Group Blog
All Blog
### คำว่าอนัตตาก็คือไม่มีตัวตน ###

















“คำว่าอนัตตาก็คือไม่มีตัวตน”

คำว่าอนัตตาก็คือไม่มีตัวตน เช่นต้นไม้นี้มีตัวตนหรือไม่

ก้อนหินมีตัวตนหรือไม่ น้ำฝนที่หล่นลงมานี้ มีตัวตนหรือไม่

 แต่ทำไมพอมารวมตัวกันเป็นร่างกายจึงเป็นตัวตนขึ้นมา

 มันก็ยังไม่มีตัวตนอยู่นั่นแหละ

ร่างกายนี้มาจากไหนก็มาจากดิน ดินผ่านทางอาหาร

ข้าวนี้มาจากไหน ผักมาจากไหน

 อาหารที่เรากินเข้าไปมันก็มาจากผัก มาจากข้าว

ผักกับข้าวก็มาจากดินจากน้ำจากลมจากไฟ

เพราะต้นข้าวถ้าไม่มีน้ำก็เจริญเติบโตไม่ได้

ไฟถ้าไม่มีความร้อนก็เจริญเติบโตไม่ได้

ถ้ามันหนาวแบบขั้วโลกเหนืออย่างนี้ ปลูกต้นไม้ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น

 ต้องมีความร้อนพอประมาณ มีน้ำหล่อเลี้ยงต้นไม้

 มีดินที่มีอาหารของต้นไม้ แล้วก็มีอากาศอ๊อกซิเจน ลมหายใจ

 ต้นไม้ก็ต้องมีอากาศหายใจเหมือนกัน

เมื่อมีธาตุทั้ง ๔ มีดินน้ำลมไฟก็ทำให้เกิดเป็นต้นข้าว เป็นต้นไม้

 เป็นผลหมากรากไม้ที่เรารับประทานเข้าไป

 พอเรารับประทานเข้าไปในร่างกาย มันก็เป็นผม เป็นขน

 เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง เป็นเนื้อ เป็นเอ็น เป็นกระดูก

 เป็นอวัยวะต่างๆ แล้วอวัยวะแต่ละชิ้นมันมีตัวตนหรือไม่

 ผมมันมีตัวตนหรือเปล่า ขนมีตัวตนหรือเปล่า

 เล็บ ฟัน หนัง มีตัวตนหรือเปล่า

 เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด

ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย สิ่งเหล่านี้มีตัวตนหรือไม่

เราต้องวิเคราะห์แบบนี้เราถึงจะเห็นว่ามันไม่มีตัวตน

 มันเป็นอาการที่เราตั้งชื่อต่างๆ เรียกมันว่าผม เรียกมันว่าขน

 เรียกมันว่าเล็บ เรียกว่าฟันไปเท่านั้น

 แต่มันก็เป็นเพียงสิ่งที่เกิดจากธาตุทั้ง ๔ คือดิน น้ำ ลม ไฟ

 แล้วเวลาที่ร่างกายหยุดทำงานไม่หายใจ อะไรเกิดขึ้น

ก็การแยกออกของธาตุทั้ง ๔ ลมก็ไม่เข้ามีแต่ลมออก

 กลิ่นที่เราได้รับกลิ่นของร่างกายก็เป็นลมออกมา

 ไฟก็หายไป ความร้อนในร่างกายก็หายไป

จากร่างกายของคนตายกับคนเป็นจะมีอุณหภูมิไม่เท่ากัน

ร่างกายของคนตายนี้จะเป็นอุณหภูมิของอากาศ รอบข้าง

 แต่ร่างกายของคนเป็นนี้จะอุ่นกว่า แล้วก็ไฟก็ไม่มี

น้ำก็จะไหลออกมา น้ำเหลืองน้ำอะไรต่างๆ ออกมาทางทวารต่างๆ

 ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไปเรื่อยๆ มันก็จะแห้งกรอบไป

ร่างกายตอนต้นก็ต้องเน่าก่อน ต้องขึ้นอืดก่อน

 ขึ้นอืดแล้วน้ำมันก็จะไหลออกมาแล้วมันก็จะฟุบลงไป

เน่าเปื่อยแล้วก็จะแห้งไป ทิ้งไปนานๆ มันก็จะผุจะพัง

กลายเป็นดินไป นี่คือร่างกายที่เราคิดว่าเป็นตัวเราของเรา

ผู้ที่คิดว่าเป็นตัวเราของเราไม่ได้อยู่ในร่างกาย

 แต่ผู้ที่คิดไม่รู้ ไปคิดว่าอยู่ในร่างกาย

ก่อนที่จะมีร่างกายนี้ผู้ที่คิดอยู่ที่ตรงไหน เคยถามตัวเองไหม

ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะมาเจอกันนี้เราอยู่ตรงไหน เราอยู่ที่ไหน??

 เรามาเป็นเราในร่างกายตอนที่เป็นร่างกาย

หรือว่าเป็นก่อนที่จะมีร่างกาย

นี่คือการพิจารณาก็เพื่อให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้

ที่เกิดขึ้นมา ปรากฏขึ้นมาให้เราเห็นนี้มันเป็นธรรมชาติ

มันไม่ใช่ตัวเราของเรา มันไม่มีตัวไม่มีตน

มันเป็นการผสมรวมกันของธาตุทั้ง ๔ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีชีวิต

 หรือไม่มีชีวิตก็มาจากธาตุทั้ง ๔ ต้นไม้ก็ต้องมีดินมีน้ำมีอากาศ

มีความร้อนมันถึงจะเจริญเติบโตได้

สิ่งต่างๆ เมื่อมันเจริญเติบโตถึงขีดหนึ่งแล้ว มันก็จะเสื่อมไป

 ต้นไม้ก็จะตายไป นี่คืออนิจจัง

อนัตตาก็คือไม่มีใครตาย ไม่มีใครเสื่อม

 เป็นการรวมตัวและการแยกตัวของดินน้ำลมไฟเท่านั้นเอง

ร่างกายก็แบบเดียวกันเหมือนต้นไม้

 ต่างจากต้นไม้ตรงที่มีจิตหรือมีใจมาสถิตย์อยู่มาครอบครองอยู่

แล้วตัวที่มีครอบครองก็หลงไปคิดว่า

 สิ่งที่มาครอบครองเป็นตัวของเขาเอง

ซึ่งตัวของเขาไม่ใช่ร่างกาย ตัวของเขาเป็นร่างทิพย์

 ตัวของเขาไม่มีรูปร่างเหมือนกับร่างกาย

แต่เขาไม่เคยมองเห็นตัวของเขาเอง เขาเห็นแต่ตัวเเทนของเขา

คือร่างกาย ก็เลยไปคิดว่าร่างกายนี้เป็นตัวเขา

 ถ้ามาปฏิบัติธรรม ธรรมจะเป็นเหมือนกระจกส่องให้เห็นใจ

 ให้เห็นจิตว่าไม่ใช่ร่างกาย

ผู้ปฏิบัติธรรมจิตสงบแล้วจะเห็นว่าร่างกายกับจิตใจนี้แยกกัน

 ร่างกายนี้จะเป็นเหมือนท่อนไม้ท่อนฟืน เวลาจิตที่สงบ

 ส่วนจิตใจนี้ก็คือผู้รู้ก็จะปรากฏขึ้นมาให้เห็น ได้อย่างชัดเจน

ผู้รู้ผู้คิดนี้ก็จะเห็นว่าเป็น ๒ ส่วนกัน

ร่างกายเป็นส่วนหนึ่ง ผู้รู้ผู้คิดเป็นอีกส่วนหนึ่ง

มารวมกันในขณะที่ตั้งครรภ์อยู่ในท้องแม่ อยู่ในครรภ์ของแม่

 แล้วก็มาแยกกันที่โรงพยาบาลหรือที่วัด

 จิตก็ไปทางหนึ่ง ร่างกายก็ไปอีกทางหนึ่ง

ร่างกายก็ไปสู่เมรุ ถูกไฟเผาก็กลายเป็นขี้เถ้ากลายเป็นเศษกระดูกไป

ส่วนจิตที่ยังมีกรรมอยู่ก็ไปเกิดใหม่ ไปได้ร่างกายอันใหม่ต่อไป

 ก็จะวนเวียนอยู่อย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ท่านถึงเรียกว่า การเวียนว่ายตายเกิด

ผู้ที่เวียนว่ายตายเกิดคือจิต ไม่ใช่ร่างกาย

 ร่างกายนี้ไม่สามารถที่จะไปไหนได้ พอตายไปแล้ว

 ก็ต้องกลับคืนสู่ธาตุเดิม กลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟไป

ส่วนจิตนี้ไม่มีวันตาย เมื่อยังมีกรรมอยู่ก็ต้องไปเกิดต่อไป

 ถ้าไม่อยากจะเกิดก็ต้องหยุดกรรมให้ได้

กรรมที่เป็นตัวผลักดันให้จิตไปเกิดก็คือตัณหาความอยากต่างๆ

 การมาปฏิบัติก็เพื่อมาตัดมาหยุดความอยากต่างๆ

ถ้าไม่มีความอยากแล้ว จิตก็ไม่ต้องไปหาร่างกาย

ไม่ต้องไปได้ร่างกายอันใหม่ มาทุกข์กับร่างกายอยู่เรื่อยๆ

จิตก็จะอยู่โดยที่ไม่ต้องมีร่างกาย นี่คือเรื่องของอนัตตา

 ไม่มีตัวตน มีธาตุ ๔ และมีธาตุรู้คือจิต

 ตัวตนเป็นความคิดปรุงเเต่งขึ้นมาของจิตเอง

 คิดว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมา แต่เป็นเพียงความคิดไม่ใช่เป็นความจริง

เวลาจิตหยุดคิดเมื่อไร ตัวตนก็จะหายไปเมื่อนั้น

มันเกิดจากความคิดแล้วก็ไปหลงยึดติดกับความคิดนั้นว่าเป็นความจริง

ผู้ที่ปฏิบัติที่สามารถหยุดความคิดได้จะเห็นความแตกต่าง

เวลาที่มีความคิดกับเวลาที่ไม่มีความคิด

เวลาที่มีความคิดจะมีความรู้สึกว่ามีตัวมีตนอยู่

พอหยุดความปรุงเเต่งไปก็จะเหลือแต่ความว่าง

 ไม่มีตัวไม่มีตนให้มีความรับรู้อยู่ อันนี้ต้องปฏิบัติถึงจะเห็นได้ชัดเจน

 การพูดนี้ก็เป็นเพียงแต่วาดภาพให้เห็นแบบสังเขปเท่านั้นเอง

 วาดอย่างไร ถ้ายังไม่ได้ปฏิบัติก็จะไม่เห็น

ก็ยังจะสงสัยอยู่อย่างนั้น เหมือนคนที่ถูกปิดตาด้วยผ้า

ถ้าอยากจะเห็นว่าภาพต่างๆ

ที่คนอื่นที่เขาไม่ได้ ถูกผ้าปิดตาไว้เห็นเป็นอย่างไร

ก็ต้องเอาผ้าปิดตาออกแล้วลืมตาขึ้น ถ้าลืมตาขึ้นแล้วก็จะเห็น

เหมือนกับคนที่เขาไม่มีผ้าปิดตา ปิดตาเขาไว้

ดังนั้นการปฏิบัติธรรมนี้ก็เป็นการเอาผ้าที่ปิดตาในออก

ผ้าที่ปิดตาในก็คือโมหะอวิชชา ความหลงความไม่รู้ความจริง

 การปฏิบัติท่านถึงเรียกว่าเป็นการเปิดตาใน

 ตาในนี้คือปัญญาที่จะเห็นว่า

ทุกอย่างเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั่นเอง

ดังนั้ต้องเกิดจากการปฏิบัติจึงจะหายสงสัย

ถ้ายังไม่ได้ปฏิบัติก็เหมือนตาบอดคล้ำช้าง

เคยได้ยินเรื่องตาบอดคล้ำช้างไหม

คนตาบอด ๔- ๕ คน ไปคลำช้างกันแล้วก็มานั่งเถียงกันว่า

ช้างเป็นอย่างนั้นช้างเป็นอย่างนี้ เพราะไปคลำคนละที่กัน

หรือเห็นเพียงบางส่วน ไปจับท้องช้างก็ว่าเหมือนฝาผนัง

 ไปจับหางช้างก็ว่าเป็นเหมือนเชือก

ไปจับงวงช้างก็ว่าเป็นเหมือนงู

 ไปจับงาก็ว่าเป็นหอก มันก็ทุกคนแต่ไม่ถูกหมด

แล้วมานั่งถกเถียงกัน ดังนั้นการที่จะเห็นอะไรได้อย่างชัดเจนนี้

ต้องเห็นด้วยการปฏิบัติ เหมือนกับโบราณที่พูดว่า

๑๐ ปากว่าไม่เท่า ๑ ตาเห็น คนที่เขาเคยไปเที่ยวต่างประเทศมา

เขามาเล่าให้เราฟังว่าประเทศนั้นเป็นอย่างนี้ประเทศนี้เป็นอย่างนั้น

เราฟังแล้วเราก็ได้แต่จินตนาการไป

เราก็ยังไม่รู้ว่าความเป็นจริงมันเป็นอย่างไร

นกว่าเราจะไปที่ประเทศนั้นแล้ว ไปสัมผัสไปดูไปเห็น

เราก็จะไม่สงสัยว่าสิ่งที่เขาพูดเขาเล่ามานี้เป็นอย่างไรกันแน่

 ดังนั้นการฟังนี้เป็นเหมือนกับการดูภาพยนต์ตัวอย่าง

เพื่อที่จะทำให้เกิดความสนใจที่อยากจะดูทั้งเรื่อง

การฟังเทศน์ฟังธรรมนี้ก็เพื่อที่จะปลูกศรัทธา ความเชื่อ

ความสนใจให้ไปศึกษาไปปฏิบัติ

 เพื่อจะได้เห็นของจริงที่เรายังมองไม่เห็น.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..................................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๘

“พัฒนาอินทรีย์ ๕ ให้เป็นพละ ๕”












ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 10 มกราคม 2559
Last Update : 10 มกราคม 2559 10:41:09 น.
Counter : 1229 Pageviews.

0 comment
### พัฒนาอินทรีย์ 5 ให้เป็นพละ 5 ###

















“พัฒนาอินทรีย์ ๕ ให้เป็นพละ ๕”

การที่จะทำให้การปฏิบัติเป็นมรรคเป็นผลขึ้นมาได้นี้

อยู่ที่การพัฒนาอินทรีย์ ๕ ให้เป็นพละ ๕

อินทรีย์ ๕ คืออะไร ก็คือ

๑. ศรัทธา ความเชื่อ

๒. วิริยะ ความพากเพียร

 ๓. สติ ความระลึกรู้

๔. สมาธิ ความตั้งมั่น และ

 ๕.ปัญญา ความฉลาด

อินทรีย์ ๕ นี้มีอยู่ในผู้ปฏิบัติที่เริ่มต้นปฏิบัติคือในปุถุชน

 ยังไม่ได้เป็นพละ ๕ ถ้าเป็นพละ ๕ นี้ ก็จะเข้าสู่ระดับ

ของพระอริยบุคคล การปฏิบัติจึงต้องเน้นในการเจริญอินทรีย์ทั้ง ๕ นี้

ให้เป็นพละ ๕ ขึ้นมา อินทรีย์นี้กับพละนี้ เปรียบเหมือนกับร่างกาย

 อินทรีย์นี้เป็นเหมือนร่างกายของเด็ก

ที่ยังไม่มีกำลังวังชาเหมือนกับร่างกายของผู้ใหญ่

เด็กจะทำอะไรให้ได้ผลเหมือนกับผู้หลักผู้ใหญ่นี้ย่อมเป็นไปไม่ได้

 แต่ผู้ใหญ่ก็มาจากเด็กนี่เอง ก่อนที่จะเป็นผู้ใหญ่ได้

ก็ต้องเป็นเด็กมาก่อน แต่เนื่องจากได้รับการพัฒนาจากเด็ก

ให้เจริญเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ตามลำดับ

พอเป็นผู้ใหญ่เต็มที่แล้วก็สามารถทำอะไรต่างๆ ให้ได้ผล

 ให้ได้รับความสำเร็จลุล่วงไปได้อย่างดี

ใจของพวกเราก็เหมือนกัน

ใจของนักปฏิบัติในตอนเริ่มต้นก็มีเพียงอินทรีย์ ๕

 มีศรัทธาที่ยังไม่แน่วแน่ มีความเพียรที่ยังไม่แก่กล้า

มีสติที่ยังไม่ต่อเนื่อง มีสมาธิที่ยังไม่ตั้งมั่น

มีปัญญาที่ยังไม่รอบคอบไม่กว้างขวาง

ยังมองไม่เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามความเป็นจริง

จึงจำเป็นที่จะต้องมาพัฒนาศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ

 และปัญญานี้ ให้เป็นศรัทธาที่ไม่หวั่นไหว ที่แน่วแน่มั่นคง

ความเพียรที่แก่กล้า มีสติการระลึกรู้อยู่อย่างต่อเนื่อง

 มีจิตที่ตั้งมั่นอยู่ในความสงบตลอดเวลา

มีปัญญาที่คอยพิจารณาดูสภาวธรรมทั้งหลาย

 ตามความเป็นจริงอยู่ตลอดเวลา

นี่คือสิ่งที่เราจำเป็นจะต้องพัฒนากัน

การที่จะทำให้ศรัทธาที่เป็นอินทรีย์นี้เป็นศรัทธาที่เป็นพละหรือพลัง

 จำเป็นที่จะต้องศึกษาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ศึกษาพระประวัติของพระพุทธเจ้าอยู่เรื่อยๆ

ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่เรื่อยๆ

และศึกษาประวัติของพระอริยสงฆ์สาวกอยู่เรื่อยๆ

 ถ้าเราศึกษาไปเรื่อยๆ เราก็จะไม่หลงไม่ลืม

 แล้วจะทำให้เรา มีความมั่นใจในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

จะทำให้เรามีความมั่นใจต่อการปฏิบัติ

เพราะเราจะมีความมั่นใจว่าถ้าเราปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้า

และพระอริยสงฆ์สาวกได้ปฏิบัติ เราก็จะได้รับผลเช่นเดียวกัน

กับพระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์สาวก

นี่คือการสร้างศรัทธาขึ้นมาให้เป็นศรัทธา ที่แน่วแน่มั่นคง

 ไม่สั่นคลอน ถ้าเราไม่ได้ศึกษา เวลาที่เรามีความท้อแท้ เบื่อหน่าย

เราก็อาจจะหมดศรัทธาไปก็ได้

หรือเราไปเห็นอะไรที่ไม่ดีไม่งาม

 ก็อาจจะทำให้เราเสื่อมศรัทธาไปก็ได้

 แต่สิ่งที่เราเห็นนี้ที่ทำให้เราเสื่อมศรัทธานี้

มันไม่ได้เป็นตัวแทนของพระพุทธศาสนา

เช่นไม่ได้เป็นพระอริยสงฆ์สาวก ถ้าเป็นพระอริยสงฆ์สาวกแล้ว

 เราจะไม่มีวันที่จะเสื่อมศรัทธากับท่านไป

 เพราะว่าการประพฤติการปฏิบัติของท่านนี้จะเป็นที่ยอมรับ

 เป็นการปฏิบัติที่น่าเลื่อมใสศรัทธา

ถ้าเราไปหลง ไปเคารพ ไปศรัทธาในพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง

ที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยสงฆ์ โอกาสที่ท่านอาจจะพลาดพลั้ง

หรือประพฤติตนไปในทางเสื่อมเสียก็ย่อมมีอยู่

และเมื่อท่านไปประพฤติตน ที่ไม่น่าเลื่อมใสศรัทธา

ถ้าเรายึดในองค์ท่านเป็นสรณะเป็นที่พึ่ง

ก็อาจจะทำให้เราเสื่อมศรัทธาไปก็ได้

ดังนั้นการที่เรายึดหรือมีความเลื่อมใสศรัทธา

อยู่กับพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งนั้น เราต้องระมัดระวัง

ต้องพิจารณาหรือต้องคอยเตือนเสมอว่า เราอยู่ในโลกอนิจจัง

คือโลกที่ไม่มีความเที่ยงแท้แน่นอน

บุคคลที่เราเคารพเลื่อมใสศรัทธา

 อาจจะยังไม่ได้เป็นบุคคลที่จะไม่มีวันที่จะทำให้

เราต้องเสื่อมศรัทธาลงไป

บุคคลที่จะทำให้เราไม่เสื่อมศรัทธาลงไปนี้ ก็คือผู้ที่ปฏิบัติดี

 ปฏิบัติชอบและได้หลุดพ้นและได้จากพวกเราไปแล้ว

ดังนั้นบางทีเราต้องระลึกถึงผู้ที่เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ

ครูบาอาจารย์ต่างๆ ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว

ถ้าเราไปยึดติดกับบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่

บางทีท่านอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดก็ได้

 และเวลาที่ท่านมีอะไรเป็นไปกับท่าน

 เราก็อาจจะเกิดวามเสื่อมศรัทธาขึ้นมา

 แต่ถ้าเราผูกศรัทธาของเราไว้กับพระพุทธเจ้า

กับพระอริยสงฆ์สาวกที่ได้รับการยืนยันแล้ว

เช่น ท่านมรณภาพไปแล้วกระดูกของท่าน

ได้กลายเป็นพระธาตุไปแล้ว อย่างนี้จะไม่ให้เราเสื่อมศรัทธา

 เราควรจะศึกษาประวัติของท่าน

 แล้วก็เอาแนวทางของการปฏิบัติของท่านนี้ มาเป็นแบบเป็นฉบับ

นี่คือเรื่องของการสร้างศรัทธาขึ้นมา

การที่เราจะเกิดศรัทธาได้เราก็ต้องรู้จักบุคคล

หรือสิ่งที่เรามีความศรัทธา เช่นบุคคลก็คือพระพุทธเจ้า

 และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

ที่กระดูกของท่านนั้นได้กลายเป็นพระธาตุไปหมดแล้ว

 แสดงว่าท่านเป็นผู้ที่ได้บรรลุมรรค ผล นิพพานแล้ว

 การปฏิบัติของท่านเป็นการปฏิบัติที่จะนำให้ผู้ปฏิบัติตาม

ได้รับมรรค ผล นิพพาน เช่นเดียวกัน

 นี่ก็คือเรื่องของการศึกษาประวัติของพระพุทธเจ้าก็ดี

 หรือของพระอรหันตสาวกก็ดี

 ศึกษาเพื่อให้เราเอามาเป็นแบบเป็นฉบับเอามาเป็นตัวอย่าง

 แล้วก็ศึกษาคำสอนของท่าน ท่านสอนให้เราปฏิบัติอย่างไร

ท่านก็สอนให้เรามีศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

สอนให้เรามีความเพียรพยายามที่จะปฏิบัติไม่ท้อถอย ไม่ย่อหย่อน

 ไม่หยุด ไม่ยอมแพ้ ท่านสอนให้เราหมั่นเจริญสติตลอดเวลา

ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ท่านสอนให้เรานั่งสมาธิ เพื่อทำใจให้ตั้งมั่น

อยู่ในความสงบอยู่ในอุเบกขา แล้วพอถอนออกมาจากสมาธิ

ท่านก็สอนให้เราพิจารณาทางปัญญา

 ให้พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในทุกสิ่งทุกอย่าง

ในสภาวะธรรมทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม

 เป็นวัตถุหรือเป็นบุคคลล้วนเป็นอนิจจังทั้งนั้น

 คือเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ

 ช้าบ้างเร็วบ้าง มีการเกิด มีการดับ มีการเจริญมีการเสื่อม

 เป็นอนัตตาก็คือไม่ได้เป็นของใคร เป็นของธรรมชาติ

เป็นธรรมชาติที่ไม่มีใครที่จะไปสั่ง ให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

 หรือสั่งไม่ให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ได้

ถ้าอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ก็จะต้องเกิดความเสียใจ

 เกิดความทุกข์ใจ เพราะจะไม่ได้ดังใจอยากนั่นเอง

นี่คือเรื่องของการศึกษาเพื่อเสริมสร้างศรัทธา

ให้มีอยู่ในจิตใจอยู่เรื่อยๆ เพราะถ้าเสื่อมศรัทธาเมื่อไหร่แล้ว

 มันก็จะไม่มีกำลังใจที่อยากจะปฏิบัติจะไม่มีความเพียร

แต่ถ้าเรายังมีศรัทธาอยู่ ศรัทธานี้จะผลักดันให้เรามีความพากเพียร

 พากเพียรที่จะปฏิบัติอยู่อย่างสม่ำเสมอ

จะทำให้เราอยากจะปฏิบัติ ให้มากขึ้นไปตามลำดับ

และเมื่อเราปฏิบัติได้มากขึ้นไป ผลก็จะปรากฏมากขึ้นไปตามลำดับ

 เมื่อผลปรากฏมากขึ้นมาเท่าไหร่

ศรัทธาความเชื่อก็ยิ่งจะมีมากขึ้นไปตามลำดับ

เมื่อศรัทธามีความเจริญเติบโต

 วิริยะคือความพากเพียร ก็จะมีการเจริญเติบโตตามขึ้นมา

 มีศรัทธาแรงก็จะทำให้ปฏิบัติได้มาก

 มีศรัทธาน้อยก็จะปฏิบัติได้น้อย

ดังนั้นถ้าเราอยากที่จะให้การปฏิบัติของเรานั้นได้ผลมาก

เราก็ต้องหมั่นเจริญศรัทธาอยู่เรื่อยๆ.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต


....................................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๘

“พัฒนาอินทรีย์ ๕ ให้เป็นพละ ๕”











ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 09 มกราคม 2559
Last Update : 9 มกราคม 2559 10:33:03 น.
Counter : 2563 Pageviews.

0 comment
### อานิสงส์ของการเจริญสติ ###
















“อานิสงส์ของการเจริญสติ”

การปฏิบัติรักษาใจต้องให้สตินี้เป็นผู้นำ

 สติจะเป็นผู้นำได้ ผู้ปฏิบัติก็จะต้องให้ความสำคัญ

กับการเจริญสติตลอดเวลานั่นเอง

ทรงสอนให้เจริญสติตั้งแต่ลืมตาขึ้นมา

พอลืมตาขึ้นมาก็ต้องตั้งสติกันทันที

วิธีที่จะตั้งสตินี้ก็มีวิธีหลากหลายด้วยกัน

เช่นพุทธานุสติ หรือกายคตาสติ มีหลากหลายมี ๔๐ วิธี

ถ้าอยากจะใช้วิธีใดก็สามารถเลือกใช้ได้

 ซึ่งอาจจะใช้สลับกันไปเปลี่ยนกันไป แล้วแต่วาระโอกาสก็ได้

แต่โดยปกติแล้วจะใช้วิธีใดวิธีหนึ่งเป็นหลัก

 แล้วก็วิธีอื่นนี้เอามาใช้ ในกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้

 เช่นเราปกติอาจจะใช้พุทธานุสติกัน คือให้บริกรรมพุทโธไปเรื่อยๆ

หรือใช้กายคตาสติก็เฝ้าดูการเคลื่อนไหวของร่างกาย

 ในทุกอิริยาบถในทุกการกระทำเพื่อผูกใจไว้

ไม่ให้ลอยไป ตามอารมณ์ต่างๆที่จะทำให้ใจไม่ตั้งมั่น

ที่จะทำให้ใจไหลไปตามกระแสของตัณหาความอยากต่างๆ

 จำเป็นที่จะต้องมีอะไรฉุดลากเอาไว้ดึงเอาไว้

ต้องมีสติเป็นสิ่งที่จะดึงใจไว้

ดังนั้นการมีสติก็จะต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นที่ตั้งของสติ

 เช่นพุทธานุสติก็มีพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง

 มีพระพุทธคุณเป็นที่ตั้ง หรือมีชื่อของพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง

ถ้ามีพุทธคุณก็รำลึกถึงพระพุทธคุณ

ด้วยการสาธยายท่องบทพุทธคุณไป

เช่นอิติปิโส อะระหังสัมมา สวากขาโต อิติปิโส ภควาเป็นต้น

 อันนี้ก็เรียกว่าเป็นพุทธานุสติ หรือถ้าจะเอาแบบสั้นๆก็พุทโธๆไป

 อันนี้เรียกว่าเป็นการเจริญสติ เพื่อที่จะได้ดึงใจไว้

ให้ตั้งอยู่ในความสงบ เพราะใจที่ตั้งอยู่ในความสงบนี้

จะมีความสุขในตัวของมันเอง

 จะทำให้ไม่ต้องไหลไปตามกระแสของความอยากต่างๆ

 แล้วก็จะสามารถทำให้หยุดความอยากต่างๆ ได้

นี่คือสิ่งที่ผู้ปฏิบัติพยายามเพียรสร้างกันขึ้นมา

 คือพุทธานุสติ ถ้าจริตชอบกับพุทธานุสติก็ใช้พุทธานุสติ

 ถ้าจริตชอบกับกายคตาสติ ก็ใช้การเฝ้าดู

การเคลื่อนไหวของร่างกายเป็นหลัก

แล้วถ้าเวลามานั่งสมาธิ มานั่งหลับตาก็จะใช้อานาปานสติก็ได้

 คือการดูลมหายใจเข้าออกแทนดูการเคลื่อนไหวของร่างกาย

 ที่ตอนนี้ไม่มีการเคลื่อนไหวแล้ว เวลาที่นั่งหลับตานั่งอยู่เฉยๆ

 กายก็จะไม่ได้มีการเคลื่อนไหวอะไร

ก็ต้องดูสิ่งที่ยังมีการเคลื่อนไหวอยู่ก็คือลมหายใจเข้าออก

ก็ตั้งสติอยู่ลมหายใจเข้าออก ให้ดูลมที่เข้ามาทางจมูก

 แล้วก็ออกไปทางปลายจมูกให้เฝ้าจดจ่ออยู่ตรงจุดเดียว

ถ้าใช้อานาปานสติก็ไม่ต้องตามลมเข้าไปไม่ต้องตามลม ออกมา

ให้ดูอยู่ตรงจุดที่ลมสัมผัสเข้าออกก็พอ

 แล้วก็ไม่ต้องควบคุมบังคับลมให้รู้ตามสภาพความเป็นจริง

ของลมหายใจสั้นก็รู้ว่าหายใจสั้น หายใจยาวก็รู้ว่าหายใจยาว

 ลมจะหยาบก็รู้ว่าหยาบ ลมจะละเอียดก็รู้ว่าละเอียด

หรือลมหายไปก็ให้รู้ว่าลมหายไป ไม่ต้องวิตกไม่ต้องตกใจ

 ไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์ว่าลมหายไปแล้ว เราจะไม่ตายไปหรือ

ไม่ต้องกลัวไม่ตายถ้ามีสติเฝ้าดูอยู่

 ให้สักแต่ว่ารู้ไปตามความเป็นจริง

 รู้ว่าตอนนี้ลมไม่มีเสียแล้วก็รู้ไปเท่านั้นเอง

ตราบใดมีการรับรู้อยู่นี้จะไม่มีความตายอย่างแน่นอน อย่าไปตกใจ

 เพราะตกใจแล้วจะทำให้เผลอสติ ขาดสติแล้ว

การภาวนาก็จะล้มเหลวไป จะไปไม่เข้าสู่จุดที่เราต้องการจะไป

 ก็คือการรวมเป็นหนึ่งของใจที่จะตามมาต่อไป

ถ้าไม่มีการตกอกตกใจถ้ามีสติประคับประคองใจ

ให้สักแต่ว่ารู้ไปเรื่อยๆ รู้กับการไม่มีลมนั่นแหละ

 รู้กับการไม่มีอะไรให้รู้นั่นเเหละ รู้อยู่อย่างนั้นไป

 อย่าไปคิดปรุงเเต่ง ถ้าคิดปรุงเเต่งแล้วจิตก็จะถอยออกมา

แทนที่จะเข้าลึกเข้าไปก็จะไม่สามารถเข้าไปได้

นี่ในกรณีของผู้ที่ใช้กายคตาสติแล้วก็เปลี่ยนมาใช้อานาปาสติ

เวลานั่งสมาธิ ถ้าใช้พุทธานุสติก็เวลานั่ง

ก็สามารถใช้พุทธานุสติต่อไปได้

หรือจะเปลี่ยนเป็นอานาปานสติก็ได้ไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด

 บางท่านก็เลยใช้ทั้ง ๒ อย่างผสมกัน

เวลานั่งดูลมด้วยแล้วก็พุทธานุสติด้วยคือผสมกัน

เช่นบริกรรมคำว่าพุทเวลาหายใจเข้า

เวลาหายใจออกก็บริกรรมว่าโธ พุทเข้าโธออกไป

อันนี้ก็แล้วแต่ความถนัดและผลที่ได้รับ ถ้าได้ผลดีก็ทำไป

ถ้าไม่ได้ผลดีก็อย่าทำ บางท่านว่ายุ่งยากสับสน

บางทีก็เผลอปั๊บเลยไม่รู้ว่าพุทเข้าหรือโธออก อันนี้ก็แล้วแต่

 หรือบางเวลาอยากจะบริกรรมให้เร็วขึ้นให้ถี่ขึ้น

ก็จะไม่สามารถทำได้ถ้าผูกพุทโธไว้กับลม

 เพราะลมนี้มันจะมีจังหวะของมันจะให้มันเร็วตามมันไม่เร็วตาม

 เพราะว่าบางเวลา เราอาจจะต้องใช้คำบริกรรม

ช่วยให้นั่งอยู่ให้ผ่านทุกขเวทนาไป

เวลาเกิดทุกขเวทนาขึ้นมาถ้ายังพุทเข้าโธออกอยู่นี้มันจะมีช่องว่าง

ทำให้ตัณหาความอยากโผล่ออกมา สร้างความทุกข์

ความวุ่นวายใจได้ ถ้าไม่อยากจะให้มีช่องว่าง

ก็ต้องให้มีการบริกรรมพุทโธให้ถี่

ถ้าต้องการบริกรรมพุทโธให้ถี่ก็อย่าไปสนใจลมหายใจเลย

ให้เกาะติดอยู่กับคำบริกรรมเพียงอย่างเดียว พุทโธๆๆ

 ให้ถี่ขึ้นไปเลย เพื่อจะได้ไม่มีช่องว่าง

ให้ตัณหาความอยากโผล่ขึ้นมาสร้างความทุกข์ให้แก่ใจ

เพราะว่าถ้ามีตัณหาความอยากโผล่ขึ้นมา

เช่นอยากให้ความเจ็บหายไปหรืออยากจะขยับร่างกาย

 มันก็จะทำให้เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

เกิดความเครียดขึ้นมาภายในใจจะทำให้ทนนั่งอยู่ต่อไปไม่ได้

แต่ถ้าเราสามารถบริกรรมให้ถี่ขึ้น

เพื่อที่จะไม่ให้มีความอยากโผล่ขึ้นมา

ใจก็ยังจะสามารถนั่งภาวนาต่อไปได้ และผ่านทุกขเวทนาไปได้

 เข้าสู่ความสงบได้ด้วยกำลังของการบริกรรมพุทโธๆ

 เรียกว่ากำลังของสติ ทำให้เราสามารถที่จะผ่านทุกขเวทนาไปได้

อันนี้ก็เป็นขั้นต้นของการต่อสู้กับทุกขเวทนา

แต่เป็นการชนะที่ไม่ถาวร เป็นการชนะเฉพาะครั้งไป

 ครั้งต่อไป เวลาเจอทุกขเวทนา ใจก็จะเกิดตัณหาความอยาก

เกิดความทุกข์ใจขึ้นมาอีก ถ้าอยากจะกำจัดความทุกข์ใจ

 ที่เกิดจากการได้พบกับทุกขเวทนา

ไม่ให้ทุกข์กับทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นก็จำเป็นที่จะต้องใช้ปัญญา

 ถ้ามีสมาธิแล้ว ถ้าผ่านทุกขเวทนาด้วยสติ

จนจิตรวมเข้าไปสู่ความสงบได้แล้ว

 ครั้งต่อไปก็สามารถหัดใช้ปัญญา

แยกแยะ ร่างกายออกจากเวทนา แยกแยะใจออกจากเวทนาให้ได้

 ถ้าแยกแยะว่าใจก็เป็นผู้รู้ ร่างกายก็เป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ

 เวทนาก็เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏขึ้นมาให้ใจรับรู้เท่านั้น

และก็เป็นอนัตตา ร่างกายก็เป็นอนัตตา เวทนาก็เป็นอนัตตา

 ใจก็เป็นธาตุรู้ เป็นผู้รู้ สักแต่ว่ารู้เท่านั้น

ถ้าใจพิจารณาแล้ว ปล่อยวางธรรมทั้ง ๓

 ให้เป็นไปตามธรรมชาติของเขา

คือ ปล่อยให้ธาตุ ๔ อยู่ไปตามเรื่องของธาตุ ๔

ปล่อยให้เรื่องเวทนาเป็นไปตามเรื่องของเวทนา

 ปล่อยให้ผู้รู้เป็นสักแต่ว่ารู้ไป ไม่มีการมาปรุงเเต่งว่าเราทุกข์

เวทนาเป็นเรา เราเป็นเวทนา ร่างกายเป็นเรา เราเป็นร่างกาย

ถ้าไม่มีความคิดปรุงเเต่งเหล่านี้ปรากฏขึ้นมาใจก็จะสักแต่ว่ารู้ได้

ก็จะปล่อยให้เวทนาแสดงความเป็นเวทนาของเขาได้

ปล่อยให้ร่างกายเป็นร่างกายของเขาได้

คือปล่อยให้ร่างกายเป็นดินน้ำลมไฟ

 ปล่อยให้เวทนาเป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไปได้

ปล่อยให้ใจเป็นผู้รู้ได้ ให้สักแต่ว่ารู้ได้

ถ้าพิจารณาแยกแยะธรรมทั้ง ๓ ให้ออกจากกันว่า เป็นธรรมชาติ

 เป็นสิ่งที่เขาไม่มีปัญหาต่อกัน

ผู้ที่มีปัญหาก็คือเอาสิ่งทั้ง ๓ นี้มาปนกัน

 มารวมกันว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา

ก็เลยทำให้เกิดตัณหาความอยากขึ้นมา

 ความอยากให้ทุกขเวทนาหายไป ความอยากให้ร่างกายสบาย

 มันก็จะทำให้เกิดทุกข์ในอริยสัจ ๔ เกิดความทุกข์ทรมานใจขึ้นมา

 แต่ถ้าเเยกแยะได้ด้วยปัญญาว่า ธรรมทั้ง ๓ นี้เป็นอนัตตา

ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เวทนาก็ไม่มีใครเป็นเจ้าของ

 ร่างกายก็ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ใจก็ไม่มีใครเป็นเจ้าของ

 ปล่อยให้เขาเป็นไปตามธาตุเดิมของเขา ธรรมชาติเดิมของเขา

 ปล่อยให้เขาเป็นไปสักแต่ว่าเป็น สักแต่ว่ารู้ไป

ร่างกายก็สักแต่ว่าเป็นร่างกาย เวทนาก็สักแต่ว่าเป็นเวทนา

 ใจก็เป็นสักแต่ว่าใจ ถ้าแยกแยะธรรมทั้ง ๓ นี้ได้

ใจก็จะนิ่งเป็นอุเบกขาปล่อยวางได้ จะไม่วุ่นวายไม่เดือดร้อน

กับทุกขเวทนาอีกต่อไป

ต่อไปข้างหน้าเจอทุกขเวทนาก็จะสักแต่ว่ารู้ จะเฉยๆ

 จะเป็นอุเบกขากับเวทนา จะเป็นอุเบกขากับร่างกาย

เวลาที่ร่างกายเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย

หรือเวลาที่ร่างกายถึงแก่ความตายไปก็จะสักแต่ว่ารู้

ว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟเท่านั้นเอง

นี่คือวิธีการของการใช้ปัญญาในการแก้ปัญหาของทุกขเวทนา

และ ปัญหาความตายของร่างกายควบคู่มกันไปได้เลย

อันนี้ก็เป็นอีกขั้นหนึ่ง ขั้นต้นนี้ต้องเจริญสติเพื่อให้ได้สมาธิก่อน

 เมื่อมีสมาธิแล้วก็จะมีกำลังที่จะมาแยกแยะธรรมต่างๆ เหล่านี้ได้

 ถ้าไม่มีสมาธิ พอเกิดทุกขเวทนาขึ้นมานี้

สังขารความคิดปรุงเเต่ง อวิชชาโมหะมันจะเข้ามาว่าเป็นตัวเราของเรา

 เรากำลังทุกข์เรากำลังเจ็บ เรากำลังจะตาย

 ก็เกิดตัณหาความอยากไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตายขึ้นมา

 ก็จะเกิดความทุกข์ทรมานใจ

โดยที่จะไม่สามารถที่จะประคับประคองใจให้ตั้งอยู่ในความสงบได้

ก็จะไปทำอะไรต่างๆเพื่อที่จะมาดับความทุกข์ทรมานใจ

ที่ไม่ใช่เป็นวิธีก็คือไปแก้ที่ร่างกาย ไปแก้ที่เวทนา

แก้เท่าไรก็ไม่มีวันแก้ได้ เพราะในที่สุดร่างกายก็ต้องตายไป

ร่างกายที่เจ็บในวันนี้ถ้ารักษาให้หาย พรุ่งนี้มันก็ต้องมาเจ็บใหม่อยู่ดี

แล้วก็ต้องมาทุกข์ใหม่ ถ้าไม่แก้ด้วยสมาธิ ไม่แก้ด้วยปัญญา

 ไม่แก้ด้วยสติ ก็จะไม่มีวันที่จะแก้ปัญหาใจได้อย่างถาวร

ใจก็จะต้องทุกข์กับมันไปเรื่อยๆ ไม่สบายวันนี้ก็ไปรักษาให้มันหาย

 ความไม่สบายใจก็หายไปกับความไม่สบายของร่างกาย

แต่พอวันข้างหน้าร่างกายกลับมาไม่สบายใหม่

ใจก็กลับมาไม่สบายใหม่ แต่ถ้ารักษาด้วยธรรมด้วยปัญญา

 รักษาจนใจไม่ทุกข์กับความเจ็บของร่างกาย

 ไม่ทุกข์กับทุกขเวทนาแล้ว

วันพรุ่งนี้วันข้างหน้าเกิดทุกขเวทนาขึ้นมาใหม่

เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาใหม่ ใจจะไม่เดือดร้อน ใจจะเฉยๆ

 อยู่กับมันไปได้ รักษาได้ก็รักษาไป รักษาไม่ได้ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร

ก็ปล่อยให้มันเป็นของมันไปจนกว่ามันจะหายของมันไปเอง

 เพราะทุกสิ่งทุกอย่างไม่ช้าก็เร็ว มันก็ต้องมีวันสิ้นสุดลง

ทุกขเวทนามันจะรุนแรงขนาดไหนยาวนานขนาดไหน

 ในสักวันหนึ่งมันก็หยุดมันก็ต้องหมด

 เช่นเวลาที่ร่างกายนี้ตายไปแล้วไม่มีลมหายใจแล้ว

ทุกขเวทนาที่อยู่กับร่างกายมันก็จะหมดสภาพไป

 ตามการหมดสภาพของร่างกายไปนั่นเอง

นี่ก็คือเรื่องของการเจริญสติ

เพื่อที่เราจะได้เอามาใช้แก้ปัญหาของใจก็คือตัณหาทั้ง ๓ นี้

 ถ้าไม่มีสติเป็นหัวหอกแล้ว จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้

 เพราะจะไม่มีเวลาที่จะมานั่งตรึกตรองแยกแยะ

ด้วยปัญญาว่าความทุกข์ที่แท้จริงนั้นเกิดที่ใจ

เกิดจากตัณหาความอยาก พอไม่มีสติแล้วเวลามีปัญหา กับอะไร

ก็จะไปแก้ปัญหากับเรื่องนั้นทันที

มีปัญหาที่ร่างกายก็ไปแก้ที่ร่างกาย

มีปัญหากับใคร ก็ไปแก้กับคนคนนั้น แก้เท่าไรก็ไม่มีวันจบ

เพราะมันมีปัญหาตามมาอยู่เรื่อยๆ

แต่ถ้าแก้ที่ใจแล้วจบ พอปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ใจ

คือตัณหาทั้ง ๓ ได้รับการกำจัดแล้วต่อไปเจอปัญหาที่ไหนก็ตาม

ก็จะไม่มีปัญหากับใจ ร่างกายมีปัญหาก็จะไม่มีปัญหากับใจ

คนนั้นคนนี้มีปัญหาก็จะไม่มีปัญหากับใจ

 ใจปล่อยวางได้ ไม่ต้องไปแก้ที่ร่างกายไม่ต้องไปแก้ที่คนนั้นคนนี้

 ร่างกายจะเป็นอะไรก็ปล่อยให้เขาเป็นไป

ใจไม่เดือดร้อน คนนั้นคนนี้จะเป็นอะไรก็ปล่อยให้เขาเป็นไป

ใจไม่เดือดร้อน นี่คืออานิสงส์จากการได้เจริญสติ.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..................................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๘

“รักษาใจด้วยธรรม”













ขอบคุณที่มา fb.พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 08 มกราคม 2559
Last Update : 8 มกราคม 2559 13:23:07 น.
Counter : 870 Pageviews.

0 comment
### วัยเด็กของหลวงพ่อปัญญา ###
















เรื่องเล่าเช้าวันพระ:

วัยเด็กของหลวงพ่อปัญญา
พระธรรมโกศาจารย์ ( ปัญญานันทภิกขุ )

เขียนเล่าเรื่อง พระไพศาล วิสาโล

หลวงพ่อปัญญา หรือปัญญานันทภิกขุ

เป็นสหายธรรมของท่านพุทธทาสภิกขุ ที่มีชื่อเสียงมาก

ในด้านการเผยแผ่ธรรม คำเทศนาของท่านเข้าใจง่าย

เป็นเหตุเป็นผล ระคนด้วยมุขชวนขัน

 มุ่งพาคนออกจากความงมงายหลงใหลในไสยศาสตร์

 และการหมกมุ่นในอบายมุข ทุกหนแห่งที่ท่านแสดงธรรม

 จะมีญาติโยมติดตามไปฟังเป็นจำนวนมาก

เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น ก็ตามฟังจากรายการวิทยุ

หรือไม่ก็จากตลับเทป

หลวงพ่อปัญญาเกิดที่จังหวัดพัทลุง นามเดิมว่า ปั่น

ในครอบครัวชาวนา บิดามารดาของท่านเป็นผู้ใฝ่ธรรม

และมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หาอะไรมาได้ก็จะแบ่งปัน

ให้เพื่อนบ้านอยู่เสมอ แม้ไม่ได้ร่ำรวย

ท่านพูดถึงความรู้สึกในช่วงที่เป็นเด็กว่า

“ครั้งเป็นเด็ก ๆ นี้เบื่อที่สุดในการที่จะเอาแกงไปแจกบ้านโน้น

 เอาขนมไปแจกบ้านนี้ เวลาโยมทำอะไรกิน

 เช่น ได้เนื้อมาก้อนหนึ่ง เอามาขึ้นแกงหม้อหนึ่ง

ต้องตักไปแจกทุกบ้าน ได้ทุเรียนมาสองสามผล

ทำน้ำกะทิอ่างใหญ่ ๆ ต้องเอาไปแจกทุกบ้าน

 ถ้าได้ปลามาเป็นเข่ง ต้องเอามาแบ่งเป็นกอง ๆ

 เด็กต้องเอาไปแจก เรือนนั้นกอง เรือนนี้กอง

“ได้อะไรมาก็ไปแจกอยู่อย่างนั้น สมัยเด็ก ๆ นี่เบื่อเต็มที

 พอเห็นเขาแบ่งกองปลาก็คิดว่า แย่อีกแล้ววันนี้

วิ่งกันเต็มที่ละ น่าเบื่อจริง ๆ”

เวลามีใครเดือดร้อน บิดามารดาของท่านก็ยินดีช่วยเหลือเต็มกำลัง

 ครอบครัวของท่านมีควาย ๒๐ ตัว

แต่ก็ให้เพื่อนบ้านยืมไปใช้ทำนาถึง ๑๘ ตัว

 เหลือไว้ใช้งานเพียง ๒ ตัว

 ยิ่งไปกว่านั้นหากมีคนมาขอที่เหลือไปอีก

ก็พร้อมจะให้ด้วยความยินดี

 “คนที่มาขอยืม เขาลำบากกว่าเรามาก เราหาเอาใหม่ได้”

คือเหตุผลที่บิดามารดาบบอกกับลูกชาย

ไม่ใช่กับเพื่อนบ้านเท่านั้น กับคนแปลกหน้า

บิดามารดาของท่านก็เอื้อเฟื้อด้วยความยินดี

บางคราวมีชาวบ้านสัญจรผ่านมาและขอพักที่บ้านถึง ๑๕ คน

 ทั้งสองท่านก็กุลีกุจอจัดหาที่พักและทำอาหารต้อนรับอย่างดียิ่ง

 วันที่แขกจะเดินทางกลับ มารดาของท่านก็จะตื่นแต่เช้ามืด

เพื่อจัดอาหารเช้าให้ พร้อมทั้งห่ออาหารกลางวัน

ไปกินกลางทางด้วย

เด็กชายปั่นได้เห็นแต่เล็กว่า

“การต้อนรับขับสู้เหล่านี้ให้ความสุขใจ

 ได้มิตรภาพเป็นกำไร

คนเดินทางเหล่านี้มักนำอาหาร

หรือของแปลก ๆ มาฝากบ่อย ๆ เหมือนกัน

 มิใช่เป็นค่าจ้าง แต่เป็นเครื่องหมายแห่งความระลึกถึงกัน”

สมัยนั้นพัทลุงขึ้นชื่อว่าเป็นถิ่นนักเลงและดงโจร

มีการปล้นวัวควายเป็นประจำ

แต่น่าแปลกที่วัวควายของครอบครัวท่าน

 ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรือปล่อยไว้กลางทุ่ง ไม่เคยถูกโจรขโมย

ตรงข้ามกับเพื่อนบ้าน วัวควายหายอยู่เนือง

 เมื่อเกิดเหตุดังกล่าว บิดาของท่านไม่เคยนิ่งเฉย

 รับเป็นธุระไปตามกลับมาให้ ซึ่งก็มักประสบความสำเร็จเสมอ

 ไม่ใช่เพราะบิดาของท่านเป็นผู้มีอิทธิพลที่โจรเกรงกลัว

 แต่เป็นเพราะความดีของท่าน

ท่านเล่าว่าบิดาของท่าน “คบคนทุกเหล่า ให้ทุกอย่างที่เขาต้องการ

 วัวควายที่มีอยู่ไม่เคยหวง ใครขอไปกี่ตัว ใช้กี่วัน ได้ตามปรารถนา

 เป็นความเอื้อเฟื้อของบิดามารดาอาตมา

ที่ช่วยปกป้องควายไว้ได้”

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ

 “บางทีบรรดาโจรอาจจะเคยมาอาศัยบ้าน

กินข้าวปลาอาหารครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง เลยสำนึกในบุญคุณ”

เป็นเพราะมีบิดามารดาที่เปี่ยมด้วยน้ำใจไมตรี

 เอื้อเฟื้อเผือแผ่ ท่านจึงมีจิตใจใฝ่ธรรมตั้งแต่เยาว์วัย

 เป็นนิสัยปัจจัยให้ท่านน้อมใจในพระศาสนา

 หลังจากที่ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๘ ปี

ท่านก็ไม่ได้หวนคืนสู่เพศคฤหัสถ์อีกเลย

เจริญมั่นคงในสมณเพศโดยตลอด

 ยินดีในการบำเพ็ญทานไม่หยุดหย่อน

 เช่นเดียวกับโยมบิดามารดาของท่าน

แต่แทนที่จะเป็นวัตถุทาน ก็มอบธรรมทาน

ซึ่งเป็นทานอันประเสริฐสุด จวบจนท่านมรณภาพด้วยวัย ๙๔ ปี



.................................









ขอบคุณที่มา fb. วัดป่าสุคะโตธรรมชาติที่พักใจ
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 08 มกราคม 2559
Last Update : 8 มกราคม 2559 11:58:26 น.
Counter : 1134 Pageviews.

0 comment
### ยกภูเขาออกจากใจ ###
















ยกภูเขาออกจากใจ

ความทุกข์เป็นธรรมดาของชีวิต

 เพราะทุกอย่างที่เราเกี่ยวข้อง รวมทั้งทุกอย่างที่เรามี หรือเป็น

 ในขณะนี้ ล้วนไม่เที่ยง แปรเปลี่ยนเป็นนิจ

 เมื่อใดก็ตามที่มันแปรเปลี่ยนไปในทางที่ไม่ตรงกับใจเรา

เราก็ย่อมผิดหวัง เศร้าโศก โกรธแค้น พูดง่าย ๆ คือเป็นทุกข์

ไม่มีใครชอบความทุกข์ แต่ความทุกข์ก็ใช่ว่าจะไร้ประโยชน์

ในแง่หนึ่งมันเป็นตัวบ่งชี้ว่ามีความผิดพลาดบางอย่างเกิดขึ้น

 ซึ่งเราควรหาทางแก้ไข เช่น ความเจ็บป่วย

อาจเป็นตัวฟ้องว่าเราพักผ่อนน้อย กินอาหารไม่ถูกต้อง

ใช้ชีวิตไม่ถูกสุขลักษณะ

เมื่อรู้เช่นนี้ก็ควรปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตน

แต่ความทุกข์หรือปัญหาบางอย่าง ยากที่จะแก้ไขได้

เพราะเกิดจากการกระทำของคนอื่น

 ในกรณีเช่นนี้ควรที่เราจะวางใจให้ถูกต้อง

ป่วยการที่เราจะตีอกชกหัวตัวเองหรือก่นด่าชะตากรรม

ทุกข์กายนั้นมักเกิดจากปัจจัยภายนอก

ส่วนทุกข์ใจนั้นมีสาเหตุที่ใจเราเป็นสำคัญ

คนอื่นหรือสิ่งอื่นเป็นส่วนประกอบ สาเหตุดังกล่าวได้แก่

ความยึดติดในใจเรา เช่น ยึดอยากให้มันคงที่ไม่แปรเปลี่ยน

 หรือยึดว่ามันต้องเป็นไปดั่งใจ

 แต่เป็นเพราะมองไม่เห็นสาเหตุดังกล่าว จึงมักโทษสิ่งนอกตัว

 ก้อนหินไม่ว่าจะหนักเพียงใด ก็ไม่ทำให้เราทุกข์หรือเหนื่อยได้เลย

หากเราไม่แบกมัน ดังนั้นเมื่อใดที่ทุกข์หรือเหนื่อย

 อย่าโทษก้อนหินว่าหนัก แต่ควรถามตนเองว่าแบกมันทำไม

ถ้ายึดไม่เลิก แม้กรวดก้อนเดียว ก็หนักอึ้งราวกับภูเขาทั้งลูก

 เพียงแค่ปล่อยมันจากใจเท่านั้น ความสุขก็จะกลับคืนมา

 และถ้าไม่ยึดหรือแบกมันอีก ใจก็จะไม่ทุกข์อีกต่อไป

พระไพศาล วิสาโล





 

 

ขอบคุณที่มา  fb.วัดป่าสุคะโตเพื่อธรรมะและธรรมชาติ

ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 07 มกราคม 2559
Last Update : 7 มกราคม 2559 19:36:17 น.
Counter : 1004 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ