Group Blog
All Blog
### บูชาบุคคลที่สมควรแก่การบูชา ###


















“บูชาบุคคลที่สมควรแก่การบูชา”

วันนี้เป็นวันสำคัญอย่างยิ่งอีกวันหนึ่ง

ในชีวิตจิตใจของชาวไทยทั้งปวง

เนื่องจากเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ผู้ทรงปกครองแผ่นดินด้วยธรรมอันเลิศ

อันประเสริฐของพระพุทธเจ้าและเป็นปีที่สำคัญ

พวกเราทั้งหลายชาวไทยที่มีความจงรักภักดีมีความเลื่อมใสศรัทธา

ในพระบุญบารมี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จึงได้มาร่วมกันประกอบคุณงามความดีเป็นการถวาย

เป็นพระราชสักการะ เป็นการถวายพระพร

ด้วยการสวดสรรเสริฐพระบารมีด้วยการกราบไหว้

และด้วยการประพฤติดี ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

 ซึ่งเป็นการบูชาบุคคลที่สมควรแก่การบูชาอย่างยิ่ง

เพื่อเป็นสิริมงคลแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

และแก่พวกเราทั้งหลายดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า

 ปูชา จ ปูชนียานัง เอตัมมัง คะละมุตตะมัง

การบูชาบุคคลที่สมควรแก่การบูชาเป็นมงคลอย่างยิ่งแก่ชีวิต

 บุคคลที่เป็นบุคคลที่ควรบูชานั้นก็คือบุคคลที่ทำประโยชน์ให้กับสังคม

 ให้กับโลกนั่นเอง เช่นพระบรมศาสดาพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่พวกเรากราบไหว้บูชา หรือพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

 และพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรม

และครูบาอาจารย์ พ่อแม่ที่มีพระคุณทั้งหลายเหล่านี้

เป็นบุคคลที่เราพึงบูชาอยู่เสมอ ด้วยอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา

อามิสบูชา ก็คือการบูชาด้วยการกราบไหว้

ด้วยเครื่องสักการะต่างๆเช่นดอกไม้ ธูปเทียน

ปฏิบัติบูชา ก็คือการประพฤติตนให้อยู่ในโอวาทของท่าน

และให้ปฏิบัติตนให้เป็นคนดี ให้อยู่ร่วมกันด้วยความรัก

 ด้วยความสามัคคีกันนี่คือการบูชาที่แท้จริง อยู่ที่ปฏิบัติบูชา

เพราะการกราบไหว้บูชาด้วยเครื่องสักการะต่างๆ นั้น

ยังไม่เกิดประโยชน์เต็มที่ไม่เหมือนกับการปฏิบัติบูชา

ประพฤติตนให้เป็นคนดีให้อยู่ในสังคม

ด้วยความรักด้วยความสามัคคี

 เพื่อสังคมของเราจะได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข

การที่เรามีผู้นำที่ดี เช่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น

ก็เป็นเหมือนกับมีคนขับรถที่ดี

ถ้าเรามีคนขับรถที่ดีก็จะสามารถขับรถไปสู่จุดหมายปลายทาง

ได้อย่างปลอดภัย ได้อย่างรวดเร็ว

 ถ้าเรามีคนขับรถไม่ดีก็อาจจะไปอย่างทุลักทุเล

และอาจจะหลงทางไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ที่เราต้องการจะไปกัน

 หรือไม่เช่นนั้นก็อาจจะประสบกับอุบัติเหตุต่างๆ กลางทาง

ทำให้ต้องเกิดความเสียหาย เกิดการเสียชีวิตไปได้

 นี่คือตัวอย่างของผู้นำที่ดีและผู้นำที่ไม่ดี

ถ้ามีผู้นำที่ดีก็จะพาให้ประเทศชาติอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข

เจริญก้าวหน้า ไม่มีปัญหา ไม่มีเรื่องราวต่างๆ

มาคอยทำลายประชาชน

 ถ้ามีผู้นำไม่ดีบ้านเมืองก็จะวุ่นวายจะเดือดร้อน

จะมีแต่การทำร้ายทำลายกัน ดังที่เราเห็นกันอยู่เนืองๆ

ในประเทศที่มีผู้นำไม่ดี มีการเข่นฆ่าประชาชนของตนเอง

นับจำนวนเป็นแสนเป็นล้านได้

 หรือไม่เช่นนั้นก็ไปสร้างเหตุ

ทำให้ผู้อื่นต้องมาเข่นฆ่าประชาชนของตน

เช่นในอดีตที่มีสงครามโลก ก็เป็นเพราะมีผู้นำไม่ดีนั่นเอง

เป็นผู้นำที่ไม่มีศีลธรรม คิดแต่เอาการทำร้ายกันเป็นการตัดสินปัญหา

 แล้วก็ต้องทำให้ประชาชนของประเทศชาติทั้งของประเทศของตนเอง

และประเทศของผู้อื่นนั้นต้องเสียชีวิตล้มตายไปเป็นจำนวนมาก

 แต่ประเทศไทยของเรานี้ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

มีกษัตริย์ที่ทรงธรรม คือมีความเคารพในพระธรรมคำสอน

ของพระพุทธเจ้าตั้งอยู่ในศีลธรรมคือ ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้ายผู้อื่น

 ยกเว้นในกรณีที่จำเป็นที่จะต้องป้องกันตัวป้องกันประเทศชาติเท่านั้น

 แต่จะไม่รุกรานไม่ไปทำศึกสงคราม เพื่อให้ได้มาซึ่งดินแดน

 หรือทรัพย์สมบัติต่างๆ

 ประเทศไทยจึงอยู่มาได้อย่างร่มเย็นเป็นสุขมาตลอด

 ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรต่างๆในโลก

 จะมีสงครามโลกถึง ๒ ครั้งด้วยกัน และมีสงครามรอบประเทศ

แต่ประเทศไทยของเราก็อยู่กันมาได้อย่างสงบสุข

นี่เป็นเพราะว่าเรามีผู้นำที่ดีนั่นเองเป็นผู้นำที่มีปัญญา

 คือเป็นผู้ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

และได้นำเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านี้มาใช้

ในการปกครองประเทศ จึงทำให้ประเทศของเรานั้น

อยู่กันอย่างสุขอย่างสบายไม่มีปัญหามากมายเหมือนกับประเทศอื่นๆ

 ไม่มีการล้มตายไปเป็นจำนวนหมื่นจำนวนแสน

นี่คือบารมีของพระเจ้าอยู่หัวทุกๆพระองค์

 ที่ได้ทรงปกครองประเทศชาติมาจนมาถึงปัจจุบันนี้

 พวกเราที่เป็นเหมือนกับลูกหลานของท่าน

เราก็สำนึกในพระคุณอันยิ่งใหญ่นี้

จึงได้น้อมเอาพระดำรัสต่างๆที่ได้ทรงตรัสสอนให้ประชาชนไว้

นำไปปฏิบัติ เพื่อจะทำให้เราอยู่กันอย่างเจริญรุ่งเรือง

 อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข วันนี้เราเห็นว่าเป็นวันสำคัญ

 เราจึงได้สละเวลาของเรานี้ มาบำเพ็ญคุณมาบำเพ็ญประโยชน์

 มาทำบุญ มาสร้างกุศลแล้วก็ถวายเป็นราชสักการะ

เพื่อให้พระองค์ได้ทรงอยู่เป็นมิ่งขวัญเป็นที่พึ่ง

 เป็นผู้นำแก่พวกเราไปเป็นเวลาอันยาวนาน

การกระทำของเรานี้จะทำให้พระองค์ทรงมีพระกำลังใจ

ที่จะอยู่เพื่อนำพาประเทศให้อยู่ไปอย่างร่มเย็นเป็นสุข

ไปเท่าที่จะสามารถที่จะทำได้

ดังนั้นขอให้พวกเราจงสำนึกในพระราชดำรัสที่ทรงตรัสสอนพวกเรา

ที่ให้รักสามัคคีกัน ให้เรารักกัน สามัคคีกัน ช่วยเหลือกัน

อย่ามองว่าเราเป็นคนต่างจากกัน คือให้มองว่าเราเป็นเหมือนพี่น้องกัน

 ไม่ได้เป็นคนมาจากคนละทิศคนละทาง

ประเทศของเราก็เป็นเหมือนบ้านของเรา

 เรามาเกิดในประเทศนี้ คนไทยทุกคนก็เป็นเหมือนพี่

เป็นเหมือนน้องกัน เราควรที่จะรักกัน สามัคคีกัน ช่วยเหลือกัน

 มีปัญหาอะไรก็ขอให้เราพูดคุยกันทำความเข้าใจกัน

 ถ้าไม่เข้าใจกันก็ต่างคนก็ต่างสงบคือให้สงวนความต่างเอาไว้

อย่าเอาความต่างมาเป็นเหตุให้เป็นปัญหา ให้เป็นความแตกแยก

 เช่นคนสองคน คนหนึ่งอยากจะรับประทานอาหารไทย

 อีกคนอยากจะรับประทานอาหารฝรั่งก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทะเลาะกัน

 ไม่จำเป็นที่จะต้องฆ่ากันหรือบังคับให้อีกคนหนึ่งนั้น

รับประทานอาหารตามที่เราต้องการจะรับประทาน

เขาชอบรับประทานอย่างนั้นก็ให้เขารับประทานอย่างนั้นไป

 เรารับประทานอย่างนี้เราชอบรับประทานอย่างนี้

เราก็รับประทานอย่างนี้ไป

 ไม่จำเป็นที่จะต้องมาทะเลาะวิวาทกัน

 ขอให้เราเคารพในสิทธิ์ของกันและกัน

 ในสิทธิเสรีภาพที่จะมีความรู้สึกนึกคิดต่างกัน

แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเคารพในสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น

คือไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตามที่เราชอบ

ขอให้เราทำโดยที่ไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น

 ไม่สร้างความวุ่นวาย สร้างปัญหา สร้างความทุกข์ให้กับผู้อื่น

 เช่น เราชอบดื่มสุรายาเมาก็ขอให้ดื่มที่บ้าน

 ดื่มที่บ้านแล้วก็มัดตัวเองไว้กับเตียงนอน

พอดื่มไปจนเมาไม่ได้สติก็จะได้ขึ้นเตียงนอน

จะได้ไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น

 อย่าไปดื่มที่นอกบ้านแล้วต้องขับรถกลับบ้าน

 เพราะเมื่อเมาสุราแล้วเวลาขับรถกลับบ้าน

ก็จะไม่สามารถขับรถได้อย่างปลอดภัยก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุ

ทำให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อนเสียหายถึงกับชีวิต

ก็มีมาเป็นจำนวนมากแล้ว

 นี่คือความหมายของการเคารพในความต่างกัน

ใครอยากจะกินเหล้าก็กินไป ถ้าไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น

 แต่ถ้าอยากจะทำให้ตัวเองดีขึ้น ไม่เป็นทาสของพิษสุรา

ก็ไม่ควรที่จะไปดื่มสุรา เพราะการดื่มสุรานี้มันไม่มีประโยชน์อะไร

มีแต่ความเสียหาย เสียทั้งทรัพย์เสียทั้งสุขภาพ

เสียทั้งเวลาและเสียทั้งความปลอดภัยของผู้อื่น

ถ้าเราเลิกสุราได้เราก็จะได้ประหยัดทรัพย์

เราจะได้มีเวลาทำความดี เราจะมีสุขภาพที่สมบรูณ์แข็งแรง

นี่คือความหมายของการดำรงอยู่ในสังคม

ทุกคนนั้นมีสิทธิเสรีภาพที่จะอยู่จะทำอะไรก็ได้

แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฏหมายและศีลธรรมอันดีงาม

คือไม่ไปสร้างความเดือดร้อน สร้างความเสียหาย ให้กับผู้อื่นเท่านั้นเอง

 ดังนั้นถ้าพวกเรามีธรรมะพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

และน้อมเอามาปฏิบัติแล้ว เราจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

ท่ามกลางความรู้สึกนึกคิดที่มีความแตกต่างกัน

ความแตกต่างกันนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเหตุ

ให้พวกเราต้องมาเกิดความแตกสามัคคี

เกิดการเกลียดแค้นโกรธแค้นกัน

ขอให้เราเคารพความต่างของกันและกัน

คนหนึ่งชอบสีแดงก็ให้เขาชอบสีแดง

 คนหนึ่งชอบสีเหลืองก็ให้เขาชอบสีเหลือง

ม่จำเป็นที่จะต้องไปเกลียดชังคนที่เขาไม่ชอบสีเดียวกับเรา

หรือมีการกระทำที่ไม่เหมือนเราเป็นต้น

 ถ้าเรามีความเห็นอกเห็นใจกัน เราก็จะสามารถอยู่ร่วมกัน

ได้อย่างร่มเย็นเป็นสุข

 เมื่อเราไม่ทะเลาะวิวาทกันปัญหาต่างๆก็จะไม่มีตามมา

 ทุกข์ภัยต่างๆก็จะไม่มีตามมาจะมีแต่ความสงบสุข

มีแต่ความเจริญโดยถ่ายเดียวแล้วเราจะอยู่กันได้อย่างปลอดภัย

 เวลามีภัยคุกคามมาพวกเราก็จะพร้อมที่จะร่วมใจกันต่อสู้กับภัยต่างๆ

 ที่มาคุกคามได้ เราก็จะสามารถดำเนินชีวิตไปได้อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะเรามีผู้นำที่ดีเป็นตัวอย่างให้เราได้นำไปปฏิบัติ

 ถ้าเรามีผู้นำที่ไม่ดีเราก็จะปฏิบัติตามผู้นำที่ไม่ดี

เช่นถ้ามีผู้นำที่เห็นแก่ตัวไม่คำนึงถึงประโยชน์สุขของผู้อื่น

ทุกคนก็จะเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ก็จะมีความเห็นแก่ตัว

และจะไม่เห็นความสำคัญ เห็นประโยชน์สุขของผู้อื่น

เท่ากับประโยชน์สุขของตน ถ้าเป็นอย่างนั้น

ก็จะเกิดการแก่งแย่งชิงดี เกิดการเข่นฆ่ากันทำลายกัน

 ดังที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ ในประเทศที่ขาดผู้นำที่ดี

ขาดธรรมะปกครองประชาชน ก็จะมีแต่การเข่นฆ่ากันทุกวัน

เปิดข่าว ฟังข่าว อ่านหนังสือพิมพ์ก็จะมีการฆ่ากันอยู่เสมอ

นี่ก็ไม่ได้มาจากอะไรมาจากการขาดผู้นำที่ดีนั่นเอง

 ผู้นำที่ดีนั้นจึงเป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่ง

 เพราะเป็นเหมือนกับคนขับรถนั่นเอง

ถ้าคนขับรถไม่เมามีสติครบถ้วนบริบรูณ์

มีความสามารถในการขับรถ รู้จักทาง

ที่จะไปก็จะพาให้ไปได้อย่างปลอดภัย

ไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างรวดเร็วโดยสวัสดิภาพ

ถ้าผู้ขับเป็นคนเมาสุราไม่รู้จักทาง ขับรถไม่เป็นก็ไม่ไปถึงไหน

จะไปไม่ถึงไหนจะต้องลงไปข้างคูข้างคลอง

ที่ไหนสักแห่งอย่างแน่นอน นี่แหละคือตัวอย่างของผู้นำที่ดี

และไม่ดีเป็นอย่างนี้

พวกเราถือว่าโชคดีได้มาเกิดในประเทศที่มีผู้นำที่ดี

 เราได้รับประโยชน์จากท่านเราก็ควรที่จะตอบแทนท่าน

ด้วยการน้อมเอาพระดำรัสของท่านนี้มาประพฤติปฏิบัติ

 ที่ทรงตรัสให้รู้รักสามัคคี ขอให้พวกเรารักกันมีความเมตตาต่อกัน

สามัคคีกันให้อภัยต่อกันอย่าไปคิดว่าเป็นคนอื่น

ขอให้คิดว่าเราเป็นเหมือนพี่เป็นเหมือนน้องกัน

 แล้วเราจะอยู่กันได้อย่างร่มเย็นเป็นสุขปลอดภัยจากปัญหาต่างๆ.

.....................................

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

ธรรมะในศาลา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ (ธรรมะในศาลา ๒)

“บูชาบุคคลที่สมควรแก่การบูชา”


หมายเหตุ : เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๒๖ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๘ ปีกุน

 เวลา ๑๔.๐๐ - ๒๑.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

 พร้อมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

 และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี

เสด็จพระราชดำเนินขึ้นเขาชีโอน อันเป็นเขตของพระภิกษุสามเณร

ผู้มุ่งปฏิบัติ ได้ทอดพระเนตรบริเวณวัดฯตลอดทั้งโครงการพระราชดำริ

ที่มา : หนังสือวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ในพระบรมราชูปถัมภ์












ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 05 ธันวาคม 2558
Last Update : 5 ธันวาคม 2558 12:33:51 น.
Counter : 1030 Pageviews.

0 comment
### ช้างพระโพธิสัตว์ ###














ช้างพระโพธิสัตว์
หลวงพ่อปาน โสนนฺโท


........................

เรื่องเล่าเช้าวันพระ:
พระไพศาล วิสาโล เขียนเล่าเรื่อง

หนึ่งในบรรดาเกจิอาจารย์แห่งอยุธยา

 ที่มีสานุศิษย์ทั่วประเทศเมื่อ ๘๐ ปีที่แล้ว คือหลวงพ่อปาน โสนนฺโท

ท่านเกิดและบวชที่หมู่บ้านบางนมโค

แต่ออกไปแสวงหาความรู้จากครูบาอาจารย์ตามที่ต่าง ๆ

 ตั้งแต่หนุ่ม นอกจากวิปัสสนากรรมฐานแล้ว

ท่านยังมีความรู้เรื่องสมุนไพรและวิชาแพทย์แผนโบราณ

ช่วยสงเคราะห์ญาติโยมมากมายทั้งทางโลกและทางธรรม

 แต่ท่านไม่ค่อยอยู่ที่ใดที่หนึ่งนาน ๆ เพราะชอบธุดงค์

 ท่านไม่ยอมรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางนมโคจนกระทั่งอายุ ๖๐ ปี

คราวหนึ่งท่านพาพระ ๔ รูปธุดงค์จากอยุธยา

ไปยังพระพุทธบาทสระบุรี ตลอดทางเป็นป่าทึบ

เย็นวันหนึ่งท่านเห็นทุ่งโล่งกว้าง เป็นทำเลเหมาะแก่การพักแรม

จึงปักกลดบริเวณใกล้ ๆ หมู่บ้าน

ไม่นานชาวบ้านก็พากันนำน้ำปานะมาถวาย พร้อมกับเตือนว่า

ทุ่งนี้มีช้างป่าโขลงหนึ่ง มักออกมาอาละวาดเสมอ

พระที่มาปักกลดในทุ่งนี้ตายมาหลายรูปแล้วเพราะช้างโขลงนี้

หลวงพ่อปานรับฟังด้วยอาการสงบ และยืนยันที่จะพักแรมในที่เดิม

ชาวบ้านจึงบอกท่านว่า ถ้าช้างออกมาอาละวาด

 ให้ท่านเคาะฝาบาตรเป็นสัญญาณ พวกเขาจะรีบออกมาช่วย

คืนนั้นหลวงพ่อปานสั่งให้ลูกศิษย์บำเพ็ญกรรมฐาน

 ตั้งมั่นอยู่ในพรหมวิหาร ๔ แผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์

ทั่วสากลจักรวาล ประมาณ ๔ ทุ่ม ฝูงช้างป่าก็ออกมา

 จ่าฝูงเป็นช้างสีดอตัวใหญ่ งาสั้น ออกมาก่อนตัวอื่น

แล้วยืนคร่อมกลดหลวงพ่อปานเอาไว้

 เนื่องจากท่านปักกลดตรงทางออกจากป่าพอดี

ช้างตัวอื่นเมื่อจะออกมาก็ต้องเบียดช้างสีดอออกมา

 แล้วเดินข้ามทุ่งโดยไม่สนใจพระรูปอื่นเลย

เหตุการณ์ดูเหมือนจะเป็นปกติ ไม่น่ากลัวอย่างที่ชาวบ้านเตือนไว้

ช้างทั้งโขลงออกมาจากป่าโดยไม่มีท่าทีคุกคามแต่อย่างใด

แต่แล้วจู่ ๆ ช้างตัวสุดท้ายที่ออกมาก็เริ่มอาละวาด

ช้างตัวนี้ชาวบ้านเรียกว่า “ไอ้เก” เพราะงาของมันบิดเกข้างหนึ่ง

อีกทั้งมีพฤติกรรมเกเรด้วย

 หลังจากที่เดินออกมายังทุ่งกว้างได้สักพัก

 มันก็หันกลับมาและวิ่งเข้าใส่กลดหลวงพ่อปานทันที

หลวงพ่อปานเห็นไอ้เกพุ่งเข้ามา แต่ท่านนิ่งสงบ ท่านเล่าว่า

 “ตอนนั้นฉันมีอารมณ์ปกติ ฉันคิดถึงพระโพธิญาณเป็นอารมณ์

คิดว่าตายเมื่อไหร่ ฉันก็จะสบาย คือไปนอนรอเวลาที่สวรรค์ชั้นดุสิต”

ส่วนพระอีก ๔ รูปก็นิ่งสงบเช่นกัน

แต่ก่อนที่เจ้าเกจะเข้ามาทำร้ายหลวงพ่อปาน

จ่าฝูงคือเจ้าสีดอก็เอางวงฟาดเจ้าเก ๓ ครั้งติดต่อกัน

ฟาดแต่ละครั้งเจ้าเกหัวซุนเกือบทิ่มดิน เท่านั้นไม่พอ

 เจ้าสีดอยังจับงาเจ้าเกบิดจนเจ้าเกเสียหลักล้มลงอย่างแรง

หลวงพ่อปานสันนิษฐานว่าที่เจ้าเกมีงาบิดข้างหนึ่ง

คงเพราะถูกจ่าฝูงกำราบเป็นประจำ

เจ้าเกลุกขึ้นมาอย่างหมดแรง หายพยศ เดินอย่างไร้สง่า

ตามฝูงไปยังป่าตรงข้าม ส่วนเจ้าสีดอยังคงเดินวนเวียนแถวนั้นพักใหญ่

เมื่อเห็นพระทุกรูปปลอดภัย ไม่มีใครมารบกวน

มันก็หันมาหาท่าน แล้วคุกเข่าลง ชูงวงขึ้น ทำท่าเหมือนจะไหว้

แล้วก็เดินตามโขลงช้างลูกน้องไป

หลวงพ่อปานเห็นช้างตัวนี้แล้ว อดชื่นชมไม่ได้

ท่านถึงกับออกปากว่า “สงสัยช้างตัวนี้จะเป็นช้างพระโพธิสัตว์”

วันรุ่งขึ้นชาวบ้านพากันมาหาท่านเพราะได้ยินว่าเมื่อคืนเกิดอะไรขึ้น

เมื่อเห็นทุกท่านปลอดภัยก็มีความเลื่อมใสศรัทธามาก

 และเชื่อว่าท่านต้องมีเวทมนตร์คาถาหรือของขลังอย่างแน่นอน

 จึงขอของดีจากท่าน เพื่อปกป้องอันตรายจากเจ้าเก

หลวงพ่อปานจึงให้คาถาแก่เขา คาถานั้นมีแค่ “พุทโธ”

ข้อสำคัญคือ “ก่อนท่องคาถาก็ขอให้นึกถึงบารมีของพระพุทธเจ้า

แล้วแผ่เมตตาถึงเจ้าเก ประกาศเป็นสัมพันธไมตรีต่อกัน”

ปรากฏว่าคาถาของท่านได้ผล นับแต่นั้นมา

เจ้าเกไม่เคยอาละวาดอีกเลย เวลามันมา

 ก็เดินก้มหน้าก้มตาผ่านไปเฉย ๆ ไม่มองหน้าคนเลย

 ผิดกับแต่ก่อนที่ชอบทำลายฟ่อนข้าวและทรัพย์สิน

อีกทั้งไล่แทงผู้คน

ความสงบได้กลับคืนสู่หมู่บ้านนี้อีกครั้งหนึ่ง

คงไม่ใช่เพราะอานุภาพของคาถาของหลวงพ่อปาน

และเมตตาภาวนาของชาวบ้านเท่านั้น

หากยังเป็นเพราะคุณธรรมของช้างสีดอแสนรู้ตัวนั้น

ซึ่งให้บทเรียนสำคัญแก่เจ้าเกอย่างไม่มีวันลืม



.............................







ขอบคุณที่มา fb. วัดป่าสุคะโต ธรรมชาติที่พักใจ
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 03 ธันวาคม 2558
Last Update : 3 ธันวาคม 2558 12:31:46 น.
Counter : 1790 Pageviews.

0 comment
### อยู่กับความจริง ###


















“อยู่กับความจริง”

วิธีการดำเนินชีวิตของเราเพื่อที่จะให้เราไม่ทุกข์

ขอให้เราอยู่กับความจริงที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้

ตอนนี้มีอะไร ถ้าเราพอใจกับสิ่งที่เรามีอยู่

ไม่ได้มีความอยากให้มีเพิ่มมากขึ้นหรือให้มีน้อยลงไป

เราก็จะไม่มีความทุกข์ เช่นมีความอยากให้มีอะไรเพิ่มมากขึ้น

ก็คืออยากให้มีเงินทองเพิ่มมากขึ้น

 อย่างนี้ถ้าเราไม่มีความอยากเราก็จะไม่ทุกข์

 ถ้าเรามีความอยากเราก็จะทุกข์ขึ้นมาทันที

 หรืออยากจะให้สิ่งนั้นสิ่งนี้หมดไป ให้มีน้อยลงไป

 แต่มันไม่มีมันยังอยู่เท่าเดิม

เช่นอยากจะให้หนี้สินมีน้อยลงไป แต่หนี้สินมันก็ยังมีอยู่เท่าเดิม

 เพราะเราไม่มีปัญญาที่จะนำเอาเงินทองมาชดใช้หนี้สิ้นที่เรามีอยู่ได้

 อยากให้มันมีน้อยลงไปก็จะทำให้เราทุกข์ใจไปเปล่าๆ

 แต่ถ้าเรายอมรับความจริงแล้วก็อยู่กับมันไป

ตอนนี้มีทรัพย์เท่านี้ก็พอใจกับที่มีอยู่เท่านี้

ตอนนี้มีหนี้อยู่เท่านี้ก็พอใจกับหนี้ที่มีอยู่เท่านี้ ก็จะไม่ทุกข์ใจ

ถ้าคิดว่าเวลาตายไปก็เอาหนี้ไปไม่ได้ เอาทรัพย์ไปไม่ได้อยู่ดี

 เวลาเรามาเราก็ไม่ได้เอาอะไรมา เราก็มาตัวเปล่าๆ

เราไม่ได้เอาอะไรติดตัวมาเลย แม้แต่ร่างกายนี้ก็ไม่ใช่เป็นของเรา

ร่างกายนี้ก็เป็นของพ่อแม่ผลิตขึ้นมา แล้วเราก็มาอาศัยอยู่

มาครอบครองเป็นสมบัติชิ้นแรกของเรา

 ออกจากท้องแม่มาเราก็เจริญเติบโตด้วยอาหาร

 พอเราโตมีความสามารถเราก็ไปหาสิ่งของต่างๆ

 มาเป็นสมบัติของเราเพิ่มขึ้นไปทีละชิ้นๆ

หาเงินหาทอง หาสามีหาภรรยา หาบุตรหาธิดา

 หามาจากความสามารถของเรา แต่ของทุกอย่างที่เราหามาได้นี้

พอเราตายไป พอร่างกายนี้ตายไป เราก็ไปตัวเปล่าๆ

เหมือนกับตอนที่เรามา เราไม่ได้เอาอะไรติดตัวไปเลย

ถ้าเราเห็นความจริงอันนี้ และไม่หลงคิดว่า

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่ตอนนี้หรือได้มานี้เป็นของเรา

รู้ว่าสักวันหนึ่งเราต้องทิ้งของพวกนี้ ไปหมดเลย

เราก็จะไม่ทุกข์กับการสูญเสียสิ่งต่างๆทั้งหลายที่เราได้มา

 เราจะไม่ทุกข์กับความแก่ ความเจ็บ ความตายของร่างกาย

เราจะไม่ทุกข์กับการที่เราจะต้องจากลาภยศ สรรเสริญ

 จากความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กายไป เพราะเรามีปัญญา

 มีดวงตาเห็นธรรม เห็นว่าของทุกอย่างในโลกนี้ เป็นของชั่วคราว

 เหมือนกับเราไปพักที่โรงแรม เวลาเราออกจากโรงเเรม

เราไม่ได้เอาหมอน เอาเตียง เอาของที่อยู่ในโรงแรมติดตัวไปกับเรา

เราไปอย่างไร เราก็ออกไปอย่างนั้น เราไปด้วยกระเป๋าใบเดียว

 เวลาเราออกจากโรงเเรม

เราก็เอากระเป๋าใบเดียวที่เราหิ้วไปนี้ออกไป ฉันใด

เรามาอยู่ในโลกนี้เราก็มาตัวเปล่าๆ พอเวลาเราไปเราก็ไปตัวเปล่าๆ

 แล้วเราจะมาทุกข์กับของอะไรต่างๆ ในโลกนี้ทำไม

 ทุกข์ไปก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความจริง

ความทุกข์ของเราอยู่ที่ความอยาก อยากจะเอาของทุกอย่างไปกับเรา

 คืออยากจะให้ของทุกอย่างที่เราได้นี้เป็นของเราไปตลอด

แต่มันเป็นความไม่จริง เป็นไปไม่ได้

ความจริงก็คือมันจะต้องจากกันไป ตอนนี้มีอยู่ก็อยู่กับมันไป

 ถ้าอยู่แล้วอยากจะให้มันหายไปหมดไป ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมาอีก

 เช่นคนที่อยากจะฆ่าตัวตาย

เพราะว่าร่างกายนี้ไม่สามารถทำหน้าที่ต่างๆ ได้แล้ว

เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นอัมพฤกษ์เป็นอัมพาต

ไม่สามารถที่จะไปหาความสุขผ่านทางร่างกายได้แล้ว

ตอนนั้นก็ไม่อยากจะอยู่ ไม่อยากจะให้ร่างกายนี้อยู่ต่อไป

อันนี้ก็ทุกข์อีกแบบหนึ่ง

ทุกข์เพราะอยากจะให้มันตายไป

ถ้าร่างกายดีก็ทุกข์เพราะอยากจะไม่ให้มันตาย

 มันทุกข์ทั้ง ๒ ทาง แต่ที่ทุกข์ไม่ใช่ที่ร่างกาย ที่ทุกข์ก็คือที่ใจ

 ใจที่อยากจะให้มันตายไปหรืออยากจะให้มันอยู่

อยากจะให้มันไม่ตาย แต่ถ้าเราไม่มีความอยากทั้ง ๒ อย่างนี้

 ร่างกายจะอยู่ก็อยู่ไป จะตายก็ตายไป

 ร่างกายจะอยู่ในสภาพใด จะสมบูรณ์แข็งแรงหรือจะเจ็บไข้ได้ป่วย

พิกลพิการไป ถ้าเราไม่มีความอยากให้เป็นอย่างอื่น

 เราจะไม่ทุกข์ ถ้าเราตั้งใจของเราให้อยู่กับความจริง

การที่ใจจะอยู่กับความจริงได้ ใจจะต้องนิ่ง

ใจจะต้องเฉยนั่นเอง ใจจะต้องเป็นอุเบกขา

วิธีที่จะทำใจให้เป็นอุเบกขาในเบื้องต้นก็ต้องใช้การเจริญสติ

 เพื่อทำใจให้สงบให้หยุดความคิดปรุงเเต่ง

 ถ้าใจสงบไม่คิดปรุงเเต่ง ใจก็จะนิ่งใจก็จะเป็นอุเบกขา

 แต่ถ้าอยากจะให้ใจนิ่งให้ใจสงบอย่างถาวร

ก็ต้องใช้ปัญญามาสอนใจ เบื้องต้นใจจะนิ่งชั่วคราว

เวลาที่เราหยุดความคิดปรุงเเต่ง ใจเข้าสู่สมาธิได้

ตอนนั้นใจก็จะนิ่งใจก็จะสงบ ใจจะนิ่งเฉยจะอยู่กับความจริง

แต่พอออกจากสมาธิมาพอมาเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้

ก็มีความอยากเข้ามาแทรก

อยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ขึ้นมาทันที

วิธีที่เราจะรักษาความนิ่งความสงบของใจให้อยู่กับความจริงต่อไป

ก็ต้องทำลายความอยากที่แทรกเข้ามา

ความอยากนี้ก็เป็นเหมือนขโมยที่จะมาขึ้นบ้าน

จะขโมยทรัพย์ของเรา เราจะทำอย่างไร

เราก็ต้องไล่ขโมยออกไปจากบ้าน เรามีอาวุธ เรามีปืนเราก็ยิงมัน

ถ้าเราไม่มีอาวุธเรามีโทรศัพท์ เราก็โทรศัพท์ เรียกตำรวจมา

เพื่อให้มาจับขโมยมาไล่ขโมยไป ความอยากนี้ก็เป็นเหมือนขโมย

 ที่จะมาขโมยความนิ่ง ความสงบของใจไป

ถ้าเราอยากจะให้ใจของเรานิ่งให้ใจของเราสงบ

ให้อยู่กับความจริงได้ เราก็ต้องทำลายความอยาก

อาวุธที่เราจะใช้ทำลายความอยากก็คือปัญญานี่เอง

ปัญญาก็คืออะไร ก็คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 ถ้าสอนใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 ไปทำอะไรไม่ได้ จะไปเปลี่ยนความจริงไม่ได้

ตอนนี้ลมพัดจะไปให้มันหยุดอย่างนี้หยุดไม่ได้

ถ้าอยากให้ลมหยุดพัดนี้มันก็จะทุกข์ใจไปเปล่าๆ

 เพราะจะไม่สามารถหยุดมันได้

ตอนนี้สามีจะจากเราไป ก็ห้ามเขาไม่ได้

ตอนนี้ภรรยาจะจากเราไปก็ห้ามเขาไม่ได้

 ตอนนี้เงินทองจะหมดไปก็ห้ามไม่ได้

ตอนนี้เจ้าหนี้จะมาทวงหนี้ก็ห้ามเขาไม่ได้

แต่ถ้าเราทำใจเฉยๆอยู่กับความจริง

ใครจะมาใครจะไป ก็อยู่กับความจริงนี้ไป

ใครจะไปก็ปล่อยเขาไป ใครจะมาก็ปล่อยเขามา

 เจ้าหนี้จะมาก็ให้เขามา เขาจะทวงหนี้ก็ปล่อยเขาไป

มีก็ให้เขาไปไม่มีก็ไม่ให้ จะให้ทำอย่างไร จะให้ไปทุกข์ก็ไม่ได้

แก้ปัญหา ไม่ได้เปลี่ยนความจริงอยู่ดี

แต่ใจเรานิ่งไม่เป็นกัน เพราะเราไม่เคยฝึกสอนใจให้นิ่งกัน

นี่แหละการปฏิบัติของพวกเรานี้ก็เพื่อที่จะทำใจของเราให้นิ่ง

ในทุกเวลานาทีกับทุกเหตุการณ์ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

ถ้าเรามีสติ มีสมาธิ มีปัญญา.

.....................

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๖

“ฟังธรรมจากผู้รู้จริง”












ขอบคุณทีมา fb.พระอาจารย์สุขาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 03 ธันวาคม 2558
Last Update : 3 ธันวาคม 2558 11:18:29 น.
Counter : 1165 Pageviews.

0 comment
### ฟังเทศน์ฟังธรรมให้เกิดผล ###


















“ฟังเทศน์ฟังธรรมให้เกิดผล”

เวลาเราฟัง (เทศน์ฟังธรรม)

ใจเราจดจ่ออยู่กับการฟังอย่างต่อเนื่องหรือไม่

 ฟังแล้วเราสามารถพิจารณาเหตุผลที่ได้แสดงไว้หรือไม่

 อันนี้ก็จะทำให้ผู้ฟังนี้แต่ละบุคคลได้รับผลแตกต่างกันไป

อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระปฐมเทศนา ครั้งแรก

ต่อพระปัญจวัคคีย์ มีปัญจวัคคีย์อยู่ ๕ รูปด้วยกัน

ผู้ที่มีศีล สมาธิแล้ว แต่ไม่มีปัญญา

เวลาที่ทรงแสดงธรรมเสร็จแล้วก็ปรากฏมีเพียง ๑ ท่าน

ในปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ที่มีดวงตาเห็นธรรม

ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันขึ้นมา

แต่อีก ๔ รูปนั้นยังไม่สามารถเห็นธรรมได้

อันนี้ก็เป็นเพราะว่า สติปัญญาของผู้ฟัง

ยังมีความสามารถไม่เท่ากัน

 การฟังสติจดจ่ออยู่กับการฟังไม่เท่ากัน

 การพิจารณาเหตุผลที่ทรงแสดงไว้ก็พิจารณาได้ไม่เท่ากัน

 จึงปรากฏมีผู้บรรลุธรรมมีดวงตาเห็นธรรม

 บรรลุเป็นพระโสดาบันเพียงรูปเดียว

 แต่หลังจากนั้นอีกไม่นาน ท่านที่ยังไม่ได้บรรลุ

ท่านก็นำธรรมที่ได้ยิน ได้ฟังนี้ไปพิจารณาไปใคร่ครวญต่อ

จนในที่สุดก็สามารถบรรลุธรรมขั้นต่างๆได้

จนถึงขั้นสูงสุดได้พร้อมกัน ในวาระต่อมา

 ตอนที่ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับอนัตตา

ที่เรียกว่า “อนัตตลักขณสูตร” ทรงแสดงว่า

ทุกสิ่งทุกอย่างนี้เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา

 เช่นร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเราของเรา

ลาภยศ สรรเสริญ ความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ใช่ของเรา

 เป็นของชั่วคราว มีเกิดแล้วมีดับไปเป็นธรรมดา

พอได้ยินได้ฟังท่านก็เลยตัดความหลง ยึดติดอยู่กับร่างกาย

 ยึดติดอยู่กับตา หู จมูก ลิ้น กาย อยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

 อยู่กับลาภยศ สรรเสริญ เพราะไม่ต้องการที่จะมาทุกข์กับสิ่งเหล่านี้

เพราะสิ่งเหล่านี้จะต้องมีวันหมดไป เพราะเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง

เป็นอนัตตา เพราะห้ามเขาไม่ได้ ห้ามไม่ให้เขาหมดไปไม่ได้

 เขาจะต้องหมดไปในที่สุด

พอพิจารณาเห็นความจริงอย่างนี้ก็ปล่อยวางอุปาทาน

 ความยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นตัวเราเป็นของเรา

 พอปล่อยวางแล้วก็จะไม่ทุกข์กับการมาและการไปของสิ่งต่างๆ

 เหมือนกับตอนนี้เราไม่ทุกข์กับสมบัติข้าวของเงินทองของบุคคลอื่น

ของผู้อื่น เราไม่ทุกข์กังวล กับร่างกายของคนอื่น

 ก็เพราะว่าเราไม่ไปหลงยึดติดว่าเป็นของเรา

 เรารู้ว่าไม่ได้เป็นของเรา แต่สมบัติข้าวของเงินทองที่เรามีอยู่นี้

เรากลับหลงยึดติดว่าเป็นของเรา ความจริงก็เป็นเหมือนกับของคนอื่น

 ต่างกันตรงที่ว่าตอนนี้เรามีสิทธิที่จะเอาไปใช้

เอาไปทำอะไรได้เท่านั้นเอง

แต่มาถึงเวลาหนึ่ง มันก็จะเป็นเหมือนของคนอื่น

คือเราไม่สามารถเอาไปใช้อะไรได้ เช่นเวลาที่ร่างกายนี้ตายไป

มันก็เป็นเหมือนกับสมบัติของคนอื่นไป

ถ้าเรารู้อย่างนี้แล้วเราไม่ไปยึดไปติดว่าเป็นของเรา

มันก็จะเป็นเหมือนกับสมบัติของคนอื่น

เวลาสมบัติของคนอื่นสูญไปหมดไป

เราไม่เสียอกเสียใจแต่อย่างใด

นี่คือการฟังเทศน์ฟังธรรมเพื่อให้เกิดผลขึ้นมา

ต้องฟังด้วยกาย วาจา ใจ ที่สงบมีสติจดจ่อ

มีปัญญาพิจารณาตามเหตุตามผลที่ได้แสดงเอาไว้

พอเข้าใจแล้วก็จะเกิดดวงตาเห็นธรรม เห็นว่ามีเกิดย่อมมีดับ

 ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อมีเกิดแล้วต้องมีดับไปเป็นธรรมดา

ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราจะไปห้ามไปสั่งเขาได้

สั่งไม่ให้เขาดับไม่ได้ สั่งไม่ให้เขาเสื่อมไม่ได้

 เขาจะดับเขาจะเสื่อมไม่มีใครไปห้ามได้

 ถ้าไปห้ามไปอยากไม่ให้เสื่อมไม่ให้ดับก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

ถ้าไม่อยากจะทุกข์ใจก็ต้องปล่อยวาง

อย่าไปอยากให้เขาไม่เสื่อม อย่าไปอยากให้เขาไม่ดับ

พอไม่มีความอยากแล้ว ความทุกข์ใจก็จะไม่มี

 นี่คือการเห็นธรรมจากการฟังเทศน์ฟังธรรม

จะเห็นธรรมได้ก็ต้องมีกาย วาจา ใจที่สงบ

 มีศีล มีสมาธิ แล้วมีสติปัญญาความสามารถ

ที่จะพิจารณาตามเหตุตามผลที่ได้ยินได้ฟังมาได้

ถ้าเราฟังแล้วยังไม่ได้มีดวงตาเห็นธรรมก็แสดงว่า

ศีลของเรายังไม่บริสุทธิ์ กาย วาจาของเรายังไม่นิ่ง

 ใจของเรายังไม่เป็นสมาธิพอ นั่งแล้วไม่ฟังอย่างต่อเนื่อง

ฟังไปแป๊บหนึ่งแล้วก็แวบไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้

พอมีอะไรมากระทบกับใจมีเสียงหรือมีกลิ่นมีอะไรมารบกวนใจ

ใจก็จะลอยไปกับสิ่งที่มารบกวนมาสัมผัสกับใจ

 ตอนนั้นเวลาธรรมที่กำลังได้ยินได้ฟังก็จะไม่เข้าสู่ใจ

 ก็จะทำให้ไม่สามารถพิจารณาเหตุผลได้อย่างต่อเนื่อง

 ก็จะไม่เกิดความเข้าอกเข้าใจ

ก็จะไม่เกิดการมีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา

นี่คือเรื่องของการฟังเทศน์ฟังธรรม

เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์อย่างสูงสุด

ผู้เทศน์ผู้แสดงธรรม ก็ต้องเป็นผู้แสดงธรรมที่ตรงกับความเป็นจริง

 ที่เกิดจากการปฏิบัติ ถ้าเกิดจากการจดจำมา

 การแสดง ก็จะไม่เป็นจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นจริงบางส่วน

บางส่วนไม่จริง เวลาฟังแล้วก็จะเกิดการขัดกัน ไม่สอดคล้องกัน

 เพราะว่าสิ่งที่จดจำมานี้ไม่ได้จดจำมาอย่างครบถ้วนบริบูรณ์นั่นเอง

 ส่วนที่ลืมไปก็เอาความคิดมาแทรก มาสอนแทน

 ก็เลยทำให้ผู้ฟังนั้นไม่ได้เห็นเหตุเห็นผลอย่างเต็มที่ มี

ความรู้สึกว่ามีอะไรขัดแย้งกันอยู่ ระหว่างเหตุกับผล

เมื่อมีการขัดแย่งกันระหว่างเหตุกับผล

มันก็ไม่สามารถที่จะหาข้อสรุปได้

เช่นทุกข์เกิดจากอะไรอย่างนี้ ถ้าผู้ฟังฟังแล้วจำไม่ได้

ก็อาจจะไปพูดว่าทุกข์เกิดจากเพราะว่าความแก่ ความเจ็บ ความตาย

 ซึ่งความจริงแล้วความแก่ ความเจ็บ ความตายนี้

ไม่ได้เป็นต้นเหตุของความทุกข์ใจ

แต่ความทุกข์ใจนี้ เกิดจากความอยากไม่แก่

อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตายต่างหาก

เพราะว่าคนที่ไม่ทุกข์กับความแก่ ความเจ็บ ความตายก็มี

 เช่นพระพุทธเจ้า พระอรหันต์นี้ท่านไม่ทุกข์

กับความแก่ ความเจ็บ ความตายของร่างกาย

เพราะว่าท่านไม่มีความอยากไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายนั่นเอง

ดังนั้นเวลาศึกษาแล้วไม่เอามาปฏิบัตินี้ก็จะเข้าใจผิดได้

 ก็จะไปว่าทุกข์เกิดจากความแก่ ทุกข์เกิดจากความเจ็บ

 ทุกข์เกิดจากความตาย ทุกข์เกิดจากการพลัดพราก

จากของที่รักที่ชอบไป

แต่ความจริงเราสามารถอยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไม่มีความทุกข์

 เราสามารถอยู่กับความแก่ อยู่กับความเจ็บ อยู่กับความตาย

อยู่กับการพลัดพรากจากของที่เรารักเราชอบไปได้

โดยที่ใจของเราไม่ทุกข์เลย

ถ้าเรามีปัญญารู้ทันว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่เป็นของเรา

จะต้องเป็นอย่างนี้อย่างแน่นอน เราไปห้ามเขาไม่ได้

 ถ้าเราไม่ไปต่อต้านเราไม่อยากให้เขาเป็นอย่างอื่น

เราก็จะไม่ทุกข์กับเขา เราจะไม่ทุกข์กับความแก่

จะไม่ทุกข์กับความเจ็บไข้ได้ป่วย จะไม่ทุกข์กับความตายเลย

เพราะว่าเราไม่มีความอยาก ให้เขาเป็นอย่างอื่นนั่นเอง

ความทุกข์ของเราเกิดจากความอยากของเรา

ให้สิ่งที่เป็นความจริงนี้เป็นอย่างอื่น

สมมุติว่าตอนนี้อากาศหนาวอย่างนี้

 ถ้าเราอยากจะให้อากาศร้อนขึ้นมานี้ เราก็จะทุกข์ขึ้นมาทันที

เพราะว่าเราจะไม่ชอบที่จะอยู่กับอากาศเย็น

แต่ถ้าเราไม่มีความอยากให้เป็นอากาศร้อน

อากาศเย็นก็ปล่อยให้เขาเย็นไป อยู่กับความจริง

ไม่ได้อยู่กับความอยาก ใจของเราก็จะไม่ทุกข์.

.............................

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๖

“ฟังธรรมจากผู้รู้จริง”












ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 02 ธันวาคม 2558
Last Update : 2 ธันวาคม 2558 10:26:52 น.
Counter : 2060 Pageviews.

1 comment
### อานิสงส์ของการทำบุญจากพระอริยะ ###


















“อานิสงส์ของการทำบุญจากพระอริยะ”

ต่อไปนี้จะได้พูดธรรมะให้ท่านทั้งหลายได้ฟังกัน

 ขอความกรุณาให้ตั้งอยู่ในความสงบกาย สงบวาจาและสงบใจ

กาย วาจา สงบเป็นศีล ใจสงบเป็นสมาธิ

 พอมีศีลมีสมาธิเวลาฟังธรรมก็จะเกิดปัญญาขึ้นมา

เกิดการบรรลุธรรม เกิดการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย

 การตั้งใจฟังธรรม การนั่งอยู่ด้วยกิริยาที่สงบจึงเป็นปัจจัยสำคัญ

 ในการฟังธรรม ถ้ากาย วาจา ใจไม่สงบ การฟังธรรมก็จะไม่เกิดผล

ฟังไปก็จะเสียเวลาเปล่าๆ เข้าหูซ้ายแล้วออกหูขวาไป

 แต่ถ้าฟังด้วยความสงบกาย สงบวาจาและสงบใจ

ร่างกายนั่งอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร วาจาไม่พูดไม่คุยกัน

 ใจไม่คิดถึงเรื่องราวต่างๆ ตั้งใจฟังเสียงธรรมที่เข้ามาสัมผัสกับหู

ถ้าพิจารณาตามได้ เกิดความเข้าใจก็จะเกิดมีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา

 ถ้ายังพิจารณาไม่เข้าใจแต่ตั้งใจฟัง ใจจดจ่ออยู่กับเสียงธรรม

 ใจก็จะสงบจะเย็นจะสบาย

ธรรมดาเวลานั่งสมาธิตามลำพังนี้จะยาก จะนั่งได้ไม่นาน

และจะไม่ค่อยสงบ แต่เวลาฟังเทศน์ฟังธรรมไป

แล้วใจจดจ่ออยู่กับเสียงธรรม ที่เข้ามาสัมผัสเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง

แต่ใจจะสงบ ใจจะเย็นจะสบาย จะนั่งอยู่ได้นาน

การฟังเทศน์ฟังธรรมจึงมีประโยชน์หลายประการด้วยกัน คือ

๑.จะได้ยินได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน

 ๒.สิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังมาแล้วเมื่อฟังซ้ำอีก

ก็จะเกิดความเข้าใจดีขึ้นไปตามลำดับ

๓.จะทำให้ขจัดความสงสัยต่างๆ ไปได้

๔. จะทำให้มีความเห็นที่ถูกต้อง มีสัมมาทิฏฐิ

 มีปัญญาความรู้ความฉลาด

๕. จะทำให้จิตใจผ่องใส จิตใจสงบ

นี่คือผลจะได้รับหากฟังธรรมด้วยศีล

 ด้วยสมาธิคือด้วยกาย วาจา ใจที่สงบนั่นเอง

ดังนั้นเวลาที่เราฟังธรรม เราไม่ต้องไปกังวลกับเรื่องที่เราได้ยินได้ฟัง

คือไม่ต้องไปจดไปจำ เราฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจ

 ถ้าครั้งนี้ฟังแล้วไม่เข้าใจก็ปล่อยผ่านไปก่อน

 การฟังธรรมนี้ไม่ใช่ฟังกันครั้ง ๒ ครั้งเท่านั้น

เป็นการฟังอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยที่สุดก็อาทิตย์ละ ๑ ครั้ง

 ถ้าทำตามสมัยโบราณที่ต้องไปวัดกัน

ถึงจะได้มีการฟังเทศน์ฟังธรรมกัน

แต่ในสมัยปัจจุบันนี้เราสามารถฟังธรรมได้ทุกวัน ทุกเวลาเลย

 เพราะเดี๋ยวนี้ เรามีสื่อที่บันทึกเสียงธรรมเอาไว้

 ที่เราสามารถเปิดฟังได้ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เวลาใดก็ตาม

 การฟังธรรมนี้จะทำให้เรามีความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติ

ถ้าธรรมที่เราฟังนี้เป็นธรรมที่ถูกต้อง

เป็นสวากขาโต ภคตาธัมโม คือธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว

ของพระพุทธเจ้า ธรรมที่จะเป็นสวากขาโต ภควตาธัมโมนี้

ก็ต้องเป็นธรรมที่เกิดจากการปฏิบัติ

ธรรมที่เกิดจากการศึกษาได้ยินได้ฟังมานี้ แล้วจดจำมาพูดนี้

อาจจะไม่ตรงกับความจริง เพราะผู้ฟังนี้

ฟังไปแล้วก็จำไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง

พอมาพูดถ่ายทอดอีกทีก็ไม่ได้พูดตรงกับหลักธรรมทั้งหมด

 เพราะว่าความจำคลาดเคลื่อนไป

แต่ถ้าพูดออกจากการปฏิบัติคือได้รับผลจากการปฏิบัติมาแล้ว

 แล้วมาแสดงก็จะเป็นธรรมที่จะไม่มีวันคลาดเคลื่อน

เพราะว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นมาภายในจิตใจ รู้จากการปฏิบัติ

รู้ว่าการกระทำแบบนี้จะได้ผลอย่างนี้

 แต่ถ้าฟังมาเฉยๆแล้วไม่ได้ปฏิบัติ พอมาพูด อาจจะพูดไปว่า

 ทำแบบนี้แล้วก็จะได้แบบนั้น

ดังนั้นถ้าเราฟังธรรมจากผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติแต่ได้เพียงศึกษาได้ยินได้ฟัง

หรือได้อ่านมาได้จดจำมาแล้วนำมาถ่ายทอด ให้แก่ผู้อื่น

การถ่ายทอดนี้ก็จะเกิดการคลาดเคลื่อนได้

เพราะความจำนี้ย่อมเลือนลางไปได้ สิ่งที่ได้ฟังมาอาจจะเลือนลางไป

แล้วพอมาพูดใหม่ก็เลยพูดกันเป็นคนละเรื่องไป

 ดังนั้นผู้ที่ฟังเทศน์ฟังธรรม จึงมักจะแสวงหาฟังธรรม

จากผู้ที่รู้จริงเห็นจริง ผู้ที่รู้จริงก็คือผู้ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบนั่นเอง

 ในหลักธรรมท่านก็แสดงไว้

สุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโน ญายะปฏิปันโน สามีจิปฏิปันโน

 คือผู้ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบได้แก่พระอริยบุคคล ๔ ประเภทด้วยกัน

 พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์

การฟังเทศน์ฟังธรรมจากบุคคลเหล่านี้

ก็จะได้ธรรมะในระดับต่างๆ กันไป

ถ้าฟังพระโสดาบันก็จะได้ธรรมขั้น โสดาบันเป็นอย่างมาก

 ฟังธรรมจากพระสกิทาคามีก็จะได้ธรรมระดับสกิทาคามี

สูงกว่าขั้นของพระโสดาบัน แต่ต่ำกว่าขั้นของพระอนาคามี

ถ้าฟังธรรมของพระอนาคามีก็จะได้ระดับอนาคามี

แต่ยังต่ำกว่าระดับของพระอรหันต์

ถ้าฟังธรรมจากพระอรหันต์ก็จะได้ธรรมระดับสูงสุด

ถ้าได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าก็จะได้ธรรมระดับสูงสุดเช่นเดียวกัน

 แต่อาจจะได้ความกระจ่างชัดได้มากกว่า ฟังจากพระอรหันต์

 เนื่องจากพระพุทธเจ้ามีพระปัญญาที่ฉลาดแหลมคม

ที่สามารถพูดธรรมที่ตรงใจของผู้ฟังได้

 ทำให้ผู้ฟังนี้สมารถเข้าอกเข้าใจถึงธรรมอันลึกซึ้งได้อย่างง่ายดาย

 ความสามารถในการแสดงธรรม ของพระพุทธเจ้านี้จึงมีมากกว่า

พระอรหันต์ พระอนาคามี พระสกิทาคามี และพระโสดาบัน

ารทำบุญกับบุคคลเหล่านี้ จึงได้บุญแตกต่างกันไป

คือการทำบุญนี้มี ๒ อานิสงส์ ๒ ผลประโยชน์ที่เราจะได้รับ

ประโยชน์อันแรกคือการชำระความตระหนี่ ชำระความโลภ

 ชำระความหึงหวง ความยึดติดในสมบัติข้าวของเงินทอง

 อันนี้ไม่ว่าจะทำกับใคร ถ้าทำด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์

คือไม่มีความโลภอยากได้อะไรเป็นผลตอบแทน

 นอกจากการสละทรัพย์ สมบัติข้าวของเงินทองที่มีมากเกินไป

 เพื่อแบ่งปันประโยชน์สุขให้แก่ผู้อื่นด้วยความเมตตากรุณา

ทำกับใคร ก็จะได้อานิสงส์เหมือนกันก็คือได้ความสุขใจ

ได้ความอิ่มเอิบใจ ได้ความภูมิใจ อันนี้ไม่ต้องเลือกบุคคลก็ได้

 ทำกับใครถ้าเห็นว่าเขาเดือดร้อนแล้วเราให้ความช่วยเหลือกับเขา

เราก็จะได้บุญเหมือนกัน ทำบุญกับสุนัขก็ได้ ทำบุญกับขอทานก็ได้

ทำบุญกับคนที่เรารักเราเคารพ เช่นบิดามารดาก็ได้

ทำบุญกับพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ขั้นไหนก็ได้

ก็จะได้บุญคือความรู้สึกอิ่มเอิบใจ สุขใจ พอใจเท่ากันหมด

 บุญชนิดนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับบุคคลผู้รับ อยู่ที่การให้ของเรา

 อยู่ที่การเสียสละ อยู่ที่การมีความเมตตากรุณาต่อผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก

เดือดร้อน หรือต่อผู้ที่เรามีความสำนึกในบุญคุณ

 หรือต่อบุคคลที่เรามีความรักความชื่นชมยินดี

เราให้แล้วเราก็จะได้รับความสุขใจ ความสุขใจนี้เรียกว่าบุญอย่างหนึ่ง

แต่บุญอีกอย่างหนึ่งที่เราจะได้รับจากผู้ที่เราไปทำบุญด้วยนี้

ก็ต้องขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขาจะให้กับเราได้ ถ้าเราไปทำบุญกับคนธรรมดา

 เขาก็จะไม่มีธรรมะระดับพระอริยบุคคลมอบให้กับเรา

 คือเวลาเราคุยกับเขา เขาคุยเรา

เขาก็จะพูดไปตามภูมิจิตภูมิธรรมของเขา

 ถ้าเขาเป็นปุถุชนธรรมดา เขาก็จะพูดเรื่องของปุถุชนธรรมดา

ถ้าได้คุยกับพระโสดาบัน ได้ทำบุญกับพระโสดาบันแล้ว

ได้ฟังธรรม จากพระโสดาบัน ก็จะได้ธรรมระดับพระโสดาบัน

ที่อาจจะทำให้เราบรรลุเป็นพระโสดาบันได้จากการฟังธรรมจากท่าน

 อันนี้จะเป็นผลบุญขั้นที่ ๒ หรือส่วนที่ ๒

 อันนี้ขึ้นอยู่กับบุคคคลที่เราได้ทำบุญด้วย

ถ้าเราทำบุญกับพระโสดาบัน เราก็จะได้ธรรมะระดับโสดาบัน

 แต่เราจะไม่ได้ระดับที่สูงไปกว่านั้น

 ถ้าเราทำบุญกับพระสกิทาคามี เราก็จะได้ธรรมระดับสกิทาคามี

สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ถ้าเราทำบุญกับพระอนาคามี

เราก็จะได้ธรรมะระดับอนาคามี

ถ้าเราทำบุญกับพระอรหันต์เราก็จะได้บุญระดับพระอรหันต์

เป็นระดับสูงสุดคือพระนิพพาน

นี่คือบุญที่เราจะได้รับจากบุคคลที่เราไปทำบุญด้วย

 ถ้าเราต้องการบุญแบบนี้เราก็ต้องเลือกบุคคล

เราต้องหาคนที่มีธรรมะมากๆ ถ้าได้ทำบุญกับพระพุทธเจ้าเลย

ก็จะได้บุญอย่างมาก ได้ธรรมะอย่างมากที่สุดเลย

 รองลงก็พระอรหันต์ พระอนาคามี พระสกิทาคามี พระโสดาบัน

 ต่ำกว่านั้นถ้าได้ทำบุญกับพระธรรมดา

ฟังเทศน์ฟังธรรมจากพระธรรมดาก็จะไม่ได้ธรรมระดับโสดาบัน

ไม่ได้ธรรมระดับอริยบุคคล ก็จะได้ธรรมระดับของปุถุชน

 เช่นท่านจะสอนให้เราทำบุญให้ทาน ให้เรารักษาศีล ให้เรานั่งสมาธิ

 แต่ท่านจะไม่สอนธรรมระดับโลกุตตระ คือระดับของพระอริยบุคคล

 เราก็จะไม่ได้ธรรมระดับสูงไปกว่าขั้นสมาธิ

นี่คือเรื่องของการทำบุญแล้วเราได้รับอานิสงส์ที่แตกต่างไป

 มี ๒ ชนิดด้วยกัน จึงขอให้เรารู้จักแยกแยะ

 บางท่านก็บอกว่าทำบุญกับใครก็ได้บุญเหมือนกัน

ได้บุญเท่ากันอันนี้ก็ถูก

ถ้าบุญที่เกิดจากการเสียสละแบ่งปัน บุญที่เกิดจากมีความเมตตากรุณา

บุญที่ได้จากการชนะความตระหนี่ความโลภอยากได้เงินอยากได้ทอง

 อันนี้ทำกับใครก็ได้เหมือนกันหมด

แต่ถ้าบุญที่เกิดจากการฟังเทศน์ฟังธรรมอันนี้จะได้ไม่เหมือนกัน

 ถ้าทำกับบุคคลที่มีระดับธรรมะที่แตกต่างกันไป

ดังนั้นถ้าเราต้องการธรรมะเป็นผลตอบแทนจากการทำบุญ

 เราก็ต้องพุ่งไปหาพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ

 แต่ถ้าเราไม่ต้องการธรรมะ เราไม่ต้องการฟังเทศน์ฟังธรรม

 เช่นบางท่านไปวัดขอให้ได้ท่านถวายสังฆทาน

ขอให้พระสวดให้พรแล้วก็กรวดน้ำ เสร็จก็ขอกลับบ้าน

อย่างนี้ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปหาพระอริยบุคคล ทำกับพระธรรมดาก็ได้

 หรือไม่ต้องทำกับพระก็ได้ ทำกับพ่อกับแม่ที่บ้านก็ได้

พ่อแม่ก็เป็นพระพรหม ของลูกๆดีๆนี่เอง ก็จะได้บุญเหมือนกัน

แต่ถ้าอยากจะได้ดวงตาเห็นธรรมในระดับต่างๆอันนี้

ก็ต้องไปทำบุญกับผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรม

ก็คือพระอริยบุคคลตั้งแต่ขั้นโสดาบันขึ้นไป

พอได้ฟังเทศน์ได้ธรรมจากท่าน หูตาของเราก็จะสว่างขึ้นมา

จะสว่างมากสว่างน้อยสว่างช้าสว่างเร็ว ก็ขึ้นอยู่กับสติปัญญาของเรา.

.........................

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๖

“ฟังธรรมจากผู้รู้จริง”












ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 01 ธันวาคม 2558
Last Update : 1 ธันวาคม 2558 10:22:07 น.
Counter : 1771 Pageviews.

1 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ