Group Blog
All Blog
### แปรธรรมจากสัญญาสู่ใจ ###















“แปรธรรมจากสัญญาสู่ใจ”

หลังจากที่เราได้ยินได้ฟัง(ธรรม)แล้ว เรารู้แล้วว่า

เราต้องกระทำอะไรกันบ้าง ถ้าเราอยากจะเข้าสู่ขั้นโลกุตตรธรรม

 อยากจะเข้าสู่ขั้นของธรรมที่ไม่มีวันเสื่อม

 มีแต่จะเจริญขึ้นไปอยู่ตามลำดับ จนถึงขั้นสูงสุดได้

 เราก็ต้องปฏิบัติกัน เราต้องทำทาน รักษาศีล

ไต่เต้าขึ้นไปจากขั้นที่ง่ายขึ้นไปสู่ขั้นที่ยากขึ้นไปตามลำดับ

การทำทานนี้ง่ายกว่าการรักษาศีล ๕

การรักษาศีล ๕ นี้ง่ายกว่าการรักษาศีล ๘

การรักษาศีล ๘ นี้ก็ง่ายกว่าการภาวนา

การภาวนาสมถภาวนาก็ง่ายกว่าการเจริญวิปัสสนาภาวนา

 จึงต้องทำไปเป็นขั้นๆไป เหมือนกับตอนที่เราเป็นเด็ก

ตอนที่เรายังยืนไม่ได้ เดินไม่ได้ วิ่งไม่ได้ เรากำลังคลานอยู่

 ก่อนที่เราจะวิ่งหรือเดินได้เราก็ต้องหัดยืนให้ได้ก่อน

 พอเรายืนได้แล้ว เราก็หัดเดิน พอเราเดินได้แล้ว เราก็หัดวิ่งได้

อันนี้มันเป็นขั้นเป็นตอนที่เราไม่สามารถที่จะข้ามไปได้

 การปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนเป็นขั้นๆ

เพราะแต่ละขั้นจะสนับสนุนขั้นที่ยากขึ้นไปนั่นเอง

ทำให้ขั้นที่ยากนั้นง่าย ถ้าเราทำทานแล้วเราจะรักษาศีลได้ง่าย

กว่าผู้ที่ไม่ได้ทำทาน ผู้ที่รักษาศีล ๕ ได้แล้ว

ก็จะรักษาศีล ๘ ได้ง่ายกว่าผู้ที่ยังไม่สามารถรักษาศีล ๕ ได้

 ผู้ที่รักษาศีล ๘ ได้แล้วก็จะสามารถเจริญสมถภาวนา

ได้ ง่ายกว่าผู้ที่ยังรักษาศีล ๘ ไม่ได้

ผู้ที่ได้สมถภาวนาได้ความสงบ ได้อัปปนาสมาธิแล้ว

ก็จะพิจารณาธรรมได้ง่าย พิจารณาอริยสัจ ๔

พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตาได้ง่ายกว่า ผู้ที่ไม่ได้สมถภาวนา

 จิตยังไม่รวมเป็นอัปปนาฯ ถามว่าพิจารณาได้ไหม ได้

 แต่พิจารณาไม่เป็นกอบเป็นกำ ไม่เป็นขั้น ไม่ได้เป็นอย่างต่อเนื่อง

 เป็นบางครั้งบางเวลา ซึ่งไม่พอเพียงกับการที่จะนำเอาไป

ทำลายกิเลสตัณหา ผู้ที่คอยสร้างความทุกข์ให้แก่ใจ

ที่ทำงานอยู่ตลอดเวลา

ถ้าตำรวจทำงานเพียงบางเวลา ส่วนขโมยทำงานตลอดเวลา

ตำรวจจะไปจับขโมยได้หมดได้อย่างไร

 ถ้าอยากจะจับขโมยให้ได้หมด ตำรวจก็ต้องทำงานตลอดเวลา

 พอตำรวจทำงานตลอดเวลาก็สามารถจับขโมยได้ตลอดเวลา

จนในที่สุดก็จะไม่มีขโมยหลงเหลืออยู่ ฉันใด

ปัญญาก็เป็นเหมือนตำรวจที่จะตามจับขโมย

 คือกิเลสตัณหาต่างๆ ที่คอยสร้างความทุกข์ให้กับใจอยู่ตลอดเวลา

 ถ้าปัญญาไม่ต่อเนื่อง อย่างที่หลวงตาสอนว่าปัญญาอัตโนมัติ

สติปัญญาอัตโนมัติหรือมหาสติมหาปัญญา

จะไม่สามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปได้

 จะทำได้ก็ขั้นกิเลสที่ไม่ได้ทำงานตลอดเวลา

ทำเป็นวาระๆ ทำเป็นพักเป็นช่วง

ความอยากบางอย่างมันก็ไม่ได้ตลอด มันไม่เกิดตลอด ๒๔ ชั่วโมง

 มันเกิดตามวาระของมัน ถ้ากิเลสแบบนั้น

ปัญญาที่ไม่เป็นปัญญาอัตโนมัติ ไม่เป็นมหาสติมหาปัญญา

ก็ยังพอทำลายได้ เช่นขั้นที่ต่ำกว่ามหาสติมหาปัญญา

เช่นขั้นของพระโสดาบันสกิทาคามีอนาคามี

ความอยากต่างๆมันไม่ได้ทำงานตลอดเวลา

 เหมือนขั้นของพระอรหันต์ ขั้นอรหันตมรรคนี้

กิเลสตัณหาทำงานตลอดเวลา สติปัญญาจึงต้องเป็น

สติปัญญาแบบอัตโนมัติ ทำงานตลอดเวลา

คอยจับกิเลสตัณหาที่ทำงานอยู่เรื่อยๆ

นี่คือเรื่องของธรรมขั้นต่างๆที่จำเป็น ต่อการดึงใจ

ให้ออกจากกองทุกข์ เราจึงควรที่จะกระทำไปตามขั้นตามตอน

ทำจากน้อยไปหามาก ในแต่ละขั้นก็มีจำนวน

ที่เราสามารถเพิ่มขึ้นไปได้ตามลำดับ ตามกำลังของเรา

 ขั้นทานเราก็ทำจากน้อยขึ้นไปหามากได้

ขั้นศีลเราก็ทำจากน้อยขึ้นไปหามากได้

 ขั้นภาวนาเราก็ทำจากน้อยขึ้นไปหามากได้

ไม่ใช่ว่าเราจะทำทีเดียวให้ครบถ้วนบริบูรณ์เลยในทันทีทันใด

ยกเว้นในกรณีที่เราได้สะสมบุญบารมีมาอย่างโชกโชน

 จนมีความพร้อมที่จะทำอย่างเต็มที่เลย

อย่างพระพุทธเจ้า ทรงทำทานอย่างเต็มที่เลย

ด้วยการสละพระราชสมบัติ

แล้วก็ทรงออกบำเพ็ญรักษาศีลอย่างเต็มที่

เจริญสมถภาวนาวิปัสสนาภาวนาอย่างเต็มที่

คือตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นจนหลับ จะทรงภาวนาเป็นหลักเลย

 ศีลก็รักษาไว้ ถ้ามีการบำเพ็ญภาวนาแล้ว

เรื่องศีลนี้ก็จะไม่มีการที่จะไปละเมิด

เพราะการภาวนานี้ไม่ต้องไปทำร้าย

หรือสร้างความเสียหายให้กับใคร ไม่ต้องไปทำบาป

ดังนั้นถ้าเรายังไม่สามารถที่จะทำได้เต็ม ๑๐๐

เหมือนกับที่พระพุทธเจ้า และพระสาวกทั้งหลายท่านทำกัน

เราก็ต้องสร้างจากน้อยไปหามาก เอาวันละนิดวันละหน่อย

 ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำเลย เช่นชาวบ้านเขาก็จะทำบุญกันทุกวัน

ใส่บาตรกันทุกวัน มีพระมาทางบ้านเขาก็เตรียมตัว

 เตรียมข้าวเตรียมอาหาร เวลาพระมาก็ใส่บาตร

เขาก็ได้ทำทานไปวันละเล็กวันละน้อย

แล้ววันไหนที่เขามีศรัทธาที่อยากจะทำมาก

เขาก็ทำเพิ่มมากขึ้นไป ทำอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

 ทำไปตามกำลังของเรา ทำแล้วเรามีความสุข

 เห็นคุณประโยชน์ของการทำทาน

เราก็อยากจะทำมากขึ้นไปเรื่อยๆ และเราก็รักษาศีลควบคู่ไปด้วย

 ศีลเราก็รักษา ศีล ๕ ถ้ายังรักษาศีล ๕ ไม่ครบ

ก็รักษาไปเท่าที่เราจะรักษาได้ก่อน

แล้วถ้าเราทำทานมากขึ้นไป ใจเรามีความสุขมากขึ้น

มีความเมตตากรุณามากขึ้น

เราก็จะสามารถรักษาศีลให้ได้มากขึ้นไป

 จากศีล ๕ เราก็จะรักษาศีล ๘ ได้

เพราะใจเรามีความสุขจากการทำทานจากการรักษาศีล

 ทำให้ใจเราไม่หิวไม่โหยกับความสุขทางร่างกายมากจนเกินไป

ทำให้เราสามารถรักษาศีล ๘ ได้ในวันพระ

ในเบื้องต้นก็รักษาศีล ๘ ในวันพระไปก่อน

 ควบคู่กับการเจริญสมถภาวนา หาที่สงบหาที่วิเวก

ที่ไม่มีอะไรมาคอยรบกวนใจ ไม่มารบกวนการเจริญสมถภาวนา

 การเจริญสติ พอเราเจริญสติ นั่งสมาธิทำใจให้สงบได้

 เรามีความสุขเพิ่มมากขึ้น เราก็จะเห็นคุณค่าของการรักษาศีล ๘

 ของการเจริญสมถภาวนา ของการปลีกวิเวก

เราก็จะเพิ่มวันเวลาให้กับการปฏิบัติให้มากขึ้น

ลดภารกิจทางด้านการหาความสุขทางร่างกาย

ด้วยการหาเงินหาทอง เพื่อที่มาซื้อความสุขต่างๆ

ผ่านทางร่างกาย เราก็จะลดการกระทำเหล่านี้ลงไป

เพราะเราได้ความสุขจากการภาวนาที่มีน้ำหนักมากกว่า

 ที่มีความสุขมากกว่าความสุขที่เราได้รับผ่านทางร่างกาย

 เราก็จะทำงานน้อยลง หาเงินน้อยลง ใช้เงินน้อยลง

หาเงินใช้เงินเท่าที่จำเป็น ก็คือเพื่อดูแลรักษาร่างกายนี้เท่านั้น

 ให้ร่างกายไม่เจ็บไข้ ให้ร่างกายมีกำลังวังชาอยู่อย่างปกติสุข

เพื่อที่จะได้ใช้ในการบำเพ็ญรักษาศีล ๘

ในการบำเพ็ญสมถภาวนา

พอเราบำเพ็ญภาวนามากเข้ามากเข้า จิตก็จะสงบมากเข้า

 และจะสงบได้เต็มที่ในที่สุด จิตก็จะรวมเป็นอัปปนาฯ

พอจิตรวมเป็นอัปปนาฯแล้ว ทีนี้เวลาเราพิจารณาธรรม

ธรรมที่เราพิจารณานี้มันจะเข้าไปฝังอยู่ในใจ

มันจะไม่ไปอยู่ที่สัญญาความจำ มันจะเข้าไปอยู่ในใจ

 เพราะมันจะเห็นธรรมเหล่านี้ชัดเจน

เพราะธรรมเหล่านี้มันก็ไม่ได้อยู่ที่ไหนมันอยู่ในใจนั่นเอง

 แต่ใจเรา เข้าไปไม่ถึงใจ ใจเราถูกขันธ์ขวางเอาไว้

ใจของเรานี้ติดอยู่กับขันธ์ ติดอยู่กับ

เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

 จึงมองไม่เห็นธรรมที่แสดงอยู่ในใจ คือทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค

 พอเรามีสมถภาวนาแล้ว เราเจริญปัญญา

พิจารณาธรรมต่างๆ มันก็จะเป็นมรรคขึ้นมา

ในใจของเรานี้มีสมุทัยเป็นเจ้าของ เป็นผู้ครอบครองใจเรามาตลอด

 ถ้าเราต้องการทำลายสมุทัยผู้ที่สร้างความทุกข์ต่างๆให้แก่ใจ

 เราก็ต้องสร้างมรรคขึ้นมา มรรคก็คือปัญญา

คือเห็นสิ่งต่างๆในโลกนี้ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์

ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา เห็นว่า

ร่างกายของทุกๆคนนี้ว่าไม่สวยไม่งาม

สวยก็อยู่เฉพาะเป็นบางส่วนบางเวลา

 เช่นเวลาอาบน้ำแต่งตัว แต่งหน้าทาปากก็พอที่จะดูได้

แต่เวลาอื่น เวลาที่ตื่นขึ้นมาใหม่ๆไม่ได้ล้างหน้าล้างตา

 หรือเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเวลาตายไป

ร่างกายนี้ไม่น่าดูเลย หรือถ้าจะดูภายในของร่างกาย

ดูส่วนที่อยู่ภายใต้ผิวหนัง ถ้าสามารถมองเห็นส่วนนั้นได้

 ก็จะเห็นว่ามันไม่น่าดูไม่สวยไม่งามเลย

อันนี้คือปัญญาที่เราต้องน้อมเอาเข้าไปในใจให้ได้

จะเข้าไปในใจได้ ใจต้องเป็นใจที่สงบเป็นอัปปนาฯ

ถึงจะเข้าไปถึงในใจเพื่อที่จะได้เอาไปต่อสู้กับสมุทัย

คือตัณหาทั้ง ๓ ได้

ตัณหาทั้ง ๓ นี้มันอยู่ในใจของเรามาตลอด

แต่มรรคของพระพุทธเจ้านี้ยังอยู่ข้างนอกอยู่

ธรรมของพระพุทธเจ้าที่เราได้ยินได้ฟังนี้ยังไม่ได้เข้าไปสู่ใจ

 เพียงแต่ไปอยู่ที่ขันธ์ไปอยู่ที่สัญญา เราก็ต้องดึงมันเข้าไปสู่ใจ

 จะดึงเข้าไปสู่ใจได้ก็ต้องเป็นใจที่มีความสงบ

เวลาออกจากความสงบมาแล้วก็พิจารณา พิจารณาไตรลักษณ์

 พิจารณาอสุภะอยู่เรื่อยๆ แล้วต่อไปเวลาเกิดตัณหาขึ้นมา

เราก็จะสามารถเอามรรคนี้มาใช้งานได้เลย

 ถ้ามรรคนี้อยู่ในใจเราตลอดเวลา

 เป็นปัญญาที่เราสามารถเรียกใช้ได้ทันทีทันใด

 เราต้องพิจารณาอยู่เนืองๆมันถึงจะอยู่ในใจของเรา

ไม่จางหายไป ถ้านานๆพิจารณาสักครั้งหนึ่ง มันจะลืมได้

แต่ถ้าเราพิจารณาอย่างต่อเนื่องนี้มันจะไม่ลืม

และการที่จะพิจารณาอย่างต่อเนื่องได้นี้ ใจต้องมีความสงบ

เพราะเวลามีความสงบ ใจจะไม่ถูกกิเลสตัณหาดึงไปใช้งานนั่นเอง

 เพราะกิเลสตัณหาได้ถูกสมาธิหรือความสงบนี้ตัดกำลังลงไป

จนไม่มีกำลังมากพอที่จะดึงใจให้ไปคิดในทางของกิเลสตัณหาได้

 ทำให้ใจนี้สามารถคิดในทางธรรมได้ คิดในทางปัญญาได้

นี่แหละคือสิ่งที่จะเกิดขึ้น ถ้าเรามีความสงบแล้ว จิตรวมแล้ว

ถ้าจิตรวมแล้วนี้การพิจารณาปัญญานี้

จะสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง

ก็มีช่วงที่จะต้องหยุดพิจารณา

เพราะกำลังหมด กำลังที่จะพิจารณาหมด

กิเลสเริ่มออกมารบกวนใจ

ความสงบที่ได้จากสมาธิก็จางหายไปได้

ถ้าเราพิจารณาธรรมใช้ความคิดปรุงแต่งไป

ความสงบก็จะจางหายไปได้ พอความสงบจางหายไป

กิเลสตัณหาก็จะมีกำลังเพิ่มมากขึ้น

 กิเลสตัณหาก็จะดึงเราไปคิดในทางของกิเลสตัณหา

 คิดไปในทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 คิดไปในทางลาภยศสรรเสริญ คิดไปในเรื่องนั้นเรื่องนี้สิ่งนั้นสิ่งนี้

 ไม่ได้คิดอยู่ในเรื่องของไตรลักษณ์ ไม่ได้คิดอยู่ในเรื่องของอสุภะ

 ถ้าตอนนั้นเราก็ต้องกลับมาเจริญสมถภาวนาใหม่

ดึงใจให้กลับเข้าสู่ความสงบใหม่

ตัดกำลังของกิเลสตัณหาให้อ่อนลงไปใหม่

 เหมือนกับเวลาที่หมอทำการผ่าตัดคนไข้

ก่อนที่จะผ่าตัดคนไข้ได้ หมอจะต้องดมยา วางยาสลบก่อน

 ให้คนไข้สลบไป เพราะถ้าคนไข้ไม่สลบเวลาผ่านี้คนไข้จะดิ้น

เพราะมันเจ็บ ถ้าดิ้นแล้วหมอก็จะไม่สามารถทำงานได้อย่างสะดวก

 จึงต้องทำให้คนไข้สลบก่อนด้วยการดมยาสลบ

แล้วก็ต้องคอยควบคุมให้คนไข้นี้สลบอยู่อย่างต่อเนื่อง

 เพราะถ้ายาหมดสภาพไปคนไข้ก็จะฟื้นขึ้นมา

พอฟื้นขึ้นมาก็จะไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ต่อ

 ก็ต้องให้คนไข้สลบกลับไปใหม่ก่อน ฉันใด

การพิจารณาวิปัสสนาเจริญปัญญา

ก็เป็นลักษณะทำการผ่าตัดให้แก่ใจนั่นเอง

ใจที่ยังมีกิเลสอยู่นี้ จะไม่ชอบพิจารณาไตรลักษณ์

 จะไม่ชอบพิจารณาอสุภะ จะบังคับอย่างไรมันก็ไม่ชอบ

เหมือนกับคนไข้ที่ไม่ยอมให้หมอทำการผ่าตัด ถ้ายังไม่สลบ

ดังนั้นการที่จะพิจารณาไตรลักษณ์พิจารณาอสุภะได้อย่างต่อเนื่องนี้

 จำเป็นจะต้องมีใจที่สงบที่ไม่ดิ้นไม่ต่อต้าน ไม่หลีกหนี

จากการพิจารณา หลีกหนีไปคิดทางเรื่องอย่างอื่น

ถ้าใจไม่สงบนี้พิจารณาได้เดี๋ยวเดียว

แล้วเดี๋ยวก็จะถูกกิเลสตัณหาดึงไปพิจารณาเรื่องอื่นแทน

เมื่อพิจารณาไม่ต่อเนื่องมันก็เห็นไม่ชัด จำไม่ได้

พอถึงเวลาจะใช้ก็ไม่สามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้

จะสามารถพิจารณาได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

ถ้าพิจารณาไม่ได้ก็เข้าไปในสมาธิ

ถ้าอย่างนี้เวลาต้องการใช้ปัญญาก็จะสามารถใช้ได้ทันที

นี่คือขั้นของปัญญาเป็นอย่างนี้ ถึงจะเรียกว่าเป็นปัญญาจริง

 เป็นปัญญาที่ดับความทุกข์ได้ เพราะทันต่อเหตุการณ์นั่นเอง

ทันต่อกิเลสตัณหา พอกิเลสตัณหาโผล่ขึ้นมาปั๊บ

ไตรลักษณ์ก็จะออกมาต่อสู้ทันที อสุภะก็จะออกมาต่อสู้ทันที

พอมีคู่ต่อสู้ที่มีกำลังมากกว่า

กิเลสตัณหาก็ต้องยอมแพ้ไป หยุดไปในที่สุด.

...............................

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

กัณฑ์ที่ ๔๘๖ วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๗ (จุลธรรมนำใจ ๔๑)

“แปรธรรมจากสัญญาสู่ใจ”












ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 28 ธันวาคม 2558
Last Update : 28 ธันวาคม 2558 12:33:41 น.
Counter : 1086 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ