้อน

 เพราะว่าเวลาที่เราได้ช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนตกทุกข์ได้ยาก

มันจะทำให้เราเกิดความสุขใจอิ่มใจขึ้นมา

 ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราไปทำกับคนที่เขาไม่เดือดร้อน

 เราก็จะไม่รู้สึกแบบนั้น เพราะเราจะไม่เห็นประโยชน์

จากการที่เราให้เงินเขาไป

 เช่นเอาเงินไปให้เศรษฐีอย่างนี้

 เศรษฐีเขามีเหลือกินเหลือใช้

ให้เขาแล้วเราก็ไม่รู้ว่าเขาเอาไปทำอะไร

 เขาอาจจะเอาไปโยนทิ้งก็ได้

 เราก็เลยอาจจะไม่เห็นประโยชน์

เห็นผลที่เกิดจากการเสียสละแบ่งปันของเรา

 เราก็เลยจะไม่มีความรู้สึกมีความสุขใจอิ่มใจ

นี่คือเรื่องของการทำทาน ทำได้กับทุกคน

 ไม่ใช่กับเฉพาะนักบวชในพระพุทธศาสนาเท่านั้น

 ที่ไหนมีความทุกข์ยากเดือดร้อน

 ใครมีความทุกข์ยากเดือดร้อน แม้แต่คนในครอบครัวเรา

เช่นบิดามารดาท่านอาจจะแก่เฒ่า

อาจจะไม่สามารถที่จะเลี้ยงดูตัวเองได้

การเลี้ยงดูบิดามารดาก็เหมือนการเลี้ยงดูพระภิกษุ

ในศาสนาพุทธนี้ เพราะว่าพ่อแม่

ก็เป็นผู้ที่มีพระคุณต่อเรามาก

 เหมือนกับพระอริยสงฆ์ที่มีพระคุณกับเราทางด้านจิตใจ

 การได้ทำบุญกับพ่อแม่ก็เปรียบเหมือน

การได้ทำบุญกับพระอรหันต์

เพราะพ่อแม่ก็เป็นผู้ที่มีพระคุณ

 เหมือนกับพระอรหันต์ที่มีพระคุณต่อพุทธศาสนิกชน

 ต่างกันที่คุณของพ่อของแม่

กับคุณของพระอรหันต์นี้ต่างกัน

 พ่อแม่ก็ให้คุณประโยชน์ คือให้ร่างกาย ให้ชีวิตเรา

ส่วนพระอรหันต์นี้ก็ให้คุณประโยชน์ทางจิตใจ

ช่วยจิตใจของเราให้ได้หลุดพ้นจากกองทุกข์

แห่งการเวียนว่ายตายเกิด

 ดังนั้น การทำบุญกับพระอรหันต์

หรือทำบุญกับพ่อกับแม่นี้ก็ได้บุญเหมือนกัน

 เพราะพ่อแม่เป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สำคัญที่สุด

สำหรับลูกๆทุกคน จึงไม่ควรมองข้ามพระอรหันต์ในบ้าน

 ก่อนที่เราจะออกไปทำบุญนอกบ้าน

ดูว่าพระอรหันต์ในบ้านของเราได้รับการดูแลหรือยัง

 อย่าปล่อยปละละเลยหน้าที่นี้ ดูแลพระในบ้านก่อน

 แล้วค่อยออกไปดูแลพระนอกบ้าน

 พระในบ้านท่านได้ทำหน้าที่ของท่านแล้ว

 ท่านมีพระคุณอย่างยิ่งกับพวกเราแล้ว

 คือท่านให้ชีวิตกับเรา ให้ร่างกายนี้กับเรามา

 เพื่อที่เราจะได้ใช้ร่างกายนี้ไปหาพระอรหันต์

เพื่อที่เราจะได้ศึกษาจากพระอรหันต์ จากพระพุทธเจ้า

 เพื่อที่จะได้ทำให้จิตใจของพวกเราหลุดพ้น

จากกองทุกข์ต่างๆ นี่คือพระ ๒ แบบ

 พระในบ้านกับพระในวัด.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

................................

ธรรมะบนเขา
วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๑








ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 02 มีนาคม 2562
Last Update : 2 มีนาคม 2562 13:49:03 น.
Counter : 239 Pageviews.

0 comment
<<< "เราควรทำบุญทำทานอย่างสม่ำเสมอ" >>>









“เราควรทำบุญให้ทานอย่างสม่ำเสมอ”

การทำบุญนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก

 ต่อจิตใจของพวกเราทุกคน เป็นที่พึ่งของจิตใจ

 เหมือนกับปัจจัย ๔ ที่เป็นที่พึ่งของร่างกาย

 ร่างกายจะอยู่อย่างสุขอย่างสบาย

 ร่างกายต้องมีปัจจัย ๔ ที่สมบูรณ์

 คือมีอาหาร มีเครื่องนุ่งห่ม มีที่อยู่อาศัย มียารักษาโรค

 ร่างกายถึงจะอยู่อย่างเป็นปกติสุข ไม่อดอยากขาดแคลน

ไม่ทุกข์ยากลำบาก ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย

 ฉันใด จิตใจก็เป็นเหมือนร่างกาย ที่ต้องมีที่พึ่งคือมีปัจจัย ๔

เช่นเดียวกับร่างกาย ปัจจัย ๔ ของใจ

เรียกว่า “บุญชนิดต่างๆ”

อาหารของใจก็คือบุญที่เกิดจากการทำทาน

 เครื่องนุ่งห่มของใจก็คือบุญที่เกิดจากการรักษาศีล

ที่อยู่อาศัยของใจก็คือบุญที่เกิดจากนั่งสมาธิทำใจให้สงบ

 และยารักษาโรคของใจก็คือบุญที่ได้จากการเจริญปัญญา

นี่คือบุญชนิดต่างๆ ที่เปรียบเหมือนปัจจัย ๔

ที่จิตใจต้องพึ่งพาอาศัย เหมือนกับร่างกาย

ที่ต้องพึ่งพาอาศัยอาหาร เครื่องนุ่งห่ม

 ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค

 ดังนั้นการทำบุญจึงเป็นภารกิจที่สำคัญ

 และสำคัญมากกว่าภารกิจของการเลี้ยงดูร่างกาย

 เพราะร่างกายกับจิตใจนี้มีความแตกต่างกันมาก

ในเรื่องของอายุขัย ร่างกายนี้มีอายุที่ไม่เกินร้อย

 ส่วนมากไม่ถึงร้อย เกินร้อยก็มีบ้าง แต่ไม่มาก

 พอถึงอายุขัยของร่างกาย ร่างกายก็หมดสภาพไป

ทำอะไรดีขนาดไหนให้แก่ร่างกาย

ก็ไม่สามารถยับยั้งการตายของร่างกายได้

ส่วนจิตใจนี้ดีกว่าร่างกายหลายเท่า

 เพราะจิตใจไม่มีวันตาย ปัจจัย ๔ ที่เราหาให้แก่จิตใจ

 จะอยู่กับจิตใจไป จะดูแลรักษาจิตใจ

ให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขไปตลอดอนันตกาล

ปัจจัย ๔ ของร่างกายหามามากน้อยเพียงใดก็ตาม

ในที่สุดมันก็ไม่สามารถรักษาดูแลร่างกายได้

ร่างกายก็ต้องหมดสภาพไป

ปัจจัย ๔ ที่หามาได้มากน้อยเพียงใด

ก็จะกลายเป็นของผู้อื่นไป แต่ปัจจัย ๔ ของใจนี้

ใจจะเป็นผู้ครอบครองไปตลอด

 ปัจจัย ๔ ของใจ คือทาน ศีล สมาธิ ปัญญา

 จะรักษาใจให้อยู่อย่างมีความสุขไปตลอด

 กำจัดความทุกข์ต่างๆ ภัยต่างๆ ไม่ให้เข้ามาทำลายจิตใจ

 มาเบียดเบียนจิตใจ มากระทบกับจิตใจ

ดังนั้น การทำบุญจึงเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่ง

ที่พวกเรามักจะไม่เข้าใจกัน

กลับไปให้ความสำคัญกับภารกิจทางร่างกายกัน

 อาทิตย์หนึ่งมี ๗ วัน เรานี้ใช้เวลาไป

กับการดูแลเลี้ยงดูร่างกายถึง ๕ วันด้วยกัน

ไปทำงานกันเพื่อไปหาปัจจัย ๔ กัน

ส่วนจิตใจที่มีความสำคัญ มีคุณค่ามากมาย

 เรากลับไม่ค่อยให้เวลากับการหาปัจจัย ๔ ให้แก่จิตใจ

เพราะว่าจิตใจของพวกเราถูกความหลงครอบงำ

 ทำให้เรามองไม่เห็นความสำคัญของจิตใจไป

 กลับไปมองเห็นความสำคัญของร่างกาย

เพราะร่างกายนี้เป็นสิ่งที่เราจับต้องได้ เห็นได้

 แต่จิตใจนี้เป็นสิ่งที่เราจับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น

 เราเลยไม่รู้ความจริงของจิตใจว่าเป็นอะไรกันแน่

เป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย

หรือไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย

 ส่วนใหญ่ความหลงก็จะบอกให้เราคิดว่า

จิตใจนี้เป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย

ถ้าเราเลี้ยงดูร่างกายดี จิตใจก็จะดีตามไปด้วย

 ถ้าร่างกายมีความสุข จิตใจก็จะมีความสุขไปด้วย

แต่นักปราชญ์อย่างพระพุทธเจ้า

และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ท่านได้พิสูจน์แล้วว่า

จิตใจกับร่างกายนี้เป็นคนละส่วนกัน เป็นคนละคนกัน

 การเลี้ยงดูร่างกายให้อยู่อย่างสุขสบาย

ไม่ได้ทำให้จิตใจสุขสบายตามร่างกายไป

จิตใจจะสุขสบาย จิตใจต้องมีบุญ

ร่างกายจะสุขสบาย ร่างกายต้องมีปัจจัย ๔

ร่างกายของพวกเราทุกคนนี้มีปัจจัย ๔ เหลือเฟือ

มีความสุขสบายกันทุกคน

 แต่ทำไมจิตใจของพวกเรายังวุ่นวายกัน

 ยังไม่มีความสุขเหมือนกับร่างกาย

 ก็เพราะว่าจิตใจนั้นเป็นคนละคนกับร่างกาย

 เราไปคิดว่าเราไปดูแลจิตใจด้วยการดูแลร่างกาย

 ร่างกายเราจึงสุขสบาย ปลอดภัยจากภัยต่างๆ

แต่ใจของพวกเรากลับทุกข์กัน กลับไม่สบายใจกัน

กลับมีเรื่องวุ่นวายใจต่างๆ

 มาคอยเบียดเบียนอยู่ตลอดเวลา

 นั่นเพราะว่าเราไม่ได้มาให้เวลากับการทำบุญ

 สร้างปัจจัย ๔ ให้แก่ใจนั่นเอง

นี่แหละคือสิ่งที่คนทั่วไป ปุถุชนทั่วไปนี้จะไม่รู้เรื่องนี้กัน

ไม่รู้ว่าใจกับร่างกายเป็นคนละคนกัน เป็นคนละส่วนกัน

 และเหตุที่ทำให้ร่างกายและจิตใจมีความสุขไม่มีความทุกข์

ก็เป็นคนละเหตุกัน นี่จึงเป็นโชคเป็นวาสนาของชาวพุทธ

ที่ได้มาพบกับพระพุทธศาสนา

มีพระพุทธศาสนาเป็นผู้ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง

 ให้ความจริงแก่พุทธศาสนิกชน

ให้รู้ว่าร่างกายกับจิตใจนี้เป็นคนละส่วนกัน

 ร่างกายก็ต้องดูแลตามความเหมาะสมของร่างกาย

 แต่การดูแลร่างกายเพียงอย่างเดียวนี้ ไม่พอเพียง

เพราะจิตใจไม่ได้รับการดูแลด้วย

 จิตใจนี้ต้องมีบุญเป็นผู้ดูแล เป็นผู้สนับสนุน

นี่คือสิ่งที่เราจะได้รับจากพระพุทธศาสนา

 พระพุทธศาสนาจึงสอนให้เราทำบุญกัน

 คำว่า “บุญ” ก็แปลว่า

“ความอิ่มใจ ความสุขใจ ความสบายใจ”

ความสุขใจ ความสบายใจ ความอิ่มใจ

ก็เกิดจากการกระทำชนิดต่างๆ เช่น ทาน คือการให้

ก็เรียกว่าบุญอย่างหนึ่ง ทำทานแล้วใจจะมีความสุขใจ

อิ่มใจ สบายใจ รักษาศีลก็จะทำให้ใจปลอดภัยจากภัยต่างๆ

และทำให้จิตใจสวยงาม นั่งสมาธิทำใจให้สงบ

ก็เหมือนสร้างบ้านให้แก่จิตใจ

ให้จิตใจมีที่หลบเวลามีพายุต่างๆ เหมือนกับร่างกาย

ถ้าไม่มีที่หลบร่างกายก็เดือดร้อนได้

จิตใจก็มีมรสุมทางชีวิต เหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆ

 ถ้าจิตใจไม่มีที่หลบภัย จิตใจก็เดือดร้อนได้

โรคภัยไข้เจ็บของจิตใจก็คือความเครียดต่างๆ

ความทุกข์ต่างๆ ก็ต้องอาศัยปัญญาที่เป็นเหมือนยา

 ที่เรียกว่า “ธรรมโอสถ” ธรรมโอสถคือยาที่จะมารักษาใจ

ให้หายจากความทุกข์ ความเครียด ความวุ่นวายใจต่างๆ

พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เรามาทำบุญกัน

ทำบุญ ๔ ชนิดนี้ ทำบุญข้อที่ ๑ ก็คือให้ทำทาน

การทำทานนี้เป็นเหมือนกับการให้อาหารแก่จิตใจ

เวลาเราทำทานคือเราเสียสละแบ่งปันข้าวของเงินทอง

 สิ่งของที่เรามีเกินที่เราต้องเก็บเอาไว้ใช้

ส่วนเกิน เราเก็บไว้เฉยๆ ก็ไม่เป็นประโยชน์

ถ้าเอาไปใช้ก็อาจจะเกิดโทษกับจิตใจ ถ้าใช้ไม่เป็น

 เช่นเอาไปใช้ตามความอยากต่างๆ

เอาไปใช้เพื่อหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 การใช้เงินทองแบบนี้เป็นโทษกับจิตใจ

 เพราะเป็นเหมือนกับการไปซื้อยาเสพติดมาเสพนั่นเอง

 เพราะถ้าเราใช้เงินไปกับการหาความสุข

ทางตาหูจมูกลิ้นกาย เช่นไปเที่ยวกัน

ไปซื้อของไม่จำเป็น ของฟุ่มเฟือยต่างๆ

 พอใช้แล้วมันก็จะติด มันจะต้องใช้อยู่เรื่อยๆ

เวลาไม่มีเงินใช้ ไม่มีเงินไปเที่ยว

 ไม่มีเงินไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

ใจก็จะมีความทุกข์เหมือนกับคนติดยาเสพติด

 ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนว่า

ถ้าเรามีเงินเหลือเกินที่เราใช้กับร่างกายของเรา

 ถ้าจะใช้ก็เอามาทำบุญทำทาน เอามาเลี้ยงดูจิตใจ

เราเอาเงินส่วนหนึ่งเลี้ยงดูร่างกาย

ซื้ออาหาร ซื้ออะไรต่างๆ ที่ร่างกายต้องการ

ซื้ออาหาร ซื้อเสื้อผ้า ซื้อที่อยู่อาศัย ซื้อยารักษาโรค

ให้แก่ร่างกาย มีพอเพียง ปัจจัย ๔ มีพอเพียง

 มีเหลือเฟือ แล้วยังมีเงินทองเหลืออยู่อีก

ก็ให้เอามาเลี้ยงดูจิตใจบ้าง เอามาทำทาน

การทำทานนี้เป็นเหมือนกับการซื้ออาหาร

 ไม่ใช่ซื้อยาเสพติด ทำทานแล้วจะทำให้ใจมีความอิ่ม

 มีความสุข มีความพอ

จะไม่ติดกับการที่จะไปซื้อของต่างๆ

 ซื้อความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

เพราะว่าการทำทานนี้เป็นอาหารของใจ

 ไม่ได้ทำให้ใจหิว แต่ทำให้ใจอิ่ม

 ทำบุญทำทานแล้วใจจะมีความอิ่ม

อยู่เฉยๆ ก็ไม่เดือดร้อน ถ้าเอาเงินไปซื้อสิ่งของต่างๆ

 ซื้อความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย จะสุขเดี๋ยวเดียว

 สุขตอนที่ได้ซื้อสิ่งต่างๆ แล้วเดี๋ยวผ่านไปไม่นาน

ก็เกิดความหิว อยากจะซื้อของอีก อยากจะไปเที่ยวอีก

 อยากจะไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายอีก

ถ้าไม่ได้ทำก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา

 เกิดความไม่สบายใจขึ้นมา นี่คืออาหารของใจ

คือการทำทานนี่เอง ทุกครั้งที่เราทำบุญทำทานนี้

เท่ากับเราซื้ออาหารมาให้แก่จิตใจ

ทำให้จิตใจมีความสุขมีความอิ่ม

 มีพลังที่จะเดินไปข้างหน้า

ที่จะไปเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ

 นี่คือสิ่งที่ชาวพุทธเราถูกสอนให้ทำกันอยู่อย่างสม่ำเสมอ

 ควรจะทำเหมือนกับการรับประทานอาหารของร่างกาย

 ร่างกายเราก็รับประทานอาหารกันอย่างสม่ำเสมอ

เราก็ควรจะทำบุญให้ทานกันอย่างสม่ำเสมอ

 เราจึงมีพระสงฆ์มาบิณฑบาต

อันนี้เป็นอุบายความคิดของพระพุทธเจ้า

 ที่จะทำให้เกิดประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย

 ประโยชน์ทั้งผู้ให้และประโยชน์ทั้งผู้รับ

 ผู้ใส่บาตรก็จะได้ทำทาน จะได้อาหารแก่ใจ

ผู้บิณฑบาตก็จะได้ไม่ไปเสียเวลากับการไปทำมาหากิน

 เพราะพระภิกษุที่มาบวชในพระพุทธศาสนา

 มีเป้าหมายอยู่ที่การหลุดพ้นจากความทุกข์ต่างๆ

 มีหน้าที่ๆ จะต้องศึกษาและปฏิบัติธรรม

ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติ

ถ้าต้องไปทำมาหากินก็จะไม่มีเวลาพอ

ที่จะมาศึกษามาปฏิบัติธรรม เพื่อให้จิตหลุดพ้น

จากกองทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิดไปได้

พระพุทธเจ้าเลยสอนให้พระภิกษุทุกรูปนี้ออกบิณฑบาตกัน

 ไปโปรดสัตว์ โปรดญาติโยม ญาติโยมจะได้ทำบุญ

 ญาติโยมจะได้มีอาหารให้แก่จิตใจของญาติโยม

 ส่วนพระภิกษุก็จะได้อาหารทางร่างกายของพระภิกษุ

 เพื่อที่ร่างกายของพระภิกษุจะได้อยู่สุขสบาย

 นอกจากบิณฑบาตก็ถวายผ้าจีวร สร้างกุฏิที่อยู่อาศัย

 ยารักษาโรคต่างๆ ให้แก่พระภิกษุนักบวช

 เพื่อพระภิกษุจะได้ไม่ต้องมาวุ่นวาย

 มาเสียเวลากับการเลี้ยงดูร่างกาย หาเงินหาทอง

 ทำงานทำการเพื่อมาเลี้ยงดูร่างกาย

 เพราะถ้าต้องทำงานทำการเหมือนกับญาติโยม

 พระภิกษุก็จะไม่มีเวลาพอที่จะมาศึกษา มาปฏิบัติธรรม

 เพื่อมาบรรลุธรรม และหลังจากบรรลุธรรมแล้ว

จะได้เป็นที่พึ่งของพุทธศาสนิกชน คือญาติโยม

เพราะญาติโยมถ้าไม่มีพระภิกษุที่บวช ศึกษา ปฏิบัติ

 และบรรลุเป็นอริยบุคคล ก็จะไม่มีที่พึ่งที่สั่งสอน

 คือ ไม่มีพระอริยสงฆ์สาวกมาเป็นผู้สอนผู้บอก

 ให้รู้จักวิธีเลี้ยงดูจิตใจ ให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข

 แคล้วคลาดปลอดภัยจากความทุกข์ต่างๆ

 นี่ก็เป็นประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย ประโยชน์ผู้ให้

ผู้ให้เสียเงินทองข้าวของไป

 แต่ได้รับอาหารที่เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อจิตใจ

 ส่วนพระภิกษุก็ได้อาหารทางร่างกายไป

ได้ปัจจัย ๔ ทางร่างกาย จะได้มีเวลาไปปฏิบัติ ไปศึกษา

 ไม่ต้องมาทำงานทำการ

 เพื่อที่จะได้เป็นที่พึ่งของญาติโยมต่อไป

 หลังจากที่ได้บรรลุธรรมแล้ว

ก็จะมาเป็นผู้สอนคอยสอนคอยบอกให้ญาติโยม

 ให้รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง เช่น วันนี้

พระภิกษุก็มาสอนญาติโยม

 มาสอนญาติโยมให้มาทำบุญทำทาน

ให้มาสร้างปัจจัย ๔ ให้แก่จิตใจ

ถ้าจิตใจมีปัจจัย ๔ ครบบริบูรณ์

 จิตใจก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ต่างๆ

 หลุดพ้นจากปัญหาต่างๆ หลุดพ้นจากภัยต่างๆ

 จะมีแต่ความสุขไปตลอดไม่มีวันสิ้นสุด.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.............................

ธรรมะบนเขา
วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๑








ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 02 มีนาคม 2562
Last Update : 2 มีนาคม 2562 13:34:40 น.
Counter : 652 Pageviews.

0 comment
<<< "หน้าที่ของเงินทอง" >>>











"หน้าที่ของเงินทอง"

เงินทองก็เป็นของในโลกนี้ ไม่มีใครเอาติดตัวไปได้

เงินทองก็มีไว้รับใช้ร่างกายของเรา

ให้ร่างกายเราอยู่อย่างสุขสบาย มีปัจจัย ๔

มีอาหาร มียารักษาโรค มีเครื่องนุ่งห่ม มีที่อยู่อาศัย

 พอเรามีครบแล้ว มีมากกว่านั้นก็ไม่เป็นประโยชน์อะไร

 เพราะไม่สามารถเอาไปให้ความสุขกับจิตใจได้

จะให้ความสุขกับจิตใจ ก็ต้องเอาเงินทองที่เหลืออยู่

จากการใช้ในการดูแลร่างกายนี้ เอาไปทำบุญ

 พอเราเอาเงินทองไปทำบุญ เราก็จะได้บุญ

ที่จะเป็นความสุขของใจ

ถ้าเอาเงินทองไปซื้อความสุขทางร่างกาย

ก็จะได้ความสุขปลอม ได้ความสุขเดี๋ยวเดียว

 เช่นเราไปเที่ยวเราก็ได้ความสุขตอนที่เราไปเที่ยวกัน

 พอเรากลับมาบ้านความสุขนั้นก็หายไป

ความอยากเที่ยวก็มาอีก

 ก็ต้องไปเที่ยวอีกถึงจะมีความสุข

 ถ้าไม่ได้เที่ยวก็กลับเป็นความทุกข์ไป

 แต่ถ้าเราเอาเงินที่จะไปเที่ยวนี้มาทำบุญ

 เราจะได้ความสุขใจอิ่มใจ

ที่ไม่ได้หมดไปอย่างรวดเร็ว เหมือนกับการไปเที่ยว

 เราทำบุญแล้วความอยากไปเที่ยวก็ไม่มี

ทำให้เราอยู่บ้านเฉยๆได้

 อยู่ไม่ได้ทำอะไรก็มีความสุข

 อยู่เฉยๆก็มีความสุข เพราะบุญที่เราทำ

มันเป็นเหมือนอาหารหล่อเลี้ยงจิตใจ

ทำให้ใจไม่หิวกับความต้องการ

ไปทำตามความอยากต่างๆ

การทำบุญนี้เป็นการมาสลายความอยาก

ใช้เงินไปในทางที่เป็นโทษ

ใช้เงินไปในทางที่ทำให้เกิดความอยากขึ้นมาเรื่อยๆ

 เช่นเอาเงินไปเที่ยวเอาเงินไปซื้อของฟุ่มเฟือยต่างๆ

ซื้อแล้วแทนที่มันจะพอ มันไม่พอ

 มันกลับอยากจะซื้ออีก อยากจะได้อีก

 ไปเที่ยวก็อยากจะไปเที่ยวอีก

 แต่ถ้าเอาเงินที่จะใช้กับสิ่งเหล่านี้ไปทำบุญ

 มันก็ทำให้ความอยากเที่ยว

อยากใช้เงินต่างๆมันน้อยลงไป ถ้าเราทำเรื่อยๆ

ต่อไปเราจะไม่มีความรู้สึกอยากจะเที่ยว

 อยากจะซื้อของฟุ่มเฟือยต่างๆ เพราะใจเรามีบุญ

มีความสุขใจที่เกิดจากการทำบุญ

ระงับความอยากต่างๆ ความอยากใช้เงินต่างๆได้

 นี่คือหน้าที่ของเงินทองที่พวกเรามีอยู่

ส่วนหนึ่งก็ต้องมีไว้สำหรับดูแลร่างกาย

 เพราะร่างกายถ้าขาดปัจจัย ๔

 ร่างกายก็จะต้องทุกข์ยากลำบาก หรือเจ็บไข้ได้ป่วย

หรือถึงกับเสียชีวิตไป เราก็ต้องมีเงินทองส่วนนี้

ไว้สำหรับเลี้ยงดูร่างกาย แต่ถ้าเรามีมากกว่าที่เราจะใช้

กับการดูแลร่างกายได้ ก็อย่าเอาไปใช้ซื้อของฟุ่มเฟือย

 ซื้อของไม่จำเป็น เอาไปทำตามความอยากต่างๆ

 เพราะมันจะเป็นการสร้างความทุกข์ให้กับใจ

แทนที่จะให้ความสุขกับใจ

 มันจะสร้างความอยากให้เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

........................................

สนทนาธรรมบนเขา

วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๐








ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 28 กุมภาพันธ์ 2562
Last Update : 28 กุมภาพันธ์ 2562 11:37:20 น.
Counter : 294 Pageviews.

0 comment
<<< "เปลี่ยนทิศทางในการหาความสุข" >>>










“เปลี่ยนทิศทางในการหาความสุข”

ความจริงผู้ที่เจริญสตินี้ ท่านไม่อยากจะพูดจากับใคร

 ไม่อยากจะคุยกับใคร ไม่ใช่เพราะว่าท่านไม่มีความเมตตา

 แต่ท่านพยายามกำลังสร้างสติ การสร้างสติคือ

ความพยายามหยุดความคิดต่างๆนี่เอง

 ดังนั้น ผู้ที่บำเพ็ญจริงๆนี้

จึงอยากไปปลีกวิเวกอยู่คนเดียว

ไม่อยากจะพบปะกับใคร เพราะเมื่อพบปะกันแล้ว

ก็ต้องสนทนากันคุยกัน เวลาคุยก็ต้องใช้ความคิด

 ถ้าเห็นกันนี่ ถ้าไม่พูดจากันนี่

ก็เหมือนอาจจะทำให้คิดว่าโกรธกันหรืออย่างไร

 ไม่พอใจหรืออย่างไร อันนี้คือสิ่งจำเป็นที่จะต้องมี

 คือสถานที่สงบ ไม่มีคนรบกวน

ถ้ามีคนก็ต้องเป็นคนที่เข้าใจ

อย่างพระที่อยู่ในวัดปฏิบัตินี้ ท่านมักจะไม่คุยกัน

 เจอกันก็ไม่ได้คุยอะไรกัน อย่างมากก็ยิ้มให้กันหน่อย

 หรือไม่ยิ้มก็ได้ถ้ากำลังทำอะไรอยู่

ถ้ากำลังปัดกวาดก็มีสติอยู่กับการปัดกวาด

 ถ้ากำลังทำอะไรก็มีสติอยู่กับงานที่กำลังทำอยู่

 ก็จะไม่มีเวลาที่จะมาทักทายถามสารทุกข์สุกดิบกัน

 ต่างคนต่างทำงานของตน ในสมัยพุทธกาลก็มีวัดแบบนี้

 พระที่อยู่ด้วยกันนี้ แทบจะไม่ได้คุยกันเลย

 ชาวบ้านถึงกับสงสัยว่าพระท่านทะเลาะกันหรือเปล่า

 ท่านโกรธกันหรือเปล่า ถึงไม่คุยกัน ถึงไม่อะไรกัน

สังสรรค์กัน เหมือนกับชาวบ้านทั่วไป

เพราะว่าพระแต่ละองค์นั้น ท่านกำลังฝึกสตินั่นเอง

 ท่านกำลังควบคุมความคิด ท่านต้องการหยุดความคิด

 ด้วยการมีสติจดจ่ออยู่กับงานใดงานหนึ่ง

 งานที่กำลังทำอยู่ เช่น กำลังกวาดถูอะไร

 ก็ให้อยู่กับงานที่กวาดถู หรือไม่เช่นนั้น

 ท่านก็กำลังบริกรรมพุทโธพุทโธอยู่

 นี่เป็นวิธีที่จะทำให้หยุดความคิดได้ หยุดความอยากได้

 การบริกรรมพุทโธก็คือเป็นวิธีการเจริญสติวิธีหนึ่ง

 การจดจ่อเฝ้าดูการเคลื่อนไหวต่างๆของร่างกาย

 เฝ้าดูการทำงานของร่างกายก็เป็นการเจริญสติอีกวิธีหนึ่ง

ดังนั้นการจะได้สมาธินี้ จำเป็นที่จะต้องฝึกสติตลอดเวลา

ก่อนที่จะมานั่ง ถ้าไม่มีสตินั่งไปก็ไม่เกิดประโยชน์

นั่งไปจิตก็จะฟุ้งจะคิดปรุงแต่งถึงเรื่องราวต่างๆ

 นั่งไปก็มีแต่ท่านั่งแต่ไม่มีผลที่เกิดจากการนั่ง

 เพราะไม่มีสติคอยควบคุมความคิด

ดังนั้นจึงควรควบคุมความคิดให้ได้ก่อนค่อยมานั่ง

 เพราะไม่เช่นนั้น นั่งไปก็ไม่สงบ นั่งไปก็นั่งไม่ได้นาน

 นั่งไปแล้วเดี๋ยวก็รู้สึกอึดอัดขึ้นมา

 เพราะความคิดมันอยากจะลุกนั่นเอง

อยากจะลุกอยากจะไปดูอยากจะไปฟัง

 อยากจะไปทำนั่นทำนี่ มันก็เลยทำให้นั่งไม่ได้

 แล้วในเบื้องต้น การจะฝึกสมาธิได้ผลนี้

จำเป็นจะต้องฝึกสติก่อน ตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาเลย

 จนถึงเวลาหลับเลย อย่าให้มีเวลาที่ไม่มีการฝึกสติ

 ไม่มีการเจริญสติ จะทำอย่างนี้ได้

ก็ต้องไปอยู่ในที่ๆเขาจัดไว้ให้เราเจริญสติ

ก็คือ ไปอยู่ตามวัดปฏิบัติต่างๆ

วัดปฏิบัติธรรมนี้จะไม่มีภารกิจอย่างอื่น

 นอกจากภารกิจจำเป็น ดูแลความสะอาด

 รักษาความสะอาดของสถานที่ กวาดถูศาลา

 ทำความสะอาดห้องน้ำ ทำอะไร

กวาดลานวัด อย่างนี้ เป็นต้น

 แต่ก็เป็นงานที่มีเวล่ำเวลา

 และในขณะที่ทำงานก็สามารถเจริญสติคู่ไปได้

 เพราะจะไม่มีการคุยกัน ผู้ที่มาช่วยกันกวาด

 ผู้ที่มาช่วยกันทำความสะอาดก็ช่วยกันทำไป

แต่ใจก็ถูกสติคอยควบคุม ไม่ให้คิดไม่ให้ปรุงแต่ง

 นี่คือ ๑. ต้องมีสถานที่ ๒. ต้องมีเวลา

จะมีเวลาปฏิบัติได้อย่างเต็มที่ก็ต้องไปบวช

 หรือไปอยู่แบบนักบวช บางท่านยังบวชถาวรไม่ได้

ก็ไปบวชชั่วคราว เช่นวันไหนหยุดทำงาน

 มีเวลาว่างก็ไปขออยู่ที่วัด เพื่อไปฝึกสติ

 อันนี้เป็นการทำชั่วคราว ซึ่งก็ดีกว่าไม่ทำ

 แต่สู้ทำแบบต่อเนื่องไม่ได้ เพราะทำแค่วันสองวัน

 เดี๋ยวกลับไปทำงานก็ล้มหมด ก็ต้องกลับมาทำใหม่

 มันจะไม่ต่อเนื่อง ก็ต้องทำแบบต่อเนื่อง

 ก็ต้องบวชยาว บวชแบบไม่สึก

สมัยก่อน สมัยพุทธกาลนี้ พระเขาบวชกันแบบไม่สึก

 เพราะเขาเห็นคุณค่าของการบวช

การบวชนี้เป็นการให้เวลา

 ให้เขามีเวลาได้มาเจริญสมถะภาวนา

ได้มาเจริญวิปัสสนาภาวนานั่นเอง

 เพราะว่าถ้าเขาต้องการจะหลุดพ้นจากความทุกข์

เขาต้องมีสมถะภาวนา มีวิปัสสนาภาวนา

 จึงจะสามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ได้

 ดังนั้นถ้าเขาบวชแล้วเขาจะไม่สึกกัน

 เพราะเป้าหมายของการบวชนี้

ก็บวชเพื่อให้สำเร็จบรรลุธรรมนั่นเอง

 แล้วก็บรรลุธรรมแล้ว ก็ไม่รู้จะสึกไปทำไม

 ผู้บรรลุธรรมแล้วก็จะไม่มีความอยากแบบที่เป็นฆราวาส

ก็จะกลับไปอยู่แบบที่เป็นเพศฆราวาสทำไม

เมื่อไม่มีความอยากได้ลาภยศสรรเสริญ

 ไม่มีความอยากเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ไม่อยากมีครอบครัว ไม่อยากมีภรรยา

 ก็ไม่รู้จะสึกไปหาอะไร นี่คือการปฏิบัตินี้จะต้องมีเวลา

 มีสถานที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติ

 สถานที่เหมาะสมเราเรียกว่าสัปปายะ

สถานที่เหมาะสม บุคคลที่เราอยู่ร่วมด้วยก็เหมาะสม

คนที่อยู่ร่วมกันก็ปฏิบัติเหมือนกัน

ถือศีลเท่ากัน เจริญสติเหมือนกัน

 เวลาทำภารกิจก็ต่างคนต่างทำ

ไม่มาสนทนาไม่มาสังสรรค์กัน

ต่างคนต่างทำภารกิจไป แล้วเวลาขบฉันก็ไม่คุยกัน

 และเวลาดื่มน้ำปานะก็ไม่คุยกัน

ไม่เหมือนกับเพศฆราวาสนี้

เวลาทำกิจกรรมร่วมกันนี้ต้องคุยกัน

ไม่ว่าไปงานไหนจะได้ยินเสียงกระหึ่มในสถานที่นั้น

 ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน งานบวช งานอะไรก็ตาม

 จะมีการคุยกันเป็นปกติ แต่งานของผู้ปฏิบัตินี้

จะไม่มีการคุยกัน คุยกันน้อยที่สุด

 แต่ไม่ต้องถึงกับถือศีลหยุดพูด อันนี้ไม่จำเป็น

 เพราะว่าบางทีมีความจำเป็นจะต้องพูดก็ยังพูดได้อยู่

 ถ้าไปถือศีลไม่พูด งดการพูด เดี๋ยวลำบาก

 เดี๋ยวเกิดมีธุระที่จะต้องบอกให้ทำนี้ บอกไม่ได้

 มีพระอยู่รูปหนึ่ง ท่านก็เข้าใจผิด ท่านถือศีลไม่พูด

 แต่ท่านมีอะไรท่านก็เขียนใส่กระดาษ

 มันก็เหมือนกับพูดแหละ เวลาเขียนใส่กระดาษ

มันก็ต้องใช้ความคิดอยู่ดี เวลาพูดก็ต้องใช้ความคิด

 เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นถึงกับจะต้องงดการพูดจากันเลย

พูดได้บ้างแต่ให้มีเหตุมีผลเท่านั้น ให้มีกาลเทศะ

 ไม่อย่างนั้นครูบาอาจารย์

ก็เทศน์อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ไม่ได้

 ถ้าครูบาอาจารย์จะต้องถือศีลงดพูดด้วย

ถ้าทุกคนอยู่ในวัดงดพูดหมด ใครจะมาพูดธรรมะให้ฟังกัน

 แล้วเวลาลูกศิษย์มีคำถาม มีปัญหาในการปฏิบัติ

ถ้าไม่ให้พูดกันแล้วจะถามได้อย่างไร

 ดังนั้นขอให้เข้าใจว่าไม่จำเป็นที่จะต้องไม่พูด

 ให้สำรวมก็พอ ไม่ต้องห้ามพูด แต่ให้สำรวมก็พอ

พูดให้น้อยที่สุด ให้พูดเท่าที่จำเป็น

ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องพูด

นี่คือการเจริญสมถะภาวนา วิปัสสนาภาวนา

จำเป็นจะต้องมีสถานที่ๆ สงบ สัปปายะ

บุคคลที่อยู่ด้วยกันต้องเป็นบุคคลที่สัปปายะ

ต้องเป็นคนที่มีสติ มีการภาวนาเหมือนกัน

ต่างคนจะได้ไม่มารบกวนกัน

ถ้าคนหนึ่งภาวนาอีกคนไม่ภาวนา

 คิดปรุงแต่งอยากจะทำโน่นทำนี่ ก็จะไปรบกวนคนอื่นได้

 ดังนั้นคนที่อยู่ร่วมกันก็ต้องปฏิบัติเหมือนกัน

 ถึงจะได้ไม่รบกวนกัน นี่คือสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องมี

 ถ้าเราอยากจะฝึกสติเพื่อนั่งสมาธิ

เพื่อทำจิตใจให้รวมเป็นหนึ่งเป็นอุเบกขา

 ถ้าเรามีกำลังจิตใจให้รวมเป็นหนึ่งเป็นอุเบกขา

เราก็จะมีกำลังหยุดความอยากได้ เราก็ใช้กำลังนี้

มาประกอบกับวิปัสสนา เป็นความรู้ทางปัญญา

รู้ว่าการทำตามความอยากนี้เป็นการไปหาความทุกข์

ไม่ใช่ไปหาความสุข ก็จะทำให้เราหยุดความอยากได้

ทุกครั้งที่มันต้องการอะไร เราก็บอกว่า “ทุกข์นะ

ได้มาแล้วเดี๋ยวต้องทุกข์นะ ไม่ช้าก็เร็ว

สิ่งที่เราได้มามันก็จะต้องจากเราไป หรือหมดไป”

พอเราเห็นด้วยปัญญา แล้วเรามีสติที่จะหยุดความอยาก

 เราก็หยุดได้ทันที ความอยากก็จะหายไป

 ต่อไปความอยากก็จะไม่หลงเหลืออยู่ในใจ

 ใจก็จะสงบไปตลอด สงบอย่างถาวร

สงบแบบชั่วคราวเราก็เรียกว่า “สมาธิ”

สงบแบบถาวรเราก็เรียกว่า “นิพพาน” นี่เอง

 เป็นจิตที่สงบอยู่ตลอดเวลาเพราะไม่มีตัว

ที่จะทำให้จิตวุ่นวายอีกต่อไป จิตจะสงบไปตลอด

ไม่มีวุ่นวายอีกต่อไป ก็เรียกว่า “นิพพาน”

ส่วนจิตที่สงบและไม่สงบเป็นแบบสมาธิ

เวลาอยู่ในสมาธิก็สงบ เวลาออกจากสมาธิก็ไม่สงบ

 ความสงบแบบนี้เรียกว่าความสงบชั่วคราว

 เป็นความสงบของสมาธิ แต่ความสงบของปัญญา

ที่ได้กำจัดทำลายความอยากต่างๆ ให้หมดไปจากใจเรานี้

จะเป็นความสุขที่ถาวร เป็นความสงบที่ถาวร

 นี่คือเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พวกเราปฏิบัติกัน

 เบื้องต้นให้เราเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้

ไม่เที่ยงแท้แน่นอน

 เพื่อเราจะได้เปลี่ยนทิศทางในการหาความสุข

 เปลี่ยนจากการไปหาลาภยศสรรเสริญ

และไปหารูปเสียงกลิ่นรส มาหาธรรมกัน

มาหาความสงบกัน

 เลิกหาโลกธรรมและมาหาสันติธรรมกัน

 สันติธรรมเกิดขึ้นได้

ก็เกิดจากการบำเพ็ญจิตตภาวนานี่เอง

สมถะภาวนาและวิปัสสนาภาวนา

ถ้าเราพิจารณาอยู่เนืองๆแล้ว

สักวันหนึ่งเราก็จะเกิดทิศทางในการหาความสุข

 ก็จะมาภาวนากัน พอเราภาวนาแล้วไม่นาน

เราก็จะได้ความสุขที่ถาวร

 หลุดพ้นจากความทุกข์อย่างถาวร

 นี่คือประโยชน์ที่จะได้รับจากการที่เรามาศึกษา

และปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

ขอให้พวกเราเพียรพยายามทำกันไปให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ

 แล้วการพัฒนาก็จะเป็นไปตามลำดับอย่างแน่นอน.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.............................................

สนทนาธรรมบนเขา

วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๑





ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 25 กุมภาพันธ์ 2562
Last Update : 25 กุมภาพันธ์ 2562 12:03:14 น.
Counter : 258 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ