Group Blog
All Blog
### อุเบกขาธรรมคือความสงบ ###


















“อุเบกขาธรรมหรือความสงบ”

ใจของพระพุทธเจ้ากับใจของพวกเรานี้เป็นใจเหมือนกัน

 เป็นใจที่ไม่มีวันเสื่อม ไม่มีวันสลาย ไม่มีวันสิ้นสุดเหมือนกัน

 ต่างกันตรงที่ว่าใจของพระพุทธเจ้านี้ เต็มไปด้วยบรมสุข

 คือความสุขที่เกิดจากความสงบของใจ

ส่วนใจของพวกเรานี้เต็มไปด้วยบรมทุกข์

ที่เกิดจากตัณหาความอยากต่างๆ ที่พวกเราคอยส่งเสริม

คอยสนับสนุนอยู่อย่างต่อเนื่อง

 ทุกครั้งที่เราอยากได้อะไรแทนที่เราจะคิดว่า

เป็นการสร้างความทุกข์ให้กับเรา เรากลับไปคิดว่า

เป็นการสร้างความสุขให้กับเรา

แต่ความจริงแล้วมันเป็นการสร้างความทุกข์

ให้อยู่กับเราต่อไปเรื่อยๆนั่นเอง

ทุกวันนี้เราจึงยังไม่พ้นจากความทุกข์กัน

ก็เพราะว่าเรายังทำตามความอยากกันอยู่

 เราอยากจะได้อะไร เราก็ไปหามา

พอได้มาแล้ว ความอยากนั้นก็จะหยุดพักชั่วคราว

แล้วต่อมาไม่นาน ความอยากใหม่ก็จะโผล่ขึ้นมา

เราก็จะต้องไปหามาอีก หามาเรื่อยๆ

หามาได้เท่าไหร่ก็จะไม่พออยู่นั้น

 เพราะความอยากจะไม่มีวันหมดไป

 จากการกระทำตามความอยาก

 ความอยากนี้จะหมดไป ก็ต่อเมื่อเราไม่ทำตามความอยาก

ถ้าเราไม่ทำตามความอยาก ต่อไปความอยากก็จะหมดไปเอง

 พอไม่มีความอยากใจของเราก็จะตั้งอยู่ในอุเบกขา

 ตั้งอยู่ในความสงบได้

ความอยากนี่แหละเป็นตัวที่ทำให้ใจของเราวุ่นวาย

ตั้งแต่เริ่มอยากเลย พอเราอยากได้อะไร

ถ้าเราเป็นผู้ที่สังเกตใจอยู่ตลอดเวลา

เราจะเห็นว่าใจนี้เริ่มกระเพื่อมขึ้นมา

 ใจเริ่มมีความกระวนกระวาย กระสับกระส่าย

 บางทีถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ อยากจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้

 จนกระทั่งบางทีอดรนทนไม่ไหวไม่มีความมั่นใจ

ถึงกับต้องไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

ไปบนบานขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ให้ได้ตามความอยาก

 โดยที่ไม่รู้เลยว่า เป็นการสร้างความทุกข์ให้กับใจไป

และสิ่งที่ได้มา ก็จะเพิ่มความทุกข์ให้กับใจขึ้นมาอีก

เพราะว่าเมื่อได้สิ่งที่รักที่ชอบมาแล้วก็จะเกิดความยึดมั่นถือมั่น

 เกิดความรักเกิดความหวง เกิดความห่วง

 ความรัก ความหวง เกิดความห่วงก็เป็นทุกข์อีกแบบหนึ่ง

 จะวิตกกังวลว่าจะอยู่กับเราไปได้ตลอดหรือ

จะต้องจากเราไปเมื่อไหร่ แล้วพอเวลาที่เขาจากเราไป เราก็ทุกข์อีก

นี่คือผลที่เกิดจากการกระทำตามความอยาก

 จะนำพาไปสู่ความทุกข์หลายรูปแบบด้วยกัน

 ทุกข์ตั้งแต่เริ่มอยากขึ้นมา จนไปถึงได้สิ่งที่อยากได้มา

 พอได้มาแล้วก็ต้องมาทุกข์กับการดูแลรักษา

ทุกข์กับความห่วงใย ทุกข์กับความหวง

 แล้วพอเวลาที่เสียไป ก็ต้องมาทุกข์กับการสูญเสีย

 เพราะไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ มีมาแล้วก็ต้องมีไป

ถ้าเขาไม่ไปเราก็ไปจากเขา เพราะไม่ช้าก็เร็ว

ร่างกายของเรานั้นก็ต้องถึงวันสิ้นสุดลง เมื่อถึงวันสิ้นสุดลง

เราก็จะไม่สามารถที่จะใช้ร่างกายดูแลรักษาทรัพย์สมบัติ

ข้าวของเงินทองต่างๆ ที่เราหามาด้วยความอยากได้

เราก็ต้องจากทุกสิ่งทุกอย่างที่เราหามาได้ไป

เราก็ต้องเศร้าโศกเสียใจกับการสูญเสีย

 กับการพลัดพรากจากกันไป

นี่คือหนทางของการกระทำตามความอยาก

 การทำตามความอยากจะดึงให้เราเข้าสู่ความทุกข์ต่างๆ

 ถ้าเราไม่ต้องการที่จะเจอกับความทุกข์ต่างเหล่าๆนี้

เราก็ต้องไม่ทำตามความอยาก

 วิธีที่เราจะไม่ต้องทำตามความอยากได้ เราก็ต้องทำใจให้สงบ

 ทำใจให้เป็นอุเบกขาให้ได้

การที่เราจะทำใจให้สงบ ให้เป็นอุเบกขาได้ เราก็ต้องมีสติ

 สตินี้จะเป็นผู้ที่จะหยุดความคิดต่างๆ

ถ้าเราหยุดความคิดต่างๆ ได้ด้วยสติ

เราก็จะหยุดความอยากต่างๆ ได้

เพราะความอยากต่างๆ ก็เกิดจากความคิดนี่เอง

 ถ้าเราคิดถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้ เราก็จะเกิดความอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้

หรืออยากให้สิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

ถ้าเราไม่ได้คิดถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้ เราก็จะไม่มีความอยากกับสิ่งนั้นสิ่งนี้

ถ้าเราคิดอยู่กับคำบริกรรม เช่นพุทโธไปอยู่เรื่อยๆ

 โอกาสที่ความคิดจะมาสร้างความอยากให้กับเรานี้ก็จะไม่มี

แต่ถ้าเวลาใดที่เราเผลอ เราไม่บริกรรมพุทโธ

หรือเราปล่อยให้ความคิด คิดออกมา

 เดี๋ยวความคิดนั้นก็จะคิดไปในทางความอยาก

 แล้วพอเกิดความอยากขึ้นมา ใจของเรา

ก็จะเริ่มมีความวุ่นวายใจขึ้นมา แล้วจะอยู่ไม่เป็นสุขแล้ว

จะต้องไปทำในสิ่งที่ความอยากต้องการ

 ถึงจะหายจากความวุ่นวาย จากความกระวนกระวาย

 แต่ก็เป็นการหายชั่วระยะสั้นๆ ชั่วขณะที่ความอยากนั้นสงบตัวลง

หลังจากที่ได้สิ่งที่อยากได้

 แต่หลังจากนั้นไปไม่นานความอยากอันใหม่ก็จะโผล่ขึ้นมาใหม่

เราจึงต้องพยายามเจริญสติกันอย่างต่อเนื่อง

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความคิดปรุงเเต่ง

 ที่จะคิดไปในทางความอยาก

ถ้าเราสามารถเจริญสติ จนสติของเรา

สามารถหยุดความคิดปรุงเเต่งได้

 จิตของเราก็จะสงบ จะเป็นอุเบกขา

จะมีความสุข จะมีความอิ่ม จะไม่รู้สึกอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้

 แต่มันเป็นความสงบชั่วคราว มันไม่สงบอย่างถาวร

ไม่นานจิตก็จะต้องถอนออกจากความสงบ

แล้วก็จะออกมารับรู้เรื่องราวต่างๆ ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

 ผ่านทางความคิดปรุงเเต่งต่างๆ

ถ้าเราอยากจะไม่ให้จิตของเราคิดไปในทางความอยาก

เราก็ต้องสอนจิตให้คิดไปในทางที่ไม่เกิดความอยาก

วิธีที่จะทำให้จิตไม่คิดไปในทางที่ไม่เกิดความอยาก

ก็ให้คิดไปตามความจริงของสิ่งต่างๆ

ที่เราไปรักไปชอบไปอยากได้นั่นเอง

เราชอบเงินทองอยากได้เงินทอง เราก็ต้องคิดไปว่า

เงินทองนี้ เป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน เวลาได้มาก็ดีอกดีใจกัน

แต่เวลาเสียไปหรือเวลาไม่ได้มาก็เป็นเวลาที่เสียอกเสียใจ

 ให้คิดอย่างนี้ว่า สิ่งที่เราอยากได้นั้นมันไม่แน่นอน

เวลาได้ก็ดีใจ แต่เวลาเสียก็จะเสียใจ

แล้วก็ไม่ว่าจะได้อะไรมามากน้อยเท่าไหร่

ก็ต้องเสียไปหมดในที่สุด

 เพราะเราจะต้องจากโลกนี้ไปไม่ช้าก็เร็ว เราจะต้องเสียทรัพย์

เสียอวัยวะ เสียชีวิตไป แล้วเวลาที่เราเสีย เราก็จะเสียอกเสียใจ

 เศร้าโศกกัน ทุกข์ทรมานกัน

ถ้าเราคิดแบบนี้เวลาที่เราอยากจะได้ทรัพย์หรือได้อะไรต่างๆ

เราก็จะเห็นโทษของมัน เห็นว่าเป็นการเดินเข้าสู่กองทุกข์

ไม่ใช่เป็นการเดินเข้าสู่กองสุข ถ้าเราเห็นอย่างนี้เราก็จะไม่อยากได้

 เราก็จะระงับความอยากได้สิ่งต่างๆที่มีอยู่ในโลกนี้ได้

ถ้าเราเห็นว่าเขาไม่เที่ยง เขาเป็นทุกข์ เขาไม่ใช่เป็นสมบัติของเรา

เขาเป็นสมบัติชั่วคราว เป็นเหมือนกับสมบัติยืมเขามา

ถึงเวลาก็จะต้องคืนเขาไป สู้อย่าไปหาสมบัติเหล่านี้ดีกว่า

ให้มาหาสมบัติที่เป็นของเราอย่างแท้จริง ก็คือความสงบ

หรืออุเบกขาธรรมนี้ ที่เราได้จากการควบคุมใจด้วยสติ

ควบคุมใจไม่ให้คิดปรุงเเต่งไปในทางความอยาก

พอใจเราไม่คิดไปในทางความอยาก อุเบกขาธรรมหรือความสงบ

ที่เราได้จากการทำใจให้สงบ มันก็จะอยู่กับเราต่อไป

มันจะให้ความสุขกับเราไปเรื่อยๆ

ตราบใดที่ไม่มีความอยากปรากฏขึ้นมา

ตราบใดที่มีความอยากปรากฏขึ้นมา

ความสงบหรืออุเบกขาก็จะหายไป เป็นเหมือนเหรียญสองด้าน

คือความอยากกับอุเบกขานี้เป็นเหมือนเหรียญอันเดียวกัน

 แต่เป็นคนละด้านกัน ถ้าเราหงายเหรียญด้านหนึ่งขึ้นมา

 เหรียญอีกด้านหนึ่งก็จะคว่ำลงไว้

ถ้าเราหงายความอยากขึ้นมา ด้านอุเบกขาก็จะถูกคว่ำเอาไว้

 ถ้าเราหงายอุเบกขาขึ้นมา ด้านตัณหาก็จะถูกคว่ำเอาไว้

 ธรรมทั้งสองอันนี้เป็นธรรมที่สลับกันแสดงตัว

ถ้ามีอุเบกขา ก็จะไม่มีตัณหา ถ้ามีตัณหาก็จะไม่มีอุเบกขา

ถ้ามีอุเบกขาก็จะมีความสุข ถ้ามีตัณหาก็จะมีความทุกข์

นี่คือธรรมชาติของใจของพวกเราทุกคนเป็นอย่างนี้

ที่มีสุขมีทุกข์กันอยู่ทุกวันนี้ก็ขึ้นอยู่กับอุเบกขาและตัณหานี่เอง

 เวลาเกิดตัณหานี้ความสงบหายไป

ความทุกข์ความวุ่นวายใจเกิดขึ้นมา

 เวลาตัณหาหายไปอุเบกขาปรากฏขึ้นมา ก็จะเกิดความสงบ

 เกิดความสุข เกิดความสบายขึ้นมา

ดังนั้นเราจึงต้องมาทำลายตัณหาเพื่อที่จะรักษาอุเบกขา

ให้อยู่คู่กับใจไปตลอด การจะทำลายตัณหาได้

ก็ต้องทำลายด้วยปัญญา ด้วยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 ความจริงมันฟังมันน่าจะง่ายนะ

เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มันเหมือนกันหมด

 มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนกันหมด

ทำไมเราไม่เห็นมันทำไมเรายังไปหลงไปรักไปชอบ

 ยังไปอยากได้มันอยู่

เช่น ลาภยศ สรรเสริญ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

 สิ่งเหล่านี้มันเป็นอนิจจัง มีเจริญมีเสื่อมเป็นธรรมดา

 แต่พอเราได้อะไรมาแล้ว เรามักจะลืมความจริงไปแล้ว

เราก็จะถูกความหลงหลอกให้เราอยากให้มันอยู่กับเราไปนานๆ

 อยากจะให้มันเจริญเพียงอย่างเดียว ไม่อยากให้มันเสื่อม

 ซึ่งมันเป็นการฝืนธรรมชาติ ฝืนความจริง

เพราะว่าธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้

 มีเจริญต้องมีเสื่อมเป็นธรรมดา

เราจึงต้องคอยสอนใจเตือนใจอยู่เรื่อยๆ

ว่าอย่าไปยุ่งอย่าไปเกี่ยวข้อง

 อย่าไปมีความสัมพันธ์ มีความผูกพันธ์กับสิ่งต่างๆ

ที่มีอยู่ในโลกนี้มันเป็นของปลอม มันเป็นความสุขปลอม

มันเป็นความสุขตอนที่มันเจริญ แต่เวลาที่มันเสื่อม

มันจะกลายเป็นความทุกข์ไป

 เราไม่ต้องมีสิ่งเหล่านี้ให้ความสุขกับเราได้

 เพราะมีสิ่งที่ดีกว่าให้ความสุขกับเรา

สิ่งที่ดีกว่าที่ให้ความสุขที่ดีกว่ากับเราก็คือความสงบนี่เอง

 คืออุเบกขาธรรม คือการนั่งสมาธิ การทำใจให้รวมเป็นหนึ่ง

เรียกว่าอัปนาสมาธิ.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.........................


ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๘

“การเสียสละ”












ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 15 มกราคม 2559
Last Update : 15 มกราคม 2559 11:12:42 น.
Counter : 1130 Pageviews.

0 comment
### มรรคผล นิพพาน ก็คือ ความสงบในระดับต่างๆ ###

















“มรรคผล นิพพานก็คือ

ความสงบในระดับต่างๆ”

มรรคผล นิพพานก็คือความสงบในระดับต่างๆ

ระดับพระโสดาบัน ก็สงบอยู่ในขั้นหนึ่ง

 สูงกว่านั้นจะสงบมากกว่านั้นก็ต้องขึ้นสู่ขั้นพระสกิทาคามี

จะสงบมากกว่านั้นก็ต้องขึ้นสู่ขั้นพระอนาคามี

จะสงบอย่างเต็มที่อย่างสมบูรณ์ก็ต้องขึ้นสู่ขั้นพระอรหันต์

ขึ้นสู่ขั้นของพระนิพพาน อันนี้ก็จะเกิดขึ้นตามลำดับของการปฏิบัติ

ความเพียรมากเท่าไหร่ การเจริญสติ

ก็จะมีการเจริญอย่างต่อเนื่อง มากขึ้นเท่านั้น

เมื่อมีการเจริญสติอย่างต่อเนื่อง การทำใจให้สงบ

ให้ตั้งมั่นอยู่ในอุเบกขา ก็จะมีมากเท่าขึ้นไปเท่านั้น

 และเมื่อใจมีความสงบมีความตั้งมั่นในอุเบกขามากเท่าไหร่

 ก็จะมีกำลังที่จะเจริญปัญญาเพื่อที่จะใช้

ในการทำลายข้าศึกศัตรูของใจ ทำลายเหตุ

ที่คอยสร้างความทุกข์ใจอยู่ ให้หมดไปได้

การที่จะทำลายเหตุของความทุกข์คือตัณหานี้

 จำเป็นจะต้องมีปัญญาและสมาธิ ควบคู่กันไป

ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง จะไม่สามารถทำลายกิเลสตัณหาได้

อย่างถาวรอย่างราบคาบ

ถ้ามีเพียงสมาธิก็จะเพียงกดเอาไว้เท่านั้นเอง

เพียงแต่ตัดกำลังของกิเลสของตัณหาไว้ได้ชั่วคราว

 แต่ไม่สามารถที่จะทำลายได้อย่างถาวร เหมือนกับหินทับหญ้า

 เวลาเอาหินไปทับหญ้านี้ก็จะระงับ การเจริญเติบโตของหญ้าได้

แต่พอยกเอาหินออกหญ้าก็จะงอกกลับคืนขึ้นมาใหม่ได้

 ถ้าอยากจะทำลายไม่ให้หญ้านี้งอกเลย

 ก็ต้องถอนรากถอนโคนของหญ้า เมื่อถอนรากออกจากดินแล้ว

หญ้าก็จะไม่สามารถที่จะงอกงามขึ้นมาได้อีกต่อไป

 สิ่งที่จะถอนรากของกิเลสตัณหาได้ก็คือปัญญา

สมาธิไม่สามารถที่จะถอนได้ สมาธินี้เป็นเหมือนหิน

ที่ทับหญ้าเอาไว้เท่านั้นเอง พอออกจากสมาธิมา

กิเลสตัณหาก็จะออกมาเพ่นพ่านต่อไปได้

เพราะกิเลสตัณหายังไม่ตาย

และจะออกมาผ่านทาง ความคิดปรุงเเต่งต่างๆ

ออกมากับการปรากฏขึ้นของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

เวลาใจไปสัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

สังขารความคิดปรุงเเต่ง ก็จะปรุงเเต่งไปตามความอยากทันที

เพราะว่ากิเลสตัณหาความอยากความโลภ

ที่ถูกสมาธิกดเอาไว้นั้นไม่ได้ตายไปอย่างถาวร

เพียงแต่สลบไสลเหมือนกับถูกฉีดยาสลบ

พอฤทธิ์ของยาสลบหมดไป กิเลสตัณหาก็จะฟื้นขึ้นมาใหม่

ถ้าอยากจะทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปอย่างถาวร

จะต้องใช้ปัญญาเป็นผู้ทำลาย เป็นผู้ถอดถอนรากของกิเลสตัณหา

รากของกิเลสตัณหาคืออะไร ก็คือโมหะอวิชชานี่เอง

 โมหะก็คือความหลง ความเห็นผิดเป็นชอบ

เห็นสิ่งที่ทุกข์ว่าเป็นสุข เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง

เห็นสิ่งที่ไม่ใช่เราเป็นของเรา

 พอเห็นว่าเป็นของเราก็เกิดความอยากให้อยู่กับเราไปนานๆ

พอเกิดความอยากให้อยู่ แล้วไม่ได้ดังใจอยาก

ก็จะเกิดความทุกข์เกิดความเสียใจขึ้นมา

แต่ถ้าเห็นด้วยปัญญาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้

เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นทุกข์เป็นทุกข์

เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง

เห็นสิ่งที่ไม่ใช่ของเราว่าไม่ใช่เป็นของเรา

ถ้าเห็นตามความจริงก็จะไม่มีความอยากให้อยู่กับเราไปนานๆ

 หรืออยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

เพราะเรารู้ว่าเราไม่สามารถที่จะไปควบคุมบังคับสิ่งต่างๆ

ให้เป็นไปตามความอยากของเราได้

นี่คือปัญญาที่จะถอนรากของกิเลสตัณหาต่างๆ

คือความหลง ความไม่รู้ความจริงนี้ให้หมดไป

 ผู้ที่ต้องการที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์อย่างถาวร

 จำเป็นที่จะต้องเจริญปัญญาเพื่อให้เห็นความจริงของสิ่งต่างๆ

เห็นความจริงของสิ่งต่างๆว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์

 ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าเห็นอย่างนั้นแล้ว

ก็จะไม่มีความอยาก ให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

ไม่มีความอยากได้มาเป็นสมบัติ เพราะรู้ว่า

ได้มาแล้วในที่สุดก็ต้องสูญเสียไปอยู่ดี

เวลาได้มาก็ดีอกดีใจ แต่เวลาเสียไปก็จะร้องห่มร้องไห้

เศร้าโศกเสียใจ ทุกข์ทรมานใจ นี่คือการใช้ปัญญา

ที่จะใช้ในการถอดถอนกิเลสตัณหาให้หมดไปอย่างถาวร

 เพื่อจะได้ความสงบที่ถาวร ความสงบของสมาธินี้

เป็นความสงบชั่วคราว อาศัยกำลังของสติกดกิเลสเอาไว้

กดตัณหาเอาไว้ พอกำลังของสติอ่อนลงไป

กิเลสตัณหาก็จะดันให้จิตออกมาคิดปรุงเเต่ง

ให้มารับรู้กับเรื่องราวต่างๆ แล้วก็ให้เกิดความอยากต่างๆ ขึ้นมา

ถ้าต้องการที่จะทำลายความอยาก ความโลภต่างๆ

หลังจากออกจากสมาธิมาแล้ว ก็ต้องใช้ปัญญา

พิจารณาไตรลักษณ์อยู่เรื่อยๆ ทั้งในขณะที่ยังไม่เกิดทุกข์

และในขณะที่เกิดทุกข์ ถ้าออกจากสมาธิมาแล้ว

เกิดความอยากขึ้นมา ก็ต้องใช้ปัญญาสอนใจ

ให้เห็นว่าสิ่งที่อยากนั้นเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะว่ามันไม่เที่ยง

ทุกข์เพราะว่ามันไม่ใช่เป็นของเรา

ได้มาแล้วก็จะต้องเสียไปในสักวันหนึ่ง

 ได้มาแล้วเดี๋ยวมันก็หมดไป ถ้าเห็นอย่างนี้ก็จะระงับความอยากได้

 ถ้าออกจากสมาธิแล้วยังไม่มีความอยาก

 ก็ให้พิจารณาล่วงหน้าไว้ก่อน เผื่อเวลาเกิดความอยาก

จะได้ใช้ปัญญาเข้ามาระงับได้ทันท่วงที

ถ้าไม่หัดพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาไว้ล่วงหน้าก่อน

 เวลาเกิดความอยากขึ้นมา อาจจะไม่สามารถผลิตปัญญา

ขึ้นมาไว้ดับความทุกข์ได้ทันท่วงที

ก็อาจจะต้องใช้สติเป็นเครื่องมือช่วย คือกลับเข้าไปในสมาธิก่อน

แต่ถ้าได้มีปัญญาได้ซักซ้อมได้เจริญปัญญาไว้อย่างต่อเนื่อง

พอเวลาเกิดความอยากขึ้นมา เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

ปัญญาจะสามารถเข้ามาทำลายได้ทันทีเลย

 แล้วก็จะสามารถทำลายได้อย่างถาวร

 ความอยากความทุกข์ที่เกิดขึ้นมานี้จะไม่กลับคืนขึ้นมาอีก

 ถ้าได้ถูกปัญญาทำลายไป

จิตของพระอริยะแต่ละขั้นท่านจึงไม่เสื่อม

 การที่จิตจะเสื่อมลงจากที่สูงให้ลงมาสู่ที่ต่ำนี้

 ก็ด้วยอำนาจของตัณหาความอยากนี่เอง

แต่จิตของพระอริยบุคคลทั้ง ๔ ขั้นนี้ท่านจะไม่เสื่อมลงมา

 ก็เพราะว่าจิตของท่านนี้ได้พัฒนาขึ้นไปด้วยการใช้ปัญญา

 ด้วยการทำลายตัณหาความอยากนั่นเอง

 พอตัณหาความอยากขั้นนั้นถูกทำลายไปก็จะไม่มีตัณหา

ที่จะดึงจิตให้ลงมาต่ำ คือจากพระโสดาบันนี้

จะไม่มีวันที่จะกลับลงมาเป็นปุถุชน

และถ้าอยู่ในขั้นของพระสกิทาคามี

ก็จะไม่มีวันที่จะเสื่อมลงมาเป็นพระโสดาบัน

ถ้าเป็นพระอนาคามีก็จะไม่เสื่อมลงมาเป็นพระสกิทาคามี

พระอรหันต์ก็จะไม่เสื่อมลงมาเป็นพระอนาคามี

 เพราะว่าธรรมแต่ละขั้นนี้ที่ได้ก้าวขึ้นไปนี้

ขึ้นไปด้วยการทำลายตัณหาด้วยปัญญา

 เป็นการทำลายอย่างถาวร

เมื่อตัณหาที่จะดึงใจให้ลงต่ำนี้ถูกทำลายไป

จิตก็เลยไม่เสื่อมลงมา ไม่เหมือนกับขั้นของปุถุชน

ขั้นของโลกียะคือขั้นของสมาธิ

 ขั้นของสวรรค์ชั้นต่างๆ นี้ยังเสื่อมลงมาได้

เพราะว่าการขึ้นไปสู่สวรรค์ชั้นเทพ ขั้นพรหมนี้

ไม่ได้ขึ้นไปด้วยปัญญา ขึ้นไปด้วยศีล ด้วยทาน

ด้วยสมาธิ ด้วยสติที่ยังไม่ถาวร

ที่ยังไม่สามารถที่จะทำลายตัณหาได้อย่างถาวร

 เวลาจิตสงบในสมาธิ ก็อยู่บนสวรรค์ชั้นพรหม

พอกำลังของสติอ่อนลงไป กำลังของตัณหามีมากขึ้น

ก็จะดึงจิตให้เสื่อมลงจากสวรรค์ชั้นพรหม ให้ลงมาสู่สวรรค์ชั้นเทพ

แล้วถ้าสติอ่อนกำลังลงไปอีก ตัณหาความอยากก็จะดึงจิต

ให้ลงจากสวรรค์ชั้นเทพ มาสู่ชั้นมนุษย์ต่อไป

เพราะว่าการทำทาน การรักษาศีล การเจริญสมาธิ

 เจริญสติเพื่อทำให้ใจสงบเป็นสมาธินี้ ยังไม่ได้ทำลายตัณหา

 ตัวที่จะฉุดลากให้จิตใจเสื่อมลงมานั่นเอง

แต่ถ้าได้เจริญปัญญาได้กำจัดตัณหาแต่ละขั้นไป

 พอตัณหาขั้นนั้นถูกทำลายไป จิตก็จะไม่เสื่อมลงมาจากขั้นนั้น

พอได้ทำลายตัณหาของพระโสดาบันได้

จิตของพระโสดาบันก็จะไม่เลื่อนลงมาเป็นปุถุชน

เช่นเดียวกับพระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์

เพราะจิตของท่านได้รับการพัฒนาขึ้นไปด้วยปัญญานั่นเอง

 จึงไม่มีวันเสื่อม ถ้าได้แล้วก็จะได้อย่างนั้นไป

 และก็จะพัฒนาสูงขึ้นไปตามลำดับจนถึงขั้นสูงสุด

คือขั้นพระอรหันต์ ขั้นที่ไม่มีตัณหาความอยาก

 หลงเหลืออยู่ภายในใจอีกต่อไป ใจก็จะสะอาดบริสุทธิ์

ใจก็จะสงบ เป็นนิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพานัง ปรมัง สุญญังไปตลอด

ไม่มีวันสิ้นสุด นี่คือผลที่จะได้รับจากการที่เรามาพัฒนาอินทรีย์ ๕

ให้เป็นพละ ๕ ขึ้นมา

ดังนั้นเป้าหมายของการปฏิบัติของเรา

 จึงอยู่ที่การพัฒนาอินทรีย์ทั้ง ๕ นี้คือพัฒนาศรัทธา พัฒนาวิริยะ

พัฒนาสติ พัฒนาสมาธิและพัฒนาปัญญาให้เป็นพละ ๕ ขึ้นมา

ถ้าเป็นพละ ๕ แล้วก็จะสามารถที่จะทำลายตัณหา

ความอยากต่างๆ ที่เป็นตัวฉุดลากให้จิตต้องเสื่อมลงมา

และฉุดลากให้จิตต้องกลับมาเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ไม่มีวันสิ้นสุด

 พอมีพละ ๕ แล้วก็จะได้มรรค ผล นิพพาน เหมือนกับพระพุทธเจ้า

และพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้รับอย่างแน่นอน

ดังนั้นขอให้พวกเราจงทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการพัฒนาอินทรีย์ทั้ง ๕ นี้

 ให้กลายเป็นพละ ๕ ขึ้นมาให้ได้ แล้วเราจะได้บรรลุ

มรรค ผล นิพพานกัน ได้หลุดพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตายกัน

จะได้ไม่ต้องมาแก่ มาเจ็บ มาตาย อย่างไม่มีสิ้นสุดอีกต่อไป.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...................................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๘

“พัฒนาอินทรีย์ ๕ ให้เป็นพละ ๕”












ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 14 มกราคม 2559
Last Update : 14 มกราคม 2559 13:31:53 น.
Counter : 1015 Pageviews.

0 comment
### การเสียสละ ###


















“การเสียสละ”

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พุทธศาสนิกชนรู้จักการเสียสละ

จาคะ แปลว่าการเสียสละ

การเสียสละนี้จะทำให้เราได้สิ่งที่มีคุณค่ากว่าชีวิตจิตใจก็คือธรรม

ธรรมก็คือการเสียสละ ถ้าเราเสียสละเราก็จะได้ธรรม

ธรรมในที่นี้ก็คือ ความสงบนั่นเอง ความสงบของใจ

ที่เป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่กว่า ความสุขทั้งปวง

ถ้าเราอยากจะได้ความสงบ อยากจะได้ความสุข

ที่ยิ่งใหญ่กว่าความสุขทั้งปวง เราก็ต้องรู้จักการเสียสละ

 เพราะว่าสิ่งที่เราต้องเสียสละนั้น

เป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดความทุกข์ขึ้นมานั่นเอง

เพราะสิ่งที่เรารักเราหวง ที่เราไม่อยากจะเสียสละ

เป็นสิ่งที่จะต้องจากเราไปในที่สุด เพราะเป็นของชั่วคราว

 เช่นทรัพย์สมบัติ ข้าวของเงินทองต่างๆ อวัยวะของเรา ชีวิตของเรา

 ของเหล่านี้เป็นของที่เรารักมากหวงมาก

แต่เป็นของที่จะทำให้เราต้องทุกข์มากเช่นเดียวกัน

แต่ถ้าเรารู้จักเสียสละรู้จักปล่อยวาง ไม่ยึดไม่ติดกับทรัพย์สมบัติ

 ไม่ยึดไม่ติดกับอวัยวะ ไม่ยึดไม่ติดกับชีวิต

เราก็จะไม่ต้องทุกข์กับมันแล้ว เราก็จะได้ความสงบ

 ได้ความสุข ที่เกิดจากการปล่อยวาง

ความสุขและความทุกข์ของใจเรานี้อยู่ที่การปล่อยวาง

หรือยึดติดนี่เอง ถ้าเรารู้จักปล่อยวาง เราจะไม่ทุกข์กับสิ่งต่างๆ

 ถ้าเรายึดติดกับสิ่งต่างๆ เราก็จะเกิดความทุกข์

เกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา เพราะสิ่งต่างๆ ในโลกนี้

เป็นสิ่งที่ไม่สามารถที่จะตอบสนองความต้องการของเราได้

คือ ความปรารถนาที่จะให้เขานั้นอยู่กับเราไปตลอด

ให้ความสุขกับเราไปตลอด เพราะเขาเป็นสิ่งที่ไม่ถาวร

เป็นสิ่งที่ต้องเสื่อมไป ต้องหมดไปเป็นธรรมดา

 ถ้าเราไปยึดไปติดกับสิ่งที่ต้องสูญสิ้นต้องหมดไปเป็นธรรมดา

เราก็จะต้องเสียอกเสียใจ เวลาที่เกิดจาการพลัดพรากจากกัน

 แต่ถ้าเรารู้จักการเสียสละ รู้จักการปล่อยวาง รู้จักการทำใจให้สงบ

 เราก็จะไม่เสียใจ เราจะไม่เดือดร้อน จะไม่วุ่นวายใจ

กับการสูญเสียสิ่งต่างๆ ที่เรารักที่เราหวงไป

การปฏิบัติของพวกเรานี้ก็เป็นการปฏิบัติเพื่อปล่อยวางสิ่งต่างๆ

 ที่เรารักเราหวงนั่นเอง สิ่งที่เรารักเราหวงกัน ก็คือ

ทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง อวัยวะของร่างกาย

 และชีวิตของร่างกายนี้เป็นสิ่งที่เรารักเราหวงมาก

แต่เป็นสิ่งที่จะทำให้เราทุกข์มาก

สิ่งที่เราควรจะรักควรจะหวงไม่ควรเป็นทรัพย์ ไม่ควรเป็นอวัยวะ

ไม่ควรเป็นชีวิต แต่ควรเป็นธรรม ธรรมก็คือความสงบ

 ที่เรียกว่า อุเบกขาธรรม

อุเบกขาธรรมนี้ เป็นธรรมที่จะทำให้ใจเรามีความสุข

ไม่ทุกข์ไม่วุ่นวายไปกับการพลัดพรากจากสิ่งต่างๆ ไป

 ถ้าเรามีอุเบกขาธรรมมีความสงบ เราจะไม่ทุกข์

จะไม่วุ่นวายใจไปกับการพลัดพรากจากทรัพย์สมบัติ

ข้าวของเงินทองจากอวัยวะของร่างกาย จากชีวิตของร่างกาย

ที่จะต้องมีวันเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ในอนาคตข้างหน้า

ที่จะตามมานี้ เราจะต้องมีการพลัดพรากจากทรัพย์ จากอวัยวะ

 และจากชีวิตของร่างกายนี้ไป พระพุทธเจ้าจึงทรงสอน

ให้พวกเรามาฝึกฝนกัน ฝึกฝนการเสียสละกัน ให้เสียสละทรัพย์

 เพื่อรักษาอวัยวะ สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต

และสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม ธรรมก็คือความสงบนั่นเอง

 การเสียสละทรัพย์ก็คือการไม่ไปหาทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง

มาให้มันมากเกินความต้องการเกินความจำเป็นต่อการรักษาอวัยวะ

 ต่อการรักษาชีวิตนั่นเอง เพื่อที่เราจะได้มีเวลามารักษาธรรม

 มารักษาความสงบของใจ ถ้าเรามัวแต่ไปหาทรัพย์มามากๆ

เพื่อที่จะมาซื้อมาความสุขทางร่างกาย

มาซื้อความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เราก็จะไม่มีเวลา

ที่จะมารักษาความสงบของใจ มาสร้างความสงบของใจให้เกิดขึ้น

 สร้างอุเบกขาธรรมให้เกิดขึ้น

ดังนั้นเราจึงต้องสละทรัพย์

ด้วยการไม่หาทรัพย์มากเกินกว่าที่เราต้องมีไว้

สำหรับในการดูแลรักษาอวัยวะ ดูแลรักษาชีวิตของร่างกายนี้

เพื่อที่เราจะได้มีเวลามารักษาธรรม มารักษาอุเบกขา

มารักษาความสงบ มารักษาความสุขที่เกิดจากความสงบนี้

ถ้าเราไม่ต้องเสียเวลากับการไปหาทรัพย์ เราก็จะมีเวลา

ที่จะมาหาความสงบกัน มาหาความสุขที่เกิดจากความสงบกัน

 เราจะได้ไปอยู่ตามสถานที่สงบสงัดวิเวก เพื่อที่เราจะได้เจริญสติ

 ที่เป็นธรรมที่จะดึงใจให้เข้าสู่ความสงบ ให้เข้าสู่อุเบกขาธรรม

 ถ้าเราไม่มีเวลาไปปลีกวิเวกไปอยู่ตามลำพัง ไปเจริญสติ

 มัวแต่หาทรัพย์แล้วก็มัวแต่ใช้ทรัพย์ที่ได้มา

เราก็จะไม่มีเวลาที่จะมาหาความสงบสุขทางใจได้

ดังนั้นการสละทรัพย์นี้ความหมายก็คือ

ถ้าเรามีทรัพย์มากจนเกินไป ก็อย่าใช้ทรัพย์เหล่านั้น

ไปกับการหาความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทางร่างกาย

เพราะมันไม่ได้เป็นการสร้างอุเบกขาให้เกิดขึ้น

ไม่ได้สร้างความสงบสุขให้แก่จิตใจ

แต่เป็นการสร้างตัณหาความอยาก ให้มีมากขึ้น

การสร้างตัณหาก็เท่ากับการสร้างความทุกข์นั่นเอง

 เพราะตัณหานี้แหละคือต้นเหตุของความทุกข์ใจ

ของความวุ่นวายใจ ของความไม่สบายใจต่างๆ

เราจึงไม่ควรที่จะใช้ทรัพย์ที่เรามีมากเกินความจำเป็น

ที่เราจะต้องมีไว้สำหรับดูแลรักษาร่างกายของเรา

ถ้าเรามีมากเกินไป เราก็ควรที่จะบริจาคเสียสละให้แก่ผู้อื่นไป

 เพื่อเราจะได้ไม่ต้องมาคอยดูแลรักษา

การดูแลรักษาทรัพย์ก็เป็นการสร้างความความทุกข์ให้แก่ใจ

เพราะการดูแลรักษานี้ก็หมายความว่า เรายังรัก ยังหวง

ในทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองอยู่นั่นเอง

ถ้าเรายังมีความรักความหวงอยู่

เวลาที่เราจะต้องจากทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองไป

ก็จะเป็นเวลาที่เราจะมีความทุกข์

แต่ถ้าเราไม่รักไม่หวง เวลาเราจากทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองไป

 เราจะจากด้วยความสงบ จากด้วยความสุข

 จะไม่รู้สึกเดือดร้อนวุ่นวายไปกับการพลัดพราก

จากทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง นี่คือการสละทรัพย์

 สละด้วยการแบ่งปันทรัพย์ที่เรามีมากเกินไปให้แก่ผู้อื่น

 แล้วก็สละด้วยการไม่หาทรัพย์มาเพิ่มขึ้นอีก

 สละทรัพย์ด้วยการไม่ใช้ทรัพย์ไปซื้อความสุขต่างๆ

เพราะการซื้อความสุขต่างๆ ด้วยทรัพย์นี้เป็นการซื้อความทุกข์

 เพราะว่าการซื้อความสุขต่างๆ นี้ไม่ได้ทำเกิดอุเบกขา

ไม่ได้ทำให้เกิดความสงบสุขทางใจ

แต่กลับให้เกิดตัณหาความอยากที่จะซื้อความสุขต่างๆ

มากขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วเวลาที่ไม่สามารถซื้อความสุขต่างๆ

ด้วยทรัพย์ได้ ก็จะเป็นความทุกข์

แต่ถ้าเราเอาทรัพย์ที่เราไปซื้อความสุขต่างๆ

นี้เอามาบริจาคให้แก่ผู้อื่น สิ่งที่เราจะได้รับก็คือความสงบสุขของใจ

 เราจะไม่เสียดาย เราจะไม่หวงทรัพย์ที่เรามีอยู่

หรือทรัพย์ที่เราเสียไปแต่เรากลับจะมีความสุข

มีอุเบกขาเกิดขึ้นมา

นี่คือเรื่องของการเสียสละ เราต้องเสียสละความสุขทางร่างกายไป

 ถ้าเราอยากจะได้ความสุขทางใจ

เพราะว่าความสุขทางร่างกายกับความสุขทางใจนี้

เป็นคนละทิศทางกัน เป็นคนละแบบกัน

ไม่สามารถที่จะมีความสุขทั้งสองแบบได้

เราต้องเลือกเอาแบบใดแบบหนึ่ง

 ถ้าเราเอาความสุขทางทรัพย์ทางร่างกาย เราก็จะต้องทุกข์

 เพราะว่าทรัพย์ก็ดี ร่างกายของเราก็ดี จะต้องมีวันเสื่อม

มีวันหมดไป มีวันที่เราจะไม่สามารถใช้ทรัพย์ใช้ร่างกาย

 หาความสุขให้กับเราได้แต่ถ้าเรามาหาความสุขทางใจ

เราจะได้ความสุขไปตลอด เพราะใจของเรานี้ไม่มีวันเสื่อม

ไม่มีวันสลาย ไม่มีวันสิ้นสุด

 ความสุขความสงบที่เราได้จากใจก็จะไม่มีวันสิ้นสุด

 เช่นเดียวกัน จะอยู่คู่กันไปตลอด

เช่น ความสุขของพระพุทธเจ้า

และความสุขของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

ที่เราเรียกว่า บรมสุขนี้ เป็นความสุขที่จะอยู่คู่กับใจไปตลอด

ถึงแม้ว่าร่างกายของพระพุทธเจ้าจะดับไป

นานถึง ๒,๕๐๐ กว่าปีแล้วก็ตาม

แต่ความสุขใจของพระพุทธเจ้านั้นก็ยังอยู่

คู่กับใจของพระพุทธเจ้าจนบัดนี้

และจะอยู่ต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

......................................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๘

“การเสียสละ”












ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 14 มกราคม 2559
Last Update : 14 มกราคม 2559 13:12:49 น.
Counter : 1098 Pageviews.

1 comment
### เจริญศรัทธา ###

















“เจริญศรัทธา”

การเจริญศรัทธาก็เป็น ๒ ลักษณะ

 ขั้นแรกก็คือการศึกษาตัวอย่างที่ดีที่งามของพระพุทธเจ้า

หรือของพระอรหันตสาวก ศึกษาคำสั่งคำสอนของท่าน

แล้วนำเอาไปปฏิบัติ พอเราปฏิบัติได้ผล มันก็จะทำให้เกิดมีศรัทธา

 มีกำลังใจมากขึ้นมาอีก ต้องมีทั้งสองแบบ

ถ้าเรายังไม่ได้ปฏิบัติ เราก็ต้องอาศัยการศึกษา

 การดูแบบฉบับการกระทำการปฏิบัติของพระพุทธเจ้า

ของพระอรหันตสาวก ว่าท่านปฏิบัติอย่างไร ท่านทำตัวอย่างไร

 ท่านถึงได้เป็นพระพุทธเจ้าได้เป็นพระอรหันตสาวก

ท่านก็ต้องสละทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองไปทั้งหมด นี่เรียกว่า ทาน

การทำทาน เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อผู้ที่มุ่งสู่มรรคผล นิพพาน

 เพราะว่าถ้าเรายังติดอยู่กับทรัพย์สมบัติ ข้าวของเงินทองอยู่

ก็จะเป็นเหมือนกับเรือที่ยังทอดสมอเรืออยู่

ถ้าเรือยังทอดสมออยู่นี้ เรือจะไม่สามารถออกเดินทางไปได้

เพราะสมอจะดึงเรือเอาไว้ ถ้าอยากจะให้เรือเเล่นไปได้

ก็ต้องถอนสมอเรือออกมา

การที่จะออกไปสู่การปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพานได้

ก็จำเป็นจะต้องสละทรัพย์สมบัติต่างๆที่มีอยู่ไปให้หมด

 หรือไม่ไปมีความเกี่ยวข้องไม่ไปมีภาระผูกพัน

เพราะถ้ามีภาระผูกพันมันก็จะเหมือนกับเรือที่ยังไม่ได้ทอดสมอ

 ต่อให้ติดเครื่องหรือเอาขึ้นใบต่อให้พาย มันก็จะไปไม่ได้

 เพราะจะถูกสมอนี้คอยดึงเอาไว้

การที่เราจะปฏิบัติเจริญความเพียร เจริญสติอย่างต่อเนื่อง

 นั่งสมาธิ เจริญปัญญาได้อย่างต่อเนื่องนี้ เราต้องไม่มีภารกิจอย่างอื่น

 ต้องมีภารกิจในการปฏิบัติเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

 ถ้าเรายังมีภารกิจเกี่ยวกับ การบริหารจัดการ

ทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆที่เรามีอยู่

 เราก็จะไม่มีเวลาที่จะมาปฏิบัติ ได้อย่างเต็มที่นั่นเอง

 พระพุทธเจ้าจึงต้องสละพระราชสมบัติไป

พระสาวกทั้งหลายท่านก็ต้องสละทรัพย์ สมบัติข้าวของเงินทองไป

 อย่างในสมัยปัจจุบันในประวัติของครูบาอาจารย์

ที่เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นรูปหนึ่ง คือท่านชื่อว่าหลวงปู่พรหม

 ท่านก็ก่อนที่ท่านจะออกปฏิบัติ ท่านกับภรรยาก็มีทรัพย์สมบัติ

 เป็นชาวนาชาวไร่ที่มีฐานะดี มีที่มีนามาก มีโคมีกระบือ

 มีสมบัติอะไรต่างๆ แต่ท่านไม่มีลูกไม่มีหลาน

 ท่านและภรรยามีศรัทธาที่อยากจะออกไปปฏิบัติไปบวช

 เพื่อมรรคผล นิพพาน ท่านจึงประกาศให้ชาวบ้านได้ทราบว่า

 ถ้าใครขาดเหลืออะไรต้องการอะไรขอให้มารับจากท่านไปได้

ใครไม่มีที่อยากจะขอที่ท่านก็ให้ที่

ใครไม่มีโคไม่มีกระบือมาขอท่านก็จะให้

เพราะท่านไม่มีความต้องการในทรัพย์สมบัติข้าวของเหล่านี้แล้ว

สิ่งที่ท่านต้องการก็คือความเป็นอิสระ จากภารกิจ

ในการดูแลจัดการทรัพย์สมบัติ ข้าวของเงินทองต่างๆ ที่ท่านมีอยู่

 ท่านต้องการจะมีเวลาไว้ในการเจริญสติ สมาธิ และปัญญาเท่านั้น

แล้วพอท่านสละไปหมดแล้ว ท่านก็ไปบวช ภรรยาท่านก็ไปบวชชี

 แล้วก็แยกกันอยู่ ท่านก็ตามหลวงปู่มั่นไป ไปศึกษากับหลวงปู่มั่น

ไปยึดคำสอนของหลวงปู่มั่น ไปยึดปฏิปทาการปฏิบัติของหลวงปู่มั่น

 และในที่สุดท่านก็ได้บรรลุ เป็นพระอรหันต์

เวลาที่ท่านตายไปแล้วกระดูกของท่านก็เลยเป็นพระธาตุขึ้นมา

นี่คือตัวอย่างของพระสุปฏิปันโนที่เราควรจะศึกษากัน

เพื่อเราจะได้รู้แนวทางของการดำเนินเพื่อที่จะไปสู่มรรคผล นิพพาน

 ว่าต้องดำเนินกันอย่างไร เมื่อเราได้ศึกษาแล้วก็จะทำให้เรามีศรัทธา

มีกำลังใจที่อยากจะปฏิบัติตาม ก็จะทำให้เราเกิดมีวิริยะ

 มีความอุตสาหะความพากเพียรที่จะปฏิบัติเหมือนกับที่ท่านปฏิบัติ

เรามีทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง มีงานมีการ

 ถ้าเราต้องการไปนิพพาน เราก็ต้องสละสิ่งเหล่านี้ไป

 เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนสมอเรือ จะคอยดึงเราไว้

ทำให้เรานี้ไม่สามารถที่จะไปปฏิบัติได้อย่างเต็มที่

ถ้าไปได้อย่างมากก็เช่นช่วงระยะเวลาวันหยุดอย่างนี้

 มีวันหยุด ๔ - ๕ วัน แล้วก็อาจจะลางานเพิ่มสักวันสองวัน

 ก็จะได้ทั้งเจ็ดวันได้ทั้งสัปดาห์ มาปฏิบัติกันสักครั้งหนึ่ง

แต่พอครบแล้วก็ต้องกลับไปทำมาหากินต่อ

ไปหาทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองต่อ

 เพราะยังต้องใช้ทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง

เพื่อซื้อความสุขต่างๆ ต่อไป

เงินทองส่วนใหญ่นี้ที่เราหากันนี้

มันไม่ได้หาเพื่อเอามาใช้กับความจำเป็นของชีวิตเรา

เราเอามาใช้กับความอยากเสียมากกว่า

 เราเอามาใช้เพื่อซื้อความสุขที่ไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง

เป็นความสุขปลอม ความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

 เป็นความสุขปลอม เป็นความสุขที่อยู่ได้เดี๋ยวเดียว

และก็จางหายไปเหมือนควันไฟ

เวลาเราได้เสพได้สัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

 เราก็มีความสุข แล้วพอไม่ได้เสพ ความสุขนั้นก็จะจางหายไป

 หลงเหลืออยู่เป็นเพียงความจำเท่านั้นว่าได้เคยมีความสุข

 กับสถานที่นั่นสถานที่นี้กับเครื่องดื่มชนิดนั้นเครื่องดื่มชนิดนี้

อาหารชนิดนั้นอาหารชนิดนี้เท่านั้นเอง

แล้วก็ทำให้เกิดความอยากที่จะสัมผัสอยากจะเสพ

กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านั้นอีก

ก็จะทำให้เป็นเหมือนคนติดยาเสพติดไป

จะต้องคอยหาความสุขในรูปแบบนี้ไปเรื่อยๆ

แล้วเวลาหาความสุขก็ต้องมีค่าใช้จ่าย ต้องใช้เงินใช้ทอง

 พอเงินทองหมด ก็ต้องกลับไปทำงานทำการ

ไปหาเงินหาทองมาใช้ต่อ ก็จะติดอยู่กับการหาเงิน

การใช้เงินเพื่อซื้อความสุขปลอมนี้ไปเรื่อยๆ

ถ้าปรารถนาที่อยากจะได้พบกับความสุขจริง

ความสุขของมรรคผล นิพพาน ก็จำเป็นที่จะต้องสละ

 การหาความสุขปลอมนี้ไป หยุดการทำงานทำการ

เพื่อจะได้มีเวลาออกไปพัฒนาอินทรีย์ทั้ง ๕ ให้เป็นพละ ๕ ขึ้นมา

นี่คือการดูตัวอย่างของพระพุทธเจ้าก็ดี

ของพระอรหันตสาวกทั้งหลายก็ดี ท่านปฏิบัติเหมือนกันหมด

ท่านจะต้องสละทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง

ที่เป็นเครื่องมือในการซื้อความสุขต่างๆ

ถ้ายังมีอยู่ก็อดที่จะใช้มันซื้อความสุขต่างๆไม่ได้

แต่ถ้าไม่มีแล้วมันก็จะไม่มีเครื่องมือที่จะซื้อความสุขปลอมได้

ก็จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติเพื่อที่จะเข้าหาความสุขที่แท้จริง

 เมื่อท่านถูกบังคับด้วยการสละทรัพย์สมบัติ ข้าวของเงินทอง

 ท่านก็หันหลังกลับไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรที่จะรองรับถ้ากลับไป

 เงินทองที่สละไปนี้ก็หมดแล้ว กลับไปก็ไม่มีแล้ว

จะไปหาเงินทองไปซื้อความสุขก็ไม่มีแล้ว

นอกจากต้องไปทำงานทำการใหม่

ก็จะต้องไปติดอยู่กับการหาเงินการใช้เงินอยู่เรื่อยๆ

 แต่ถ้าท่านหันหน้าไปสู่ความสุขของมรรคผล นิพพาน

ท่านก็จะมุ่งไปสู่การปฏิบัติ สู่การเจริญสติ สู่การเจริญสมาธิ

และสู่การเจริญปัญญา พอได้ปฏิบัติแล้ว

 อินทรีย์ก็จะค่อยแก่กล้าขึ้นมาจะเจริญขึ้นมาตามลำดับ

 ศรัทธาก็จะมีกำลังมากขึ้น วิริยะก็มีกำลังมากขึ้น

 สติ สมาธิ ปัญญาก็จะมีกำลังมากขึ้น

พอมีกำลังมากขึ้นก็เป็นเหมือนร่างกายที่เจริญเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ

จากเด็กก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ไป

พอเป็นผู้ใหญ่แล้วก็จะสามารถทำงานทำการทำอะไรต่างๆ

 ที่ตอนเป็นเด็กไม่สามารถทำได้

นี่ก็เช่นเดียวกัน จิตใจที่ยังมีอินทรีย์ ๕ อยู่นี้

ก็จะไม่สามารถทำอะไรเป็นกอบเป็นกำได้

แต่พอได้พัฒนาอินทรีย์ ๕ ให้เป็นพละ ๕ขึ้นมา

ก็จะสามารถบรรลุมรรคผล นิพพานได้

อยู่ที่การเจริญศรัทธาเป็นขั้นที่ ๑

 เมื่อมีศรัทธาแล้ววิริยะ ความอุตสาหะ ความพากเพียรก็จะตามมา

 เหมือนกับเวลาที่เราไปทำงาน ถ้าเราทำงานแล้วเราไม่รู้ว่า

 เราจะได้รับเงินเดือนหรือได้รับเท่าไร

เราอาจจะไม่ค่อยมีความอยากที่จะทำนัก จะไม่ค่อยขยันทำงานกัน

แต่ถ้าเรารู้ว่า ถ้าเราทำงานนี้เราจะได้เงินเดือนมาก

มันก็จะทำให้เรามีความขยันหมั่นเพียรที่จะทำงาน

เพราะเราไม่อยากจะตกงาน

 เราไม่อยากจะเสียงานที่ให้เงินเดือนดีๆ กับเรานั่นเอง

ดังนั้นเราต้องพยายามดูผลที่เราพึงจะได้รับจากการปฏิบัติ

ว่าสิ่งที่เราจะได้รับก็คือมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

 เป็นผลที่ดีกว่าสิ่งต่างๆ ที่เราเคยได้รับ

มาจากการใช้เงินทองซื้อสิ่งต่างๆ ผลที่เราได้รับ

หรือความสุข ที่เราได้รับจากลาภ ยศ สรรเสริญ

จากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

 นี้สู้กับผลที่เราจะได้รับจากการบรรลุมรรคผล นิพพานไม่ได้

ความสุขที่ได้จากมรรค ผล นิพพานนี้

ท่านเรียกว่าเป็นสุขที่เหนือกว่าความสุขทั้งปวง

 คือสุขอื่นที่ยิ่งกว่าความสงบไม่มี.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.....................................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๘

“พัฒนาอินทรีย์ ๕ ให้เป็นพละ ๕”












ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 12 มกราคม 2559
Last Update : 12 มกราคม 2559 10:21:08 น.
Counter : 1070 Pageviews.

1 comment
### การเจริญปัญญาที่จะดึงใจให้เข้าสู่โลกุตตรธรรม ###

















“การเจริญปัญญาที่จะดึงใจ

ให้เข้าสู่โลกุตตรธรรม”

การเจริญสตินี้เราต้องมีวิธีหลักที่จะเจริญสติ

 เช่นพุทธานุสติหรือกายคตาสติ

 แต่เวลาที่มีอารมณ์ต่างๆเกิดขึ้นมา

ที่จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนการเจริญสติก็ต้องใช้วิธีอื่น

 เช่นเกิดความโกรธขึ้นมา ก็ต้องใช้เมตตาภาวนาเป็นเครื่องมือ

เมตตานี้ก็เป็นการเจริญสติอีกแบบหนึ่ง

 ให้ใช้เมตตาเพื่อที่จะได้รักษาใจ ให้มีสติตั้งมั่นอยู่

ไม่ให้ไหลไปตามกระแสความโกรธแค้นโกรธเคืองอาฆาตพยาบาท

ก็ต้องรู้จักแผ่เมตตา รู้จักระงับความโกรธให้พิจารณาว่า

สัพเพ สัตตา อเวรา โหนตุ จงอย่ามีเวรกับสัตว์ทั้งปวง

เราจงอย่ามีเวรกับสัตว์ทั้งปวง สัตว์นี้ก็หมายถึงสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย

 เช่นสัตว์เดรัจฉานและมนุษย์หรือเทวดา หรือภูตผีปีศาจ

 เราต้องให้ความเมตตาต้องให้อภัย ไม่คิดร้ายต่อเขา

ถ้าเขาทำร้ายเรา ทำให้เราเสียหาย ก็ให้อภัยไม่จองเวร

 ถ้ามีอะไรที่เราสามารถแบ่งปันช่วยเหลือให้ความสุขแก่เขาได้

 เราก็แบ่งปันให้กับเขาไป ให้ความสุขกับเขา

อย่าให้ความทุกข์แก่ผู้อื่น เพราะให้สิ่งใดไปก็จะได้สิ่งนั้นกลับคืนมา

 ให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นก็จะกลับมาสู่ตน

 ให้สุขแก่ท่านสุขนั้นก็จะกลับมาสู่ตน นี่คือวิธีกำจัดความโกรธ

 ความเครียดแค้นอาฆาตพยาบาทต้องใช้เมตตาถึงจะแก้ได้

 หรือเวลาเกิดกามารมณ์ขึ้นมาเกิดความอยาก

ที่จะร่วมหลับนอนเสพกามกับผู้อื่น

ก็ต้องเจริญอสุภะกรรมฐานเจริญสติ

 เอาอสุภะนี้มาเป็นที่ตั้งของสติ ดูความไม่สวยงาม

 ดูอวัยวะต่างๆที่มีอยู่ภายใต้ผิวหนัง

เช่นแหวะแยกออกมา ผ่าอก ผ่าท้องออกมา

เพื่อจะได้เห็นอวัยวะต่างๆ ที่มีอยู่ในร่างกาย

หรือจะไปเยี่ยมดูซากศพก็ได้ ไปดูโรงพยาบาล

 ไปดูคนตาย ไปดูการชำแหละศพต่างๆ

การชันสูตรศพไปขออนุญาตเขาดูได้

 แต่เราดูไม่ได้ดูแบบคนที่เขากำลังชันสูตร

คนชันสูตรเขาดูเพื่อหาสาเหตุว่าร่างกายนี้ตายไปด้วยอะไร

แต่เราดูเพื่อที่จะจดจำภาพอันไม่สวยไม่งาม ของร่างกาย

 เพื่อเวลาที่เรามีกามารมณ์เราจะได้ภาพอันไม่สวยไม่งามนี้

มาดับกามารมณ์ต่างๆที่มีอยู่ภายในใจ

อันนี้ก็ต้องใช้มันให้ถูกกับวาระ ถูกกับกาลเทศะ

เป็นเครื่องมือเหมือนกับเป็นยารักษาโรค

เวลาปวดศีรษะ ก็ต้องรับประทานยาแก้ปวดศีรษะ

อาการปวดศีรษะก็จะหายไป

 เวลาเกิดอาการปวดท้องก็ต้องรับประทานยา แก้ปวดท้อง

 อาการปวดท้องถึงจะหายไป

เวลาเป็นไข้หวัดก็ต้องรับประทานยารักษาอาการไข้หวัด

ไข้หวัดถึงจะหายไป ฉันใด

เวลาที่ใจไม่ปกติใจไม่สบายด้วยตัณหาชนิดต่างๆ

ก็ต้องใช้สติชนิดต่างๆ มาแก้ไขนั่นเอง

 มารักษาใจให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

พอใจกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วก็กลับมาเจริญสติ แบบเดิมต่อไป

 ถ้าใช้พุทโธก็กลับมาบริกรรมพุทโธต่อไป

 ถ้าใช้กายคตาสติก็เฝ้าดูลมหายใจต่อไป

 แล้วก็หาเวลานั่ง เพราะว่าการเจริญสติ

ในขณะที่ร่างกายมีการเคลื่อนไหวอยู่ มีการกระทำอะไรอยู่นี้

จะไม่สามารถทำให้รวม เข้าสู่ความเป็นสมาธิได้

จำเป็นจะต้องนั่งหลับตานั่งให้นิ่งๆ กายต้องนิ่งก่อนใจถึงจะนิ่งตามได้

 ถ้ากายยังมีการเคลื่อนไหวใจก็ยังต้องมีการกระทำ

เพราะใจนี้เป็นผู้สั่งให้ร่างกายทำอะไรต่างๆ นั่นเอง

ถ้าใจต้องการหยุดทำงานใจก็ต้องหยุดร่างกายก่อน

 เอาร่างกายมาวางไว้มานั่งเฉยๆ แล้วก็หลับตาไม่รับรู้สิ่งต่างๆ

 ที่จะไหลผ่านมาทางตา แล้วก็ไม่สนใจกับสิ่งที่จะเข้ามาทางหู

แล้วหรือทางทวารอื่นๆ ด้วยการมีสติจดจ่อ

อยู่กับธรรมที่เรากำหนดไว้ จะเป็นอานาปานสติก็ได้

ก็ดูลมหายใจเข้าออกไป เป็นพุทธานุสติก็บริกรรมพุทโธไป

จนกว่าจิตจะรวมเป็นหนึ่งเป็นอัปปนาสมาธิขึ้นมา

สมาธิถ้ายังไม่รวมก็อาจจะไปมีอะไรปรากฏให้รับรู้

มีปีติมีสุขมีอะไรก็ให้รู้ไปตามธรรมชาติว่าเป็นสภาวธรรม

 แต่เราไม่ต้องการสิ่งเหล่านี้ เราต้องการความว่าง

 เราต้องการสักแต่ว่ารู้ เราต้องการอุเบกขาที่จะตามมา

หลังจากสิ่งเหล่านี้หายไป หลังจากที่ใจรวมเข้าถึงจุด

 ที่เป็นจุดรวมของใจแล้ว สิ่งต่างๆ เหล่านั้นก็จะหายไปเอง

 อย่าไปหลงยึดติดหรือยินดี พอใจกับปีติ

หรือสุข ที่ได้รับจากการนั่งสมาธิยังไม่ถึงจุด

จุดที่เราต้องการคือจุดที่จิตรวมลงเป็นหนึ่ง

สักแต่ว่ารู้ทุกสิ่งทุกอย่าง หายไปหมด

ถ้าจิตเป็นจิตผาดโผนที่จะออกไปรับรู้อะไร

ก็ให้ดึงกลับเข้ามาด้วยสติ อย่าไปตามรู้ อย่าตามไปกับจิต

 ไปรับรู้เกี่ยวกับเรื่องกายทิพย์ก็ดี โลกทิพย์ก็ดี

หรือเรื่องของความรู้อภิญญาความสามารถพิเศษต่างๆก็ดี

อันนี้อาจจะเกิดได้กับเพียงบางท่าน ไม่ได้เกิดกับผู้ปฏิบัติทุกคน

ผู้ที่ไม่มีความรู้ความสามารถทางนี้ก็จะปลอดภัย

จะไม่หลงทาง แต่ผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางนี้แล้ว

ไม่มีผู้คอยสอนคอยเตือนก็จะไปหลงคิดว่า

เป็นผลที่ปรารถนาก็จะไปหลงคิดว่าเป็นมรรคเป็นผล

จะไปหลงคิดว่าตนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาก็ได้

 เพราะมีความสามารถพิเศษเหนือผู้อื่น

สามารถรู้วาระจิตของผู้อื่นได้ สามารถระลึกถึงอดีตชาติได้

 สามารถมีตาทิพย์ เห็นสิ่งที่ตาเนื้อธรรมดามองไม่เห็น

 มีหูทิพย์สามารถได้ยินเสียงที่หูธรรมดาไม่สามารถได้ยินได้

แต่ความรู้ความสามารถพิเศษเหล่านี้ ไม่ได้เป็นโลกุตตรธรรม

เป็นโลกียธรรม ไม่ได้เป็นธรรมที่จะทำให้หลุดพ้น

 จากการเวียนว่ายตายเกิดได้ ยังเป็นโลกียธรรม

เป็นธรรมที่ยังไม่สามารถดับความทุกข์

 ไม่สามารถกำจัดตัณหาความอยาก ไม่สามารถกำจัดความโลภ

 ความโกรธ ความหลงให้ออกไปจากใจได้

แต่จะกลับกลายเป็นเครื่องไม้เครื่องมือ ของความโลภ

 ความโกรธ ความหลงของความอยากต่างๆ

 ท่านจึงเรียกว่า เป็นโลกียะ

 ยังทำให้ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดได้อยู่

เพราะถ้ามีความสามารถพิเศษเหล่านี้ก็จะเกิดความโลภ

 ที่จะใช้ความรู้ความสามารถพิเศษเหล่านี้

มาหาลาภยศ สรรเสริญมาหาความสุขทางร่างกายต่อไปนั่นเอง

ดังนั้นผู้ที่มีความสามารถในทางนี้เวลาจิตรวมเข้าสู่ความสงบแล้ว

ไม่ตั้งอยู่ที่ฐานไหลออกมารับรู้ ความสามารถพิเศษเหล่านี้

ก็ต้องดึงใจกลับเข้ามาด้วยสติ ดึงกลับเข้ามาให้ตั้งอยู่ที่ฐาน

ให้สักแต่ว่ารู้ไป แล้วให้อยู่ที่สักแต่ว่ารู้นั้นไปจนกว่าจิตจะถอนออกมา

 เวลาจิตถอนออกมาแล้วตอนนั้นแหละ

เป็นเวลาที่ควรที่จะหัดเจริญปัญญาได้แล้ว

 หรือว่าถ้ายังไม่ชำนาญเป็นเพียงครั้งแรก

 ก็กลับมาเจริญสติใหม่ก่อนก็ได้ เพื่อให้สติมีความเข้มแข็ง

มีความเชี่ยวชาญ ที่สามารถที่จะเข้าสู่อัปปนาสมาธิได้

ทุกครั้งที่ต้องการ ถ้ายังไม่ช่ำชองยังไม่ชำนาญ

ก็พยายามทำให้การเข้าสมาธินี้ช่ำชองทำให้ชำนาญก่อน

 ยังไม่ต้องรีบร้อนออกไปทางปัญญา

 แต่พอช่ำชองแล้วสามารถเข้าสู่อัปปนาสมาธิ

ได้ทุกครั้งที่ต้องการแล้ว ต่อไปก็ควรที่จะเจริญปัญญา

 หลังจากที่ออกจากสมาธิมาแล้ว

 แทนที่จะเจริญสติเพียงอย่างเดียว ก็ให้เริ่มเจริญปัญญาด้วย

 ให้พิจารณาสภาวธรรมทั้งหลายว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่ใช่ของเรา

 มีอะไรก็ให้พิจารณา ให้เห็นว่ามันเป็นทุกข์

ทุกข์เพราะว่ามันไม่เที่ยง ทุกข์เพราะว่ามันไม่ใช่ของเรา

 เพราะไม่ช้าก็เร็วไม่มันก็เรา ก็ต้องจากกันไป

เขาไม่จากเรา เราก็ต้องจากเขาไป

ไม่ว่าจะเป็นลาภยศ สรรเสริญ ไม่ว่าจะเป็นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เป็นบุคคล เช่นพ่อแม่พี่น้อง

 สามีภรรยา บุตรธิดา ทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ

 ยศถาบรรดาศักดิ์ต่างๆ การสรรเสริญเยินยอยกย่องต่างๆ

 ของเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยงทั้งนั้น

 มีเจริญก็ต้องมีเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีเกิดก็ต้องดับ

มีพบกันก็ต้องมีวันจากกัน ให้พิจารณาอย่างนี้

กับทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อที่จะได้ไม่หลงยึดติด

เวลาที่เกิดการพลัดพรากจากกัน เวลาที่เกิดความเสื่อม

จะไม่ได้ไม่มีความทุกข์ใจ เพราะจะไม่มีความอยาก

จะไม่ให้มันเสื่อม อยากจะไม่ให้มันกลับมาเหมือนเดิม

เพราะรู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ อะไรที่มันเสื่อมแล้วมันก็ต้องเสื่อม

เช่นร่างกายนี้เมื่อมันเสื่อมแล้ว

จะให้มันกลับไปเป็นหนุ่มเป็นสาวใหม่ก็ไม่ได้

เมื่อมันแก่ก็ต้องปล่อยให้มันแก่ไป

 ถ้ายังอยากให้มันเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ก็จะทุกข์ไปเปล่าๆ

ไม่เกิดประโยชน์อะไร

นี่คือเรื่องของการเจริญปัญญา

ที่จะเป็นผู้ที่ดึงใจให้เข้าสู่โลกุตตรธรรม

 คือธรรมที่จะออกจากกองทุกข์ แห่งการเวียนว่ายตายเกิดนั่นเอง

 เพราะปัญญานี่แหละจะเป็นผู้ที่จะตัดตัณหา

เป็นผู้ที่ดึงจิต ให้ติดอยู่ในวัฏฏะแห่งการเวียนว่ายตายเกิด

เป็นผู้ที่ดึงจิตให้ติดอยู่ในโลกของโลกียะนี้

 ส่วนปัญญาคือไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

หรืออสุภะนี้จะเป็นผู้ที่จะดึงใจให้ออกจากวัฏฏะ

แห่งการเวียนว่ายตายเกิด จะดึงใจให้เข้าสู่อริยธรรมขั้นต่างๆ

ตั้งแต่ขั้นพระโสดาบันขึ้นไปสู่ขั้นสกิทาคามี

 ขั้นอนาคามี และขั้นอรหันต์ตามลำดับไปจนถึงขั้นพระนิพพาน

เป็นจุดสุดท้าย เป็นจุดหมายปลายทางของจิต

ที่มีปัญญาเป็นผู้นำไป

ดังนั้นเมื่อได้สมาธิแล้วช่ำชองในสมาธิแล้ว

เข้าออกในสมาธิได้ทุกครั้งตามที่ต้องการแล้ว

ก็เป็นเวลา ที่จะต้องมีเจริญปัญญาพิจารณาไตรลักษณ์

พิจารณาสภาวธรรมทั้งหลาย

ทั้งข้างนอกทั้งข้างในว่า เป็นไตรลักษณ์ทั้งปวงทั้งหมด

 เพื่อจะได้ไม่ไปยึดไม่ไปติด

พอไม่ยึดไม่ติดก็จะไม่มีตัณหาความอยากได้ อยากมีอยากเป็น

หรืออยากไม่มี อยากไม่เป็น

หรืออยากดูอยากฟังอยากลิ้มรสดมกลิ่นนี้ก็จะถูกทำลายไปหมด

 แล้วการหลุดพ้นของจิตก็จะปรากฏขึ้นมาตามลำดับ

ขั้นที่ ๑ ก็ขั้นโสดาบันก็จะเหลือไม่เกิน ๗ ชาติ

ขั้นที่ ๒สกิทาคามีก็เหลือชาติเดียวในการที่จะกลับมาเกิดในกามภพ

คือในภพของผู้ที่ยังมีการเสพกาม

เสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะอยู่

พอถึงขั้นที่ ๓ ขั้นพระอนาคามีนี้ก็จะไม่กลับมาเกิดในกามภพแล้ว

จะไปพรหมโลก รูปภพหรืออรูปภพ

แล้วก็จะปฏิบัติเจริญปัญญากำจัดตัณหาที่มีหลงเหลืออยู่

ภายในใจให้หมดไป แล้วก็จะได้เข้าสู่พระนิพพาน

ได้บรรลุพระอรหันต์ไปตามลำดับไม่ต้องกลับมา

เวียนว่ายตายเกิดในกามภพ รูปภพ และอรูปภพอีกต่อไป

นี่คือธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้และได้ทรงปฏิบัติ

และได้ทรงบรรลุถึง แล้วก็นำเอามาเผยแผ่สั่งสอน

ให้แก่สัตว์โลกไม่รู้อย่างพวกเราให้รู้

ว่าไม่มีอะไรที่มีความสำคัญแก่ตัวเรามากเท่ากับใจของเราเอง

 เพราะความสุขสุดๆก็อยู่ที่ใจของพวกเรา

ความทุกข์สุดๆ ก็อยู่ที่ใจของพวกเรา

และการที่จะทำให้ใจเราหลุดพ้น จากความทุกข์ทั้งปวง

และเข้าถึงความสุขที่สูงสุดก็คือ

การบำเพ็ญตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

 คือการรักษาใจด้วยธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้นั่นเอง

ก็คือบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา

ก็ต้องบำเพ็ญ จากระดับที่เราสามารถบำเพ็ญได้

ตอนนี้ทำทานได้ร้อยละเท่าไรก็ทำไปก่อน

 รักษาศีลได้ร้อยละเท่าไรก็รักษาไป

 ภาวนาได้ร้อยละเท่าไรก็ภาวนาไป

 แต่ต้องตั้งเป้าหมายให้ถึงให้เต็มร้อยให้ได้

เพราะนั่นก็ผลที่เราต้องการ ก็คือพระนิพพาน

พระนิพพานนี้จะเกิดก็ต่อเมื่อเหตุที่เราบำเพ็ญนั้นมันเต็มร้อย

 ทานเต็มร้อย ศีลเต็มร้อย ภาวนาเต็มร้อย

นิพพานก็จะเป็นผลที่จะตามมาอย่างแน่นอน.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.................................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๘

“รักษาใจด้วยธรรม”












ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 10 มกราคม 2559
Last Update : 11 มกราคม 2559 12:21:41 น.
Counter : 947 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ